ราว 10 ปีที่แล้ว ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ พามวลชนเรือนแสนที่เรียกกันว่า คนเสื้อแดง หรือ นปช. จากทั่วทุกสารทิศเข้ามายังกรุงเทพฯ เพื่อเรียกร้องให้ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีจากพรรคประชาธิปัตย์ลาออกและเปิดทางให้มีการเลือกตั้งใหม่ แต่ข้อเรียกร้องของพวกเขาถูกตอบแทนด้วยกระสุนห่าใหญ่จนนำไปสู่เหตุการณ์สลายชุมนุมทางการเมืองที่มีคนล้มตายมากที่สุดในประวัติศาสตร์ หรือ 94 ศพที่เสียชีวิตกลางกรุงเทพมหานครเป็นอย่างน้อย
แม้เรื่องราวข้างต้นเป็นโศกนาฎกรรมในอดีตที่ยังไม่ถูกสะสาง แต่ล่าสุด ณัฐวุฒิ ลุกขึ้นสู้อีกครั้ง และประกาศจัดกิจกรรม Car Mob – Call Out ในเวลา 14.00 น. ของวันที่ 29 สิงหาคมนี้ โดยจะมีกิจกรรมอิ่นดำเนินควบคู่ไปในโลกออนไลน์ และประกาศยึดหลักสันติวิธี หลีกเลี่ยงการปะทะกับเจ้าหน้าที่ทุกรูปแบบ
ทำไมชายผู้เคยผ่านสมรภูมิล้อมปราบกลางเมืองถึงมองว่า สันติวิธีจึงสำคัญในเวลานี้เช่นนี้? หรือคำที่เขากล่าวในบทสัมภาษณ์ว่า “เราทุกคนเคยมีประสบการณ์มาแล้ว” อาจแทนคำตอบได้บ้างไม่มากก็น้อย
แม้ผ่านจากการต่อสู้ที่มีเขานำขบวนมานับ 10 ปี แต่คำพูดของชายที่ชื่อณัฐวุฒิยังควรค่าแก่การให้น้ำหนักและรับฟังเต็มสองหู ไม่ใช่แค่ในฐานะแกนนำมวลชน หรือผู้ออกแบบยุทธศาสตร์สู้กับอำนาจเผด็จการ แต่ในฐานะผู้ที่เคยผ่านประสบการณ์รุนแรงชนิด “ยิงทิ้งกลางเมือง” และความยุติธรรมในมือผู้สั่งการไม่เคยหยิบยื่นอะไรให้
ยุทธศาสตร์การชุมนุม หลักสันติวิธีที่ทั้งฝ่ายรัฐและประชาชนควรยึดให้มั่น รวมถึงความรุนแรงที่ทุกฝ่ายควรร่วมกันหลีกเลี่ยงคือ เนื้อหาหลักทั้งหมดในบทสัมภาษณ์ด้านล่างนี้
ทุกวันนี้ คนรุ่นใหม่มองคนเสื้อแดงในฐานะฮีโร่ นักต่อสู้ผู้มาก่อนกาล รู้สึกอย่างไรบ้าง
จะเป็นถึงขั้นฮีโร่หรือเปล่า ผมไม่แน่ใจ แต่คนรุ่นใหม่ให้ความเข้าใจและเห็นอกเห็นใจคนเสื้อแดง โอบรับเอาความบอบช้ำของคนเสื้อแดงไว้เป็นส่วนหนึ่งในการต่อสู้ของพวกเขา พวกเขาทำในสิ่งที่แกนนำอย่างผมไม่สามารถทำให้พี่น้องคนเสื้อแดงได้ คือการหยิบยื่นเกียรติยศ และเอาการต่อสู้ของคนเสื้อแดงมาอธิบายใหม่ เพื่อส่งมอบให้กับคนรุ่นต่อไป
ตรงนี้ผมพูดชัดเลยว่า ผมเป็นหนี้บญคุณคนหนุ่มสาว เพราะว่าพี่น้องคนเสื้อแดงที่ออกมาต่อสู้ตอนนั้น สูญเสียทั้งชีวิต อิสรภาพ แม้กระทั่งศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ก็ถูกด้อยค่าและเหยียบย่ำ แต่คนรุ่นนี้ เขาโอบอุ้มพี่น้องผมขึ้นมา เขาทำให้หัวใจที่มันบอบช้ำ อ่อนล้า กลับคืนมามีพลังอีกครั้ง
ในช่วงที่ผ่านมา มีการปะทะระว่างผู้ชุมนุมและเจ้าหน้าที่บริเวณแยกดินแดงแทบทุกวัน มองอย่างไรบ้าง
