เพราะมนุษย์ทุกคน ล้วนรายรอบด้วยด้านอื่นๆ ของชีวิต ข้องเกี่ยวสัมพันธ์กับผู้คนหลากหลายมิติ เพื่อน งาน ครอบครัว ไม่เว้นกระทั่งนักกิจกรรมการเมือง ที่ถูกสังคมจดจำในภาพหนึ่ง แต่ในสายตาผู้คนที่สัมพันธ์กับพวกเขานอกเหนือจากประเด็นการเมือง จะจดจำและรู้จักพวกเขาเช่นไร
ความสัมพันธ์ฉันครอบครัวและคนใกล้ชิดของพวกเขาเป็นอย่างไร เมื่อบทบาทของคนกลุ่มหนึ่งกำลังท้าทายอำนาจหลักของประเทศ ในฐานะแกนนำ และนักกิจกรรมทางการเมืองของกลุ่ม ‘ราษฎร’ และ ‘ประชาชนปลดแอก’
ความห่วงใยของแม่
ชัชราภรณ์ บุตรจันทร์ มารดาของ อั๋ว-จุฑาทิพย์ ศิริขันธ์ อดีตประธานสหภาพนักเรียน นิสิต นักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนท.) และนักกิจกรรมการเมืองกลุ่มเยาวชนปลดแอก ได้อธิบายตัวตนของอั๋ว ว่าเป็นคนจริงจังกับทุกอย่าง และรับผิดชอบมาตั้งแต่เด็ก เป็นคนทำอะไรคิดนาน คิดจะทำแล้วทำสุดทาง
สาเหตุสำคัญของการสนใจในการเมืองของอั๋ว คือการที่เติบโตมากับครอบครัวการเมืองในจังหวัดอำนาจเจริญ ปู่ของอั๋วเป็นอดีต ส.ส.อุบลราชธานี นามว่า ธีระชัย ศิริขันธ์ ประกอบกับอั๋วในวัยเด็กติดรถไปหาเสียงกับพ่อบ่อยๆ ทำให้มีความคุ้นเคยกับชุมชน และงานการเมือง ทำให้อั๋วมีความสนใจในการเมืองไทย
อั๋วเริ่มเคลื่อนไหวทางการเมืองตั้งแต่เรียนปี 1 ที่มหาวิทยาลัยขอนแก่น ซึ่งจะโทรศัพท์พูดคุยกับแม่ตลอด โดยปัญหาหลักของทางบ้านคือด้านการเงินที่ไม่มั่นคงนัก ทำให้ชัชราภรณ์ พูดคุยกับลูกสาวคนโตของเธอว่า มหาวิทยาลัยที่สามารถส่งเสียจนเรียนจบอย่างแน่นอนมีเพียงรามคำแหง และธรรมศาสตร์
และในปีถัดมา เมื่ออั๋วเริ่มเข้าเรียนปี 1 ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เธอก็เริ่มทำกิจกรรมการเมืองทั้งในและนอกมหาวิทยาลัย จนขึ้นเป็นประธานของสหภาพนักเรียน นิสิต นักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนท.) และเข้าร่วมกับกลุ่มเยาวชนปลดแอกในที่สุด
หลังจากการเคลื่อนไหวประท้วงรัฐบาลขยายใหญ่ขึ้น ทางบ้านก็มีตำรวจมาเยี่ยมเยือนที่บ้านใน จ.อำนาจเจริญ โดยชัชราภรณ์ไม่ได้รู้สึกกังวลอะไร แต่คุณตาและคุณยายของอั๋วจะค่อนข้างกังวล
“เขาใส่เครื่องแบบเข้ามาถาม หลานเรียนอยู่ที่ไหน ทำอะไรบ้าง”
หากพอจะมีสักสิ่งที่ทำให้ชัชราภรณ์กังวลเกี่ยวกับอั๋ว คงเป็นเรื่องการพูดถึงประเด็นละเอียดอ่อน อย่างสถาบันพระมหากษัตริย์
