“เราหนีไม่ได้เลยครับ ปากท้องเราก็ต้องกินคือการติดต่อกับจีน ในขณะที่รั้วบ้านเราก็ต้องสร้างให้เข้มแข็งเพื่อกันคนอื่นบุก”
การเดินทางเยือนไต้หวันอย่างเป็นทางการของ แนนซี่ เพโลซี่ ประธานสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ ในวันนี้ (3 ส.ค. 65) ถือเป็นอีกหนึ่งเหตุการณ์สำคัญของประชาคมโลก จากประเด็นความขัดแย้ง จีน-ไต้หวัน ที่มีสหรัฐฯเข้ามามีบทบาทสำคัญในสมการความสัมพันธ์นี้
ความตึงเครียดที่เกิดขึ้นบนน่านน้ำและน่านฟ้าของไต้หวัน จากกองกำลังทหารของทั้ง 3 ชาติ ได้สร้างความวิตกกังวลให้แก่ชาวโลกถึงผลกระทบที่ตามมาหากเกิดสงครามขึ้นจริงระหว่าง สหรัฐฯ-ไต้หวัน-จีน
แน่นอนว่าประเทศไทยเองก็คงหนีไม่พ้นผลพ่วงของสงครามที่จะตามมาอย่างแน่นอน และที่สำคัญไม่แพ้กันคือจุดยืนและการดำเนินนโยบายต่างประเทศของไทยบนเวทีโลกจะเป็นอย่างไรต่อไปในอนาคต และไทยจะต้องไปต่ออย่างไร
The MATTER ได้มีโอกาสพูดคุยกับ ผศ.ดร.วิบูลพงศ์ พูนประสิทธิ์ ที่ปรึกษาสมาคมอเมริกาศึกษาในประเทศไทย คณะรัฐศาสตร์ธรรมศาสตร์ ถึงจุดยืนของไทยในสมการความสัมพันธ์นี้
ก่อนอื่นเลยขอเริ่มจากแรงผลักดันที่ทำให้เกิดทริปเยือนไต้หวันครั้งนี้ของ “แนนซี่ เพโลซี”
แรงผลักดันจริงๆ แล้วไม่ได้เป็นเรื่องใหญ่อะไร เพราะจริงๆ แล้วเมื่อ 25 ปีที่แล้ว นิวต์ กิงกริช ที่เป็นประธานสภาฯ สหรัฐฯ ในสมัยนั้นจากพรรคริพับลิกัน ก็เคยเดินทางมาเยือนไต้หวันเหมือนกัน แล้วหลังจากนั้นเนี่ยมันก็มีการเดินทางของฝ่ายนิติบัญญัติไปเยือนไต้หวันอยู่ตลอด เพราะสหรัฐฯมองว่าไต้หวันถือเป็นตัวแทนของประชาธิปไตยอย่างแท้จริง
พูดง่ายๆว่า สหรัฐฯ ต้องการจะต่อต้านรัฐบาลคอมมิวนิสต์ของจีนแผ่นดินใหญ่ ไม่ต้องการให้จีนเข้ามาใช้ระบอบคอมมิวนิสต์ปกครองไต้หวัน เพราะฉะนั้นเนี่ยการมาเยือนไต้หวันของ “แนนซี่ เพโลซี” จึงสะท้อนให้เห็นถึง นโยบายของสหรัฐฯ ต่อไต้หวันที่เป็นที่ยอมรับกันซึ่งก็คือ นโยบายความคลุมเครือ (Strategic Ambiguity)
ที่เรียกกันว่า นโยบายความคลุมเครือ (Strategic Ambiguity) ก็คือว่า สหรัฐฯ ในขณะที่ยอมรับว่าไต้หวันเป็นส่วนหนึ่งของจีนแผ่นดินใหญ่ แต่ในขณะเดียวกันก็ยืนยันว่าสหรัฐฯ เองก็มีสิทธิ์ที่จะสานสัมพันธ์กับไต้หวันอย่างอิสระ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในแง่ที่เกี่ยวข้องกับระบอบประชาธิปไตย สิทธิ์และเสรีภาพ ตรงนี้แหละที่ทำให้สภาฯสหรัฐ ที่ให้ความสำคัญอย่างมากกับระบอบประชาธิปไตยของสหรัฐฯ ตามหลักการแบ่งแยกอำนาจ (Separation of Powers) เขาจึงได้เดินทางไปไต้หวันบ่อยมากในช่วงที่ผ่านมา
