‘ใครไม่เชื่อ แต่เราเชื่อในตัวแม่ แม่ไม่ได้โกง’
‘เห้ย ครูก็โดนเหรอ’
‘ทำไมคนมาแจ้งความน้อยจัง’
ต่อให้มีคนท่องคาถานักลงทุน ที่ว่า ‘ทุกการลงทุนมีความเสี่ยง’ ให้ฟังสามเวลาหลังอาหาร แต่ถ้าเราเชื่อว่ามีเงินก้อนโตกองอยู่ตรงหน้า ก็ยากจะอดใจไหว ถึงได้มี ‘แชร์ลูกโซ่’ ตายแล้วเกิดใหม่ไม่จบ ทั้งที่คิดว่ารู้ทันแล้วแต่ก็พลาดตกเป็นผู้เสียหายเข้าจนได้
คำอธิบายหนึ่ง คือยุคนี้วงแชร์มักแฝงตัวในธุรกิจที่ดูสมัยใหม่ และค่อนข้างซับซ้อน อย่างเก็งกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยน ราคาทอง สินค้าเกษตรก็ไม่เว้น แต่ต่อให้ฉากหน้าการลงทุนเปลี่ยนไป อย่างไรเสียพฤติการณ์ล่อลวงหลายอย่างก็ยังคงมีร่วมกัน
สำหรับแมลงเม่าที่อยากเล่นกับไฟ ก็คงต้องเจ็บกันไป แต่ใครที่ตกเป็นเหยื่อด้วยความไม่รู้ The MATTER ชวนมาสังเกตกลโกงที่ไม่เคยเปลี่ยน ผ่านประวัติศาสตร์คดีแชร์ลูกโซ่
พัฒนาการแชร์ลูกโซ่
ตั้งแต่แชร์แม่ชม้อยในปี 2527 แชร์แม่มณี ปี 2562 มาจนถึง forex-3D ที่เป็นประเด็นร้อนเมื่อปีกลาย มองผ่านๆ อาจดำเนินธุรกิจคนละรูปแบบ เพียงก่อให้เกิดมูลค่าความเสียหายมหาศาลคล้ายกัน แต่ถ้าหาลองเชื่อมจุดที่ใช้จูงใจผู้ร่วมกระโดดเข้าไปลงทุน ก็จะพบความเหมือนที่น่าสนใจ
ไม่เพียงธุรกิจที่พึ่งพิงเทคโนโลยีเท่านั้น ตัวอย่างสดๆ ร้อนๆ ปี 2565 เกิดขึ้นในวงเกษตรกร ที่ถูกล่อลวงให้ปลูกและลงทุนผ่านพืชเศรษฐกิจใหม่ อย่างอินทผลัม จนสูญเงินกันไป เช่นเดียวกับกรณีการหลอกให้เลี้ยงกุ้งเครฟิช ที่เคยเกิดขึ้นในปี 2560 หรือจะนั่งไทม์แมชชีนไปดูการฉ้อโกงของชาร์ลส์ พอนซี ชายผู้สร้างนิยามของ Ponzi Scheme ก็มีวิธีการดำเนินธุรกิจที่ไม่ต่างกับยุคนี้ โดยใช้ ‘ความอยาก’ ของคนเป็นตัวกระตุ้น
- Ponzi Scheme
ใครจะไปคิดว่า คดีตัวอย่างที่ทำให้แชร์ลูกโซ่เป็นที่รู้จักไปทั่วโลก จะเริ่มต้นจากแสตมป์ดวงเดียว เมื่อชาร์ลส์ พอนซี (Charles Ponzi) เด็กหนุ่มชาวอิตาลี ที่เดินไปยังสหรัฐฯ ตั้งแต่วัยรุ่น เพื่อหวังสร้างโอกาสให้ชีวิต จนได้เข้าทำงานเป็นผู้ช่วยที่ธนาคารแห่งหนึ่ง
