เมื่อพูดถึงคำว่าครอบครัวเราจะนึกถึงอะไรเป็นอย่างแรก? สายสัมพันธ์ การพึ่งพา ความคาดหวัง ความแน่นแฟ้น ความสามัคคีกลมเกลียว ความเป็นกลุ่มก้อน หรือโดมินิค โทเรตโตพูดคำว่า family ? ไม่ว่าจะเป็นอะไรก็ตาม สิ่งที่แน่นอนคือการมองนิยามสิ่งใดสิ่งหนึ่งบนโลกใบนี้ เราไม่ได้มองมันแบบเดียวกันหรือมันมักจะมีความหมายที่แตกต่างกันไปสำหรับแต่ละคน และหนังเรื่องนี้ A Sun (2019) เป็นหนังที่ชวนเราตั้งคำถามกับความหมายนั้นอย่างน่าขมขื่น
A Sun (2019) หนังอาชญากรรม-ดราม่าน้ำดีสัญชาติไต้หวันของ Netflix ว่าด้วยเรื่องราวการเลือกเดินทางผิดของเฉินเจี้ยนเหอ หรือ อาเหอ ที่นำไปสู่ผลพวงที่ไม่น่าถึงประสงค์ตามมา เขาต้องเข้าสถานพินิจปีครึ่ง ซ้ำร้ายก่อนเข้ายังทำแฟนสาวอายุน้อยท้องจนเป็นภาระให้กับครอบครัวอีกต่างหาก นั่นทำให้อาเหอที่ไม่ได้รับการยอมรับจากพ่ออยู่แล้ว ยิ่งถูกรังเกียจเดียดฉันท์เข้าไปใหญ่ ในขณะที่ เฉินเจี้ยนห่าว พี่ชายเขาไม่เคยทำให้พ่อต้องผิดหวัง
ต่อไปนี้จะเขียนชวนให้ผู้อ่านอยากไปหาหนังเรื่องนี้ดูตามโดยที่ไม่สปอยล์ใดๆ โดยที่ยังคงแก่นและสาระสำคัญของหนังอย่างครบถ้วน
อย่างแรกที่อยากพูดถึงคือเส้นทางสายอาชญากรรมของอาเหอกับประเด็นที่ว่าอะไรทำให้เด็กคนนึงโตไปเป็นอาชญากร อาเหอเคยเป็นเด็กดีและเป็นผ้าขาวไม่มีพิษมีภัยอย่างที่เค้าว่ามาก่อน (เหมือนที่ตอนธานอสเกิดมาลืมตาดูโลกก็เป็นแค่เจ้าตัวจิ๋วสีม่วงที่ยังไม่คิดจะดีดนิ้วใดๆ) อาเหอเคยเป็นเพียงเด็กชายธรรมดาๆ ที่ซ้อนจักรยานแม่ ลูกชายในดวงใจ แต่อะไรทำให้เขาเปลี่ยนไป?
ตรงนี้ต้องนำประสบการณ์ตัวเองมาเล่าซะหน่อย หรืออาจไม่หน่อย เพื่อให้เห็นภาพและตีแผ่เรื่องนี้ได้ชัดเจนยิ่งขึ้น
ผมเป็นคนหนึ่งที่โตมากับโรงเรียนรัฐบาล มีเพื่อนมากมายหลายกลุ่ม ตั้งแต่เพื่อนที่สอบเข้าเหมือนกัน เพื่อนที่จับฉลาก เพื่อนโควตาบ้านใกล้ เพื่อนหน้าห้องเหมือนกัน เพื่อนกลางห้อง เพื่อนหลังห้อง เพื่อนห้องเดียวกัน และเพื่อนห้องอื่น ซึ่งทั้งระหว่างเรียนไม่เคยชื่นชมสิ่งที่ได้จากโรงเรียนนี้นอกจากเพื่อนบางคนกับความรู้ที่เก็บเกี่ยวได้ระหว่างทาง จนกระทั่งเมื่อเร็วๆ นี้ เพื่อนคนหนึ่งที่จบโรงเรียนเอกชนมา ถามผมว่า “ตอนก่อนมหาลัยเรียนโรงเรียนอะไร?”