เป็นเรื่องน่ากังวลใจ เพราะจากที่ผมไปที่สามเหลี่ยมดินแดง พบว่ามีน้องกลุ่มหนึ่งที่ตั้งใจมาเผชิญหน้ากับเจ้าหน้าที่จริงๆ ซึ่งถ้าเป็นแบบนั้น แม้ว่าห่วงใยแต่ผมก็เคารพ เพราะถือว่าเป็นการตัดสินใจของนักต่อสู้ ส่วนเหตุการณ์มันจะพัฒนาไปอย่างไร ผมหวังว่าจะไม่มีความสูญเสีย และความรุนแรงจะค่อยๆ ลดลง จนสามารถหาวิธีที่สุ่มเสี่ยงน้อยกว่านี้ได้
แต่ก็เป็นไปได้เช่นกันว่า บางส่วนที่พื้นที่ตรงนั้น อาจจะมีการจัดตั้งเพื่อมาสร้างภาพความรุนแรง และหวังให้บานปลายจนเป็าเป้าหมายของฝ่ายรัฐ ตรงนี้ต้องตามดู ตามสังเกตุกันต่อ
ถ้าสมมุติว่าวันนี้ คุณยังเป็นแกนนำต่อสู้อยู่จะทำอย่างไร
มันทำได้ 2-3 อย่าง ประการแรก เราไม่จำเป็นต้องเอาพื้นที่ตรงนั้น (แยกดินแดง) เป็นเป้าหมายหลักในการต่อสู้ จนลืมสื่อสารเนื้อหาสาระออกสู่สังคม เพราะเมื่อภาพความรุนแรงกลายเป็นภาพหลัก การอธิบายเหตุผลและข้อเท็จจริงที่ต้องออกมาขับไล่รัฐบาล ก็จะถูกลดทอนพื้นที่ลงไป อย่างเช่น เวลาเราจัดการชุมนุมขนาดใหญ่ แต่สุดท้ายสื่อต่างๆ เลือกที่จะหยิบภาพความรุนแรงในตอนท้ายชุมนุมขึ้นมาเป็นข่าวหลัก แล้วจัดให้การแสดงพลังของประชาชนเป็นข่าวลำดับรองลงไป
ประการที่สอง ถ้าหากต้องการใช้พื้นที่ตรงนั้นเป็นสัญลักษณ์ของการต่อสู้จริงๆ ผมว่าต้องคิดอ่านเตรียมการมากกว่านี้ 10 กว่าปีที่แล้ว ผมเคยนำมวลชนแหกด่านหลายต่อหลายครั้ง เผชิญหน้ากับเจ้าหน้าที่ก็ไม่ใช่น้อย แต่ทุกครั้งที่เราจะทำ เราต้องประเมินกำลังฝ่ายเรา ฝ่ายเจ้าหน้าที่ ยุทธวิธีปฏิบัติ จะต้องหาข่าวภายใน ต้องรู้แม้กระทั่งว่าเขาส่งหน่วยไหนมา ใครเป็นผู้บังคับบัญชา มีอุปกรณ์กีดขวางอะไรบ้าง ความหมายของผมคือ ต้องกำหนดยุทธวิธีให้ชัดเจน ถ้าคิดจะแหก ต้องแหกให้ได้
แต่เท่าที่สังเกตในขณะนี้ การชุมนุมบริเวณแยกดินแดงยังเป็นลักษณะของการนัดพบกันในพื้นที่ และให้ทุกอย่างเป็นไปเอง ซึ่งมันน่าห่วงใย เพราะเราไม่สามารถคาดเดาได้เลยว่ามันจะเกิดอะไรขึ้นบ้างในแต่ละคืน
และเท่าที่ดู การเจรจาและสื่อสารระหว่างผู้ชุมนุมกับเจ้าหน้าที่คงไม่มีเลย สมัยผมถ้าเราจะเคลื่อนขบวนและต้องเผชิญหน้ากับเจ้าหน้าที่ มันต้องมีการพูดคุย เจรจา ทำความเข้าใจไปพร้อมๆ กัน เพราะในบางเหตุการณ์มันหาข้อสรุปร่วมกันได้ เราคุยกับเขาว่าจะไปถึงตรงไหน เจ้าหน้าที่ก็จะพิจารณา ถ้าเผชิญหน้ากันแล้วเดี๋ยวบานปลาย ก็จะเปิดช่องทางให้หรือหาจุดลงตัวร่วมกันได้
ผมไม่อยากน้องๆ เหล่านี้กลายเป็น ‘วีรชน’ เพราะสำหรับผมคำนี้ในประเทศนี้ มันเจ็บปวด มันเวิ้งว้างว่างเปล่า วีรชนในประเทศนี้มีไว้สำหรับรำลึกและให้แกนนำทรยศเท่านั้น เราเห็นการรำลึกวีรชนในหลายเหตุการณ์ แต่ขณะเดียวกัน เราก็เห็นการทรยศ หักหลังจิตวิญญาณของวีรชนด้วยมือของแกนนำพวกเขาเอง เราเห็นแกนนำบางคนหันไปสนับสนุนรัฐประหาร หันหลังให้ขบวนการและยังทำลายล้างขบวนการประชาธิปไตยเสียเอง
เมื่อสังคมนี้ ยังไม่พร้อมทำให้คำว่าวีรชน มันยิ่งใหญ่เหมือนความหมายของคำ ผมคิดว่ารื่องสำคัญมากที่สุดเรื่องหนึ่งคือ การรักษาชีวิตและความปลอดภัยไว้ให้กัน