ทีนี้กลับมาที่สาเหตุที่ แนนซี่ เพโลซี เลือกที่จะเดินทางไปเยือนไต้หวันในครั้งนี้ ถ้าเราย้อนไปดูประวัติของ แนนซี เพโลซี เขาเป็นประธานสภามาตั้งแต่ปี 2007 และตอนนี้ก็อายุ 82 ปี แล้ว
ถ้าไปดูบทบาทเขาจะเห็นได้ว่า เขาก็มีจุดยืนสนับสนุนไต้หวันในเรื่องประชาธิปไตยมาตลอด มีการสนับสนุนอนุมัติให้เงินช่วยเหลือในการซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์ ถ้าไต้หวันต้องการซื้อ หรือไม่ว่าไต้หวันจะขอความช่วยเหลือในด้านอะไรก็ตามเพื่อที่จะปกป้องประชาธิปไตย ก็พูดง่ายๆ ว่า แนนซี เพโลซี เป็นหัวเรือหลักในเรื่องนี้มาตลอด
คราวนี้เมื่อเขามีโอกาสไปเยือน 4 ประเทศ มี สิงคโปร์ มาเลเซีย เกาหลีใต้ และญี่ปุ่น เขาก็ถือโอกาสนี้ไปเยือนไต้หวันด้วย แต่จริงๆ แล้วเขาตั้งใจเยือนไต้หวันตั้งแต่เดือน เม.ย. ที่ผ่านมา แต่ว่ามันเกิดโควิด แล้วเขาเองก็ติดโควิดก็เลยยังไม่มีกำหนดการเดินทาง
“ทีนี้พอมาตอนนี้มันเป็นช่วงที่ไม่ค่อยดีสักเท่าไหร่”
ทีนี้พอมาตอนนี้มันเป็นช่วงที่ไม่ค่อยดีสักเท่าไหร่ ก็คือว่าช่วงประมาณปลายปีนี้ พรรคคอมมิวนิสต์จีน เขากำลังจะประชุมกัน ไม่แน่ใจว่าเดือน ก.ย.หรือว่า ต.ค. ก็จะเป็นครั้งแรกเลยในประวัติศาสตร์จีนที่จะมีการเสนอ สี จิ้นผิง ให้ดำรงตำแหน่งเป็นประธานาธิบดีเป็นสมัยที่ 3 ซึ่งไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในประวัติศาสตร์จีน แม้กระทั่ง เหมา เจ๋อตง ก็ไม่เคยเกิดขึ้น
เพราะฉะนั้น สี จิ้นผิง ก็ไม่อยากถูกมองว่าเป็นผู้นำที่อ่อนแอและในขณะเดียวกันถ้าขึ้นมาแล้ว จะไปหน่อมแน้มกับ สหรัฐฯ มันก็ไม่ใช่อีก เพราะฉะนั้นเลยสร้างความลำบากใจให้กับ สี จิ้นผิง เป็นอย่างมาก เขาถึงได้มีการพูดคุยผ่านโทรศัพท์สายตรงกันคุยกันนานถึง 2 ชม. กว่า เมื่อ 2 วันก่อน ทางไบเดนก็ปรารภตรงๆว่า ของเขาเป็นหลักการแบ่งแยกอำนาจ (Separation of Powers) มีการแบ่งแยกอำนาจเด็ดขาด แม้ว่าเขาจะเป็นหัวหน้าพรรคเดโมเคตโดยธรรมเนียม แต่เขาก็ไม่มีสิทธิ์ที่จะห้าม เพโลซี่ ไมให้ไปได้ แม้ว่าเขาได้พูดแล้วก็ตามว่าไม่เห็นด้วยกับการเดินทางในครั้งนี้