“ถ้าเราพูดตรงนี้ก็มีความผิดทันที ไม่อยากให้อั๋วเจออันตราย อยากให้ต่อสู้อยู่ในสนามการเมืองได้นานๆ งานการเมืองมันยาว ถ้าต่อสู้ บุก ก็เสี่ยง ต้องดูแลตัวเองให้มาก ถ้าเป็นประเด็นการเมืองอื่นๆ สนับสนุนเต็มที่ คือจะมีการคุยกันตลอด และคอยบอกกันว่าอะไรพูดได้แค่ไหน”
ชัชราภรณ์ยังได้กล่าวเพิ่มเติมถึงการเป็นที่พึ่งพิงให้กับลูก อย่างน้อยที่สุด คือทางจิตใจ
“มันจะมีช่วงหนึ่งที่อั๋วโดนหมายจับ หมายแรกๆ เราก็คอยบอกเขาให้ตั้งสติดีๆ ทุกอย่างจะผ่านไปได้ด้วยดี อย่าใจร้อน อย่ากลัวเกินเหตุ ทุกอย่างไม่มีอะไรน่ากลัว ให้เกิดขึ้นก่อนแล้วค่อยคิด”
ก่อนที่บทสนนาจะจบลง ชัชราภรณ์พูดถึงลักษณะของลูกสาวในสายตาเธออีกครั้ง
“อั๋วค่อนข้างแข็งแกร่ง จริงจัง มั่นคง และเราก็ภูมิใจในตัวลูกมาก แต่อยากให้อั๋วเรียนให้จบก่อน จะไปทำงานที่ไหนอะไรเราไม่ห่วง”
พี่สาวคนกลางของครอบครัว
แต่ไม่ใช่ทุกสายสัมพันธ์จะเรียบง่ายในทุกสถานการณ์ เรื่องราวระหว่างบุคคลเข้มข้นขึ้น เมื่อเป็นเรื่องราวของรุ้ง-ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล หนึ่งในแกนนำกลุ่มราษฎร ที่พูดถึงข้อเสนอ 10 ข้อ ในการปฎิรูปสถาบันกษัตริย์ ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ในวันที่ 10 สิงหาคม พ.ศ.2563
“รุ้งเคยบอกกับเราว่าอย่าผลิตซ้ำความกลัว ซึ่งประเทศเรามันมีขีดเส้นของความกลัวไว้ว่าอย่าก้าวข้าม ไม่พูดเรื่องนี้เพราะกลัว เรากลัวนะ แต่ถ้ารุ้งไม่พูดในวันที่ 10 สิงหาคม เราอาจจะยังไม่เห็นการพูดถึงประเด็นนี้แบบนี้”
เมธาวี สิทธิจิรวัฒนกุล พี่สาวคนกลางของรุ้ง ได้บอกเล่าเรื่องราวขณะที่เปิดอัลบั้มภาพของครอบครัวไปด้วย บ้านของรุ้งมีพี่น้องทั้งหมด 3 คน เป็นลูกสาวทั้งหมด เมธาวีเป็นลูกคนกลาง ในขณะที่รุ้งเป็นลูกคนสุดท้อง
รุ้งเรียนเก่งตั้งแต่เด็ก สอบได้ที่ 1 บ่อยครั้ง มีความสามารถพิเศษมาก เพราะไม่ว่ารุ้งจะสนใจอะไร พ่อกับแม่จะให้เรียนหมด ไม่ว่าจะเป็นเต้น วาดภาพ ร้องเพลง ดนตรีไทย หรือดนตรีสากล ทั้งไวโอลินและคีย์บอร์ด ทำให้รุ้งมีความสามารถหลากหลาย ส่วนหนึ่งเพราะเติบโตมาในยุคที่โรงเรียนกวดวิชาและที่เรียนพิเศษเยอะ และพ่อแม่พร้อมสนับสนุน
เดิมรุ้งเป็นเด็กเรียบร้อย พอช่วง ม.4 – ม.5 รุ้งเป็นคนหัวดีสอบชิงทุนไปต่างประเทศได้ 2-3 ที่ ซึ่งรุ้งไม่ได้บอกพ่อแม่ แต่ไปสอบก่อน พอผลออกว่าได้แล้วจึงมาบอก ซึ่งการไปเรียนต่อที่ประเทศสหรัฐอเมริกาก็ได้ทำให้รุ้งเปลี่ยนไป รุ้งได้เห็นโลก กล้าขึ้น และด้วยความเป็นเด็กขี้สงสัยอยู่แล้ว ทำให้รื้อค้นหนังสือประวัติศาสตร์บ้านเมือง และพบว่ามีปัญหาทางสังคมอีกมากที่อยากจะรู้ จนมาจบที่การตัดสินใจเลือกเรือนต่อในคณะสังคมวิทยาฯ ที่ธรรมศาสตร์
