เวลาเรานึกถึงนักปฏิวัติ ปัญญาชนหัวก้าวหน้า นักประดิษฐ์เปลี่ยนโลก เราก็ชอบนึกภาพสมัยบั้นปลายชีวิตแล้ว คิดว่าคนพวกนักน่าจะมีอิทธิพลเปลี่ยนโลกเมื่อยามอายุมาก ทั้งๆ ที่พวกเขาและเธอได้เปลี่ยนโลกแล้วเมื่ออายุก็อาจจะเท่าๆ เรา รุ่นเดียวกับเรา หรืออาจเด็กกว่าเรา
เหมือนกับตอนที่ฉันเรียนธรรมศาสตร์ ดูสารคดี 14 ตุลา 6 ตุลา ฉายทุกปีๆ ดูทีไร ก็รู้สึกว่าหลายคนในนั้นดูแก่ ดูโตเป็นผู้ใหญ่กว่าเราจัง ทั้งที่ก็อายุเท่ากัน ทั้งๆ ที่ก็อายุ 18-19 หรือ 20 ต้นๆ เหมือนกัน
เหมือนเวลาอ่านประวัติปรีดี พนมยงค์ เราก็จำหน้าปรีดีแบบอนุสาวรีย์ ไม่ว่าเขาจะอยู่ในช่วงวัยใด เหมือนเกิดมาหน้าแก่เลย ไม่ว่าสอบเนติบัณฑิตผ่านตอนอายุ 19 ตอนเป็นคณะราษฎรก็อายุเพียง 32 ตอนเสนอโครงการเศรษฐกิจ ‘สมุดปกเหลือง’ ก็ตอน 33 ขวบ
จิตร ภูมิศักดิ์ ตอนอายุ 20 ขวบ ก็ร่วมแรงกับเพื่อนๆ ทำวารสาร ‘ทรรศนะ’ และมีผลงานวิจารณ์หนัง วิจารณ์หนังสือมากมาย งานเขียนปังๆ เช่น ‘โฉมหน้าศักดินาไทยในปัจจุบัน’ ก็เขียนตอนอายุ 27 งานทางนิรุกติศาสตร์และภาษาศาสตร์สังคมสุดเวอร์วังอย่าง ‘ความเป็นมาของคำสยาม ไทย, ลาว และขอม และลักษณะทางสังคมของชื่อชนชาติ’ อายุเพียง 33 ปี เมื่อ Benedict Anderson อายุ 25 ก็มีหนังสือแล้วชื่อ Some Aspects of Indonesian Politics under the Japanese Occupation: 1944–1945
Malālah Yūsafzay ก็เคลื่อนไหวเพื่อสิทธิในการเรียนหนังสือของเด็กหญิงตั้งแต่อายุสิบกว่าขวบ ระหว่าง Che Guevara เป็นนักศึกษา เขาเองก็เดินทางท่องเที่ยวตามอเมริกากลางและอเมริกาใต้ พบเห็นความยากจนการถูกกดขี่ของประชาชน จนผันตัวเป็นนักปฏิวัติทำสงครามกองโจรโค่นล้มระบอบบาติสตาตั้งแต่อายุ 27 Thomas Alva Edison ตอนอายุ 32 ขวบก็สามารถประดิษฐ์หลอดไฟไส้คาร์บอนสำเร็จออกแบบสวิตช์เปิด-ปิดหลอดไฟ อย่างที่เราใช้กันทุกวันนี้
วัยรุ่นและคนหนุ่มคนสาวทำอะไรได้เยอะจัง
ย้อนกลับไปในทศวรรษ 1960 ซึ่งเป็นยุคสมัยที่ปู่ย่าตาทวดของเราเป็นหนุ่มฉกรรจ์สาวสะพรั่ง แต่งตัวเปรี้ยวเยี่ยวราด ไม่ minimalist ขณะเดียวกันก็เป็นยุคแห่งขบถปฏิวัติเพื่อเสรีภาพและอิสรภาพ เช่นในสหรัฐอเมริกา ที่คนรุ่นใหม่ยังต้องใช้ชีวิตอีกยาวไกล เบื่อหน่ายกับความตอหลดตอแหลของรัฐบาล สงครามและการเลือกปฏิบัติ
เนื่องจากอเมริกาในช่วงทศวรรษ 1950 เกิดความหวาดกลัวอันเนื่องมาจากสงครามเย็น ผู้นำรัฐบาลและนักหนังสือพิมพ์พยายามประโคมข่าวว่ารัสเซียส่งสปายเข้ามาในดินแดน ใครก็ตามวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลก็โดนจับหาว่าเป็นคอมมิวนิสต์ ส่วนบรรดาผู้ที่นิยมคอมมิวนิสต์จริงๆ เสรีชน คนรักเพศเดียวกันก็ถูกกวาดล้างจากสถาบันต่างๆ ของรัฐ ในฐานะบ่อนทำลายความมั่นคงของชาติ และถูกใส่ร้ายว่าเป็นสายลับจากสหภาพโซเวียต ขณะเดียวกันก็มีความเข้มงวดทางเพศอย่างมาก ฉากรักในหนังก็ถูกเซนเซอร์อย่างหนัก
