ธี่หยด นอกจากจะมีตัวเรื่องน่าสนใจแล้ว ยังนับเป็นผลผลิตของกิจกรรมและความหลงใหลเรื่องผีในสังคมไทย คือเป็นเรื่องที่มาจากกิจกรรมการเล่าเรื่องผี ซึ่งเป็นกิจกรรมเก่าแก่ที่เราเล่ากันในชุมชนที่ค่อยๆ ใหญ่ขึ้น จากการเล่ากันปากต่อปากในหมู่คนใกล้ตัว จนกลายเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนคนเล่าเรื่องผีในโลกออนไลน์
ทำไมการเล่าเรื่องผีถึงสำคัญ? ทำไมเราถึงชอบเล่าและชอบฟังเรื่องผีๆ? การล้อมวงเล่าเรื่องผีเป็นกิจกรรมที่เราพบได้แทบจะในทุกวัฒนธรรม หลายที่มีลักษณะเกือบจะเป็นพิธีกรรม โดยเรื่องผีเล่าได้ทั้งในหน้าร้อนที่อบอ้าว หรือในหน้าหนาวใกล้วันคริสต์มาสต์เองก็มีประเพณีการเล่าเรื่องผี และเมื่อโลกเปลี่ยนรูปแบบการสื่อสาร ในพื้นที่ชุมชนที่เราอาจนิยามเป็นชุมชนในจินตนาการ ไม่ว่าจะเป็นวิทยุหรือเว็บบอร์ดในโลกออนไลน์ สุดท้ายชุมชนเหล่านั้นก็เกิดการรวมกลุ่มของคนที่ชอบเรื่องผีมากขึ้น เป็นที่ๆ เราเฝ้าฟังและรู้สึกหวาดกลัวไปด้วยกัน จนเป็นชุมชนของคนเป็นที่เชื่อมโยงเข้าหากันด้วยเรื่องราวของโลกที่เรามองไม่เห็น
ในโอกาสส่งท้ายเทศกาลฮาโลวีน หรือในวันที่เรื่องผีซึ่งเคยเป็นเรื่องเล่าจากทางบ้าน ได้กลายเป็นหนังทำเงินและน่าจะมีจักรวาลอันใหญ่โตของตัวเองต่อไป และในวันที่วิทยุเรื่องผีเป็นหนึ่งในพื้นที่ที่มีผู้ฟังมากเป็นอันดับต้นๆ ต่อเนื่องจากยุควิทยุและรายการสยองขวัญ The MATTER จึงถือโอกาสนี้ชวนย้อนดูกิจกรรมและวัฒนธรรมของการเล่าเรื่องผี จากยุคชุมชนคนใกล้ตัว ถึงยุคชุมชนในจินตนกรรม ท่ีเรามีเทคโนโลยีเป็นพื้นที่ที่พาเราเข้าสู่ทะเลของเรื่องหลอกหลอนที่ไม่รู้จบ
เรื่องผี คือปลายทางของมนุษย์เรา
ทำไมเราถึงชอบเรื่องผีในระดับเรื่องเล่า? เรื่องผีเองดูจะมีความหมายลึกซึ้งต่อความเป็นมนุษย์ ในมิติที่ว่าเราตายและกลายเป็นผีได้ในท้ายที่สุด การที่เราเล่าเรื่องผีและเรื่องเหนือธรรมชาติ จึงอาจสัมพันธ์กับการนึกถึงปลายทางหรือความเป็นไปในโลกหลังความตาย นักวิชาการด้านมนุษยศาสตร์ เช่น เอดดี้ ไวท์ (Eddy White) จากภาควิชามนุษยศาสตร์ประยุกต์ มหาวิทยาลัยแอริโซนาสเตต ชี้ให้เห็นว่าการที่เราชอบหรือเชื่อเรื่องผี จะทำให้เรามีปลายทางที่แน่นอนในโลกของคนเป็นที่โลกไม่แน่นอน
