แชร์ลูกโซ่ FOREX 3D มีบ้านยากขึ้น เงินเฟ้อ เลย์ออฟพนักงาน
ช่วงนี้เปิดหน้าฟีดขึ้นมาทีไร ก็หมือนจะเจอแต่ข่าวที่ชวนให้เรารู้สึกหดหู่และห่วงเงินในกระเป๋า แถมบางคนที่เพิ่งจะเริ่มทำงานเก็บเงินก็อาจจะกำลังสับสนว่าควรเริ่มต้นบริหารจัดการเรื่องเงินยังไงดี
The MATTER เลยอยากชวนมาฟังเรื่องการเงินที่คนรุ่นใหม่ควรรู้จาก ‘วิวรรณ ธาราหิรัญโชติ’ ผู้คลุกคลีอยู่ในแวดวงการเงินการลงทุนมาอย่างยาวนาน ทั้งในบทบาทนักการเงินและนักเขียน ไม่ว่าจะเป็นคอลัมน์ของกรุงเทพธุรกิจ ไปจนถึงหนังสืออย่าง เงินทองต้องจัดการ, เงินไม่ใช่ทุกอย่าง แต่ทุกอย่างเริ่มต้นที่ เงิน, Money Pro แผนการเงิน แผนชีวิต
และต่อไปนี้คือบทสนทนาว่าด้วยเรื่องเงินๆ ทองๆ ที่ไม่ถึงขั้นเป็นฮาวทู แต่เป็นวิธีการคิดและมุมมองสำคัญ ก่อนที่เราจะควักกระเป๋าตังค์จ่ายหรือวางแผนการเงินสำหรับคนยุคนี้
ถ้ามองย้อนกลับไปคนรุ่นใหม่กับคนรุ่นก่อนหน้าเจอวิกฤตที่เหมือนหรือแตกต่างกันยังไงบ้าง
จริงๆ แล้วไม่ว่าจะคนรุ่นไหน การจัดการการเงินก็มีลักษณะคล้ายๆ กัน มี 4 เรื่องใหญ่ คือหาเงิน ใช้เงิน ออมเงิน ลงทุน ถ้าพูดถึงเศรษฐกิจก็จะมีช่วงเศรษฐกิจบูม เงินเฟ้อสูง ดอกเบี้ยสูง ช่วงเศรษฐกิจถดถอย เงินเฟ้อต่ำ ดอกเบี้ยต่ำ ช่วงหาเงินง่าย ช่วงหางานยาก มันก็เป็นวัฏจักรของมันอยู่แล้ว
คือวิกฤตเป็นสิ่งที่เราต้องเจอและรับมืออยู่ทุกยุคสมัย แต่รูปแบบอาจจะแตกต่างกัน?
ใช่ค่ะ สมัยก่อนเจอวิกฤตไหม ก็มีต้มยำกุ้ง คนตกงานเยอะ แล้วก็เจอวิกฤตโควิด-19 แม้วิกฤตมันจะเปลี่ยนไป แต่ผลกระทบคล้ายกัน ก็จะมีการเลิกจ้างหรือการจ้างงานน้อยลง สมัยเรากลับมาจากต่างประเทศ เรียนจบกลับมา เราเห็นคนเข้าคิวยาวมากเลย เพื่อตำแหน่งงาน 10 ตำแหน่ง ตอนนั้นคนสมัครงานเยอะมาก มันก็จะเป็นช่วงที่ถ้าสมมุติเราหางาน อะไรที่เราหาได้ยาก เราก็จะเห็นคุณค่าของมัน อะไรที่หาได้ง่ายๆ ก็ไม่ค่อยเห็นคุณค่า เพราะฉะนั้นคนที่จบมาในช่วงเศรษฐกิจบูม ออกมาปุ๊บก็มีงานทำทันที ก็จะไม่ค่อยรู้สึกมากนักว่างานหายาก เงินหายาก แต่คนที่จบมาในช่วงนี้ที่เศรษฐกิจไม่บูมเท่าไร ก็จะรู้สึกว่างานหายาก เงินหายาก เพราะฉะนั้นไม่ว่าช่วงเศรษฐกิจแบบไหน สิ่งที่เราจะต้องทำตลอดเวลาก็คือหาได้น้อยก็ใช้น้อย หาได้มากก็ใช้มากได้ หรือหาได้มากจะใช้น้อย แล้วเก็บเยอะขึ้นก็ได้ มันเริ่มจากอย่างนั้น
พอทุกอย่างไม่แน่นอน เราเลยต้องวางแผนการเงินไว้ก่อน
