หากติดตามข่าวคราวบ้านเมืองช่วงนี้ คงจะพบเห็นภาพการหาเสียงของพรรคการเมืองต่างๆ และผู้สมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรบ่อยๆ นั่นคือความคึกคักของกระแสการเลือกตั้งที่กำลังปรากฏในเดือนมีนาคม ปีพุทธศักราช 2562 ซึ่งเราๆ ท่านๆ ทันได้เห็นเต็มๆ ตา แต่สำหรับท่านที่พยายามจินตนาการว่าแล้วการหาเสียงเลือกตั้งแห่งยุคอดีตล่ะ มีความเป็นไปในลักษณะเช่นไรบ้าง?
ครับ ผมเองก็หลงใหลเรื่องราวดังกล่าวเช่นกัน เลยพากเพียรค้นคว้าต่อเนื่องเนิ่นนานหลายปี เมื่อเห็นสบโอกาสอันดีจึงใคร่หยิบยกตัวอย่างบางส่วน (และของผู้สมัครบางคน) มานำเสนอปรนเปรอสายตาคุณผู้อ่าน เชิญทัศนาเทอญ
แจกหนังสือ ขี่ช้างขี่ม้า เดินเท้านับไม้หมอน : ประเสริฐ ทรัพย์สุนทร
ประเสริฐ ทรัพย์สุนทร ก้าวเข้าสู่การเมืองครั้งแรกด้วยการลงสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี เมื่อวันอาทิตย์ที่ 7 พฤศจิกายน พุทธศักราช 2480 โดยเขาลาออกราชการครูที่โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัยมาลงสมัคร แต่ไม่ได้รับเลือก
การเลือกตั้งครั้งนั้นคือการเลือกตั้งครั้งที่ 2 ภายหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง พุทธศักราช 2475 และถือเป็นการเลือกตั้งจากประชาชนโดยตรงครั้งแรกของประเทศ ประชาชนสามารถเลือกผู้แทนได้ด้วยตนเอง แตกต่างจากการเลือกตั้งครั้งแรกสุดของไทยเมื่อวันพุธที่ 15 พฤศจิกายน พุทธศักราช 2476 ที่อาศัยวิธีแบบทางอ้อม คือรัฐบาลได้รับสมัครผู้แทนตำบล ประชาชนต้องเลือกตั้งผู้แทนตำบลก่อน จากนั้นผู้แทนตำบลที่ได้รับเลือกจะไปเลือกสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรระดับจังหวัด
ในการเลือกตั้งปลายปีพุทธศักราช 2480 นั้น กำหนดให้ใช้วิธีเลือกแบบแบ่งเขต มีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทั่วประเทศทั้งหมด 91 คน สำหรับจังหวัดสุราษฎร์ธานีมีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรได้เพียงคนเดียวเท่านั้น ผลการเลือกตั้งปรากฏว่าผู้ที่ได้รับเลือกคือ วุฒิ สุวรรณรักษ์
ประเสริฐ บอกเล่าเรื่องการลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรครั้งแรกของตน โดยกล่าวถึงแผนการหาเสียง และการออกเยี่ยมพบปะประชาชนด้วยตนเอง อันสะท้อนให้เห็นถึงสภาพทั่วไปของการเมืองและการเลือกตั้งในพื้นที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี ดังความตอนหนึ่งที่เขาเล่าถึงการลงพื้นที่ออกเยี่ยมประชาชนเพื่อหาเสียงว่า
