แม้ตอนเลือกตั้งจะหาเสียงแข่งกันอย่างดุเดือด ทว่าหลังผลออกมาแล้ว ต่างก็แสดงสปิริตรู้แพ้รู้ชนะ จนเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. วันที่ 22 พ.ค. 2565 เป็นหนึ่งในการเลือกตั้งที่น่าจดจำ
หลายๆ นโยบายที่แคนดิเดตผู้ว่าฯ กทม. แต่ละคนนำเสนอก็น่าสนใจ The MATTER เลยทักไปพูดคุยกับ (อดีต) ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. 5 คน ถึงนโยบายที่อยากฝากให้ผู้ว่าฯ ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ พิจารณาหยิบไปทำต่อ เพื่อประโยชน์ของชาว กทม. ทุกคน
ไปดูกันว่า แต่ละคนฝากอะไรกันบ้าง:
“เอาจากใจเลย ผมฝากให้กำลังใจก็พอ .. ถ้าจะต้องฝากสักหน่อย ฝากเรื่องการจัดสรรงบประมาณ”
วิโรจน์ ลักขณาอดิศร ผู้สมัครจากพรรคก้าวไกล เผยด้วยน้ำเสียงอารมณ์ดีว่าไม่มีอะไรจะฝากนอกจาก ‘กำลังใจ’ เพราะไม่อยากแทรกแซงการจัดลำดับความสำคัญของการแก้ปัญหา ทั้งยังมองว่านโยบายส่วนใหญ่ก็ใกล้เคียงกัน และก้าวไกลก็พร้อมขับเคลื่อนนโยบายผ่านกลไกของสภา กทม. อีกทอดหนึ่ง
คุยไปคุยมา อดีต สส. จากพรรคก้าวไกลรายนี้ก็เสริมขึ้นมาว่า ถ้าจะต้องฝากจริงๆ ก็ขอฝากสักหน่อย คือฝากให้ผู้ว่าฯ กทม. ดูแลเรื่องการจัดสรรงบประมาณให้เป็นธรรมและแก้ไขปัญหาของประชาชนอย่างเท่าเทียมกัน
“ที่ผ่านมา การจัดสรรงบประมาณมีปัญหามากๆ กับการกระจุกงบประมาณไปกับโครงการที่ประชาชนไม่เห็นประโยชน์ หรือมีประชาชนจำกัดมากๆ ที่ได้รับประโยชน์ ก็อยากจะให้มีการกระจายงบประมาณในการดูแลเรื่องของระบบระบายน้ำ การจัดเก็บขยะ และที่สำคัญสุดคือเรื่องของ การจัดเก็บรายได้ที่มีการยกเว้นให้อภิสิทธิ์ชน ที่อาจจะเอารัดเอาเปรียบหรือไม่มีความเป็นธรรมกับคนอื่นๆ” วิโรจน์กล่าว
“ผมคิดว่าผู้ว่าฯ กทม. ท่านใหม่ ต้องหาเงินได้ใช้เงินเป็น”
สกลธี ภัททิยกุล ผู้สมัครอิสระที่มาพร้อมสโลแกน ‘ทำทันธี’ บอกกับเราว่าผู้ว่าฯ กทม. จะต้องหาเงินได้ใช้เงินเป็น เพราะงบของ กทม. ปีนึงมีจำกัด หากต้องรอเงินอุดหนุนอย่างเดียวจะทำให้พัฒนาได้ลำบาก
วิธี ‘หาเงินได้’ เขาเสนอว่า ผู้ว่าฯ กทม. อาจต้องลองปรับวิธีการจัดการขยะ โดยอาจจะทำโรงเผาขยะเล็กๆ ที่กระจายตัวและขายขยะที่มี เพื่อสร้างเงินและประหยัดกว่าการจัดการแบบเดิม และอีกสิ่งที่เสนอถึงผู้ว่าฯ (ซึ่งก็เป็นสิ่งที่เสนอบ่อยๆ ตอนหาเสียง) คือการเก็บภาษีโรงแรม สกลธีมองว่าหากสามารถเก็บได้จะสร้างรายได้มหาศาลที่จะพัฒนา กทม. ได้
ส่วนวิธี ‘ใช้เงินเป็น’ สกลธีเสนอว่าให้ใช้เงินพัฒนาคุณภาพของเมือง ไม่ว่าจะถนน ท่อ สวนสาธารณะ ให้ดีขึ้น โดยอาจเอาเงินที่ได้มาลงกับพื้นที่เอกชนร่วมด้วย เช่น หมู่บ้านจัดสรรที่นิติบุคคลทิ้งไปแล้ว เป็นต้น