การวางแผนการเงิน จริงๆ แล้ว มันไม่ใช่การวางแผนเพื่อให้มีเงิน แต่มันเป็นการวางแผนชีวิต เพราะเราอยู่ในโลกที่ใช้เงินเป็นตัวกลางในการแลกเปลี่ยน ถ้าอยากจะมีการศึกษาดี อยากมีบ้าน อยากมีรถ อยากไปเที่ยวต่างประเทศก็ต้องใช้เงิน ส่งลูกเรียนก็ต้องใช้เงิน ทุกอย่างมันใช้เงินหมด เราก็เลยวางแผนการเงิน เพื่อให้เราได้มีแผนชีวิตที่เราอยากจะเป็น แต่พอจะพูดเรื่องวางแผนการเงินคนจะนึกกว่า โอ้ย จะได้มีเงินเยอะๆๆ แต่จริงๆ มันไม่ใช่ อย่างที่บอกว่า ‘เงินไม่ใช่ทุกอย่าง แต่ทุกอย่างเริ่มต้นที่เงิน’ ซึ่งก็คือชื่อหนังสือเรานั่นเอง (หัวเราะ)
สิ่งที่อยากจะเตือนคนรุ่นใหม่บางคน คือเราว่าพฤติกรรมนี้ในเอเชียเป็นเยอะ คือหาเก่งใช้เก่ง แล้วเรื่องวัตถุนิยม เราจะห่วงเรื่องของหน้าตา บุคลิกกันเยอะมาก อาจจะเป็นเพราะว่าการตลาดที่พยายามเร่งให้คนมาซื้อมาใช้ คนก็อยากมีอยากเป็น อันที่สองคือเราโพสต์ในโซเชียลได้ตลอดเวลาเลย วันนี้ไปนี่มา ไปกินนั่นมา ถ่ายรูปใหญ่เลย ก็มีความรู้สึกว่า ถ้าฉันแต่งตัวสวยๆ มาแล้ว ไม่ได้ไปคนเดียวนะ แต่เอาไปโพสต์ในโซเชียลได้ด้วย อีกอันหนึ่งคือ พฤติกรรมของมนุษย์ปัจจุบันคือไม่เตรียมพร้อมรับมือกับเหตุการณ์ ถ้าเป็นหลักพุทธเขาก็จะเรียกว่าประมาท ดังนั้นต้องคิดซะว่าสิ่งที่ไม่คาดคิดว่าจะเกิด มันมีโอกาสเกิดขึ้นได้
มีเรื่องไหนที่คนมักจะเข้าใจผิดหรือเรื่องที่ควรรู้เกี่ยวกับทักษะทางการเงิน (financial literacy) ไหม
จริงๆ การอ่านออกเขียนได้ทางการเงิน ไม่ได้หมายถึงรู้จักใช้เงินอย่างเดียว แต่ต้องรู้ถึงคุณค่าของเงินด้วย แล้วก็สามารถทำให้เงินทำงาน เพราะเงินมันสามารถออกดอกออกผลได้ 3 อย่างที่ทำให้เงินเติบโตได้เร็ว หนึ่งคือระยะเวลา ถ้าเรามีเวลามาก เช่น เราออมตั้งแต่อายุ 25 ออมไปจนถึงอายุ 60 เรามีเวลา 35 ปี เทียบกับคนมาออมตอนอายุ 45 จนถึง 60 มีเวลาแค่ 15 ปี จะสู้คนออมมา 35 ปีได้ยังไง เพราะระยะเวลายาว เงินก็ก้อนโต
อันที่สองก็คือ จำนวนเงินเที่ออม เขาบอกว่าออมตอนอายุ 25 ปี แล้วออมเดือนละ 1,000 บาท แต่คนออมอายุ 45 ปี เขาออมเดือนละ 10,000 บาท อันนั้นก็มีส่วน แต่คนที่ออมเดือนละ 1,000 บาท เราก็ไม่ได้นิ่งอยู่ที่เดิมนะ พออายุ 30 เราก็อาจจะออมเดือนละ 4,000-5,000 บาท พอเงินเดือนเยอะขึ้นก็ออมเดือนละหมื่น เดือนละแสนได้ มันก็ทำให้ปริมาณเงินออมเราเยอะขึ้น