อาจจะดีสำหรับเขา แต่แย่สำหรับเหยื่อ เพราะที่นี่เองที่ทำให้เขารู้จักกลโกงรูปแบบลูกโซ่ จากการที่ธนาคารให้ดอกเบี้ยลูกค้าสูงถึง 6% ด้วยการนำเงินฝากของลูกค้ารายใหม่ มาจ่ายให้กับผู้ฝากรายเก่า จนท้ายสุดเจ้าของต้องหนีไปต่างประเทศ พอนซีเรียนรู้และเฝ้ารอโอกาสของตัวเอง
จนถึงวันที่เขาเห็นช่องทางจาก International Reply Coupon (IRC) เป็นคูปองที่ใช้จ่ายแทนแสตมป์ในการส่งจดหมายตอบกลับ ซึ่งมีราคาถูกกว่าในประเทศทางยุโรป ถ้าเขาซื้อมาขายกินส่วนต่างก็คงรวยยับ ทำให้ในปี 2463 พอนซีตั้งบริษัทขึ้นมาทำธุรกิจนี้
ใช่ว่าจะมีเงินลงทุนเอง เขาใช้วิธีระดมนักลงทุน ด้วยคำสัญญาว่าจะสร้างผลตอบแทนให้ 50% ภายใน 45 วัน และ 100% ภายใน 3 เดือน ด้วยจำนวนผู้สนใจที่หลั่งไหลมา ทำให้เขาจ่ายเงินปันผลได้จริงในเดือนแรก นั่นยิ่งสร้างความน่าเชื่อถือให้คนมาลงทุนซ้ำ และดึงนักลงทุนหน้าใหม่ไปพร้อมกัน
แต่แล้ววงล้อนี้ก็จบลงใน 9 เดือน เมื่อมีการเปิดโปงว่าพอนซีไม่ได้นำเงินไปซื้อคูปองจริง และต่อให้เหมาหมดก็ไม่ได้มีคูปองเพียงพอกับเงินลงทุนที่เกิดขึ้น แถมเจ้าบริษัทยังไม่ลงเงินซื้อสักแดงเดียว ทั้งหมดเป็นเพียงการเอาเงินจากคนใหม่ไปจ่ายคนเก่า ถอดแบบมาจากที่เขาเคยเรียนรู้มาจากธนาคารที่เคยทำงานเป๊ะๆ
จากวงแชร์ที่พอนซีร้อยขึ้นมา สร้างความเสียหายได้ถึง 20 ล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นเงินไทยตอนนี้ ก็ราว 655 ล้านบาทเลย ถึงเขาจะถูกตัดสินจำคุก แต่ต่อมาก็ถูกเนรเทศกลับอิตาลี และใช้ชีวิตบั่นโดยไร้การจองจำ
- แชร์แม่ชม้อย
จะว่าเป็นคดีดังที่ทำให้คนบ้านเราตระหนกกับกลโกงผ่านการลงทุนก็ว่าได้ จากที่อดีตพนักงานองค์การเชื้อเพลิง อย่างนางชม้อย ทิพย์โส ได้ชักชวนเพื่อนร่วมงานลงทุน ‘ซื้อรถน้ำมัน’
อธิบายคร่าวๆ คือ คนที่สนใจจะลงทุนซื้อรถน้ำมัน 1 คัน ด้วยเงินราว 160,000 บาท ซึ่งจะการันตีผลตอบที่ 6.5% ต่อเดือน ทั้งยังถอนเงินต้นคืนได้ตลอดเวลา เมื่อบวกกับภาพลักษณ์ที่น่าเชื่อถือของนางชม้อย จึงทำให้คนคนใหญ่คนโตรอบข้างพากันลงทุน จากธุรกิจวงแคบจึงเริ่มขยายสู่นักลงทุนรายย่อย แต่จะซื้อรถทั้งคันคงไม่ไหว เหลือแค่ซื้อล้อ 1 ล้อ ด้วยเงิน 40,000 บาท การันตีผลตอบแทนรายเดือน