คุณพูดถึงการเจรจา แต่อย่างที่รู้กันว่าแกนนำของการชุมนุมในครั้งนี้ถูกจับเข้าคุกแทบทุกคนแล้ว ในสถานการณ์แบบนี้ ฝ่ายรัฐยังจริงใจที่จะเจรจาหรือ
ฝ่ายรัฐปฏิเสธช่องทางเจรจาไม่ได้นะครับ เพราะรัฐเป็นคนถืออาวุธ ถืออำนาจ ถ้าผู้มีอำนาจปฏิเสธช่องทางเจรจาหมายความว่า คุณกำลังเปิดช่องทางสู่สงคราม ซึ่งมันไม่ถูก
เราเคยมีประสบการณ์ที่เจ็บปวดมาแล้วในปี 2553 คืนวันที่ 18 พฤษภาคม ผมตกลงกับตัวแทน ส.ว. ที่เข้าไปหลังเวทีว่า จะมีการเจรจากับคุณอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรีในเวลานั้น) โดยมีประธานวุฒิสภาเป็นคนกลาง แต่การเจรจาไม่เกิดขึ้น และวันที่ 19 พฤษภาคม เกิดการล้อมปราบผู้ชุมนุม จนมีผู้เสียชีวิตหลายราย นี่คือตัวอย่างที่เจ็บปวด
เพราะฉะนั้น รัฐต้องพยายามแสวงหาทุกช่องทาง ทุกโอกาสที่จะเจรจากับผู้ชุมนุม อย่าอ้างว่าไม่มีแกนนำ เพราะในทุกการเคลื่อนไหว มันจะมีแกนนำโดยธรรมชาติ จะมีคนที่มีบทบาทอยู่ในสถานการณ์นั้น และมันจะมีวิธีการที่สามารถติดต่อสื่อสารกันได้เสมอ
แต่มาถึงตอนนี้ คือรัฐไม่พยายามเจรจา ยังมีปฏิบัติการซ้ำๆ ไม่คิดปรับเปลี่ยน ไม่คิดแก้ไขสถานการณ์ให้ดีขึ้น เรื่องนี้ผมต้องตั้งคำถามไปถึงนายกฯ เพราะตราบใดที่นายกฯ นิ่งเฉย ไม่ออกมาพูดให้ชัดว่าตำรวจต้องยุติความรุนแรง หรือเปลี่ยนวิธีปฏิบัติ เจ้าหน้าที่ก็เข้าใจว่านายกฯ ชอบแบบนี้ ต้องการแบบนี้ มันก็เลยบานปลาย
ในช่วงหลังมานี้ คุณคงเห็นว่าการสลายชุมนุมผิดจากหลักสากลไปมาก ในช่วงการชุมนุมของ นปช. มีการกระทำเหล่านี้เกิดขึ้นไหม
ผมไม่เคยเจอระบบที่เจ้าหน้ายิงแก๊สน้ำตาหรือกระสุนยางลงมาจากที่สูง เคยเจอแต่ยิงในแนวระนาบ เพราะฉะนั้น ผมว่าปฏิบัติการแบบนี้เลยหลักสันติวิธีและหลักสากลไปมาก
ผมเรียกร้องจากเจ้าหน้าที่ให้หยุดและทบทวนการปฏิบัติมาตลอด แต่เจ้าหน้าที่ก็ไม่หยุด เพราะหันไปดูฝ่ายรัฐบาลเฉยทุกคน ไม่มีใครออกมาเบรคเลย เจ้าหน้าที่เขาก็นึกว่าที่ทำเนี่ยมันถูก มันทำได้ และควรทำด้วยซ้ำ
ถ้าจะบอกว่านี่เป็นขบวนการเด็กแว้น เด็กเกเร ไม่เคารพกฎหมายบ้านเมือง ถ้าพูดอย่างนั้น คุณต้องมีวิธีการที่ถูกต้องไปจัดการ แต่นี่คุณใช้วิธีการที่ผิดกว่า ผลลัพธ์มันจะออกมาถูกต้องได้อย่างไร
และถ้ายังปล่อยแบบนี้ไปเรื่อยๆ ผมห่วงว่าวันหนึ่ง มันจะเปลี่ยนจากกระสุนยางเป็นกระสุนจริง แบบที่ผมเคยเจอเมื่อ 10 ปีที่แล้ว ยิงจากบนตึก ใช้ปืนติดลำกล้องยิงระยะไกล และหลังจากความสูญเสียมากมายทุกอย่างก็เงียบ กระบวนการยุติธรรมหยิบยื่นความยุติธรรมไม่ได้เลย เหมือนพวกผมถูกยิงทิ้งกลางเมือง
ดังนั้น เมื่อใดที่รัฐเผชิญหน้าและมีการปะทะกับประชาชนทุกวัน รัฐต้องรับผิดชอบ และแสดงออกมาว่าคุณเรียนรู้ ถอดบทเรียน และทำให้มันดีขึ้นได้ แต่นี่กลายเป็นว่า เจ้าหน้าที่กับเด็กอายุ 15-17 ปีเท่ากันเลย คือเป็นอริกัน ยกพวกตีกันทุกวัน มันอยู่กันได้หรอครับสังคมแบบนี้