แต่เมื่อโจเซฟ สตาลินตายและสงครามเกาหลีจบใน 1953 สังคมอเมริกันก็เริ่มผ่อนคลาย ความมั่นคงก็ไม่เป็นปัญหาเท่าไร ขณะเดียวกันเศรษฐกิจก็เติบโตขึ้นในฐานะ ‘วิถีแบบอเมริกัน’ หลังจากฟื้นฟูประเทศหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ในช่วงเวลานี้สังคมได้รับการปฏิรูปและเทคโนโลยีก็พัฒนา ผู้คนมากมายในสหรัฐ นักหนังสือพิมพ์ นักวิชาการ ต่างก็คิดว่าอเมริกาเป็นประเทศที่ดีที่สุดในโลก เชื่อว่าว่ามีดุลยภาพทางสังคม ทุกคนเท่ากันหมด มีอุดมการณ์เดียวกันหมด
แต่นั่นก็เป็นมายาคติ เป็น American Dream ใน American Dream ในโลกแห่งความเป็นจริง คนดำมีสภาพความเป็นอยู่อย่างไรก็ยังอยู่อย่างนั้นตั้งแต่เลิกทาส แม้ใน 1954 ศาลฎีกาจะประกาศแล้วว่า การแบ่งแยกทางการศึกษาไม่ชอบด้วยตามรัฐธรรมนูญ แต่คนดำก็ยากจนมากเสียจนไม่สามารถเข้าโรงเรียนรัฐบาลดีๆ ได้ และได้รับการศึกษาแย่กว่าคนขาว
แต่ “คนรุ่นใหม่” (ก็ไม่เกี่ยวกับอายุ แต่มันอยู่ที่ attitude ) อย่างหญิงผิวดำวัย 42 ปี Rosa Parks ที่แข็งขืนยืนยันที่จะนั่งรถเมล์ในเบาะที่สงวนไว้เพื่อคนขาวในปี 1955 เธอไม่ใช่คนดำแรกที่ต่อสู้ด้วยวิธีนี้ แต่การถูกจับกุมของเธอที่ท้าทายในครั้งนี้จุดประกายให้วัยรุ่นลุกขึ้นสู้ต่อการแบ่งแยกและเลือกปฏิบัติทางสีผิว
ในช่วงปลาย 1950’s ก็เริ่มมีนักวิชาการกลุ่มเล็กๆ วิพากษ์วิจารณ์ระบบสังคมอเมริกันอย่างรุนแรงเช่น นักสังคมวิทยา C. wright Mills วิเคราะห์วิพากษ์ว่าอำนาจการปกครองรัฐประกอบไปด้วยการแผ่ขยายแทรกซึมของกองกำลังทหาร อุตสาหกรรม และโครงสร้างสังคมที่จัดลำดับช่วงชั้น นักวิชาการสายมาร์กซิสต์ โจมตีว่าทุนนิยมอเมริกันกำลังแพร่พันธุ์จักรวรรดินิยม ความยากจน สงคราม การมุ่งเอาแต่ประโยชน์ส่วนตัว และความเสื่อมโทรมทางสังคม นักประวัติศาสตร์อย่าง Williams Appleman ก็กล่าวว่าการฑูตของอเมริกานั้นเป็นโศกนาฏกรรมอย่างหนึ่ง เพราะจุดประสงค์เฉพาะที่จะแก้ไขปัญหาสังคมดันเป็นความต้องการเอาชนะทางการทหารและเศรษฐกิจเท่านั้น และชีวิตชาวอเมริกันก็เป็นพวกไร้ความสุขที่มะงุมมะงาหราโหยหาความสุข จากสายตาของนักจิตวิเคราะห์ Eric Fromm
นี่กำลังพูดถึงเมกา 1960 นะฮะ ไม่ใช่ไทยแลนด์ 4.0