แต่แล้วครอบครัวก็เข้าสู่จุดเปลี่ยนอย่างรวดเร็วเมื่อรุ้งเดินเข้าสู่ถนนสายการเมืองเต็มตัว
เริ่มจากกิจกรรมผูกโบว์ขาว ให้การหายตัวไปของนายวันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ ที่ประเทศกัมพูชา ซึ่งหลังจากเหตุการณ์ครั้งนั้น รุ้งเล่าให้เมธาวีฟังว่า มีเจ้าหน้าที่ตำรวจขับรถตาม ซึ่งในฐานะพี่สาวคนกลางที่สนิทกับรุ้ง เมธาวีทำได้เพียงรับฟัง เนื่องจากไม่สามารถบอกพ่อและแม่ได้ เพราะกลัวว่าพ่อและแม่จะตกใจ
“เราคิดว่ามันจะจบไม่มีอะไร ปรากฎว่าหลังจากนั้น 1 สัปดาห์ ทางบ้านก็เริ่มมีเจ้าหน้าที่มาพบ เป็นเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบนั่งรถตู้มาที่บ้าน ไม่ได้แสดงตัว มาวนดูบ้าน 2 วัน แล้วก็มาสอบถามคุณแม่ที่อยู่ที่บ้านว่า บ้านนี้อยู่กันกี่คน ใครเป็นเจ้าของบ้าน คุณแม่ก็งงเพราะยังไม่ทราบเรื่องมาก ก็ตอบตามปกติ พอรู้เรื่องทั้งหมด ทางบ้านก็เริ่มเครียดและตื่นตัวกับเรื่องนี้ ทั้งที่ตอนนั้นยังเป็นคดีเล็กๆ ยังไม่ได้ขึ้นปราศรัย”
จนกระทั่งวันที่ 10 สิงหาคม พ.ศ.2563 การประกาศจุดยืนเรียกร้องการปฎิรูปสถาบันกษัตริย์ 10 ข้อ รุ้งปราศรัยในการชุมนุมธรรมศาสตร์จะไม่ทน ที่ธรรมศาสตร์ศูนย์รังสิต รุ้งได้ก้าวเข้าสู่การจับจ้องอย่างเป็นทางการ
“ก่อนหน้านั้นพ่อเขารู้สัญญาณบางอย่าง เขาพยายามโทรมาบอกผ่านทางเมย์ว่า พูดเรื่องอะไรก็ได้ แต่ขอเว้นเรื่องสถาบันกษัตริย์ไว้หน่อย พ่อเขาเหมือนจะเดาอะไรออก เราที่อยู่ตรงกลางก็ลำบากใจ เราก็ไม่รู้อะไรมาก เพราะปกติเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องที่คนจะพูดกัน เราไม่รู้ว่าน้องเราจะสามารถไปถึงจุดนั้นได้ คิดไปว่าอาจเป็นพูดอ้อม พูดแซว อย่างที่ใครๆก็ทำกัน”
เมธาวีเล่าว่า เมื่อเธอบอกรุ้ง รุ้งมีปฏิกิริยาต่อต้านทันที เพราะด้วยลักษณะนิสัยส่วนตัว
เมื่อจุดยืนของรุ้งสร้างกระแสการพูดถึงใหม่ของการเมือง เมธาวีในฐานะพี่สาวที่ใกล้ชิด ก็เริ่มได้รับข้อความจากบุคคลหลากหลาย
“มีส่งข้อความมา แล้วก็โทรศัพท์มา ตอนแรกไม่รู้เป็นใคร แต่มานึกดูน่าจะเป็นคนรู้จักสมัยเด็กๆ แต่ไม่ได้สนิท เป็นเบอร์แปลก เขาก็คุยว่า หวังดีนะ อยากจะให้เลิก มันไม่ใช่เวลาสมควร ไม่ห่วงน้องหรือ แล้วก็ให้เราบีบบังคับน้องให้น้องหยุด ซึ่งเราบังคับใครไม่ได้ แรกๆ ก็เป็นการโทรมาแล้วอ้างว่าหวังดี แต่มันเป็นไปถึงขั้นมาถามว่าไม่กลัวส่งผลกับชีวิตหรือ ไม่กลัวเสียชีวิตหรือ ซึ่งมันเริ่มเหมือนการข่มขู่เอาชีวิตกัน”