“จังหวัดสุราษฎร์เมื่อผมสมัคร ส.ส. ครั้งแรกนั้น ไม่มีถนน จึงไม่มีรถยนต์ เส้นทางคมนาคมมีแต่ทางรถไฟ ทางเรือและทางเดินเท้า เวลาไปหาเสียงส่วนใหญ่ไม่ได้ขึ้นรถไฟ เพราะนานๆ จึงจะผ่านมาสักขบวน ทางรถไฟจึงสำหรับใช้เดินนับไม้หมอน ซึ่งเป็นโอกาสดีที่ได้พบปะชาวบ้านไปตลอดทาง ทางเรือ คือแม่น้ำ คลอง และทะเล แม่น้ำสำคัญคือแม่ตาปี คลองในเขตอำเภอเมือง ซึ่งชาวบ้านใช้เรือเป็นพาหนะเหมือนเมืองเวนิสทีเดียว ทะเลนั้นเป็นทางสัญจรเลียบชายฝั่งติดต่อระหว่างหลายอำเภอ และมีอยู่อำเภอหนึ่งต้องออกทะเลลึก คืออำเภอเกาะสมุย พาหนะทางน้ำสมัยนั้น มีเรือกลไฟ เรือยนต์แบบเก่า เรือพาย เรือแจวและเรือใบ แต่ทางคมนาคมส่วนมากที่สุดคือทางเดินเท้า ซึ่งบางทีก็ใช้ม้าเป็นพาหนะ และบางแห่งที่ข้ามภูเขาสูงๆ ก็ต้องขี่ช้างไป“
ด้วยวิธีการหาเสียงของประเสริฐนั้น คราวหนึ่งเขาเคยเดินเท้าไปหาเสียงในหมู่บ้านที่ป่าห้อมล้อม ระหว่างทางได้เจอชาวบ้านถูกเสือกัดตาย
เนื่องจากประเสริฐขึ้นมาอยู่ที่กรุงเทพมหานครตั้งแต่ยังอายุ 9 ขวบ ชาวสุราษฎร์จึงไม่ค่อยรู้จัก ทว่าการเลือกตั้งครั้งที่ 2 เป็นการเลือกตั้งทางตรงทำให้การหาเสียงจึงยากยิ่งกว่าครั้งแรก เลยจำเป็นจะต้องแนะนำตัวเองกับชาวบ้านเสียก่อน โดยอาศัยวิธีการแจกหนังสือ หนังสือที่ประเสริฐนำไปแจกชาวบ้านคือหนังสือ มหาวิทยาลัย ที่ออกโดยจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งเขาเคยเป็นบรรณาธิการ ทั้งนี้เพราะหนังสือกล่าวเมื่อแจกจ่ายแก่สมาชิกและจัดจำหน่ายแล้ว ยังหลงเหลืออยู่เดือนละหลายๆ เล่ม มิหนำซ้ำ ปลายปียังพิมพ์เพิ่มเพื่อจำหน่ายในงานละครของมหาวิทยาลัยและในงานฉลองรัฐธรรมนูญด้วย ดังคำบอกเล่าว่า
“ผมเห็นว่าหนังสือที่เหลือทิ้งไว้ก็ไม่มีประโยชน์ จึงขออนุญาตสโมสรเอาหนังสือที่เหลือห่อติดแสตมป์ ส่งไปยังข้าราชการ ครูประชาบาล กำนัน ผู้ใหญ่บ้านและพระสงฆ์องค์เจ้าในจังหวัดสุราษฎร์ และพอมหาวิทยาลัยปิดเทอมผมไปเยี่ยมบ้าน ก็หอบเอาหนังสือนั้นติดตัวไปด้วย และออกท่องเที่ยวไปตามอำเภอต่างๆ ไปพบปะคนสำคัญๆ ตามที่เส้นสายแนะนำไปแจกหนังสือเท่าที่จะเอาติดตัวไปได้”
จะเห็นว่า ประเสริฐเปี่ยมล้นความตั้งใจที่จะสมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรอย่างมาก จึงได้เตรียมการหาเสียงตั้งแต่ยังเรียนอยู่ในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แต่สุดท้ายกว่าจะได้สมัครผู้แทน เขาก็เรียนจบมหาวิทยาลัยพอดี
ควรเล่าเพิ่มเติมอีกว่า แรงบันดาลใจสำคัญที่เร่งเร้าให้ประเสริฐปรารถนาเข้าสู่เวทีทางการเมืองคือ การที่เขามีเพื่อนสนิทร่วมชั้นเรียนในมหาวิทยาลัยได้เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เดิมทีประเสริฐมีความสนใจทางการเมืองมาตั้งแต่ยังเรียนอยู่ชั้นมัธยมศึกษา วันเปลี่ยนแปลงการปกครอง 24 มิถุนายน พุทธศักราช 2475 เขาก็อยู่ร่วมในเหตุการณ์บริเวณลานพระบรมรูปทรงม้า จวบจนเข้าเรียนต่อที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อนสนิทผู้เรียนร่วมชั้นเดียวกันคนหนึ่งชื่อ ละเมียด หงส์ประภาส ได้ลงรับสมัครเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ณ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา และก็ได้เป็นหนึ่งใน ส.ส. ชุดแรกสุดของประเทศไทย ประเสริฐบรรยายความรู้สึกว่า
