เบื้องหน้าหรือผลลัพธ์คือสิ่งที่เห็นได้ชัดเจนที่สุดในสายตาคนนอก ส่วนเบื้องลึกเบื้องหลังเกิดอะไรขึ้นกันแน่ คงมีแต่เจ้าตัวเท่านั้นที่รับรู้ได้ อย่างเช่น ‘ภาวะวิตกกังวล’ ที่ใครคนหนึ่งเผชิญ ระหว่างทำบางสิ่งบางอย่างออกมาให้มีประสิทธิภาพในสายตาคนอื่น
ในขณะที่เราคิดว่าคนที่ประสบความสำเร็จ ก็คือคนที่มีความมั่นใจ กล้าคิด กล้าลงมือ ปราศจากความกลัวและความกังวล ใครบางคน (หรือคนนั้นอาจเป็นคุณ?) ทั้งที่ภายนอกดูจะทำอะไรออกมาได้ราบรื่นไปหมด ประสบความสำเร็จในหลายๆ ด้าน อยู่ร่วมกับผู้อื่นได้อย่างสงบสุข เป็นที่ชื่นชมของคนรอบข้างหรือคนไม่รู้จัก เหมือนคนที่มีความมั่นใจอยู่เต็มเปี่ยม แต่ลึกๆ ภายในกลับยุ่งเหยิงไปด้วยความวิตกกังวล พะวงหน้าพะวงหลังว่าจะทำได้มั้ย จะมีใครมองไม่ดีหรือเปล่า ถึงอย่างนั้น ทุกอย่างก็ถูกประกอบสร้างจนสำเร็จ ซึ่งคุณมองว่าความกังวลนั้น อาจเป็นเคล็ดลับที่ทำให้คุณทำบางอย่างออกมาได้มีประสิทธิภาพก็ได้
จริงหรือเปล่านะ?
ข้างนอกสุกใส ข้างใน “ช่วยด้วยยยยย!”
หลายคนมักจะคิดว่าภาวะวิตกกังวล เหมือนมือล่องหนที่ดึงให้เราไม่กล้าทำอะไร ไม่กล้าไปไหน ไม่กล้าพบเจอกับใคร แต่สำหรับบางคนจะรู้สึกว่า ยิ่งพวกเขากังวลมากเท่าไหร่ พวกเขาก็ยิ่งทำงานออกมาได้ดีมากเท่านั้น หรือเวลาจะทำอะไรจะต้องมีความกังวลพุ่งนำมาก่อน เพื่อให้รู้สึกปลอดภัย กลายเป็นการทำแบบกังวลไปเรื่อยๆ จนสำเร็จ ซึ่งเราเรียกอาการนี้ว่า ‘ภาวะวิตกกังวลของคนที่มีประสิทธิภาพการทำงานสูง’ หรือ High-functioning Anxiety
ภาวะวิตกกังวลของคนที่มีประสิทธิภาพการทำงานสูง ไม่ได้รับการวิจัยฉัยว่าเป็นโรคทางจิตเวช แต่เรียกได้ว่าเป็นส่วนหนึ่งของโรควิตกกังวลทั่วไป (generalized anxiety disorder) หากอาการนี้รบกวนการใช้ชีวิตประจำวันหรือความสัมพันธ์กับคนรอบข้าง ก็ถือว่าเป็นความผิดปกติที่ควรได้รับการดูแล
คนเรามีความกังวลแต่สามารถทำงานออกมาได้มีประสิทธิภาพได้ยังไง? ซาชา ฮัมดานี (Sasha Hamdani) จิตแพทย์ของสมาคมจิตแพทย์ เมืองแคสซัส กล่าวว่า คนที่มีภาวะวิตกกังวลประเภทนี้ จะสามารถทำงานได้อย่างเต็มที่ และมักจะประสบความสำเร็จด้วย แต่ถึงแม้พวกเขาจะทำงานได้ดี จัดสรรเงินทั้งหมดได้ มีสมดุลชีวิต หรือรักษาความสัมพันธ์กับคนรอบข้างได้ พวกเขาก็ยังคงดิ้นรนกับความรู้สึกหรือความคิดที่กังวลอยู่เงียบๆ
จากการอ้างอิงของสถาบันสุขภาพจิตแห่งชาติ (NIMH) ผู้ใหญ่ 19 เปอร์เซ็นต์ ในสหรัฐอเมริกา มีภาวะวิตกกังวล บางคนคิดว่าพวกเขาเป็นคนประเภทที่ทำงานได้ดี มีประสิทธิภาพ แต่ก็ยังไม่รู้แน่ชัดว่ามีกี่คนกำลังเผชิญกับ high-functioning anxiety อยู่