แต่แล้ววันหนึ่งการจ่ายผลตอบแทนสะดุด จากการที่ไม่มีนักลงทุนใหม่ คนถึงได้รู้ว่าการลงทุนนี้ไม่มีอยู่จริง ผลตอบแทนที่ได้มาจากการกินหางกันไปเป็นทอดๆ เท่านั้น แม้ศาลจะพิพากษาตัดสินจำคุกแม่ชม้อย 117,595 ปี แต่นั่นก็สร้างความเสียหายรวมกว่า 4,500 ล้านบาท จากความเดือดร้อนของคนนับหมื่นไปแล้ว
แถมแม่ชม้อยยังได้รับการลดโทษ เหลือแค่ 7 ปี 11 เดือน และออกจากเรือนจำมาใช้ชีวิตตามปกติในปี 2536
- แชร์กุ้งเครฟิช / ลวงปลูกอินทผลัม
คดีแชร์กุ้งก้ามแดงเนื้อ หรือกุ้งเครฟิช เป็นข้อยืนยันหนึ่งที่ว่า ทุกคนสามารถเป็นเหยื่อของแชร์ลูกโซ่ได้ เพราะกลโกงลักษณะนี้สามารถใช้สวมกับทุกภาคธุรกิจ ซึ่งเกษตรกรรมก็ไม่ใช่ข้อยกเว้น
อย่างในปี 2560 ประธานสหพันธ์กุ้งก้ามแดงเนื้อ หรือกุ้งเครฟิช เองนี่แหละที่ ชักชวนชาวบ้านให้ลงทุนคนละ 15,000 บาท ซื้อลูกกุ้งเครฟิชไปเลี้ยง โดยสัญญาจะรับซื้อกลับทั้งหมด แต่ถึงเวลาจริง รับซื้อคืนแค่ไม่กี่ครั้งก็ชิ่ง แถมระหว่างทางก็เปิดรับสมัครตัวแทนให้ช่วยกันหาสมาชิก ไปๆ มาๆ ถึงมีคนหลงเชื่อกว่า 2,000 คน ความเสียหายกว่า 20 ล้านบาท
หลังตรวจสอบยังพบว่า สหพันธ์แห่งนี้ไม่ได้จดทะเบียนธุรกิจกับกระทรวงพาณิชย์ ทั้งหมดป็นการแอบอ้างเพื่อหลอกลวงเท่านั้น
กรณีที่คล้ายกันคือ หลอกให้ปลูกอินทผลัม ซึ่งผู้เสียหายหายส่วนใหญ่เป็นข้าราชการและครู ที่หวังจะสร้างรายได้หลังเกษียณ จึงนำเงินเก็บมาลงทุนซื้อต้นพันธุ์ ไร่ละ 57,000 บาทก่อน จากนั้นก็ซื้อปุ๋ย สารเคมี ยาบำรุง จากบริษัทที่เป็นคนชักชวน โดยมีการทำสัญญาว่าจะซื้อคืนผลผลิตคืน
ก่อนจะขยับขยายให้ร่วมซื้อหุ้น หุ้นละ 5,550 บาท ได้ไม่จำกัดจำนวน การันตีจะได้รับเงินคืนหุ้นละ 23,560 บาท โดยแต่ละหุ้นจะได้รับผลประโยชน์ตลอดชีพ ตราบที่ยังไม่ถอนหุ้น นอกจากการจูงใจด้วยเงินปันผลแล้ว การใช้สื่อสังคมออนไลน์สร้างภาพลักษณ์ให้น่าเชื่อถือ รวมถึงใช้ภาพบุคคลมีชื่อเสียงมาแอบอ้าง ก็เป็นวิธีหนึ่งที่ทำให้ล่อลวงผู้เสียหายจนหลายคนสูญเงินหลักแสน
