ในภาพยนตร์ ละคร ซีรีส์ หรือหนังสือนวนิยายแทบจะทุกเรื่อง เมื่อมีตัวเอกก็ต้องมีตัวร้าย เมื่อมีฝ่ายธรรมะก็ต้องมีฝ่ายอธรรม เพราะขั้วตรงข้ามทำให้เรื่องราวที่เรากำลังอ่านหรือรับชมเกิดความขัดแย้ง (conflict) ซึ่งความขัดแย้งที่ว่านี้ ก็คือปัจจัยสำคัญที่ทำให้เส้นเรื่องลุ้นระทึก น่าสนใจ และสนุกสนาน
ซึ่งครั้งที่เรายังเด็กๆ เราจะถูกสอนให้รักตัวเอกและเกลียดชังตัวร้าย เพราะตัวเอกมักจะเป็นตัวแทนสะท้อนค่านิยมหรือศีลธรรมที่สังคมยอมรับ ด้วยเหตุนี้ ตัวร้ายจึงปรากฏตัวขึ้น เพื่อเน้นย้ำศีลธรรมอันดีให้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น โดยที่พวกเขาจะต้องทำเรื่องเลวๆ หรือเรื่องที่ไม่เป็นที่ยอมรับในสังคม
แต่ถึงอย่างนั้น หลายคนกลับกระยิ้มกระย่องชอบใจเมื่อได้เห็นตัวร้ายในฉาก หรือรู้สึกมีแรงดึงดูดกับวายร้ายมากกว่าฮีโร่ ถึงขั้นมีชมรมคนรักวายร้าย ขึ้นมาแลกเปลี่ยนพูดข้อมูลกันโดยเฉพาะ เริ่มมีภาพยนตร์ที่สร้างตัวเอกแบบดาร์กๆ (anti-hero) มากขึ้นเรื่อยๆ หรือการที่ดิสนีย์ขยายกลุ่มเป้าหมายด้วยการเปิดตัวร้านค้า Villains in Vougue ใน Walt Disney World Hollywood Studios มานานหลายสิบปี ซึ่งขายดิบขายดีเป็นเทน้ำเทท่า และมีโปรเจ็กต์สร้างภาพยนตร์เกี่ยวกับตัวร้ายในการ์ตูนเจ้าหญิงอีกหลายเรื่อง
ความชอบในตัวร้ายเกิดขึ้นได้อย่างไร มีเหตุผลอะไรที่ทำให้เราหลงใหลในคนที่ทำไม่ดี แล้วทั้งหมดที่ว่านี้แปลว่าเราเป็นคนไม่ดีเหมือนกันหรือเปล่า ลองไปดูคำตอบเหล่านี้พร้อมๆ กัน
ความซับซ้อนของตัวร้ายดึงดูดความสนใจได้มากกว่า
สมัยก่อน ภาพยนตร์ต่างๆ มักจะสร้างตัวร้ายให้เป็น pure evil หรือตัวร้ายที่ร้ายสุดขั้ว ร้ายร้อยเปอร์เซ็นต์ ร้ายแบบที่ถ้าเห็นในตลาดก็ต้องเอาทุเรียนปาใส่ อาจด้วยเหตุผลที่ต้องการชูคุณธรรมของตัวเอก หรือการนำเสนอความดีความเลวแบบขาวดำ
แต่ทุกวันนี้ ตัวร้ายในหลายๆ เรื่องถูกสร้างออกมาให้ไม่ชั่วร้ายไปเสียทีเดียว แต่ถูกสร้างให้มี ‘ความซับซ้อน’ มากขึ้น เผลอๆ ซับซ้อนกว่าตัวเอกเสียด้วยซ้ำ ซึ่งเราเรียกกันว่า complex evil โดยตัวร้ายประเภทนี้จะมีเรื่องราวเป็นของตัวเอง เล่าถึงอดีตที่พวกเขาต้องเผชิญ ปมที่ทำให้เกิดแรงจูงใจในการทำไม่ดี ทำให้คนดูเข้าใจในตัวละครนี้มากขึ้น ตัวร้ายประเภทนี้จึงเป็นตัวร้ายที่กระตุ้นความรู้สึกและครองใจคนดูได้พอๆ กับตัวเอกในเรื่อง