และในสถานการณ์แบบนี้ มันถึงมีคำถามเกิดขึ้นว่า สันติวิธียังมีประสิทธิภาพอยู่หรือ
จำเป็นอย่างยิ่ง ยิ่งสถานการณ์มันตึงเครียดเท่าไหร่ ทุกฝ่ายยิ่งต้องยึดหลักสันติวิธีเอาไว้ให้แข็งแรงที่สุด
สังคมอย่าเรียกร้องแต่สันติวิธีจากฝ่ายประชาชน มันต้องเรียกร้องหลักสันติวิธีจากเจ้าหน้าที่รัฐด้วย และต้องเรียกร้องมากกว่า ดังกว่า เพราะรัฐถือปืน ถืออาวุธ ถือยุทโธปกรณ์
รัฐต้องรู้ว่า ไม่จำเป็นที่เอายุทโธปกรณ์ออกมาแล้วต้องใช้ ยิ่งเมื่อไหร่ที่เอาของพวกนี้ออกมา คุณต้องตระหนักตลอดเวลาว่านี่คือของไม่ควรใช้ และความสำเร็จสูงสุดของรัฐคือ การไม่ต้องใช้สิ่งเหล่านี้กับประชาชน
แต่ที่เห็นกลายเป็นว่าเบิกปืน กระสุนยาง แก๊สน้ำตามาแล้วก็ต้องใช้ ราวกับว่าถ้าไม่ใช้จะสูญเปล่า รัฐจะเสียประโยชน์ มันกลับตาลปัตรไปเสียหมดทั้งวิธีคิดและปฏิบัติของฝ่ายเจ้าหน้าที่
แต่ทุกวันนี้เราเห็นว่าผู้ชุมนุมสันติวิธีแทบจะทุกรูปแบบแล้ว จนกระทั่งหยิบยื่นน้ำเปล่าและเช็ดเหงื่อให้ เรามีวิธีไหนที่เราจะเรียกร้องสันติวิธีจากภาครัฐได้มากกว่านี้
เราต้องเข้าใจว่าคนที่เผชิญหน้ากันอยู่ทุกวัน อารมณ์ความรู้สึกมันไปไกลแล้ว แต่สิ่งที่ต่างก็คือ รัฐสับเปลี่ยนกำลังได้ เปลี่ยนยุทธิวิธีได้ เปลี่ยนยุทโธปกรณ์ในการปฏิบัติได้ ดังนั้น ถ้าชุดนี้ปฏิบัติแล้วปะทะกันมาก เปลี่ยนชุดสิครับ ถ้าเห็นว่าวิธีการแบบนี้ยังตีกันไม่หยุด เปลี่ยนวิธีสิครับ ถ้าเห็นว่าใช้ยุทโธปกรณ์แบบนี้ มันเจ็บกันหนัก เปลี่ยนสิครับ
แล้วเวลาสับเปลี่ยนกำลัง ชุดที่เอามาใหม่ต้องสร้างแนวคิดทางสันติวิธี สร้างมุมมองต่อการใช้กำลังให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับการลดทอนความรุนแรง ไม่ใช่ไปปั่นเจ้าหน้าที่ว่าเด็กพวกนี้เป็นศัตรูของชาติ ปั่นอารมณ์เขาแล้วปล่อยหน้างาน
ทรัพยากรของรัฐไม่มีวันสูญสิ้นเปล่าเปลืองเลย ถ้าคุณทำเพื่อความปลอดภัยของประชาชน แต่มันไร้ค่าและอัปยศ เมื่อคุณใช้ทำอันตรายกับประชาชน
มองย้อนกลับไปในช่วงที่คุณเป็นแกนนำชุมนุม นปช. มองว่าตอนนั้นขบวนการมีจุดเด่นและจุดด้อยอย่างไรบ้างที่ขบวนการในปัจจุบันสามารถถอดบทเรียนมาเรียนรู้
ธรรมชาติของมวลชนปัจจุบัน ไม่เหมือนเมื่อ 10 กว่าปีที่แล้ว น้องคนหนุ่มสาวรุ่นปัจจุบัน เขาต่อสู้และผ่านสถานการณ์ด้วยกันอย่างเสรีชน แม้ว่าจะมีกลุ่มต่างๆ ขึ้นมาแสดงบทบาทนำ เช่น ธรรมศาสตร์และการชุมนุม, Free YOUTH หรือ REDEM แต่ขบวนเหล่านั้นไม่ได้มีกระบวนการหล่อหลอมมวลชนเข้ากับขบวนการต่อสู้อย่างเป็นรูปธรรม มันจึงมีระยะห่างระหว่างแกนนำกับมวลชน และจึงมีภาพว่าแกนนำก็ไปทาง มวลชนไปทางอยู่หลายครั้ง
สำหรับกลุ่ม นปช. พวกเรามีการทำงานจัดตั้ง สร้างเครือข่าย ขยายแนวร่วม แล้วร่วมเป็นร่วมตายกันเป็นปีๆ จนความสัมพันธ์ระหว่างแกนนำกับมวลชนใกล้ชิดมาก และเรายังมีการสื่อสารกับมวชนผ่านแกนนำระดับจังหวัด อำเภอ ไปถึงระดับตำบล ดังนั้น การเคลื่อนขบวนของพวกผมเมื่อ 10 ปีที่แล้ว มีความเป็นเอกภาพและเป็นขบวนการชัดกว่าในยุคปัจจุบัน
