เดี๋ยวนี้แกแคร์เราน้อยลงนะ รู้ตัวป่ะ…
เคยเจอมั้ย คนในออฟฟิศที่ทำอะไรโดยไม่สนใจความรู้สึกของคนอื่น หลายการกระทำดูหน้าไหว้หลังหลอก อยากเป็นจุดสนใจขนาดที่เราเคยคิดว่าคนแบบนี้มีแต่ในละคร…
เคยตกอยู่ในสถานการณ์แบบนี้มั้ย จู่ๆ เพื่อนในแก๊งก็ไปดราม่ายกใหญ่กลางทวิตเตอร์ (ที่เดี๋ยวนี้ต้องเรียก X) เพราะคนในกลุ่มไม่ว่างไปกินข้าวด้วย ซึ่งถ้าเป็นตัดพ้อแค่สั้นๆ ยังพอว่า แต่นี่ปาเข้าไปเกิน 10 ทวีต…
และเคยสงสัยมั้ย ทำไมแฟนเราถึงดูเรียกร้องความสนใจผิดปกติ เราตอบช้านิดเดียวก็ด่า แสดงออกรุนแรงราวกับว่าเราเพิ่งไปฆ่าใครตาย…
หากคำตอบของทุกคนคือ ‘เคย’ คำถามต่อมาคือเรารู้รึเปล่าว่าเพื่อนร่วมงาน คนในแก๊ง และแฟนของเราเป็นอะไร แล้วสิ่งที่เพื่อนร่วมงานทำมันมากไปหรือยังอยู่ในระดับที่พอรับได้ เพื่อนในแก๊งทำเรื่องเล็กให้เป็นเรื่องใหญ่ หรือเป็นเราและเพื่อนคนอื่นที่เทนัดเขาบ่อยเกินไปจริงๆ ส่วนแฟนเรา เขาต้องการความใส่ใจในปริมาณเดียวกับที่คู่รักส่วนใหญ่มีให้กัน หรือท่าทีที่เขาแสดงออกรุนแรงถึงขั้นที่เราไม่เป็นอันใช้ชีวิต…
ถ้าเราค้นจนละเอียดแล้วพบว่าตัวเองไม่ผิด เพราะสิ่งที่อีกฝ่ายทำนั้น ‘ผิดปกติ’ จริงๆ ไม่แน่ว่าบางที เขาหรือเธออาจกำลังป่วยเป็นโรคที่มีชื่อว่า Histrionic Personality Disorder อยู่ก็เป็นได้
โรคขาดความรักไม่ได้
Histrionic Personality Disorder (HPD) หรือโรคบุคลิกภาพผิดปกติชนิดฮิสทริโอนิก เป็นภาวะที่ผู้ป่วยจะนำความมั่นใจของตนเองไปยึดโยงกับการยอมรับ การเอาใจใส่ ตลอดจนความรักที่ผู้อื่นมีให้ คนกลุ่มนี้จึงพร้อมทำทุกวิถีทางเพื่อให้ตัวเองได้รับการสังเกต มองเห็น และต้องการเป็นจุดสนใจในกลุ่มสังคมต่างๆ ตลอดเวลา ซึ่งหลายครั้งก็ยินดีทำถึงขนาดแสดงพฤติกรรมที่ใหญ่โตผิดปกติ โดยไม่รู้เลยว่าวิธีการนี้อาจเป็นปัญหาต่อตัวเขาเองได้
ข้อมูลจากงานวิจัยพบว่า โลกของเรามีผู้ป่วยที่เป็นเอชพีดีประมาณ 1 เปอร์เซ็นต์ หรือราวๆ 70-80 ล้านคน ซึ่งพฤติกรรมบ่งชี้ที่บอกว่าคนรอบตัวคุณอาจป่วยเป็นโรคนี้ ได้แก่
- รู้สึกอึดอัดและหดหู่เมื่อตัวเองไม่ใช่ศูนย์กลางของความสนใจ
- มีอารมณ์รุนแรง แปรปรวน และหงุดหงิดง่าย
- รู้สึกตื่นเต้นและสนใจสิ่งรอบตัวมากกว่าคนทั่วไป
- กังวลเกี่ยวกับรูปลักษณ์ของตัวเองมากผิดปกติ
- พูดเยอะ แต่เน้นพูดเฉพาะความคิดเห็นของตัวเอง ทั้งยังให้เหตุผลสนับสนุนน้อยมาก
- มีการแสดงออกทางอารมณ์ที่ใหญ่โตจนอาจทำให้คนรอบข้างอับอายในที่สาธารณะ
- ถูกชี้นำและชักจูงได้ง่าย โดยเฉพาะจากคนที่เขาแสดงความชื่นชม
- เข้าใจว่าตัวเองสนิทสนมกับคนอื่นเกินความเป็นจริง
- เป็นคนเจ้าชู้
- มีปัญหาในการรักษาความสัมพันธ์ หลายครั้งดูเสแสร้งในการต่อบทสนทนา
ทุกโรคมีที่มา
