ทุกๆ ปี โปรเจกต์ชื่อ The World Mayor Project ซึ่งอยู่ในการจัดการของมูลนิธิชื่อ City Mayors Foundation จะจัดอันดับ ‘ผู้ว่าฯ’ ของเมืองต่างๆ ในโลก เพื่อดูว่าใครควรจะได้รับเกียรติประกาศเป็นผู้ว่าฯ ที่ดีที่สุด
ผู้ว่าฯ ที่จะได้รับรางวัลนี้ จะต้องเป็นคนที่อุทิศตัวให้กับเมืองของตนอย่างเต็มที่ และมุ่งมั่นจะทำให้เมือง ‘ดีขึ้น’ อย่างแท้จริง ไม่ใช่แค่หาเสียงพอให้ได้เป็นผู้ว่าฯ เสร็จแล้วก็ทำงานไปวันๆ แบบนั้นต่อให้เป็นผู้ว่าฯ มานานเท่าไหร่ คนก็ไม่เห็นความเปลี่ยนแปลงใดๆ เพราะเมืองไม่ได้เกิดความเปลี่ยนแปลงใดๆ ให้เห็นเป็นรูปธรรม
การคัดเลือกผู้ว่าฯ ให้ได้รับรางวัลนี้ไม่ได้เกิดขึ้นจากใครที่ไหนที่สูงส่งมาเป็นผู้ตัดสินมอบรางวัล แต่มาจาก ‘สิ่งมีชีวิตที่เรียกว่าคน’ ซึ่งก็คือ ‘คนธรรมดาสามัญ’ ที่อาศัยอยู่ในเมืองนั้นๆ นั่นแหละ โดยเกณฑ์การเสนอชื่อจะดูจากคุณสมบัติหลายอย่าง
สำหรับผู้ชนะสุดยอดผู้ว่าฯ ของปี ค.ศ.2021 (ซึ่งประกาศกันในปีนี้) มีอยู่ด้วยกัน 9 เมือง โดยเมืองที่เข้าข่ายการพิจารณามีทั้งเมืองใหญ่ระดับที่เรียกว่า metropolis เมืองที่เล็กลงมาเรียกว่า city หรือแม้กระทั่งเมืองขนาดเล็กจริงๆ ที่มีลักษณะเป็นชุมชนหรือ community ก็สามารถเข้าข่ายพิจารณาได้เหมือนกัน
แต่ก่อนที่เราจะไปดูกันว่า 9 เมืองดังกล่าวมีเมืองไหนบ้าง อยากเล่าให้คุณฟังถึง ‘เกณฑ์’ ในการพิจารณาที่เปลี่ยนแปลงไปเสียหน่อย
หลายปีก่อน ตอนพิจารณารางวัลนี้ เขามีหลักเกณฑ์ที่มุ่งไปหา ‘ตัว’ ของผู้ว่าฯ เป็นสำคัญ ดังนั้น หลักเกณฑ์จึงมุ่งไปที่คุณสมบัติดีๆ ของผู้ว่าฯ คนนั้นๆ เช่นคุณสมบัติอย่างแรกสุดที่ผู้ว่าฯ ควรจะมีก็คือ ‘ความซื่อสัตย์’ เพราะความซื่อสัตย์ถือเป็น ‘คุณธรรม’ สำคัญอันดับแรก ตามมาด้วย ‘ความเป็นผู้นำ’ คือต้องทำให้คนอื่นไว้วางใจได้ และสุดท้ายก็คือ ‘วิสัยทัศน์’ ที่จะนำพาเมืองไปให้ถึงเป้าหมาย
แต่ในระยะหลังๆ สิ่งที่โปรเจกต์นี้พิจารณา จะมีทิศทางหันเหมาที่ ‘ตัวเมือง’ หรือ ‘ผลลัพธ์’ ต่างๆ ที่ผู้ว่าฯ มีส่วนทำให้เกิดขึ้นกับเมืองมากกว่าพิจารณาที่ ‘ตัว’ ขอผู้ว่าฯ เอง ซึ่งผมคิดว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญมากๆ เพราะมันคือการเปลี่ยนที่ตัว ‘ปรัชญา’ ของรางวัลเองเลย จากการให้รางวัล ‘คน’ มาเป็นการให้รางวัลสิ่งที่คนคนนั้นทำร่วมกับคนอื่นๆ จนได้ผลลัพธ์ที่พึงปรารถนาออกมา