ดังนั้น ผมคิดว่าแกนนำควรจะลดระยะห่างจากมวลชนให้มากกว่านี้ มีการสื่อสารทางความคิด มีการทำงานในลักษณะขบวนการทางการเมืองให้ชัดเจนกว่านี้ ผมไม่ได้บอกว่าจะต้องตั้งเป็นองค์กร มีโครงสร้าง สายบังคับบัญชา แต่ต้องมีรูปของขบวนการมากกว่าที่เป็นอยู่
นอกจากนี้ เราจะเห็นว่าในแต่ละกลุ่มจะมีหลักคิดเรื่องสันติวิธีที่แตกต่างกันอยู่พอสมควร ดังนั้น มันเลยกลายเป็นข้อถกเถียงในความหมาย วิธีทาง หรือแนวทางในการต่อสู้ ซึ่งอาจนำไปสู่ความสับสนในขบวนการ
นอกจากแกนนำกับมวลชนต้องลดช่องว่างแล้ว ระหว่างกลุ่มแกนนำด้วยกันเองก็ต้องมีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็น สรุปและถอดบทเรียนร่วมกัน และเคารพในบทสรุปนั้น ก่อนที่จะขยับเดินไปข้างหน้า ซึ่งผมเข้าใจว่าตอนนี้แต่ละขบวนยังมีช่องว่างอยู่ ผมเลยคิดว่าความเป็นเอกภาพยังเป็นเรื่องที่ต้องพยายาม
คุณมองว่าจุดอ่อนด้านยุทธศาสตร์อย่างหนึ่ง คือเรื่องความเป็นเอกภาพใช่ไหม
ทั้งสองแบบมีทั้งจุดอ่อน-แข็ง แบบ นปช. จุดแข็งคือ ความเป็นหนึ่งเดียวกันสูง ลักษณะขบวนการสูง แต่เมื่อทำลายส่วนนำได้ ความระส่ำระส่ายอ่อนแอเกิดขึ้นทันที
สอง เมื่อขบวนการต่อสู้มีโครงสร้างชัด หน่วยข่าวของรัฐก็สามารถเจาะถึงโครงสร้างเหล่านั้น และปฏิบัติการกดดัน ข่มขู่ คุกคาม กระทั่งไล่ล่า ทำให้บุคคลที่อยู่ในโครงสร้างกลายเป็นเหยื่อเป็นเป้าหมาย และถูกกระทำเหมือนที่พวกผมถูกกระทำกันมา
ในขณะที่รูปแบบปัจจุบัน มีลักษณะความเป็นขบวนการน้อย แต่ก็มีจุดแข็งคือคล่องตัว ปรับเปลี่ยนได้ทันที สู้ได้ฉับพลัน แต่ว่าจุดอ่อนคือ เวลามีสถานการณ์สำคัญ มันจะคุมขบวนกันยาก สื่อสารกันลำบาก และการตัดสินใจจะไม่สำพันธ์กับหน้างาน
อย่างไรก็ตาม ภายใต้จุดแข็ง-อ่อนนี้ พอมันเกิดเหตุการณ์มาถึงปัจจุบัน การสรุปและถอดบทเรียนยังเป็นเรื่องสำคัญและจำเป็นอยู่ และนี่เป็นสิงที่ผมก็ตั้งข้อสังเกตกับขบวนการของน้องๆ แต่ละส่วน
อย่างในช่วงที่มีการชุมนุมของกลุ่ม นปช. มีเหตุการณ์ว่าหลังจากประกาศยุติการชุมนุมแล้ว แต่ยังมีผู้ชุมนุมรอปะทะกับเจ้าหน้าที่อยู่ไหม
มีบ้าง ตอนผมประกาศยุติการชุมนุมหน้าทำเนียบรัฐบาลปี 2552 พี่น้องจำนวนหนึ่งไม่เห็นด้วยและอยากสู้ต่อ แต่ในที่สุดเราก็อธิ บายความจนทำให้การตัดสินใจนั้นเป็นการตัดสินใจรวมหมู่ไปด้วยกันได้ หรือปี 2553 ถ้าย้อนไปดูคลิปเก่าจะได้ยินเสียงพี่น้องหน้าเวทีไม่เห็นด้วย แต่ในที่สุดเราก็อธิบายเหตุผล สถานการณ์ และยุติไปด้วยกัน
สิ่งนี้เกิดจากความเป็นเอกภาพในขบวนการ และความใกล้ชิดระหว่างแกนนำกับมวลชน ซึ่งมันจะต่างกับปัจจุบัน
ผมยกตัวอย่างง่ายๆ เมื่อวันที่ 15 สิงหาคม พอเสร็จกิจกรรมคาร์พาร์ค ผมไปที่ที่แยกดินแดงที่กำลังมีการเผชิญหน้ากันอยู่ และขึ้นพูดบนรถเครื่องเสียงบอกให้น้องๆ หยุดก่อนและถอยมา ไม่ให้เผชิญหน้ากับเจ้าหน้าที่ แต่ก็มีส่วนน้อยที่อยู่กับผม
