โทรศัพท์สั่นทีไร ใจสั่นตามทุกที ไม่ใช่เพราะเขินหรือตื่นเต้นนะ แต่เป็นเพราะกลัวต่างหาก!
ทุกครั้งที่ต้องโทรศัพท์หาคอลเซนเตอร์ สั่งพิซซ่า หรือติดต่อลูกค้า มักจะรู้สึกกังวล มวนท้อง มือสั่น เหงื่อออก อยู่ไม่เป็นสุขทุกที ได้แต่ภาวนาว่า “ขอเถอะ อย่ารับสาย อย่ารับสาย” ทั้งที่ตัวเองเป็นคนโทรไปแท้ๆ หรือเวลาได้ยินเสียงโทรศัพท์เข้า จะต้องคาดเดาไปต่างๆ นานาว่าเกิดเรื่องอะไรไม่ดีหรือเปล่า ไม่อยากรับสายเลย ไม่รู้ว่าต้องพูดว่ายังไง ทำตัวไม่ถูก เลยเลือกที่จะตั้งสั่นหรือปิดเสียงเอาไว้ สบายใจกว่า แต่พอทำโทรศัพท์หายที ก็ไม่รู้จะตามหายังไงเหมือนกัน
บางครั้งการติดต่อผ่านโทรศัพท์ ก็ทำให้รู้สึกเป็นทุกข์ได้อย่างไม่น่าเชื่อเลยเนอะ
ไม่ต้องรับสาย เพราะฉันก็ไม่อยากคุยเหมือนกัน
หลายคนไม่ชอบการคุยโทรศัพท์ อาจจะเพราะขี้เกียจพูด ขี้เกียจฟัง หรือรู้สึกว่าการส่งข้อความนั้นง่ายกว่า ไม่ต้องถูกเร่งให้ตอบ ณ ทันที หรือค่อยมาตอบตอนที่สะดวกก็ได้ แต่ถ้าหากใครมีประสบการณ์แบบที่เล่าไปข้างบน ซึ่งดูจะมีอาการที่รุนแรงกว่า อาจเป็นไปได้ว่าคุณกำลังเผชิญหน้ากับความกังวลจากการโทรศัพท์ (Phone Call Anxiety) หรือโรคกลัวโทรศัพท์ (Telephobia) อยู่
ซึ่งคนที่เผชิญกับอาการนี้ก็มีจำนวนไม่น้อยเลย โดยผลการสำรวจปี ค.ศ.2019 พบว่า 76% ของพนักงานออฟฟิศในสหราชอาณาจักรที่เป็นมิลเลนเนียล และ 40% ที่เป็นเบบี้บูมเมอร์ มีภาวะกังวล รู้สึกประหม่า และกระวนกระวายเมื่อได้ยินเสียงโทรศัพท์ ทำให้พวกเขาเลือกที่จะ ‘หลีกเลี่ยง’ การติดต่อผ่านโทรศัพท์ หรือผัดวันประกันพรุ่งในการโทรศัพท์ออกไปเรื่อยๆ เพื่อลดความกังวลที่อาจเกิดขึ้นตั้งแต่ก่อนเริ่มโทร ระหว่างโทร หรือหลังจากวางสายไปแล้ว แต่ถ้ามีเหตุให้ต้องรับสายหรือโทรออกจริงๆ พวกเขาก็จะมีอาการทางกายภายที่เห็นได้ชัด เช่น เวียนหัว คลื่นไส้ ใจเต้นแรง ตัวสั่น หายใจลำบาก ไปจนถึงกล้ามเนื้อตึง
สาเหตุหลักของความกังวลและความกลัว เกิดจากการที่โทรศัพท์มีเพียง ‘เสียง’ ของคู่สนทนาเท่านั้น โดยขาดบริบทอื่นๆ อย่างสีหน้า ท่าทาง หรือสายตา ทำให้ไม่สามารถคาดเดาได้ว่า คู่สนทนากำลังรู้สึกยังไงหรือคิดอะไรอยู่ หรือแม้แต่ตัวเราเองก็กลัวจะทำให้คู่สนทนาเข้าใจผิดเช่นกัน เนื่องจากคู่สนทนาอาจตีความน้ำเสียงหรือคำที่เราใช้ผิดเพี้ยนไป นำไปสู่การแปลเจตนาใหม่หรือเกิดการตัดสินเราแบบผิดๆ ได้
