จีนแผ่นดินใหญ่ ประเทศมหาอำนาจที่มีอิทธิพลมากขึ้นเรื่อยๆ แต่ท่ามกลางอำนาจที่ขยายขึ้นเรื่อยๆ ของจีน ประเด็นเรื่องจีน และความขัดแย้งแบ่งแยกดินแดน กับเขตปกครองพิเศษต่างๆ
ไม่ว่าจะทั้งฮ่องกง ไต้หวัน ซินเจียง และทิเบต รวมไปถึงนโยบาย One China ที่เน้นความเป็นจีนแค่ 1 เดียว ก็ถูกนำมาพูดถึง รวมถึงวิธีการจัดการ ปราบปรามต่างๆ ของจีน ที่มีประเด็นเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชนด้วย
แต่ละดินแดน มีความขัดแย้งอะไรกับจีน และจีนใช้วิธีไหนในการพยายามจัดการ และควบคุมพื้นที่เหล่านี้ The MATTER สรุปฉบับย่อมาให้แล้ว
เขตปกครองพิเศษซินเจียงอุยกูร์
ชาวอุยกูร์ เป็นชนพื้นเมืองที่อาศัยในบริเวณที่จีนเรียกว่า “ซินเจียง” ทางตะวันตกเฉียงเหนือของประเทศ โดยประชากรพื้นเมืองของซินเจียงไม่ใช่ชาวจีนแต่เป็นคนเชื้อสายอื่นๆ ซึ่งอุยกูร์เป็นชนชาติหนึ่งที่สังกัดอยู่ในกลุ่มชาติพันธุ์เติร์ก แต่เดิมภูมิภาคนี้ก็มีเอกราชเป็นครั้งคราว แล้วแต่ยุคสมัย แต่ได้มาอยู่ภายใต้การปกครองของจีนในศตวรรษที่ 18 และแม้จะมีการประกาศเอกราช และแยกตัวในปี 1949 แต่ก็เป็นเพียงช่วงระยะเวลาสั้นๆ ก่อนที่จะอยู่ใต้จีนอย่างเป็นทางการในยุคคอมมิวนิสต์
ความพยายามแบ่งแยกดินแดนในซินเจียงมีมากขึ้นในช่วงทศวรรษที่ 1990 เมื่อสหภาพโซเวียตล่มสลาย และเกิดรัฐมุสลิมอิสระในเอเชียกลาง ทั้งความขัดแย้งระหว่างจีน และซินเจียงเอง ยังมีจากปมทางประวัติศาสตร์ และเคยมีการปราบปรามชาวอุยกูร์ที่ต่อต้านมาอยู่เรื่อยๆ ตั้งแต่อดีต ทั้งเมื่อจีนเป็นคอมมิวนิสต์แล้ว ยังมีการควบคุมเรื่องศาสนาอิสลามมากขึ้นด้วย ก่อนที่จะตั้งบริเวณนี้ให้เป็น ‘เขตปกครองตนเองชนชาติอุยกูร์ซินเจียง’ ในปี 1955
ในปัจจุบันเอง จีนได้ดำเนินนโยบายหลายอย่าง เพื่อควบคุมเขตปกครองพิเศษนี้ ทั้งการควบคุมศาสนา มีการควบคุมโรงเรียน การสอน สถานที่ทางศาสนาอย่างเคร่งครัด ซึ่งมีการมองว่าเป็นความพยายามการกลืนกินวัฒนธรรมดั้งเดิม รวมถึงสิ่งที่เป็นประเด็นในช่วงหลายปีที่ผ่านมา กับการสร้างค่ายกักกัน ซึ่งจีนระบุว่า เป็นค่ายฝึกอบรมและให้การศึกษาตามความสมัครใจ แต่ที่ผ่านมาก็มีเอกสารที่เปิดเผยว่าค่ายเหล่านี้ มีการละเมิดสิทธิมนุษยชนขนานใหญ่ มีการกักขัง และล้างสมองด้วย
เขตปกครองพิเศษทิเบต
อาณาจักรทิเบตมีประวัติศาสตร์อันยาวนาน มีภูมิปัญญาและมีวัฒนธรรมประเพณีของตนเอง รวมถึงเคยมีระบบกฎหมาย การปกครองต่างๆ รัฐบาลของตัวเอง และมีองค์ดาไลลามะ เป็นผู้นำทางด้านจิตวิญญาณสูงสุดของชาวทิเบต โดยประชาชนส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธ มีภาษาและวัฒนธรรมของตัวเอง และไม่ใช่ชาวจีนฮั่น ทั้งอาณาจักรทิเบตเคยประกาศแยกตัวเป็นเอกราชจากจีนด้วย
จีนได้ดำเนินนโยบายที่แข็งกร้าวกับทิเบต โดยการส่งกลุ่มกองทหารปลดแอกประชาชนจีนเข้าไปในทิเบตในปี 1949 ได้กำหนด ‘ข้อตกลง 17 ข้อสำหรับอิสรภาพอันสงบสุขของทิเบต’ แต่กลับทำให้การต่อต้านจีนเพิ่มมากขึ้น มีประชาชนที่ก่อจลาจลต่อต้าน แต่ก็ถูกจีนปราบปราม และสังหารด้วย โดยแม้ว่าทุกวันนี้จะให้ดินแดนนี้เป็น ‘เขตปกครองตนเองทิเบต’ แต่อาณาเขตของทิเบตที่เหลือเพียงครึ่งหนึ่งเท่านั้น เพราะบริเวณอื่นๆ ถูกกลืนไปกับหลายๆ จังหวัดของจีนในบริเวณนั้น
