ช่วงที่ผ่านมา เราได้เห็นเด็กนักเรียนมีการเคลื่อนไหว แสดงออกทางความคิดของตัวเองอยู่เรื่อยๆ ไม่ว่าจะเป็นการเรียกร้องความเปลี่ยนแปลง หรือการสื่อมุมมองออกมาผ่านผลงานต่างๆ ถึงแม้จะเป็นเรื่องภายในโรงเรียน แต่ก็ทำให้เห็นได้ว่าเด็กกล้าลุกขึ้นมาแสดงตัวตนกันมากขึ้น
ถึงอย่างนั้น ในบางครั้งเสียงของเด็กก็อาจถูกมองข้าม แถมยังมีวลีที่ว่า “เป็นเรื่องของผู้ใหญ่ ไม่ใช่เรื่องของเด็ก” หรือ “เด็กคิดเองไม่ได้หรอก” มาให้เราได้ยินกันอยู่เป็นครั้งคราว
The MATTER ชวน ณภัทร กิจสนาโยธิน ประธานชุมนุมสวนกุหลาบก้าวหน้า ชุมนุมน้องใหม่ในรั้วโรงเรียนสวนกุหลาบ มาพูดคุยกันถึงจุดประสงค์ของชุมนุม และความตั้งใจในการนำเสนอความเท่าเทียมในเสียงของทุกคน เพราะเด็กก็มีเหตุผล ไม่ใช่แค่อยากต่อต้านหรือก้าวร้าวเสมอไป
The MATTER: อธิบายชุมนุม ‘สวนกุหลาบก้าวหน้า’ ให้ฟังหน่อย
ชุมนุมของเราตั้งใจเปิดมาเพื่อเป็นแพลตฟอร์ม ให้คนสามารถเข้ามาพูดคุยถกเถียงกันได้ เป็นพื้นที่ปลอดภัย ให้คนเข้ามาแสดงไอเดีย เป็นตัวเองในพื้นที่แห่งนี้ได้ เราตั้งใจว่าทุกครั้งที่เรามาพูดคุยกัน จะสามารถถอดบทเรียนออกมาได้ เพื่อถ่ายทอดให้คนข้างนอกรับรู้
The MATTER: จุดเริ่มต้นของชุมนุมนี้มีที่มายังไง
ผมเริ่มสังเกตเห็นว่าปัญหาอาจจะมาจากโลกโซเชียล ที่คนเราสามารถคอมเมนต์กันได้ทันทีทันใด และส่งต่อความเกลียดชังให้กัน จุดประสงค์ของชุมนุมนี้ คืออยากให้คนเราได้เข้าใจกันมากขึ้น
ผมเคยไปเข้าค่ายออกแบบเกม ออกแบบสังคมของธรรมศาสตร์ เขาได้ใช้วิธีการกระตุ้นความคิดของเราให้เข้าใจตัวเองเข้าไปอีก เหมือนพัฒนาทางด้านจิตใจ ผมรู้สึกว่าอยากให้มีอะไรแบบนี้อยู่ในโรงเรียน ให้เข้าถึงโรงเรียนบ้าง ก็เลยทำออกมาในรูปแบบของชุมนุม มีนักเรียนแล้วก็ครูด้วย
ครูจะมีบทบาทเป็นผู้ควบคุมคุณภาพ คือนอกจากตัวทีมบริหารของชุมนุมแล้วที่คอยควบคุมทิศทางขององค์กร ก็จะมีครูที่คอยช่วยแนะนำ และก็สามารถเป็นผู้เข้าร่วมได้เช่นกัน สมมติเราจะมีเวิร์กช็อป ถกเถียงปัญหากัน ถ้าจะเป็นนักเรียนคุยกันอย่างเดียวมันคงไม่โอเค ต้องมีครู มีผู้บริหาร มีคนที่เกี่ยวข้องด้วย
The MATTER: ทำไมเราถึงเริ่มมาเปิดชุมนุมเป็นพื้นที่ให้พูดอะไรก็ได้
