ตั้งแต่เข้าเดือนสิงหาคมมา หลายประเทศจับตามองเหตุการณ์ระหว่างคาบสมุทรไต้หวันที่ตึงเครียดขึ้นมาอีกครั้ง หลังการมาเยือนไต้หวันของ แนนซี เพโลซี ประธานสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐอเมริกา ที่แม้จะอยู่ในไต้หวันเพียงระยะเวลาสั้นๆ ไม่ถึง 24 ชั่วโมง ระหว่างวันที่ 2-3 สิงหาคม ค.ศ.2022 แต่ก็นำมาซึ่งการตอบโต้จากฝั่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ด้วยการซ้อมรบทั่วทั้งน่านน้ำและน่านฟ้าของไต้หวัน
ท่ามกลางสถานการณ์ที่ตึงเครียดดูสุ่มเสี่ยงจะเกิดเป็นสงครามได้ทุกขณะ ไม่แปลกที่หลายฝ่ายในไทยจะจับตามองการเคลื่อนไหวของทั้งจีนและสหรัฐอเมริกาอย่างใกล้ชิด เพราะถ้าเกิดว่ามีอะไรเกิดขึ้นมาจริงๆ ก็จะเป็นการปะทะกันระหว่างสองยักษ์ใหญ่ของโลกในขณะนี้
อย่างที่นายกฯ ของเราบอกไว้ว่าที่นี่คืออาเซียน เข้าใจอยู่แล้วว่าเราอยู่จุดไหน อย่าไปขัดแย้งกันเอง
การเกิดขึ้นของสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครน ทำให้ผู้เชี่ยวชาญที่เคยฟันธงว่ารัสเซียจะไม่บุกยูเครนแน่นอนต้องกลับมาทบทวนความเชื่อของตัวเองอีกครั้ง พอกลับมามองกรณีของจีน ที่แสดงออกอย่างชัดเจนมาตลอดว่ามีความต้องการจะรวมประเทศเป็นหนึ่งเดียว โดยมีไต้หวันเป็นส่วนหนึ่งอย่างสมบูรณ์ภายในปี ค.ศ.2040 รวมถึงความตึงเครียดที่สะสมมาตั้งแต่ปี ค.ศ.2016 ที่ประธานาธิบดีไช่อิงเหวินของไต้หวันได้ขึ้นสู่ตำแหน่งเป็นสมัยแรก แล้วค่อยๆ ออกนโยบายตีตัวออกห่างจากจีน ต่างจากรัฐบาลพรรคก๊กมินตั๋งสมัยก่อนหน้า ก็ยิ่งทำให้ผู้เชี่ยวชาญหลายคนไม่กล้าฟันธงว่าการปะทะจะไม่เกิดขึ้นตลอดไป
แล้วสรุปที่ว่ามามันเกี่ยวกับอะไรกับที่นายกฯ ของเรากล่าวไว้? ไม่เกี่ยวค่ะ อยากโควทให้อ่านกันเฉยๆ
ที่น่าสนใจกว่าคือ ในการวิเคราะห์ ตีความ หรือถอดบทเรียน ตามแต่จะเรียกกันในแต่ละครั้ง ส่วนใหญ่เราจะเห็นผู้เชี่ยวชาญที่มาชวนมองในมุมสหรัฐฯ หรือมองในมุมจีน ซึ่งก็ไม่แปลกเพราะยักษ์ใหญ่สองฝั่งนี้มีผลต่อสถานการณ์และความสัมพันธ์อีนุงตุงนังนี้อย่างมาก
แต่หลายครั้งเราก็รู้สึกว่าการตีความเหล่านี้ พอขาดการมองในมุมของไต้หวันไป ก็เหมือนจะขาดอีกตัวแปรที่แม้จะไม่ใหญ่เท่าตัวแปรสองตัวแรก แต่ก็สำคัญไม่แพ้กัน
ได้มองในมุมจีนและมุมสหรัฐฯ กันมาเยอะแล้ว วันนี้ลองมามองจากมุมไต้หวันกันดูบ้าง
คนไต้หวันคิดยังไงกับจีนและนโยบายจีนเดียว?
