ซอมบี้อีกแล้ว?
ซอมบี้ ซอมบี้เต็มไปหมด เราเหมือนจะเบื่อ แต่เอาเข้าจริง เราก็ยังชอบดูเรื่องว่าด้วยซอมบี้อยู่ดี ช่วงนี้ก็มีซีรีส์ซอมบี้เกาหลีโบราณที่ยำเอาทุกประเภทหนังเข้าไว้ด้วยกันทั้งเรื่องย้อนยุค ชิงบัลลังก์ การหนีเอาตัวรอดจากซอมบี้ หรือในโลกเกม เราเองก็ได้กลับมาเล่น Resident Evil 2 ได้กลับไปเอาตัวรอดในเกมคลาสสิกบนแพลตฟอร์มและเทคโนโลยีสมัยใหม่ ยังไม่นับเกมใหม่ๆ ที่เตรียมให้เราไปเอาตัวรอดในยุคซอมบี้ครองเมืองที่รอจ่อคิวให้เราเตรียมปืน ใส่รองเท้าวิ่งต่ออีกมากมาย
ซอมบี้เป็นเรื่องของความมัน เป็นเรื่องของการเอาชีวิตรอด เป็นจินตนาการว่า เอ้อ โลกเราอาจจะถึงการหายนะได้ เมื่อจุดหนึ่ง ‘คน’ ที่เคยมีสติ เคยสร้างสังคมขึ้นมาด้วยกัน อยู่ๆ วันหนึ่งก็สูญเสียความเป็นมนุษย์ กลายสภาพเป็นสิ่งที่ถูกขับเคลื่อนด้วยความหิวและการทำลายล้าง ซอมบี้จึงเป็นภัยที่มนุษย์เรากลัว เป็นภัยของอารยธรรมของเราที่หลายครั้งก็เป็น ‘ภัยจากภายใน’ เป็นความกังวลจากสิ่งที่อยู่ใกล้ๆ ตัวของเรา
แต่เดิม ซอมบี้เป็นความกลัวที่ว่าด้วย ‘คนอื่น’ แนวคิดเรื่องซอมบี้เป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมของคนผิวสี เป็นเรื่องของการทำวูดูของชาวเฮติหรือศาสตร์เหนือธรรมชาติของคนจาไมกาที่เรียกว่าโอเปอา (Obeah) นึกภาพคนขาวที่มองว่าตัวเองมีความเป็นมนุษย์มากกว่าคนผิวสี จึงพยายามเข้าไปจัดการและเอามาทำงานเป็นทาส แต่กลับพบว่า อีกฝ่ายดันมีมนต์คาถาพื้นถิ่นที่สามารถควบคุมศพ ทำให้ร่างนั้นหมดสภาพจากการเป็นมนุษย์ แล้วทำให้กลายเป็นทาสไป คนขาวอาจรู้สึกช็อก จนในช่วงที่คนขาวครองดินแดนอาณานิคมเหล่านั้นเลยแบนศาสตร์มืดมนต์ดำทั้งหมด

การกลับมาอีกครั้งของการยิงซอมบี้ในแรคคูนซิตี้, Wccftech
จากความเจ็บปวดของทาสสู่ความกลัวของเจ้าอาณานิคม
ที่มาของซอมบี้และการกลายมาเป็นเรื่องเล่ากระแสหลักที่คนขาวกลัวนั้นมีความซับซ้อนและเกี่ยวข้องกับการล่าอาณานิคมมาอย่างยาวนาน โดยเฉพาะประวัติศาสตร์ของเฮติที่ตกเป็นอาณานิคมของฝรั่งเศส ก่อนจะถูกครอบงำและกวาดต้อนทาสโดยอเมริกาอีกครั้ง
ความเชื่อเรื่องซอมบี้แต่เดิมเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมวูดูโดยเฉพาะในพื้นที่ชนบท ชาวเฮติเชื่อเรื่องหมอผีหรือ ‘bokor’ หมอผู้มีความสามารถปลุกศพให้ฟื้นจากความตายหรือสามารถเปลี่ยนคนที่เป็นเป้าหมายให้มีสภาพ ‘เหมือนศพ’ เพื่อใช้เป็นทาสส่วนตัวได้ ซึ่งการปลุกศพของหมอผีอาจจะทำด้วยยาที่ปรุงขึ้นพิเศษ ด้วยคาถาอาคม หรือด้วยการสะกดจิต
ทีนี้ต้องนึกภาพว่า ความเชื่อแบบวูดูหรือโอเปอาแง่หนึ่งเป็นเหมือนความเชื่อพื้นถิ่นที่เกี่ยวพันกับเรื่องของวิถีชีวิตหรือการบำบัดเยียวยา จนกระทั่งเกิดการล่าอาณานิคมขึ้น เราถึงเริ่มเอาความคิดแบบโลกสมัยใหม่ เอาความเชื่อเรื่องเหตุผล เอาความคิดแบบคริสต์ศาสนาเข้าไปมองว่าความเชื่อพื้นถิ่นนั้นด้อยค่ากว่า
