‘อลหม่าน’ น่าจะเป็นคำที่ใช้อธิบายภาพรวมการเมืองโลกของปี 2016 ได้ดีที่สุด เพราะมีเหตุการณ์ชวนช็อกเกิดขึ้นมากมาย ตั้งแต่ผลประชามติที่ชาวสหราชอาณาจักรส่วนใหญ่ตัดสินใจโหวตออกจากการเป็นสมาชิกสหภาพยุโรป (อียู) ที่รู้จักกันในชื่อ Brexit ซีรีส์ของเหตุการณ์ก่อการร้ายที่เกิดขึ้นไม่หยุดหย่อนทั้งในทวีปยุโรปและอเมริกา สงครามกลางเมืองในซีเรียที่หลายฝ่ายเข้าไปมะรุมมะตุ้มจนไม่รู้ว่าบทสรุปจะเป็นอย่างไร ความขัดแย้งในทะเลจีนใต้ที่คุกรุ่นขึ้นทุกขณะ และมาพีกสุดที่ชัยชนะในศึกชิงเก้าอี้ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาของมหาเศรษฐี ‘โดนัลด์ ทรัมป์’
สารพัดเรื่องราวเกินคาดคิดที่เกิดขึ้นครั้งแล้วครั้งเล่า จึงไม่น่าแปลกใจที่คำอย่าง ‘เหนือจริง (surreal)’ จะกลายเป็นคำแห่งปีของพจนานุกรมระดับโลก Merriam-Webster
แต่ใช่ว่าเรื่องราวทุกอย่างจะสิ้นสุดลง เมื่อวันที่ 31 ธันวาคม 2016 มาถึง เพราะหลายๆ เหตุการณ์เป็นเหตุการณ์ที่มีผลต่อเนื่องปลายเปิดไม่รู้จะไปสิ้นสุดเมื่อไร ขณะที่บางเหตุการณ์ก็ยังไม่ได้เริ่มขึ้นเลย เช่น Brexit หรือวาระประธานาธิบดีสหรัฐฯ ที่ชื่อทรัมป์
The MATTER ตรวจสอบคำทำนายของสื่อตะวันตกชื่อดังหลายๆ สำนัก ต่างมองคล้ายกันว่า ปี 2017 จะเป็นอีกปีที่การเมืองโลกเปราะบาง-คาดเดาได้ยากลำบาก ซึ่งศูนย์กลางความเปลี่ยนแปลงทั้งหมด น่าจะอยู่ที่บทบาทของรัฐบาลสหรัฐฯ ภายใต้การบริหารงานนักการเมืองมือใหม่ ที่เล่นใหญ่กระทั่งได้ครองเก้าอี้ แต่หลายๆ อย่างที่เขาประกาศไปในช่วงหาเสียงอาจส่งผลสะเทือนทั้งต่อชาวอเมริกัน และต่อชาวโลก
ทั้งนี้ จากเหตุการณ์ที่มีการหยิบยกมาทำนายกันผ่านสื่อนับสิบๆ เหตุการณ์ จะมีเหตุการณ์ที่สำคัญและถูกพูดถึงซ้ำๆ ในสื่อตะวันตกอยู่ราว 4-5 เหตุการณ์ นั่นคือ
– บทบาทของรัฐบาลสหรัฐฯ ภายใต้การนำของทรัมป์
– อำนาจของรัสเซียบนเวทีโลก
– จีนกับสงครามการค้าที่อาจจะเกิดขึ้น
– การเลือกตั้งผู้นำหลายประเทศของยุโรป ท่ามกลางกระแสขวาจัด
– อื่นๆ เช่น ความขัดแย้งในหลายทวีป และการก่อการร้ายทั่วโลก
และเนื่องจากความคาดเดาไม่ได้ เราจึงขอแบ่ง scenario ออกเป็น 3 แบบ คือแบบมองโลกแง่ดีมากๆ ในฐานะมนุษย์โลกสวย แบบมองโลกกลางๆ ไม่ดีหรือแย่จนเกินไป และแบบมองโลกในแง่ร้ายสุดๆ เป็น dystopia ที่ไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้น เพื่อพยายามตรวจสอบทุกความเป็นไปได้ให้มากที่สุด
