ทุกเหตุการณ์กราดยิง นำมาซึ่งความสูญเสีย บาดแผล ความทุกข์ ปัญหาใต้พรมที่สะท้อนความไม่ปกติมากมาย รวมไปถึงสาเหตุ และปมปัญหา การละเลยที่ทำให้คนร้ายก่อเหตุสะเทือนขวัญอย่างที่ไม่มีใครคาดคิด
ในประเทศเกาหลีใต้เอง ก็เคยเกิดเหตุที่สะเทือนใจคนทั้งประเทศ เมื่อปี 1982 กับเหตุการณ์การกราดยิงที่มีตำรวจเป็นผู้ก่อเหตุ ซึ่งเหตการณ์ในครั้งนี้คร่าชีวิตประชาชนไปมากกว่า 50 คน และบาดเจ็บอีกมากกว่า 30 ราย ก่อนที่เขาจะฆ่าตัวตายตามไป แม้ว่าในตอนนั้นเกาหลีใต้ยังอยู่ภายใต้การปกครองของระบอบเผด็จการ แต่ก็มีการจัดการกับเหตุการณ์ และการแสดงความรับผิดชอบของเหล่าผู้อยู่ในตำแหน่ง ทั้งแม้จะผ่านมากว่า 40 ปีแล้ว ก็ยังมีการพยายามรำลึกเหตุการณ์นี้ เพื่อไม่ให้เกิดซ้ำในสังคมอีก
‘Cop Wu Incident’ เหตุกราดยิงที่ผู้อยู่ในเครื่องแบบเป็นผู้ก่อเหตุ
เหตุการณ์กราดยิงที่สะเทือนขวัญที่สุดของเกาหลีใต้นี้ เกิดขึ้นที่พื้นที่อึยรยอง จังหวัดคยองซัง ซึ่งอยู่ทางตะวันออกเฉียงใต้ของเกาหลีใต้ โดยมีผู้ก่อเหตุคือ วู บอมคอน นายตำรวจอายุ 26 ปี อดีตจ่านาวิกโยธิน ที่เริ่มหยิบปืนออกจากบ้านด้วยอาการเมาสุรา ก่อนจะก่อเหตุกราดยิงด้วยกระสุนกว่า 170 นัด ยาวนานข้ามคืน ตั้งแต่เวลา 3 ทุ่มครึ่งของวันที่ 26 เมษายน ถึงเวลาย่ำรุ่งของวันที่ 27 เมษายน ปี 1982
จากคำบอกเล่าของ ชุน มัลซุน แฟนสาววัย 25 ปีที่อาศัยอยู่ด้วยกันกับผู้ก่อเหตุ เธอเล่าว่า ในวันนั้นเธอได้มีปากเสียงกับวู และเขามีอาการโกรธจัด เพราะถูกปลุกจากการงีบหลับก่อนไปเข้าเวร หลังเธอพยายามตบแมลงวันบนหน้าอกของเขา นายตำรวจนายนี้ออกจากบ้านไปสถานีตำรวจในเวลา 4 โมงเย็น โดยมีรายงานว่าเขาเริ่มดื่มเหล้า และเมาหนัก ก่อนจะกลับมาที่บ้านในเวลาค่ำ ทำร้ายแฟนสาว พังข้าวของในที่พัก ก่อนจะเดินทางไปยังคลังเก็บอาวุธ รวบรวมอาวุธอย่าง ทั้ง
ปืนสั้น M2 สองกระบอก กระสุน 144-180 นัด และระเบิดมือเจ็ดลูก ซึ่งรายงานบางฉบับเล่าว่า เจ้าหน้าที่คนอื่นๆ นั้นประชุมอยู่จึงไม่มีใครสังเกตเห็นเขา ขณะที่จากปากคำของนายตำรวจบอกว่า เขาได้ข่มขู่ผู้คุมเพื่อเข้าถึงอาวุธ