“ตอนนั้นคือ พ.ศ. 2476 ผมเรียนอยู่คณะอักษรศาสตร์ปีที่ 2 จุฬาฯ มีเพื่อนคนหนึ่งนั่งโต๊ะติดกันมาตั้งแต่ปีที่ 1 เขาเป็นคนขี้หลับเวลาฟังเล็กเชอร์ ผมมีหน้าที่คอยปลุก จึงสนิทกันมาก อยู่ๆ เขาก็หายหน้าไปราว 5-6 วัน พอกลับมาก็เป็น ส.ส. อยุธยาแล้ว ซึ่งเป็น ส.ส.ชุดแรกในประเทศไทย พอถึงวันประชุมสภาเขาก็ไปประชุม มีสิทธิ์เหนือนักเรียนคนอื่น คือขาดฟังเล็กเชอร์ได้ในวันประชุมสภาโดยไม่ถูกตัดเวลาเรียน มีตั๋วรถไฟชั้น 1 ฟรี พาคนติดตามไปได้ด้วย เขาพาผมขึ้นรถไฟไปเที่ยวบ่อยๆ แล้วยังได้เงินเดือนตั้ง 100 บาท ไม่ต้องขอเงินทางบ้านใช้”
การเรียนชั้นเดียวและเป็นเพื่อนสนิทคลุกคลีตีโมงกับ ส.ส. พร้อมๆ กับทราบผลเลือกตั้งที่บ้านเกิด ซึ่งผู้ชนะนั้น ชาวบ้านแบกขึ้นบ่าแห่หัวตลาดท้ายตลาดเสมือนแห่งานบวชนาค และพ่อของประเสริฐเองที่ได้เป็นผู้แทนตำบล ชาวบ้านก็แห่รอบวัดเหมือนกัน นั่นล่ะ ความอยากเป็น ส.ส. พลันบังเกิดขึ้นมาครามครัน
กระนั้น จุดมุ่งหมายในการเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของประเสริฐแตกต่างจากเพื่อนสนิทอย่างสิ้นเชิง ประเสริฐวิพากษ์สถานะสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของละเมียดว่าไม่ได้คิดทำอะไรให้เกิดประโยชน์เท่าใดนัก
“เมื่อผมนึกอยากจะเป็น ส.ส. อย่างคุณละเมียดบ้าง ซึ่งก่อนนั้นผมยังไม่ได้นึกอยากจะเป็นอะไร เรียนหนังสือก็เรียนไปเฉยๆ ไม่ได้คิดล่วงหน้าว่าจะเรียนอะไร และเรียนไปเป็นอะไร ตอนนี้แหละที่คิดอยากจะเป็น ส.ส. แต่ผมรู้สึกว่าผมคิดเป็น ส.ส. ไม่เหมือนคุณละเมียด คุณละเมียดเป็น ส.ส. ไม่เห็นเขาต้องคิดอะไรมาก ก่อนเป็น ส.ส. ผมไม่รู้ด้วยซํ้าว่าเขาคิดจะเป็น ส.ส. เป็น ส.ส. แล้วก็เรียนหนังสือไปตามปรกติ พอถึงวันประชุมสภาก็ไปประชุม กลับจากประชุมก็ไม่เห็นใคร่พูดอะไรเกี่ยวกับสภาผู้แทนราษฎร พอถึงวันหยุดก็ไปอยุธยา กล่าวคำปราศรัยให้ราษฎรฟัง บางครั้งผมก็ไปด้วย แต่จะปราศรัยว่าอะไรบ้างผมก็จำไม่ได้ ส่วนผมคิดจะเป็น ส.ส. นั้นคิดครึกครื้นไปทีเดียว มีแผนมีโครงการและวาดภาพว่าจะทำโน่นทำนี่ไว้อย่างสวยงาม”
บรรยากาศการเลือกตั้งและผู้รับสมัครในเขตสุราษฎร์ธานีตอนนั้นมีผู้สมัครถึงสิบกว่าคน ไม่ว่าจะเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรคนเก่าอย่างขุนวรศาสนดรุณกิจ (ฝ้าย บุญเลี้ยง) นายอำเภออย่างวุฒิ สุวรรณรักษ์ กำนันอย่างขุนประกิตกาญจนเขต (ขาบ วิชัยดิษฐ์) ผู้พิพากษาอย่างหลวงอรรถพรพิศาล (อัมพร สูตะบุตร) รวมถึงทนายความอย่างพร้อม ถาวรสุข และนายหัส