- forex-3D
ร้อนแรงที่สุดของปีก่อน หนีไม่พ้น Forex 3D ซึ่งอภิรักษ์ โกฎธิ และเพื่อนได้ร่วมกันสร้างแพลตฟอร์มที่หน้าตาน่าเชื่อถือสุดๆ เพื่อดึงดูดคนที่สนใจลงทุนซื้อขายคู่เงิน หรือที่คุ้นกันว่า เทรด Forex
โดยใช้จุดอ่อนที่ว่าคนส่วนใหญ่ไม่กล้าลงทุนเอง เพราะไม่เชี่ยวชาญ มาสร้างเป็นจุดแข็งให้โมเดลธุรกิจตัวเอง ด้วยการชูว่าเอาเงินมาฝากเราสิ เดี๋ยวผู้เชี่ยว และ AI จะบริหารพอร์ตให้เอง พร้อมรับประกันผลตอบแทนให้นักลงทุนได้ถึง 10% ต่อเดือน
แล้วก็เป็นไปตามวัฏจักรเดิม ที่ช่วงแรกมีการจ่ายผลตอบแทนจริง แต่เมื่อวงแชร์ใหญ่ขึ้นก็ไม่สามารถจ่ายเงินคืนให้กับสมาชิกหน้าใหม่ได้ อย่างที่ทราบกันว่า Forex 3D มีตัวละครของผู้มีชื่อเสียงเข้ามาเอี่ยวจำนวนมาก ทั้งในฐานะผู้เสียหาย พรีเซนเตอร์ ไปจนถึงพ่อทีมแม่ทีม
จุดร่วมแชร์ลูกโซ่
- สร้างภาพลักษณ์น่าเชื่อถือ
‘คนที่ไว้ใจร้ายที่สุด’ ไม่ได้เป็นเพียงชื่อเพลงที่เคยโด่งดังเท่านั้น แต่เป็นข้อเตือนสติสำหรับทุกคนที่มักถูกล่อลวงให้ลงทุนโดยคนใกล้ชิด ตั้งแต่คนรู้จัก เพื่อน หรือญาติ ด้วยคำพูดคำจาที่ดูดีไปหมด บ่อยครั้งที่พวกเขาก็มีหน้าที่การงานที่ดี มีหน้ามีตาในสังคม พร้อมยกตัวอย่างผลลัพธ์จากการลงทุน ผ่านการแต่งกาย รสนิยมกินหรูอยู่แพง และความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น
- การันตีผลตอบแทนที่สูง
คิดตามความเป็นจริง สำหรับการลงทุนที่พึ่งพิงระบบตลาด ส่วนใหญ่ผู้เชี่ยวชาญจะสามารถวิเคราะห์ผลตอบแทนและความเสี่ยงที่อาจเป็นไปได้ แต่ไม่เคยมีใคร ‘การันตี’ หรือ ‘รับประกัน’ ผลลัพธ์ที่แน่นอนให้ หรือแม้แต่ในช่วงดอกเบี้ยขาขึ้น ที่คนนิยมลงทุนผ่านสินทรัพย์ตราสารทุนแบบมีหน่วยงานกำกับดูแล ก็ยังไม่มีการให้สัญญาถึงผลประโยชน์ที่สูงในระยะเวลาอันสั้นแต่อย่างใด
- เอาเงินคนใหม่จ่ายให้คนเก่า