ทีนี้การเล่าเรื่องผีที่เป็นการสร้างความเชื่อมโยงของเรากับโลกใบนี้ ไวท์ยังอธิบายว่าในโลกของวิทยาศาสตร์ เราค่อยๆ ตัวเล็กลง ลดความสลักสำคัญลง แต่การเล่าถึงเรื่องผีนั้น มนุษย์กลับกลายเป็นประธานของเรื่อง และในกระแสความเชื่อเรื่องผีที่อาจเชื่อกันมากขึ้นทั้งๆ ที่ความเชื่อทางศาสนาอาจลดลง เขาก็ได้อธิบายไว้อย่างน่าสนใจว่า ปรากฏการณ์ 2 อย่างนี้สัมพันธ์กัน คือคนรุ่นใหม่เชื่อในศาสนาน้อยลงจริง แต่ก็ยังอยากได้คำตอบและความหมายของชีวิต ดังนั้นพื้นที่อย่างเรื่องลี้ลับ โหราศาสตร์ ความเชื่อมูเตลูต่างๆ ก็เลยยิ่งมีบทบาทในการช่วยตอบคำถามสำคัญของมนุษย์เราต่อไป
นอกจากมิติของการเล่าเรื่องผี นักวิชาการ เช่น ผู้เชี่ยวชาญด้านวรรณกรรมโกธิก ก็ให้คำอธิบายว่าทำไมเราถึงชอบฟังเรื่องหลอนๆ ซึ่งอย่างแรกเลยคือในการฟังเรื่องผี เรารู้ดีว่าผู้ฟังอยู่ในพื้นที่หรือสถานะที่ปลอดภัย และการที่รู้สึกปลอดภัยแล้วถูกกระตุ้นด้วยความกลัว ทำให้ร่างกายหลั่งสารแห่งความสุขออกมา
การถูกทำให้กลัวหรือตกใจ โดยที่สุดท้ายแล้วเราแน่ใจได้ว่าเราไม่มีปัญหาอะไรเลย จึงเป็นพื้นฐานความสนุกอย่างหนึ่ง
การล้อมวงเล่าเรื่องผีเองก็ดูจะเข้าข่ายว่าเป็นความสนุกดังกล่าว เรื่องผีที่ถูกเล่าซ้ำ เป็นเหมือนตัวแทนว่าเรื่องเหล่านั้นได้เกิดขึ้น และน่าจะจบลงไปแล้ว สิ่งที่เราฟังอยู่เป็นเพียงเหตุการณ์ในอดีตเท่านั้น โดยนอกจากความสนุกแล้ว การเล่าเรื่องผียังเป็นการสร้างความสัมพันธ์ของผู้คนได้ และหลายครั้งเรื่องผีก็เป็นสิ่งที่แทบจะไร้กาลเวลา หรือสัมพันธ์กับบริบททางวัฒนธรรมด้วยในบางครั้ง
เล่าเรื่องผีในฤดูหนาวก็ได้ หรือในฤดูร้อนก็ดี
หนึ่งในปรากฏการณ์น่าสนใจ คือการเกิดประเพณีการเล่าเรื่องผีในช่วงวันคริสต์มาสต์ ซึ่งสัมพันธ์กับหลายมิติความเปลี่ยนแปลงทางสังคม อย่างแรกคือการเฟื่องฟูของกิจการหนังสือที่ขายในวันคริสมาสต์ หนึ่งในเรื่องที่ถูกทำมาขายและคนชอบก็คือเรื่องผีๆ โดยในยุควิคตอเรียนถือเป็นยุคที่คนเข้ามาทำงานในเมือง บางส่วนเริ่มรู้เรื่องหนังสือ บางส่วนยังไม่รู้มากนัก ช่วงวันคริสต์มาสต์ที่หนาวเหน็บ ผู้คนจึงจะได้กลับมารวมตัว