สาเหตุของการเกิดภาวะกังวลประเภทนี้ อ้างอิงได้จากสาเหตุของโรควิตกกังวลทั่วไป ซึ่งนักวิจัยเชื่อว่าเกิดได้จากทั้งพันธุกรรมและปัจจัยด้านสภาพแวดล้อม เช่น คนในครอบครัวมีประวัติเป็นโรควิตกกังวล เคยประสบกับเหตุการณ์ในชีวิตที่เครียดหรือก่อให้เกิดอารมณ์เชิงลบ มีภาวะสุขภาพร่างกายบางอย่าง เช่น ไทรอยด์ มีการใช้สารเสพติดหรือแอลกอฮอล์ หรือมีอาการประหม่าหรือขี้อายตั้งแต่เด็ก เป็นต้น
ด้วยความที่ภาวะวิตกกังวลมีหลายเฉดและส่งผลกระทบต่อผู้คนในทิศทางที่ต่างกัน จึงไม่ใช่เรื่องแปลกหากความกังวลจะเป็นส่วนหนึ่งของความสำเร็จ หรือแม้แต่คนที่อัธยาศัยดี พูดคุย ยิ้มแย้มกับคนแปลกหน้า ลึกๆ แล้วเขากำลังกังวลอะไรอยู่ก็เป็นได้ แต่ความสำเร็จที่เต็มไปด้วยความกังวล โดยเฉพาะความกังวลล่วงหน้าที่มากจนเกินไปนั้น นอกจากทำให้เราไม่มีความสุขตลอดระยะเวลาของการทำงาน หรือการพบปะผู้คน ในระยะยาวอาจนำไปสู่ผลกระทบที่ร้ายแรงกว่านั้นได้ด้วยนะ
ทำไป กังวลไป
แม้ท้ายที่สุดแล้ว ทุกอย่างจะออกมาราบรื่นตามที่เจ้าตัวหวังไว้ แต่พวกเขารู้ดีว่าก่อนหน้านั้นเกิดอะไรขึ้นกับร่างกายและสภาพจิตใจบ้าง ด้วยความที่ high-functioning anxiety ไม่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรค หรือมีการศึกษาที่เฉพาะเจาะจง แต่ผู้เชี่ยวชาญบางคนก็บอกว่า อาการของคนที่เผชิญกับภาวะกังวลแบบนี้ จะมีลักษณะที่คล้ายกับคนที่เป็นโรควิตกกังวลทั่วไป แต่จะแสดงสัญญาณที่บ่งบอกอาการให้คนอื่นเห็นได้น้อยมาก ซึ่งอาการของคนที่เป็นโรควิตกกังวลทั่วไปมีอะไรบ้าง ลองเช็กไปพร้อมๆ กัน
- วิตกกังวลล่วงหน้าหรือวิตกกังวลมากเกินไป เป็นเกือบทุกวัน อย่างน้อย 6 เดือน
- กลัวความล้มเหลว ความผิดพลาด หรือการถูกตัดสิน
- พักผ่อนน้อยลง
- ยากที่จะโฟกัสต่อสิ่งต่างๆ
- เหนื่อยล้าง่าย
- หงุดหงิดบ่อยๆ
- กล้ามเหนือตึงเรียด
- มีปัญหาการนอนหลับ
ที่จริงแล้วลักษณะอาการของคนที่เป็นโรควิตกกังวลทั่วไปมีรายละเอียดปลีกย่อยที่มากกว่านั้น แต่ถ้าพูดถึงภาวะวิตกกังวลของคนที่มีประสิทธิภาพการทำงานสูง อาการที่กล่าวมาข้างต้นจะเห็นได้ชัดเป็นพิเศษ ซาชากล่าวว่า เธอได้สังเกตและได้ยินคนไข้ของเธอรายงานอาการดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง แต่ในเวลาที่พวกเขายุ่งหรือกังวล พวกเขาจะทำงานได้คล่องแคล่วขึ้นกว่าเดิม จึงทำให้คนที่มีภาวะนี้มองว่าพวกเขาไม่ได้มีปัญหาอะไร ไม่จำเป็นต้องขอความช่วยเหลือก็ได้ และทนอยู่กับความวิตกกังวลนี้เงียบๆ คนเดียวไปเรื่อยๆ