ซึ่งพอผมตอบไป ก็ได้ประโยคนี้ตอบกลับมา “เก่งมากเลยนะรู้มั้ย ที่จบรัฐบาลมาได้”
ในทีแรกก็ไม่เข้าใจเท่าไหร่นักว่าเก่งยังไง แต่สิ่งที่ได้จากการนึกย้อนกลับไป ยิ่งหลังจากดูหนังเรื่องนี้ ทำให้เกิดความภาคภูมิใจขึ้นมาซะอย่างงั้น และใช่ อาจไม่ใช่โรงเรียนรัฐบาลทุกโรงเรียนที่จะเป็นแบบโรงเรียนนี้ และไม่ความผิดโรงเรียนที่อะไรหลายอย่างเกิดขึ้นเหนือการควบคุม แต่โรงเรียนนี้เป็นการอธิบายถึงสภาพแวดล้อมแบบดิบเถื่อนโหดร้าย (wild & wicked environment) ได้เป็นอย่างดี และเป็นสภาพแวดล้อมแบบเดียวกับที่ตัวเอกเจอ
สิ่งที่ได้ประสบพบเจอระหว่างทางในฐานะผู้สังเกตการณ์อย่างไม่ตั้งใจ ก็เช่น การที่เรียนคณิตเพิ่มอยู่ดีๆ แล้วเกิดเหตุการณ์ 50 คนมารุมกระทืบ 1 คนที่หน้าห้อง, เดินอยู่ดีๆ ระหว่างคาบลูกเสือแล้วโดนต่อยท้องแล้วไถเงิน, เปิดประตูห้องไปตั้งใจจะทำเวรแล้วเจอเพื่อนกำลังมีเซ็กส์กันในห้อง (ขณะอยู่ชั้นม.3) ยันเข้าห้องน้ำอยู่กำลังจะออกแล้วเพื่อนเดินเข้ามาแบบสบายๆ เพื่อมาเสพยาไอซ์ จนพอมานึกย้อนดู จริงแฮะ เราผ่านอะไรพวกนั้นมาโดยไม่เคยข้องเกี่ยวกับมันได้ยังไงเนี่ย
หลังจากจบมา วันดีคืนดีดูข่าว ก็บังเอิญไปพบเพื่อนสมัยมัธยมต้น มัธยมปลายโดนจับข้อหาค้ายาบ้าง ชิงทรัพย์บ้าง (ที่จำได้มี 2 คน) อีกคนนึงโดนคู่อริทำร้ายจนเสียชีวิต
สภาพแวดล้อมที่อาเหอพบเจอก็ไม่ต่างกัน เขาเจอเพื่อนและปล่อยตัวปล่อยใจไปกับเพื่อนที่ชื่นชอบการมีเรื่อง การตีรันฟันแทง จึงทำให้ผ้าของเด็กคนหนึ่งค่อยๆ เปลี่ยนสีเป็นสีหม่น จนวันหนึ่งที่เขารู้จักกับเพื่อนชื่อ แรดิช ที่พาเขาก่ออาชญากรรมอุกอาจ นี่เป็นเพื่อนที่เปลี่ยนชีวิตไปอย่างสิ้นเชิงเพราะประวัติอาชญากรรมนั้นติดตัวไปตลอดชีวิต และสิ่งที่เรา do ไปแล้วไม่สามารถ undo ได้แบบในโปรแกรม Photoshop ยิ่งในทางกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับผู้อื่นด้วยแล้ว จะติดตัวไปตลอดชีวิต
เรื่องราวเหล่านี้บอกอะไร? เมื่อทำการมองเข้าไปถึงตัวปัญหาอย่างพินิจพิเคราะห์จึงได้เข้าใจว่า การมีลูก = 2R คือค่อนข้างเป็นการสุ่ม (random) และเสี่ยง (risk) เอามากๆ ราวกับเล่นสล็อตแมชชีนที่มีสล็อตนับไม่ถ้วน สับ ลุ้นตลอดว่าจะออกอะไร