สำหรับปี ค.ศ.2021 ซึ่งเป็นปีที่โลกต้องเผชิญหน้ากับวิกฤตหนักหนา โดยเฉพาะวิกฤต COVID-19 ที่เจอกันถ้วนหน้าทั่วโลกนั้น หลักเกณฑ์สำคัญที่เขาดูแบ่งเป็นสามเรื่อง ได้แก่
Stronger City:
นั่นคือในท่ามกลางวิกฤต ผู้ว่าฯ และชาวเมืองสามารถทำให้เมืองของตัวเอง ‘แข็งแกร่ง’ ขึ้นมาได้หรือเปล่า โดยเน้นไปที่การจัดหาทรัพยากร ซึ่งไม่ใช่แค่น้ำ ไฟฟ้า หรืออะไรทำนองนั้น แต่ทรัพยากรสำคัญอีกอย่างหนึ่งก็คือ ‘ความรู้’ (knowledge) และ ‘ความเชี่ยวชาญ’ (expertise) ซึ่งทั้งสามอย่างนี้จะช่วยปกป้องประชากรของเมืองให้รอดจากภัยคุกคามได้ ถ้าผู้ว่าฯ มีกึ๋นมากพอ โดยตัวของตัวเองก็ต้องมีความรู้และความเชี่ยวชาญ จึงจะสามารถรักษาและนำพาเมืองให้แข็งแกร่งทั้งทางกายภาพ ทางเศรษฐกิจ และทางสังคมได้ ด้วยการสร้างสาธารณูปโภคและสาธารณูปการต่างๆ ให้สอดคล้องกับความแข็งแกร่งนั้นๆ
Fairer City:
Fairer city ก็คือเมืองที่ ‘ยุติธรรม’ มากขึ้นกว่าเดิม เรื่องนี้สำคัญมากๆ เพราะการที่เมืองจะ ‘อยู่รอด’ ปลอดภัยต่อไปได้ จะต้องไม่ใช่เมืองที่มีความเหลื่อมล้ำ หรือ ‘จงใจ’ จะสร้างความเหลื่อมล้ำให้เกิดขึ้นกับผู้คน จะมีคนที่สูงส่งกับคนที่ต่ำต้อยไม่ได้ ทุกคนต้องเท่าเทียมเสมอหน้ากัน ไม่ใช่หาวิธีเอาเงินจากคนจนไปปรนเปรอคนชั้นสูงที่ร่ำรวยอยู่แล้วด้วยวิธีการต่างๆ อันอาจถือได้ว่าเป็นความรุนแรงเชิงวัฒนธรรมที่มีแต่สังคมที่สืบทอดกากเดนอำนาจนิยมแบบเก่าๆ เท่านั้นที่จะไม่ยอมถอนตัวขึ้นมาจากปลักตมเดิมๆ เหล่านั้น
COVID-19 คือตัวการสำคัญที่มา ‘กระชากหน้ากาก’ ให้เราเห็นกันกระจะตาเลยว่า เมืองแต่ละเมืองที่เคยปกปิดตัวเองไว้ด้วยหน้าเค้กสวยๆ นั้น แท้จริงมีเบื้องหลังที่เน่าเฟะเพียงใด เพราะคนที่เสียเปรียบอยู่แล้ว มีแนวโน้มจะที่ตกเป็นผู้เสียเปรียบมากยิ่งขึ้นไปอีกเมื่อเกิดวิกฤต
ผู้ว่าฯ ที่ดี จึงต้องจัดการกับ ‘โครงสร้าง’ ของเมืองให้ได้ เพื่อให้เมืองที่ตัวเองดูแลนั้น มีความ ‘ยุติธรรม’ มากขึ้นกว่าที่เคยเป็น
Greener City:
