“ถามว่าถ้ากลับไปแก้ไขอดีตได้ จริงๆ มันก็แก้อะไรไม่ได้แล้ว วันนี้เป็นวันที่หนูรู้สึกไม่เหลือใคร ไม่เหลือใครจริงๆ”
ข้อความส่วนหนึ่งจากบทสัมภาษณ์ ‘นิ่ม’ เด็กหญิงวัย 17 ปี ที่ทางเฟซบุ๊กของมูลนิธิกระจกเงา ตัดสินใจเผยแพร่ท่ามกลางอารมณ์ร่วมของผู้คน หลังจากปริศนาบางประการของคดีน้องต่อ เด็กที่หายตัวไป ได้รับการเฉลยจากแม่เด็กเองว่าทิ้งลูกลงแม่น้ำจริง นั่นทำความคิดเห็นต่อเรื่องราวในการพูดคุยครั้งนั้นได้รับความสนใจ และแสดงความเห็นในหลายทิศทาง จนบ้างอาจลืมไปว่า หลายตัวละครสำคัญของเรื่องนี้ยังเป็น ‘เด็ก’ แทบทั้งหมด
‘อะไรที่ประกอบร่างเป็นนิ่มและพุด?’ เป็นข้อคำถามที่ เอกลักษณ์ หลุ่มชมแข หัวหน้าศูนย์ข้อมูลคนหาย มูลนิธิกระจกเงา กล่าวเอาไว้ครั้งที่ The MATTER มีโอกาสได้พูดคุย เพื่อสื่อสารให้คนในสังคมถอดบทเรียนที่ยังซุกซ่อนจากกรณีนี้
ตั้งต้นจากการตามหา ‘เด็กหาย’
ยังไม่ลืมกันใช่หรือไม่ว่าทุกดราม่าที่เกิดขึ้นตามมานั้นมีจุดตั้งต้นจาก การตามหา ‘น้องต่อ’ เด็กชายวัย 8 เดือน ที่หายตัวไปจากบ้านโดยไม่มีใครทราบสาเหตุในตอนต้น ดังนั้นเป้าหมายแรก คือ การคืนเด็กที่หายสู่ครอบครัว
เชื่อว่าใครหลายคนคงเติบโตมากับช่วงเวลาที่ถูกขู่ให้กลัว ‘รถตู้จับเด็ก’ เวลาออกไปเล่นสนุกนอกบ้าน ที่เป็นเช่นนี้ เพราะหากย้อนไปดูตัวเลขเด็กหายของบ้านเราในช่วง 10 ปีก่อน นับเป็นบันไดขาขึ้น ที่ปีปีหนึ่งมีมากกว่า 400 ราย ซึ่งสูงที่สุดในทุกช่วงวัย ก่อนที่ช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมาจำนวนลดลง เหลือราว 200 รายต่อปี
เอกลักษณ์ อธิบายว่า สืบเนื่องจากอัตราการเกิดที่ลดลง รวมถึงอัตราผู้สูงอายุเพิ่มสูง นับเป็นปัจจัยที่ทำให้สถิติบุคคลสูญหายกลับไปสูงขึ้นในกลุ่มผู้สูงอายุ
จนมาถึงปี 2565 มูลนิธิฯ ได้รับแจ้งเด็กหายเพิ่มสูงถึง 25% เมื่อเปรียบเทียบกับปี 2564 โดยสาเหตุหลักกว่า 61% หรือ 161 ราย มาจากเด็กสมัครใจหนีออกจากบ้าน รองลงมาคือ กลุ่มเด็กที่มีพัฒนาการช้า มีความพิการทางสติปัญญา หรือป่วยทางจิตเวช ซึ่งมีโอกาสพลัดหลงกับผู้ดูแล และการลักพาตัวของเด็กเล็ก
เอกลักษณ์ เล่าว่า ในการทำงานตามหาร่องรอยของเด็กหาย โดยเฉพาะในกลุ่มวัยรุ่นจะใช้วิธี ‘หายจากสิ่งไหนเราตามจากสิ่งนั้น’ ยกตัวอย่างเช่น หากเด็กมีโอกาสถูกชักชวนทางโซเชียลฯ เจ้าหน้าที่ก็จะตรวจสอบการใช้งานบัญชีดังกล่าว โดยหลีกเลี่ยงการเผยแพร่ข้อมูลทางออนไลน์