ยกตัวอย่างตัวร้ายแบบ pure evil เช่น โดโลเรส อัมบริดจ์ ในภาพยนตร์เรื่องแฮร์รี่ พอตเตอร์ เธอเป็นครูใหญ่ที่สร้างกฎระเบียบมากมายในโรงเรียนฮอกวอตส์ ซึ่งเราจะได้เห็นเธอเพียงแค่มิติเดียวนั่นก็คือ ความบ้าอำนาจที่ไร้เหตุผล ไม่เห็นว่าเธอเติบโตมาในสภาพแวดล้อมแบบไหน หรือมีเหตุผลอะไรที่เป็นแบบนี้ ทำให้ไม่แปลกใจที่ไม่มีใครยอมรับเธอในฐานะตัวร้ายที่มีความซับซ้อน
หากเปรียบเทียบกับ โลกิ ในจักรวาลมาร์เวล ที่ถึงแม้จะรับบทร้าย แต่เรายังได้เห็นเขาในมิติอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นท่าทียียวน อารมณ์ขัน หรือปมในวัยเด็ก ทำให้หลายคนคงเกลียดตัวละครนี้ไม่ลง อดไม่ได้ที่จะเห็นใจ ไปจนถึงยกเขาให้เป็นตัวละครโปรดเลยก็มี จึงได้ไปสอบถามความเห็นจากคนใกล้ตัวถึงเหตุผลที่เขาสนใจในตัวร้ายมากกว่า โดยได้คำตอบกลับมาว่า
“สิ่งที่ทำให้เราชื่นชอบตัวร้ายก็คือมิติของเขา บางเรื่องตัวร้ายร้ายมาทั้งเรื่อง แล้วสุดท้ายมาเฉยว่าเขาร้ายเพราะอะไร โดยมีเหตุผลที่ฟังขึ้น มีอดีตมาค้ำให้มีมิติมากขึ้น เราเลยรู้สึกเห็นใจ เพราะคิดว่าแรงจูงใจในการทำเลวนั้นซับซ้อนกว่าการทำดี เขาคงมีแรงบันดาลใจประมาณหนึ่ง เช่น ปม ปัญหา หรือความเจ็บช้ำในจิตใจ”
“ตัวร้ายที่เราชอบคือ ดาร์ธ เวเดอร์ ใน Star Wars เพราะเขาน่าสนใจ และสร้างอิทธิพลต่อเส้นเรื่องได้มาก ไม่ว่าจะเป็นที่ยังอยู่หรือจากไปแล้ว”
“บางครั้งเรารู้สึกว่าตัวร้ายเท่กว่า อย่างเจมส์ มอริอาร์ตี ใน Sherlock Holmes ถึงแม้มอริอาร์ตีกับโฮมส์จะฉลาดและมีความซับซ้อนพอๆ กัน แต่มอริอาร์ตีมีความดุดันกว่า ซึ่งเรามองว่ามีเท่และเสน่ห์ดี”
“เรื่องที่เราชอบตัวร้ายมากกว่าตัวเอกคือ The Rock แม้นายพลแฮมเมลคิดจะทำเรื่องร้ายๆ แต่เขาก็มีแรงจูงใจที่เข้าใจได้ ลูกน้องของเขาตายเพื่อประเทศชาติ แต่ไม่ได้รับสิ่งตอบแทนอะไรเลย เขาจึงทำเพื่อความยุติธรรมของลูกต้อง ซึ่งในตอนสุดท้ายเราได้เห็นว่าเขาน่าเห็นใจยังไงบ้าง”
ตัวร้ายจึงกลายเป็นตัวละครที่ซับซ้อนและน่าสนใจ เมื่อเราได้เห็นว่าที่มาของความร้ายนั้น ไม่ใช่เพราะเกิดมาแล้วก็ร้ายเลย แต่ร้ายอย่างมีเบื้องลึกเบื้องหลัง ไม่ขาวไม่ดำ แต่เป็นตัวละครเทาๆ ตัวหนึ่งเท่านั้น และบางครั้งความซับซ้อนก็ทำให้เราคาดเดาได้ยาก ต่างจากตัวเอกหรือฮีโร่เรามักจะคาดเดาว่าเขาจะต้องทำแต่เรื่องที่ถูกต้อง กอบกู้โลก แล้วก็ชนะ เราไม่เคยสงสัยในการทำความดีของใคร เพราะนั่นเป็นเรื่องที่อยู่ในศีลธรรมอยู่แล้ว