ในปัจจุบันนี้ จีนยังคงควบคุมทิเบตอย่างเข้มงวด แม้ว่าจะเป็นเขตปกครองตนเอง โดยมีส่งกองกำลังรักษาความมั่นคงเข้าไป รวมถึงมีการรายงานว่ามีการกดขี่ชาวทิเบต และความพยายามกลืนกินภาษา และวัฒนธรรมด้วยการส่งชาวฮั่นเข้าไปในพื้นที่ ให้สอนภาษาจีนกลางในโรงเรียนแทนภาษาทิเบต และมีการทำลายศาสนาพุทธ ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของทิเบตด้วย ขณะที่จีนพยายามชี้แจงว่า ปัญหาสิทธิมนุษยชนในทิเบตนั้นดีขึ้น แต่ก็มีชาวทิเบตพลัดถิ่นในประเทศต่างๆ ที่ยังคงออกมาประท้วง เคลื่อนไหวเรียกร้องในเรื่องนี้ด้วย
เขตบริหารพิเศษฮ่องกง
ฮ่องกงเคยเกาะเล็กๆ และชุมชนประมง แต่ช่วงสงครามฝิ่นอังกฤษเข้ายึดเกาะเพราะต้องการเป็นเมืองท่า และเมื่อหลังจีนแพ้สงครามฝิ่นครั้งที่ 2 จีนถูกบีบให้ทำข้อตกลงให้อังกฤษเช่าดินแดนฮ่องกง ซึ่งหลังอังกฤษคืนเกาะฮ่องกงแล้ว ชาวฮ่องกงเองต่างแสดงให้เห็นถึงความต้องการประชาธิปไตย ต้องการปกครองแยกจากรัฐบาลปักกิ่ง และมีบางส่วนต้องการแยกจากจีนด้วย
แม้ว่าหลังจากที่อังกฤษคืนเกาะฮ่องกง จีนจะดำเนินนโยบายเศรษฐกิจเสรีต่อไปได้อีกเป็นเวลา 50 ปี ตามนโยบาย ‘หนึ่งประเทศ สองระบบ’ แต่รัฐบาลของฮ่องกงเอง ก็ยังได้ขึ้นชื่อว่าเป็นรัฐบาลที่โปร และสนับสนุนจีนแผ่นดินใหญ่ ทั้งในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมานี้ จีนได้จัดการปราบปรามผู้เรียกร้องประชาธิปไตยที่เข้มงวดมากขึ้น มีผู้ที่ถูกอุ้มหายหลังวิจารณ์นโยบายของปักกิ่ง
รวมถึงหลังผ่านกฎหมายความมั่นคงฮ่องกงแล้ว ก็ยิ่งมีความเข้มงวด จับผู้ประท้วงที่สนับสนุนประชาธิปไตยมากขึ้นด้วย ทั้งบทเรียน หนังสือเรียนต่างๆ ก็ถูกตรวจสอบให้เป็นไปตามกฎหมายความมั่นคงด้วย
ไต้หวัน
ไต้หวันเคยเป็นหนึ่งในมณฑลหนึ่งของจีน และเคยกลายเป็นอาณานิคมของญี่ปุ่น แต่หลังจากที่พรรคก๊กมินตั๋ง พ่ายแพ้ให้กับพรรคคอมมิวนิสต์ นายพล เจียง ไคเช็กก็ได้พาประชาชนชนบางส่วนอพยพมายังไต้หวัน เกิดการแย่งชิงการเป็นประเทศกัน โดยในช่วงแรก ประเทศต่างๆ ที่ต่อต้านคอมมิวนิสต์ ก็ประกาศยอมรับไต้หวันเป็นประเทศ แต่ในช่วงทศวรรษ 1970 ประเทศต่างๆ นำโดยสหรัฐฯ เริ่มตัดความสัมพันธ์กับไต้หวัน ยอมรับหลักการจีนเดียวว่าไต้หวันเป็นส่วนหนึ่งของจีน
คำว่า One China หรือหลักการจีนเดียวนี้ ก็เกิดจากความขัดแย้งของจีนและไต้หวัน (แม้ว่าปัจจุบันจะมีการนำนโยบายนี้ ไปพูดถึงความขัดแย้งทางดินแดนอื่นๆ ของจีนด้วย) โดยปัจจุบัน จีนเองก็ยังดำเนินนโยบายจีนเดียว โดยยังถือว่าไต้หวันเป็นส่วนหนึ่งของประเทศ แข็งกร้าวกับไต้หวัน และไต้หวันเองก็ถูกกีดกันจากการเป็นสมาชิกองค์กรระหว่างประเทศต่างๆ รวมถึงการแย่งชิงความสัมพันธ์ทางการทูต ซึ่งตอนนี้มีเพียง 15 ประเทศ ที่รองรับไต้หวัน และระยะหลังก็มีประเทศที่ตัดสัมพันธ์กับไต้หวันอยู่เรื่อยๆ ด้วย