ถ้ามองจากมุมของคนขาว ทาสที่มีวิชาอาคมแบบหมอผีดูเป็นภัยที่น่ากลัว แต่ความกลัวที่คนขาวมีต่อวูดูและการทำซอมบี้เป็นความกลัวในยุคหลังมากกว่า แง่หนึ่งนักวิชาการเชื่อว่า ภาพของซอมบี้ในยุคแรกๆ เป็นภาพที่คนผิวดำเล่าเพื่อสะท้อนถึงความยากลำบากที่ชาวเฮติต้องเผชิญในช่วงของการตกเป็นทาสภายใต้การครอบงำของฝรั่งเศสในช่วงทศวรรษ 1600s-1700s หรือยิ่งไปกว่านั้น ความเชื่อเรื่องซอมบี้ได้นำมาใช้เพื่อป้องกันไม่ให้คนพื้นเมืองฆ่าตัวตายหนีความยากลำบากจากการตกเป็นทาสเองด้วย
จริงๆ ความเชื่อเรื่องหมอผีที่ใช้วิชาเพื่อทำให้คนไร้จิตใจและกลายเป็นทาสก็มีอยู่แต่เดิม แต่นึกภาพว่าในสมัยที่คนเฮติตกเป็นอาณานิคมของฝรั่งเศส คนพื้นเมืองกลายเป็นทาสที่ต้องทำงานหนักจนตายตกไป ภาพที่คนพื้นเมืองเห็นคือพวกเขาเองดูจะกลายเป็นซอมบี้ของพวกคนขาวไปโดยปริยาย มีข้อเสนอบอกว่า ช่วงที่คนผิวสีตกเป็นทาส พวกเขาเชื่อว่าเมื่อตายไปแล้วก็จะได้เป็นอิสระจากโลกของคนเป็น ดังนั้นทาสจำนวนมากจึงฆ่าตัวตายเพื่อหวังจะเป็นอิสระจากสภาวะที่แสนย่ำแย่ที่กำลังเผชิญอยู่ ความเชื่อเรื่องซอมบี้เลยถูกนำกลับมาเล่าเพื่อย้ำว่า คนที่ฆ่าตัวตายจะไม่สามารถเป็นอิสระได้ แต่วิญญาณจะถูกกักขังอยู่ในร่างของตัวเองในสภาพซอมบี้ไร้วิญญาณตลอดไป
พอปีค.ศ. 1804 ชาวเฮติร่วมมือกันต่อต้านและประกาศอิสรภาพจากฝรั่งเศสได้สำเร็จ เรื่องเล่าเกี่ยวกับซอมบี้จากความเชื่อแถบชนบทจึงเริ่มมีบทบาทสำคัญในเรื่องเล่าหลักของชาวเฮติในฐานะสัญลักษณ์ของการถูกกดขี่ ในขณะเดียวกัน จากการแข็งข้อขึ้นของคนพื้นเมืองก็ทำให้คนผิวขาวเริ่มมองคนพื้นเมืองรวมไปถึงความเชื่อพื้นถิ่นในฐานะภัยคุกคาม
ดังนั้น ในสายตาของคนขาว ก็เลยเริ่มมองว่าคนพื้นเมืองและวัฒนธรรมของคนพื้นเมืองเป็นภัยคุกคาม เริ่มมองว่าวูดูเป็นส่วนหนึ่งของพ่อมดแม่มดที่ร้ายกาจ เป็นเรื่องของคาถามนต์ดำ

ภาพของหมอผีวูดูในช่วงทศวรรษ 1800s ถูกวาดให้น่ากลัวและเป็นภัยคุกคาม,Smithsonian Magazine
ส่งออกซอมบี้สู่อเมริกันชน
นักวิชาการมักแบ่งการล่าอาณานิคมออกเป็นสองช่วงใหญ่ๆ คือ ช่วงแรกจะเน้นการแสวงหาดินแดนใหม่ เป็นเรื่องของการผลิต การหาพื้นที่เพาะปลูก และการใช้แรงงานเพื่อป้อนสินค้าเช่นอ้อยและน้ำตาลกลับไปสู่โลกตะวันตก ในขณะที่การล่าอาณานิคมในยุคต่อมามีประเด็นเรื่องระบบความคิดความเชื่อ เช่นการให้การศึกษาคนพื้นเมืองในฐานะคนที่ด้อยกว่า และพยายามเปลี่ยนความเชื่อของคนพื้นถิ่นให้ไปสู่ทางศิวิไลซ์ในมุมมองของคนขาว โดยเฉพาะการส่งมิชชันนารีไปเผยแพร่ศาสนา