ไม่ใช่แค่นี้ สิ่งสุดท้ายที่สกลธีฝากถึงชัชชาติ คือเรื่องการโยกย้ายข้าราชการ “อยากฝากให้คืนความเป็นธรรม เพราะที่ผ่านมาจะมีบางช่วงที่ มีการแต่งตั้งที่ผิดฝาผิดตัว หรือว่า มีระบบอาวุโส มันไม่ค่อยโอเคเท่าไหร่ ก็อยากให้มาปรับในส่วนนั้น ในการที่จะเอาคนมาทำงานให้ถูกกับงานมากขึ้น” เขากล่าว
“ผมฝาก 2 เรื่อง เรื่องปัญหาน้ำท่วมและอินเทอร์เน็ตฟรี ส่วนเรื่องอื่นก็มีความใกล้เคียงกันอยู่แล้ว”
สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ วิศวกรจากพรรคประชาธิปัตย์ ก็มีเรื่องที่อยากฝากถึงผู้ว่าฯ กทม. เช่นกัน ประเด็นแรกที่เขาพูดถึงเลยคือเรื่องการแก้ปัญหาน้ำท่วม
“ห่วงเรื่องปัญหาน้ำท่วม เพราะว่าวิธีคิดเดิมๆ วิธีคิดแบบเดิมทำแบบเก่า มันแก้ปัญหาน้ำท่วมซ้ำซากไม่ได้ อยากฝากเรื่องน้ำท่วมนี่แหละ โดยใช้วิธีใหม่ๆ ที่เคยเสนอไปแล้วนะครับ” สุชัชวีร์กล่าว โดยเขายกตัวอย่างโครงการแก้มลิงใต้ดิน และการเปลี่ยนระบบสูบน้ำ ซึ่งเป็นหนึ่งในนโยบายที่เคยหาเสียง
อีกเรื่องน่าสนใจที่ผู้สมัครจากพรรคประชาธิปัตย์ฝาก คือ เขาอยากให้คนกรุงเทพฯ ได้ใช้อินเทอร์เน็ตฟรี เพราะมองว่าสิ่งนี้ควรจะเป็นสวัสดิการพื้นฐานเบื้องต้นสำหรับทุกคนได้แล้ว
“อันนี้เป็น 2 เรื่องที่อยากฝาก เรื่องอื่นก็มีอะไรที่มีความใกล้เคียงกันอยู่แล้ว ผู้สมัครแต่ละคนก็มีอะไรคล้ายๆ กันพอสมควร แต่ถ้าเกิดบอกสั้นๆ ก็ 2 เรื่องนี้ครับ” เขาทิ้งท้าย
“อยากฝากเรื่องของคนจนค่ะ .. คนจนที่เขามีส่วนร่วมในการสร้างมหานครแห่งนี้ ผู้ว่าฯ ควรที่จะจัดสรรพื้นที่ให้คนจนได้เช่าอยู่ระยะยาว”
รสนา โตสิตระกูล ผู้สมัครอิสระตัวจริงและอดีต ส.ว. เผยกับเราว่า นอกจากเรื่องสัมปทานบีทีเอสแล้ว อยากฝากให้ชัชชาติแก้ไขปัญหาเรื่องที่อยู่อาศัยของคนจน โดยเสนอให้พิจารณาว่า พื้นที่หน่วยราชการที่เปิดให้กลุ่มอสังหาริมทรัพย์เช่าระยะยาวได้ ก็น่าจะจัดสรรพื้นที่ให้คนจนเช่าอยู่ระยะยาวได้เหมือนกัน
“การไล่คนในชุมชนแออัดออกไปนอกเมือง ในที่สุดเขาก็ต้องกลับเข้ามาในเมืองเพื่อทำงานรับใช้มหานครแห่งนี้ มันก็ดูเป็นเรื่องที่ไม่เป็นธรรม” รสนากล่าว
เธอฝากให้ผู้ว่าฯ กทม. ควรเจรจากับเจ้าของพื้นที่ให้คนจนที่โดนไล่ออกไปอยู่นอกเมือง (และก็ต้องกลับเข้ามาทำงานในเมือง) สามารถมีที่ปักหลักอาศัย และฝากให้พัฒนาความมั่นคงของพวกเขา ทั้งยังฝากเรื่องการพัฒนาการศึกษาของเด็กและเยาวชนในกรุงเทพฯ โดยเสนอให้มีการเรียนฟรีแบบ 100%
นอกจากนี้ อีกเรื่องที่รสนาย้ำคือเรื่องบ่อขยะอ่อนนุช เธอฝากให้ผู้ว่าฯ กทม. ช่วยแก้ไขจัดการให้เรียบร้อย เนื่องจากบ่อนี้เป็นโครงการของกรุงเทพธนาคม ที่อยู่ในการดูแลของผู้ว่าฯ กทม.