แต่เรามักจะสงสัยในการทำเลวมากกว่า อะไรที่ทำให้คนเราผิดศีลธรรม อะไรที่ทำให้คนเราเลือกจะออกมาล้างแค้น และเราไม่สามารถรู้ได้เลยว่าอะไรจะเกิดขึ้นกับตัวร้ายบ้าง ด้วยเหตุนี้ เราจึงสนใจและวิเคราะห์พวกเขาตลอดทั้งเรื่อง เช่น จะมีแผนการอะไรอีก หรือเขาจะกลับลำเป็นคนดีในตอนจบหรือเปล่า จึงเป็นอีกหนึ่งความท้าทายของผู้แต่งในการดีไซน์ตัวร้ายขึ้นมา เพราะยิ่งตัวร้ายซับซ้อนมากเท่าไหร่ เนื้อเรื่องก็จะมีมิติมากยิ่งขึ้น
ตัวร้ายทำให้เราเข้าใจด้านมืดในตัวมนุษย์
คาร์ล จุง (Carl Jung) จิตแพทย์และนักจิตบำบัดชาวสวิส ผู้ก่อตั้งสำนักจิตวิทยาการวิเคราะห์และทฤษฎีเกี่ยวกับบุคลิกภาพ เคยกล่าวไว้ว่า เราจำเป็นที่จะต้องเผชิญหน้าและทำความเข้าใจธรรมชาติที่ซ่อนเร้นอยู่ภายใน เพื่อที่จะเติบโตเป็นมนุษย์ ซึ่งในที่นี้เขาหมายถึง ‘ด้านสว่าง’ และ ‘ด้านมืด’ ของตัวเราเอง
เพราะคาร์ลเชื่อว่า ทุกคนล้วนแล้วแต่มีเงา (shadow) หรือสัญชาตญาณแบบสัตว์ในตัวบุคคล ที่สะท้อนถึงความคิดและพฤติกรรมที่ยังไม่ได้ขัดเกลา ซึ่งไม่เป็นที่ยอมรับในสังคมที่เราอยู่ ทำให้เรามักจะซ่อนเงานี้ไว้ ไม่กล้าเปิดเผยออกมา
และเงาที่ว่านี้ก็หมายถึง ความโกรธ ความโลภ ความหลง ความอิจฉา หรือความเบี่งเบน ซึ่งนับเป็นสิ่งที่มนุษย์หลายคนพยายามปกปิดเอาไว้ แต่ในภาพยนตร์ตัวร้ายกลับเปิดเผยเงานั้นออกมาอย่างหมดเปลือก ไม่ว่าจะเป็นอาการจิตวิปริต การต่อต้านสังคม ความกระหายในการล้างแค้น แต่ตัวร้ายแบบ complex evil ที่เราได้เห็นภูมิหลังที่ประกอบสร้างเขาขึ้นมา บางครั้งเราอาจได้พบเงาของตัวเองทับซ้อนอยู่ในตัวละครนั้น และเข้าใจได้ว่าไม่แปลกเลยที่ทุกคนจะมีด้านมืด หากเราต้องเผชิญสถานการณ์นั้นด้วยเหมือนกัน
ตัวร้ายสะท้อนด้านมืดในจิตใจ
ที่เราไม่สามารถแสดงออกได้ในชีวิตจริง
ด้วยข้อจำกัดทางค่าศีลธรรม
ทำให้เรารู้สึกเชื่อมโยงกับตัวร้าย
ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง
ตัวร้ายหรือฝ่ายอธรรมในหลายๆ เรื่องจึงทำให้เราได้เดินทางออกสำรวจด้านมืดในจิตใจ หรือทำความรู้จักกับแนวคิดที่ตัวเองซ่อนไว้อย่างลับๆ บ้างก็แอบตั้งคำถามว่า เราเองก็มีความคิดและความรู้สึกแบบนี้หรือเปล่า และเผลอ ‘เชื่อมโยง’ ตัวเองกับตัวละครนั้นอย่างไม่ตั้งใจ ซึ่งการที่เราได้รู้จักหรือเผชิญหน้ากับด้านมืดของตัวเอง จะทำให้เราจัดการกับมันได้ดีมากขึ้น
โดริ โคห์เลอร์ (Dori Koehler) ศาสตราจารย์ด้านมนุษยศาสตร์จาก Southern New Hampshire University ผู้ศึกษาการเล่าเรื่องของดิสนีย์ และแต่งหนังสือเรื่อง The Mouse and The Myth: Sacred Art and Ritual of Disneyland อธิบายว่า หลายคนมักจะแทนเงาหรือด้านมืดของตัวเองว่าเป็นความชั่วร้าย แต่เขาไม่รู้สึกว่าแนวคิดแบบนั้นจะเป็นประโยชน์ต่อการนิยามด้านมืดของตัวเอง เขามองว่าเงาหรือด้านมืดที่แท้จริงคือสิ่งที่เราไม่รู้ หรือไม่ได้รับรู้ต่างหาก
ในขณะที่ตัวเอกหรือฝ่ายธรรมะในหลายๆ เรื่อง มักจะถูกนำเสนอออกมาให้ดูสมบูรณ์แบบ เต็มไปด้วยศีลธรรม ซึ่งในความเป็นจริงมนุษย์มักจะบิดเบือนค่านิยมทางศีลธรรมของตัวเองเพื่อประโยชน์ส่วนตัว จึงทำให้บางคนยากที่เชื่อมโยงตัวเองเข้าไปในตัวละครนั้น และรู้สึกว่าตัวร้ายสะท้อนความเป็นธรรมชาติของมนุษย์ได้สมจริงมากกว่า
เห็นความคล้ายในตัวเอง แต่ไม่ได้แปลว่าเห็นด้วยทั้งหมด
เมื่อตัวร้ายกลายเป็นตัวละครอีกตัวที่ผู้คนชื่นชอบ ทำให้ภาพยนตร์บางเรื่องสร้างภาคต่อด้วยการให้ตัวร้ายกลายเป็นตัวเอก และตีแผ่เบื้องหลังชีวิตของพวกเขา ไม่ว่าจะเป็นถูกเลี้ยงดู ความเจ็บปวดในวัยเด็ก ความขัดแย้งในชีวิต และแรงจูงใจในการกลายมาเป็นตัวร้าย เช่น โจ๊กเกอร์ ครูเอลลา มาเลฟิเซนต์ เออร์ซูลา วีนอม หรือโลกิ
และเราจะสังเกตได้ว่าในภาพยนตร์หลายเรื่อง ผู้แต่งจะพยายามสร้างความน่าเห็นใจให้กับตัวร้ายไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง สังเกตได้จากศาสตราจารย์สเนป, แม็กนิโต, เมกะมายด์ หรือนายพลแฮมเมล ซึ่งทำให้คนดูเข้าใจได้ว่าไม่มีใครหรอกที่จะสมบูรณ์แบบไปเสียทั้งหมด และนั่นก็เป็นเรื่องธรรมชาติของมนุษย์เช่นกัน
งั้นขอวกกลับไปที่คำถามแรกเมื่อตอนต้น สรุปแล้วนี่แปลว่าเราเป็นคนไม่ดีหรือเปล่า ถึงได้พิสมัยหรือเห็นใจตัวร้ายมากกว่าตัวเอก