“เขายังต้องมีชีวิตต่อไปในสังคม ต้องกลับมาเรียนหนังสือ หรือเข้าระบบทำงาน ถ้าข้อมูลถูกบันทึกไว้ว่า เคยหนีหายไปตอนวัยรุ่น จะเกิดอะไรขึ้นกับชีวิตเขาหลังจากนั้น”
เช่นเดียวกันกับกรณีการตามหาเด็กเล็ก ที่ต้องมีการประเมินตามลำดับ ทั้งปัญหาแย่งสิทธิ์ปกครองบุตร อุบัติเหตุ ความรุนแรงในครอบครัว รวมถึงการถูกลักพาตัวทั้งจากคนใกล้ชิดและคนภายนอก เพื่อเป้าหมายเพื่อคืนเด็กสู่สังคม ดังนั้นการคำนึงถึงผลลัพธ์ของการเปิดเผยข้อมูลส่วนตัวจึงเป็นเรื่องสำคัญ
เมื่อผู้กระทำผิดยังคงเป็นเด็ก
คงไม่อาจปฏิเสธว่า กรณีเด็กเล็กหายบ่อยครั้งเมื่อการสืบสวนคลี่คลาย คนในครอบครัวอาจมีส่วนเกี่ยวข้องหรือเป็นผู้กระทำผิดเสียเอง แต่นั่นก็อาจไม่ใช่เหตุผลให้สังคมพิพากษาบุคคลเหล่านั้นแทนเจ้าหน้าที่ผู้มีหน้าที่ โดยเฉพาะหากพวกเขายังอยู่ภายใต้เส้นแบ่งความเป็น ‘เด็ก’ อย่างที่เกิดขึ้นกับคดีของน้องต่อในตอนนี้
“แม่น้องต่อ คือ เด็ก” นับเป็นความผิดปกติ ที่เอกลักษณ์กำลังชี้ให้เห็นในช่วงเวลาของการสืบสวนสอบสวน “พ่อแม่ของน้องต่อยังไม่บรรลุนิติภาวะทั้งคู่ โดยเฉพาะแม่เด็กที่อายุ 17 ปี ซึ่งในทางกฎหมายยังอยู่ภายใต้เส้นอายุ 18 ปีบริบูรณ์ที่แบ่งความเป็นเด็ก”
ตลอดระยะเวลาราว 20 วันที่ความจริงยังไม่ปรากฏ พฤติกรรมส่วนตัวของครอบครัวนี้ถูกตีแผ่ออกมา ซึ่งบางส่วนก็ขัดต่อจารีตของสังคม นั่นจึงยิ่งทำให้คำวิพากษ์วิจารณ์ของสังคมถาโถมเข้าใส่
“ในความเป็นจริงทางสืบสวนสามารถหาข้อมูลเหล่านี้ได้อยู่แล้ว แต่ต้องเก็บเป็นความลับ เพื่อให้เห็นบุคลิกภาพและพฤติกรรมประกอบ แต่ไม่ใช่สื่อสารเพื่อตีแผ่ประจาน ให้เขาต้องออกมาแก้ต่างตัวเองผ่านสื่อมวลชน”
ประเด็นหนึ่งที่ชัดเจนที่สุด คือ การเปิดเผยผลตรวจดีเอ็นเอของเด็ก ว่าเป็นบุตรตามสายเลือดของใคร “ตอนนี้ผมก็เชื่อว่าพ่อแม่เด็ก ทั้งนิ่มและพุด ยังไม่เคยเห็นผลอย่างเป็นทางการที่เป็นเอกสารเลย เขาได้ยินเรื่องนี้จากสื่อ ที่ได้ข้อมูลจากคนที่มีหน้าที่บังคับใช้กฎหมาย ซึ่งในทางสากลเขาไม่ทำกัน”
“ต่อให้พ่อแม่ของเด็กจะทำผิดจารีตประเพณี หรือเป็นผู้กระทำผิดในท้ายที่สุด ก็ไม่มีใครมีสิทธิพิพากษา ก่อนที่ศาลจะตัดสิน กฎหมายมีบทลงโทษอยู่แล้ว แต่สำคัญไม่น้อยไปกว่ากัน คือ พวกเขาเป็น ‘เด็ก’”
ย้อนไปในบทสัมภาษณ์นิ่มที่มูลนิธิกระจกเงาเผยแพร่ ได้เล่าถึงเส้นทางการมีชีวิตของเด็กหญิงคนนึง ก่อนที่จะนำมาสู่การเป็นผู้กระทำความผิด ว่ามีรากฐานและเติบโตขึ้นมาจากสิ่งใด เช่นที่ระบุว่า ‘หนูไม่เคยมีความฝัน ตอนเด็กๆ ไม่เคยคิดฝันว่าอยากเป็นอะไร แค่คิดว่าจะได้ทำงานที่พอเลี้ยงตัวเองได้ ไม่คิดมีความฝันว่าจะเป็นอาชีพอะไร’
