‘ซูเปอร์คาร์’ ‘เรือยอร์ช’ ‘ปาร์ตี้’ และ ‘คำคมนำชีวิต’
กลายเป็นกลยุทธ์ทางการตลาดของธุรกิจที่เราต่างชินตา ในตลาด Forex ก็เช่นกัน แต่ก็ไม่ใช่การส่งสัญญาณไฟเหลืองให้ระวังที่แท้จริง เช่นนั้นคงไม่มีอะไรดีเกินไปกว่าการรู้เท่าทันพื้นที่สีเทาแห่งนี้
คงไม่ต้องถามถึง ว่าทำไมชื่อ Foreign Exchange ที่เราเรียกติดปากว่า ‘Forex’กลายเป็นที่สนใจถึงขนาดนี้ ด้วยเงินมูลค่ากว่า 2,ooo ล้านบาท กับจำนวนผู้เสียหายกว่า 9,000 คน ที่ต้องสูญเงินไปกับกรณีการลงทุนผ่านเว็บไซต์ forex-3D คือคำตอบ และยังเชื่อว่านี่เป็นเพียง 1 ใน 5 ของจำนวนผู้เสียหายที่แท้จริงเท่านั้น
ตลาดลงทุนนี้มีจริงไหม? The MATTER ไปคุยกับ ปุณยวีร์ จันทรขจร เทรดเดอร์มืออาชีพ และเจ้าของหนังสือ คู่มือเทรด Forex เข้าใจง่าย ทำเงินได้จริง ถึงตลาด Forex ว่าทำงานอย่างไร แล้วทำไมถึงกลายเป็นช่องทางฉ้อโกงไปได้
Forex คืออะไร?
รู้ไหมว่า กราฟที่ทำมาเลียนแบบอัตราแลกเปลี่ยนของจริง ไม่ใช่เทรดเงินตราจริง?
ภาพของเส้นกราฟ แท่งเทียน หรือตัวเลขที่วิ่่งขึ้นลงบนกระดาน ที่บรรดานักเทรดใช้เป็นช่องทางในการลงทุน ล้วนเป็นสิ่งที่คนกลางสร้างขึ้นมาทั้งสิ้น ตามคำบอกเล่าของปุณยวีร์
ปุณยวีร์ เริ่มต้นอธิบายว่า การเทรด Forex เป็นการเล่นกับความผันผวนของส่วนต่างอัตราแลกเปลี่ยน ที่ขยับขึ้นลงอยู่ตลอด ซึ่งขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย แต่ที่ชัดที่สุด คือ นโยบายทางการเงินและเหตุการณ์สำคัญในโลก เช่น สหรัฐฯ ประกาศขึ้นอัตราดอกเบี้ย เงินดอลลาร์ก็จะแข็งค่าเมื่อเทียบกับสกุลเงินอื่น ญี่ปุ่นพิมพ์ธนบัตรเพิ่มเติม อังกฤษประกาศเงินเฟ้อ เป็นต้น
“สมมติเรามองว่า ค่าเงินบาทกำลังจะอ่อนค่า ตอนนี้ 1 ดอลลาร์ ตกอยู่ราว 34 บาท คาดการณ์อีก 2 เดือนข้างหน้า เราจะแลกได้ 36 บาท เราก็ตัดสินใจแลกเลย 10,000 ดอลลาร์ ด้วยเงิน 340,000 บาท ผ่านไปเงินบาทขึ้นไป 36 บาท ต่อ 1 ดอลลาร์จริงๆ เราไปแลกกลับได้เงิน 360,000 บาท เท่ากับกำไร 20,000 บาท นี่คือการเทรด Forex แล้ว”
บรรดานักเทรดมักติดใจกับเสน่ห์ของ forex ตรงที่หากำไรได้ทั้งขาขึ้นและขาลง เรากำหนดเองว่า จะเปิดสถานะซื้อหากคาดการณ์ว่าราคาจะสูงขึ้น และเปิดสถานะขายเมื่อราคาลดลง ต่างกับหุ้นที่ซื้อเพื่อรอขาขึ้นเท่านั้น
เล่ามาตั้งแต่ต้น ว่านี่เป็นการเล่นกับความต่างของค่าเงิน ด้วยการจับคู่สกุลเงิน ที่มีอยู่มากมายทั่วโลก ความนิยมของการจับคู่จึงต่างกันไป อย่างคู่หลักที่สภาพคล่องสูง ถูกเรียกว่าเป็นคู่เมเจอร์ เช่น ยูโร EUR/USD, GBP/USD, USD/JPY ซึ่งเป็นที่นิยมของนักเทรด