ทั้งยังเป็นการสุ่มที่ไม่สามารถควบคุมได้ (uncontrollable) เพราะชีวิตไม่ใช่เกม Sims ที่ต้นสร้างครอบครัวสามารถเลือกได้ว่าอยากให้ลูกเกิดมามีนิสัยใจคอ เพศ ความชอบ ความปรารถนาแบบไหน หรือจะคลิกเมาส์สั่งได้ว่าจะให้ลูกทำอะไร เดินไปทางไหนตามที่เราต้องการ เพราะเราไม่สามารถคาดหวังหรือบังคับให้ใครเป็นเหมือนที่เราต้องการตั้งแต่ระดับทิศทางการหันซ้ายขวา เดิน กระทำ จนถึงความคิดภายในใจกับการเลือกเดินเส้นทางไหนๆ ได้เลย
พ่อของอาเหอเป็นครูสอนขับรถ ในขณะที่แม่ของเขาทำงานในสถานบันเทิง ทั้งคู่ไม่มีเวลาให้อาเหอ สิ่งที่มีให้ได้คือให้การศึกษา แต่สิ่งแวดล้อมกับตัวอาเหอเอง มาผสมปนเปกันแล้วได้เป็นผลผลิตเชิงลบ
กลับกันตัวละครพี่ชายที่ชื่ออาห่าว ในขณะที่อาเหอเฟลพ่อแม่ อาห่าวเป็นลูกในอุดมคติ ความหวังของครอบครัวที่พ่อแม่อยากให้สอบหมอก็สอบ เรียนหมอก็เรียน เป็นลูกคนโตที่แบกทั้งความคาดหวังของพ่อแม่ (รวมถึงแทนน้องชาย) และความรู้สึกผิดที่ตัวเองไม่สามารถทำให้ครอบครัวนี้มีความสุข ไม่สามารถดูแลน้องชายให้เป็นคนดีได้ นั่นทำให้วันหนึ่งทุกอย่างระเบิดออกมาจากตัวของอาห่าว
“อะไรคือสิ่งที่แฟร์ที่สุดในโลก? ดวงอาทิตย์ไง”
คำพูดเกี่ยวกับดวงอาทิตย์ด้านบนที่พูดโดยตัวละครอาห่าวกับชื่อหนัง เป็นการมองดวงอาทิตย์อย่างลึกซึ้งแบบที่ไม่เคยมองมาก่อน เป็นการบอกไปไกลกว่านั้นว่าดวงทิตย์ที่ดูขึ้นทิศเดิม ตกทิศเดิม จริงๆ มันก็อยู่ของมันอย่างนั้น เราคือผู้อยู่อาศัยบนโลกที่โคจรไปรอบๆ มันและหมุนรอบตัวเองเอาด้านใดด้านหนึ่งของโลกไปเจอมันเท่านั้นเอง และเช่นเดียวกัน ก็เหมือนกับชีวิตที่แต่ละคนต่างก็อาศัยอยู่ภายใต้แสงและความอุ่น ไม่สิ ร้อนระอุของมัน อยู่ที่ใครจะเลือกเดินทางไหน ตัดสินใจอย่างไร ภายใต้ดวงอาทิตย์หนึ่งเดียว
เด็กในรุ่นเดียวกันจำนวนมากที่เติบโตมาด้วยกันในประสบการณ์ที่เพิ่งเล่าไป เกิดมาในครอบครัวที่ไม่พร้อม พ่อแม่ไม่มีเวลา เลี้ยงแบบปล่อยปะละเลย เพราะต้องทำงานหาเงินมาใช้หนี้ ได้รับการศึกษาน้อย ท้องก่อนวัยอันควร รวมถึงอยู่กันด้วยความทะเลาะเบาะแว้งเนื่องมาจากไม่ลงรอยกัน
การมีลูกในสภาวะที่เป็นอิสระทางการเงินและเวลา กับคนมีทัศนคติที่ดี เข้ากัน และที่พร้อมจะเป็นพ่อ/แม่ของลูกเป็นสิ่งสำคัญยิ่ง นั่นดูจะเป็นทางเลือกที่ดีที่สุดเท่าที่พ่อแม่จะทำให้ลูกได้ หรือการเลือกที่จะแต่งงานกับใครซักคนโดยคิดให้ถี่ถ้วนที่สุดและไม่รีบร้อนที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ โดยเฉพาะการคัดเลือกสิ่งแวดล้อมก็ด้วยเช่นกัน เพราะอย่างน้อยๆ การอบรมสั่งสอนจากครอบครัว การให้เวลาและทำความเข้าใจลูกมากพอ มันคือการ ‘ไขลาน’ ที่คุณภาพดีให้กับลูก