เมืองเขียว ไม่ได้แปลว่าเป็นเมืองที่ปกครองโดยทหารเหมือนที่ยุคหนึ่งเคยมีผู้หาเสียงรับเลือกตั้งเป็นผู้ว่าฯ กรุงเทพฯ ว่าจะทำกรุงเทพฯ ให้ ‘เขียว’ ก่อนเดือนอะไรสักอย่าง แล้วกรุงเทพฯ ก็ได้เขียวสมใจ เพราะเกิดรัฐประหารจนคนใส่เครื่องแบบทหารเต็มพรึ่ดไปทั้งเมือง แต่นั่นไม่ใช่ความหมายของ Greener City เพราะเมืองที่ ‘เขียวมากขึ้น’ หมายถึงเมืองที่ใส่ใจต่อความยั่งยืนทางสิ่งแวดล้อม อันเป็นเรื่องสำคัญมากๆ ในยุคที่เราเผชิญหน้ากับ ‘ความเสี่ยง’ เรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างรุนแรง โดยเฉพาะกับเมืองที่อยู่ริมชายฝั่ง และอยู่สูงกว่าระดับน้ำทะเลเพียงน้อยนิด
วิสัยทัศน์ในการดูแลให้เมืองเกิดความยั่งยืนในเรื่องสิ่งแวดล้อม ไม่ว่าจะเป็นการ ‘มองให้แตก’ ว่าเมืองควรจะพัฒนาต่อไปอย่างไร จึงจะใช้พลังงานให้น้อยลง ใช้ประโยชน์จากพื้นที่เมืองที่มีอยู่ได้มากขึ้น สร้างรอยเท้าคาร์บอนของเมืองให้น้อยที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ฯลฯ จึงเป็นสิ่งที่ผู้หาเสียงเลือกตั้งทุกคนต้องผนึกแน่นเอาไว้ในสำนึก
จะเห็นว่า stronger, fairer และ greener คือสามประเด็นใหญ่ที่จำเป็นอย่างยิ่งต่อการพัฒนาเมืองหนึ่งๆ เมืองจะต้องแข็งแกร่ง แต่เมืองจะแข็งแกร่งไม่ได้เลย หากปราศจาก ‘ความยุติธรรม’ และ ‘ความยั่งยืน’ อันเป็นประเด็นที่ผู้นำต้อง ‘ถึงพร้อม’ ซึ่งความเข้าใจทางสังคม วัฒนธรรม วิทยาศาสตร์ และเศรษฐกิจ
สำหรับ 9 ผู้ว่าฯ ที่ได้รับรางวัลในปีนี้ แบ่งออกเป็นผู้ชนะเลิศ (ที่ได้รับรางวัลร่วมกัน) กับคนอื่นๆ ที่ได้รับรางวัลสาขาอื่นๆ ได้แก่
Ahmed Aboutaleb ผู้ว่าฯ เมือง Rotterdam แห่งเนเธอร์แลนด์ ได้รับรางวัลชนะเลิศร่วม: เขาเป็นหนึ่งในผู้ว่าฯ ของยุโรป ที่ทำงานมายาวนานที่สุดและได้รับความเคารพนับถือมากที่สุด โดยงานสำคัญของเขาก็คือการดูแลเมืองที่มีความหลากหลายและ ‘ต้อนรับ’ คนเชื้อชาติและสัญชาติใหม่ๆ เข้ามาอยู่ร่วมกัน รอตเทอร์ดามนั้นมีคน 175 สัญชาติ อยู่ร่วมกัน ซึ่งแปลว่าคนแต่ละกลุ่มจะต้องเข้าใจกันและกันให้ได้ เพื่อให้เกิดการอยู่ร่วมกัน (social cohesion) ที่ผาสุก
Philippe Rio ผู้ว่าฯ เมือง Grigny แห่งฝรั่งเศส ได้รับรางวัลชนะเลิศร่วม: เรื่องสำคัญที่เขาได้รับการยกย่อง ก็คือเขาเป็นผู้ว่าฯ ที่ต้องการจะโปรโมตหลักการประชาธิปไตยสำคัญของฝรั่งเศส นั่นคือเสรีภาพ ความเสมอภาค และภราดรภาพ ให้เกิดขึ้นในเมือง และนั่นหมายถึงการต่อสู้กับความยากจนและการกีดกันทางสังคมจริงๆ (ไม่ใช่ดีแต่ปาก) ตัวอย่างที่น่าสนใจในการทำงานเพื่อสร้างความเสมอภาค ก็คือการจัดหาแหล่งพลังงานให้เมืองกรีญี (Grigny) ด้วยการใช้พลังงานความร้อนใต้พิภพหรือ geothermal energy คิดเป็น 80% ของพลังงานที่เมืองใช้ และมุ่งมั่นจะทำให้เมืองใช้พลังงานหมุนเวียนให้มากกว่านี้ ซึ่งหลายคนอาจคิดว่า แล้วมันเกี่ยวข้องอะไรกับประชาธิปไตย แต่ในความเป็นจริงก็คือ—การผลิตพลังงานเป็นพื้นฐานสำคัญอย่างหนึ่งของการอยู่ร่วมกันเลยทีเดียว
