เรียกว่าเป็นควันหลงของวาระครบรอบ 4 ปี คสช. ก็ได้ เมื่อคนรุ่นใหม่จำนวนไม่น้อยได้ออกมาส่งเสียงสะท้อนที่ต้องการให้มีการเลือกตั้ง ไม่ใช่แค่บนท้องถนน แต่การเคลื่อนไหวทางสังคมในครั้งนี้ยังได้กลายเป็นปรากฎการณ์บนโลกออนไลน์ที่น่าสนใจ โดยเฉพาะในทวิตเตอร์
แม้การเคลื่อนไหวบนท้องถนนจะยุติลงไปชั่วคราว แต่บนโลกออนไลน์นั้นยังคงคึกคัก เชื่อว่าหลายๆ คงได้ผ่านหูผ่านตากับแท็ก #กลุ่มคนอยากเลือกตั้ง และ #THwantElection กันอยู่บ่อยๆ ความพีคคือยอดแฮชแท็กที่สามารถพุ่งขึ้นทะลุไปถึง 1 ล้านครั้งได้สำเร็จ มันยังเป็นปรากฏการณ์ที่ทำให้เราเห็นถึงพลังของคนรุ่นใหม่ และการใช้สื่อออนไลน์ในการแสดงจุดยืนทางการเมืองของตัวเอง
ประเด็นที่น่าสนใจมากๆ คือ ในปรากฏการณ์นี้เรายังได้เห็นการรวมตัวกันของ ‘ด้อม’ ของแฟนคลับไอดอลเกาหลีจำนวนหลายด้อม ถึงกับมีการเรียกกันขำๆ ว่าเป็นการลืมความบาดหมางระหว่างด้อมกันชั่วคราว เพื่อแสดงพลังกู้ชาติบ้านเมือง
นี่คือบางตัวอย่างที่ผ่านแฮชแท็ก #THwantElection #กลุ่มคนอยากเลือกตั้ง และ #กลุ่มคนรุ่นใหม่อยากเลือกตั้ง ในโลกทวิตเตอร์ ทั้งจากกลุ่มผู้ใช้งานที่เป็นแฟนคลับ K-Pop และจากผู้ใช้งานทั่วไป-กลุ่มอื่นๆ
“ณ ตอนนี้ประชาชนกำลังมีความเห็นไปในทิศทางเดียวกัน และแน่นอนว่าติ่งอย่างเราๆ ทุกด้อมก็เช่นกัลล ก่อนนี้เคยแข่งกันปั่นแท็กคนล่ะแท็ก ตอนนี้มันมีแท็กเดียวล่ะค่ะ รวมพลังทุกด้อมดันขึ้นเทรนด์โลกไปเลยยย”
“รวมพลังติ่งทุกด้อม มาช่วยกันเทรนมาช่วยกันรี เค้าจะได้เห็นว่าติ่งอย่างเราก็มีประโยชน์ ไม่ใช่หวีดผู้ชายไปวันๆ เผื่อผลบุญที่เราจะช่วยชาติในครั้งนี้จะส่งผลให้เราได้อปป้าเป็นผัวค่ะ สู้พวกเรา!”
“ใครด่าติ่งเกาหลีไม่รักชาติ ช่วยดูแท็กตอนนี้ด้วยค่ะ ตอนนี้ทุกด้อมร่วมใจกันแล้วค่ะ”
“การที่ทั้งลบทั้งปิดข่าว มันแสดงว่าคุณหวาดกลัวเสียงของปชช.แล้ว ขอให้หวาดกลัวต่อไป เพราะเสียงเล็กๆ หลายๆ เสียงที่ออกมาเรียกร้องมันจะดังจนคนทั่วโลกได้ยิน”
อ่านความคิดเห็นกันดูแล้ว ก็รู้สึกว่ามันสำคัญไม่น้อยเลยเนอะ ใครที่เคยปรามาสว่าการเป็นแฟนคลับศิลปิน-ไอดอลแล้วจะไม่สนใจเหตุการณ์บ้านเมืองนั้น คงต้องคิดกันใหม่ หรือถ้าหากเราพูดแบบซีเรียสได้ว่า นี่ไม่ใช่ภาพเดิมๆ ที่สังคมมักมองว่าการเป็นแฟนคลับศิลปิน-ไอดอลจะตัดขาดความตื่นตัวทางการเมืองไปเลย
ปรากฏการณ์นี้ ยังทำให้เราเห็นว่ายังมีคนรุ่นใหม่อีกจำนวนไม่น้อยที่ส่งเสียงสะท้อนความต้องการของตัวเองให้กับผู้มีอำนาจได้รับฟัง พร้อมกับระบายความในใจถึงสภาพปัญหาที่ประเทศเรากำลังเผชิญหน้าอยู่
