บุคลิกของมนุษย์ไม่ได้ตั้งตระหง่านเหมือนเสาศิลาอันแข็งแกร่ง มันล้วนเปลี่ยนแปลงไปตลอดเวลาจากหลายปัจจัยแวดล้อมทั้งภายในและภายนอก คุณอาจไม่ใช่คนเดิมเมื่อตอนเป็นเด็ก หรือแม้กระทั่งตัวคุณเองเมื่อปีที่แล้ว บุคลิกจึงเปรียบคลื่นน้ำที่ลัดเลาะผ่านโขดหินแห่งชีวิต มันไม่เคยง่ายและไม่เป็นเส้นตรง
ถึงงานโรงเรียนทีไรรู้สึกหัวใจเต้นไม่เป็นจังหวะ คุณเป็นเด็กขี้อาย ร้องไห้ทุกครั้งที่ต้องขึ้นเวที แต่มาดูเอาตอนนี้สิ เมื่อเติบโตขึ้น กลับเป็นที่พึ่งพาของเพื่อนๆ ในการพรีเซนต์งานโดยไม่หลุดสักจังหวะ จากคนขี้อาย ขี้กลัว ไม่มั่นใจตัวเอง สู่การมีมาดเป็นผู้นำและนักบุกเบิก หรือบางคนกลับมีอุปนิสัยกลับกันตรงกันข้าม จากที่เคยสดใสในวัยรุ่น กลายเป็นคนที่แบกรับทุกข์ระทมไร้เรี่ยวแรงแห่งการมีชีวิต แต่เราจะเป็นแบบนี้ตลอดไปเลยหรือ? ถ้าหากถูกตรึงด้วยบุคลิกภาพที่คุณไม่ต้องการแล้ว ‘เธอไม่มีวันเปลี่ยน’ จริงหรือไม่? ข้อครหานี้จะเป็นเช่นนั้นจริงหรือ หากคุณไม่ชอบตัวเองในวันนี้ ใช่หรือที่จะไม่ชอบตัวเองไปตลอดทั้งชีวิต?
คนส่วนใหญ่มักเชื่อว่าบุคลิกภาพเป็นสิ่งที่ติดตัวคงที่ไม่เปลี่ยนแปลง จนถูกนิยามว่า ‘ตัวตน’ (Self) อันเป็นรากฐานจากชุดความคิดย้อนไปตั้งแต่ 1887 นักจิตวิทยา ‘วิลเลียม เจมส์’ William James ที่เคยกล่าวว่า อุปนิสัยและบุคลิกของมนุษย์จะก่อตัวขึ้นดุจปูนปั้นที่มั่นคงในช่วงอายุ 30 ปี ซึ่งนักจิตวิทยาปัจจุบันถกเถียงกันบ่อยครั้ง เพราะยังไม่มีเครื่องมือในการชี้วัดที่น่าเชื่อถือนักในเชิงวิทยาศาสตร์
แต่สิ่งหนึ่งที่ทุกคนเห็นตรงกันคือ บุคลิกภาพเป็นฐานสำคัญที่สะท้อนถึงรูปแบบความคิดและพฤติกรรมที่มีต่อการเรียนรู้ภายใต้ ‘ช่วงระยะเวลาหนึ่ง’ ซึ่งแน่นอนบุคลิกภาพก็ยังเป็นผลพวงทางพันธุกรรมที่ส่งต่อมาจากพ่อแม่ แต่ยังไม่ระบุเป็นเอกฉันท์ว่า ยีนอะไรบ้างที่รับผิดชอบบุคลิกแต่ละอย่างของคุณ เด็กที่เกิดใหม่อาจจะยังไม่มีบุคลิกประจำตัว แต่มีการแสดงออกอันเป็นเอกลักษณ์เฉพาะแล้ว หรือ ‘temperament’ ในเด็กแต่ละคน มีหลักฐานว่า แม่ที่มีความเครียดสูงระหว่างตั้งครรภ์ มีแนวโน้มถ่ายทอดความเครียดไปสู่ลูกได้ ทำให้พวกเขาเป็นเด็กที่วิตกกังวลต่อสิ่งเร้าได้ง่าย และร้องไห้บ่อย
ประสบการณ์เรียนรู้ในวัยเด็กก็มีอิทธิพลไม่แพ้กัน พ่อแม่ที่กระตุ้นให้ลูกๆ ทำกิจกรรมอยู่เสมอและสร้างความผูกพันในครอบครัวแน่นแฟ้น ลูกๆ มักเข้าสังคมง่าย และไม่ตกอยู่ในความหวาดกลัวหากต้องลงมือทำอะไรคนเดียว ซึ่งเอกลักษณ์เฉพาะของเด็กแต่ละคนล้วนคาดเดาและฟันธงได้ยากเช่นกัน
Personality แม้จะเป็นคอนเซ็ปต์ที่เหมือนจะง่าย แต่ยากที่จะวัด (แต่มันก็สนุกจนเป็นส่วนหนึ่งของ Popular Culture อยู่ดี ในการทำควิซทายนิสัย ทายบุคลิก) เพราะมนุษย์หนึ่งคนมีส่วนผสมของการแสดงออก เหมือน ‘ค็อกเทล’ ของบุคลิกอันหลากหลายและขึ้นอยู่กับสถานการณ์ นักจิตวิทยาจึงพยายามหาระบบระเบียบมาจัดหมวดหมู่จนได้สิ่งที่เรียกว่า Big Five Personality Factors หรือ ‘บุคลิกภาพ 5 องค์ประกอบ’ เป็นองค์ประกอบภายในของบุคคลที่มีความคงทน และเป็นแบบแผนในการคิด อารมณ์ และพฤติกรรมของแต่ละบุคคล เป็นรูปแบบในการจัดกลุ่มของบุคลิกภาพที่ได้รับความนิยมจากนักจิตวิทยาว่าสามารถช่วยอธิบายถึงโครงสร้างของบุคลิกภาพของบุคคลในระดับสากลได้