ที่ผมอยากอธิบายคือ ถ้าอยู่ๆ ผมไปจับไมค์พูดและเขาฟังกันหมดเลย อันนั้นสิแปลก เพราะว่าผมไม่เคยพบกับพวกเขาในสนามต่อสู้เลย ไม่เคยยืนปราศรัยต่อหน้า แล้ววันหนึ่งผมกลับไปปรากฎตัวในสถานการณ์ที่ทุกคนกำลังตึงเครียด ไปบอกให้ทุกอย่างหยุด มันเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้
เมื่อใดก็ตามที่แกนนำกับมวลชน มีช่องว่างระหว่างกันมากเท่าไหร่ การกำกับ ควบคุมขบวนโดยเฉพาะในสถานการณ์คับขับยิ่งยากมากขึ้นเท่านั้น
ดังนั้น ถ้าจะมีการต่อสู้ไปข้างหน้า แน่นอนว่ามันเป็นการเดินทางไกล แกนนำจะต้องสร้างจุดเชื่อมต่อกับมวลชนให้ได้มากขึ้น และถ้าขบวนนำกับมวลชนมีจุดเชื่อมต่อกันได้ ลักษณะความเป็นเอกภาพของขบวนก็จะมากขึ้นตามลำดับ
คุณน่าจะพอรู้ว่าในการชุมนุมครั้งนี้ ข้อเสนอไปไกลกว่าสมัย นปช. มาก ข้อเสนอของ นปช. คือ ให้คุณอภิสิทธิ์ยุบสภาและจัดให้มีการเลือกตั้งใหม่ แต่ข้อเสนอครั้งนี้คือปฏิรูปสถาบันฯ คุณมีความกังวลอย่างไรบ้างไหม
สถานการณ์การเมืองในสังคมไทยเวลานี้ มันแหลมคม ละเอียดอ่อน และซับซ้อนมาก ผมไม่ได้พิจารณาที่เพดานข้อเรียกร้องของน้องๆ แต่พิจารณาจากเพดานความคิดของผู้คน หลายเรื่องที่เป็นเสียงกระซิบเมื่อ 10 ปีที่แล้ว กลายเป็นเสียงพูดออกมาชัดถ้อยชัดคำ ในทุกแวดวง และในทุกบรรยากาศ สัญญาณหลักนี้คือ ความจริง และเราต้องอยู่โดยยอมรับและเข้าใจความจริงให้ได้
ส่วนตัวผมนะครับ ผมหวังใจและจะพยายามอย่างยิ่งที่จะให้ในช่วงโค้งความเปลี่ยนแปลงของสังคมไทยเกิดขึ้นโดยสันติ เกิดขึ้นโดยไม่มีใครต้องทำลายใคร เกิดขึ้นโดยถึงที่สุดแล้ว ทุกคน ทุกส่วน ทุกฝ่ายยังอยู่ร่วมกันได้
เพียงแต่อย่างที่เรียน เราปฏิเสธกฎเกณฑ์ของความเปลี่ยนแปลงไม่ได้จริงๆ ต้องเข้าใจตรงนี้ร่วมกันก่อน
หลายเรื่องที่เป็นเสียงกระซิบเมื่อ 10 ปีที่แล้ว กลายเป็นเสียงพูดออกมาชัดถ้อยชัดคำ ในทุกแวดวง และในทุกบรรยากาศ สัญญาณหลักนี้คือ ความจริง และเราต้องอยู่โดยยอมรับและเข้าใจความจริงให้ได้
คุณมองอย่างไรบ้างที่รัฐสภา หรือฝ่ายนิติบัญญัติไม่สามารถพูดหรือผลักดันในสิ่งที่สังคมหวังได้
ผมว่ามันเป็นเรื่องที่เข้าใจได้นะ เพราะกลไกระบอบประชาธิปไตยในประเทศนี้ มันตกอยู่ภายใต้เครือข่ายอิทธิพลบางกลุ่มมายาวนาน ดังนั้น พลังของประชาชนซึ่งไม่ยินยอมตกอยู่ภายใต้อิทธิพลเครือข่ายอำนาจใดๆ จึงโตเร็วกว่า ก้าวหน้ากว่า
ผมไม่ได้เรียกร้องให้ฝ่ายการเมืองออกมายืนกลางถนนกับประชาชน แต่ผมอยากให้ฝ่ายการเมืองออกมายืนบนหลักการเดียวกับประชาชน กล้าที่จะเป็นตัวแทนเผชิญหน้ากับอิทธิพลของอำนาจนอกระบบให้ได้
และถ้าอำนาจในระบบเป็นแนวปะทะให้ประชาชนได้มากเท่าไหร่ ประชาชนก็จะได้รับการผ่อนภาระ และมีหลักประกันความปลอดภัยจากการต่อสู้มากเท่านั้น แต่ถ้ากลในระบบเกิดภาวะชะงักงัน ไม่กล้าคิด ไม่กล้าทำ ไม่กล้าต่อสู้ ประชาชนจะโดดเดี่ยวและตกอยู่ในอันตราย
