ในอาคาร—ในสถานที่ล้วนอบอวลไปด้วยความทรงจำ แต่ถ้าพื้นที่นั้นๆ เกิดบาดแผล กลายเป็นพื้นที่ของฝันร้ายขึ้น เราจะจัดการกับพื้นที่นั้นอย่างไร
หลังจากเรื่องราวทั้งหมดยุติลง เมื่อคราบเลือดเลือนหาย แต่ความทรงจำของเรายังไม่จาก โดยเฉพาะภาพของโรงเรียนและเหตุการณ์อันเป็นฝันร้าย หลายครั้งแม้เวลาจะผ่านไปเนิ่นนานแค่ไหน ความทรงหรือฝันร้ายนั้นก็ยังคงติดอยู่ในพื้นที่นั้นๆ การจัดการพื้นที่โศกนาฏกรรมเช่นศูนย์เด็กเล็กจึงเป็นอีกหนึ่งปัญหาที่รัฐและภาคส่วนที่เกี่ยวข้องจะต้องรับไปจัดการ กระทั่งมีการลงทุนเพื่อให้พื้นที่ดังกล่าวใช้งานได้ต่อไป กระทั่งอาจเป็นพื้นที่ที่เปลี่ยนฝันร้ายให้กลายเป็นความเข้มแข็งต่อไปในอนาคตผ่านการออกแบบและปรับปรุงพื้นที่ขึ้นใหม่
คำถามที่เรียบง่ายที่สุดคือ เรา—รัฐจะทำอย่างไรกับพื้นที่ที่เกิดบาดแผลใหญ่หลวงกับชุมชน กับประวัติศาสตร์ของพื้นที่เช่นการสังหารหมู่ที่เพิ่งผ่านพ้นไป เป็นเรื่องธรรมดามากที่ผู้ปกครองและชาวชุมชนจะรู้สึกว่าตัวเองไม่สามารถยอมรับการเข้าไปใช้พื้นที่ในรูปแบบปกติ ปฏิเสธโรงเรียนที่เคยเป็นพื้นที่ของรอยยิ้มและเสียงหัวเราะ Thai PBS รายงานเสียงของชาวบ้านถึงการให้ทุบและยุบศูนย์ทิ้ง ในขณะเดียวกันศูนย์เด็กอ่อนก็เป็นทรัพย์สินราชการ และเป็นพื้นที่บริการที่สำคัญสำหรับชุมชน
การทุบทำลายหรือปล่อยให้ทิ้งร้าง กระทั่งการกลับไปใช้ใหม่ในทันทีราวกับไม่มีอะไรเกิดขึ้นอาจจะไม่ใช่แนวทางที่ดีนัก ดังนั้น โจทย์คือว่าจะทำอย่างไรกับศูนย์เด็กเล็กต่อไป จะปรับปรุง ลงทุน ทำให้กลายเป็นต้นแบบ หรือเป็นพื้นที่รำลึก เหล่านี้ล้วนเป็นโจทย์ที่เราขบคิด รวมถึงลงทุนในการจัดการพื้นที่กันต่อ ในกรณีที่ใกล้เคียงกัน โรงเรียนที่เป็นพื้นที่โศกนาฏกรรมจากการสังหารหมู่ครั้งประวัติศาสตร์คือโรงเรียนประถมแซนดีฮุก (Sandy Hook Elementary School) แซนดีฮุกได้ปิดพื้นที่และมีการปรับปรุงใหม่หลังโศกนาฏกรรม จนร่วม 4 ปี โรงเรียนแห่งนี้จึงได้กลับมาเปิดเรียนอีกครั้งในรูปโฉมใหม่
แน่นอนว่าแซนดีฮุกเป็นพื้นที่ประวัติศาสตร์ เป็นพื้นที่แห่งบาดแผลและความทรงจำ แต่การปรับปรุงแซนดีฮุกนั้นก็ได้สร้างหมุดหมายสำคัญในหลายด้านโดยเฉพาะการใช้สถาปัตยกรรมเข้ามาร่วมฟื้นฟูเยียวยาความทรงจำเลวร้ายที่ผ่านพ้นไป สถาปนิกได้ทำการใช้การออกแบบเพื่อทำให้โรงเรียนมีความปลอดภัยและรับมือกับเหตุกราดยิงหรือบุกโจมตีได้ดีขึ้น ซึ่งตรงนี้ทำให้โรงเรียนแห่งนี้กลายเป็นต้นแบบและองค์ความรู้ใหม่ด้านการออกแบบพื้นที่การศึกษาที่มีประเด็นเรื่องความปลอดภัยและการป้องกับโศกนาฏกรรมที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต
4 ปีหลังจากนั้น…โรงเรียนประถมแซนดีฮุก
เป็นเรื่องน่าเศร้าที่ปีนี้ใกล้จะครบรอบ 10 ปีของเหตุการณ์ที่แซนดีฮุก โดยเหตุกราดยิงที่โรงเรียนประถมแซนดีฮุกเกิดขึ้นในเดือนธันวาคม 2012 เหตุการณ์ครั้งนั้นนับเป็นเหตุกราดยิงที่เลวร้ายที่สุดของสหรัฐฯ มีเหยื่อเป็นเด็กอายุ 6-7 ขวบและครูเสียชีวิตรวม 26 ราย
นอกจากมาตราการการรักษาความปลอดภัยของโรงเรียนและกระแสต่อต้านการครอบครองอาวุธปืน โรงเรียนประถมแซนดีฮุกในฐานะพื้นที่เกิดเหตุก็ได้ถูกโหวตให้รื้อทำลายอาคารลงและสร้างโรงเรียนขึ้นใหม่ ตัวโปรเจ็กต์แซนดีฮุกใหม่ผ่านการทำประชานิยม และรัฐเป็นผู้ลงทุนสร้างโรงเรียนขึ้นใหม่ด้วยงบประมาณสนับสนุน 50 ล้านเหรียญสหรัฐฯ พื้นที่โรงเรียนถูกรื้อในปี 2013 สร้างเสร็จและเปิดใช้งานอีกครั้งในปี 2016 ใช้เวลา 3 ปีครึ่ง
ในการสร้างโรงเรียนขึ้นใหม่นับเป็นอีกหนึ่งความเคลื่อนไหวที่น่าสนใจทั้งการลงทุนจากรัฐ และการที่สตูดิโอ Svigals + Partners สตูดิโอสถาปัตยกรรมของสหรัฐฯ ที่เชี่ยวชาญพื้นที่ขนาดใหญ่และพื้นที่ทางการศึกษาเช่นโรงเรียนและมหาวิทยาลัย ในขั้นตอนการออกแบบทางสตูดิโอได้ทำงานร่วมกับหลายฝ่าย เช่น การทำเวิร์กช็อปกับสถาปนิกชั้นแนวหน้า และการทำงานร่วมกับชุมชนรอบๆ พื้นที่ สุดท้ายแล้ว โรงเรียนประถมแซนดีฮุกโฉมใหม่ก็กลายเป็นพื้นที่โรงเรียนที่เรียบง่าย สวยงาม แต่ทว่าแฝงไว้ด้วยการออกแบบที่เรียกว่าต่อต้านเหตุร้ายหรือ anti-terror คือมีการใช้องค์ประกอบทางสถาปัตยกรรมเพื่อป้องกันและลดความเสียหายในกรณีที่เกิดเหตุบุรุกขึ้นซ้ำอีก และได้กลายเป็นต้นแบบในการออกแบบพื้นที่การศึกษาและพื้นที่ประชุมชนที่มีแนวคิดเรื่องความปลอดภัยเป็นส่วนประกอบหนึ่ง
Deter, Detect, และ Delay
“อาคารที่ดีจะช่วยป้องกันหรือการบุกรุกที่ไม่คาดฝันได้” ทางสตูดิโอ Svigals + Partners นิยามกรอบคิดกว้างๆ ของสถาปัตยกรรมที่มีต่อเหตุไม่คาดฝันต่างๆ ทีนี้ เงื่อนไขหนึ่งของโรงเรียนประถมแซนดีฮุกใหม่คือ ตัวโรงเรียนเองถูกออกแบบโดยมีแนวคิดเรื่องการรักษาความปลอดภัยจากการบุกรุกเป็นหัวใจของสถาปัตยกรรม แต่ทว่าฟีเจอร์สำคัญเหล่านั้นถูกซ่อนไว้ในหน้าตาของโรงเรียนที่สวยงามและดูธรรมดาๆ
หลักการสำคัญและบทบาทสำคัญของการออกแบบพื้นที่ที่จะรับมือการบุกรุกได้ หลักๆ แล้วสัมพันธ์กับการจัดการพื้นที่เช่นทางเข้าออก การควบคุมการมองเห็น พื้นฐานของงานออกแบบทำขึ้นบนหลักการ 3 ข้อคือการกีดขวาง (deter) การระบุ (detect) และการชะลอ (delay) ทั้งหมดนี้คือการที่อาคารจะช่วยทำให้ผู้บุกรุกเข้าถึงอาคารได้อย่างช้าที่สุด และเปิดโอกาสให้ผู้ที่อยู่ในอาคารหรือเจ้าหน้าที่มองเห็นผู้บุกรุกได้ก่อน ก่อนจะรับมือตามขั้นตอนต่อไป