เมธาวีอธิบายต่อว่าแม้จะเตรียมรับแรงกระแทกตั้งแต่วันที่รุ้งตัดสินใจพูดเรื่องสถาบันกษัตริย์ แต่เธอก็ยังคงมีความเครียดบ้าง ในกรณีที่เจอคนแปลกๆ ติดต่อเข้ามา โดยเธอใช้วิธีการหากไม่รู้จักเราก็จะไม่พูดคุยด้วย ไปจนถึงการลดการเสพสื่อ และคอมเม้นในสื่อสังคมออนไลน์ลง
“พ่อกับแม่ก็เครียดมาก แต่ไม่สามารถพูดกับน้องได้ เพราะเขาไม่สามารถพูดได้ทุกเรื่องกับลูก ก็จะส่งผ่านทางเรามาแทน ให้พูดกับน้องหน่อย ส่วนน้องก็มีเรื่องที่อยากพูดกับแม่ แต่จะไม่พูดกับแม่ จะให้พี่ไปพูดแทน เพราะฉะนั้นต้องรับฟังทั้งสองฝ่าย แล้วเราจะไปพูดแปลสารให้เอง”
เมธาวีเล่าว่า ณ จังหวะเวลาหนึ่ง ความไม่เข้าใจระหว่างครอบครัว ก็ก่อให้เกิดความขัดแย้งเล็กๆ
“มีช่วงที่แม่อยากให้น้องเลิกมากๆ ก็บอกว่าไม่ห่วงแม่หรือ น้องก็เสียใจ จริงๆ แม่ต้องห่วงหนูหรือเปล่า คือเขาก็เสียใจนะที่เขาทำมาเขาก็ไม่ได้ผิด ทำไมถึงมาห้าม ก็กลายเป็นว่าไม่เข้าใจกัน เพราะยังไม่คุยกัน ทีนี้เราในฐานะคนกลางก็ต้องเรียกพ่อแม่มานั่ง แล้วเราก็อธิบายให้ฟังว่าน้องทำอะไรอยู่ และน้องต้องการอะไร สิ่งที่เขาทำเขาทำเพื่ออะไร”
แล้วความพยายามของเธอก็สัมฤทธิ์ผล
พ่อและแม่เข้าใจรุ้งมากขึ้น ในขณะที่เมธาวีเองก็สบายใจขึ้น
“จนถึงวันนี้ พ่อแม่เข้าใจแล้ว ไม่กีดกันแล้ว แต่ก็พยายามซัพพอร์ตและหาวิธีให้รุ้งปลอดภัยที่สุด
เพราะเขาเพิ่งออกมาจากเรือนจำ ตอนแรกเราไม่คิดว่าจะไปถึงตรงนั้น แต่พอเข้าไปแล้วชีวิตน้องและครอบครัวเปลี่ยนไปแล้ว เราก็ห้ามไม่ได้ เราต้องพยายามหาทางให้เราดูแลกันและกันต่อไปได้อย่างดีที่สุด พ่อกับแม่ก็ต้องเปิดใจ เพราะไม่เช่นนั้นน้องก็จะไม่พูดเลย เขาอาจไปพูดกับเพื่อนแล้วครอบครัวรู้สุดท้าย มันจะไม่ดี” เมธาวีกล่าว ในขณะที่เสียงแผ่วลง
เธอยังเล่าถึงการถูกจับกุมของรุ้งในช่วงเดือนตุลาคมทีผ่านมา
“ก่อนวันที่ 10 สิงหาคม พ.ศ.2563 รุ้งโทรมาบอกว่าจะพูดสถาบันกษัตริย์ เราถามน้องแล้วว่าน้องพร้อมรับความเสี่ยงไหม เขาว่าเขารู้ว่ามันอาจจะต้องเจอกับอะไร เราก็ทำใจไว้กึ่งหนึ่ง แต่ไม่ได้คิดเหมือนกันว่าจะติดคุก เพราะที่ผ่านๆ มา ประกันตัวได้ตลอด เราพร้อมซัพพอร์ตตรงนี้ เท่าไรก็ประกันให้น้องได้อยู่แล้ว ถ้าน้องจะสู้เราก็พร้อมสู้สุด แต่สุดท้ายมันไม่ได้เกี่ยวกับเงิน เผลอๆ ไม่ได้เกี่ยวกับความยุติธรรมด้วย”