1. Neuroticism – ความไม่มั่นคงทางอารมณ์
เป็นแนวโน้มในการเกิดประสบการณ์อารมณ์ทางลบของบุคคล ความรู้สึกวิตกกังวล ไม่มั่นคง ประหม่า กลัว ซึมเศร้า โกรธ นอกจากนี้ยังรวมไปถึงภาวะอารมณ์ที่สับสนแทรกซ่อนต่อการปรับตัวด้วย บุคคลที่มีบุคลิกภาพด้านนี้สูง มีแนวโน้มที่จะมีความคิดที่ขาดเหตุผล มีความสามารถในการควบคุมอารมณ์ของตนเองน้อย และเผชิญต่อความเครียดได้ไม่ดีเท่าคนอื่น และอาจเสี่ยงต่อการมีปัญหาทางจิตบางชนิดได้
2. Extraversion – การเปิดตัว
เป็นลักษณะของบุคคลที่ชอบเข้าสังคม ชอบพบปะพูดคุยกับผู้อื่น ชอบอยู่ในกลุ่มคน มีลักษณะเป็นคนเปิดเผยตนเอง มีอารมณ์ทางบวกเกินขึ้นได้บ่อย มีแนวโน้มที่จะเป็นคนมีนิสัยร่าเริง มองโลกในแง่ดี กระตือรือร้น ชอบเหตุการณ์ที่ตื่นเต้นเร้าใจ และเรียกร้องสิทธิ์ของตนเอง
3. Openness to Experience – การเปิดรับประสบการณ์
บุคคลที่มีบุคลิกภาพด้านนี้สูงจะเป็นคนที่ค่อนข้างมีจินตนาการ ไวต่อความรู้สึก รับรู้ความงามของศิลปะ ไวต่อความงาม ชอบใช้สติปัญญา รับรู้อารมณ์ความรู้สึกของตนเองได้ดี บุคคลที่มีบุคลิกภาพด้านนี้ต่ำ มักมีความคิดแบบอนุรักษ์นิยม และคิดตามกรอบ
4. Agreeableness – ความเป็นมิตร
แนวโน้มของบุคคลที่จะยอมตามผู้อื่น ชอบร่วมมือ ชอบความกลมกลืนทางสังคม เห็นแก่ประโยชน์ของผู้อื่นก่อนตนเอง บุคคลที่มีบุคลิกภาพด้านนี้สูง มักมีค่านิยมที่เกี่ยวกับการอยู่ร่วมกับผู้อื่น มองธรรมชาติของมนุษย์ในแง่ดี มีความซื่อสัตย์ จิตใจดี และไว้วางใจได้ จึงมักจะมีลักษณะนิสัยที่เป็นกันเอง เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ชอบช่วยเหลือผู้อื่น ชอบความปรองดอง
5. Conscientiousness – การมีจิตสำนึก
เป็นแนวโน้มของบุคคลที่มีวินัยในตนเอง รู้จักหน้าที่ มีจุดมุ่งหมายที่จะประสบความสำเร็จ บุคคลที่มีบุคลิกภาพด้านนี้สูง มักชอบวางแผนล่วงหน้า ส่งผลให้เป็นคนที่ควบคุมการกระทำของตนเอง และกำหนดทิศทางความต้องการภายในให้มีการแสดงออกอย่างเหมาะสม หลีกเลี่ยงการกระทำในสิ่งที่มองเห็นว่าจะมีปัญหาเกิดขึ้น ผู้อื่นมักมองว่าเป็นคนฉลาด เชื่อถือได้ ส่วนในแง่ลบ มักเป็นคนทำงานหนักมากเกินไป มีแนวโน้มต้องการความสมบูรณ์แบบ จริงจังกับทุกเรื่อง จึงดูเป็นคนเคร่งเครียดตลอดเวลา ไม่มีชีวิตชีวา น่าเบื่อ
แม้คุณจะถูกประเมินด้วยคะแนนเหล่านี้ที่ไม่สูงนัก แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะมีอะไรบกพร่องตกหล่น เพราะเมื่อแต่ละคนเผชิญหน้ากับสถานการณ์ความกดดันในชีวิตจริงที่แตกต่างกัน เรากลับแสดงออกมาไม่เหมือนกันในแต่ละครั้ง มันขึ้นอยู่กับปัจจัยแวดล้อมอีกมาก ซึ่งการจัดหมวดหมู่ด้วย Big Five Personality Factors ก็ยังถือว่าน้อยไปนิด แต่ยังถือว่าได้รับการยอมรับสูงในแวดวงจิตวิทยาในหลายสิบปีที่ผ่านมา
