“ช่วยไม่ได้ ก็โชคร้ายเองนี่นา”
เวลาเกิดความผิดพลาดหรือเหตุการณ์แย่ๆ เช่น ลืมกุญแจเอาไว้ในรถ หรือกาแฟที่เพิ่งซื้อมาหกเลอะเทอะเต็มเสื้อ หลายครั้งการหาคนมารับผิดชอบเป็นเรื่องที่ยุ่งยากและน่าลำบากใจ เพราะแม้แต่ตัวเราเองก็ไม่อยากที่จะเป็นคนผิด หรือกลัวว่าหากขุดต้นตอไปเรื่อยๆ จะพบว่าตัวเราเองนี่แหละที่เป็นคนก่อปัญหานี้ขึ้นมา นับว่าเป็นความรู้สึกที่ไม่สบายใจเอาเสียเลย
เมื่อเทียบกับการผลักเหตุผลทุกอย่างไปให้ ‘โชค’ หรือ ‘ดวง’ ดูเหมือนจะเป็นเรื่องที่ง่ายและสบายใจกว่ามาก เพราะเหตุการณ์ที่ถูกอ้างว่ามีสาเหตุมาจากโชคหรือดวง เรามักจะถือว่าเหตุการณ์นั้น ‘อยู่เหนือการควบคุม’ โดยเราจะได้ไม่ต้องรับผิดชอบอะไร เพียงแค่ให้เหตุผลว่า “คงเป็นเพราะโชคร้ายแหละ” หรือ “วันนี้คงไม่ใช่วันของเราแน่ๆ” เท่านี้ก็ถือว่าจบเรื่องได้แบบง่ายๆ แล้ว
แต่ความจริงก็คือ ลึกๆ ที่เรารู้สึกสบายใจ เป็นเพราะเราได้ ‘หลีกหนี’ ความจริงบางอย่างที่ยากจะเผชิญหน้าหรือยอมรับ เช่น ที่กาแฟหกเป็นเพราะเราประมาท ที่เราสอบตกเพราะเราขี้เกียจอ่านหนังสือ หรือที่กุญแจเข้าไปอยู่ในรถก็เพราะเราขี้ลืมเอง แต่พอรู้ว่าเราเป็นต้นตอของปัญหาทั้งหมด ก็รู้สึกอยากจะร้องไห้ขึ้นมาเลย เพราะวันนั้นนับว่าวันเป็นที่แย่มากพอแล้ว คงไม่มีใครอยากตอกย้ำซ้ำเติมตัวเองมากกว่านี้ด้วยการแบกรับความผิดทั้งหมด ทำให้การบอกตัวเองว่าโชคร้ายกลายเป็นวิธีปลอบใจได้ดีที่สุด
เหตุการณ์ที่ถูกอ้างว่ามีสาเหตุมาจากโชคหรือดวง
เรามักจะถือว่าเหตุการณ์นั้น ‘อยู่เหนือการควบคุม’
โดยเราจะได้ไม่ต้องรับผิดชอบอะไร
โชคร้ายซ้ำๆ หรือเพราะย่ำอยู่ที่เดิม?
มีความคาบเกี่ยวกันบางอย่างระหว่างโชคร้ายซ้ำๆ กับการเลือกทำอะไรแบบเดิมๆ เคยสังเกตไหมว่าทำไมเราถึงลงเอยกับแฟนนิสัยเจ้าชู้อยู่เรื่อย หรือวันนี้เราโดนเจ้านายสั่งให้ทำงานนอกเวลาอีกแล้ว แต่ก่อนที่จะพูดว่า “โชคร้ายชะมัด!” ลองสังเกตต่ออีกนิดว่า การตัดสินใจแบบไหนของเราที่ทำให้วกกลับมาเจอเหตุการณ์แย่ๆ เหล่านี้ซ้ำๆ ซากๆ
ริชาร์ด ไวซ์แมน (Richard Wiseman) ศาสตราจารย์ด้านจิตวิทยาและผู้เขียน The Luck Factor กล่าวว่า คนที่โชคดีมักจะพยายามหา ‘ความหลากหลาย’ ให้กับชีวิตของตัวเอง พวกเขาจะอยู่ในสถานการณ์ที่สามารถใช้ประโยชน์จากโอกาสนั้น และเพิ่มโอกาสให้กับตัวเองมากขึ้น ด้วยการไปอยู่ในสถานการณ์ที่ไม่คาดคิดมาก่อน โดยริชาร์ดได้ทำการทดลองหนึ่ง ซึ่งพบว่า คนที่มีบุคลิกภาพแบบเอ็กซ์โทรเวิร์ตได้คะแนนความโชคดีในระดับที่สูง เนื่องจากพวกเขาพบปะผู้คนใหม่ๆ ไปยังที่ใหม่ๆ มีการติดต่อสื่อสารที่มากกว่า และเลือกที่จะคงความสัมพันธ์มากกว่า ในขณะที่คนที่มีภาวะวิตกกังวลจะใช้เวลาไปกับการโฟกัสบางอย่าง จนมองไม่เห็นโอกาสอื่นๆ ที่เข้ามา