สามคือ ผลตอบแทน เคยได้ยิน ‘กฎของเลข 72’ ไหมคะ? เขาบอกว่าถ้าเงินออมจะโตเป็นเท่าตัวต้องใช้เวลาเท่าไร ให้เอา 72 ตั้ง หารด้วยอัตราผลตอบแทน เช่น ถ้าผลตอบแทน 1% เอา 72 ตั้ง หาร 1 แสดงว่าเงิน 100 บาท จะกลายเป็น 200 บาท ต้องใช้เวลา 72 ปี เราก็แก่พอดี แต่ถ้าเราได้ผลตอบแทน 10% เอา 72 ตั้ง หารด้วย 10 ก็จะใช้เวลาแค่ 7.2 ปี เพราะฉะนั้นถ้าเราสามารถลงทุนได้ผลตอบแทนสูงกว่า เราก็จะได้เงินก้อนใหญ่กว่า แล้วก็โตขึ้นไปเรื่อยๆ ในทางกลับกัน ทุกคนควรจะรู้ว่าถ้าเขามีหนี้สิน หนี้จะเพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัวก็ใช้กฎเดียวกันเลย เอา 72 ตั้งหารด้วยอัตราดอกเบี้ยต่อปีด้วยนะ สมมุติว่ากู้นอกระบบ อัตราดอกเบี้ย 20% ต่อเดือน แปบเดียวเงินก็ทบเป็นเท่าตัวๆ นั่นคือสิ่งที่คนต้องรู้ว่า ถ้าฉันไปกู้แล้วอัตราดอกเบี้ยสูงมาก ฉันก็เสี่ยงต่อการเป็น ‘หนี้ถาวร’ คือมีเงินเท่าไรก็จ่ายแต่ดอกเบี้ย เงินต้นไม่เคยลดเลย อันนี้เป็นสิ่งที่คนต้องรู้ไม่ว่าจะเป็นเจเนอเรชั่นไหน
เพราะฉะนั้น หนึ่ง ออมตั้งแต่อายุน้อย สอง พยายามออมให้มากที่สุด ต้องตั้งเป้าหมาย รายได้เพิ่มขึ้น ก็ออมเพิ่มขึ้น สาม คือลงทุนให้ได้ผลตอบแทนที่ดีด้วย ถ้ามีทั้งสามอย่างรวมกัน เงินของเราก็จะกลายเป็นก้อนใหญ่ขึ้น
ช่วงนี้หลายคนกังวลเรื่องเงินเฟ้อ ข้าวของแพงขึ้น เราจะรับมือยังไงได้บ้าง
เราเคยเขียนบทความนะ ว่าเงินเฟ้อเป็นพระเอกหรือผู้ร้าย สำหรับญี่ปุ่น เงินเฟ้อเป็นพระเอกนะ เพราะถ้ามีเงินเฟ้อปุ๊บ ก็จะได้ขึ้นราคาของได้ เงินเดือนจะได้ขึ้นได้ด้วย เพราะถ้าไม่มีเงินเฟ้อเงินเดือนก็ไม่ขึ้น เพราะว่าธุรกิจก็ขายของได้เท่าเดิม แล้วจะไปขึ้นเงินเดือนให้พนักงานได้ยังไง แต่ถ้ามีเงินเฟ้อ ยอดขายของเคยได้ 100 ล้าน พอเพิ่มขึ้น 10% ก็ได้ 110 ล้าน ก็ไปจ่ายเงินเดือนพนักงานได้ มันก็แล้วแต่มุมมอง แต่เงินเฟ้อส่วนใหญ่สำหรับคนทั่วไปจะเป็นเหมือนผู้ร้าย เพราะทำให้อำนาจซื้อลดลง อย่างกระติกอันนี้ เราซื้อมา 100 บาท แล้วอัตราเงินเฟ้อ 10% ปีหน้า 110 บาทแล้ว แต่ถ้าเอาเงินไปฝากธนาคารได้ดอกเบี้ย 1% ปีหน้าก็จะได้ 101 บาท แต่ 101 บาทนี้ซื้อกระติกนี้ได้ไหม ก็ไม่ได้แล้ว เพราะขาดไป 9 บาท เพราะฉะนั้นข้อเสียของอัตราเงินเฟ้อก็คือการทำให้เราสูญเสียอำนาจการซื้อ (purchasing power) อำนาจการซื้อของเราลดลง ดังนั้นเราก็ต้องให้เงินเฟ้อมันพอดีๆ ทุกคนจะได้รู้สึกว่าอำนาจการซื้อตัวเองไม่ลดลง สิ่งที่คนกลัวมากเรื่องเงินเฟ้อก็คือเงินเฟ้อมันสูง แต่รายได้ฉันไม่เพิ่ม เงินเดือนฉันไม่ขึ้น เพราะฉะนั้นปีหน้าฉันซื้อกระติกนี้ไม่ได้แล้ว
