เด็กสมัยนี้ เขาอยากได้อะไรจากผู้ใหญ่ และสนใจเรื่องอะไรกันนะ?
ด้วยยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลงไป และประเด็นทางสังคมที่แตกต่าง ทำให้ประเด็นเรื่องความแตกต่างระหว่าง Generation สะท้อนถึงความไม่เข้าใจกันระหว่างคนแต่ละช่วงวัย
แต่ด้วยการเติบโตและเผชิญกับสภาพสังคมที่แตกต่างกัน ก็น่าสนใจว่า ‘เด็ก’ ในแต่ละเจน มีมุมมองและความต้องการต่อเรื่องต่างๆ อย่างไรบ้าง และจะมีจุดร่วม หรือจุดต่างกับผู้ใหญ่อย่างเราในเรื่องอะไรบ้างกันนะ?
เนื่องในวันเด็กแห่งชาติปี 2568 The MATTER ขอชวนทุกคนไปส่องความต้องการของ ‘เด็กสมัยนี้’ ที่แน่นอนว่า ตัวอย่างส่วนหนึ่งที่เรายกมาอาจไม่ได้สะท้อนความต้องการของคนทุกคนได้ เพราะเด็ก (หรือแม้แต่ผู้ใหญ่) ย่อมมีประสบการณ์ชีวิตที่หลากหลาย แต่ก็เชื่อว่า เสียงเหล่านี้อาจทำให้เราเข้าใจพวกเขาได้มากยิ่งกว่าเดิม
และนี่คือเสียงของตัวอย่างนักเรียนมัธยมปลาย ที่เรียนในโรงเรียนรัฐบาลแห่งหนึ่ง ในกรุงเทพมหานคร
หนูด้า วัย 16 ปี เล่าว่า สิ่งที่เธอต้องการที่สุดจากผู้ใหญ่ คือ ‘การยอมรับ’
“เมื่อโลกเปลี่ยนไป มีอะไรใหม่ๆ เกิดขึ้นมากมาย ซึ่งบางอย่างมันใหม่มากๆ จนมีช่องว่างระหว่างวัยที่ไม่ได้ทำความเข้าใจกัน…อยากให้ผู้ใหญ่เปิดกว้างมากยิ่งขึ้น”
ตัวอย่างที่ใกล้ตัวที่สุดในฐานะเด็กมัธยมปลายคนหนึ่ง คืออิสระในการเลือกคณะ มหาวิทยาลัย และอาชีพที่อยากจะเป็น โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อในปัจจุบันนี้มีอาชีพใหม่ๆ มากมาย ซึ่งเธอเข้าใจดีว่า สำหรับผู้ใหญ่ที่ผ่านวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นต้มยำกุ้ง หรือการแพร่ระบาดของ COVID-19 ก็ล้วนทำให้พวกเขารู้สึกกังวลกับอนาคตของลูกหลานกันทั้งนั้น
“บางทีเด็กก็มีแผนแล้วกับสิ่งที่ตัวเองอยากจะเลือก แค่ขอให้เปิดใจคุยกัน ทำความเข้าใจจริงๆ ว่าเด็กกำลังเผชิญอะไรอยู่ และเขามีมุมมองยังไง” หนูด้ากล่าว ด้วยหวังอย่างถึงที่สุดว่าแม้จะมีความแตกต่างในมุมมองต่อเส้นทางอนาคต แต่การสนับสนุนจากผู้ใหญ่ก็จะช่วยผลักดันให้เธอไปถึงฝันได้มากกว่าเดิม
น้ำมนต์ วัย 15 ปี มองว่า สำหรับเด็กทุกคนแล้ว สิ่งที่สำคัญและคงจะเป็นสิ่งที่เด็กต้องการมากที่สุด ย่อมหนีไม่พ้น ‘ครอบครัวที่อบอุ่น’