แม้จะไม่ชอบพฤติกรรมของผู้ป่วย HPD แต่อย่างน้อยที่สุดเราก็ควรทำความเข้าใจว่า ทุกอาการล้วนมีสาเหตุ และเขาไม่ได้เสแสร้งแกล้งทำให้คนรอบข้างอับอายหรือรำคาญ โดยกลุ่มอาการบุคลิกภาพผิดปกติชนิดฮิสทริโอนิกเป็นหนึ่งในโรคที่ทางการแพทย์ยังไม่มีความเข้าใจมากนัก ซึ่งจากการศึกษาคาดว่าปัจจัยหลักที่มีผลต่อการเกิดโรคมีด้วยกัน 3 ปัจจัย ได้แก่
- พันธุกรรม – โรค HPD ส่วนใหญ่พบในสมาชิกครอบครัวมากกว่าหนึ่งคน นักวิทยาศาสตร์จึงคาดว่าน่าจะมีความเชื่อมโยงหรือถ่ายทอดทางพันธุกรรมได้
- มีเรื่องกระทบกระเทือนจิตใจในวัยเด็ก – ผู้ป่วยส่วนมากมีประสบการณ์เลวร้ายในอดีต อาทิ เคยถูกล่วงละเมิดทางเพศ มีสมาชิกในครอบครัวเสียชีวิต ประสบอุบัติเหตุที่จำฝังใจ ฯลฯ ปัญหาเหล่านี้อาจหล่อหลอมจนเกิดเป็นความปกติของวิธีคิดและบุคลิกภาพได้ในระยะยาว
- รูปแบบการเลี้ยงดู – เด็กที่ถูกตามใจอย่างไม่มีขอบเขตมีแนวโน้มที่จะป่วยเป็น HPD ได้เช่นกัน นอกจากนี้ ผู้ปกครองที่มีอารมณ์รุนแรง แปรปรวน หรือมีพฤติกรรมทางเพศไม่เหมาะสม ก็อาจกระตุ้นให้บุตรหลานมีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคอีกด้วย
แนวทางการรักษา
ปัญหาหลักในการเยียวยาอาการที่เกิดขึ้นคือผู้ที่มีบุคลิกภาพผิดปกติชนิดฮิสทริโอนิกส่วนมาก ไม่เชื่อว่าพฤติกรรมของตนเป็นปัญหา และด้วยการแสดงความรู้สึกแบบเกินจริง แถมยังไม่ชอบทำสิ่งต่างๆ อย่างเป็นกิจวัตรก็ทำให้แพทย์ไม่สามารถวางแผนการรักษาได้อย่างต่อเนื่องและมีประสิทธิภาพ
อย่างไรก็ดี หลายครั้งผู้ป่วย HPD ก็มองหาความช่วยเหลือเมื่อรู้สึกหดหู่อย่างหนักเพราะไม่ได้รับความสนใจ มีปัญหาเรื่องความสัมพันธ์ ตลอดจนถูกคนรอบข้างต่อว่าอย่างไปตรงมาว่าสิ่งที่ผู้ป่วยทำนั้นน่ารังเกียจ
แนวทางการรักษาที่เชื่อว่าได้ผลคือวิธีจิตบำบัด โดยเฉพาะการบำบัดผ่านการพูดคุย ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อให้ผู้ป่วยค้นพบแรงจูงใจและเข้าใจความกลัวของตัวเองมากขึ้น พร้อมกันนั้นก็เป็นการปรับเปลี่ยนวิธีคิดของผู้ป่วยให้สามารถดูแลความสัมพันธ์ในเชิงบวกทั้งต่อตัวเองและผู้อื่น
โดยประเภทของจิตบำบัดที่เป็นประโยชน์ต่อผู้ป่วย HPD คือ
- การบำบัดแบบกลุ่ม – เปิดโอกาสให้กลุ่มผู้ป่วยได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นซึ่งกันและกัน ภายใต้การดูแลของนักบำบัดหรือนักจิตวิทยา วิธีนี้จะช่วยให้ทุกคนมองเห็นพฤติกรรมของตัวเองสะท้อนกลับมาได้ชัดขึ้น เข้าใจมากขึ้นว่าทำไมการแสดงออกของเราจึงอาจทำให้คนรอบข้างไม่สบายใจได้
- จิตบำบัดแบบจิตพลวัตร – จะมุ่งเน้นไปที่การศึกษาต้นตอของความทุกข์ในจิตใจ และเมื่อเข้าใจสาเหตุอย่างถ่องแท้ก็จะนำไปสู่การแก้ไขได้ง่ายขึ้น
- จิตบำบัดแบบประคับประคอง – มีเป้าหมายเพื่อรักษาฟื้นฟูความพึงพอใจในตนเอง รวมไปถึงทักษะในการเผชิญหน้า
แล้วคนรอบข้างอย่างเราควรรับมืออย่างไร?