ทันที่ที่เริ้มต้นปี 1960 ในเดือนกุมภาพันธ์ นักเรียนผิวดำ 4 คนก็ไปนั่งเคาน์เตอร์กินข้าวที่ซุปเปอร์มาร์เก็ต Woolworth สาขา Greensboro, North Carolina ที่ที่นั่งสงวนสิทธิให้คนขาวเท่านั้น ‘whites-only’ ทั้งสี่ไม่ได้รับการบริการ แต่พวกเขาก็นั่งอยู่อย่างนั้นจนร้านปิด การต่อต้านการเลือกปฏิบัติอย่างสันติวิธีครั้งนี้สร้างแรงบันดาลใจให้นักเรียนผิวดำจำนวนมากและผิวขาวบางคนออกมาเคลื่อนไหวในลักษณะเดียวกัน แน่นอนหลายคนโดนจับกุมข้อหาก่อกวนความสงบเรียบร้อย ในปีเดียวกันนี้เองก็ได้เกิดองค์กรคณะกรรมการนักเรียนนักศึกษาสันติวิธี ที่ Raleigh, North Carolina ชื่อ Student Nonviolent Coordinating Committee (SNCC) ที่เคลื่อนไหวด้วยการนั่งในที่ ‘สำรองที่นั่ง…สำหรับคนขาว’ ขณะเดียวกันกลุ่มนักเรียนนักกิจกรรมนี้ก็พยายามปกป้องตัวเองจากการแทรกแซงจากกลุ่มเคลื่อนไหวก่อนหน้าที่เป็นผู้ใหญ่กว่า มีปิตาธิปไตยสูงกว่า ซึ่งเป็นกลุ่มที่นำโดย Martin Luther King Sr.
คลื่นลูกแรกของขบวนการ SNCC จึงไม่เพียงเป็นการปฏิวัติเรื่องสีผิว แต่ยังเป็นการปฏิวัติของเจนเนอเรชั่นด้วย
เหมือนที่หลายคนยังไม่เข้าใจว่าอะไรคือ ‘อนาคตใหม่’ อนาคตมีใหม่ด้วยหรอวะ ในสหรัฐอเมริกาทศวรรษ 1960 ในช่วงเวลาแห่งการขบถเคลื่อนไหวเพื่อความเท่าเทียม ก็ได้เกิดการใช้คำว่า ‘ซ้ายใหม่’ หรือ ‘New Leftist’ ใช้กันอย่างหลวมๆ เพื่อนิยามตัวเองแยกจากซ้ายเดิมที่หมายถึงพรรคคอมมิวนิสต์ พรรคสังคมนิยม ประชาธิปไตยสังคมนิยม ลัทธิทรอตสกี้ (Trotskyism) และไม่ได้มองว่าผู้ที่จะสามารถกระทำการเปลี่ยนแปลงสังคมเบื้องแรกได้คือชนชั้นแรงงานในโรงงานอย่างแต่ก่อน หากแต่เป็นใครก็ได้ที่ไม่ใช่การแบ่งเป็นชั้นแรงงานหรือชนชั้นปกครองที่มีอำนาจ ที่พร้อมจะปฏิวัติมิติต่างๆ ของสังคมทั้งเรื่องเพศสภาพ เพศวิถี สิทธิสตรี สิทธิในการทำแท้ง ยาเสพติดบางชนิด ชาติพันธุ์ สีผิว ต่อต้านสงคราม สิทธิเสรีภาพในการพูด คนยากคนจน
Students for a Democratic Society (SDS) องค์กรนักเรียนนักศึกษาเพื่อสังคมประชาธิปไตยได้ก่อตัวขึ้นเมื่อ 1962 เป็นขบวนการเคลื่อนไหวทางการเมืองอย่างถอนรากถอนโคน ทั้งเชิงสัญลักษณ์ บทความ สิ่งพิมพ์ งานศิลปะ จนถูกนำมาเป็นสัญลักษณ์หมุดหมายของกลุ่มซ้ายใหม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเคลื่อนไหวต่อต้านสงครามในเวียตนามตั้งแต่ 1955 ที่ SDS เป็นขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมกลุ่มแรกๆ ที่ออกมาต่อต้านสงครามตามวิทยาเขตต่างๆ ของวิทยาลัย นำไปสู่การเคลื่อนไหวทางการเมืองที่แผ่เป็นวงกว้างใหญ่มากขึ้นเรื่อยๆ
นอกจากผิวสี ต่อต้านสงคราม เสรีภาพ แล้วยังมีเรื่องเพศอีกด้วยนะเออ เพราะในขบวนการเคลื่อนไหวทางการเมืองและสังคมของคนรุ่นใหม่ มีหญิงสาวมากมายในนั้น พวกเธอเริ่มต่อสู้เคลื่อนไหวเพื่อสิทธิและเสรีภาพของสตรี จับกลุ่มระหว่างผู้หญิงด้วยกันเคลื่อนไหว และฉีกตัวเองออกมาจากขบวนการเคลื่อนไหวนักศึกษา