Leila Mustapha ผู้ว่าฯ เมือง Raqqa แห่งซีเรีย ได้รับรางวัล World Mayor Jury Award: หลายคนอาจคิดว่าผู้ว่าฯ ที่ได้รางวัลคงมาจากประเทศตะวันตก หรือเป็นคนขาวที่เป็นผู้ชาย (ซึ่งส่วนใหญ่ก็เป็นเช่นนั้น) แต่กระนั้นก็ยังมีผู้ว่าฯ หญิงคนนี้ได้รับรางวัลด้วย กับการทำงานใหญ่มากๆ เพราะเธอต้องการจะ ‘สร้าง’ เมืองรอกเกาะห์ (Raqqa) ขึ้นมา หลังจากที่กลุ่ม ISIS เคยปกครองประเทศ และสร้างความขัดแย้งจนทำให้เกิดสงครามขึ้นมา ที่จริงแล้วรอกเกาะห์เป็นเมืองเก่าแก่ที่มีประวัติศาสตร์ซับซ้อน ทั้งกรีก โรมัน ไบแซนไทน์ ตุรกี อิสลาม และคริสเตียน ล้วนเคยผลัดกันเรืองอำนาจ แต่สุดท้ายเมืองก็ถูกทำลายแทบจะสิ้นเชิงจากสงคราม งานของผู้ว่าฯ หญิงคนนี้จึงหนักหนาสาหัสมากๆ
Mansur Yavas ผู้ว่าฯ เมือง Ankara แห่งตุรกี ได้รับรางวัล World Mayor Capital Award: อังการาเป็นเมืองหลวงของตุรกี ถือว่าเป็นเมืองใหญ่ในระดับ metropolis และผู้ว่าฯ คนนี้ก็พยายามสร้างอังการาให้ยิ่งใหญ่ทัดเทียมกับเมืองหลวงของประเทศอื่นๆ ในยุโรปและเอเชีย โดยงานสำคัญของเขาก็คือการดูแลคนจน (ซึ่งก็คือคนจนเมือง) อันเป็นกลุ่มเปราะบางที่สุดในสังคม โดยสร้างโปรแกรมที่เป็นตาข่ายรองรับ (safety net) ให้กับผู้คน ทั้งการช่วยเหลือทางอาหาร การเงิน และบริการสำคัญอื่นๆ รวมไปถึงวิสัยทัศน์สำคัญของเขาที่บอกว่า ประชาชนจะต้องได้รับรู้ข้อมูลข่าวสาร (well-informed) ในเรื่องต่างๆ มากที่สุด โดยเฉพาะในสภาวะที่เกิดการระบาดของ COVID-19
Peter Kurz ผู้ว่าฯ เมือง Mannheim แห่งเยอรมนี ได้รับรางวัล World Mayor International Award: คนนี้พยายามพาเมืองของตัวเองไปสร้างความร่วมมือกับเมืองอื่นๆ ทั่วโลก เพราะเขาเห็นว่าความร่วมมือในระดับนานาชาติระหว่างเมืองต่างๆ คือกุญแจสำคัญในการพัฒนาโลกเชิงบวกขึ้นมา เขาพาเมืองของตัวเองไปเป็น creative city ของยูเนสโกในด้านดนตรี และที่สำคัญก็คือ เขาบอกว่าเมืองหนึ่งๆ ในฐานะที่เป็นพลเมืองโลก ต้องไม่เพิกเฉยต่อผู้เดือดร้อนจากประเทศอื่น เมืองของเขาจึงยินดีต้อนรับผู้อพยพจากประเทศต่างๆ เช่น อัฟกานิสถาน