ทางเสนาธิการฝ่ายทหาร ก็ออกมาพูดว่าไม่เห็นด้วย แต่ไม่มีสิทธิ์ห้าม อย่างที่ผมบอกว่าประชาธิปไตยมันมีผู้นำของแต่ละฝ่าย ประธานาธิบดีมันก็เป็นหัวหน้าของฝ่ายบริหาร แนนซี เพโลซี ก็ถือเป็นผู้นำของฝ่ายนิติบัญญัติ พูดง่ายๆว่าเป็นประธานสภาล่าง
“พูดตรงๆ ว่า โจ ไบเดน ก็อาจจะมีจุดอ่อนพอสมควร”
พูดตรงๆ ว่า โจ ไบเดน ก็อาจจะมีจุดอ่อนพอสมควรยกตัวอย่าง ถ้าตอนนี้เป็นทรัมป์ แล้วสั่งว่าไม่ให้ไป ไม่มีทางเลยที่ประธานสภาฯ ซึ่งอยู่พรรคเดียวกันจะทำ ทีนี้ แนนซี่ เพโลซี เขาก็มีอเจนด้าของเขาอยู่เอง
- คือเขาเป็นประธานสภาฯ เขาถือว่าเขามีสิทธิ์เด็ดขาด เขาก็ถือว่าการที่เขาจะไปพูดเรื่องประชาธิปไตย ขาก็คิดว่าเขาน่าจะมีสิทธิ์ไปได้
- เขาก็คิดว่ามันไม่ได้เกี่ยวอะไร เขาไม่ได้ไปยุ่งอะไรกับเรื่องราวทางการเมือง
ซึ่งจริงๆ แล้วจะพูดก็ได้ แต่มันแยกจากกันขนาดนั้นไม่ได้หรอก แต่จีนก็ไม่ได้มองอย่างนั้น จีนมองว่า คุณจะบอกว่า แนนซี่ โพเลซี เป็นฝ่ายนิติบัญญัติอย่างเดียวไม่ได้นะ ทางกฎหมายคุณถ้าเกิดอะไรขึ้นกับ โจ ไบเดน แล้ว คามารา แฮริส ขึ้นแทนไม่ได้ เพโลซี่ขึ้นเป็นประธานาธิบดีเลย การที่มาอย่างนี้มันไม่ได้เป็นการแสดงการเปลี่ยนแปลงนโยบายของสหรัฐฯ ต่อจีนรึเปล่า อันนี้เป็นสิ่งที่ทำให้จีนเป็นห่วงมาก เลยทำให้เกิดความตึงเครียดนี้ขึ้น
ความสัมพันธ์กับสหรัฐ-ไต้หวัน-จีน จะเปลี่ยนแปลงไปไหม
คิดว่าไม่เปลี่ยนแปลง พอมองดูสหรัฐฯ ถึงแม้จะทำปากแข็ง แต่ก็ออกมาพูดยืนยันพอสมควร อย่างเมื่อคืนเนี่ยผมดูรายงานของ CNN ราวๆ ตี 3 โฆษกทำเนียบขาว ออกมาแถลงเลย ว่าขณะนี้เพโลซีไปถึงไต้หวันแล้วและย้ำว่า นโยบายของสหรัฐฯ ต่อจีนและไต้หวันไม่มีการเปลี่ยนแปลงยังเหมือนเดิม
ซึ่งสิ่งนี้เป็นจุดที่สำคัญมากที่โฆษกทำเนียบขาวออกมาพูด เพราะจีนกลัวว่าการที่ แนนซี เพโลซี ไปครั้งนี้ จะเป็นจุดเปลี่ยนของนโยบายความครุมเคลือของสหรัฐฯ หรือเปล่า ซึ่งทางโฆษกซึ่งถือเป็นตัวแทนของโจ ไบเดนออกมาพูดชัดเจนว่า ‘ไม่ใช่’
คิดว่าผลพวงหรือผลกระทบจากการมาเยือนของไต้หวันของ “แนนซี่ เพโลซี” จะเป็นอย่างไร
ณ เวลานี้มันอาจจะยังไม่เกิด ถ้าเดินทางกลับโดยปลอดภัย อาจารย์ว่าก็จบ ถ้าออกเดินทางกลับแล้วเครื่องบินเกิดไปเจอเครื่องบินของจีนที่ซ้อมรบอยู่ตอนนี้ เขาก็ซ้อมรบเพื่อเป็นการแสดงแสนยานุภาพของเขา