“เวลาที่เราพูดคุยกับใครสักคน เราจะกระตุ้นหรือให้กำลังใจพวกเขาผ่านการแสดงออกทางสีหน้า” อเล็กซานเดอร์ ควีน (Alexander Queen) นักจิตวิทยาคลินิก ผู้ศึกษาเกี่ยวกับความวิตกกังวลของมนุษย์ กล่าว ซึ่งการขมวดคิ้วหรือการผงกศีรษะ ถือเป็นสัญญาณว่าเรากำลังรับฟังหรือเข้าใจในสิ่งที่อีกฝ่ายพูด แต่เมื่อขาดบริบทเหล่านั้นไป จึงทำให้การสนทนาดูเหมือนเป็นเกมเดาใจที่ชวนให้อึดอัดและกระอักกระอ่วน เพราะเราไม่มีทางรู้เลยว่าสิ่งที่เดาอยู่นั้นถูกหรือผิดกันแน่
พิมพ์เอาได้มั้ย สบายใจกว่า
อย่างที่กล่าวไปว่าคนที่ไม่ชอบการโทรศัพท์ มักจะรู้สึกว่าการพิมพ์แชตนั้นง่ายกว่า แต่สำหรับคนที่ถึงขั้นกลัวโทรศัพท์ พวกเขาจะมองว่าการพิมพ์แชทนั้น ‘ปลอดภัย’ กว่า ซึ่งก็ต้องขอบคุณเทคโนโลยีในทุกวันนี้ ที่ทำให้เรามีทางเลือกในการติดต่อกันมากขึ้น ตั้งแต่ SMS, Messenger, Direct Messenger ไปจนถึง Line แล้วก็มีผลการวิจัยหนึ่งระบุว่า ผู้คนที่มีความกังวลเกี่ยวกับการโทรศัพท์ มักจะสะดวกใจกับการส่งข้อความมากกว่า และมองว่าการคุยกันผ่านแชทเป็นสื่อกลางที่ดีที่สุดในการแสดงความรู้สึก หรือสร้างความใกล้ชิดกับคนอื่นๆ
นอกจากนี้ บางคนยังเลือกใช้การส่งข้อความเพื่อลดความกดดันในเรื่องของเวลา เพราะการส่งข้อความทำให้พวกเขามีเวลาคิด มีเวลาแก้ไข และทบทวนคำตอบนั้นอีกทีก่อนที่จะกดส่ง แต่ถ้าหากเป็นการคุยโทรศัพท์ จะต้องรีบให้คำตอบ ณ ทันที ซึ่งอาจนำไปสู่ความผิดพลาด ความเสียดาย หรือความขายหน้าในภายหลังได้ การส่งข้อความนี่แหละ ทำให้เราปล่อยไก่ออกมาน้อยที่สุดแล้ว เช่น เวลาหัวหน้าโทรมาสั่งงานเพิ่มนอกเวลา เราจะเกิดอาการอึกอัก ทำตัวไม่ถูก และให้คำตอบแบบด่วนจี๋ว่า “ได้ค่ะ” ทั้งที่ไม่ใช่เวลาต้องทำงานแล้ว แต่ถ้าหัวหน้าทักมาสั่งงานผ่านแชท ก็อาจจะมีเวลาชั่งใจ คิดหาเหตุผล หรือปล่อยเบลอไปเลยก็ได้ เพราะไม่ใช่เวลาต้องมาตอบนี่เนอะ