น้ำมนต์อธิบายว่า เพราะครอบครัวเป็นสถาบันแรกที่เด็กจะเจอ ดังนั้นสภาพครอบครัวจะเป็นอย่างไร ถือเป็นปัจจัยสำคัญที่จะส่งผลต่อการเติบโตของเด็กมากๆ จึงอยากให้ผู้ใหญ่ทุกคนที่สร้างครอบครัวแล้ว ใส่ใจกันในครอบครัว มีเวลาให้กันบ้าง
เธอเชื่อว่าแม้จะเป็นเพียงเรื่องเล็กๆ น้อยๆ อย่างการได้อยู่พร้อมหน้า กินข้าวพร้อมกัน หรือไปเที่ยวกันในวันหยุด ก็จะช่วยเปิดโลกของเด็กได้ “มันดีมากๆ ที่ได้ใช้เวลาร่วมกัน และสนุกมากๆ ที่ได้เปิดโลก และได้อยู่กับคนที่เรารัก” น้ำมนต์เล่า
เป๊ะ วัย 16 เริ่มขยายถึงภาพที่ใหญ่กว่าเดิม อย่างประเด็น ‘ความปลอดภัยของสังคม’
หากย้อนดูข่าวช่วงปีที่ผ่านมา หรือจริงๆ แล้วก็คือตลอดหน้าประวัติศาสตร์ของสังคมไทย เราจะพบว่ามีข่าวอาชญากรรม ข่าวอุบัติเหตุเกิดขึ้นไม่เว้นวัน ที่ทำให้การแค่ออกไปเดินตามถนนหรือแม้แต่เดินห้างสรรพสินค้า ก็อาจมีภัยคุกคามมากถึงตัวได้
“ในฐานะเด็ก หนูไม่อยากเดินกลับบ้านด้วยความรู้สึกหวาดระแวง หรือไปไหนมาไหนคนเดียวโดยรู้ว่ามีโอกาสถูกลักพาตัว หรือโดนทำร้าย อยากอยู่ในสังคมที่ปลอดภัย มีความสุขได้โดยไม่ต้องกังวลว่าจะมีอะไรมาทำร้าย” เป๊ะเล่า
ซึ่งจริงๆ แล้วก็คงไม่ใช่แค่เด็กเท่านั้นที่ต้องการความปลอดภัยในชีวิต เพราะไม่ว่าจะวัยใด ความปลอดภัยในการดำเนินชีวิตก็ถือเป็นสิทธิมนุษยชนที่ทุกคนพึงมี เพราะเป็นประเด็นที่ส่งผลต่อชีวิตของเราโดยตรง รวมถึงยังมีผลทางอ้อมต่อเรื่องอิสระในการตัดสินใจทำสิ่งต่างๆ อีกด้วย
สำหรับ เฟิ้ด วัย 16 ปี เลือกที่จะพูดถึงประเด็นการศึกษา แต่ไม่ใช่เพียงเรื่องคุณภาพการศึกษาใกล้ตัวเท่านั้น แต่หมายถึง ‘ความเท่าเทียม’ ในการจัดการการศึกษาทั่วประเทศ
“อยากให้ผู้ใหญ่หันมาใส่ใจเรื่องการสนับสนุนงบประมาณทางการศึกษาในมหาวิทยาลัยที่สังคมอาจไม่ได้มีทรรศนะเป็นมหาวิทยาลัยหลัก หรือมหาวิทยาลัยชื่อดัง แต่ก็เป็นมหาวิทยาลัยหนึ่งที่สร้างคุณค่าในการผลิตมนุษย์ไม่ต่างกัน”
อาจด้วยช่วงวัยที่เริ่มต้องคิดเรื่องอนาคตและการสอบเข้ามหาวิทยาลัย ทำให้เฟิ้ดตั้งข้อสงสัย ว่าเพราะเหตุใด ‘การศึกษา’ สิ่งเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของเด็กกลับมีความไม่เท่าเทียม ตั้งแต่ระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน ไปจนถึงชั้นมหาวิทยาลัย ที่ยังคงมีการแบ่งแยกว่ามหาวิทยาลัยดีกว่า หรือมหาวิทยาลัยใดได้รับงบสนับสนุนจากรัฐมากกว่า