หลังจากนั้นนายวูได้เริ่มเดินไปทั่วหมู่บ้านต่างๆ โดยเริ่มจากโทรงรี เปิดฉากยิงใส่ผู้คนที่เดินผ่าน และขว้างระเบิดเข้าไปที่ทำการไปรษณีย์ท้องถิ่นในพื้นที่ใกล้เคียง และฆ่าเจ้าหน้าที่ 3 ราย ก่อนจะตัดสายโทรศัพท์เพื่อปิดการสื่อสารจากการติดต่อบริการฉุกเฉิน หลังจากนั้นเขาก็เดินทางไปหมู่บ้านอื่นๆ อีก 3 แห่ง และยิงคน รวมถึงขว้างระเบิดระหว่างที่เขาเดินผ่านด้วย ซึ่งหลายคนที่รอดชีวิตก็เล่าว่า พวกเขาหนีเข้าไปในทุ่งนา
รูปแบบการก่อเหตุนั้น นอกจากจะฆ่าคนที่เขาพบเห็นแล้ว เขายังเลือกสถานที่ที่มีคนอาศัยจำนวนมากอย่างบริเวณตลาด พร้อมตะโกนว่ามีสายลับจากเกาหลีเหนือบุกมา เพื่อดึงให้ชาวบ้านออกมาดูเหตุการณ์ ก่อนจะก่อเหตุ เขาเคาะตามประตูบ้านที่เปิดไฟอยู่ ซึ่งในตอนนั้นวูอยู่ในชุดเครื่องแบบของตำรวจ ทำให้ชาวบ้านไม่ได้สงสัย และระวังตัวใดๆ แต่กลับเปิดประตูให้ตำรวจรายนี้อย่างง่ายดาย
จอง ซอกจอน หนึ่งในผู้อยู่ในเหตุการณ์ และพี่ชายของเจ้าหน้าที่ทำการไปรษณีย์ที่เสียชีวิตในเหตุการณ์นั้นเล่าว่าในตอนเกิดเหตุนั้น เขากำลังหลับอยู่ แต่ก็ได้ยินเสียงปืน ตอนแรกเขาคิดว่ามีสายลับบุกเข้ามา เขาซ่อนตัว และเห็นว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจวูเข้าไปในบ้านทุกหลังที่เปิดไฟอยู่ ก่อนจะเริ่มยิง “ฉันได้ยินเสียงกรีดร้องทุกที่ แต่ฉันเข้าไปไม่ได้ และไม่กล้าที่จะออกไปเพราะฉันกลัว”เขาเล่า
ในหมู่บ้านพยองชน ซึ่งเป็นจุดก่อเหตุสุดท้าย วูได้บอกกับชาวบ้านว่ามีเหตุฉุกเฉิน และมีสายลับออกมา ชาวบ้านเลยเชิญวูเข้าไปพักในบ้าน ซึ่งหลังจากนั้นเขายังบ่นกับเจ้าบ้านเรื่องเงินเดือน เรื่องการถูกเพื่อนบ้านเลือกปฏิบัติเพราะไม่แต่งงาน แต่ระหว่างการพูดคุยกันนั้น วูกลับโกรธจัดขึ้นมา เมื่อหนึ่งในชาวบ้านพูดกับเขาว่าปืนของเขาเหมือนปืนไม่มีกระสุน ทำให้เขาเริ่มหยิบปืนมากราดยิงอีกครั้ง โดยภายหลังมีการพบศพในบ้านหลังนี้ถึง 12 ราย ก่อนเขาจะหนีเข้าไปในภูเขา และกลับออกมาอีกครั้งในช่วงประมาณตี 3-4 และจับครอบครัวหนึ่งเป็นตัวประกัน สุดท้ายหลังจากตำรวจสามารถตามถึงตัวเขาได้ เขาได้จุดชนวนระเบิดสองลูกที่ติดอยู่กับตัว ฆ่าตัวเอง และตัวประกัน