แน่นอนว่าไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะอยู่ร่วมกับผู้ที่ทำทุกวิถีทางเพื่อเรียกร้องความสนใจ ความรู้สึกอึดอัด รำคาญ หรือกระทั่งกดดันอาจเกิดขึ้นได้อย่างไม่อาจหลีกเลี่ยง
ไม่แปลกถ้าเราจะไม่ชอบเพื่อนร่วมงานที่มีพฤติกรรมแบบนี้
ไม่เป็นไรถ้าเราจะรู้สึกรำคาญและไม่พอใจที่เพื่อนในกลุ่มทำเรื่องเล็กให้กลายเป็นเรื่องใหญ่เกินจริง
และเป็นเรื่องที่เข้าใจได้ ถ้าเราจะรู้สึกกดดันเมื่อถูกคนที่รักตัดพ้อว่าใส่ใจเขาไม่มากพอ…
สิ่งที่เราควรทำคือพยายามปล่อยวาง หาวิธีเผชิญหน้าในแบบที่เราจะไม่รู้สึกแย่จนเกินไป และให้ความช่วยเหลือเท่าที่ทำได้ แต่ทั้งหมดทั้งมวลคือเราต้องห้ามโทษว่าตัวเองคือสาเหตุของโรคที่ผู้ป่วยกำลังเผชิญ เพราะต่อให้เราสนใจเขาทุกวินาที มันก็อาจจะยังไม่พออยู่ดีสำหรับผู้ป่วยที่ต้องการความรักตลอดเวลา
อย่างไรก็ดี สองเรื่องที่เราต้องตระหนักอยู่เสมอคือ หนึ่งบางทีสิ่งที่เราเห็นอาจไม่ใช่โรค แต่คืออุปนิสัยของเขา พูดง่าย ๆ ว่าหลายอย่างที่เพื่อน คนในที่ทำงาน หรือแฟนของเราทำอาจสอดคล้องกับพฤติกรรมที่ปรากฏในลักษณะบ่งชี้ของโรค แต่ก็ยังมีน้ำหนักไม่มากพอที่จะถูกวินิจฉัยว่าเป็นผู้ป่วย สิ่งที่เราช่วยได้คือพยายามตักเตือนว่าสิ่งที่เขาหรือเธอทำไม่ถูกต้อง และสิ่งนี้อาจส่งผลเสียต่อตัวเขาเองในอนาคต แต่พร้อมกันนั้นเราก็คงต้องใช้ความอดทนในการพูดคุยกับเขาไม่มากก็น้อย…
แต่หากเขาได้รับการวินิจฉัยว่าป่วยจริงๆ เราก็ควรเห็นอกเห็นใจเพราะอาการที่เกิดขึ้นอาจเป็นผลพวงทางพันธุกรรม เหตุการณ์ในอดีต หรือการเลี้ยงดูที่ไม่เหมาะสม แต่กระนั้นก็ไม่ใช่และไม่เคยเป็นข้ออ้างที่ชอบธรรมในการสร้างความเดือดร้อนให้ผู้อื่นในสังคม ต่อให้เรารู้และเข้าใจ หากสิ่งไหนผิด เราก็ต้องว่าไปตามผิด
เพราะท้ายที่สุดก็ไม่มีใครควรตกเป็นเหยื่อของความอับอาย แรงกดดัน หรือความสัมพันธ์อันเป็นพิษแม้แต่คนเดียว
อ้างอิงจาก