Ricardo Rio ผู้ว่าฯ เมือง Braga แห่งโปรตุเกส ได้รับรางวัล World Mayor Sustainability Award: คนนี้ขึ้นชื่อเรื่องการเป็นผู้สร้างความยั่งยืน (sustainability) ให้กับเมืองของตัวเอง เขาเชื่อในการพัฒนาอย่างยั่งยืนมากๆ และมุ่งมั่นจะแสดงให้เห็นว่า ความยั่งยืนกับการเติบโตทางเศรษฐกิจนั้นไปด้วยกันได้ และยังเป็นเรื่องจำเป็นมากๆ ด้วย ที่จะทำให้คนรุ่นหลังได้ประโยชน์จากความยั่งยืนที่ว่านี้
Matus Vallo ผู้ว่าฯ เมือง Bratislava แห่งสโลวาเกีย ได้รับรางวัล World Mayor Future Award: คนนี้น่าสนใจมาก เพราะเขามองเมืองไปในอนาคต แต่ไม่ได้แปลว่าเมืองต้องใช้เทคโนโลยีกับทุกเรื่อง สิ่งสำคัญที่เขาต้องการให้เมืองเป็น ก็คือเมืองต้องมี ‘พื้นที่สาธารณะ’ ที่มีคุณภาพดี ซึ่งคำว่าพื้นที่สาธารณะนั้น ไม่ใช่สิ่งที่หยุดนิ่งอยู่กับที่ สร้างแล้วก็เสร็จ แต่มันจะต้องวิวัฒน์ร่วมไปกับความเปลี่ยนแปลงของสังคมและผู้คนด้วย
Francois Decoster ผู้ว่าฯ เมือง Saint-Omer แห่งฝรั่งเศส ได้รับรางวัล World Mayor Public Service Award: เขาได้ชื่อว่าเป็นผู้ว่าฯ ที่มี ‘ราก’ แห่งท้องถิ่นหยั่งลึกมากๆ อุทิศตัวให้กับชุมชน โดยเฉพาะในเรื่องบริการสาธารณะที่พาสังคมไปข้างหน้า ไม่ใช่ตามหลัง เขามีโครงการอย่าง One Birth, One Tree หรือเมื่อมีคนเกิดหนึ่งคน ก็ต้องมีการปลูกต้นไม้หนึ่งต้น เพื่อให้เมืองน่าอยู่
Aldo D’Achille ผู้ว่าฯ เมือง San Bellino แห่งอิตาลี ได้รับรางวัล World Mayor Community Award: คนนี้ไม่เพียงมีแนวคิดที่ก้าวหน้าและมีวิสัยทัศน์ทางสังคมที่ดีเท่านั้น เขายังสร้างโครงการที่ชื่อ PEBA ซึ่งเป็นแผนในการกำจัดอุปสรรคทางสถาปัตยกรรมทั้งปวงที่ทำให้คนเดินทางไปไหนมาไหนได้ยาก โดยเฉพาะผู้พิการและผู้สูงวัย ทำให้เมืองซานเบลลีโน (San Bellino) เป็นเมืองแรกในอิตาลีที่ประชาชนทุกคนสามารถเข้าถึงได้ทุกหนทุกแห่งในเมือง
จะเห็นว่า สุดยอดผู้ว่าฯ เหล่านี้ คือผู้ว่าฯ ที่มีความรักในงานที่ตัวเองทำ และทุ่มเทให้กับเมืองอย่างแท้จริง พวกเขาผ่านการพิสูจน์มาแล้วนับครั้งไม่ถ้วนว่ามีทั้งคุณภาพ คุณธรรม และคุณค่าต่อประชาชนของเมืองซึ่งผู้เลือกเขาเข้าดำรงตำแหน่ง
ผมเชื่อว่า—ชาวกรุงเทพฯ ก็อยากได้ผู้ว่าฯ ที่พึงปรารถนาเช่นนี้ด้วยเหมือนกัน