1. มุมมองชาวโลกสวย
ปี 2017 อาจไม่ได้แย่อย่างที่คิดหรอก เพราะถ้าไปดูสิ่งที่ทรัมป์ประกาศไว้ก็เป็นเพียงคำใหญ่ๆ หลายครั้งขาดรายละเอียด ที่สำคัญ ตัวเขาเองก็ยังเคยกลับคำพูดตั้งหลายครั้ง อย่างเช่นที่บอกว่าจะเนรเทศแรงงานต่างด้าวออกทั้งหมดก็เหลือแค่จะเนรเทศเฉพาะผู้ที่มีประวัติอาชญากร
ขณะที่นโยบายหลายๆ อย่างในทำเนียบขาวยุคมหาเศรษฐีคนนี้ จะเดินหน้าโครงการที่ประชาชนชื่นชอบ เช่น ลงทุนโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ มีการปฏิรูปภาษีนิติบุคคลดึงเอกชนของสหรัฐฯ ให้กลับมาลงทุนในประเทศ ทำให้ตัวเลขการจ้างงานดีมากขึ้น สัมพันธ์กับรัสเซียก็น่าจะผ่อนคลายลง หลังรัฐมนตรีต่างประเทศใน ครม.ทรัมป์มีท่าทีเป็นมิตรกับรัฐบาลเครมลิน ส่วนสงครามการค้ากับจีนก็จะยังไม่เกิดขึ้น
จากการคาดการณ์ของ Fortune มองว่า การเลือกตั้งในทวีปยุโรป ทั้งฝรั่งเศส-ช่วงกลางปี และเยอรมัน-ช่วงปลายปี ฝ่ายขวาจัดมีโอกาสที่จะแพ้เรียบ การเริ่มต้น Brexit ที่จะใช้เวลา 2 ปีของรัฐบาลอังกฤษจะเป็นไปอย่างราบรื่น ส่วนความขัดแย้งในทะเลจีนใต้ระหว่างจีนกับประเทศอื่นๆ อาจไม่ดุเดือดอย่างที่คิด
โดยสรุป มุมมองฝ่ายโลกสวย หลายๆ ความขัดแย้งจะได้รับการคลี่คลาย และโลกมีแนวโน้มสงบสุขมากกว่าวุ่นวาย
2. มุมมองกลางๆ ไม่ดีหรือแย่จนเกินไป
ในขณะที่ Fortune มองว่า ปัจจัยเสี่ยงของรัฐบาลสหรัฐฯ ในปี 2017 อยู่ที่แนวคิดชาตินิยม ความไม่แน่นอนทางการเมือง และภาวะเศรษฐกิจชะงักงัน
The Economist กลับมองว่า อีกจุดเปราะบางสำคัญของทีมทำเนียบขาวยุคทรัมป์อยู่ที่นโยบายเศรษฐกิจ ทั้งการตั้งกำแพงการค้า ซึ่งอาจมีการขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากจีนและเม็กซิโก รวมถึงการลดภาษีนิติบุคคล ที่คนส่วนใหญ่ไม่ได้รับประโยชน์อย่างแท้จริง ไม่รวมการเปลี่ยนแปลงข้อตกลงการค้าระหว่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็น TPP หรือ NAFTA
สถานการณ์ในยุโรปที่น่าเป็นห่วงคือ Brexit ที่ปัจจุบันยังมีความไม่แน่นอนว่าจะส่งผลกระทบในแง่ใดบาง ส่วนการเลือกตั้งที่น่าจับตาคือในฝรั่งเศส ที่ ‘มารีน เลอเปน’ นักการเมืองขวาจัด อาจได้รับชัยชนะ ส่วนที่เยอรมัน ‘อังเกล่า แมร์เคิล’ จะได้เป็นนายกฯ ต่ออีกสมัย