ลานที่ชื่อว่า ‘ความคิดเชิงวิพากษ์และแยกแยกเหตุผลได้ (critical thinking)’ แล้วหลังจากนั้น ลูกจะเดินไปในทางที่ถูกที่ควรกับตัวเอง และไม่นำตัวเองไปสู่เส้นทางที่ไม่ถูกไม่ควรเอง
เมื่อมองกลับมาที่หนังเรื่องนี้ นั่นคือสิ่งที่อาเหอขาด และผลของการมีลูกโดยที่ไม่มีเวลาให้ลูกหรือยังไม่พร้อมทางด้านความคิดและวุฒิภาวะมากพอได้ส่งผลให้เด็กคนหนึ่งเลือกทำสิ่งอื่นมาทดแทนรูโหว่ในใจ จนอาจทำอะไรผิดพลาด อย่างเช่นทำให้เกิดอาเหอจูเนียร์กับแฟนที่ยังอายุน้อย ที่มีแนวโน้มว่าจะทำให้เกิดลูปซ้ำแบบนี้ต่อไปเรื่อยๆ ไม่สิ้นสุด
ในขณะที่อาห่าวพี่ชายของของเขา มีสิ่งนี้อยู่ ในหนังเราอาจไม่ได้เห็นว่าอาห่าวเคยโตมายังไง ในสภาพแวดล้อมแบบไหนก็จริง แต่สิ่งเดียวที่เรารู้คือเขาโตมาในครอบครัวเดียวกัน นั่นทำให้ทฤษฎี 2R ที่คิดได้ระหว่างการเขียนบทความนี้ดูจะใช้ได้ผล เพราะในชีวิตจริงก็มีให้เห็นอย่างนั้น เด็กที่โตมาในครอบครัวเดียวกันแต่มีพฤติกรรมและนิสัยตังแต่แตกต่างกันเล็กน้อยจนถึงแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง มันแสดงให้เห็นว่าคนเราเลือกได้ อยู่ที่จะเลือกทางไหน
สิ่งที่ชัวร์ที่สุดก่อนมีลูกเพื่อลดอิทธิพลจาก 2R ที่ควบคุมไม่ได้ จึงเป็นการไขลานดีๆ ที่ว่าให้
คงไม่ผิดนักที่จะบอกว่า A Sun คือ ‘หนังครอบครัว’ เพราะนี่คือหนังครอบครัวอย่างปฏิเสธไม่ได้ ด้วยองค์ประกอบที่มีความเกี่ยวข้องกับตัวละครประเภทพ่อ แม่ ลูก และสายสัมพันธ์ เพียงแต่หนังไม่ได้พาไปพบกับเรื่องราวด้านสวยหรูหรือความแฮปปี้ของคำว่า ‘ครอบครัว’ เหมือนหนังรอมคอมทั่วไป ตรงกันข้าม หนังมีเนื้อหาเกี่ยวกับครอบครัวที่ไม่คุยกัน ครอบครัวที่อยู่เหนือการควบคุม ครอบครัวที่บรรยากาศตลบอบอวลไปด้วยหมอกควันแห่งการปฏิเสธ และครอบครัวที่ไม่สมบูรณ์
ซึ่งน่าสนใจว่าคำว่า ‘ครอบครัวที่สมบูรณ์’ นั้นคืออะไรกันแน่? อะไรคือคำนิยามของมัน?
แค่การที่ครอบครัวหนึ่งมีพ่อแม่ลูกครบเหมือนในหนังเรื่องนี้ นั่นคือครอบครัวนั้นสมบูรณ์แล้วหรือไม่?