อิทธิพลของยีนและสภาพแวดล้อม เป็นปัจจัยสำคัญในการปรับเปลี่ยนบุคลิกของคุณในทางที่ซับซ้อน แต่ไม่มีหลักฐานอะไรยืนยันเลยว่า บุคลิกของคุณจะนิ่งเฉยหรือเติมเต็มแล้วในอายุ 30 ปี ดังนั้นข้อสันนิฐานนี้จึงถูกปัดตกไป
จากวิจัยที่ลงทุนการติดตามอาสาสมัครผู้ใหญ่เป็นระยะเวลานานในปี 2003 นำไปสู่มิติที่น่าสนใจว่า ยิ่งพวกเรามีอายุมากขึ้น Agreeableness – ความเป็นมิตร หรือแนวโน้มที่จะทำตามผู้อื่นก็จะมากขึ้น และมีทักษะการควบคุมอารมณ์ได้ดี อันเป็นผลสืบเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพสมองเมื่อเข้าสู่ช่วงสูงอายุ สมองส่วน Cortex ที่ควบคุมความมั่นคงในการใช้อารมณ์จะหนาขึ้นและมีรอยหยักขดละเอียด
สภาพแวดล้อมเองก็มีบทบาทที่โดดเด่นมากต่อการเปลี่ยนแปลง เมื่อผู้สูงอายุส่วนใหญ่อยู่ในสภาพแวดล้อมที่มีสิ่งเร้าน้อยลง เคยพบประสบการณ์อะไรบางอย่างที่เปลี่ยนชีวิตมาแล้วแบบ Major Impact อย่างการสูญเสียคนรัก การแต่งงาน หรือการมีครอบครัว และความสัมพันธ์ครั้งใหม่ๆ ของคุณที่ไม่ยอมอกหักรักคุด ทำให้ Neuroticism – ความไม่มั่นคงทางอารมณ์ ลดลง เพราะคุณต้องขยันปรับตัวเข้ากับคนอื่นๆ ให้มาก เรียนรู้ที่จะสื่อสารกับคนใหม่ๆ
หรือในกรณีคนที่เพิ่งหย่าร้าง ก็จะมี Extraversion – การเปิดตัว มากขึ้น กล้าเปลี่ยนการแต่งตัว ออกไปพบปะสังสรรค์ทางสังคมและหาประสบการณ์เพื่อชุบชูหัวใจ
อาจกล่าวได้ว่า ‘เหตุการณ์ของชีวิต Life Events’ ต่างหากที่เป็นจุดเปลี่ยนของบุคลิกภาพของคุณได้มากที่สุด การทำงานและมีส่วนร่วมกับอะไรบางอย่างที่ขับเคลื่อนคุณ มีส่วนช่วยให้ค้นพบบุคลิกภาพที่คุณเองยังไม่รู้จัก มันอาจซ่อนอยู่ลึกๆ รอสถานการณ์ที่มีกระทบชิ่งในเวลาที่เหมาะสม จากการที่คุณคิดว่าเป็นคนเห็นแก่ตัว แต่เมื่อพบความไม่ถูกต้องต่อเพื่อนมนุษย์ จึงอาจลุกขึ้นมาทำในสิ่งที่คุณเองก็ไม่ได้คาดคิด
เมื่อกล่าวถึงเพื่อนคุณสักคนที่มั่นคงทางอารมณ์ ‘stable and long-lasting’ บุคลิกภาพนี้ของเขาอาจแสดงถึงการอยู่ในปัจจัยสภาพแวดล้อมที่กอปรให้เขามีการแสดงออกที่มั่นคงที่กินระยะเวลานานช่วงหนึ่ง แต่จะไม่ติดตรึงกับเขาไปตลอดชีวิต
การสำรวจตัวตนของคุณจึงน่าตื่นเต้นพอๆ กับการลงทุนสำรวจชีวิต ออกไปเห็นว่าคุณจะเป็นเช่นไรเมื่อสถานการณ์เปลี่ยนอยู่ตลอดเวลา คุณอาจจะเจอบุคลิกที่คุณชอบมาทักทายโดยไม่รู้ตัวก็เป็นได้
อ้างอิงข้อมูลจาก
โมเดลเชิงสาเหตุของการปฎิบัติงานแบบกลุ่ม : อิทธิพลของบุคลิกภาพห้าองค์ประกอบ ส่งผ่านความรู้เกี่ยวกับการทำงานแบบกลุ่ม บุคลิกลักษณะผัดวันประกันพรุ่ง และปฏิสัมพันธ์
โดย กุลชนา ช่วยหนู (2552)
CHAPTER X. The Consciousness of Self. William James