หรืออีกการทดลองหนึ่ง ริชาร์ดให้ผู้เข้าร่วมนับรูปภาพในหนังสือพิมพ์ว่าทั้งหมดมีกี่รูป ซึ่งคนที่ระบุว่าเป็นคนโชคร้าย ใช้เวลานับอยู่ประมาณ 2 นาที ในขณะที่คนที่ระบุว่าโชคดี ใช้เวลาไปเพียงแค่ไม่กี่วินาที เนื่องจากหน้าที่ 2 ระบุไว้ว่า “เลิกนับได้แล้ว ทั้งหมดมี 43 รูป” ซึ่งคนที่ระบุว่าตัวเองโชคร้ายมีแนวโน้มที่จะมองข้าม ในขณะที่คนที่ระบุว่าโชคดีมีแนวโน้มที่จะหยุดและสังเกตมากกว่า
จากการทดลองของริชาร์ดหมายความได้ว่า การเปิดโอกาสให้ตัวเองได้เจอสิ่งใหม่ๆ อาจทำให้คนเราหลุดออกจากโชคร้ายที่เหมือนคำสาปคอยพันธนาการ เช่น การไปหาแฟนในสภาพแวดล้อมแบบใหม่ อาจทำให้ไม่ลงเอยกับแฟนนิสัยเดิมๆ หรือลองย้ายงานดูก็จะรู้ว่าการทำงานนอกเวลาไม่ใช่เรื่องปกติ เพราะบางครั้งเรื่องแย่ๆ เกิดขึ้นได้จากการตัดสินใจที่ผิดพลาด ซึ่งเราไม่สามารถคาดการณ์ได้ล่วงหน้าเสมอไป ฉะนั้น ไม่มีประโยชน์อะไรเลยหากเราจะทุบตีตัวเองด้วยการทนติดอยู่กับการตัดสินใจนั้นต่อไปเรื่อยๆ
เช่นเดียวกับ ไมค์ ไวเทเกอร์ (Mike Whitaker) ผู้เขียน The Decision Makeover: An Intentional Approach to Living the Life You Want ที่มองว่าการเปลี่ยนเส้นทางหรือวางแผนทุกอย่างใหม่อาจเป็นคำตอบ เขากล่าวว่า คนที่ประสบความสำเร็จจะรีบตัดการตัดสินใจที่ไม่ดีทิ้งไปอย่างรวดเร็ว เริ่มต้นใหม่ และพยายามไม่หันกลับไปมอง ในขณะที่คนส่วนใหญ่ไม่กล้าทำ เพราะรู้สึกว่าเป็นเรื่องที่เจ็บปวด
แน่นอนว่าโชคร้ายมักจะนำความรู้สึกแย่ๆ มาให้ แต่ลองใช้เวลากับมันสักพัก เพื่อการทบทวนความผิดพลาดหรือการตัดสินใจที่ผ่านมาของตัวเองให้ดี แล้วเราจะมองเห็นหนทางใหม่ๆ ที่ไม่พาเรากลับไปยังโชคร้ายซ้ำๆ เพราะไม่ใช่ทุกอย่างที่เกิดขึ้นจากปัจจัยภายนอกเสมอไป และโชคดีอาจเกิดขึ้นจากการตัดสินใจของเราเองก็เป็นได้
อ้างโชคมากไปอาจทำให้มองข้ามที่มาของเหตุการณ์
แม้การอ้างดวงหรือโชคชะตาจะสร้างความสบายใจให้กับตัวบุคคล แต่ทุกเหตุการณ์ที่อ้างเหตุผลเหล่านี้ ไม่ได้นำมาสู่ผลลัพธ์ที่ดีเสมอไป โดยเฉพาะเรื่องที่เรามีส่วนต้องรับผิดชอบหรือแก้ไขปัญหานั้น เช่น เราตื่นสายจนมาพรีเซนต์งานกลุ่มไม่ทัน แล้วอ้างว่าโชคไม่ดี ดันเจอรถติดเฉยเลย นั่นก็เพราะเราต้องการปัดความผิดนั้นออกจากตัวเอง แต่ทุกครั้งที่สงสัยว่าเราโชคร้ายบ่อยจัง ลองถามตัวเองดูซ้ำๆ ว่า ต้นตอของเรื่องที่เกิดขึ้นเป็นเพราะปัจจัยภายนอกที่เราควบคุมไม่ได้จริงๆ หรือเป็นเพราะปัจจัยภายในที่เราไม่ยอมสละเวลาไปแก้ไขกันแน่นะ?
ทุกครั้งที่สงสัยว่าเราโชคร้ายบ่อยจัง ลองถามตัวเองดูว่า
ต้นตอของเรื่องที่เกิดขึ้นเป็นเพราะปัจจัยภายนอกที่เราควบคุมไม่ได้จริงๆ
หรือเป็นเพราะปัจจัยภายในที่เราไม่ยอมสละเวลาไปแก้ไขกันแน่นะ?