ถ้าตอบว่าใช่ มันดูจะเป็นไอเดียที่ดูจะไม่สามารถที่จะฟันธงได้พอๆ กับการดูจากภายนอกแล้วบอกว่า การที่คนสองคนคบกันเป็นแฟนหรือยังอยู่ด้วยกันแล้วยิ้มออกมา ดูรักกันดีนั้น เค้ากำลังมีความสุข นั่นไม่ใช่เรื่องจริงที่เป็นความจริง แต่เป็นฉากหน้าที่ไม่ว่าไส้ในจะจริงหรือไม่ หรือจริงมากน้อย อีกทั้งไอเดียที่ว่านั้นเป็นเพียงภาพในอุดมคติ (ideal) ที่ทุกคนแน่นอนว่าต้องอยากให้เป็น ทั้งแต่คนที่ปรารถนาจะมีครอบครัวจนถึงคนในครอบครัวนั้นๆ เอง แต่จะทำได้หรือไม่นั่นเป็นอีกเรื่อง
การที่ครอบครัวที่มีพ่อแม่อยู่ครบอย่างครอบครัวเฉิน ไม่เคยหมายความว่านั่นคือตอนจบของเรื่องราวปลายเปิดที่ฟังดูน่าหายห่วง เพราะในความเป็นจริงนั้นเรามีครอบครัวที่ทั้งมาประกอบสร้างกัน นอกเหนือจากการที่ ‘คนสองคนรักกัน’ ตั้งมากตั้งมาย ไม่ว่าจะเป็นจากการคลุมถุงชนเอย การท้องก่อนวัยอันควรจึงต้องรับผิดชอบด้วยแต่งงานทั้งที่ไม่ได้รักกันขนาดนั้นเอย รวมถึงการอยู่ไปแล้วเพิ่งรู้ตัวว่าไม่ได้รักกัน กับการหมดรักแต่ต้องฝืนอยู่เพราะอยากให้ลูกมีครอบครัวครบๆ เอย
การที่คนสองคนต่างงานกันแล้วจะมีอนาคตที่สดใสราวกับสีขาวสว่างของชุดแต่งงานในคืนวันแต่ง หรือการที่ลูกมีพ่อแม่อยู่ครบพร้อมหน้าพร้อมตาแล้วจะทำให้ลูกไม่รู้สึกขาดจึงไม่ใช่คอนเซ็ปต์ที่ถูกต้องตายตัวเท่าไหร่ และโครงสร้างของสังคมมีส่วนเป็นอย่างมาก
สังคมบางสังคมโดยเฉพาะสังคมประเทศเรา เป็นสังคมที่ค่อนข้างจะมีคติบางอย่างที่ก่อให้เกิดปัญหาอย่างไม่รู้ตัวที่ว่า ทุกคนต้องแต่งงานเพราะการโสดนั้นผิดมหันต์ (ดูได้จากการสร้างคำว่า ‘ขึ้นคาน’ ขึ้นมา และการที่คอยถามกันว่าแต่งงานรึยัง ทำไมยังไม่แต่ง) รวมถึงความคิดที่ว่าเมื่อเกิดการตั้งครรภ์แล้ว คนทั้งสองคนจะต้องรับผิดชอบแค่ด้วยแต่งงานอยู่กินแบบสามีภรรยากันเสมอไปแม้ว่าทั้งสองจะไม่ได้รักหรือเข้ากันได้ขนาดนั้นก็ตาม
โชคดีที่สมัยนี้ทุกอย่างเริ่มจะมีความยืดหยุ่นมากขึ้น ปัญหาเหล่านั้นจึงได้ลดหลั่นลงไป แต่ก็ยังมีให้เห็นไม่น้อยอยู่ดี
‘ฉกฉวยวันเวลาและเลือกเส้นทางด้วยตัวเอง’
เป็นปรัชญาน่าสนใจของโรงเรียนขับรถที่คุณเฉินหรือตัวละครพ่อสอนอยู่ มันเป็นปรัชญาที่บอกเราว่า ทุกคนมีโอกาส วัน เวลา เท่ากัน อยู่ที่ใครจะใช้มันได้ดีแค่ไหน