ไต้หวันก็มีการส่งเครื่องบินขึ้นไปประกบเป็นธรรมดา เหมือนเป็นการดูเชิงกันไม่น่ามีปัญหาอะไร
“ผมไม่คิดว่าจะมีปัญหาอะไร นอกเสียจากว่ามันเกิดอุบัติเหตุโดยไม่ได้ตั้งใจ คุณคิดดูสิ เครื่องบินสองชาติมาบินใกล้ๆกัน โอกาสเกิดอุบัติเหตุมันมีได้”
แล้วที่ผ่านมาสหรัฐฯ เอง แม้จะปากแข็งว่าเราต้องทำเพื่อประชาธิปไตย เราต้องไปได้ เราไม่แคร์ จริงๆ ตัวเองก็ระวังเหมือนกัน เดินทางจากมาเลเซียมาไต้หวัน ใช้เวลาประมาณ 4 ชม.ครึ่ง แต่เขาบินตั้ง 7 ชม. ทำไมเหรอ เขาบินอ้อมเพื่อไม่ให้ไปผ่านบริเวณที่จีนอ้างสิทธิ์ (ทะเลจีนใต้) แม้ว่าสหรัฐฯ จะไม่ยอมรับการเคลมนั้นก็ตาม
ซึ่งก็แสดงว่าสหรัฐฯ ก็ไม่ได้หวังจะทำให้เกิดสงคราม เพราะว่าสหรัฐฯ เองก็ไม่พร้อม เพราะตอนนี้สหรัฐฯเองติดศึกอยู่ที่ยูเครน จะมาเปิดศึกที่แปซิฟิกอีก ไหนจะเงินเฟ้ออีก ดังนั้นผมเลยมองว่ามันน่าจะไม่มีอะไรเกิดขึ้นโดยตั้งใจ
ด้านจีนเองที่ไม่พร้อมทำสงคราม หนึ่งเพราะว่าตอนนี้จีนต้องการที่จะขยายความสามารถทางด้านเศรษฐกิจมากกว่า สองคือการที่ สี จิ้นผิง จะขึ้นมาเป็นประธานาธิบดีสมัยที่ 3 มันก็เหมือนจะลำบากกับเขาถ้ามีการกระทบกระทั่งกันตอนนี้ เพราะว่า จะถูกมองได้ว่าขึ้นมาปั๊บ จะมาเปิดสงครามกับประเทศอื่นเลยเหรอมันไม่ดีนะ มันไม่คุ้มได้คุ้มเสียท่าที่ควร อันนี้เป็นความรู้สึกของ สี จิ้นผิง เอง
ผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นกับไทยในการเผชิญหน้ากันในครั้งนี้
สำหรับไทยก็คงกลัวอย่างเดียวว่าจะเกิดสงครามขึ้นมา ซึ่งมันจะกระทบกับประเทศเราเพราะเราเองก็แย่อยู่แล้วจากโควิด เรากำลังฟื้นตัวจากการที่เริ่มมีนักท่องเที่ยวเข้ามา ถ้าเกิดมีสงครามขึ้นมาในภูมิภาคนี้ นักท่องเที่ยวก็จะลดลงอยู่แล้ว มันก็จะลำบากกับไทยในการปรับตัว เพราะว่าเราต้องคบกับจีนและก็สหรัฐฯ ไปพร้อมๆ กัน
“พูดง่ายๆ ก็คือในการที่เราจะมีเพื่อน 2 คน แล้วเขาทะเลาะกัน การที่เราจะเข้าข้างเพื่อนคนนึง ก็เกรงใจเพื่อนอีกคน มันลำบากในการดำเนินนโยบาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งนโยบายต่างประเทศของไทย”
ยิ่งเราอยู่ใกล้จีน เราก็ต้องพึ่งพาเศรษฐกิจจากจีนมากกว่าสหรัฐฯ แต่จริงๆแล้ว ด้านเศรษฐกิจจีน เขาไม่ได้ช่วยอะไรเราหรอก เขาก็ทำเพื่อตัวเขาเอง ไม่ว่าจะเส้นทางสายไหมหรือทางรถไฟที่จะมา ถ้าเขาได้ประโยชน์แล้วเราก็ได้ประโยชน์ด้วย ก็เรียกว่าผลประโยชน์สอดคล้องกัน