เนื่องจากต้นทศวรรษ สาวๆ พยายามผลักดันประเด็นสร้างความเท่าเทียมทางเพศในการเข้าถึงสิทธิและทรัพยากรให้เป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มเคลื่อนไหวนักเรียนนักศึกษา ทว่ายังไม่ได้รับความสนใจจากทั้งนักกิจกรรมไม่ว่าเพศใดก็ตาม กระทั่งกลางทศวรรษความไม่เท่าเทียมทางเพศ สิทธิของผู้หญิงได้รับความสนใจมากขึ้น เพราะมีผู้หญิงที่สนใจประเด็นนี้ได้เข้าไปดำรงตำแหน่งสำคัญของขบวนการ เช่น Bettina Fay Aptheker ที่เป็นผู้นำคนสำคัญในกลุ่ม Free Speech Movement (FSM) ตอนนั้นเธออายุ 20 ขวบ อย่างไรก็ตามอิทธิพลและสถานะของผู้หญิงก็ลดลงเรื่อยๆ ในช่วงปลาย60’s มีตัวแทน SDS ที่เป็นผู้หญิงเพียง 18 คนเท่านั้นจาก 99 คน กลุ่มนักกิจกรรมในช่วงเวลานี้ยังคงมีลักษณะผู้ชายเป็นศูนย์กลาง
อย่างไรก็ตามชบวนการนักกิจกรรมพวกนี้ก็ได้เป็นต้นธารและสร้างบทเรียนให้ผู้หญิงรวมกลุ่มเคลื่อนไหวกันเองบ้าง ในปี 1968 พวกเธอได้ก่อตั้ง ‘women’s liberation’ พวกเธอเลือกทำกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ในงานประกวดนางงามอเมริกา ด้วยการที่สาวๆ 200 นาง เดินขบวนด้านนอกศูนย์การประชุมที่กำลังประกวดนางงาม พวกเธอถอดบรา รองเท้าส้นสูง และ ‘อุปกรณ์ต่างๆ ที่เป็นเครื่องทรมานผู้หญิง’ แล้วโยนทิ้งถังขยะ (ร้ายมากค่ะซิส) พวกเธอยังมีการจัดประชุมหารือประเด็น ยุทธศาสตร์ในการขับเคลื่อน ปรับทุกข์ แชร์ประสบการณ์การถูกข่มขืน ล่วงละเมิดทางเพศและความรุนแรง ถกประเด็นมายาคติบรรทัดฐานความงาม เพศวิถี หญิงรักหญิง การคุมกำเนิด และยุติการตั้งครรภ์ บ่นถึงอาชีพเสมียนเลขานุการของผู้หญิง รวมไปถึงการถูกละเลยมองข้าม เลือกปฏิบัติและจัดลำดับเพศสถานะในขบวนการเคลื่อนไหวที่ผ่านมาตลอด 1960’s
พวกเธอแยกตัวเองออกมาต่างหากจากขบวนการเคลื่อนไหวทางการเมืองและชบวนการเคลื่อนไหวของนักเรียนนักศึกษา กลายเป็นกลุ่มหญิงล้วนที่ขับเคลื่อนเรื่องสิทธิ โอกาส อำนาจและการท้าทายสังคมชายเป็นใหญ่ จากตำแหน่งแห่งที่ของพวกเธอเอง สร้างภคินีภาพ (sisterhood) ความเป็นพี่เป็นน้องระหว่างสาวๆ และสร้างทฤษฎีว่าปัญหาส่วนบุคคลมาจากเหตุผลทางการเมือง และความยากลำบากของผู้หญิงมักถูกมองเป็นเรื่องเล็กน้อยเฉพาะบุคคล แต่ถ้าพวกเธอลุกขึ้นต่อสู้เพื่ออำนาจของเธอเองก็จะเท่ากับว่าเป็นการเปลี่ยนโครงสร้างใหม่ให้กับสังคมอเมริกัน เช่นเดียวกับสำนวนที่ว่า ‘การเมืองเป็นเรื่องส่วนตัว’
การปลดแอกของผู้หญิงอยู่ยั้งยืนยงมาถึง 1970’s และได้รับการจับกลุ่มให้เป็นเฟมินิสต์คลื่นลูกที่ 2 ในประวัติศาสตร์การเคลื่อนไหวของเฟมินิสต์