พูดก่อนเลยว่าชุมนุมนี้ได้แรงบันดาลใจมาจากเพจ ‘Inskru’ ที่เขาทำเรื่องครูมานั่งคุยกัน มาแชร์ประสบการณ์การสอน มาแชร์เทคนิก ไอเดีย แรงบันดาลใจ ซึ่งผมคิดว่าครูก็มีการเคลื่อนไหวแล้ว ต้องการจะเปลี่ยนแปลงอะไรสักอย่างแล้ว ทำไมเด็กเราจะทำบ้างไม่ได้ ผมเลยอยากสร้างเซสชั่นสักอย่างที่เรามาคุยกันได้ แล้วก็ส่งเสริมเรื่องพวกนี้ในระดับโรงเรียน
ผมคิดว่าถ้าจะให้การส่งเสริมมีคุณภาพ เราต้องมีเซสชั่นที่มานั่งคุยกันจริงๆ ผู้บริหาร ศิษย์เก่า ครู และนักเรียน ในเรื่องที่เป็นวาระขององค์กรจริงๆ ไม่ต้องเป็นการสร้างความเปลี่ยนแปลงก็ได้ เราไม่ได้จะผลักดันอะไรโดยเฉพาะ อย่างทรงนักเรียนต้องไม่มีอีกแล้ว ไม่ใช่แบบนั้น เราอยากพัฒนาวุฒิภาวะของนักเรียน ในเรื่องของการใช้ตรรกะและเหตุผล
The MATTER: คาดหวังความเปลี่ยนแปลงแบบไหนจากการทำชุมนุมนี้
ตอนนี้เป้าหมายกว้างๆ คือเราอยากสร้างวัฒนธรรมใหม่ ที่คนสามารถหันหน้าคุยเปิดใจกันได้แบบไม่อคติ ไม่ว่าพื้นฐานเขาจะเป็นยังไง เพราะเราเป็นนักเรียนและเขาเป็นครูหรือเปล่า เราถึงเปิดใจคุยกันไม่ได้ อยากให้คนคุยกันมากขึ้น
The MATTER: ชุมนุมนี้จะเปิดทางสู่อะไรที่ยิ่งใหญ่กว่ายังไง
จริงๆ ผมอยากให้ชุมนุมนี้เป็นศูนย์รวม เป็นตัวเชื่อม เหมือนเวิร์กช็อปข้างนอกที่สนับสนุนเรื่องพวกนี้ ให้สามารถมาจัดได้ง่ายๆ ในโรงเรียน เพื่อให้นักเรียนเข้าถึงได้ง่ายขึ้นมากกว่า แล้วก็อยากให้ชุมนุมแบบนี้แพร่กระจายไปในระดับภูมิภาค ทุกโรงเรียนเลย
เคยไปคุยกับ Inskru เขาก็มีจัดเวิร์กช็อปให้ครูมาเข้าร่วม พอครูที่เข้าร่วมเขาไปส่งต่อสิ่งที่เรียนรู้มาในระดับโรงเรียนอีกทีหนึ่ง ก็เป็นการแทรกซึมวัฒนธรรม เปลี่ยนแปลงแบบช้าๆ ที่เรารู้สึกว่าเสียงพวกนี้ขายฝัน เสียงเบา เพราะมีการส่งเสียงกันออกมาน้อย เราเลยอยากให้วัฒนธรรมแบบนี้แทรกลงไปในระดับโรงเรียนและตัวนักเรียนด้วย
The MATTER: คิดว่าอายุของเรามีผลต่อการแสดงออกทางความคิดหรือเปล่า
มีผลมาก แต่ไม่ใช่เพราะว่าเป็นเด็กเลยแสดงออกไม่ได้ แต่เหมือนที่ผู้ใหญ่เคยกล่าวไว้ ว่าเด็กมีวุฒิภาวะต่ำ ซึ่งก็จริง การแสดงออกเลยอาจจะดูก้าวร้าวไปบ้าง หรือถูกมองว่าแค่อยากต่อต้านหรือเปล่า แต่เด็กก็มีข้อดีตรงที่ยังเปลี่ยนนิสัยได้อยู่ เปลี่ยนความคิดได้ง่าย
ถ้าเราสามารถชักจูงเด็กไปในทางที่ถูก มีการใช้ตรรกะและเหตุผล ก็จะสามารถสร้างการเรียกร้องที่มีคุณภาพออกไปได้ ไม่ได้เป็นเสียงที่จะไม่เอาหรือจะต่อต้านอย่างเดียว แต่เป็นเสียงที่มีคุณภาพ มีการคิดวิเคราะห์ ไตร่ตรองมาอย่างดีแล้ว
