วันศุกร์แบบนี้ พร้อมไปปาร์ตี้ ไอ้ตอนเริ่มต้นก็สุขสันต์ดี แต่ทำไม้ สุดท้ายถึงกลายมาเป็นสมาคมคลับฟรายเดย์ เมาแล้วน้ำตาต้องมา เปลี่ยนคืนวันปาร์ตี้เป็นชุมนุมศาลาคนเศร้า นั่งปลอบอกปลอบใจ เล่าแลกเปลี่ยนความร้าวรานของชีวิตกันไป
เราต่างมีเพื่อน หรืออาจจะเป็นตัวเองที่…เมาทีไร ต้องมีความเศร้า มีการร้องไห้เกิดขึ้นทุกที จริงๆ ถ้าเรามองว่าการไปดื่มถือเป็นวิธีจัดการกับความเครียดจากชีวิต เป็นการปฏิสังสรรค์กันระหว่างบุคคล สุดท้ายบรรยากาศของวงเหล้าก็กลายเป็นพื้นที่ที่เราแลกเปลี่ยนความเศร้า ได้ชุบชู ปลอบโยน และเชื่อมโยงเข้าหากัน
การตอบสนองต่อแอลกอฮอล์มีหลายรูปแบบ บางคนดื่มแล้วอาจจะเหมือนเดิม บางคนดื่มแล้วขี้โมโห บางคนก็ฟูมฟาย บางคนก็ดีด ในวงเหล้าเรามักเจอกลุ่มเพื่อนเมาสองกลุ่มใหญ่ๆ แก๊งนึงจะดีดๆ เฮฮากระโดดขึ้นโต๊ะ กับอีกกลุ่มเป็นสายหว่อง นั่งนิ่งๆ แลกเปลี่ยนเรื่องเศร้ากันไป นักวิจัยเองก็พยายามทำความเข้าใจการตอบสนองและพฤติกรรมของคนจากการดื่มเหล้า และพบบุคลิกการเมา 4 รูปแบบ ไปจนถึงความเข้าใจว่า การตอบสองต่อแอลกอฮอล์ว่าจะเป็นสายเมาแล้วดีดหรือเมาแล้วหว่อง เป็นเรื่องที่สัมพันธ์กับพฤติกรรมการบริโภคแอลกอฮอล์
เมาแล้วเป็นคนแบบไหน บุคลิกการเมา 4 ประเภท
พบกับช่วง ‘คุณเป็นใครในตอนเมา’ การเมาคือช่วงเวลาที่สติและการควบคุมตัวของเราเจือจางลง บุคลิกลักษณะนิสัยของแต่ละคนในร่างเมามีความแตกต่างออกไป ทีนี้ก็มีนักวิจัยที่สนใจว่า ‘ร่าง’ ของแต่ละคนในตอนเมาเนี่ยมันเป็นยังไง ในงานศึกษาตีพิมพ์ในวารสาร Addiction Research & Theory จากการสำรวจคู่ซี้นักดื่ม 187 คู่ นักวิจัยก็สามารถสรุปและแยกแยะลักษณะนิสัยในตอนเมาออกมาได้ 4 ประเภท ได้แก่ สายเข้ม แนวทุ่งลาเวนเดอร์ ประเภทนิ่งๆ แต่เมาแล้วดีดหรือเป็นพวกมีร่างมาร และเมาแล้วอาละวาด
การเมามายกับศิลปะเป็นของคู่กัน ขนาดในงานศึกษาที่ศึกษาลักษณะนิสัยประเภทต่างๆ ในขณะเมามายยังอ้างอิงกับวรรณกรรมไปอีก เจ้านิสัยตอนเมา 4 ประเภทดังกล่าว นักวิจัยเทียบลักษณะการเมาทั้งสี่กับคาแรคเตอร์สำคัญได้แก่ เฮมิงเวย์, แมรี่ ป๊อบปิ้นส์, ศาสตราจารย์นัตตี้ และมิสเตอร์ไฮด์