แต่สำหรับคนทั่วไปเมื่อจะต้องรับกับเงินเฟ้อจะทำอย่างไร มันควบคุมยาก เพราะเรื่องรายได้เรามันขึ้นอยู่กับบริษัทที่เราทำงานด้วย ถ้าเป็นฟรีแลนซ์ก็ขึ้นกับคนจ้างว่าเขามีกำลังจ้างหรือเปล่า เป็นปัจจัยที่ควบคุมยาก สิ่งที่เราควบคุมได้ก็คือรายจ่าย ไม่ใช้เกินกว่าที่หาได้ ไม่ว่าจะหาได้เท่าไรก็ต้องใช้ให้น้อยกว่านั้น เพื่อให้เราอยู่อย่างสมดุล เพราะถ้าใช้เกินกว่าที่หาได้ ไม่ว่าจะหาได้มากขนาดไหน มันก็ไม่มีประโยชน์
นอกจากการใช้จ่ายและเก็บเงิน การเป็นเจ้าของสักอย่าง ไม่ว่าจะเป็นบ้าน รถ หรือทรัพย์สินอื่นๆ สำหรับคนรุ่นใหม่มีข้อจำกัดอะไรบ้าง
ทรัพย์สินมันมีอะไรใหม่ๆ เกิดขึ้นเยอะเหมือนกัน เพราะฉะนั้นคนรุ่นใหม่ก็จะต้องพยายามทำความเข้าใจทรัพย์สินต่างๆ ที่มีให้ซื้อหรือลงทุน ทีนี้เราพูดถึงซื้อก่อน ซื้อหมายถึงใช้จ่ายหรือซื้อหามาได้เป็นทรัพย์สินของตัวเอง ทรัพย์สินบางอย่างมีค่า แล้วก็เพิ่มค่าตามกาลเวลา เช่น บ้านหรือที่ดิน อสังหาริมทรัพย์ต่างๆ แต่ทรัพย์สินบางอย่างก็มีค่าแต่เสื่อมค่าตามกาลเวลา เช่น รถ อุปกรณ์ใช้งานอะไรอย่างนี้ บางคนอาจจะมองแค่ว่าทรัพย์สินไหนเท่ ทรัพย์สินไหนไม่เท่ มันก็เลยอาจจะทำให้มองข้ามเรื่องพวกนี้ไป
ดังนั้น ก่อนที่จะลงทุนหรือซื้อทรัพย์สินอะไรก็ตาม อยากให้ถามตัวเองก่อนว่าเอาไปทำอะไร มีประโยชน์ใช้สอยอะไร เช่น บางคนซื้อสมาร์ตโฟนรุ่นท็อปๆ แต่ถามว่าไปใช้ทำอะไร เอาไปใช้แค่โทร ไลน์ ถ่ายรูป แต่ถ้าถามว่ารุ่นอื่นที่ถูกกว่าทำได้ไหม จริงๆ ก็ทำได้ ดังนั้นต้องถามว่าความต้องการจริงๆ ของเราคืออะไรล่ะ ถ้าเรามีเงินแค่นี้ สมมุติว่าเรามีอยู่ 3,000 บาท เราจะไปซื้อทำไม เราก็ไปซื้อยี่ห้ออื่นที่ถูกกว่าดีกว่าไหม แล้วก็เอาอีก 30,000 – 40,000 บาทนั้นไปลงทุน เผื่อวันหน้าอีก 40,000 บาท นั้นมันจะกลายเป็น 1,000,0000 ได้ พอตอนหลังเงินลงทุนเรางอกเงยมา เราก็เอาดอกผลพวกนั้นไปเที่ยว ไปซื้ออะไรได้ อยากได้นาฬิกาหรูก็ซื้อได้หมด แต่ว่าเราจะซื้อหรือไม่ซื้อก็ขึ้นอยู่กับเรา เราก็อดใจไว้ว่าเรายังไม่ซื้อตอนนี้ เราอยากให้เงินเราเติบโต เอาเงินไปทำงานก่อนเพื่อความมั่นคงในชีวิตของเรา มันอยู่ที่วิธีคิด
ดังนั้น เราต้องเปรียบเทียบว่า เราจะเอาไปทำอะไร มีประโยชน์ใช้สอยอะไรบ้าง มีอย่างอื่นที่มีประโยชน์ใช้สอยเหมือนกันมาเปรียบเทียบไหม เสร็จแล้วก็ถามตัวเองว่ามีค่าใช้จ่ายในการเก็บรักษาไหม อย่างเช่น รถสปอร์ตหรู ค่าบำรุงรักษาเยอะกว่ารถทั่วไปมากๆ ขับไปต่างจังหวัด เกิดรถเสียขึ้นมา ทำอะไรไม่ได้เลยนะ ต้องลากกลับมากรุงเทพฯ อย่างเดียวเลย ดังนั้นต้องดูตรงนี้ สำหรับการใช้งานด้วย