ดูเผินๆ เหมือนว่าภาวะวิตกกังวลประเภทนี้จะมีทั้งข้อดีและข้อเสีย แต่ในขณะที่ข้อดีของมันกำลังทำงานเพื่อช่วยให้เรารับมือกับภาระงานแต่ละวันได้สำเร็จ แต่ข้อดีนั้นก็ไม่สามารถ ‘หักล้าง’ ข้อเสียที่เกิดขึ้นภายในจิตใจได้ นั่นก็คือความทรมานใจที่ต้องมาพะว้าพะวังตลอดเวลา ซึ่งการที่เราเลือกที่จะนำข้อดีของมันมาปกปิดข้อเสียเอาไว้ คิดว่า “ไม่เห็นเป็นไรเลยนี่ อย่างน้อยก็ทำให้เราทำงานได้สำเร็จ” หรือคิดว่าเราจะไม่สามารถประสบความได้ หากไม่มีความกลัวหรือความกังวลร่วมทางไปด้วย หากเป็นแบบนี้ในระยะยาวเราจะรับมือกับภาวะวิตกกังวลได้ยาก เพราะเรามองว่าความรู้สึกนี้ยังมีประโยชน์กับการทำงานของเราอยู่ และอยากเก็บจะเอาไว้ตลอดไป
แต่อย่างที่รู้กันดีว่า การเผชิญกับภาวะวิตกกังวลมากๆ สามารถนำไปเราไปสู่โรคซึมเศร้าได้ จากผลการศึกษาของ STAR*D หรือการทดลองทางคลินิกที่มุ่งหาวิธีการรักษาผู้ป่วยโรคซึมเศร้า พบว่า คนไข้ 53 เปอร์เซ็นต์ ที่ป่วยเป็นโรคซึมเศร้ามีภาวะวิตกกังวลร่วมด้วยอย่างมีนัยสำคัญ และจากพันธมิตรแห่งชาติเพื่ออาการเจ็บป่วยทางจิต (NAMI) ก็ระบุว่า 60 เปอร์เซ็นต์ของผู้ที่มีภาวะวิตกกังวล ก็ลักษณะอาการของโรคซึมเศร้าด้วย
“ความวิตกกังวลในคนที่มีประสิทธิภาพการทำงานสูง มีแนวโน้มที่จะกลายเป็นปัญหาเมื่อมันเริ่มนำไปสู่ภาวะซึมเศร้า ซึ่งจะเป็นตอนที่คนไข้ส่วนใหญ่เริ่มเข้ามาขอความช่วยเหลือ เพราะพวกเขามีปัญหาในการเข้านอนหรือตื่นนอน หมดความสนใจที่จะทำในสิ่งที่ชอบ หรือรู้สึกว่าชีวิตนั้นผ่านไปอย่างไม่คุ้มค่า” ซาชากล่าว
ความกังวลนี้ มีอยู่จริงหรือเปล่า?
อย่างที่บอกว่าความวิตกกังวลเป็นเหมือนดาบสองคม คมหนึ่งคือการทำให้เรากล้าๆ กลัวๆ ที่จะลงมือทำ แต่หากเราเรียนรู้ที่จะใช้ให้เกิดประโยชน์ อีกคมหนึ่งจะช่วยเราให้รู้จักหยุดเพื่อประเมินความเสี่ยง หรือระมัดระวังความผิดพลาดก่อนที่จะลงมือทำอะไรมากขึ้น
แต่ไม่ใช่เรื่องง่ายเลยที่เราจะรับมือหรือจัดการความกังวลได้ดี ลำพังการจะจับสังเกตว่าตัวเองกำลังกังวลก็ยากแล้ว ซึ่งตัวช่วยนั้นอยู่ไม่ไกลและหาได้ไม่ยาก เชื่อว่าทุกคนมีสมุดจดอยู่ข้างตัวกันอยู่แล้ว ลองหยิบมันขึ้นมาจดความคิดต่างๆ ที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะก่อนหรือหลังทำอะไรก็ตาม แล้วจะพบว่าความกังวลบางอย่างเป็นเพียงแค่การคาดเดาในสิ่งที่แย่เอาไว้ก่อน เช่น ถ้าฉันทำไม่ทันเดดไลน์ล่ะ ถ้าเขาไม่ชอบฉันล่ะ เขาต้องไม่ชอบฉันแน่เลย หรือถ้าฉันทำอะไรน่าอายตอนพรีเซนต์งานล่ะ