ซึ่งผลการวิจัยก็สอดคล้องกับเหตุผลข้างบนด้วยเช่นกัน โดยชี้ให้เห็นว่า การที่เรามีความวิตกกังวลกับการโทรศัพท์ อาจมีผลมาจากความหมกมุ่นเกี่ยวกับความคิดที่ว่าคนอื่นจะมองเรายังไง แต่ถ้าคุยผ่านแชท เราสามารถสร้างบุคลิกบางอย่างที่แตกต่างจากในชีวิตจริงได้ เช่น เป็นคนที่ดูสุขุมขึ้น เฟรนด์ลี่มากขึ้น หรือดูตลกมากขึ้น อีกทั้ง การคุยผ่านแชทยังลดระดับความรุนแรงที่มาจากการถูกปฏิเสธได้ เพราะการคุยโทรศัพท์ คู่สนทนาจะมีปฏิกิริยาตอบโต้ในทันที ซึ่งถ้าการตอบโต้นั้นเป็นไปในเชิงปฏิเสธหรือไม่เห็นด้วย ผู้ที่มีความวิตกกังวลอาจรู้สึกแย่ไปมากกว่าเดิม ไม่รู้จะรับมือกับความผิดหวังยังไง หรือไม่รู้ว่าจะต้องตอบกลับยังไงให้ดูเหมาะสมด้วย
หลับตา กลั้นใจ กดโทร
แม้การส่งข้อความหรือการคุยแชท จะเป็นอีกหนึ่งตัวเลือกในการติดต่อสื่อสารของผู้คนสมัยนี้ แต่สุดท้ายเราก็เลี่ยงการโทรศัพท์ไม่ได้อยู่ดี โดยเฉพาะในโลกของการทำงานที่มักจะมีเรื่องเร่งด่วนเข้ามาตลอดเวลา ซึ่งก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าการโทรศัพท์เป็นอะไรที่ตอบโจทย์ด้านความรวดเร็วมากกว่าการคุยแชต และยิ่งในช่วงโรคระบาด COVID-19 ที่การพบปะตัวต่อตัวกลายเป็นเรื่องยากมากขึ้น ผู้คนจึงต้องสื่อสารกันผ่านโทรศัพท์บ่อยยิ่งขึ้นไปอีก
ดังนั้น เพื่อให้สามารถรับสายและโทรออกได้อย่างราบรื่นมากขึ้น เราจะต้องขจัดอาการเหล่านี้ออกไปให้ได้ แต่ต้องทำยังไงล่ะ? ความกลัวหรือความกังวลที่มีต่อโทรศัพท์ ก็เหมือนโรคกลัว (Phobia) หลายๆ โรค เช่น โรคกลัวงู โรคกลัวรู หรือโรคกลัวความสูง ซึ่งวิธีที่นักจิตวิทยาจะใช้ เพื่อให้ผู้ป่วยก้าวข้ามความกลัวเหล่านั้นได้ ก็คือการ ‘เผชิญหน้า’ กับความกลัวนั้นให้มากขึ้น
โดยส่วนใหญ่แล้ว ผู้ป่วยที่เผชิญกับความกลัวหรือกังวล จะเข้ารับการบำบัดทางจิตที่เรียกว่า Cognitive Behavioural Therapy (CBT) ที่เน้นปรับความคิดและพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์ หรือส่งผลเชิงลบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน ซึ่งนักจิตบำบัดก็จะมีวิธีที่เรียกว่า Exposure Therapy โดยการให้ผู้ป่วยเผชิญหน้ากับสิ่งที่พวกเขากลัว ผ่านการไล่ระดับไปเรื่อยๆ อย่างการมองภาพ การสัมผัสของที่สมมติขึ้นมา ไปจนถึงการอยู่กับสิ่งนั้นจริงๆ เพื่อสร้าง ‘ความทนทาน’ ให้ผู้ป่วยอยู่ร่วมกับความกลัวนั้นได้ดียิ่งขึ้น
