ช่วงเดือนพฤศจิกายน ค.ศ.2020 ที่ผู้เขียนกำลังเขียนต้นฉบับชิ้นนี้ สถานการณ์ COVID-19 ในประเทศญี่ปุ่นกลับมาแย่อีกครั้ง ยอดผู้ติดเชื้อพุ่งสูงจนน่าหวั่นใจ (ณ 19 พฤศจิกายน โตเกียวมีผู้ติดเชื้อ 534 ราย) นอกจาก COVID-19 แล้วสิ่งที่รัฐบาลและประชาชนปวดหัวอีกเรื่องก็คือการจัดโอลิมปิกที่เลื่อนไปปี ค.ศ.2021 หลายฝ่ายฟันธงว่าไม่น่าจะจัดได้ ขณะเดียวกันก็มีม็อบประท้วงต่อต้านการจัดงานอยู่เนืองๆ นอกจากจะกังวลการระบาดของโรค อีกเหตุผลหนึ่งของพวกเขาคือไม่พอใจที่รัฐบาลเอาเงินมาถลุงกับมหกรรมกีฬา แทนที่จะเอาไปแก้ปัญหาที่เป็นผลกระทบจากสึนามิ 3.11
ผู้อ่านบางท่านอาจจะเริ่มลืมๆ เหตุการณ์สึนามิ 3.11 ไปแล้ว ขอเท้าความแบบรวบรัดว่าเมื่อ 11 มีนาคม ค.ศ.2011 ได้เกิดแผ่นดินไหวขนาด 9 แม็กนิจูดบริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือของญี่ปุ่น ตามมาด้วยคลื่นสึนามิขนาดใหญ่ (สูงสุดอยู่ที่ราว 40 เมตร) ต่อด้วยการระเบิดของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์และกัมมันตภาพรังสีรั่วไหล ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต 15,899 คน สูญหาย 2,529 คน อีกทั้งผู้คนมากมายยังต้องอพยพออกจากบ้านเกิด
แม้ 3.11 จะผ่านไปเกือบทศวรรษแล้ว แต่ความคาราคาซังจากโศกนาฏกรรมยังไม่จบสิ้นง่ายๆ คนจำนวนมากยังต้องอาศัยในบ้านพักชั่วคราว หลายพื้นที่ยกเลิกการเป็นโซนอันตรายแต่ไม่มีใครกลับไปอยู่ ไหนจะเรื่องกากกัมมันตภาพรังสีจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่ไม่รู้จะกำจัดอย่างไร ในเมื่อสังคมยังคงถูกหลอกหลอนจาก ‘อาฟเตอร์เอฟเฟกต์’ ของ 3.11 ไม่น่าแปลกใจว่าวงการภาพยนตร์ญี่ปุ่นจึงผลิตหนังสึนามิอย่างต่อเนื่อง เรียกได้ว่ามีให้ดูกันทุกปี
โดยปกติแล้วหนัง 3.11 ที่ผ่านมามักว่าด้วยเรื่องราว ‘หลังจาก’ เกิดสึนามิไปแล้ว ด้วยเหตุผลสองประการ คือ การนำเสนอฉากสึนามิถล่มเมืองอาจเป็นเรื่องละเอียดอ่อนเกินไป ต้องให้เวลาสังคมทำใจ และต้องงบประมาณสูงเพื่อใช้ซีจีสร้างสึนามิขึ้นมา อย่างไรก็ดี ภาพยนตร์เรื่อง Fukushima 50 (ค.ศ.2020, เซ็ตสึโระ วาคามัตสึ (Setsuro Wakamatsu)) น่าจะเป็นหนังเรื่องแรกๆ ที่นำเสนอช่วงเวลาขณะเกิดสึนามิและมีฉากมวลน้ำซัดอาคารและผู้คน
คำว่า Fukushima 50 เป็นฉายาที่สื่อต่างชาติตั้งให้กับพนักงานราว 50 ชีวิตของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะไดอิจิที่ยืนหยัดจะอยู่ในโรงไฟฟ้าต่อไปเพื่อควบคุมสถานการณ์ระเบิด แน่นอนว่าหนังต้องมีท่าทีเชิดชูตัวละครกลุ่มนี้เป็นฮีโร่ (ซึ่งบางคนมองว่ามันคือหน้าที่ที่พวกเขาต้องรับผิดชอบ ไม่ใช่การเสียสละแต่อย่างใด) แต่สิ่งที่ผู้เขียนคิดว่าน่าสนใจคือเรื่อง ‘กระบวนการ’ ที่เหล่าตัวละครต้องเผชิญ
ประเทศญี่ปุ่นขึ้นชื่อเรื่องความยุ่งยากซับซ้อนของขั้นตอนแบบทางการ อย่างใน Fukushima 50 กว่าจะตัดสินใจว่าจะเข้าไปโซนนี้โซนนั้นของโรงไฟฟ้าหรือจะเปิดปิดวาล์วอันไหนก็ต้องโทรหาผู้บังคับบัญชากันหลายทอด หรือถ้าใครเคยดูหนังดังอย่าง Shin Godzilla (ค.ศ.2016) ก็คงเหวอว่าแทนที่หนังจะเน้นการสู้รบกับสัตว์ประหลาด หนังกลับเต็มไปด้วยการประชุม ประชุม และประชุมของเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้อง