ตามสายตาของฝ่ายกลางๆ แม้จะเห็นความเสี่ยง แต่หลายอย่างยังคลุมเครือ จึงเน้นไปที่การจับตาสถานการณ์อย่างใกล้เคียง และประเมินกันวันต่อวัน
3. มุมมองในแง่ร้ายสุดๆ
Bloomberg ได้จัดทำคู่มือมองโลกในปี 2017 แบบฉบับคนที่มองโลกแง่ร้ายสุดๆ (The Pessimist’s Guide) ซึ่งถ้ามองเผินๆ อาจเป็นสิ่งที่ยากจะเกิดขึ้นได้จริง แต่ถ้ากลับไปย้อนดูสิ่งที่ Bloomberg เคยทำนายในปี 2016 กลับมีเหตุการณ์ที่เกิดจริง ถึง 2 เหตุการณ์ นั่นคือ Brexit กับทรัมป์ได้เป็นผู้นำสหรัฐฯ! ดังนั้นสิ่งที่จะกล่าวจากนี้ไป แม้เป็นไปได้ยาก แต่ก็ใช่ว่าจะเป็นไปไม่ได้
ข้อมูลในคู่มือนี้จัดหนักว่า ทรัมป์จะได้รับความนิยมเฉพาะช่วงแรกๆ แต่จะเริ่มถูกประท้วงจากชาวอเมริกันที่เสียประโยชน์จากการยกเลิกนโยบายของรัฐบาลชุดก่อน ทั้งนี้ นโยบายโดดเดี่ยวตัวเอง (isolationism) ของทรัมป์จะทำให้รัสเซียมีอำนาจมากขึ้น กระทั่งอาจมีการเปิดโต๊ะเจรจาของ 3 มหาอำนาจ อย่างสหรัฐฯ รัสเซีย และเยอรมัน เพื่อจัดระเบียบโลกใหม่ คล้ายๆ กับการประชุมยัลต้าในช่วงท้ายสงครามโลกครั้งที่ 2 ของสหรัฐฯ โซเวียต และอังกฤษ
สหรัฐฯ-จีนจะเปิดสงครามการค้าระหว่างกัน ผลคือทำให้เศรษฐกิจจีนถดถอยอย่างหนัก ขณะที่ฝ่ายขวาจะครองยุโรป เมื่อคว้าชัยชนะในศึกชิงเก้าอี้ผู้นำทั้งในฝรั่งเศสและเยอรมัน ส่วนการเริ่มต้น Brexit อาจต้องแลกมาด้วยเก้าอี้นายกรัฐมนตรีอังกฤษของ ‘เธเรซ่า เมย์’
เมื่ออิทธิพลของสหรัฐฯ ต่อโลกลดลง หลายประเทศจะหันมาสะสมอาวุธ ขณะที่กลุ่มก่อการร้ายอาจใช้โอกาสนี้ขยายอิทธิพลไปทั่วทั้งตะวันออกกลาง
เป็นโลกที่ไม่น่าอยู่ซะเหลือเกิน
ต้องย้ำว่า การเมืองโลกในปี 2017 ทั้ง 3 scenario ที่เราหยิบยืมข้อมูลบางส่วนมาจากสื่อตะวันตก เป็นเพียงการ ‘คาดการณ์’ โดยอาศัยข้อมูลในปัจจุบันมาประเมินความเป็นไปได้ของอนาคต ดังนั้น จึงมีโอกาสที่สิ่งที่เกิดขึ้นจะอยู่นอกเหนือจากข้อมูลข้างต้น อย่าลืมว่าปัจจุบันเราอยู่ในโลก surreal ที่อะไรก็เกิดขึ้นได้ ไม่ว่าจะอยากให้เกิดขึ้นหรือไม่ก็ตาม
สิ่งสำคัญคือเตรียมพร้อมรับทุกความเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้น เพราะโลกจะไม่มีวันเหมือนเดิมอีกต่อไป
อ้างอิงข้อมูลจาก