หากใครเคยดูภาพยนตร์เรื่อง Elisium ที่มีชื่อไทยอันเวอร์วังตามสไตล์หนังฝรั่งที่ตั้งชื่อใหม่โดยคนไทยว่า ‘เอลิเซียม ปฏิบัติการยึดดาวอนาคต’ (นำแสดงโดย Matt Demon) คุณคงพอจะจำได้ว่าหนังเล่าเรื่องของโลกอนาคตที่วิทยาการด้านต่างๆ ก้าวล้ำอย่างมาก นับเฉพาะด้านการแพทย์ โลกอนาคตในภาพยนต์ไปไกลถึงขนาดมีเครื่องมือที่สามารถรักษาได้ทุกโรคโดยเข้าไปแก้ไขสาเหตุของโรคถึงระดับอะตอม!
คนสร้างช่างมีจินตนาการล้ำเลิศเสียนี่กระไร
ในโลกความเป็นจริง มนุษย์ยังไม่สามารถสร้างเครื่องมือที่ก้าวล้ำขนาดนั้นได้ แต่วิทยาการทางการแพทย์ในปัจจุบันก็ไม่ได้น่าตื่นตาตื่นใจน้อยไปกว่ากัน เพราะในปัจจุบันเริ่มมีการนำปัญญาประดิษฐ์ หรือที่เรียกกันอย่างคุ้นหูว่า AI มาใช้ในทางการแพทย์บ้างแล้ว พูดให้เฉพาะเจาะจงขึ้นก็คือ ปัจจุบันมีการนำ AI มาใช้ในการรักษาโรคมะเร็งแล้ว
‘วัตสัน’ (Watson) คือชื่อของเจ้า AI ตัวที่ว่า และมันถือได้ว่าเป็นสมองกลที่มีความซับซ้อนและก้าวล้ำที่สุดที่มนุษย์เคยประดิษฐ์ขึ้น
ผู้สร้างวัตสันเริ่มต้นโครงการจากการตั้งโจทย์ที่จะทำให้เครื่องจักรสามารถเรียนรู้และเข้าใจภาษามนุษย์ได้ ถ้า IBM ทำได้สำเร็จ เจ้า Watson จะสามารถเข้าถึงองค์ความรู้มหาศาลที่มนุษย์สะสมไว้ได้
นี่ถือเป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญยิ่ง เพราะหากเครื่องจักรสามารถเข้าใจภาษามนุษย์ได้แล้ว การเรียนรู้ของเครื่องจักรจะเดินหน้าอย่างก้าวกระโดด จากเดิมที่ต้องติดขอขวดเพราะต้องรอให้มนุษย์แปลงองค์ความรู้ทั้งหลายเป็นภาษาที่เครื่องจักรสามารถเข้าใจได้ แต่ถ้ามันสามารถเข้าใจภาษามนุษย์ได้โดยตรง อุปสรรคนี้ก็ไม่มีอีกต่อไป และจากจุดนั้น การเรียนรู้ของมันจะรวดเร็วแบบที่มนุษย์คงจินตนาการไม่ออก
เอาง่ายๆ แค่ว่า เจ้า Watson สามารถอ่านบทความวิชาการเกี่ยวกับโรคมะเร็ง 25 ล้านชิ้นในเวลาแค่ 1 สัปดาห์เท่านั้น
ความสามารถในการอ่านและทำความเข้าใจอย่างรวดเร็วของ Watson ช่วยแก้ปัญหาสำคัญที่สุดอย่างหนึ่งในแวดวงการการรักษาโรคมะเร็ง นั่นคือการตามไม่ทันองค์ความรู้ที่อัพเดทที่สุด เนื่องจากในแต่ละปีมีงานวิจัยใหม่ๆ เกี่ยวกับการรักษาโรคนี้ออกมาเป็นจำนวนมาก โดยเฉลี่ยในแต่ละวันมีเปเปอร์เกี่ยวกับโรคมะเร็งออกใหม่มากกว่า 8 พันเรื่อง แน่นอนว่าไม่มีหมอหน้าไหนสามารถตามองค์ความรู้เหล่านี้ได้ทัน
นี่ทำให้ในการรักษาโรคมะเร็งโดยทั่วไป หมอมักจะอ้างอิงวิธีการรักษาที่ล้าสมัยกว่าองค์ความรู้ล่าสุดอย่างน้อยประมาณ 12-24 เดือน
ลองคิดดูว่ามีอีกกี่ชีวิตที่จะไม่สูญเสียไปหากได้รับการรักษาด้วยองค์ความรู้ที่ทันสมัยที่สุด
นอกจากความรวดเร็วแล้ว สิ่งที่ Watson มีไม่แพ้มนุษย์คือความน่าเชื่อถือ