ไม่เพียงแต่เรื่องเฟมินิสต์ แต่ยังก้าวหน้าไปถึงเพศสภาพเพศวิถีอื่นๆ ความคิดความอ่านเชิดชูเสรีภาพนำไปสู่การลุกฮือต่อสู้ของเกย์กะเทยและชายแต่งหญิง มีการปะทะกับเจ้าหน้าที่รัฐที่พยายามเข้ามาปราบปรามกวาดล้าง LGBT ตามสถานบันเทิง จนเกิดเหตุการณ์จลาจลที่บาร์ Stonewall กลางปี 1969 และได้กลายเป็นหมุดหมายยุคสมัยใหม่ของขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคม LGBT
บางคนอาจจะมองการเคลื่อนไหวทำอะไรใหม่ๆ ของคนรุ่นใหม่เป็นพวกเด็กเห่อหมอย อ่อนประสบการณ์ ไม่เข้าใจผู้ใหญ่ที่อาบน้ำร้อนมาก่อน แต่นั่นก็เป็นแค่ทัศนคติของคนกลุ่มนึงที่หวงอำนาจ ทรัพยากร มองเรื่องรุ่นเก่าใหม่อยู่แค่ช่วงวัย ทั้งๆ ที่คนกลุ่มนี้สร้างแรงกระเพื่อมทางสังคมมามากมาย และแน่นอนพวกเขาต้องรับมือกับความรุนแรงโดยเจ้าหน้าที่ของภาครัฐ
ย้อนกลับมาดูคนรุ่นปู่ย่าตาทวดบ้านเรากันดีกว่าว่าในสมัย ‘เมื่อคุณตาคุณยายยังเด็ก’ นั้น ขณะยังเป็นหนุ่มสาวยุค 1960 เขาและเธอทำอะไรกันบ้าง ขณะที่อเมริกาเกิดเหตุการณ์ Stonewall Riots ในไทย เปรม ติณสูลานนท์ตอนนั้นไม่ใช่วัยคนหนุ่มสาวแล้ว ก็ปาเข้าไป 40 กว่าละ เริ่มสถาปนาตนเองเป็น ‘ป๋า’ และเรียกคนอื่นว่า ‘ลูก’ ได้เป็นผู้บัญชาการศูนย์การทหารม้า แถมได้เป็นสภานิติบัญญัติและวุฒิสมาชิก ซึ่งเป็นสมัยเผด็จการถนอม กิตติขจร
ส่วน มีชัย ฤชุพันธุ์ เมื่อเข้าสู่ยุค 1960’s แกมีอายุ 20 พอดิบพอดี ก็ไปเรียนปริญญาโท ด้านกฎหมายถึงเมืองนอกเมืองนา Dallas, Texas ที่ Southern Methodist University แล้วก็ฝึกงานโครงการ Legislative Internship Program รัฐเดิม สิริรวม 2 ปี แกอาจจะตั้งหน้าตั้งตาเรียนอย่างเดียว หรือเวลาในเท็กซัสมันสั้นไปที่จะตักตวงเรียนรู้จาก Chicano Movement หรือแกอาจจะหลงลืมช่วงเวลานั้นไปแล้ว
อย่างไรก็ตาม คนรุ่นใหม่รุ่นนี้ถูกเรียกอีกชื่อนึงว่ารุ่นเบบี้ บูม (Baby Boom) เพราะอัตราการเกิดพรุ่งพรวดในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ด้วยพัฒนาการทางการแพทย์ก็ยืดอายุขัยประชากรขึ้น พวกเขาจึงไม่เพียงยังมีชีวิตอยู่เลยปี 2000 แต่ยังทำมาหากินและครอบครองอิทธิพลไว้ โลกทัศน์พฤติกรรมที่มนุษย์ยุคนี้คุ้นชินจึงยังปรากฎอยู่ในระดับภาครัฐหลังมิลเลนเนียดูได้จาก ประวิตร วงษ์สุวรรณ, ประยุทธ์ จันทร์โอชา, สุพจน์ ไข่มุกด์ และ ศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล
อ้างอิงข้อมูลจาก
Judith Clavir Albert, Stewart Edward Albert. The Sixties Papers: Documents of a Rebellious Decade. Praeger, 1984.