“มันเป็นชุดความคิดที่เรามองคน ว่าคนที่จบจากมหาวิทยาลัยนี้เป็นคนดี สร้างคุณค่าให้สังคมได้ ในขณะที่คนที่ไม่ได้จบจากมหาวิทยาลัยดังเพราะเงื่อนไขของชีวิตไม่อำนวย ถูกมองว่าไม่มีคุณภาพ ซึ่งจริงๆ แล้วอาจจะแค่ยังไม่ได้รับการสนับสนุนในสิ่งที่เขาขาดหายไปเพียงเท่านั้นเอง”
เฟิ้ดสรุป
และสุดท้าย สมายด์ วัย 17 ปี กล่าวถึงเรื่องใหญ่ที่ดูเหมือนจะไกลตัว แต่ส่งผลกระทบต่อเราทุกคน อย่างเรื่องผลกระทบทาง ‘สิ่งแวดล้อม’
สมายด์ระบุว่า จริงๆ แล้วเรื่องสิ่งแวดล้อมก็ถือเป็นประเด็นที่ไม่ว่าจะเป็นคนวัยไหนก็ควรจะต้องร่วมด้วยช่วยกัน แต่ผู้ใหญ่ก็มีส่วนสำคัญที่จะช่วยผลักดันและปรับเปลี่ยนพฤติกรรมได้ เช่น ปรับเปลี่ยนวิธีการดำเนินธุรกิจต่างๆ
อย่างในปัจจุบันนี้ที่มีผลกระทบชัดเจนอย่าง ฝุ่น PM2.5 ซึ่งเคยเป็นประเด็นใหญ่ที่ทำให้คนร่วมกันผลักดัน แต่เมื่อเวลาผ่านไป แม้จะมีการพูดถึงอยู่บ้าง แต่การผลักดันก็เริ่มลดน้อยลง เพราะเริ่มกลายเป็นสิ่งที่คนชินชาและมองเป็นเรื่องปกติไปแล้ว
สมายด์กล่าวว่า “คนอาจจะมีค่านิยมว่าความยั่งยืนมันเป็นเรื่องโลกสวย เพราะเดี๋ยวเราก็จะตายแล้ว ไม่ต้องมาแคร์เรื่องนี้ก็ได้ แต่ยังไงก็อยากให้ทุกคนใส่ใจเรื่องนี้มากขึ้น” พร้อมเน้นย้ำว่าทุกคนควรร่วมกันรักษาทรัพยากรและความหลากหลายทางชีวภาพ อย่างน้อยก็ให้สิ่งที่มีอยู่แล้วยังอยู่คงเดิม และไม่ไปทำลายมันเพิ่ม “อย่างน้อยธรรมชาติจะได้ไม่ฆ่าเราในอนาคต” เขาสรุป
ยังคงมีอีกหลายหลายประเด็นที่เรียกได้ว่าเป็น ‘คุณค่าของโลกสมัยใหม่’ ที่ผู้ใหญ่ (และคนทุกคน) อาจจะควรเปิดใจทำความเข้าใจเพิ่มเติม ไม่ว่าจะเป็นสิทธิมนุษยชน ความหลากหลายทางอัตลักษณ์ ทั้งเรื่องเพศ ชนชาติ ชาติพันธุ์ ไปจนถึงเรื่องใหญ่ระดับประเทศอย่างเรื่องการเมือง เศรษฐกิจ และอีกมากมาย
ซึ่งสิ่งสำคัญก็คือ แม้ความต่างของวัยอาจทำให้เราไม่ได้เข้าใจกันตั้งแต่แรก แต่การเปิดใจและเปิดกว้างเพื่อรับฟังมุมมองที่แตกต่าง ย่อมยังเป็นสิ่งสำคัญที่สุด ที่จะช่วยให้สังคมสามารถเดินหน้าต่อไปได้ ด้วยความร่วมมือจากทั้ง ‘ผู้ใหญ่’ และ ‘เด็ก’ นั่นเอง