ถ้าอำนาจในระบบเป็นแนวปะทะให้ประชาชนได้มากเท่าไหร่ ประชาชนก็จะได้รับการผ่อนภาระ และมีหลักประกันความปลอดภัยจากการต่อสู้มากเท่านั้น แต่ถ้าเมื่อใดก็ตาม กลในระบบเกิดภาวะชะงักงัน ไม่กล้าคิด ไม่กล้าทำ ไม่กล้าต่อสู้ ประชาชนจะโดดเดี่ยวและตกอยู่ในอันตราย
ในสายตาคุณ ตอนนี้ถือว่าชะงักงันไหม
เรียกว่าชะลอ และผมว่ายังก้าวเท้าได้ยาวๆ มากกว่านี้ แต่ว่ายังไม่เห็นก้าวยาวๆ แบบนั้น
ผมไม่ได้ไปปรามาศอะไรนะครับ เพราะครั้งหนึ่งผมก็เคยเป็นคนที่อยู่ในสภา แต่สถานการณ์มาถึงตรงนี้มันเปลี่ยนไปมากแล้ว คนที่เป็นตัวแทนของประชาชนต้องสำเหนียกและต้องกระตุ้นเตือนตัวเองให้แสดงความรับผิดชอบต่อความเปลี่ยนแปลงของบ้านเมืองให้ชัดกว่านี้ และมากกว่านี้
หลังจากนี้ เราะจะได้เห็นเครือข่ายของ นปช. เข้ามาเป็นกำลังช่วยน้องๆ ไหม
ที่จริงพี่น้องเสื้อแดงเป็นแนวร่วมต่อสู้กับพี่น้องเยาวชนมาเป็นปีแล้ว คือที่ไหนมีการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย ที่นั่นมีคนเสื้อแดง แต่ถามว่าจะถึงขั้นจัดตั้งเป็นองค์กรออกไปนำการต่อสู้เสียเองไหม? ผมว่ามันเลยยุคสมัย เลยวันเวลา เลยบทบาทของพวกเรามาแล้ว แม้กระทั่งตัวผม ก็ไม่น่าจะเป็นบทบาทที่ไปยืนอยู่แถวหน้าสุดของขบวน ไปนำการต่อสู้ที่คนหนุ่มสาวเขาทำกันอยู่อีกแล้ว
ยุคสมัยเป็นของพวกเขา วันเวลาเป็นของพวกเขา และที่สำคัญที่สุด อนาคตของประเทศเป็นของพวกเขา
ผมมักจะเปรียบเทียบกับพวกว่า ถ้าพวกเราเป็นนักฟุตบอล เมื่อ 10 กว่าปีที่แล้วเราคงเหมือนศูนย์หน้าตัวเป้า ลงไปแล้วต้องทำประตูให้ได้ ชีวิตมีสีสันฉูดฉาดทั้งในและนอกสนาม แต่ผ่านมาจนถึงวันนี้ เราน่าจะเป็นมิดฟิลด์ตัวกลาง ตัวรับ หรือไปยืนเป็นเซนเตอร์ฮาล์ฟด้วยซ้ำ ปล่อยให้คนหนุ่มสาวเป็นศูนย์หน้าตัวเป้า เป็นผู้นำการขับเคลื่อน เป็นผู้นำการต่อสู้
คุณเคยพูดไว้กับ 101.world ว่า ในช่วงการชุมนุม นปช. ความผิดพลาดอย่างหนึ่งคือประเมินจิตใจผู้มีอำนาจต่ำเกินไป ขยายความหน่ยได้ไหมเพื่อเป็นข้อคิดสำหรับการต่อสู้ในปัจจุบัน
พวกเขาสามารถลงมือสร้างความตายได้ไม่จำกัดจำนวน และเพิกเฉยต่อความตายนั้น สิ่งที่ผมเจอเมื่อปี 2553 มันหนักหนาสาหัสกว่าความสูญเสียแต่ละครั้งในประวัติศาสตร์การเมืองไทย เพราะไม่ว่า 14 ตุลาฯ 6 ตุลาฯ หรือพฤษภาทมิฬ เมื่อมีความสูญเสีย ฝ่ายผู้มีอำนาจจะออกกฎหมายนิรโทษกรรม ไม่ให้มีการเอาผิด ให้ทุกอย่างจบเลิกแล้วต่อกัน
สำหรับผม การที่ผู้มีอำนาออกกฎหมายนิรโทษกรรม สะท้อนว่าในใจพวกเขายอมรับว่ากระทำความผิด จึงต้องใช้อำนาจของกฎหมายเพื่อให้ความผิดนั้นได้ข้อยุติ แต่เหตุการณ์เมื่อปี 2553 ไม่มี ไม่ต้องนิรโทษกรรม พวกเขาสั่งยิงคนตายเป็นร้อย และปล่อยให้ผู้สูญเสียเดินไปตามกระบวนการกฎหมายปกติ แล้วคดีมันถึงไหนไหม?