‘พี่เขาเป็นคนดี เขาไม่ทิ้งเราหรอก’ บ่อยครั้งที่เมื่อกลุ่มลงทุนไหนเริ่มสะดุด หรือมีผู้เสียหายเปิดหน้าร้องทุกข์ ก็จะมีคนอีกกลุ่มที่ออกตัวปกป้องอยู่ เหตุผลประการหนึ่งอาจด้วยคนกลุ่มนั้นได้รับผลตอบแทนอย่างต่อเนื่องมาก่อน เคยมีการวิเคราะห์ว่า การแจกจ่ายกำไรในช่วงต้นเป็นความตั้งใจของกลุ่มแชร์ คล้ายกับยอมลงทุนเงินน้อยเพื่อให้ได้เงินก้อนโตกว่าจากจำนวนสมาชิกที่จะเพิ่มขึ้นในอนาคต โดยเงินที่ใช้คืนกำไรก็มาจากเงินต้นของสมาชิกหน้าใหม่ ไม่ใช่การทำธุรกิจที่สร้างรายได้จริง
- ไม่ได้มีธุรกิจอยู่จริง
มักมีการอ้างอิงการลงทุนในผลิตภัณฑ์ที่น่าเชื่อถือ เช่น ลงทุนในสินค้าโภคภัณฑ์อย่าง ราคาทองคำ น้ำมัน หรือสินค้าเกษตร สกุลเงินดิจิทัล ตลาดหุ้น การขายตรง อาหารเสริม เครื่องสำอาง หรืออัตราแลกเปลี่ยนต่างประเทศ (FOREX) ซึ่งเมื่อตรวจสอบย้อนหลังในหลายกรณี กลับไม่ได้มีการลงทุนจริง แถมบางผลิตภัณฑ์ก็มีข้อจำกัดทางกฎหมาย ที่ให้สิทธิผู้ลงทุนที่ได้รับอนุญาตเท่านั้น
- ใช้ภาพลักษณ์บุคคลมีชื่อเสียง
กลยุทธ์แบบนี้ได้ผลดีมากับแชร์ลูกโซ่ในยุคนี้ เพราะมีโซเชียลมีเดียเป็นสื่ออีกช่องทางที่ช่วยกระจายข่าว และสร้างความเชื่อมั่นผ่านการโชว์ภาพแสดงความใกล้ชิดบุคคลที่มีชื่อเสียงหลายวงการมาให้ดูว่าเขาคนนี้ก็ลงทุน ทั้งนี้ไม่จำเป็นว่าต้องเห็นการลงทุนโต้งๆ เพียงแสดงให้เห็นการใช้ชีวิตระหว่างพ่อทีมแม่ทีม กับคนดังที่คล้ายกับสนิทสนมกัน ก็อาจจะตกคนเข้าวงได้จำนวนหนึ่งแล้ว
- จัดทำระบบเครือข่ายสมาชิก
ทำไมคนเราถึงจะต้องอยากให้คนอื่นรวยตาม? ถ้าลองสังเกตคำเชิญชวนการลงทุน มักจะอ้างถึงความปรารถนาที่จะแบ่งปันความสำเร็จ โดยการเริ่มสร้างกลุ่มสนทนาทั้งทางออนไลน์และออฟไลน์ ให้คนลองพูดคุยและลงทุนเป็นครั้งแรก เมื่อเห็นผลตอบแทนก็จะกระตุ้นให้อยากลงทุนซ้ำในจำนวนที่มากกว่า ไปพร้อมๆ กับการบอกต่อคนรอบข้าง เพื่อขยายวงเครือข่าย
เมื่อวงแชร์ล่มเกิดขึ้นบ่อยที่ใครสักคนต้องพิสูจน์ตัว ว่าเขาเป็น ‘ผู้เสียหาย หรือผู้ชักชวน’ กันแน่ โดยเฉพาะกลุ่มผู้มีชื่อเสียง เหตุผลหนึ่งมาจากความอายที่จะเปิดหน้าว่าตกเป็นเหยื่อตั้งแต่ต้น มองกลับกันถ้าเรามีส่วนร่วมตัดวงจรแต่เนินๆ ก็อาจช่วยคนได้ไม่น้อย แต่คงไม่มีอะไรดีไปกว่าการลงทุนบนพื้นฐานข้อมูล และความจริงตั้งแต่ต้น
อ้างอิงจาก