ประเภทแรก คือพวกสายแข็ง นักวิจัยเทียบกับเออร์เนส เฮมิงเวย์ นักดื่มสายนี้คือเมาแล้วก็เหมือนเดิม สำหรับเฮมิงเวย์ – นักเขียนผู้ยิ่งใหญ่คนนี้ ว่ากันว่าเป็นคนที่ดื่มเหล้าเท่าไหร่ก็ไม่เมา ดังนั้น ถ้าคุณเป็นสายแข็ง คุณคือเฮมิงเวย์ คนที่ไม่เมา หรือต่อให้เมาก็จะไม่เละเทะมาก ลักษณะนิสัยตอนที่เมาและไม่เมาไม่ต่างกันมากนัก
แบบที่สองคือแมรี่ ป๊อบปิ้นส์ ตัวละครจากหนังแนวละเครเพลงเรื่องดัง คนประเภทนี้คือพี่ริต้า ที่แม้จะเมาแล้วก็ยังเป็นพี่ริต้าอยู่ คือเป็นคนน่ารัก แต่พอเมาแล้วก็จะยิ่งน่ารัก โอบอ้อมอารียิ่งๆ ขึ้นไป ส่วนสติสัมปชัญญะลดลงจากปกติไม่มาก เพิ่มเติมคือความไนซ์ เป็นความเมามายสาย positive
แบบที่สาม ถ้าใครมีเพื่อนที่ปกติติ๋มๆ นิ่งๆ แต่พอเมาแล้วขี่ม้ายูนิคอร์นเข้าไปในปาร์ตี้สีรุ้ง บุคลิกตอนเมาแบบที่ 3 นักวิจัยเทียบกับศาสตราจารย์นัตตี้จาก The Nutty Professor หนังเก่าหน่อยที่พล็อตเรื่องเป็นศาสตราจารย์อ้วนที่คิดค้นยาที่ทำให้ผอมได้อย่างมหัศจรรย์ พอตัวเองผอมแล้วก็จะดีดๆ หน่อย ดังนั้นคนที่เมาจำพวกนี้คือพวกเปลี่ยนนิสัย จากหงิมๆ กลายเป็นเสือซ่า – แนวนี้มีเยอะอยู่พอสมควร
แบบสุดท้ายอ้างอิงจากวรรณกรรมสยองขวัญยุคโกธิค เรื่อง Dr. Jekyll and Mr. Hyde ต้นแบบเรื่องประเภทมีสองบุคลิกในร่างเดียว สายเมาประเภทนี้จะอันตรายหน่อย เมาแล้วมีร่างมืด กลายร่างเป็นอันธพาล สติสตัง ความรับผิดชอบและความน่ารักทั้งหลายลดลงจากตอนที่ไม่เมาอย่างมาก
ท่าทีสองแบบจากการตอบสนองของร่างกายต่อแอลกอฮอล์
เราอาจเห็นได้ว่าท่าทีการตอบสนองต่อแอลกอฮอล์อาจแบ่งได้สองประเภทใหญ่ๆ คือประเภทเมาแล้วดีด กับประเภทเมาแล้วอึน อย่างแรกคือแก๊งเมาแล้วขึ้นโต๊ะ กับพวกหลังที่เมาแล้วหลบมุมไปนั่งรวมกลุ่มร้องไห้
เราอาจรู้สึกว่า เราเจอกับวงเหล้าแนวเศร้าสร้อยบ่อยครั้ง แต่มีงานสำรวจคร่าวๆ พบว่า คนส่วนใหญ่บอกว่าตัวเองเมื่อเมาแล้วค่อนข้างได้รับการกระตุ้นมากกว่า คือรู้สึกว่าตัวเองสนุกขึ้นและเป็นมิตรมากขึ้น ในขณะที่จากการสำรวจมี 2% ที่บอกว่าตัวเองเป็นพวกเมาแล้วนอยด์นั่งร้องไห้ ในขณะที่คนอื่นกำลังกระโดดโลดเต้น
2% ฟังดูน้อยมาก ตรงนี้มีงานศึกษาอีกชิ้นหนึ่งค่อนข้างสอดคล้องกัน ในงานวิจัยการตอบสนองต่อแอลกอฮอล์ของ University of Chicago ศึกษานักดื่มสองกลุ่ม คือกลุ่มคนที่ดื่มเล็กน้อย กับอีกพวกคือคนที่ดื่มหนัก จากการศึกษาพบว่าคนสองกลุ่มนี้มีการตอบสนองต่อแอลกอฮอล์ที่ไม่เหมือนกัน โดยสรุปคือ แบ่งเป็นพวกที่ดื่มแล้วดีดกับดื่มแล้วนิ่ง กลุ่มที่ดื่มแล้วดีดมีแนวโน้มจะเป็นกลุ่มคนที่ดื่มหนัก ในขณะที่กลุ่มที่ดื่มแล้วนิ่งมีแนวโน้มจะสังกัดกลุ่มที่ดื่มไม่มากต่อสัปดาห์