บำเรอ พอเวลาปราศรัยทีชาวบ้านก็อยากมาดูอยากมาฟัง พากันมารวมตัวกันเต็มศาลาวัดและตื่นเต้นกับการเลือกตั้งมากๆ แม้กระทั่งโดยสารเรือในแม่น้ำในทะเล พวกเขาชอบพูดคุยกันถึงเรื่องการเลือกตั้งและผู้สมัครแต่ละคน ส่วนการเลือกตั้งของประชาชนชาวสุราษฎร์ธานีนั้นก็มีความโปร่งใส ไม่ได้เลือกเพราะอามิสสินจ้างจากผู้สมัคร แต่เลือกบุคคลที่พวกตนต้องการอย่างแท้จริง จนเกิดคำขวัญแพร่หลายทำนองว่า “กินเหล้าหลวงอรรถใส่บัตรนายวุฒิ” และ “กินเหล้านายหัสใส่บัตรนายประเสริฐ”
พฤศจิกายน พุทธศักราช 2480 ประเสริฐไม่ได้รับการเลือกตั้ง เขากลับไปรับราชการครูอีกครั้งที่โรงเรียนฝึกหัดครูประถมพระนคร ยังไม่ล้มเลิกความคิดที่จะลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร การเลือกตั้งครั้งถัดมาในวันเสาร์ที่ 12 พฤศจิกายน พุทธศักราช 2481 ประเสริฐลงสมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรครั้งที่สอง แต่ก็ไม่ได้รับเลือกอีก
ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ด้วยสภาพที่ประเทศไทยตกอยู่ในสมรภูมิ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรชุดเดิมจึงดำรงอยู่ในตำแหน่งยาวนาน เพราะมีการขยายอายุสภาถึง 2 หน ระหว่างปี พ.ศ. 2485-2487 และ พ.ศ. 2487-2489 แต่ประเสริฐไม่ย่อท้อ เขาเฝ้ารอโอกาสลงสมัครรับเลือกตั้งอีกครั้ง คราวนี้พยายามหาเสียงแต่เนิ่นๆ ออกเยี่ยมพบปะชาวบ้านตามพื้นที่ต่างๆ กล่าวปราศรัยเสนอแนวคิดและแจกหนังสือ โดยหนังสือที่แจกเป็นหนังสือที่ประเสริฐจัดพิมพ์ขึ้นมาเพื่อใช้เฉพาะในการหาเสียงเลย คือหนังสือ ด้วยความเคารพและระลึกถึง แด่พี่น้องชาวสุราษฎร์ธานี ในวาระอายุครบ 30 ปีบริบูรณ์ มอบให้ชาวบ้านช่วงกลางปีพุทธศักราช 2486
แล้วที่สุด ในการเลือกตั้งเมื่อวันอาทิตย์ที่ 6 มกราคม พุทธศักราช 2489 คนหนุ่มชื่อประเสริฐ ทรัพย์สุนทรก็ได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกผู้แทนราษฎรสมใจ ภายหลังจากมานะพยายามลงสมัครถึง 3 ครั้งติดต่อกัน
ฝากเงินไว้กับปรีดี ประกอบพิธีบูชาพระอาทิตย์ : ฉ่ำ จำรัสเนตร
ผู้สมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรอีกคนหนึ่งซึ่งผมคิดว่าเรื่องราวของเขาเย้ายวนความสนใจแน่ๆ ได้แก่ ครูฉ่ำ จำรัสเนตร แต่มักจะถูกเรียกล้อเลียนนามสกุลว่า ‘ชำรุดเนตร’ เพราะดวงตาเสียไปข้างหนึ่ง อันที่จริง ชีวิตครูฉ่ำมีอะไรสนุกๆ ให้เล่าถึงมากมายก่ายกอง ล่าสุดก็เพิ่งมีบทความที่ศึกษาความเป็น ส.ส.นครศรีธรรมราชทั้งหมด 5 สมัยของชายผู้นี้ตีพิมพ์ออกมา เอาเป็นว่า ขอเล่าเกี่ยวกับครูฉ่ำเฉพาะที่ผมรู้สึกสะกิดใจคร่าวๆ สักสองสามอย่างพอให้คุณผู้อ่านรื่นรมย์ก็แล้วกันครับ