ทั้งเล่าถึงบริบทของครอบครัวว่า ‘หนูรักพ่อนะ มีอะไร ก็มาบอกพ่อ คุยกับพ่อ แต่ไม่ชอบเวลาพ่อกินเหล้าเมาแล้วโวยวาย หนูเห็นพ่อทะเลาะกับแม่ตลอด มันบ่อยมาก เห็นตั้งแต่เด็กๆ หนูไม่ชอบเลย ตอนเล็กๆ หนูนั่งร้องไห้ พยายามขอร้องให้พ่อหยุด แต่เขาก็ไม่หยุด’
ดูเหมือนหลายคนจะคิดคล้ายกันว่า คำพูดที่ได้รับการถ่ายทอดผ่านตัวอักษรไม่กี่ย่อหน้าของบทสัมภาษณ์นั้น กำลังสะท้อนหลากหลายปัญหาที่เด็กผู้หญิงวัย 17 คนหนึ่งต้องเผชิญ ทั้งปัญหาความรุนแรงในครอบครัว เศรษฐกิจ ไปจนถึงภาวะซึมเศร้าจากการเลี้ยงดูเด็กเล็ก ในขณะที่อาจยังขาดทักษะชีวิต ซึ่งทั้งหมดยิ่งเพิ่มโอกาสของการกระทำผิดไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง
อย่างในตอนนี้ที่ยังไม่อาจนำน้องต่อกลับบ้านได้ไม่ว่ารูปแบบใด แต่ทั้งพ่อที่เลี้ยงดูมาก็ถูกดำเนินคดี ในข้อหาเป็นธุระจัดหาให้กระทำการค้าประเวณี และกระทำชำเราเด็กอายุไม่เกิน 15 ปี และพรากผู้เยาว์ ขณะที่พ่อตามสายเลือดที่ถูกเปิดเผยก็เช่นกัน พร้อมกับถูกดำเนินคดีพรากผู้เยาว์และกระทำชำเราเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี
ทำไมถึงก้าวเดินไม่ออกมา? เมื่อเรื่องราวที่พัวพันกับการค้าประเวณีถูกเปิดเผย คนบางส่วนต่างตั้งคำถามว่าเหตุใดเธอจึงเลือกเส้นทางนั้น ‘ความสุขของหนู มันคือการออกมานอกบ้าน ตั้งแต่มาอยู่กับพุดได้ใช้ชีวิตอยู่เอง ถ้าหนูมีอะไรไม่สบายใจ เขาก็จะพูดให้หนูสบายใจ เหมือนเป็นหลักในชีวิต ที่คุยกันได้ ปรึกษากันได้’ เป็นคำบอกเล่าของนิ่มที่น่าจะช่วยตอบข้อสงสัยนี้ เพราะจะมีอะไรที่เด็กคนหนึ่งจะโหยหาไปกว่าคนที่จะยึดเหนี่ยวได้
“ถ้าเราพยายามเข้าใจสภาพแวดล้อมรอบข้างเขาสักหน่อย เราจะเข้าใจว่าเด็กคนนี้เป็นอาชญากร หรือผู้เสียหายที่ตกเป็นเหยื่อคนหนึ่งในสังคม”
ขณะที่ ทิชา ณ นคร หรือ ป้ามล ผู้อำนวยการศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชนชาย บ้านกาญจนาภิเษก ที่ย้ำผ่าน ThaiPBS ว่าแม่ของเด็กที่กำลังเป็นประเด็นนี้ นับเป็นเหยื่อคนหนึ่งที่ถูกทอดทิ้งจากระบบการศึกษา หรือแม้แต่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับการดูแลเด็ก แล้วจะไปเรียกร้องให้พวกเขาซื่อตรงต่อสังคมได้อย่างไรในสถานการณ์ที่ถูกบีบคั้น