เป็นธรรมดาที่เราจะเห็นการปะทะของความคิดเห็นที่แตกต่างกันในสังคมเสรีประชาธิปไตย แล้วไต้หวันเองก็นับเป็นประเทศที่เสรีมากๆ เบอร์ต้นๆ ของเอเชีย
จากประสบการณ์ตรงในฐานะคนที่อาศัยอยู่ในไต้หวันเข้าปีที่ 5 เราเคยเดินๆ อยู่แล้วเจอรถแห่ที่เปิดลำโพงเพลงชาติจีนแผ่นดินใหญ่ พร้อมปิดป้ายประกาศ และประดับธงว่าไต้หวันเป็นส่วนหนึ่งของจีน เคยเห็นการเดินขบวนรณรงค์ความเป็นเอกราชของไต้หวัน เคยเข้าไปสังเกตการณ์ในการเดินขบวนประท้วงสื่อในไต้หวันที่ได้รับการสนับสนุนจากจีน เคยนั่งฟังความเห็นนักวิชาการชาวไต้หวันที่มองว่า ไต้หวันควรต้องรักษาสภานภาพปัจจุบันไว้ (Status Quo) นี้เอาไว้
ล้วนแต่เป็นความคิดเห็นของคนไต้หวันที่แสดงออกมาด้วยกันทั้งนั้น
เราขอยกอีกตัวอย่างที่เจอมา และคิดว่าน่าจะเป็นเคสที่อธิบายความเห็นที่หลากหลายของคนไต้หวันได้ชัดเจน คือ เหล่าซือสอนภาษาจีนของเราคนหนึ่งเคยเล่าให้ฟังว่า เธออาศัยอยู่กับพ่อและแม่ รวมเธอด้วยก็เป็น 3 คน คุณพ่อของเธอสืบเชื้อสายมาจากทหารที่อพยพมาไต้หวันพร้อมกับกองทัพพรรคก๊กมินตั๋ง จึงมีความเชื่อว่าไต้หวันเป็นส่วนหนึ่งของจีน ตัวเธอเป็นคนรุ่นใหม่ที่มองว่าไต้หวันไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของจีน ไต้หวันก็คือไต้หวัน ส่วนคุณแม่ของเธอมองว่าให้ทุกอย่างเป็นแบบนี้ต่อไปก็ดีแล้ว
ถึงแม้คุณพ่อของเธอจะบอกว่าไต้หวันเป็นส่วนหนึ่งของจีน ก็ไม่ได้หมายความว่าคุณพ่อของเธอต้องการให้ไต้หวันไปอยู่ภายใต้การปกครองของพรรคคอมมิวนิสต์ เพราะคนสูงอายุไต้หวันหลายคนก็ยังคงเชื่อว่าสักวันหนึ่งรัฐบาลของสาธารณรัฐจีน—ชื่อเต็มๆ ของไต้หวัน จะได้กลับไปครองแผ่นดินใหญ่อีกครั้งโดยมีไต้หวันเป็นส่วนหนึ่ง จีนเดียวของพวกเขาคือสาธารณรัฐจีน และไต้หวันก็เป็นส่วนหนึ่งของสาธารณรัฐจีน
ส่วนตัวของเหล่าซือที่อายุไล่เลี่ยกันกับเรา อยู่ประมาณหลักเลข 2X นั้น มีความเห็นไปในทิศทางที่คล้ายกับคนรุ่นราวคราวเดียวกันหลายๆ คนที่เราเคยพูดคุยด้วย หรือถ้าไม่ใช่คนรุ่นใหม่ ก็เป็นคนเชื้อสายฮั่น ที่อพยพมาไต้หวันยาวนานกว่านั้น ส่วนใหญ่เป็นชาวฝูเจี้ยนหรือกว่างตงเดิม และอพยพมาไต้หวันตั้งแต่สมัยราชวงศ์หมิงหรือราชวงศ์ชิง