ในการรวมตัวนั้นก็จะมีกิจกรรมในการอ่านหนังสือ หรือเล่าเรื่องจากหนังสือร่วมกัน เรื่องผีก็เป็นหนึ่งในหนังสือที่สนุกเหมาะกับหน้าหนาว ในการพิมพ์หนังสือยุคแรกๆ เรื่องผีโดยเฉพาะตำนานผีพื้นบ้าน กลายเป็นหนังสือยอดนิยม หากลองนึกภาพแรงงานเข้ามาทำงานในเมืองใหญ่ เมื่อได้กลับมารวมตัวกัน การเล่าถึงนิทานท้องถิ่นต่างๆ ก็เป็นทั้งความสนุก และเป็นการบรรเทาความคิดถึงบ้านทางหนึ่ง ในโลกตะวันตกอย่างยุควิคตอเรียนของอังกฤษ นักเขียนและกวีจึงมักพูดถึงกิจกรรมในฤดูหนาวที่โยงเข้ากับการเล่าเรื่องผีด้วยกัน
ในทางกลับกัน เรื่องผีก็ดูจะเหมาะกับฤดูร้อนด้วย เช่น ประเพณีการเล่าเรื่องผีในเทศกาลโอบ้งของญี่ปุ่น เป็นประเพณีที่น่าจะสืบต่อกันมานับร้อยปีด้วยว่าน่าจะเชื่อมโยงกับความเชื่อเรื่องร้อยเรื่องเล่า หรือเรื่องผีปีศาจหนึ่งร้อยตน เทศกาลโอบ้งจะจัดในช่วงกรกฎาคมหรือสิงหาคมแล้วแต่ภูมิภาค ซึ่งเป็นช่วงกลางฤดูร้อน และเทศกาลนี้ก็คล้ายกับเชงเม้ง เพราะเป็นวันที่วิญญาณจะย้อนกลับมา คนเป็นจะรอต้อนรับและเตรียมของเซ่นไหว้
ตำนานและประเพณีของญี่ปุ่นก็ดูน่ากลัวเหมือนกัน เพราะเชื่อเรื่องการเล่าเรื่องผีหนึ่งร้อยเรื่อง โดยผู้เข้าร่วมจะอยู่ในห้องเดียวกัน และจุดเทียนหนึ่งร้อยเล่มไว้ หลังจากจุดครบแล้วแต่ละคนจะสลับกันเล่าเรื่องผีและดับเทียนลงทีละเล่ม เมื่อถึงเล่มสุดท้ายก็เชื่อกันว่า เรื่องผีเรื่องที่หนึ่งร้อยจะกลายเป็นเรื่องจริงขึ้นมา
เงื่อนไขตรงนี้ทำให้เรารู้สึกขนหัวลุก และขัดแย้งกับกฎความสนุกของเรื่องผี ที่ว่าเราจะสนุกกับเรื่องผีได้ถ้ามันเป็นแค่เรื่องเล่า ถ้าเรื่องสุดท้ายเป็นเรื่องจริงขึ้นมาก็น่าจะต้องตัวใครตัวมัน แต่ถ้าเราดูอีกแง่หนึ่งคือ เรื่องผีร้อยเรื่องก็ดูเป็นงานที่ไม่ได้ทำกันได้ง่ายๆ และน่าจะต้องใช้ความพยายามอย่างมาก ไม่น่าจะเป็นสิ่งที่เราตั้งใจเล่าให้ครบหนึ่งร้อยได้ไหว แต่อีกด้านหนึ่งจึงเป็นเหมือนวาทศิลป์ว่า ถ้าไม่ได้เล่าเรื่องผีตามพิธี เรื่องเหล่านั้นก็จะยังคงเป็นแค่เรื่องเล่าที่เล่าให้ผู้คนกลัวกันกลางฤดูร้อนไปเท่านั้น
และถ้าเราดู 2 ธรรมเนียมการเล่าเรื่องผีข้างต้น ก็อนุมานได้ว่า ถ้าเราจะเล่าเรื่องผี ไม่ว่าจะเป็นฤดูไหนก็เล่าได้อย่างสนุกทั้งนั้น นอกจากความสนุกแล้ว ยังมีข้อสังเกตเรื่องพลังของเรื่องผีในอีกหลายแง่ เช่น การเล่าเรื่องผีในเด็กๆ อาจเกี่ยวข้องกับความกล้า การเรียนรู้ความหลากหลาย การเพิ่มความเข้าใจในมนุษย์คนอื่นๆ ความสงสาร บ้างก็พูดถึงพลังของเรื่องผีที่สัมพันธ์กับประวัติศาสตร์ และเป็นการปกป้องดูแลพื้นที่ที่เป็นมรดกต่างๆ