ส่วนคู่ที่คนสนใจลดลงมาหน่อย อย่างคู่ไมเนอร์ตามคำเรียก ส่วนใหญ่ก็จะไม่ได้จับคู่กับเงินสกุลดอลลาร์ เช่น AUD/JPY, NZD/JPY, EUR/GBP
* ดอลลาร์สหรัฐ (USD), ยูโร (EUR), ปอนด์สเตอร์ลิง (GBP), เยน (JPY)
ทำความรู้จักผู้เล่นคนสำคัญ
- ธนาคารเป็นผู้เล่นดั้งเดิม
“ดั้งเดิมการเทรด Forex เป็นงานของเทรดเดอร์ที่อยู่ในธนาคาร และวัตถุประสงค์ เพื่อบริหารความเสี่ยงของสถาบันการเงิน ซึ่งเป็นสิ่งที่ต้องทำ” เป็นคำบอกเล่าของ ปุณยวีร์ว่า ผู้เล่นดั้งเดิมของตลาด Forex คือสถาบันการเงินอย่างธนาคาร จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่คนทั่วไปอาจฟังแล้วรู้สึกเป็นเรื่องยากในตอนต้น
สืบเนื่องจากธนาคารมีการปล่อยเงินกู้ให้กับธุรกิจส่งออก-นำเข้า ที่เลี่ยงความผันผวนของค่าเงินไปไม่ได้ จึงต้องมีเทรดเดอร์ประจำธนาคาร คอยทำหน้าที่ซื้อขายสินทรัพย์ทางการเงิน เพื่อลดการขาดทุน
- เทรดเดอร์และโบรกเกอร์
อีกกลุ่มผู้เล่นในตลาด Forex ของรายย่อยมี 2 กลุ่มด้วยกัน กลุ่มแรก คือ บรรดา ‘นักเทรด’ ธรรมดาอย่าเราๆ ที่ศึกษาและลงมือเอง แต่ด้วยรูปแบบตลาดที่เปิด 24 ชม. เว้นเสาร์อาทิตย์ เลยเป็นการเปิดโอกาสให้คนกลุ่มถัดมาเข้ามามีเอี่ยวด้วย นั่นคือ ‘โบรกเกอร์’
“เทรดทั้งวันทั้งคืน เพราะคู่เงินฝั่งเอเชียคึกคักตอนตลาดญี่ปุ่นเปิดช่วงเช้า พอตลาดยุโรปเปิด บ้านเราตอนบ่ายก็คึกคัก ขณะที่คู่เงินที่เทียบ USD ก็จะสนุกตอน 2-3 ทุ่ม กลายเป็นมีจังหวะให้เล่นทั้งวัน”
เมื่อโบรกเกอร์ทำหน้าที่เป็นคนกลางในการซื้อขาย พวกเขาจึงเป็นผู้ตั้งกระดาน เพื่อให้รายย่อยสามารถเข้ามาเก็งกำไร “แสดงว่าสิ่งที่รายย่อยส่วนใหญ่กำลังเทรดกันอยู่ โดยมากแล้วเป็นการเทรดจากสินค้า หรือกราฟที่ทำมาเลียนแบบอัตราแลกเปลี่ยนของจริง ไม่ใช่เทรดเงินตราจริง”
พื้นที่สีเทา (Grey area)
โดยการตั้งตัวเป็นโบรกเกอร์ในบ้านเรานั้น ใช้เงินลงทุน 15-30 ล้านบาท ก็เป็นเจ้าของกระดาน Forex ได้แล้ว แต่ทั้งหมดอยู่บนพื้นที่สีเทา ต่างกับกับกรณีของหุ้นที่มีการรับรอง แต่แลกมาด้วยเงินลงทุนหลักหลายร้อยล้าน
จนถึงตอนนี้การซื้อขายสกุลเงินนั้น ธนาคารแห่งประเทศไทยรองรับให้ธนาคารเป็นคนทำธุรกรรมเท่านั้น พูดให้ชัด คือ คนที่เทรดกันทั่วไปในบ้านเราไม่ได้มีใบอนุญาตอย่างเป็นทางการ และในขณะะเดียวกันก็ไม่มีกฎหมายที่ควบคุมการเทรดของรายย่อย ยิ่งเป็นการลงทุนผ่านเว็บไซต์ในต่างประเทศด้วยแล้วจึงยากที่จะกำกับดูแล