The MATTER: แล้วจะทำยังไงให้เด็กมีวุฒิภาวะ และแสดงความคิดเห็นออกมาอย่างสร้างสรรค์
พูดถึงตัวชุมนุมก่อน คือตัวชุมนุมอย่างแรกคือจะเป็นแพลตฟอร์ม ให้คนสามารถมาคุยกันได้ ออกเสียงกันได้ และเราจะสนับสนุนตรงนี้ อาจจะมีการทำเวิร์กช็อป เชิญวิทยากรมาพูด ในเรื่องทักษะการพูดและการคิด
The MATTER: ช่วงที่ผ่านมามีเด็กนักเรียนลุกขึ้นมาแสดงออกมากขึ้น คิดเห็นยังไง
ผมเองก็เห็นด้วยกับการที่เด็กรู้จักแสดงออกตัวตนของตัวเองออกมา เขารู้สึกยังไงอยู่ ไม่โอเคนะสิ่งนี้ ผมเห็นด้วยทั้งหมด ไม่ว่าการแสดงออกนั้นจะเป็นยังไง เขาส่งเสียงออกมาแล้ว เขาอยากให้คนเข้าใจเขา
The MATTER: คิดว่าบทบาทในการแสดงออกทางความคิดของเด็กเปลี่ยนไปยังไงในแต่ละยุคสมัย
ผมคิดว่าพอมีคนหนึ่งกล้าลุกขึ้นมาทำแล้ว ก็จะมีคนลุกขึ้นมาต่อไปเรื่อยๆ มันไม่ได้อยู่ที่เด็กอย่างเดียว เหมือนพอเด็กคนหนึ่งสร้างความเปลี่ยนแปลงขึ้นมาแล้ว คนที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นผู้ใหญ่หรือเป็นเด็กที่อยากจะเปลี่ยนแปลง เขาก็ลุกขึ้นมาด้วยเหมือนกัน มันทำให้รู้สึกว่าเด็กไม่โดดเดี่ยว ไม่สู้อยู่คนเดียว เขาก็มีคนในสังคมที่ไม่ได้เป็นเด็ก ไม่ได้เป็นนักเรียน สนับสนุนเขาอยู่เหมือนกัน
The MATTER: คิดว่าตอนนี้สังคมเราเปิดใจรับความเห็นของเด็กมากขึ้นบ้างหรือยัง
ตอนนี้ผมรู้สึกถึงความเปลี่ยนแปลงแล้ว ครูเริ่มตระหนักแล้วอยู่ฝั่งเดียวกับนักเรียน ซึ่งถ้าจะเอาให้มีประสิทธิภาพ ต้องเริ่มจากครูก่อนเลย นักเรียนอาจจะแสดงออกมากขึ้น เพราะอย่างที่บอกมีคนลุกขึ้นมา ก็จะมีมาอีกเรื่อยๆ แต่เราอยากให้การลุกขึ้นมานั้นสร้างสรรค์ ไม่ใช่ลุกมาด่าทอ มองว่าครูเป็นศัตรู หรือการศึกษาเป็นศัตรู
The MATTER: เราคิดว่าการแสดงออกอย่างสร้างสรรค์ เปลี่ยนแปลงสังคมได้ยังไงบ้าง
คิดว่าเปลี่ยนแปลงสังคมได้ ถ้าเราสามารถทำให้เด็กฉุกคิด มีพื้นฐานความคิดที่ดีตั้งแต่เด็กได้ แน่นอนว่ามันจะเปลี่ยนแปลงต่อไปเรื่อยๆ อยู่แล้ว
The MATTER: เป็นไปได้ไหมว่าในทุกที่ จะมีเรื่องของอำนาจบางอย่างที่ทำให้เด็กต้องปิดปากเงียบ