ชุมชนคนกลัวผี ชุมชนจินตกรรมกับวิทยุและโลกออนไลน์
จากข้อสังเกตเบื้องต้นเรื่องการล้อมวงเล่าเรื่องผี เราอาจพูดได้ว่า การเล่าเรื่องผีด้วยกันเป็นการสร้างความสัมพันธ์ สร้างชุมชนขึ้นมารูปแบบหนึ่ง เมื่อโลกก้าวไปจนถึงการเปลี่ยนรูปแบบการสื่อสาร ด้วยเทคโนโลยีทำให้เราเชื่อมต่อกันในมิติที่เรียกว่า ‘มิติเชิงจินตกรรม’ ตามนิยามของอาจารย์เบน แอนเดอร์สัน (Benedict Anderson)
คำว่าการเชื่อมต่อกันในมิติจินตนาการ (Imagined Community) เป็นคำอธิบายสำคัญของอาจารย์เบนที่พูดถึงเรื่องความเป็นชาติ โดยใช้เทคโนโลยีในการเชื่อมโยงผู้คนเข้าหากันในมิติเชิงจินตกรรม คือเรารู้สึกว่าเราเป็นคนในพื้นที่เดียวกัน ชาติเดียวกัน นอกจากชาติกำเนิดและการอยู่ในขอบเขตประเทศเดียวกันแล้ว การมาถึงของสื่ออย่างหนังสือพิมพ์และวิทยุ ยังเป็นตัวกลางสำคัญที่ทำให้เรายึดโยงเข้าหากัน เช่น เราอ่านเรื่องราวชุดเดียวกัน ใช้มาตรฐานภาษาเดียวกัน และมองเห็นโลกไปในทางเดียวกัน
ในแง่วิทยุ นอกจากที่อาจารย์เบนพูดถึง ก็มีงานวิจัยต่อเนื่องอื่นๆ เช่น Radio and the Imagined Community ของมิเชลล์ ฮิลเมส (Michele Hilmes) ก็พูดถึงบทบาทของวิทยุในการเป็นชุมชน ซึ่งแน่นอนว่าวิทยุเป็นพื้นที่สำคัญที่เป็นตัวแทนของความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน และการเชื่อมต่อเข้าหากัน โดยเฉพาะวิทยุที่กระจายเสียงในระดับชาติ ไม่ว่าจะอยู่ภาคไหนหรือส่วนไหนของพื้นที่ก็เชื่อมต่อเข้ากันได้
ทีนี้สำหรับวิทยุเอง ตัวกิจการวิทยุก็มีการขยายตัวของตัวเอง เป็นการเปิดชุมชนที่เฉพาะตัวมากขึ้น เริ่มรายการสำหรับผู้สนใจพิเศษ ชุมชนคนรักเรื่องผีเองก็มีหมุดหมายสำคัญ เช่น การเกิดขึ้นของ The Shock ในปี 2535 รายการสร้างชื่อของพี่ป๋อง—กพล ทองพลับ เจ้าพ่อเรื่องผี และรายการเรื่องผีจากทางบ้าน