“เสียดายเวลาที่ประเทศเราจะไปได้ไกลกว่านี้ รัฐประหารตั้งแต่ ปี 49 เรื่อยมาถึง คสช. 10 กว่าปีที่ผ่าน คนไทยเรียนรู้ความแตกแยกมามากพอแล้วจะว่าเห็นแก่ตัวก็ได้นะ แต่อยากเห็นประเทศเจริญก้าวหน้า ในขณะที่เรายังมีชีวิตอยู่”
“เอาจริงๆ ที่ผู้ใหญ่มองว่าการเมืองอันตราย แต่ตอนนี้มันคือทุกอย่าง เราเรียนหลักสูตรหนักๆ แต่ไร้ประสิทธิภาพ เราซื้อของแพงในขณะที่รัฐบาลซื้อของแพงไร้สาระ ตอนนี้เราอยากเปลี่ยนแปลงไม่อยากให้แย่กว่านี้แล้ว ถ้าแย่กว่านี้ผมคงต้องขาย…ทำงานหาเงินเรียนล่ะ”
“อย่าเหมาว่าสีเสื้อไรเลย แค่อยากให้ทุกอย่างในประเทศมันเปลี่ยนแปลงมากขึ้น ทั้งๆ ที่ประเทศเราทุกอย่างก็ดีมีทุกอย่างโอเค แต่ไม่มีใครคิดจะทำอะไร แค่อยากให้ประเทศก้าวหน้าเรื่อยๆ ไม่ใช่ถอยหลังเรื่อยๆ”
“พอเด็กเสนอความคิดเห็นก็บอกว่าเป็นเรื่องของผู้ใหญ่ เด็กก็อยู่ส่วนเด็ก พอเด็กอยู่ของเด็กก็บอกให้เด็กหัดมีความคิดเป็นผู้ใหญ่บ้าง บอกเราเป็นอนาคตของชาติแต่ไม่ฟังความเห็นเรา”
ข้อความจากผู้ใช้ทวิตเตอร์เหล่านี้น่าจะช่วยขยายความให้เราเห็นภาพได้ไม่น้อย
คำถามคือแล้วเราจะเข้าใจปรากฏการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นได้อย่างไรบ้างนะ?
TheMATTER จึงขอความเห็นจาก อ.พิจิตรา สึคาโมโต้ จากคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาฯ ที่เคยคลุกคลีกับงานวิจัยเรื่องการสื่อสารบนโลกทวิตเตอร์มานาน
อ.พิจิตรา วิเคราะห์ให้เราฟังว่า หนึ่งในสาเหตุแรกคนรุ่นใหม่จำนวนมาก ย้ายชีวิตไปเคลื่อนไหวในทวิตเตอร์เพราะมันดูเหมือนจะ ‘ปลอดภัย’ กว่าพื้นที่บนแพลตฟอร์มของเฟสบุ๊คที่วันนี้ได้กลายเป็นสื่อกระแสหลัก (Mass Media) ไปแล้ว
“เหตุผลที่คนรุ่นใหม่ย้ายไปอยู่ในทวิตเตอร์ค่อนข้างเยอะ เพราะตอนนี้แต่ละแพลตฟอร์มเริ่มมีคาแรคเตอร์ของตัวเอง เฟสบุ๊กได้เป็นกลายเป็นช่องทางกระแสหลัก ซึ่งพ่อแม่ของพวกเขาก็ไปอยู่ เด็กรุ่นใหม่เลยก็หนีไปแพลตฟอร์มทวิตเตอร์กันเรื่อยๆ อีกอย่างหนึ่งคือ ทวิตเตอร์มันมีความเร็วในการตามข่าวมากกว่าเฟสบุ๊คด้วย เรื่องข่าวสารบ้านเมืองมันเลยเห็นได้เร็วกว่า เชื่อว่าการเคลื่อนไหวในนี้มันอาจทำให้เขาสบายใจมากกว่าบนแพลตฟอร์มอื่น
“คนรุ่นนี้เขาเป็นเติบโตเป็น Digital native ที่คุ้นชินกับการอยู่บนนั้นมากกว่าพื้นที่ทางกายภาพ เขาเลยสะดวกและสบายใจกว่าที่จะไปเคลื่อนไหวกันบนแพลตฟอร์มนั้น อีกอย่างคือ ข้อจำกัดในโลกของความเป็นจริงด้วยที่มันทำให้การเคลื่อนไหวเรียกร้องเจออุปสรรคเยอะ”
อ.พิจิตรา อธิบายว่า ถ้าเรามองในบรรยากาศทางการเมืองในรอบสิบกว่าปีที่ผ่านมา ซึ่งเต็มไปด้วยความอึมครึมและทำให้สังคมอึดอึดมาโดยตลอด มันก็จะช่วยให้เราเข้าใจปรากฏการณ์เคลื่อนไหวบนทวิตเตอร์ในช่วงนี้ได้บ้าง