ทีนี้ถ้าไปลงทุนก็ต้องถามว่ามีผลตอบแทนไหม ผลตอบแทนอยู่ในรูปอะไร เช่น ดอกเบี้ย เงินปันผล กำไรจากมูลค่าเพิ่ม บางอย่างผลตอบแทนเป็นแต้ม เอาแต้มไปแลกของ หรือบางอย่างผลตอบแทนคือได้ไปกินข้าว ได้ไปใช้บริการ ไปนวด ไปสปา ต้องถามว่าเราต้องการหรือเปล่า ถ้าสิ่งที่มันออกมาให้เป็นผลตอบแทน ไม่ใช่สิ่งที่เราต้องการ เราก็ไม่ควรจะไปลงทุน ไม่สู้ผลตอบแทนที่ออกมาเป็นเงินได้ แล้วเอาเงินนั้นไปลงทุนต่อ หรือเอาเงินนั้นไปทำอย่างอื่นที่เราอยากได้จริงๆ ดีกว่า
แล้วก็ต้องดูด้วยว่าผลตอบแทนสมเหตุสมผลไหม บางครั้งพวกแชร์ลูกโซ่ จะได้ไม่ไปเป็นเหยื่อเขาด้วย เพราะผลตอบแทนมันไม่สมเหตุสมผล คือมันจะเยอะเกินจนรู้สึกว่าเป็นไปได้ยังไง เขาไปทำอะไรถึงจะได้ผลตอบแทนแบบนั้น พวกนี้ก็คือเอาเงินของคนใหม่มาจ่ายคนเก่า ถ้าเป็นแบบนี้ก็ต้องระวัง
อีกเรื่องหนึ่งเวลาจะลงทุนหรือจะซื้ออะไรก็ตาม ถามว่าถ้าไม่ชอบแล้ว เบื่อแล้ว ขายได้ไหม มีตลาดรองหรือตลาดมือสองไหม แล้วถ้าสมมุติขายในตลาดรองหรือตลาดมือสอง มูลค่าตกไปมากไหม บางอย่างมูลค่าตกไปเท่ากับศูนย์เลย ถ้าอย่างนั้นก็แปลว่าจบนะ ก็คือซื้อมาได้อย่างเดียว ดังนั้นก็ต้องระมัดระวังว่า เราเข้าใจในสิ่งที่เราซื้อหรือลงทุนไหม แล้วข้อสำคัญที่หลายคนจะลืม คือความเสี่ยงของตัวกลาง ซึ่งมันเกิดเหตุขึ้นแล้วกับพวก coin ทั้งหลาย เพราะตัวกลางเป็นคนสำคัญ บางทีเราซื้อของที่ไม่ได้เก็บอยู่กับเรา แต่เก็บอยู่กับตัวกลาง ถ้าตัวกลางฉ้อโกง ไม่สุจริต หรืออาจจะไม่โกง แต่เขาล้มหายตายจากไป ของอยู่ที่นั่น เราสามารถที่จะเอาออกมาได้ไหม มันแยกต่างหากกันไหม
ตัวกลางที่ของแยกต่างหากจากกันชัดเจน คือกองทุนรวม กองทุนรวมนี่เราไปลงทุน แต่ไม่ได้อยู่กับ บลจ. (บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน) ทรัพย์สินของเราฝากไว้กับผู้ดูแลผลประโยชน์ซึ่งก็เป็นธนาคารพาณิชย์ ดังนั้นตัวกลางเป็นอะไรไป เราก็ยังสามารถที่จะไปเคลม เอาทรัพย์สินของเราคืนได้ อย่างนี้เรียกว่าตัวกลางที่ปลอดภัย
ดังนั้นไม่ว่าจะทรัพย์สินอะไรที่เราจะซื้อหรือลงทุน ต้องถามตัวเองก่อนว่ามันจำเป็นไหม มีประโยชน์ใช้สอยอะไร มีอย่างอื่นทดแทนไหม ได้มาแล้วมีผลตอบแทนหรือเปล่า ผลตอบแทนอยู่ในรูปของอะไร ผลตอบแทนนั้นเข้ากับชีวิตของเราไหม และตัวกลางเป็นอย่างไร
ถ้าพูดถึงการเป็นเจ้าของบ้านสักหลัง ทำไมเราได้ยินบ่อยๆ ว่าคนรุ่นใหม่มีบ้านยากขึ้น และการมีบ้านสำคัญมากน้อยแค่ไหน ?