หลักการเบื้องต้นของการออกแบบคือการควบคุมการเข้าถึงอาคารผ่านงานออกแบบที่มีความแนบเนียน เช่นจุดรับส่งนักเรียนบริเวณด้านหนึ่งจะมีการกำกับเส้นทางเฉพาะ มีการใช้บ่อพักน้ำและสะพานเพื่อกำหนดทางเดินในการเข้าถึงประตูโดยที่มีจุดเช็คพอยต์ตลอดทาง ทางด้านนอกผู้ออกแบบจะเน้นการใช้ต้นไม้ในการบังสายตาไม่ให้มองเห็นอาคารและกิจกรรมภายในจากภายนอก แต่ในทางกลับกันตัวอาคารจะตั้งอยู่บนเนิน เน้นการออกแบบที่เพิ่มการมองเห็นบริเวณพื้นที่ด้านหน้าและทางเข้า กรณีที่มีผู้บุกรุก ครูหรือผู้เกี่ยวจะสามารถมองเห็นจากภายในอาคารก่อนและระบุเหตุฉุกเฉิน
ส่วนของผังของอาคารเรียนก็เน้นชะลอโดยออกแบบให้เข้าถึงได้ยาก ใช้เส้นทางและพื้นที่ส่วนกลางในการสร้างอุปสรรคไม่ให้เข้าถึงพื้นที่ห้องเรียนได้โดยง่าย กลุ่มของห้องเรียนจะเป็นพื้นที่ในสุด อยู่ห่างจากจุดเข้าพื้นที่มากที่สุดและออกแบบให้มีเส้นทางอพยพที่มากที่สุด ห้องเรียนมีการติดตั้งหน้าต่างและประตูนิรภัย มีระบบปิดล็อก มีการเสริมโครงสร้างให้แข็งแรงกรณีมีการโจมดีด้วยยานพาหนะ
พื้นที่สีเขียวและการกลับมาอย่างอบอุ่น
บรรยากาศสำคัญของโรงเรียนประถมแซนดีฮุกใหม่คือ เน้นการการออกแบบที่อบอุ่น โปร่งโล่ง และค่อนข้างใช้ธรรมชาติและพื้นที่สีเขียวเข้าเป็นส่วนหนึ่งของการร่วมป้องกัน รวมถึงร่วมเยียวยาให้กับการใช้งานพื้นที่ใหม่ พื้นที่สีเขียว และการออกแบบภูมิทัศน์เช่นสวน การออกแบบบ่อพักน้ำ การใช้เนินสูงต่ำล้วนมีเป้าหมายในการชลอและจำกัดเส้นทางการเข้าถึงพื้นที่ห้องเรียนทั้งสิ้น
พร้อมกันนั้น แม้ว่าจะออกแบบให้โรงเรียนอยู่ห่างจากพื้นที่ภายนอกเพื่อเหตุผลด้านความปลอดภัย แต่ในแง่การออกแบบนั้น พื้นที่ใช้งานหลักอย่างตัวอาคารก็จะเน้นการเชื่อมต่อกับพื้นที่ธรรมชาติเช่นแนวต้นไม้ สนาม และป่าขนาดย่อม ผนวกกับหน้าต่างจำนวนมากก็จะทำให้เด็กๆ รู้สึกสงบและปลอดภัย ไม่โดดเดี่ยว
ทั้งนี้บรรยากาศและการออกแบบโดยรวมของโรงเรียน ก็จะเน้นการนำวัสดุธรรมชาติ ใช้ไม้ ใช้งานศิลปะ และรูปทรงทางธรรมชาติ ใช้ภาพสัตว์ป่าในธรรมชาติและงานศิลปะภายในพื้นที่ ประกอบกับบรรยากาศโปร่งโล่งนั้นก็จะช่วยอำพรางความรู้สึกที่ว่าโรงเรียนเป็นพื้นที่หลบภัยหรือคุก และจะช่วยส่งเสริมการเรียนรู้อันเป็นฟังก์ชั่นที่สำคัญเท่าๆ กับการให้ความปลอดภัยกับเด็กๆ ของพื้นที่การศึกษา