เช่นเดียวกับ จะเด็ด เชาวน์วิไล ผู้อำนวยการมูลนิธิหญิงชายก้าวไกล เป็นอีกคนที่แสดงความเห็นไว้ว่า ทัศนคติที่สังคมมอบหน้าที่เลี้ยงดูบุตรให้กับผู้เป็นแม่เพียงฝั่งเดียว สะท้อนแนวคิด ‘ชายเป็นใหญ่’ อีกทั้งระบบการศึกษายังไม่สามารถอำนวยให้เด็กจากครอบครัวยากจน และกลุ่มที่ท้องในวัยเรียน ยังคงอยู่ในระบบการเรียนต่อไปได้
“ไม่งั้นเราจะไม่มีทางหาทางออกได้ แล้วก็จะโยนความผิดให้เด็ก แต่ลืมตั้งคำถามว่าปัญหาความเหลื่อมล้ำ”
คงต้องยอมรับว่า โซเชียลมีเดียที่เติบโตขึ้น ส่งผลให้การรักษาสิทธิให้กับเด็กและครอบครัวเป็นเรื่องยากกว่าเดิม เพราะทุกคนสามารถเป็นนักข่าวพลเมืองได้โดยง่ายตามความเห็นของเอกลักษณ์ อีกทั้ง “สังคมให้ค่าข้อคิดเห็น มากกว่าข้อเท็จจริง” เนื่องจากการพิสูจน์ความจริง จำเป็นต้องอาศัยเทคนิคในการตรวจสอบ และระยะเวลา
แม้บ่อยครั้งการกดดันของสังคมอาจทำให้ผู้กระทำผิดให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ แต่มีหลายกรณีที่ความจริงไม่เป็นเช่นนั้น อย่างคดีเด็กหายในไร่อ้อย จ.สุพรรณบุรี ที่ผู้คนต่างตั้งเป้าไปที่แม่ของเด็ก จนเปิดโปงข้อมูลที่ไม่จำเป็น เช่น เด็กที่หายไม่ใช่ลูกของสามีปัจจุบัน มากไปกว่านั้นแม้แต่ถ่ายแม่กำลังทานอาหาร ก็ถูกตีความหมายเป็นการไม่รักลูกได้ แต่ท้ายสุดก็พบว่าเด็กถูกล่อลวงไปโดยคนที่มีปัญหาทางสุขภาพจิต
อีกกรณีที่คล้ายคลึงกัน คือ การหายตัวไปของเด็กชายวัย 1 ขวบ 7 เดือน ระหว่างเล่นอยู่ลำพังที่หน้าบ้าน ตอนนั้นมีข้อสงสัยแรกว่าเด็กอาจตกน้ำที่คลองชลประทานหน้าบ้าน แต่การค้นหาก็ไม่พบร่างในช่วงต้น สังคมจึงเริ่มเบี่ยงเป้าไปที่แม่ของเด็กว่าเอาเด็กไปซ่อน บุคคลใกล้ชิดครอบครัวก็ถูกสงสัยไปตามกัน ก่อนท้ายสุดจะพบร่างเด็กลอยน้ำไปไกล 12 กม. ผลชันสูตรศพชี้ว่า ขาดอากาศหายใจจากการจมน้ำ
“ข้อเท็จจริงที่รับรู้แค่ส่วนเดียว ก็จะถูกวิพากษ์อย่างสนุกปาก ทุกคนมีด้านมืด เวลาเราเห็นด้านมืดคนอื่นกลับไปเหยียบซ้ำ โดยไม่ได้มองสิ่งที่เขาต้องเจอมาในชีวิต ต่อให้เขาทำจริงๆ กระบวนการสืบสวนหาพยานหลักฐาน เป็นหลักการสำคัญมากว่าการกล่าวหา”
“โลกนี้เป็นอารยะแล้ว มีมุมมองในการคุ้มครองเด็ก คุ้มครองผู้เสียหาย มีแนวทางสืบสวนในกระบวนยุติธรรม ที่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ของสากล”
อย่างไรก็ดี ในท้ายสุดเมื่อความจริงเป็นที่ประจักษ์ ผู้กระทำผิดย่อมได้รับการลงโทษตามกฎหมาย ขณะเดียวกันสังคมก็อาจต้องร่วมกันหาวิธีป้องกัน และลดจำนวนที่จะเกิดเหตุซ้ำ เพื่อไม่ให้มีนิ่มและพุดคู่ต่อไป