เหตุการณ์กราดยิงนี้ ถูกเรียกว่า ‘우 순경 사건’ หรือเหตุการณ์นายตำรวจวู ที่เกิดขึ้นร่วมกว่า 8 ชั่วโมง และมีผู้เสียชีวิต 56 ราย (รวมนายวู ที่เป็นผู้ก่อเหตุด้วย) และบาดเจ็บอีก 36 ราย ซึ่งในจำนวนผู้บาดเจ็บนี้ ภายหลังมีผู้เสียชีวิตเพิ่มอีก 6 ราย รวมเสียชีวิตทั้งหมด 62 ราย
สั่งพักงาน ตั้งทีมสอบสวน รัฐมนตรีลาออก: ความรับผิดชอบที่ตามมาจากเหตุการณ์
หลังจากเหตุการณ์นั้น ชุน แฟนสาวของวูได้ให้ปากคำว่า วูทุกข์ทรมานจากปัญหาการถูกดูถูก และจากคำนินทา วิพากษ์วิจารณ์ของเพื่อนบ้านเกี่ยวกับการที่ทั้งคู่ใช้ชีวิตด้วยกัน โดยที่ไม่แต่งงาน
ทั้งยังพบว่าการทำงานของตำรวจมีความล่าช้าในการจัดการกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นมาก จนล่วงเลยมามากถึงเกือบ 8 ชั่วโมง ทั้งที่จริงๆ แล้ว ตำรวจได้รับแจ้งเตือนตั้งแต่ภายหลังการเกิดการยิงนัดแรกขึ้น แต่กลับใช้เวลาถึง 1 ชั่วโมงในการรวบรวมเจ้าหน้าที่ 37 รายเพื่อค้นหาตัวนายวู รวมไปถึงว่าสำนักงานตำรวจแห่งชาติในกรุงโซล ไม่ได้รับแจ้งเรื่องนี้จนถึงเวลา 01.40 น. ของวันที่ 27 เมษายน หรือก็คือหลังเกิดเหตุไปแล้วกว่า 4 ชั่วโมง
จากความล้าช้า และการละเลยนั้น ภายหลังได้มีการสั่งพักงานผู้บัญชาการตำรวจประจำจังหวัด และมีการจับกุมผู้บัญชาการตำรวจประจำจังหวัด และตำรวจอีก 4 นาย ในโทษฐานละเลยการปฏิบัติหน้าที่ ทั้งจากการไม่สามารถป้องกันการเข้าถึงอาวุธ และปกป้องประชาชนได้
หลังจากนั้นยังมีการจัดตั้งทีมสืบสวน เพื่อจัดการกับเหตุการณ์ และสืบหาข้อเท็จจริง โดยในทีมมีคณะรัฐมนตรี 5 คน นำโดยนายกรัฐมนตรี ยู ชางซุน เจ้าหน้าที่ตำรวจ และทีมสืบสวนของอัยการ รวมถึงรัฐมนตรีต่างๆ และประธานาธิบดี ชอน ดูฮวันต่างก็เดินทางไปยังสถานที่เกิดเหตุ เพื่อปลอบโยนครอบครัวของเหยื่อด้วย
ความรับผิดชอบต่อเหตุการณ์ยังไม่ได้มีแค่ในระดับของเจ้าหน้าที่ชั้นผู้น้อย แต่รัฐมนตรีกระทรวงมหาดไทย ซึ่งตำรวจสังกัดอยู่ภายใต้ความดูแล อย่าง ซู ชางฮวา และผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ อัน อุงโม ก็ได้ลาออกจากตำแหน่ง และรับผิดชอบต่อเหตุการณ์ที่ถูกมองว่าเป็นความล้มเหลวของการรักษาความปลอดภัย และตอบสนองต่อภัยคุกคามสันติภาพ ซึ่งจริงๆ แล้ว นายกฯ ยู เองก็ได้ยื่นใบลาออกแก่ประธานาธิบดีเช่นกัน แต่ประธานาธิบดี ไม่รับรองการลาออกของเขา