คนรุ่นนี้มีบ้านยากขึ้น เพราะ 10 ปีที่ผ่านมาราคาบ้านมันเพิ่มขึ้น ขณะที่รายได้เฉลี่ยของคนไม่ได้เพิ่มมากขึ้นเท่าไร แล้วการผ่อนมันก็คือผ่อนประมาณ 20-30 ปี ต้องผ่อนอยู่ในช่วงชีวิตของเรา ทีนี้พอราคาบ้านมันสูงขึ้น เลยต้องผ่อนยาวมาก อย่างในบางประเทศต้องผ่อนไปจนถึงรุ่นลูกรุ่นหลานเลย วิธีแก้ไข ก็คือว่าลดความต้องการเราลง เช่น คิดว่าจะมีบ้านหลังใหญ่ ก็ปรับขนาดเล็กลงให้อยู่ในช่วงราคาที่เราสามารถผ่อนได้ อันที่สองก็คือ กู้ร่วม ถ้าเรามีคนในครอบครัวที่มีรายได้อยู่ ก็มาช่วยผ่อนได้ ซึ่งตอนนี้ธนาคารก็ให้พี่กับน้อง พ่อกับลูกก็ได้ ถ้ามากู้ร่วมก็จะทำให้เราสามารถลดภาระในการผ่อนชำระ
แต่ถ้าถามว่าเราจำเป็นต้องมีบ้านไหม จริงๆ ก็ไม่จำเป็นเพราะเช่าได้ หลายประเทศเขาก็เช่าอยู่แล้ว เพียงแต่ว่าการเช่ามันไม่มีความมั่นคงอบอุ่น เวลาตกงานก็ไม่มีบ้านอยู่ แต่ถ้าเรามีบ้านเป็นของตัวเอง ตกงาน ไม่มีรายได้ เราก็ยังสามารถกลับไปอยู่บ้านได้ ในสหรัฐฯ เขาจะเช่าบ้านอยู่กันเยอะ แล้วเวลาตกงานก็เลยเจอคนไร้บ้านที่ต้องไปอยู่ข้างถนนเยอะ ขณะที่ประเทศไทยเรา เวลาตกงานส่วนใหญ่ก็กลับบ้านต่างจังหวัดได้ บางทีอยู่ด้วยกัน 10 คน 20 คน แต่สหรัฐฯ เขาจะไม่เป็นอย่างนั้น เขาเป็นครอบครัวเดี่ยว พอโตแล้ว อายุ 20 กว่าปีก็ต้องออกจากบ้านไป ก็เลยพยายามที่จะสนับสนุนให้ทุกคนพยายามมีบ้าน กู้มาเพื่อซื้อก็ได้ เพราะบ้านเป็นอะไรที่มูลค่าสูง ถ้าจะเก็บเงินให้ซื้อได้ มันจะใช้เวลานานมากๆ ถ้ากู้ดอกเบี้ยตอนนี้ยังถือว่าต่ำมากๆ ถ้าเทียบกับตอนที่เราเองยังเป็นหนุ่มเป็นสาว โห ตอนนั้น กู้บ้านดอกเบี้ย 15% ต่อปี แต่ดอกเบี้ยเดี๋ยวนี้ เรามาดูบางธนาคารเขาคิดดอกเบี้ยแค่ 4-6% ซึ่งเป็นอัตราที่ยังถือว่าใช้ได้อยู่ค่ะ
นอกจากบ้านแล้วมีทรัพย์สินอะไรที่เราควรจะมีเป็นพื้นฐานไว้เหมือนกับเรื่องบ้านไหม
พวกนั้นก็จะเป็นทรัพย์สินเพื่อการลงทุน เช่นการลงทุนในหลักทรัพย์ต่างๆ หุ้น พันธบัตร คือมันเป็นสินทรัพย์ที่สามารถให้ผลตอบแทนได้ สำหรับเรา เวลาลงทุนมันต้องให้ผลตอบแทน อย่างบางคนบอกว่า ลงทุนซื้อกระเป๋าแบรนด์เนมไง เดี๋ยวมันก็ขึ้นราคา แต่ถามว่าถึงเวลาแล้วขายไหม ถ้าเราตอบว่า ราคาขึ้นแล้วไม่ขาย นั่นไม่ใช่การลงทุน นั่นเป็นการซื้อไว้ใช้ ถ้าจะลงทุนก็แปลว่า ถึงเวลาได้กำไร เราสามารถขายได้
เดี๋ยวนี้เริ่มมีการลงทุนรูปแบบใหม่ๆ เกิดขึ้น คิดว่าวิธีเก็บเงินหรือรูปแบบการลงทุนของคนยุคใหม่จะเปลี่ยนไปด้วยไหม