ผมฟ้องศาลอาญาก็บอกต้องไปศาลฎีกาแผนกผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พอจะไปฟ้องก็ตั้งต้นที่ ปปช. เขาก็บอกไม่มีมูล ไปฟ้องศาลทหาร อัยการศาลทหารก็บอกไม่พบตัวผู้กระทำความผิด แล้วคุณรับได้ไหมล่ะ ถ้าหากคนตายเป็นร้อย แล้วกลไกยุติธรรมทำอะไรไม่ได้เลย นี่คือความอำมหิตของผู้มีอำนาจ
เพราะฉะนั้น ผมจึงให้ความสำคัญที่สุดกับความปลอดภัยของคนหนุ่มสาว เพราะผมรู้ว่าพลาดพลั้งไปแล้ว มันเกิดอะไรขึ้น และผมก็รู้อีกว่า ไม่มีประโยชน์สำหรับการมีวีรชนเพิ่มในสังคมนี้
ผมย้ำอีกทีว่า วีรชนในทุกเหตุการณ์สูญเสียทางการเมืองมีไว้ 2 อย่าง มีไว้ให้รำลึก และมีไว้ให้แกนนำทรยศ ซึ่งมันไม่เป็นธรรมกับพวกเขา มันเป็นเรื่องที่คนในยุคปัจจุบันต้องยอมรับว่า สังคมนี้ไม่มีที่ให้ฝ่ายประชาธิปไตยเหยียบยืนสง่างามอย่างที่ควรเป็น
ผมให้ความสำคัญที่สุดกับความปลอดภัยของคนหนุ่มสาว เพราะผมรู้ว่าพลาดพลั้งไปแล้ว มันเกิดอะไรขึ้น และผมก็รู้อีกว่า ไม่มีประโยชน์สำหรับการมีวีรชนเพิ่มในสังคมนี้
และบังเอิญว่า ในตอนนี้คนที่เคยมีส่วนร่วมสำคัญกับการสลายชุมนุมปี 2553 ก็มานั่งเป็นฝ่ายบริหารในตอนนี้ด้วย
คนพวกนี้ เขาอยู่ใน ศอฉ. (ศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน) พวกเขามีวิธีจัดการการชุมนุมจนคนบาดเจ็บล้มตายมากที่สุดในประวัติศาสตร์การเมืองไทย เพราะฉะนั้น ประมาทหัวใจคนพวกนี้ไม่ได้เด็ดขาด และเอาหัวใจของประชาชนทั่วไปไปวัดกับหัวใจพวกเขาก็ไม่ได้ เพราะพวกเขาอำมหิตยิ่งกว่าที่พวกเราจะจินตนาการ
ประมาทหัวใจคนพวกนี้ไม่ได้เด็ดขาด และเอาหัวใจของประชาชนทั่วไปไปวัดกับหัวใจพวกเขาก็ไม่ได้ เพราะพวกเขาอำมหิตยิ่งกว่าที่พวกเราจะจินตนาการ
FACT BOX:
- ศูนย์ข้อมูลประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากการสลายการชุมนุมกรณี เม.ย.-พ.ค. 53 เผยว่ามีผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์สลายชุมนุมครั้งนั้น 94 ราย และศาลไต่สวนว่าเสียชีวิตจากกระสุนฝั่งเจ้าหน้าที่อย่างน้อย 18 ราย
- ล่าสุดเมื่อปี 2561 ป.ป.ช. มีมติไม่รื้อฟื้นคำร้องคดีสลายชุมนุมปี 2553 เนื่องจากให้เหตุผลว่า ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานใหม่ จึงยืนยันตามมติคณะกรรมการ ป.ป.ช. เมื่อวันที่ 29 ธันวาคม 2558
- กลุ่มผู้ที่เกี่ยวกับ ศอฉ. บางคนยังคงมีอำนาจอยู่ในเวลานี้ อาทิ พล.อ.ประวิทย์ วงษ์สุวรรณ (รัฐมนตรีกลาโหม) พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา (ผบ.ทบ.) และ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา (รอง ผบ.ทบ.)
Photograph By Watcharapol Saisongkhroh
Illustrator Interview By Suthanya Phattanasitubon