ครูฉ่ำนั้นเริ่มลงสมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดนครศรีธรรมราชตั้งแต่ในการเลือกตั้งครั้งแรกสุดของไทยเมื่อวันพุธที่ 15 พฤศจิกายน พุทธศักราช 2476 แต่เขาสอบตก ผู้ที่ชนะเป็น ส.ส. ในครั้งนั้นคือ ร้อยตำรวจโทมงคล รัตนวิจิตร ครั้นต่อมาในการเลือกตั้งครั้งที่ 2 เมื่อวันอาทิตย์ที่ 7 พฤศจิกายน พุทธศักราช 2480 ครูฉ่ำหาเสียงโดยตอนเขาอยู่ที่กรุงเทพมหานคร เขาได้นำเงินจำนวนหนึ่งไปฝากไว้กับหลวงประดิษฐ์มนูธรรมหรือนายปรีดี พนมยงค์ จากนั้นพอกลับไปนครศรีธรรมราชได้สักพัก ก็โทรเลขไปบอกปรีดีว่าเงินหมด ให้รีบส่งเงินมาให้หน่อย ซึ่งจริงๆ ก็คือเงินที่ได้ฝากไว้นั่นแหละ แต่ชาวนครศรีธรรมราชกลับไปเลื่องลือกันทั่วว่าครูฉ่ำไม่ใช่คนธรรมดา ขนาดนายปรีดียังส่งเงินมาสนับสนุนการหาเสียง
ไปๆ มาๆ กลายเป็นว่าครูฉ่ำชนะการเลือกตั้งได้เป็น ส.ส. สมัยแรก
เล่ากันอีกว่า คำพูดภาษาใต้ติดปากครูฉ่ำคือ ‘โหน้งหน่าง โหน้งน็อก ส้มแก้วไข่คว็อก ยิกควายเข้าคอก ตัวผู้แล่นออก ตัวเหมียแล่นเข้า’ การพูดแบบนี้เรียกร้องความสนใจจากเด็กๆ และผู้ใหญ่ให้เข้ามารุมล้อมมากๆ ครูฉ่ำก็ฉวยโอกาสหาเสียงทันที หรือเวลาเช้าที่พระสงฆ์ออกบิณฑบาต ครูฉ่ำก็จะคอยติดตามพระไปด้วย พอชาวบ้านมาใส่บาตร ครูฉ่ำก็ขอบิณฑบาตคะแนนเสียงจากชาวบ้าน
ที่ยกตัวอย่างมานี้ เป็นเพียงส่วนน้อยเท่านั้นในสารพัดวิธีหาเสียงแปลกๆ ของครูฉ่ำ ครั้นพอได้เป็น ส.ส. แล้ว ครูฉ่ำก็เป็นดาวเด่นในสภา สืบเนื่องจากชอบกระทำพฤติกรรมประหลาดเสมอๆ เช่น ประกอบพิธีบูชาพระอาทิตย์บ้าง ประทับร่างทรงบ้าง เขียนชื่อจอมพล ป.พิบูลสงครามบนลูกฟุตบอลแล้วเอาไปเดาะในสภาบ้าง
ผมได้สาธยายวิธีการหาเสียงของผู้สมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในอดีตสองคน ทั้งประเสริฐ ทรัพย์สุนทรและครูฉ่ำ จำรัสเนตรไปแล้ว คุณผู้อ่านคงพอจะมองเห็นว่าช่างเปี่ยมล้นด้วยสีสันมิใช่น้อยทีเดียว ก่อนจะจบบทความ ขออนุญาตทิ้งท้ายว่าในวันอาทิตย์ที่ 17 มีนาคม พุทธศักราช 2562 หรือก็คือวันนี้ คุณผู้อ่านอย่าลืมไปเลือกตั้งนอกเขตล่วงหน้ากันนะครับ
อ้างอิงข้อมูลจาก
- เกียรติ. กลวิธีเลือกตั้ง. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์เกษมสัมพันธ์การพิมพ์, 2511
- ชวัต พิสุทธิพันธุ์และคณะ. ภารกิจแห่งชีวิตของประเสริฐ ทรัพย์สุนทร : 8 พฤษภาคม 2456-25 ธันวาคม 2537. กรุงเทพฯ : ธีรพงษ์การพิมพ์
- ประเสริฐ ปัทมสุคนธ์. รัฐสภาไทยในรอบสี่สิบสองปี (2475-2517). กรุงเทพฯ: ห้างหุ้นส่วนจำกัด ช.ชุมนุมช่าง, 2517
- สอาด ขมะสุนทร. เมื่อญี่ปุ่นบุกเมืองนคร. กรุงเทพฯ:เรืองศิลป์, 2524
- สุพจน์ ด่านตระกูล. ข้อเท็จจริงบางประการเกี่ยวกับนายปรีดี พนมยงค์ อันเนื่องมาจากบทวิจารณ์ของนายประเสริฐ ทรัพย์สุนทร. กรุงเทพฯ: เคล็ดไทย, 2526
- สุพจน์ ด่านตระกูล. ประเสริฐ ทรัพย์สุนทร. กรุงเทพฯ: เคล็ดไทย, 2524