ถ้าบอกว่าครอบครัวที่อพยพมาไต้หวันพร้อมพรรคก๊กมินตั๋ง ช่วงหลังปี ค.ศ.1949 ณ ปัจจุบันจะสืบเชื้อสายมาประมาณ 3-4 รุ่นด้วยกัน ครอบครัวที่อยู่มาก่อนหน้า ถึงปัจจุบันอาจจะสืบเชื้อสายกันมาแล้ว 20 กว่ารุ่น นับตั้งแต่อพยพมาไต้หวัน เพราะฉะนั้นถึงจะบอกว่ามาจากจีนแผ่นดินใหญ่เหมือนกัน แต่ประวัติศาสตร์ที่ทั้ง 2 กลุ่มนี้ผ่านมา ก็ไม่เหมือนกันเสียทีเดียว
ส่วนคุณแม่ในครอบครัวนี้ ก็เป็นคนที่พบเห็นได้ไม่น้อย อย่างวันที่เพโลซีเดินทางมาไต้หวัน นอกจากคนที่ไปต้อนรับสองข้างทางแล้ว เรายังเห็นภาพการประท้วงที่บอกว่าการมาเยือนของเธอนั้นจะสร้างปัญหาให้กับไต้หวัน ซึ่งเราบอกไม่ได้ว่าคนกลุ่มนี้เห็นด้วยกับจีนไปเสียทีเดียว แต่ที่ชัดเจนคือเป็นกลุ่มที่ให้ความสำคัญกับการค้าการลงทุนจากจีน คนไต้หวันบางคนก็พูดว่าเพราะคนกลุ่มนี้ไปลงทุนในจีนกันเยอะไงล่ะ ถึงได้เป็นห่วงเรื่องความสำคัญกับจีนนัก แต่เราก็บอกได้ว่าไม่ถึงกับต้องลงทุนในจีนถึงจะคิดแบบนี้หรอก เพราะเพื่อนเราบางคนที่เป็นคนรุ่นใหม่หัวก้าวหน้า แต่มองว่ารัฐบาลไต้หวันทั้งปัจจุบันและในอดีตจัดการกับเศรษฐกิจได้ไม่ดีพอ ก็จะเห็นด้วยกับแนวคิดที่ต้องรักษาสถานภาพปัจจุบันของไต้หวันไปเรื่อยๆ แบบนี้เหมือนกัน
ส่วนคนที่อยากรวมชาติกับจีนแผ่นดินใหญ่ภายใต้รัฐบาลพรรคคอมมิวนิสต์เองก็มีเหมือนกัน อย่างคนที่ขับรถแห่คันนั้นที่เราเคยเจอ ไม่ใช่แค่ครั้งเดียว แต่หลายครั้งด้วยกัน ซึ่งเราก็ยังไม่เคยมีโอกาสได้ฟังเหตุผลหรือที่มาที่ไปของความคิดเห็นทางการเมืองชุดนี้แบบตัวต่อตัวเหมือนกับกลุ่มอื่นๆ แต่เท่าที่เคยเห็นผ่านสื่อต่างๆ อาจบอกได้ว่าเป็นความคิดเห็นแบบเดียวกับที่คนจีนแผ่นดินใหญ่มองไต้หวัน และก็ไม่ใช่ความคิดเห็นของคนส่วนใหญ่ในไต้หวันแน่นอน
แน่นอนว่าคำอธิบายข้างบนเป็นเพียงการอธิบายแบบง่ายๆ ให้เห็นภาพรวมใหญ่ๆ เท่านั้น คนรุ่นใหม่ที่มีความคิดแบบคุณพ่อของเหล่าซือเราก็มี หรือคนที่ความเห็นไม่ได้ตรงกับทั้ง 3-4 กลุ่มนี้เลยก็อาจจะมี แต่อธิบายในภาพใหญ่ให้เข้าใจง่ายๆ ก็จะประมาณนี้
เรายังได้สอบถาม เจียงหวายเจ๋อ (江懷哲) อดีตนักวิจัยที่ Taiwan-Asia Exchange Foundation เกี่ยวกับมุมมองของคนไต้หวันต่อนโยบายจีนเดียว ซึ่งเขาก็ได้ให้ความคิดเห็นที่น่าสนใจว่า “นโยบายจีนเดียวนั้นขึ้นอยู่กับว่าจะถูกมองจากฝั่งไหน จีนแผ่นดินใหญ่ก็มีหลักการจีนเดียวของตัวเอง แต่ประเทศอื่นๆ ก็มีหลักการจีนเดียวของตัวเองเหมือนกัน แม้ดูเผินๆ จะคล้ายแต่ไม่เหมือนกัน”