มีฉากหนึ่งในหนัง เป็นการนำประโยชน์ของการที่ตัวละครพ่อเป็นครูสอนขับรถมาใช้ได้ดีมาก ในวันที่ทุกคนสอบผ่าน คนพ่อก็ได้พูดขึ้นมาว่า “ด้วยใบขับขี่นี้ ชีวิตใหม่ของทุกคนได้เริ่มต้นขึ้นแล้ว ทุกคนสามารถไปขับรถบนถนนอย่างไม่ต้องกังวลว่าจะโดนจับ สำหรับนักเรียนที่สอบไม่ผ่าน เป็นเรื่องธรรมดาเพราะยังไงชีวิตก็ต้องเต็มไปด้วยอุปสรรคอยู่แล้ว ผมคิดอยู่สมอว่าชีวิตก็เหมือนถนน ตราบใดที่มือกุมพวงมาลัยรถ หยุดเมื่อเจอไฟแดง เร่งเครื่องเมื่อเจอไฟเขียว ค่อยๆขับไปอย่างมั่นคง เช่นนั้นถนนแห่งชีวิตก็จะราบรื่นไร้อันตราย”
ที่ต้องยกมาทั้งหมดเพราะไม่อยากให้คำใดขาดตกบกพร่อง ไม่เช่นนั้นความคมคายอาจจะไม่ได้เท่าระดับนี้
จริงอย่างที่ว่า ชีวิตคนเราเหมือนการขับรถอาจมีเปลี่ยนเลนบ้าง ออกนอกเส้นทางเอง/ตามจีพีเอสบ้าง เพื่อนขับนำให้ไปบ้าง และเป็นการขับไปยังท้องถนนที่ทั้งคุ้นชินเส้นทางและในเส้นทางที่คาดเดาไม่ได้ว่าจะต้องเจออะไร มุ่งไปทางไหน หรือสภาพถนนแบบไหน สิ่งสำคัญคือเราต้องไม่ปล่อยมือจากพวงมาลัยและขับอย่างระมัดระวัง รอบคอบที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้
และในรถแต่ละคันไม่ได้มีแค่คนขับคนเดียว ยังมีครอบครัวนั่งอยู่เบาะหลังด้วย คนไหนที่พ่อขับ ยังมีแม่กับลูก คันไหนที่ลูกขับยังมีพ่อกับแม่ ฉะนั้นหากเราปล่อยมือ หรือขับไปในเส้นทางที่เสี่ยงอันตรายจนเฉี่ยวชนเบาจนถึงชนหนัก ไม่ใช่แค่คนขับที่จะได้รับผลกระทบ หนังเรื่องนี้แม้ไม่ได้มีฉากตัวละครอยู่พร้อมหน้าพร้อมตาบนรถ แต่ก็มีฉากสำคัญเกิดขึ้นโดยวนเวียนเกี่ยวข้องอยู่กับรถ ซึ่งจะบอกว่านั่นเป็นการขยี้ประเด็นของหนังก็ว่าได้ (จริงๆ ถ้าไม่ชื่อ A Sun หนังก็สามารถชื่อ A Car ได้เช่นกัน)
‘แทบไม่มีครอบครัวใดสมบูรณ์ พ่อแม่ไม่ใช่สิ่งสมบูรณ์อย่างที่พวกเขาคิด ลูกเองก็ไม่ใช่สิ่งสมบูรณ์แบบที่พวกเขาวาดภาพขีดเขียนไว้ และไม่มีมนุษย์คนไหนสมบูรณ์’ นั่นเป็นสัจธรรมที่เราทุกคนต้องยอมรับและทำความเข้าใจ
และนั่นคือสิ่งที่หนังกำลังบอกเรา ความเป็นครอบครัวเป็นสิ่งที่ติดตัวเรามาตั้งแต่เกิดหรือตั้งแต่เรามีลูก สิ่งเดียวที่เราทำได้ภายใต้ดวงอาทิตย์หนึ่งเดียวหรือเซิร์ฟเวอร์เดียวกันที่เรียกว่า ‘โลก’ นี้คือขับรถให้ระมัดระวังที่สุด ไปให้ไกลที่สุด และวางแผนการเดินทางให้ดีที่สุดเท่าที่จะทำได้ โดยคำนึงถึงตัวเองและคนที่นั่งเบาะหลังเสมอ เพราะในวันนึงที่ขับไปไปผิดทาง มันอาจเป็นทาง one way ที่ไม่สามารถย้อนกลับไปอีกก็เป็นได้
และเมื่อนั้นทางเลือกจะมีไม่มากนอกจากขับต่อไปในเส้นทางนั้นจนกว่าจะเจอทางเข้าสู่ถนนหลัก ซึ่งอาจจะเจอหรือไม่เจอก็ได้ ไม่มีใครรู้ได้เลย