“เรานั่งคิดทุกวันว่า หรือเพราะว่าสังคมนี้ไม่ได้ให้คำตอบกับรุ้ง ทำให้ในวัยที่พวกเขาควรใช้ชีวิต ควรอยู่กับเพื่อนๆ พวกเขาเลยต้องออกมาเคลื่อนไหวทางการเมืองแบบนี้แทน”
โอบกอดกันและกัน
แม้ครอบครัวที่สัมพันธ์กันด้วยเลือดเนื้อเชื้อไข จะเป็นกำลังใจสำคัญของเหล่านักกิจกรรมทางการเมือง แต่กับ ‘ฟอร์ด-ทัตเทพ เรืองประไพกิจเสรี’ ผู้ร่วมก่อตั้งกลุ่มคณะประชาชนปลดแอก เขามีอีกกำลังใจหนึ่งที่ปลอบประโลมจิตใจ
ภาณุมาศ สิงห์พรม หรือเจมส์ คนรักของฟอร์ด เล่าว่าเขากับฟอร์ดคบหากันได้ราวปีกว่า ตั้งแต่เขาเข้ามาทำกิจกรรมการเมือง และเครือข่ายคนรุ่นใหม่ จากนั้นก็ทำกิจกรรมการเมืองด้วยกันมาตลอด ทั้งเขาและฟอร์ดต่างไปมาหาสู่ครอบครัวของกันและกันอยู่บ่อยๆ ซึ่งทั้งทางบ้านของฟอร์ดและเขาเองก็สนับสนุนในการเคลื่อนไหวทางการเมือง แต่ก็ยังคงฝากความเป็นห่วงให้ระมัดระวังตัวอยู่เสมอในรัฐที่อะไรก็เกิดขึ้นได้
ความสัมพันธ์ระหว่างเจมส์และฟอร์ดไม่ใช่เพียงคนรัก แต่เป็นดุจเพื่อนคู่คิด ที่คอยประคับประคองกันและกัน
“ผมกับฟอร์ดต่างจากคนอื่น เพราะเป็นทั้งเพื่อนร่วมงาน และแฟน”
เขาเล่าต่อว่าพวกเขามักออกไปเคลื่อนไหวด้วยกัน จนมีคดีติดตัวด้วยกันทั้งคู่ เขาโดน มาตรา 116 ยุยงปลุกปั่น 1 คดี ในขณะที่ฟอร์ดโดนอยู่หลายคดีด้วยสถานะของการเป็นแกนนำ
“ผมคิดว่าทั้งหมดที่เกิดขึ้น ไม่ใช่ความผิดของฟอร์ด แต่เป็นความบิดเบี้ยวของรัฐนี้ ไม่มีใครควรจะเดินลงไปประท้วงบนถนนทุกวัน แต่รัฐมันไม่ปกติ” เขากล่าว เมื่อถูกถามถึงความคิดเห็นต่อสิ่งที่ทั้งเขาและฟอร์ดกำลังเผชิญ
“หลังการสลายการชุมนุมวันที่ 16 ตุลาคม มีนอกเครื่องแบบมาจับฟอร์ดถึงที่พัก ผมก็ตามไปที่โรงพักด้วย ต้องตามไปช่วยดูความปลอดภัย เพราะบนรัฐแบบนี้อะไรก็เกิดขึ้นได้”
ไม่จบเพียงแค่การจับกุม เพราะการเคลื่อนไหวทางการเมืองแลกมาด้วยการสิ้นความเป็นส่วนตัว
“มีสันติบาลมาตามอยู่ตลอด เราไม่ควรต้องเจออะไรแบบนี้ เราอยากให้เรื่องมันจบลง จะได้ไม่ต้องเสียเวลาในชีวิตไปกับอะไรแบบนี้”
ท่ามกลางความยากลำบาก ทั้งสองโอบกอดปลอบใจกัน
“เราแทบจะปลอบใจกันและกันตลอดเวลา เราใช้การกอด การกอดทำให้เรารู้สึกดีขึ้น มันเป็นการให้กำลังใจกันและกัน”
ก่อนที่บทสนทนาท่ามกลางช่วงเวลาที่ยุงเหยิงจะจบลง เจมส์ได้สะท้อนภาพของฟอร์ดในสายตาเขา
“ฟอร์ดมีความรู้ มีหลักการ แต่ไม่ค่อยเอามาปฎิบัติ เราต้องช่วยผลักดันให้เขาเอาออกมาใช้ให้เป็นประโยชน์ เขาเป็นคนอ่อนไหวมาก โดยเฉพาะกับคนที่เขารัก เขาเห็นคุณค่าความเป็นมนุษย์ของทุกๆ คน เท่าๆ กัน ไม่ว่าจะเป็นใครก็ตาม”