เขายังได้กล่าวถึงการตีความได้หลายรูปแบบของนโยบายจีนเดียว ว่าบางประเทศอาจแสดงออกชัดเจนว่ายอมรับนโยบายจีนเดียวแบบรัฐบาลจีน แต่บางประเทศเลือกที่จะตอบรับแบบกำกวม เหลือพื้นที่ให้กับการตีความในแบบของตัวเอง “จุดนี้สำคัญมากสำหรับคนไต้หวัน เพราะเรามองว่าจีนเดียวของแต่ละประเทศตีความได้ต่างกัน และแม้เราจะไม่ชอบนโยบายจีนเดียวของบางประเทศ แต่เราก็มองว่าจีนเดียวของประเทศอื่นๆ ไม่ได้เท่ากับจีนเดียวจากจีน”
ผลการเลือกตั้งและผลโพลสะท้อนความคิดคนไต้หวันบอกเราว่า?
ถ้าเรามองว่าผลการเลือกตั้งในแต่ละสมัยของไต้หวันสะท้อนความคิดเห็นของคนส่วนใหญ่ในขณะนั้น การชนะการเลือกตั้งทั่วไปของพรรคหมินจิ้นตั่งหรือพรรคประชาธิปไตยก้าวหน้า และการได้เป็นประธานาธิบดีสมัยที่ 2 ของไช่อิงเหวิน ก็น่าจะพอรู้คร่าวๆ ได้ว่าคนไต้หวันในปี ค.ศ.2020 ที่ไปลงคะแนนเสียง อยากให้ไต้หวันเดินหน้าต่อไปในทิศทางใด
ในระหว่างการหาเสียงก่อนการเลือกตั้งปี ค.ศ.2020 หานกั๋วอวี่–ตัวแทนผู้สมัครประธานาธิบดีพรรคก๊กมินตั๋ง ชูนโยบายที่ให้ความใกล้ชิดกับจีนมากขึ้นเพื่อหวังผลด้านเศรษฐกิจกับไต้หวัน ส่วนพรรคหมินจิ้นตั่งก็อย่างที่เห็นกัน มีความแน่นแฟ้นกับทางญี่ปุ่นและสหรัฐอเมริกามากกว่า และเน้นย้ำถึงเอกราชและความเป็นประชาธิปไตยของไต้หวันอยู่บ่อยครั้ง
ถ้าอย่างนั้นการเลือกพรรคหมินจิ้งตั่งแสดงว่าคนไต้หวันส่วนใหญ่ต้องการประกาศเอกราชหรือเปล่า?
ผลการศึกษาจากศูนย์การศึกษาการเลือกตั้งมหาวิทยาลัยแห่งชาติเจิ้งจื้อ (Election Study Center, National Chengchi University) เปิดเผยว่าตั้งแต่ปี ค.ศ.1994 – 2022 คนไต้หวันที่มีความเห็นให้รักษาสถานภาพของไต้หวันแบบนี้ไปเรื่อยๆ โดยไม่มีกำหนด และคนที่ให้รักษาสถานภาพของไต้หวัน แต่ขณะเดียวกันก็มุ่งไปสู่การเป็นเอกราชค่อยๆ เพิ่มขึ้น ตรงข้ามกับกลุ่มที่ให้รักษาสถานภาพไว้ แต่มุ่งไปสู่การรวมชาติ และกลุ่มที่ไม่มีความเห็นที่ค่อยๆ ลดลงในแต่ละปี ส่วนคนที่ให้เป็นแบบนี้ไปก่อน ค่อยตัดสินใจวันหลังแม้จะดูมีแนวโน้มลดลงเรื่อยๆ แต่ก็ยังถือว่าเป็นกลุ่มคนที่ครองเสียงค่อนข้างมากทีเดียว
การศึกษาของปีนี้จัดทำขึ้นในครึ่งปีแรกของปี ค.ศ.2022 ก่อนเกิดเหตุการณ์เพโลซีและการซ้อมรบ แต่หลังจากเหตุการณ์เหล่านี้แล้ว ผลการสำรวจในปี ค.ศ.2023 ก็น่าจับตามองเหมือนกันว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงในทิศทางไหนอีก
คนไต้หวันไม่กลัวการโจมตีหรือการแบนนำเข้าสินค้าของจีน?