ทั้งยังมีการจ่ายค่าเสียหายให้กับครอบครัวของเหยื่อ ค่าใช้จ่ายงานศพของเหยื่ออีกรายละ 3 แสนวอน และเงินช่วยเหลือ 6 ล้านวอนให้กับครอบครัวผู้เสียชีวิต (ประมาณ 1.6 แสนบาท) รวมถึงค่าชดเชยที่จ่ายให้กับครอบครัวที่เสียชีวิตเป็นจำนวนเงินสูงสุด 32 ล้านวอนต่อการเสียชีวิตด้วย นอกจากนี้ รัฐบาลยังทำการยกเว้นค่าเล่าเรียน และค่ารักษาพยาบาลสำหรับครอบครัวของผู้เสียชีวิตและผู้บาดเจ็บ เลื่อนการฝึกอบรมกองหนุนหรือการเกณฑ์ทหาร และตัวประธานาธิบดีชอนเอง ยังบริจาคเงินส่วนตัว 239 ล้านวอนให้กับครอบครัวของผู้เสียชีวิตด้วย
หมู่บ้านที่เกิดเหตุนั้น ยังถูกรัฐบาลปรับปรุง โดยประธานาธิบดีชอน ได้ลงนามใน ‘แผนพัฒนาระยะยาวของหมู่บ้าน กุงริว’ ซึ่งมีมูลค่าประมาณ 1.03 พันล้านวอน ที่รวมถึงการพัฒนาธนาคาร อ่างเก็บน้ำ เส้นทางถนนต่างๆ แต่ถึงอย่างนั้นชาวบ้านในหมู่บ้านก็ให้สัมภาษณ์ในปี 2012 หรือ 30 ปีให้หลังจากเหตุการณ์ว่า ทุกสิ่งทุกอย่างเปลี่ยนไปหลังจากเหตุการณ์นั้น และแม้หมู่บ้านจะดูพัฒนามากขึ้น ทำให้เป็นสถานที่ท่องเที่ยว แต่ก็มีครอบครัวจำนวนมากที่ตัดสินใจย้ายออกจากพื้นที่เหล่านั้น
ตำรวจต้องรับผิดชอบ เพราะผู้ก่อเหตุคือตำรวจ
ขณะที่ชอน วอนแบ พี่ชายของพนักงานไปรษณีย์ที่เสียชีวิตในเหตุการณ์นี้ก็กล่าวว่า “ไม่มีใครคิดว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจจะกลายเป็นฆาตกรที่น่ากลัว เพราะจริงๆ แล้ว หน้าที่ของเขาคือต้องปกป้องหมู่บ้านและดูแลผู้อยู่อาศัย แต่เขากลับทำให้ชาวบ้านเกือบ 100 บาดเจ็บ และเสียชีวิตในชั่วข้ามคืน” เขากล่าว
แม้ว่าจะเห็นว่ามีการลาออก และการแสดงความรับผิดชอบจากรัฐ แต่เกาหลีใต้ในตอนนั้นเองก็อยู่ภายใต้ระบอบเผด็จการทหารของ ประธานาธิบดีชอน ดูฮวัน ทำให้เพียงหนึ่งสัปดาห์หลังจากเหตุการณ์เกิดขึ้น การรายงานข่าวของสื่อแทบจะหายไป เพราะการถูกควบคุมของสื่อ การพูดถึงเหยื่อกลายเป็นเหมือนเรื่องต้องห้ามโดยพฤตินัย แม้แต่ในพื้นที่อึยรยองกุน นั่นเป็นเหตุผลที่ครอบครัวผู้เสียชีวิตต้องเก็บเรื่องนี้ไว้ในใจของพวกเขา