ต้องบอกว่าอย่างนี้ค่ะ มันจะมีคนคิดสินทรัพย์รูปแบบใหม่ๆ ตลอดเวลา สมัยก่อนที่เราเริ่มทำงานก็มี (สินทรัพย์) ใหม่ๆ ขึ้นมาเรื่อยๆ เหมือนกัน บางอย่างมันก็น่าสนใจ บางอย่างก็เป็นเรื่องมายา อย่างที่บอกคือเราต้องถามว่าสิ่งเหล่านี้ พอลงทุน เป็นเจ้าของแล้วจะเอาไปทำอะไร มีประโยชน์ใช้สอยอะไรบ้าง เหมือนกันกับเวลาเราพูดถึงการลงทุนทั่วไป ถ้าคิดว่ามันไม่ได้มีประโยชน์ใช้สอยอะไรนอกจากมันเท่ดี ถ้ามีเงินเหลือก็แล้วแต่ แต่ถ้าไม่ได้มีเงินเหลือเฟืออะไรมากมายก็อย่าไปสนใจมันเลย
แต่ว่าเรื่องดิจิทัลมันเกิดขึ้นอยู่แล้ว แต่เราก็อยู่ในฝั่งที่ สกุลเงินดิจิทัล (Digital Currency) เนี่ยโอเค แต่คิดว่าถ้าเราจะลงทุน เราจะลงทุนกับสกุลเงินดิจิทัลที่มีธนาคารกลางเป็นเจ้าภาพ คือปัจจุบันเงินตราที่เราแลกเปลี่ยนกันจริงๆ มันก็เป็นของมายา สมมุติว่าธนบัตรใบนี้มีค่า 100 บาท เหรียญนี้มีค่า 10 บาท แต่ว่ามันมีคนกลาง ไม่ว่าจะไปที่ไหนในประเทศไทย เราก็สามารถแลกเปลี่ยนมันกลับคืนได้ เอาเข้าไปอยู่ในแบงก์เป็นตัวเลข เอาออกมาเป็นเหรียญเป็นอะไร แลกซื้อของได้ แต่คริปโตเคอเรนซีอะไรทั้งหลาย ถามว่ามีที่ใช้ไหม เขาพยายามเอาออกมาให้คนใช้ เอามาซื้อคอนโดอะไรอย่างนี้ แต่ว่าการใช้มันจำกัด คนที่จะลงทุนก็ต้องถามตัวเองจริงๆ ว่า มันมีคนสนใจจะลงทุนกับเราไหม เพราะเวลาเราลงทุน เราไม่ได้ถือมันตลอดชีวิต มันก็ต้องมีการขายออกไปบ้าง ถ้าเราคิดว่าลงไปแล้ว พอขายไม่มีใครซื้อเลย มันก็ไม่มีประโยชน์ที่จะลงทุน
ดังนั้นไม่ว่าจะเป็นสินทรัพย์ประเภทไหนก็ตาม ก็ต้องถามว่าประโยชน์ใช้สอยเป็นยังไง มีอย่างอื่นไหม มีค่าเก็บรักษาไหม เป็นเจ้าของแล้วได้ผลตอบแทนไหม เป็นคำถามที่ต้องไล่ลิสต์ตัวเองว่ามันคืออะไร
ช่วงที่เกิดวิกฤต อย่างในตอนนี้ บางคนอาจจะรู้สึกเครียด ไม่มีความหวัง บางคนต้องแคะกระปุกตัวเองมาใช้ก่อน เราจะก้าวข้ามช่วงเวลาแบบนี้ไปยังไงดี
เงินออม เรามี 2 วัตถุประสงค์ หนึ่งในนั้นคือออมเพื่อความมั่นคง เพื่อที่วันไหนชีวิตของเราเกิดความไม่ราบรื่นขึ้น เงินออมจะช่วยให้เราผ่านพ้นช่วงเวลานั้นไปได้ด้วยดี ดังนั้นการนำเงินออมออกมาใช้ไม่ใช่เรื่องผิด เพราะมันเป็นวัตถุประสงค์การออมของเราอยู่แล้ว คือออมเพื่อให้พื้นฐานชีวิตราบรื่น ไม่ต้องกลัว ไม่ต้องรู้สึกผิดหรืออะไร แล้วพอเรากลับเข้ามาเป็นชีวิตอย่างเดิม เราก็กลับมาออมเหมือนเดิม ถ้าเรามีรายได้เพิ่มขึ้น เราก็ออมมากขึ้น เพื่อชดเชยเงินที่เรานำออกไปใช้ในช่วงหนึ่ง เพราะฉะนั้นเขาเรียกว่าต้องมีวินัยในตัวเอง คือเรารู้ว่าจากจุดนี้เราตั้งเป้าหมายไปจุดนี้ แต่ระหว่างทางเราไปเถลไถลนิดหน่อย แต่รีบกลับเข้ามาจุดเดิมให้เร็วที่สุด แล้วก็รีบไปต่อ
คือไม่ต้องเคร่งเครียดตลอด แต่ก็คิดว่ามีโอกาสจะเกิดอะไรไม่คาดฝันเสมอ แล้วก็พยายามไปปิดช่องว่างนั้น