เนื่องจากความกลัวหรือความกังวล บางครั้งอาจมีสาเหตุมาจากการขาดประสบการณ์ ทำให้ผู้ป่วยมีการรับรู้ต่อสิ่งนั้นที่ผิดหรือเกินจริง ซึ่งคนในยุคหลังที่เติบโตมากับเทคโนโลยี ติดต่อกันผ่านแชทมากกว่าโทร จึงเกิดอาการนี้ได้ง่ายกว่า นั่นหมายความว่า ถ้าอยากเอาชนะความกลัวนี้ได้ เราอาจจะต้องพยายามรับสายโทรศัพท์ หรือติดต่อผู้อื่นผ่านโทรศัพท์มากขึ้น แต่การเผชิญหน้ากับความกลัวอาจนำมาสู่ผลกระทบที่อันตราย ทั้งทางสภาพจิตใจและทางกายภาพ ทำให้การทำวิธีดังกล่าว ควรอยู่ในความดูแลของนักจิตบำบัดหรือผู้เชี่ยวชาญจะดีที่สุด
แต่ถ้าใครที่รู้ว่าตัวเองไม่ได้เป็นหนักถึงขนาดนั้น และอยากจะเพิ่มความกล้าหรือความมั่นใจในการโทรศัพท์มากขึ้น ขอแนะนำให้เริ่มจากการลิสต์รายชื่อคนรู้จักที่สนิทใจ กดโทรไปหาแต่ละคน (จะฝึกพูดกับตัวเองหน้ากระจก หรือจดสคริปต์ก่อนก็ได้นะ) จากนั้นก็อาจจะไล่ระดับความยากไปเรื่อยๆ อย่างการโทรหาคอลเซนเตอร์เพื่อสอบถามข้อมูลง่ายๆ ที่เตรียมเอาไว้แล้ว เช่น ร้านจะเปิดเมื่อไหร่ จะเดินทางไปร้านได้ยังไง ซึ่งเป็นบทสนทนาที่ชัดเจนและคาดเดาได้ เมื่อรู้สึกทนทานได้ในระดับหนึ่ง อาจจะลองเพิ่มความซับซ้อนของบทสนทนาขึ้นไปอีก เช่น โทรไปขอย้ายค่ายโทรศัพท์ แน่นอนว่าทางนั้นจะต้องมีลูกง้อลูกอ้อนกลับมาให้เราอึดอัด ลำบากใจ ทำตัวไม่ถูก แต่ถ้าผ่านไปได้ก็จะถือว่าพัฒนามาไกลมากๆ เลย
หากกังวลว่าน้ำเสียงของเราจะทำให้อีกฝ่ายเข้าใจผิดว่าเรากำลังโกรธหรือไม่พอใจ ทริกง่ายๆ ก็คือ ‘การยิ้ม’ ก่อนรับโทรศัพท์ อาจจะฟังดูน่าอายไปนิด แต่การยิ้มจะช่วยปรับน้ำเสียงของเราให้ดูซอฟต์ สดใส และเฟรนด์ลี่ได้อย่างไม่น่าเชื่อเลยล่ะ และทุกครั้งที่วางสาย ก็อย่าลืมให้กำลังใจตัวเองด้วยว่าทำดีมากเลย เก่งมากแล้วนะ เพื่อสร้างแรงกระตุ้นให้เกิดการโทรศัพท์ครั้งต่อๆ ไป เพราะยิ่งเรามีประสบการณ์กับมันมากเท่าไหร่ เราก็ยิ่งรับมือได้ดีมากขึ้นเท่านั้น
ความกังวลหรือความกลัวที่ใครหลายคนมองว่าเป็นเรื่องเล็กน้อย จริงๆ แล้วส่งผลกระทบต่อชีวิตประจำวันได้มากกว่าที่คิด หากใครรู้สึกว่าอาการเหล่านี้กำลังกระทบสุขภาพจิต หน้าที่การงาน หรือความสัมพันธ์กับคนรอบข้าง อาจจะต้องอาศัยความช่วยเหลือจากผู้เชี่ยวชาญ เพื่อให้รับมือหรืออยู่กับความกลัวนี้ได้ดียิ่งขึ้น
อ้างอิงข้อมูลจาก