เมื่อเราเห็นความกังวลของเราชัดขึ้น ค่อยๆ หาหลักฐานการมีอยู่ของมัน เช่น เหลือเวลาเยอะขนาดนี้ เราจะทำไม่ทันจริงๆ หรอ หรือการที่เขาเผลอหัวเราะออกมา นั่นแปลว่าเราทำสิ่งที่น่าอายจริงๆ หรือเปล่า หากไม่เป็นความจริง เราก็ค่อยๆ ตัดความกังวลนั้นออกไปทีละข้อ หรือไม่ก็ลองทบทวนเหตุการณ์เก่าๆ ที่เราเคยประสบความสำเร็จดูก็ได้ว่า ตอนนั้นที่เรากังวลไปสารพัดอย่าง มีกี่อย่างที่เกิดขึ้นจริง หรือสุดท้ายแล้วมันก็ไม่ได้เกิดอะไรที่ไม่ดีขึ้นนี่นา แต่ในที่นี้ก็ไม่ได้หมายความว่าเราจะต้องปล่อยเบลอ ทำอะไรแบบไม่มีความระมัดระวังอะไรนะ เพียงแค่ต้องทบทวนดูว่าความกังวลไหนที่ฉุดรั้งเราไว้แบบไม่มีเหตุผลมากที่สุด แล้วพยายามตัดมันทิ้งไป เพื่อให้เดินทางต่อได้ง่ายขึ้น
ระหว่างนั้นก็ลองสังเกตดูว่าความกังวลของเรากระทบความสัมพันธ์ของคนรอบข้าง ความภาคภูมิใจในตัวเอง (self-esteem) หรือสุขภาพของเรายังไงบ้าง หากมีผลกระทบในเชิงลบ อาจจะถึงเวลาแล้วที่ต้องตั้งคำถามกับความวิตกกังวลนั้นใหม่ และขอความช่วยเหลือจากคนรอบข้าง
การดูแลตัวเองขั้นพื้นฐานก็เป็นเรื่องสำคัญนะ เรามักจะเผลอมองข้าม self-care ไปบ่อยๆ เช่น การนอนหลับให้เต็มที่ การออกกำลังกายอย่างพอเหมาะ การรับประทานอาหารที่มีประโยชน์บ่อยๆ หรือการทำงานอดิเรกที่ผ่อนคลาย แต่อะไรง่ายๆ เหล่านี้แหละที่ช่วยปรับสมดุลร่างกายและสารสื่อประสาทในสมองของเราอย่าง ‘เซโรโทนิน’ ได้ดี เพราะหากสารสื่อประสาทนี้ทำงานบกพร่อง ก็จะทำให้เราหุนหันพลันแล่นหรือเกิดอารมณ์เชิงลบได้ง่าย
แต่หากต้องการความช่วยเหลือที่มีประสิทธิภาพจากผู้เชี่ยวชาญ ก็สามารถเข้าพบจิตแพทย์ เพื่อปรึกษาหรือขอรับยา หากมีการวินิจฉันว่าสาเหตุของความวิตกกังวลเกิดจากการทำงานบกพร่องของสารสื่อประสาทเซโรโทนิน หรือเข้ารับการบำบัดทางจิตใจด้วยวิธีการพูดคุย เพื่อปรับรูปแบบความคิดและพฤติกรรม หรือที่ว่า cognitive behavioral therapy (CBT) ก็ได้เช่นกัน เพราะนักจิตบำบัดจะช่วยให้เราเข้าใจที่มาของความวิตกกังวล และรับมือกับมันได้ดีขึ้น
ภาวะวิตกกังวลเหมือนกับการขับรถ โดยที่เท้าเราคอยเหยียบเบรคอยู่ตลอดเวลา แม้ว่าถนนจะโล่งแค่ไหนก็ตาม ซึ่งท้ายที่สุดแล้วเราก็คงไปถึงเป้าหมายแหละ แต่ระหว่างทางอาจจะยากลำบากไปหน่อย หากตั้งสติแล้วเช็คจนแน่ใจว่าทางข้างหน้าสะดวกปลอดภัยดี บางทีก็ค่อยๆ ปล่อยเบรคนั้นดูก็ได้นะ
อ้างอิงข้อมูลจาก