“เด็กรุ่นนี้เขาสนใจการเมืองนะ แต่คำถามคือ แล้วตอนนี้สังคมเรามีบรรยากาศที่เอื้อให้เขาขยับกันมากแค่ไหน ต้องเข้าใจว่าพวกเขาอยู่ในบรรยากาศสังคมที่อึมครึมแบบนี้มานานมาก แล้วเขาทำอะไรก็ไม่ได้ มันไม่ใช่บรรยากาศเปิด คนที่ได้เติบโตมากับบรรยากาศปิดๆ แบบนี้ มันก็จะสร้างคาแรคเตอร์ร่วมของคนรุ่นใหม่
“เคยคุยกับนิสิตคณะนิเทศที่เพิ่งเรียนจบแล้วตัดสินใจไปเรียนต่อที่ต่างประเทศ เขาบอกว่าอยากออกไปทำอะไรหลายอย่างที่ตอนเรียนไม่กล้าทำ คือเด็กบางคนก็อยู่ในความหวาดกลัวทำนองนี้”
บรรยากาศบ้านเมืองแบบ ‘พิเศษ’ ที่อยู่กับเรามานานหลายปี ยังกลายเป็นอุปสรรคที่ทำให้เสียงของคนรุ่นใหม่ ยังไม่ได้ถูกรับฟังจากทั้งผู้มีอำนาจและสื่อมวลชนกระแสหลักพอสมควร
“ถ้าเป็นแต่ก่อนที่บรรยากาศทางการเมืองมันเปิดกว่านี้ สื่ออาจหยิบปรากฏการณ์ที่ในโลกทวิตเตอร์ตอนนี้เพื่อไปเล่นเป็นประเด็นข่าวต่อได้ แต่ต้องยอมรับกันว่า สื่อกระแสหลักหลายสำนักก็ไม่กล้าเล่นเรื่องแฮชแท็กพวกนี้เท่าไหร่ เพราะสื่อเองก็ต้องเอาตัวรอดทางธุรกิจเขาก็เลยต้องเลี่ยง การเคลื่อนไหวมันเลยถูกทำให้แผ่วเพราะข้อจำกัดพวกนี้ด้วย
“เราอยู่ในยุคที่บรรยากาศทางการเมืองมันเล่นกันจริงจังและค่อนข้างรุนแรง ต้นทุนในการเคลื่อนไหวในยุคนี้มันเลยสูง หลายคนจึงกลัวว่าการเอาตัวเองไปแลกในบรรยกาศทางการเมืองแบบนี้อาจจะไม่คุ้ม มันเลยเป็นอย่างที่ อาจารย์ พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ (คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ) เคยพูดว่าบรรยากาศสังคมแบบนี้ มันทำให้คนรุ่นใหม่จำนวนมากหนีเข้าไปเคลื่อนไหวในป่าดิจิทัลกัน”
ปรากฏการณ์เสียงเรียกร้องจากผู้คนในโลกทวิตเตอร์ จึงไม่ใช่แค่เรื่องที่ระบายความในใจกันแบบเฉพาะกิจ หากแต่มันยังช่วยให้เราเห็นถึงความรู้สึกที่อัดอั้นตันใจ ที่คนรุ่นใหม่ได้รับมาจากบรรยากาศของสังคมแบบ ‘พิเศษ’ มายาวนานหลายต่อหลายปี
ขณะเดียวกัน แฮชแท็ก #กลุ่มคนอยากเลือกตั้ง ก็กำลังมีกิจกรรมที่เติบโตมากขึ้นเรื่อยๆ ทั้งการนัดรวมตัวกันทวีตเพื่อสื่อความต้องการอยากเปลี่ยนแปลงประเทศในทุกวันตอน 6 โมงเย็น รวมไปถึง กิจกรรมชวนกันกินยืนบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป เพื่อสื่อให้เห็นถึงการซ้อมอดอยากระหว่างที่ยังไม่มีการเลือกตั้ง (เผ็ชเว่อร์)
ไม่ว่าเสียงเหล่านี้จะส่งไปถึงผู้มีอำนาจตัดสินใจได้หรือไม่ แต่เราก็ไม่สามารถปฏิเสธได้ถึงความสำคัญได้เลยแม้แต่น้อย