คำตอบก็คือ เราสามารถดำดิ่งไปกับคาแร็กเตอร์ตัวร้าย หรือสำรวจด้านมืดในจิตใจโดยไม่จำเป็นต้องกังวลว่าตัวเองจะเป็นคนเลวหรือเปล่า เนื่องจากตัวร้ายที่ถูกสร้างขึ้นในภาพยนตร์ โดยเฉพาะที่สร้างขึ้นจากเรื่องแต่ง แทบจะเป็นไปไม่ได้ที่เราจะเหมือนพวกเขาร้อยเปอร์เซ็นต์
อีกทั้ง มนุษย์มักจะแคร์ภาพลักษณ์และมองตัวเองในเชิงบวกอยู่เสมอ เรามักจะชื่นชอบตัวร้ายที่มีลักษณะคล้ายกับเรา หรือลักษณะที่เราให้ความสำคัญ เช่น ความเป็นอิสระ ความฉลาด ความลึกลับ ความมุ่งมั่น ความมีเสน่ห์ หรือความมีเล่ห์เลี่ยมชั้นเชิง มากกว่าเชื่อมโยงตัวเองกับความบ้าคลั่ง ความโหดร้าย หรือการกระทำที่ส่งผลเสียต่อผู้อื่น หรือดึงดูดตัวเองในรูปแบบเชิงลบ ตราบใดที่ภาพลักษพำ ณ์ของตัวเองไม่เสียหายหรือถูกคุกคาม
รีเบกกา ครอส (Rebecca Krause) ผู้ทำการวิจัยเรื่อง When ‘Bad’ Is Good: the Magnetic Attraction of Villains กล่าวว่า ผู้คนต้องการมองตัวเองในแง่บวก ทำให้การความคล้ายคลึงระหว่างตัวเองกับคนไม่ดี อาจทำให้พวกเขาไม่สบายใจ แต่กลับรู้สึกสนใจและดึงดูดเวลาได้หาความคล้ายคลึงระหว่างตัวเองกับวายร้ายในภาพยนตร์ ยกตัวอย่างเช่น คนที่มองว่าตัวเองเจ้าเล่ห์ มีความโกลาหล จะรู้สึกดึงดูดกับตัวละครโจ๊กเกอร์เป็นพิเศษ หรือคนที่มีสติปัญญาหรือความทะเยอทะยานจะรู้สึกดึงดูดกับลอร์ด โวลเดอมอร์หรือเจมส์ มอริอาร์ตีมากขึ้น
ในขณะเดียวกัน ผู้คนจะรีบแยกตัวหรือปฏิเสธข้อมูลใดๆ ที่ทำให้ภาพลักษณ์ของตัวเองถูกคุกคาม หรือมักจะรู้สึกไม่สบายใจ หากถูกเปรียบเทียบกับตัวร้ายและอาชญากรในชีวิตจริง
“การวิจัยของเราชี้ให้เห็นว่า เรื่องราวหรือโลกสมมติสามารถเป็น ‘ที่หลบภัย’ ให้ผู้คนได้เปรียบเทียบตัวร้ายกับตัวเอง และเรื่องแต่งต่างๆ อาจเป็นวิธีที่ทำให้ผู้คนมีส่วนร่วมในการรู้จักกับด้านมืดของตัวเอง โดยไม่ทำให้พวกเขาสงสัยว่าจริงๆ แล้วตัวเองเป็นคนดีหรือไม่” รีเบกกากล่าว ซึ่งก็ถืออีกเป็นข้อดีของการสำรวจด้านมืดผ่านตัวร้ายในภาพยนตร์ เพราะเราจะได้เห็นตัวอย่างของผลกระทบและผลลัพธ์ที่มาจากความคิดและการกระทำ ซึ่งทำให้เราเกิดการชั่งใจก่อนที่จะนำไปใช้ในชีวิตจริงด้วย
ทำให้สรุปได้ว่า การที่เราชื่นชอบหรือเห็นใจ ไม่ได้แปลว่าเราจะเห็นด้วยกับการกระทำโหดร้ายนั้นไปเสียทั้งหมด และก็คงไม่แปลกอะไรหากเราจะเรียนรู้ด้านมืดในจิตใจของตัวเองบ้าง เพื่อให้เผชิญหน้าและรับมือกับมันได้ดีมากขึ้น
อ้างอิงข้อมูลจาก