“การไม่มีใบอนุญาตในไทยไม่ได้หมายความว่าโกง ไม่น่าเชื่อถือ เขาอาจไปจบที่อื่นก็ได้ แต่มาทำการตลาดที่เมืองไทย”
อย่างไรก็ดี การมีพฤติการณ์ลักษณะของการโฆษณาหรือประกาศให้ปรากฏต่อประชาชน โดยสัญญาว่าจะจ่าย หรืออาจจะจ่ายผลประโยชน์ตอบแทนในอัตราที่สูงจากการเข้าร่วมลงทุน จากนั้นก็ใช้วิธีการหมุนเวียนเงินจ่ายให้กับผู้ร่วมลงทุน โดยนำเงินจากผู้ร่วมลงทุนรายใหม่จ่ายคืนให้กับผู้ร่วมลงทุนรายต้นๆ โดยมิได้มีการประกอบกิจการที่ชอบด้วยกฎหมายที่จะให้ผลประโยชน์ตอบแทนในอัตราที่สูงตามที่สัญญานั้นได้ ก็อาจเข้าข่ายเป็นการกระทำผิดตามพระราชกำหนด การกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ. 2557
คำถามถัดมา คือ อัตราโทษทั้งจำทั้งปรับตามพรก. เงินกู้ยืมฯ ดังกล่าว สร้างความตื่นกลัวให้ผู้กระทำผิดได้จริงหรือไม่ ด้วยเงินจาการระดมทุนเพียงครั้งเดียว สามารถสร้างผลตอบแทนหลักล้านได้แล้ว
การตลาดโชว์รวยไม่เท่ากับโกง
จะรอให้คนสนใจมาเทรดเองคงไม่ได้ การทำการตลาดจึงเป็นอีกหนึ่งไฮไลท์สำคัญของ Forex เพราะยิ่งคนเทรดมาก ก็จะตามมาด้วยค่าคอมมิชชั่นเป็นกอบเป็นกำ เราจึงต้องทำความรู้จักอีกตัวละครสำคัญ คือ ‘IB’ หรือ Introducing Broker ที่คอยแนะนำการลงทุน และชักชวนคนให้มาร่วมเทรด บ่อยครั้งก็จะเป็นคนใกล้ตัวเรานี่แหละ มีวิธีการทำงานใน 2 รูปแบบ คือ
- สอนเทรด มีคลาสสอนจริง แต่มีเงื่อนไขต้องเปิดบัญชีการลงทุนกับ IB คนนั้น
- ไม่สอน แต่ให้ Signal ซึ่งเป็นสัญญาณว่าตอนไหนให้เข้าซื้อ ตอนไหนให้ขาย
“แต่ไม่ว่าจะสอนหรือให้สัญญาณ ก็เป็นการเน้นไปที่การหาค่าคอมมิชชั่นอยู่ดี ตรงนี้เป็น business model ล้วนๆ ที่ไม่ได้มีการโกงอะไรเลย”
ปุณยวีร์ ยกตัวอย่างในการเทรดทองคำผ่าน forex จะมีคำเฉพาะที่ใช่เรียกแทนปริมาณว่า lot เมื่อลูกค้าเทรดทอง 1 lot ตัวกลางก็จะได้ค่าคอมมิชชั่นอยู่ราว 15 เหรียญ ซึ่งจะเป็นการแบ่งกันระหว่างโบรกเกอร์ และ IB ที่แนะนำมา
ขั้นตอนนี้เองที่ IB สามารถสร้างทีมตัวเอง โดยใช้เงินสวนแบ่งที่ได้มาในการจัดการ คล้ายกับเป็นดาวน์ไลน์ของตัวเอง จะแบ่งกี่ระดับก็สุดแต่
เป็นที่มาของภาพที่เราชินตาของการตลาดแบบ ‘โชว์ความสำเร็จ’ ซึ่งเล่นกับการรับรู้ของคน ส่งผลให้คนลดการตัดสินใจ ถูกเรียกว่า Halo effect คล้ายกับใช้จุดอ่อนของขีดจำกัดสมอง ที่อยากลดการทำซ้ำ เลยเกิดวลีว่า “ถ้าคนอื่นว่าดี เราก็ว่าดีด้วย”
นี่แหละจึงทำให้สมการของ ‘คนดัง’ ถูกนำเข้ามาเติมบนผลิตภัณฑ์ที่มีการทำธุรกิจเป็นลำดับชั้น ทั้ง Forex รวมถึงขายตรง เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือ
มาถึงตอนนี้แล้ว ปุณยวีร์ ยังคงย้ำว่านี่ยังไม่มีการฉ้อโกงแต่อย่างใด เพียงแต่ทำให้เกิด ‘คนเชื่อ คนหมั่นไส้ และคนเฉยๆ’ เพื่อให้บรรลุเป้าหมายเพิ่มจำนวนคนร่วมเทรดเท่านั้น
กลิ่นกลไกการโกง
- ระดมเงินทุน
แม้ตลอดแผนธุรกกิจของตลาดด Forex อาจมีลักษณะบางอย่างที่สร้างความตงิดใจ อย่างคนแนะนำมีการส่งสัญญาณบ่อยครั้งต่อวัน เพื่อหวังให้คนเทรดเยอะ แลกกับค่าคอมมิชชั่นที่เยอะตาม ซึ่งดูจะไม่ค่อยน่ารักเท่าไหร่ แต่ก็ยังไม่นับว่าเป็นกลโกง
แต่ “เริ่มระดมทุน” นับเป็นกลิ่นแรกๆ ของสัญญาณการโกง อาจจะว่าขาข้างหนึ่งกำลังจะก้าวเข้าไปแล้วก็ได้
ปุณยวีร์ อธิบายเพิ่มเติมว่า ไม่ใช่การระดมทุนใน Forex ทั้งหมดจะเป็นการโกง เพราะบางส่วนมีการเทรดจริง เมื่อได้กำไรก็จะนำไปแบ่งในกลุ่มผู้ลงทุน กับอีกรูปแบบที่กำหนดไว้แต่ต้นว่าการระดมทุนครั้งนี้จะรับความเสี่ยงการขาดทุนกี่เปอร์เซ็นต์ หากถึงที่ตั้งไว้จะปิดกองเงินทันที แล้วนำเงินที่เหลือมาแบ่งส่วนกัน “ทั้งหมดเป็นความเสี่ยงที่เราต้องรับไว้เอง”
แต่เมื่อไหร่ระดมทุนแล้วไม่เทรด เอามาแบ่งจ่ายกันเอง ปุณยวีร์ย้ำว่านี่แหละไม่ปกติแล้ว “กำไรจะเกิดก็ต่อเมื่อมีการเทรดแล้ว ถ้ามีคนมาบอก ชวนเข้ามาให้เลย 500 เหรียญ นี่ไม่ใช่ละ”
อย่างไรก็ดีวิธีการที่เขาทำเช่นนี้ ก็เพื่อให้คนที่มาลงทุนในช่วงแรกช่วยบอกต่อว่าที่นี่จ่ายจริง ซึ่งปัญหายังไม่เกิดด้วยจำนวนคนที่น้อย และได้กำไรจริง คนก็ยิ่งจะมีแต่เพิ่มเงินลงทุนมากขึ้น
“ยิ่งเป็นวงแรกๆ เหมือนได้คอมมูนิตี้ เวลามีปัญหากลุ่มนี้ช่วยเถียงให้ด้วย เพราะเป็นแฟนคลับ คล้ายๆ กับที่เป็นข่าวตอนนี้เลย”
กรณีเลวร้ายสุด คือ ระดมทุนแล้วหนีเลย แต่เกิดขึ้นน้อยเนื่องจากค่าคอมมิชชั่นต่อเดือนที่่โบรกกเกอร์จะได้รับนั้น สูงเกินกว่าที่จะชิ่งหนีเสียอีก
“Forex เวลามีปัญหามันไม่มีแผลถลอก แต่หัวแตกเลยทีเดียว”
“ขึ้นอยู่กับช่วงเวลาว่าโบรกเกอร์นั้น เขาตั้งวัตถุประสงค์อะไรแต่แรก คือจะหาเงินจากค่าคอมมิชชั่นจริงๆ ระดมทุนเพื่อแจก หรือเข้ามาเอาเงินเราแต่ต้น บอกไม่ได้เลยว่าโบรกเกอร์ที่เปิดขึ้นมาใหม่มองอะไร ต้องการอะไร หรือแม้แต่เขาจะไปเมื่อไหร่ ทั้งหมดคือความเสี่ยง”
ปุณยวีร์ แนะนำเทคนิคที่ผู้ลงทุนควรทำ ว่าเมื่อไหร่ก็ตามที่่มีกำไรแล้วให้ ‘ถอนทุนคืน’ การมองว่าคนกลางปิดหนี หรือเจ๊งอาจเป็นกรณีที่แย่ที่สุด แต่ใช่ว่าไม่เคยเกิดขึ้นเลย นั่นจึงปรากกฏเป็นภาพโบรกเกอร์ forex ที่ล้มหายกันไป แต่ก็กลับมาให้บริการด้วยชื่อใหม่ วนเวียนเช่นนี้ตลอดหลายปีที่ผ่านมา