ในขณะเดียวกันเราก็มีการซ้อมรบ Cobra Gold กับกองทัพสหรัฐฯ สนิทกันมาก เราใช้เครื่องบินรบ หรือ เทคโนโลยีทางการทหารของสหรัฐฯ ทั้งนั้น เพราะฉะนั้นเรื่องความมั่นคง ความปลอดภัยของเราดูเหมือนมันจะอยู่ภายใต้เทคโนโลยีของสหรัฐฯ ถ้าเทคโนโลยีนี้มันหายไป ไทยก็อ่อนแอในการป้องกันประเทศ
“เราหนีไม่ได้เลยครับ ปากท้องเราก็ต้องกินคือการติดต่อกับจีน ในขณะที่รั้วบ้านเรา็ต้องสร้างให้เข้มแข็งเพื่อกันคนอื่นบุก ถ้าเกิดเขาทะเลาะกันจริง ตัวเล็กๆอย่างเราสิแย่เลย ไม่รู้จะหันไปทางไหน”
ในสายตาของคนทั่วไป เรามองความขัดแย้งครั้งนี้อย่างไรได้บ้าง
ผมยังไม่อยากให้มองว่าเป็นความขัดแย้งนะ ผมอยากให้มองว่าเป็นการท้าทาย ประลองกำลังกันมากกว่า เหตุการณ์อย่างนี้มันเคยเกิดขึ้นมาเมื่อ 25 ปีที่แล้ว คือการที่นิวต์ กิงกริช อดีตประธานสภาฯ เช่นเดียวกับนางเพโลซี ที่มาเยือนไต้หวัน จีนก็ประท้วงแบบนี้เหมือนกัน
แต่ตอนนั้นสหรัฐฯ ออกตัวแรงมาก ส่งกองเรือที่ 7 ที่อยู่แถวแปซิฟิกเข้าไปประจำการในพื้นที่เลย จีนก็ถอย
ถามว่าตอนนั้นทำไมเป็นอย่างนั้น เมื่อ 25 ปีที่แล้ว ศักยภาพของจีนทางการทหารไม่เทียบเท่าสหรัฐฯ เขารู้ดีว่าถ้าเกิดการต่อสู้กันจริง จีนสู้ไม่ได้ แต่ 25 ปีผ่านมากองกำลังของจีน โดยเฉพาะกองทัพเรือมีเรือบางประเภทที่มากกว่าสหรัฐฯ ด้วยซ้ำ
จีนตอนนี้ไม่ใช่ย่อยๆ จีนเป็นมหาอำนาจที่สามารถท้าทายสหรัฐฯ ได้จีนไม่เพียงมีกองกำลังทหาร แต่มีกองกำลังทางเศรษฐกิจที่ยิ่งใหญ่มากด้วยเช่นกัน หลังจากที่สหรัฐฯ ดึงจีนแผ่นดินใหญ่เข้ามาเป็นพวกเพื่อหวังสู้กับสหภาพโซเวียต ดึงจีนเข้าเป็นสมาชิกสหประชาชาติและองค์การการค้าโลก
จีนก็ได้สิทธิ์ของประเทศด้อยพัฒนาในการค้าขายและได้สิทธิ์ทางภาษี ด้วยเหตุผลต่างๆ เหล่านี้ทำให้ จีนมี อิทธิพลทางเศรษฐกิจมากเลยทีเดียวที่จะท้าทายสหรัฐฯ
สรุปเลยมองว่าจริงๆแล้ว ผลประโยชน์ของทั้ง 2 ชาตินั้นคือการไม่เผชิญหน้า แต่เหตุการณ์นี้ทำให้เกิดการเผชิญหน้า ที่เกิดจากระบบการเมืองของสหรัฐฯ ที่โจ ไบเดน อาจจะไม่แข็งแกร่งพอที่จะห้าม แนนซี่ เพโลซี ไม่ให้เดินทางมา และ เพโลซี่ เองก็ต้องเดินทางมาเนื่องจากเคยพูดไว้แล้วไม่งั้นพรรคเดโมแครตเองก็จะยิ่งเสียหายไปกันใหญ่นั่นเอง