ความน่าสนใจของชุมชนเรื่องผีนี้ อย่างแรกคือเป็นการรวมตัวกันของคนชอบเรื่องผี และอีกด้านคือเป็นพื้นที่รับฟังเรื่องผี หรือเรื่องลี้ลับจากทางบ้าน เสียงและเรื่องราวต่างๆ ถูกเล่ามาจากแทบทุกพื้นที่ของประเทศ แต่ในความหลากหลายทางพื้นที่นั้น ผู้ฟังในฐานะคนไทยก็พอจะจับความรู้สึก จับรายละเอียด และจับลักษณะบางอย่างที่เป็นประสบการณ์ร่วมในการเล่าเรื่องนั้นๆ ได้
การเป็นเรื่องเล่าประสบการณ์ตรงในฐานะของเรื่องจริง หรือประสบการณ์จริง จึงเป็นรูปแบบชุมชนที่น่าสนใจ นอกจากการฟังเฉยๆ ด้วยความสนใจส่วนตัวแล้ว พื้นที่หรือชุมชนจินตกรรมในพื้นที่ของการเล่าเรื่องผีของเรา ส่วนหนึ่งจึงเป็นการเชื่อมโยงเชิงประสบการณ์ด้วย เพราะผู้ฟังหลายๆ คนจะเริ่มพบว่า เราเคยเจอเรื่องนี้ หรือกระทั่งเราเคยไปสถานที่นี้ ซึ่งเป็นประสบการณ์การเจอผีในทำนองเดียวกัน
ในความเป็นชุมชน เบื้องต้นเริ่มจากความบันเทิง ฟังเอาสนุก ฟังไปเรื่อยๆ เริ่มอยากเล่าบ้าง จากการแชร์ประสบการณ์ หลายครั้งอาจขยายไปสู่แนวทางการป้องกันและแก้ปัญหา เช่น ในที่สุดแล้วเราจะรอดพ้นจากการหลอกหลอนนั้นได้ยังไง หรือสภาพที่อยู่ โรงแรม บ้านเรือน ผู้คน หรือพื้นที่แบบไหนที่ควรหลีกเลี่ยง คาถา อาคม หรือเครื่องรางจากที่ไหนที่จะช่วยให้เราต่อกรและแก้ปัญหาได้บ้าง
จากวิทยุ ชุมชนจินตกรรม หรือพื้นที่ที่เราเชื่อมต่อเข้าหากันผ่านเรื่องเล่าหรือความสนใจร่วมกัน ในที่นี้คือเรื่องผี สุดยอดเรื่องเล่าและประสบการณ์ที่เราเองไม่อยากเจอ แต่อยากรู้และหาคำตอบมานับพันปี สื่อกลางที่เป็นพื้นที่ในเรื่องเล่าของเราก็เปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ จากวิทยุที่นั่งฟังสดๆ เริ่มกลายเป็นรายการทีวี เช่น สุดยอดรายการดัง ชมรมขนหัวลุก ทางช่อง 5 ตำนานปี 2538 หรือเหล่าเด็กเจนวายที่คลุมโปงดู จากทีวีสู่เว็บบอร์ด เช่น ตำนานธี่หยด ที่มาจากเว็บพันทิป หรือจากรายการวิทยุ กลายเป็นรายการออนไลน์ที่เชื่อมโยงผู้คนผ่านกล่องคอมเมนต์
สุดท้าย แม้เวลาจะผ่านมานับพันปี เรื่องผีก็ยังคงอยู่กับเรา เป็นปริศนาที่เราทั้งปิดหู และยังคงเปิดตาอยากรู้อยู่เสมอ เป็นพื้นที่ชุมชนที่เชื่อมโยงตั้งแต่คนใกล้ชิด จากการเล่าสู่กันฟังในชุมชนด้วยถ้อยคำ มาสู่ยุคสมัยใหม่ที่เชื่อมต่อกันเป็นชุมชนในจินตนาการ
เรื่องผีจึงเป็นอีกเรื่องน่าสนใจที่ทำให้เราหันหน้าเข้าหากัน กลัวไปด้วยกัน สนุกและขนหัวลุกไปพร้อมๆ กัน
อ้างอิงจาก