- ระบุผลตอบแทนตายตัว
การระบุผลตอบแทนอย่างชัดเจน นับเป็นอีกกลิ่นกลโกงของระบบแชร์ลูกโซ่ โดยเฉพาะหากเกิดขึ้นกกับการเทรด Forex เพราะต้องไม่ลืมว่าธรรมชาติของอัตราแลกเปลี่ยน คือความผันผวน
“ไม่มีใครรู้ว่าเงินตราคู่ไหนขึ้นหรือลง คำถามคือคุณเอาอะไรมารับประกันที่จะจ่าย”
- จ่ายช้า
กลิ่นกลโกงจะฉุนขึ้นอย่างรุนแรง เมื่อเกิดกรณี ‘จ่ายช้าลง’ แม้จะเพียงครั้งเดียวก็ตาม ปุณยวีร์ให้เหตุผลว่า ถ้าการเทรดสามารถทำกำไรได้ตลอด เงินทุนหมุนเวียนจะต้องไม่สะดุด ดังนั้นการจ่ายผผลตอบแทนที่ล่าช้าจึงเป็นเรื่องผิดวิสัย
อีกประเด็นที่ชวนสับสน คือ ‘รับประกันเงินต้น’ ซึ่งเป็นคำพูดที่ถูกใช้ในการชักชวนลงทุนอยู่บ่อยครั้ง แต่วิธีการนี้ปุณยวีร์ มองว่า อาจเป็นหนึ่งในวิธีการสื่อสารทางการตลาด ที่ทำให้เกิดการเข้าใจผิด มากกว่าการตั้งใจจะโกงโดยตรง
“เขาวางแผนแล้วก็ได้ว่า เขาให้เราฝากเงิน รับประกันเงินต้นบวกดอกเบี้ย 4% โดยเขาไปเทรดจริงได้กำไรมาตั้ง 20% เขาก็บิดคำเป็นประกันเงินต้นพร้อมดอกเบี้ย ทั้งที่จริงเป็นส่วนต่างอยู่แล้ว 16%”
ดังนั้น การจะอยู่รอดในโลกของ Forex ตามความคิดเห็นของปุณยวีร์ คงไม่มีอะไรดีไปกว่าการเข้าใจรูปแบบธุรกิจของตลาด และรู้วัตถุประสงค์ของตนเองในการเข้าร่วมเทรดตั้งแต่ต้น ว่าต้องการเป็นคนให้คำแนะนำ เพื่อหวังค่าคอมมิชชั่น หรือจะเป็นนักเทรดมืออาชีพกันแน่ เพราะการพัฒนาทักษะต่างกัน
“ควรรู้ว่าเขาทำ business model ยังไง การที่เขาส่งสัญญาณให้เรา สอนเรา หรือโชว์รวย ถ้าเรารู้เท่าทันเราจะเฉยๆ ว่าทั้งหมดเขาทำเพื่อเพิ่มคนสมัคร เพิ่มค่าคอมมิชชั่น “
คงพอเข้าใจกันแล้วว่า การเปลี่ยนสถานะจากตลาดการเงิน Forex เป็นแชร์ลูกโซ่ ไม่จำเป็นว่าต้องทำธุรกิจเสมือน Forex เพียงแต่คนที่อยู่ในตลาดนี้สามารถใช้ช่องโหว่บางอย่าง แต่งเติมเพิ่มกลิ่น จนทำให้กลายเป็นแชร์ลูกโซ่ไปได้
“มันเป็นแค่สนามเก็งกำไรเหมือนมาเล่นหุ้น เพียงแต่คนนี่แหละที่เข้าไปหาประโยชน์จากความโลภของคน…จะมีหรือในโลกใบนี้ที่ เราไม่เห็นเข้าใจเรื่องนี้เลย แต่เห็นคนอื่นได้เราน่าจะได้ด้วย”
ถ้าสนใจลงทุนในรูปแบบเงินต่อเงินไม่ว่าตลาดใด การมีประสบการณ์จากการ ‘ทำซ้ำ’ คือโอกาสร้างความมั่งคั่ง ไม่ใช่เหตุกาณ์ใดเหตุการณ์หนึ่ง การทดลองในหลายผลิตภัณฑ์จึงมีความสำคัญ “ลองมันให้หมด ด้วยเงินน้อยๆ ใครเข้าสนามรับรองเจ็บตัวแน่ แต่ถ้าตั้งใจก็ลุยเลย” ปุณยวีร์ทิ้งท้าย