ถึงกระนั้น Fukushima 50 มีท่าทีจะเป็นหนังแมสมากกว่ามุ่งวิพากษ์การทำงานอันเชื่องช้าของหน่วยงานใดๆ หนังจึงใส่ฉากดราม่าเรียกน้ำตาแทบตลอดเรื่อง ไม่ว่าจะการแย่งกันสละชีวิตของเหล่าพนักงาน การตัดคู่ขนานไปเล่าถึงครอบครัวของตัวละครหลัก กระทั่งการประชาสัมพันธ์หนังเรื่องนี้ยังใช้วิธีไปถ่ายคนดูร้องไห้ในโรงมาตัดเป็นคลิปโปรโมต
ความบีบเค้นทางอารมณ์ก็เป็นเรื่องน่าหนักใจแล้ว Fukushima 50 ยังมีความคลิเช่แบบหนังหายนะที่ผู้นำประเทศจะต้องดูโง่เง่าและเอาแต่ใช้อารมณ์ (หรืออันนี้มันคือข้อเท็จจริงนะ) แต่จุดที่ผู้เขียนตะขิดตะขวงใจที่สุดน่าจะเป็นฉากที่ครอบครัวของพนักงานโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ได้รับการต้อนรับอย่างดีจากคนในหมู่บ้าน ทั้งที่ในชีวิตจริงแล้วพวกเขาถูกรุมด่าประณามอย่างรุนแรง ถึงขั้นต้องย้ายหนีไปเลยก็มี พอจะเข้าใจว่าหนังต้องการส่งต่อพลังบวก แต่แบบนี้น่าจะเข้าข่ายหลอกตัวเองมากกว่า
ขณะที่ Fukushima 50 มีความเอนเอียงไปทางหนังฮอลลีวูดฟอร์มยักษ์ ปี ค.ศ.2020 ก็มีหนังสึนามิแนว ‘อาร์ตๆ’ ชื่อว่า Voices in the Wind โดยหนังได้แรงบันดาลใจมาจาก ‘โทรศัพท์แห่งสายลม’ (Phone of the wind) ตู้โทรศัพท์ปลอมๆ ที่ตั้งอยู่ในเมืองโอสึจิ จังหวัดอิวาเตะ เป็นตู้โทรศัพท์ที่ผู้คนมายกหูและทำประหนึ่งว่าตัวเองได้พูดคุยกับคนที่เสียชีวิตหรือสาบสูญจากเหตุการณ์ 3.11 (ช่อง NHK เคยทำสารคดีไว้ด้วย ดูได้ที่นี่ )
‘Voices in the Wind’ เป็นผลงานกำกับโดย โนบุฮิโระ ซุวะ เขาเป็นคนทำหนังชาวญี่ปุ่นที่ไปทำหนังในฝรั่งเศสอยู่หลายปี ดังนั้นสไตล์ของเขาจึงเป็นหนังยุโรปเอาเสียมากๆ หนังดำเนินเรื่องอย่างนิ่งช้า ไม่ได้มีพล็อตชัดเจนอะไรนัก มันว่าด้วยฮารุเด็กสาวที่สูญเสียครอบครัวจาก 3.11 เธอรู้สึกหมดแรงใจและเดินทางไปทั่วญี่ปุ่นอย่างไร้จุดหมาย หากให้เปรียบเทียบคู่กัน Fukushima 50 ถือเป็นหนังแบบคลื่นซัดสาดแรง ส่วน Voices in the Wind นั้นเป็นแนวแม่น้ำไหลเอื่อย
การขึ้นรถลงเรืออย่างเรื่อยเปื่อยของฮารุทำให้เธอได้เจอผู้คนมากมาย ไม่ว่าจะคุณลุงใจดีพาเธอไปกินข้าวที่บ้าน คู่สามีภรรยาผู้เธอรับขึ้นรถอย่างไม่ลังเล กลุ่มวัยรุ่นที่พยายามจะลวนลามเธอ ไปจนถึงผู้ลี้ภัยชาวอาหรับ ทว่าคนสำคัญที่สุดคือโมริโอ ชายวัยกลางคนที่ลูกเมียหายไปตอนสึนามิ ฮารุกับโมริโอจึงตกอยู่ในสภาพเดียวกัน ทั้งคู่ต้องทุกข์ทรมานจากการไม่รู้ว่าคนใกล้ชิดเป็นตายร้ายดีอย่างใด แม้ใจลึกๆ จะรู้ดีว่าพวกเขาจากไปแล้ว หากแต่ไม่มีกายหยาบใดๆ มายืนยันเพื่อตัดใจ ถึงกระนั้นฮารุก็ได้เรียนรู้ว่าในโลกนี้ยังมีคนอื่นที่เจ็บปวดแบบเดียวกับเธอ
สิ่งที่ผู้เขียนประทับใจใน Voices in the Wind คือการที่มันไม่พยายามเร้าอารมณ์ผู้ชมเลย อีกทั้งผู้กำกับซุวะยังเลือก เซเรนา โมโตลา (Serena Motola) นางแบบชื่อดังมาแสดงนำ (บ้านเราชอบเรียกเธอว่า ‘น้องหน้าง่วง’) ถือเป็นการตัดสินใจที่บ้าบิ่นมาก โมโตลามีประสบการณ์แสดงน้อยนิดและบทของเธอค่อนข้างยาก แต่ซุวะคงคิดมาดีแล้วว่าหน้านิ่งๆ ของเธอเหมาะกับหนังและสไตล์ของเขา และฉากสุดท้ายที่เป็นการถ่ายใบหน้าของโมโตลาอย่างยาวนานก็ทำออกมาทรงพลังมาก ถือว่าเธอสอบผ่านในฐานะนักแสดง