ใช่ แล้วจากประสบการณ์ การไปปิดช่องว่างนั้น ไม่ใช่ว่าเราเป็นคนมองโลกในแง่ร้ายหรือเราเครียดนะ แต่เฉพาะช่วงที่เราวางแผน เราคิดให้ครบถ้วน คิดให้ถี่ถ้วนหมดเลย พอเราวางแผนเสร็จเราก็จะสบายใจมากเลย สามารถไปทำอะไรก็ได้เพราะเรารู้ว่าเรามีแผนแล้ว พอถึงเวลาเกิดเหตุการณ์อะไรเราก็ยกแผนเรามาใช้เลย เพราะฉะนั้นชีวิตก็จะยิ่งสบายใหญ่เลย แต่ถ้าเราไม่ได้วางอะไรเลย ทุกๆ ครั้งที่เราดำเนินชีวิตอยู่ เราก็จะกังวล เหมือนเราเอาตังค์ไปเผื่อเวลาจะซื้อของ ถ้าเราไม่ได้เอาไปเผื่อเราก็จะคิดอยู่นั่นแหละว่าเท่าไรนะ จะพอไหม
จริงๆ เรื่องการเงินแบบนี้ควรสอนตั้งแต่วัยเรียนเลยหรือเปล่า
ตั้งแต่สมัยที่เราเป็นกรรมการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เราเคยมีการทำหลักสูตรเงินทองของมีค่า เป็นหลักสูตรให้เรียนตั้งแต่ป.1 ถึงม.6 เลย เรื่องเกี่ยวกับการเงิน ตั้งแต่การนับเงิน คิดเลข การทอนแบงก์ การฝากเงิน ดอกเบี้ย การซื้อหรือการเช่า เปรียบเทียบกัน หรือประกันอะไรทุกอย่าง บัตรเครดิต เงินกู้ สินเชื่อ แล้วส่งให้กระทรวงศึกษาธิการ อบรมครูไปตั้งสองหมื่นคน แล้วก็ได้รับคำตอบจากกระทรวงศึกษาธิการว่าไม่มีเวลาให้เด็กเรียน ก็เลยเศร้ามากเลย พอเราไปประชุมสภานักวางแผนการเงินโลก แล้วเจอไต้หวัน เขาก็คุย เราก็บอกว่ามีอันนี้ๆ นะ ตอนนั้นกำลังตื่นเต้นเลย เขาก็บอกว่าเขาสนใจๆ เราก็เลยไปขอจากตลาดหลักทรัพย์ให้เขาเอาไปแปลเองแล้วกันนะ เราทำมาอย่างนี้ ก็ส่งมอบให้เขาตั้งแต่คู่มือการสอน หนังสือ ซีดีอะไรอย่างนี้ เขาเอาไปทำเรียบร้อยแล้วใช้ในโรงเรียนแล้ว แต่เราไม่มีเลย ไม่ได้สอนเลย
แล้วเมื่อ 10 ปีที่แล้วมั้ง ได้ข่าวว่าโรงเรียนในสังกัด กทม. เขาเอาไปสอน ตอนนั้นคุณผุสดี ตามไท รองผู้ว่าฯ ท่านก็เอาไปสอนในโรงเรียนในสังกัด กทม. แต่ตอนนี้ไม่แน่ใจว่ายังมีสอนอยู่หรือเปล่า
อย่างเดี๋ยวนี้ก็มีแชร์ลูกโซ่ โดนหลอก มันก็มาอย่างเดียวกันหมดเลย คือให้ผลตอบแทนสูงๆ แล้วก็หลอกเอาเงินไป พอเราเรียนรู้เรื่องการเงินแล้วเราจะรู้ว่ามันไม่สมเหตุสมผล ไม่ควรจะโลภ แล้วเงินเราก็จะไม่สูญหาย ไม่โดนหลอก ดังนั้นตรงนี้อยู่ที่ความตั้งใจของส่วนกลาง ของภาครัฐด้วย มันเรียนรู้ได้ไม่ยากหรอกเรื่องการเงิน แล้วบางอย่างก็เป็นคอมมอนเซนส์บางอย่างฟังเสร็จเราก็ได้คิดแล้ว แต่บางอย่างมันอยู่ที่การปลูกจิตสำนึกน่ะ ถ้าเรารู้ เราก็เริ่มมีทริคบางอัน อย่างที่เราบรรยาย เราพูด เราเขียนทุกวันนี้ ก็เพราะว่าเราอยากให้คนแก่ไปแล้วไม่จน ไม่อยากให้คนถูกหลอกจนหมดตัวอีกต่อไป
Illustration by Kodchakorn Thammachart