คล้ายกับอคติที่เรียกว่า self-serving bias หรือที่สำนวนไทยบอกว่า ‘เอาดีเข้าตัว เอาชั่วเข้าคนอื่น’ ซึ่งก็คือการมองว่าเราไม่มีส่วนเกี่ยวข้องใดๆ กับความผิดพลาดที่เกิดขึ้น ขณะเดียวกันกลับโทษทุกอย่างที่เป็นปัจจัยภายนอก (external factors) ไม่ว่าจะเป็นบุคคลอื่นหรือโชคชะตา แต่หากเราโยนความผิดไปให้ปัจจัยดังกล่าว ก็จะทำให้เรายากที่จะมองเห็นข้อบกพร่องของตัวเอง และละเลยความรับผิดชอบไป ซึ่งส่งผลเสียต่อตัวเราเองและบุคคลอื่นด้วย (อ่านเพิ่มเติมได้ที่: สำเร็จเป็นของฉัน แต่ผิดพลาดนั้นไม่ใช่ : ‘self-serving’ อคติจากการคิดเข้าข้างตัวเอง)
แต่ไม่ใช่แค่การอ้างโชคร้ายเท่านั้นที่อาจเป็นปัญหา เพราะเวลาเจออะไรดีๆ หรือประสบความสำเร็จบางอย่าง เรามักจะเผลอให้เครดิตความโชคดีมากกว่า และลดทอนความพยายามของตัวเองลง เช่น สอบผ่านก็คิดว่าแค่โชคดีเฉยๆ ทั้งที่เมื่อคืนอ่านอย่างเอาเป็นเอาตาย หรือลูกค้าชมว่าไอเดียของเราดีมาก ก็มองว่าโชคดีจังเลยที่ได้เจอลูกค้าใจดี ทั้งที่เราตั้งใจคิดไอเดียนี้ทั้งวันทั้งคืน
ทั้งนี้ อาจเป็นเพราะวัฒนธรรม ‘อ่อนน้อมถ่อมตน’ ที่ทำให้เราไม่กล้าอวดอ้างความพยายามของตัวเองมากนัก แทนที่จะบอกไปว่า “ฉันเองก็เก่งนะเนี่ย” กลายเป็นบอกว่า “อ๋อ เพราะดวงดีเฉยๆ น่ะ” จนในที่สุดก็ทำให้เรากลายเป็นคนไม่มั่นใจในฝีมือตัวเอง ไม่เชื่อว่าความสำเร็จหรือเหตุการณ์ดีๆ ที่เกิดขึ้นเป็นเพราะการกระทำของเรา ไปจนถึงเผลอตัดสินว่าความสำเร็จของคนอื่นก็มาจากโชคดีเหมือนกัน ทั้งที่เขาก็พยายามอย่างหนักไม่ต่างจากเรา
โชคดีอาจเป็นเพียงทัศนคติเชิงบวก
อย่าลืมที่จะขอบคุณการกระทำของตัวเองด้วย
นอกจากนี้ การมองทุกอย่างเป็นเรื่องของโชค อาจทำให้เราลืมมองให้ลึกลงไปถึงปัญหาเชิงโครงสร้าง ดังจะเห็นได้จากข่าวอุบัติเหตุต่างๆ เช่น คนขับรถตกหลุมถนนจนเสียชีวิต หรือคนขับรถตกน้ำเพราะไม่มีขอบกั้นถนน หลายคนอาจบอกว่าเป็นเพราะเขาโชคไม่ดี ทำบุญมาน้อย ชะตาขาด แต่สิ่งที่ควรถูกนำมาพูดถึงจริงๆ ก็คือการดูแลซ่อมแซมของหน่วยงานภาครัฐ เพราะหากไม่มีหลุมบนถนนนั้น หรือมีการสร้างที่กั้นถนนขึ้นมาอย่างปลอดภัยตั้งแต่แรก อุบัติเหตุที่น่าเศร้าก็คงไม่เกิดขึ้น หรือแม้แต่การถกเถียงกันเรื่องความยากจนในสังคม คนจนจนเพราะพฤติกรรม? คนจนจนเพราะโชคไม่ดี? หรือปัญหาอาจอยู่ที่ความเหลื่อมล้ำและสวัสดิการที่ไม่เท่าเทียมหรือเปล่า? ซึ่งเราอาจจะต้องกลับมาโฟกัสต้นตอของปัญหาใหม่อีกที
การเชื่อเรื่องโชคดีโชคร้ายเพื่อไม่ใช่เรื่องผิด ทว่า บางเหตุการณ์ การยอมรับว่าเราเองก็มีส่วนผิด แต่อย่าลืมให้อภัยและโอกาสแก่ตัวเอง เพื่อปรับปรุงแก้ไขความผิดพลาดนั้น และบางเหตุการณ์ การยอมรับว่าตัวเองเป็นคนที่ทำให้เกิดความสำเร็จบ้าง ก็ไม่ใช่เรื่องเสียหายอะไร เพราะความพยายามอย่างหนักของเรา สมควรได้รับเครดิตนั้นจริงๆ
อ้างอิงข้อมูลจาก
Illustration by Kodchakorn Thammachart