“ตรงไหนไม่แน่ใจ ให้ผมเข้าไปช่วยเลย ไม่ต้องมีตำแหน่ง ไม่ต้องมีเงินเดือนด้วย แค่อยากทำประโยชน์ให้คน กทม.”
น.ต.ศิธา ทิวารี ผู้สมัครจากพรรคไทยสร้างไทย อธิบายอย่างตั้งอกตั้งใจว่ามีสิ่งที่อยากฝากให้ผู้ว่าฯ กทม. แก้ไขปรับปรุงถึง 6 ประเด็น ซึ่งเรื่องแรกก็เป็นประเด็นที่ได้ส่งมอบให้ชัชชาติอย่างเป็นทางการแล้ว นั่นก็คือ เรื่อง Articulate Bus หรือรถบัสที่จะวิ่งใต้ทางด่วนเอกมัยรามอินทรา ที่จะช่วยให้คนฝั่ง กทม. เหนือ-ตะวันออกเฉียงเหนือได้ จากเดิมที่เป็นพื้นที่ที่มีเที่ยวรถวิ่งน้อยมากต่อวัน ซึ่งนอกจากอำนวยความสะดวกแล้ว ยังช่วยลดปัญหารถติดด้วย
ประเด็นต่อมา คือเรื่องการระบายน้ำ ศิธาเสนอว่าให้ลดงบประมาณจัดการน้ำจากการสร้างโครงสร้างขนาดใหญ่ และเสนอให้ปรับการระบายน้ำโดยใช้วิธีพร่องน้ำในคลองเพื่อรอรับน้ำ ที่จะช่วยป้องกันน้ำท่วมและทำให้รู้ได้ว่าใครมีหน้าที่ต้องรับผิดชอบหากน้ำยังท่วมอยู่ และเสนอการสร้าง Flood Way ในการช่วยระบายน้ำ ซึ่งวิธีเหล่านี้ไม่ต้องใช้งบประมาณมหาศาล แต่น้ำท่วมซ้ำซากจะหายไปได้เลย
ยังไม่พอ เขาเสนอให้ผู้ว่าฯ กทม. เข้าไปดูเรื่องการย้ายข้าราชการภายในที่บางครั้งไม่เป็นธรรมและไม่เป็นประโยชน์ต่อการบริหาร ทั้งยังย้ำด้วยว่า ผู้ว่าฯ กทม. อาจร่วมมือกับหน่วยงานเอกชนได้ โดยยกตัวอย่างพื้นที่สวนเบญจสิริที่อยู่ใจกลางห้างสรรพสินค้า ศิธาเสนอว่าอาจปรับตรงนี้ให้กลายเป็นแลนด์มาร์กเพื่อกระตุ้นการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจโดยขอความร่วมมือจากเอกชนได้ ในเรื่องของการพัฒนาสวนให้สวยงามมากยิ่งขึ้น
เขายังเสนออีกให้ผู้ว่าฯ กทม. พัฒนารถตุ๊กๆ ให้เป็นเอกลักษณ์และลดมลพิษมากขึ้น เช่น ปรับให้เป็นรถไฟฟ้า ที่อาจขอความร่วมมือจากเอกชนให้เข้ามาสนับสนุนได้เช่นกัน และเรื่องสุดท้าย เขาเสนอให้มีการพัฒนาพื้นที่สร้างสรรค์สาธารณะ โดยอาจปิดถนนในย่านเก่า กทม. แล้วเปิดโอกาสให้คนมาทำกิจกรรมต่างๆ และมีการค้าขายได้ ที่จะช่วยพัฒนาย่านทั้งในเชิงเศรษฐกิจ อัตลักษณ์ และการท่องเที่ยว
“เวทีเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ครั้งนี้ เป็นเวทีต้นแบบให้กับการเมืองของประเทศไทย ว่า ถ้าทุกคนไม่ได้จ้องแข่งขันเพื่อผลประโยชน์ให้พรรคการเมืองของตัวเอง แต่ต้องการทำประโยชน์ให้กับท้องถิ่นให้กับประเทศของตัวเองอย่างจริงจัง ก็สามารถร่วมมือและทำด้วยกันได้หมด” อดีตผู้สมัครจากพรรคไทยสร้างไทยกล่าว
แต่ละคนก็มีประเด็นปัญหาที่อยากฝากและส่งเสียงถึงชัชชาติ ผู้ว่าฯ กทม. คนล่าสุดที่เข้ารับตำแหน่งได้เพียงไม่กี่วัน มาลุ้นกันดีกว่าว่า นโยบายที่อดีตผู้สมัครเหล่านี้ฝากฝังไป จะถูกนำไปปรับใช้ และสำเร็จได้หรือไม่