ซอ จินกยู ครอบครัวของเหยื่อ ผู้สูญเสียภรรยา หลานชาย พี่สะใภ้ และสมาชิกครอบครัวอีกหลายคนในเหตุการณ์นี้ ให้สัมภาษณ์ในปี 2012 ว่าเขายังจำเหตุการณ์นี้ได้ชัดเจน และเขาเป็นหนึ่งในไม่กี่ครอบครัวของเหยื่อที่ยังอาศัยอยู่ที่หมู่บ้านนี้ เขาคิดว่าสาเหตุหลักของเหตุการณ์ คือการจ้างงาน และย้ายตำรวจที่ไม่ถูกต้อง เพราะวูนั้นโดนลดตำแหน่ง และย้ายมาประจำที่เขตนี้จากพฤติกรรมติดสุรา ซึ่งเขามองว่าน่าจะมีการอบรมแทนที่การย้าย ทั้งสถานีสาขากุงริวนั้น ยังเป็นสถานีที่ห่างไกลจาก สถานีตำรวจหลักของพื้นที่อึยรยองมากที่สุดด้วย ทำให้ห่างไกลจากการควบคุม ทั้งตั้งแต่ที่นายตำรวจวูเข้ามาประจำตำแหน่งที่สถานีตำรวจสถานีกุงริว ก็มีการเห็นการกระทำที่ไม่ดีของเขาต่อชาวบ้าน เช่นการขู่กรรโชกด้วย
ชอน บยอนแท หัวหน้าหมู่บ้าน ผู้เสียลูกชายวัย 18 ปีในเหตุการณ์นี้ก็ให้สัมภาษณ์เช่นกันว่า ในหนึ่งเดือนก่อนเกิดเหตุ เขาได้เข้าพบกับคณะกรรมการจัดการสังคม ซึ่งเป็นองค์กรที่รัฐบาลจัดขึ้นเพื่อสร้างสภาพแวดล้อมที่ดี และต่อต้านการทุจริต เพื่อที่จะแจ้งถึงสถานการณ์การทุจริต และชื่อเสียงด้านลบของตำรวจในหมู่บ้าน รวมถึงการทำงานของนายตำรวจวูด้วย แต่ว่าก็ถูกละเลย “ในตอนนั้น การคอร์รัปชั่นในที่สาธารณะรุนแรงมากจนตำรวจสามารถทำธุรกิจ และรับเงินอย่างเปิดเผย และชื่อเสียงในท้องถิ่นของตำรวจเองก็ไม่ดี” ซึ่งในปี 2012 เขาก็มองว่า แม้จะผ่านมา 30 ปี แต่สถานการณ์ขององค์กรตำรวจก็ยังไม่ได้ดีขึ้น
ในบทสัมภาษณ์ปี 2022 ที่ครอบรอบ 40 ปีของเหตุการณ์ เขาได้ให้สัมภาษณ์อีกครั้งว่า หลังเหตุการณ์ ความสูญเสียเพิ่มมากขึ้นเพราะทหาร และตำรวจทำงานอย่างล่าช้า และจากการควบคุมของรัฐบาลเผด็จการในตอนนั้น “ไม่เคยมีงานรำลึกถึงเหยื่อผู้เคราะห์ร้าย แต่มีเพียงครอบครัวที่เสียชีวิตเท่านั้นที่หุบปากได้เหมือนคนบาป” เขากล่าว
โดยในตอนนี้ โดยกองทุนของรัฐ และเงินจากงบประมาณอาวุธยุทโธปกรณ์ เพื่อสร้างหอรำลึกและสวนอนุสรณ์ใน พื้นที่อึยรยอง เพื่อปลอบประโลมวิญญาณของผู้ที่ตกเป็นเหยื่อของเหตุการณ์กราดยิงนี้ โดยชอนกล่าวว่า
“ตำรวจเป็นสัญลักษณ์ของอำนาจสาธารณะ และรัฐต้องรับผิดชอบต่อความทารุณกรรมของเจ้าหน้าที่ตำรวจดังกล่าว ผมคิดว่ารัฐบาลควรปลอบประโลมจิตใจของพวกเขา”
อ้างอิงจาก