ในช่วงปีค.ศ. 1915 เมื่ออเมริกายึดครองเฮติในฐานะเจ้าดินแดน นอกจากการส่งมิชชันนารีไปเพื่อเปลี่ยนแปลงลัทธิดั้งเดิมที่ถูกมองว่าป่าเถื่อนและนอกรีตแล้ว ยังมีนักมานุษยวิทยานายหนึ่งชื่อ William Seabrook เขาเป็นผู้ทำให้อเมริกันชนรู้จักคำว่าซอมบี้ และกลายเป็นรากฐานของ ‘วัฒนธรรมซอมบี้’ ในโลกป๊อปๆ มาจนถึงทุกวันนี้
ซึ่ง Seabrook เป็นนักบูรพคดีศึกษาที่สนใจวัฒนธรรมวูดู เขาก็เลยลงไปศึกษาที่ Port-au-Prince ในเมืองหลวงของเฮติ วันหนึ่งพอได้ไปดูโรงงานน้ำตาล แล้วไปเจอคนที่เขาเชื่อว่าถูกทำให้เป็นซอมบี้ Seabrook ก็เลยบันทึกถึง ‘zombies’ ไว้ในหนังสือ The Magic Island โดยพูดถึงคนงานซอมบี้ที่ทำงานโดย ‘ไร้วิญญาณ ตาลอยเหมือนคนตาย ไม่มีแววตา’
จะว่าไป คนงานเฮติที่ Seabrook เจอก็อาจจะเป็นทาสที่ทำงานมาอย่างยาวนาน การทำงานเช่นนั้น ต่อให้ไม่ต้องทำของใส่ ก็คงไม่เแปลกอะไรที่จะมีสภาพเหมือนที่ Seabrook อธิบาย
หลังจากหนังสือ The Magic Island ได้รับการเผยแพร่ในช่วงทศวรรษ 1929 คำว่าซอมบี้และภาพของซอมบี้ตาลอยๆ ไร้วิญญาณก็เริ่มเป็นที่รู้จักในอเมริกา ในปีค.ศ. 1932 หลังจากที่ The Magic Island เผยแพร่ได้ไม่นาน ในอเมริกาก็ให้กำเนิดหนังซอมบี้เรื่องแรกชื่อ ‘White Zombie’ ขึ้น เรื่อง White Zombie ถือเป็นส่วนหนึ่งในการก่อตัวของหนังแนวสยองขวัญอเมริกัน ต่อเนื่องกับ Dracula(1992) และ Frankenstein(1992)

imdb.com
ตามท้องเรื่อง White Zombie พูดถึงคนผิวขาวที่ล่อลวงพวกเดียวกันเองให้ไปเป็นซอมบี้ เพื่อให้เป็นทาสรับใช้ส่วนตัว จากชื่อเรื่องก็พอจะบอกได้ว่า คนผิวขาวมองว่าการทำซอมบี้เป็นวิชาของคนผิวสี ในขณะเดียวกันก็พอจะตีความได้ว่า ในยุคที่อเมริกาเต็มไปด้วยทาสผิวสี การพูดถึงซอมบี้ผิวขาวอาจสะท้อนถึงความกังวลจาก ‘คนอื่น’ ที่อยู่ปะปนในโลกเดียวกัน เกิดความหวาดกลัวกันว่าวันหนึ่งคนผิวขาวก็อาจจะกลายเป็นซอมบี้ด้วยศาสตร์มืดเหล่านี้ก็ได้
ดังนั้น ประเด็นเรื่องซอมบี้จากตั้งแต่ยุคที่เริ่มต้นในเฮติ มาจนถึงการกวาดต้อนทาสในอเมริกาจึงมีประเด็นเรื่องชาติพันธุ์และความกังวลต่อ ‘คนอื่น’—คนผิวสีหรือคนพื้นเมืองเป็นแกนกลางเสมอ เป็นความกังวลที่ย้อนแย้งเพราะกลัวว่าสุดท้ายด้วยศาสตร์วูดูเหล่านั้น ตัวเองอาจกลายเป็นทาสเหมือนที่ในอดีตคนขาวจับคนผิวสีมาเป็นทาสก็ได้
ซอมบี้เป็นเรื่องของความวิตกกังวลบางอย่าง สมัยหนึ่งคนขาวกังวลเรื่องคนผิวสีในฐานะคนอื่นๆ พอในยุคหลังๆ เราเริ่มเปิดกว้างเรื่องชาติพันธุ์ เข้าใจความเสมอภาคและความหลากหลาย ซอมบี้จึงถูกเอาไปเล่าในประเด็นอื่นๆ เช่น เรื่องความก้าวหน้าเกินไปของวิทยาศาสตร์ ไปจนถึงความเปลี่ยนแปลงของสภาวะอากาศ
ในหนังไทยเรื่อง 5 แพร่งเคยเอาประเด็นเรื่องยาบ้าไปโยงกับภาวะซอมบี้ ไม่กี่วันหลังจากนี้ เราอาจจะมีหนังว่าด้วยคนกลายเป็นซอมบี้เพราะหมอกควันประหลาดจากฝุ่นพิษชนิดพิเศษก็เป็นได้
อ้างอิงข้อมูลจาก