สังคมไทยก็เป็นสังคมที่เคารพคนอายุมากกว่า ซึ่งการจะไปพูดคุยกับคนที่เป็นผู้ใหญ่กว่าเหมือนเพื่อนเลย เปิดใจกันจริงๆ มันอาจจะมีกำแพงเชิงวัฒนธรรมของสังคมไทยเอง ถ้าเราคุยกันด้วยเหตุผล มันโอเค ยอมรับได้อยู่แล้ว แต่การที่เราจะไปต่อต้านเขา เหมือนเขาไม่ดีใส่เรากลับมา เราไม่พอใจ เราพยายามจะให้เขาไม่พอใจกลับ แบบนี้ไม่โอเค
The MATTER: ในรูปงานเปิดตัวชุมนุม เห็นมีถือกระดาษแล้วขีดคำว่าอำนาจนิยมออก อยากสื่ออะไร
อำนาจนิยม ไม่ได้จำกัดอยู่ว่าเขาเป็นผู้ใหญ่หรือเขาเป็นเด็กอย่างเดียว คือคนเราใช้อำนาจนิยมบ่อยมาก เหมือนเราข่มคนอื่น เราแสดงความเป็นใหญ่กว่าคนอื่น ไม่ว่าจะเป็นความคิดหรือแม้กระทั่งในบทสนทนาสั้นๆ เรื่องพวกนี้เป็นอำนาจนิยมหมด
เราอยากแสดงจุดยืนว่าเสียงของทุกคนมีค่าเท่ากัน เราเท่ากันหมด อยากให้มาคุยกันแบบเปิดใจ โดยไม่ต้องใช้อำนาจของตัวเองมามีส่วนร่วมในการสนทนากัน
The MATTER: ถ้าสามารถแก้อะไรสักอย่างได้ในสังคมไทย อยากแก้อะไร
อยากให้คนมาคุยกันมากขึ้น มีปัญหาอะไรก็คุยกัน ผมเชื่อว่าการคุยกันแลกเปลี่ยนกันช่วยแก้ปัญหาได้ทุกอย่างจริงๆ คือเรารู้สึกว่าเราสูญเสียมามากกับการเข้าใจกันผิด ตัดสินไปเองว่าเขาพูดมาแบบนี้เป็นแบบนี้ ทั้งๆ ที่จริงๆ แล้วมันเป็นตัวเราเองอยู่ข้างใน แล้วคนข้างนอกเขาเข้าใจแค่สิ่งที่เราพูดออกไปคำเดียว แล้วเขาไปตัดสินใจกันเอง แต่สิ่งที่เราจะทำและสื่อมันมากกว่านั้น อยากให้มานั่งคุยกัน อธิบายกัน
The MATTER: ที่บอกว่าอยากให้มานั่งคุยกันบ้าง คือด้วยวิธีไหน
เราก็สร้างหัวข้อจำลอง ให้คนมานั่งคุยกัน ไม่ได้พูดถึงในระดับสังคม พูดถึงในโรงเรียนของผม ก็จะมีงานดีเบตเล็กๆ ว่าคนเห็นยังไงกับหัวข้อนี้ เรามาคุยกันสิอะไรแบบนี้ อาจจะอำนวยด้วยการสร้างหัวข้อมาจุดประกาย เป็นหัวข้อที่ไม่เคยมีใครคิดถึงมาก่อน ไม่มีใครเคยจะพูดออกมา
The MATTER: ทิ้งท้ายสั้นๆ อยากบอกอะไรสังคม
อยากให้สังคมข้างนอกมองเด็กนักเรียน ไม่ใช่ว่าเป็นเด็กไม่มีวุฒิภาวะ เด็กโดนล้างสมองมา มีคนสนับสนุนให้เป็นอย่างโน้นอย่างนี้ แต่เราพัฒนาขึ้นมาด้วยตัวเองได้ เรามีตรรกะ มีเหตุผล ใช้การคิดแสดงออกแบบเหมาะสม เพื่อให้คนเราหันมาคุยกันมากขึ้น
พอผู้ใหญ่เริ่มฟัง เด็กก็เริ่มพูด ผู้ใหญ่เริ่มอธิบาย เด็กเริ่มใช้เหตุผลคุยกัน อยากสนับสนุนให้เด็กรู้จักตั้งคำถามว่าสิ่งที่เป็นอยู่ตอนนี้ดีหรือยัง ดีพอสำหรับทุกคนหรือยัง