นอกจากนี้ในโรงเรียนก็มีลงทุนกับระบบการรักษาความปลอดภัยต่างๆ เช่นระบบแจ้งเตือนเมื่อมีไม่ได้ล็อกประตูสำคัญๆ การติดตั้งกล้องและระบบตรวจจับความเคลื่อนไหว การออกแบบพื้นที่หอระวังภัยที่ดูเหมือนพื้นที่เล่น แต่สามารถใช้ในการสอดส่องพื้นที่รอบๆ ได้
อย่างไรก็ตามโรงเรียนประถมแซนดีฮุกใหม่ไม่ได้เน้นการจดจำบาดแผลโดยตรง คือไม่มีการสร้างอนุสรณ์สถานขึ้นในโรงเรียน ผู้สื่อข่าวรายงานจุดการจดจำเล็กๆ เช่นแถบแม่เหล็กบนตู้เย็นที่เขียนว่า “Sandy Hook Elementary 12-14-12: We will never forget.” ตรงนี้เองทางผู้เกี่ยวข้องและชุมชนมีการประชุมพูดคุยกันหลายครั้งในการตัดสินใจว่าจะจัดการกับพื้นที่โรงเรียนต่อไปอย่างไร ปัจจุบันก็ยังมีการถกเถียงและมีการเสนอการสร้างพื้นที่อนุสรณ์สถานที่พื้นทื่อื่นเพื่อจดจำเหตุการณ์สำคัญดังกล่าว—แต่ไม่ใช่ในพื้นที่โรงเรียนเดิม
กรณีของแซนดีฮุกทำให้เราเห็นความซับซ้อนและการให้ความสำคัญในการจัดการพื้นที่ โดยเฉพาะเข้ามามีบทบาทของสถาปัตยกรรม ซึ่งทางสถาปัตยกรรมเอง สถาปนิกชั้นแนวหน้าต่างเข้ามาร่วมหาทางออกในการออกแบบทั้งสำหรับแซนดีฮุกเอง และนักออกแบบในพื้นที่ที่เกี่ยวข้องเช่นพื้นที่ทางการศึกษาอื่นๆ หรือพื้นที่สาธารณะ นักออกแบบแนวหน้าเช่น สเตฟาโน โบเอริ (Stefano Boeri) เจ้าพ่อด้านพืชพรรณเองก็ให้ความเห็นว่า พื้นที่สาธารณะและงานออกแบบสามารถใช้ต้นไม้และงานออกแบบภูมิทัศน์เพื่อช่วยลดความรุนแรงหรือรับมือการก่อการร้างเช่นบริเวณลานหรือจัตุรัสต่างๆ ได้ หรือในบางเมืองก็ได้ติดตั้งแนวกำแพงอัตโนมัติที่สามารถยกขึ้นลงได้กรณีเหตุฉุกเฉิน
แซนดีฮุกใหม่จึงเป็นเหมือนงานออกแบบต้นแบบและเป็นแนวทางของการออกแบบพื้นที่ที่มีการใช้งานหนาแน่นและอาจเปราะบางเป็นพิเศษ—เช่นพื้นที่การศึกษา การทำงานร่วมกันของวิชาชีพที่เกี่ยวข้องในการสร้างพื้นที่ใช้งานร่วมกัน ไปจนถึงการทำงานตามความต้องการและส่งเสริมความเข้มแข็งของชุมชน รวมทั้งการลงทุนและมองเห็นความสำคัญของรัฐ
ถ้าย้อนกลับมาที่ประเทศไทย เราก็จะเริ่มเห็นการมองเห็นปัญหาบางอย่าง เช่นชาวชุมชนระบุว่าอาคารของศูนย์เด็กเล็กเป็นอาคารปูนชั้นเดียว มีทางเข้าออกทางเดียว ไม่มีระบบรักษาความปลอดภัย ซึ่งลักษณะดังกล่าวก็อาจจะเป็นเงื่อนไขทั้งการจัดการศูนย์เด็กเล็กในฐานะพื้นที่เกิดเหตุเอง รวมถึงเป็นแนวทางในการลงทุนและออกแบบสร้างพื้นที่เปราะบางในทำนองเดียวกับสถานที่อื่นๆ ที่อาจเกิดเหตุร้ายและอาคาร สถานที่อาจสามารถช่วยบรรเทาเหตุได้ จากเหตุร้ายที่สะเทือนขวัญอาจนำไปสู่แนวทางปฏิบัติใหม่ในภาพรวมที่มีเด็กๆ มีระบบการศึกษาและมีเงื่อนไขด้านความปลอดภัยทั้งในเขตเมืองและพื้นที่ชนบทเป็นข้อคิดคำนึงสำคัญต่อไป
อ้างอิงจาก