นักวิจัยบอกว่าคนในแต่ละกลุ่มมีการตอบสนองต่อแอลกอฮอล์ในเลือดต่างกัน การตอบสนองของสมองต่อแอลกอฮอล์ก็ต่างกันด้วย ดังนั้นผลสรุปที่น่าสนใจของงานศึกษานี้คือ ลักษณะเฉพาะทางพันธุกรรม – สมองและกลไกของร่างกายที่ตอบสนองต่อแอลกอฮอล์ต่างกันนั้น ส่งผลต่อพฤติกรรมและแนวโน้มของคนแต่ละคนไม่เหมือนกัน เช่น พวกขี้เมาที่ดื่มเยอะๆ อาจสัมพันธ์กับสมองที่ตอบสนองกับแอลกอฮอล์ในทางดีด คือดื่มแล้วสนุกเลยชอบดื่ม ส่วนพวกที่ดื่มแล้วตอบสนองไปในทางนิ่งๆ ก็มีแนวโน้มที่จะไม่ค่อยไปดื่ม
โดยปริยายก็เลยไม่แปลกที่ผลเชิงสำรวจซึ่งไปถามคน 100 คน จะออกมาว่า 98% เป็นพวกดื่มแล้วกระโดด แต่ 2% บอกว่าดื่มแล้วซบหน้าร้องไห้ ก็เพราะว่าพวกที่เมาแล้วร้องไห้ไม่ได้ไปเมาด้วยเลย นอนอยู่บ้าน – และคงจะไปเมาก็เมื่อมีเรื่องทุกข์ใจ
นักวิจัยเองก็ยังไม่เข้าใจชัดนักว่าอะไรที่ทำให้คนตอบสนองกับแอลกอฮอล์ต่างกัน ทำไมแอลกอฮอล์ทำให้บางคนเสียน้ำตา คำตอบที่ง่ายที่สุดและฟังดูสมเหตุสมผล คือขึ้นอยู่กับอารมณ์ในช่วงที่ไปเมา ถ้าเราลองนึกดู เหตุผลสำคัญหนึ่งที่เราอยากไปดื่มคือในตอนที่เรามีทุกข์ และแอลกอฮอล์ก็กระตุ้นให้เราเปิดเผยอารมณ์ที่กักเก็บไว้ออกมา
ถ้ามองในทางสังคม เราต่างต้องเก็บงำอารมณ์ความรู้สึกไว้กับตัว แต่มนุษย์ก็ต้องการการเชื่อมต่อกัน ต้องการระบายและแลกเปลี่ยนความเศร้าจากตัวตนที่บุบสลายไม่ว่าจะจากความรักหรือหน้าที่การงาน การไปดื่ม ไปอยู่ในพื้นที่พิเศษ บรรยากาศพิเศษ และใช้แอลกอฮอล์ในการโกงสมอง สลายเปลือกอันแข็งแรงที่เราหุ้มความอ่อนแอภายในเอาไว้ออกมา ตรงนี้เองที่การไปดื่มคือฟังก์ชั่นหนึ่งที่เราใช้เพื่อรับมือกับปัญหา และร่วมเยียวยาซึ่งกันและกัน
บางครั้งอาจไม่ใช่แอลกอฮอล์ที่เยียวยาหัวใจ แต่คือการเปิดเผยตัวตนที่อ่อนแอและแตกสลาย คือการได้เล่า รับฟัง และปลอบใจกัน การเรียนรู้ความอ่อนแอทั้งจากตัวเองและจากคนก็อาจเป็นหนทางในการเข้มแข็งมากขึ้น ในตอนที่เราสร่างเมาในวันพรุ่งนี้
ถึงอย่างไรก็…ดื่มด้วยความพอดีและมีความรับผิดชอบเนอะ
อ้างอิงข้อมูลจาก