คำถามนี้เราเองก็นึกสงสัยอยู่เหมือนกัน ในฐานะคนที่เพิ่งมาอยู่ได้ไม่นานเมื่อเทียบกับคนไต้หวันที่อยู่บนเกาะแห่งนี้มาตั้งแต่เกิด และคนที่ติดตามทั้งข่าวสารจากไทยและไต้หวัน ข่าวจากสื่อไทยนั้นชวนให้อดระแวงไม่ได้ว่าหรือจะเกิดสงครามจริงๆ ญาติๆ ที่ไทยพากันโทรถามกันจ้าละหวั่น ส่วนสื่อไต้หวันก็นำเสนอข่าวการซ้อมรบว่าเกิดขึ้นตรงไหนบ้าง พร้อมกับภาพข่าวคนไต้หวันพากันออกไปส่องดูขีปนาวุธตามจุดชมวิว
คนไทยในไต้หวัน ไม่ใช่แค่เราแน่นอนที่ทำตัวไม่ถูกในวันนั้น
เจียงหวายเจ๋อ อธิบายให้เราฟังว่า “ความกดดันจากจีนไม่ว่าจะทางทหารหรือทางการค้าเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตคนไต้หวันไปแล้ว แน่นอนเมื่อมันเกิดขึ้นพวกเราก็ให้ความสนใจนะ แต่ไม่ได้มองเป็นสิ่งใหม่ การที่คนไต้หวันส่วนใหญ่จะแพนิคมากๆ เวลาที่จีนกดดันอะไร ไม่ได้เกิดขึ้นมานานแล้ว”
ส่วนเรื่องสินค้าไต้หวันที่ถูกแบนจากจีนนั้น เขาบอกว่าถ้าดูแค่ตัวเลขแบบผิวเผิน ดูเหมือนไต้หวันจะพึ่งจีนมากกว่า แต่จริงๆ แล้วทั้งสองฝ่ายต้องพึ่งกันและกันและยากที่จะนิยามว่า ไต้หวันหรือจีนกันแน่ที่พึ่งพาอีกฝ่ายมากกว่ากัน
“ถ้ามองไปที่สินค้าที่จีนนำเข้าจากไต้หวัน ส่วนใหญ่แล้วเป็นชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์และเซมิคอนดักเตอร์ สินค้าที่ถูกแบน (สินค้าอาหารและเกษตรกรรม) ไม่ใช่สินค้าที่กุมเศรษฐกิจไต้หวันเอาไว้ แน่นอนว่าไม่ใช่ว่ามันไม่สำคัญ ผู้ส่งออกของเราได้รับผลกระทบตรงนี้แน่นอน แต่พวกเขาก็เคยมีประสบการณ์กับอะไรแบบนี้มาแล้ว”
“พฤศจิกายนนี้ ไต้หวันมีการเลือกตั้งท้องถิ่น มันก็อาจจะมองได้ว่าจีนกำลังพยายามกดดันทางไต้หวันผ่านการแบนครั้งนี้เหมือนกัน แต่มันจะสร้างผลกระทบอะไรมั้ย ก็ต้องบอกว่าต้องดูกันต่อ เพราะการแบนแบบนี้ก็ไม่ได้มีเป็นครั้งแรก และการแบนครั้งก่อนๆ ก็ไม่ได้ส่งผลตามที่จีนต้องการขนาดนั้น”
อ้างอิงข้อมูลจาก
Illustration by Manita Boonyong