การทดสอบ ที่ University of North California ซึ่งให้ AI ตัวนี้วิเคราะห์และเสนอแนะแนวทางการรักษาโรคมะเร็งกว่าหนึ่งพันเคสปรากฏกว่ากว่าร้อยละ 99 ของเคสทั้งหมด เจ้า Watson สามารถวินิจฉัยโรคได้ตรงกับที่ทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญวินิจฉัย
แต่ที่น่าทึ่งไปกว่านั้นคือ มีกว่าร้อยละ 30 ที่เจ้า Watson นำเสนอทางเลือกในการรักษาที่ทีมแพทย์พลาดไป ซึ่งแพทย์ผู้เป็นหัวหน้าทีมผู้เชี่ยวชาญยอมรับว่าเกิดจากการที่พวกเขาไม่สามารถตามองค์ความรู้ล่าสุดได้ทันตลอดเวลา
ความน่าทึ่งอีกประการของเจ้าสมองกลนี้คือ ความสามารถในการคิดและค้นหาทางเลือกหรือคำตอบที่สมเหตุสมผลขึ้นมาได้ ผมคิดว่าทุกคนคงเคยมีประสบการณ์เสิร์ชกูเกิ้ลแล้วบางครั้งได้ผลลัพธ์ที่ไม่ตรงกับที่ตั้งใจ หรือหลายครั้งก็ไม่สามารถหาสิ่งที่อยากได้จากการใส่คำ keywords ลงไปตรงๆ แต่ต้องปรับเปลี่ยนคำหรือรูปประโยคเสียใหม่เพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่ต้องการ
สิ่งเหล่านี้แม้จะดูเป็นเรื่องธรรมดาสำหรับมนุษย์ แต่สำหรับเครื่องจักร นี่เป็นสิ่งที่ทำได้ยากยิ่ง ความสามารถในการคิดอย่างมีเหตุผลประหนึ่งมนุษย์นี่เอง ที่ทำให้เจ้า Watson มีความพิเศษอย่างยิ่ง แต่ในขณะเดียวกันมันก็น่ากลัวอย่างยิ่งด้วย โดยเฉพาะสำหรับมนุษย์อย่างเราๆ ท่านๆ ในฐานะแรงงานผู้ใช้สมองและเหตุผลในการรังสรรค์ชิ้นงาน
หากเครื่องจักรสามารถเรียนรู้ วิเคราะห์ เข้าใจ คัดสรร รังสรรค์ และสร้างทางเลือกที่สมเหตุสมผลและน่าเชื่อถือไม่ต่างจากที่มนุษย์ทำ ยังจะเหลืองานอะไรให้มนุษย์อย่างเราทำอีกเล่า
การเข้ามาของเครื่องจักรอัตโนมัติในโรงงานทำให้ตำแหน่งงานที่ไม่ต้องใช้ทักษะถูกทดแทนด้วยเครื่องจักร และหายไป ส่วนสมองกลที่คิดอย่างเป็นเหตุเป็นผลได้ก็กำลังจะทำสิ่งเดียวกันกับตำแหน่งงานที่เคยจำกัดไว้ให้กับกลุ่มคนมีการศึกษาและทักษะสูง
บางคนอาจคิดถึงโลกยูโทเปียที่มนุษย์แทบไม่ต้องทำงาน และมีกินมีใช้โดยเครื่องจักรทำงานแทบทุกอย่างแทนเรา ผมไม่คิดว่าโลกอนาคตจะสวยงามแบบนั้น
การเข้ามาระลอกแรกของเครื่องจักรอัตโนมัติทำให้ตำแหน่งงานไร้ทักษะจำนวนมากหายไป ผู้คนปรับตัวโดยการพยายามเรียนให้สูงขึ้นเพื่อที่จะพบว่าตัวเองมีปริญญาแต่ต้องทำงานในร้านกาแฟ และจนบัดนี้เราก็ยังไม่สามารถผลิตงานทักษะสูงเพื่อรองรับแรงงานส่วนเกินเหล่านี้ได้อย่างเพียงพอ
ผมคิดว่าการเข้ามาของเครื่องจักรอัจฉริยะพวกนี้จะทำให้ตำแหน่งงานที่ใช้ทักษะสูงหายไปอีกจำนวนมาก และพวกแรงงานใช้สมอง หรือที่เรียกกันว่าพวก white collar workers จำนวนมากจะตกงาน
ในระดับปัจเจก ชัดเจนว่าโจทย์ที่สำคัญคือ คุณจะเตรียมพร้อมอย่างไรให้สามารถอยู่ร่วม ทำงาน รวมไปถึงแข่งขันกับสมองกลเหล่านี้ได้
แต่ผมคิดว่าสิ่งที่สำคัญมากกว่าคือโจทย์ในระดับสังคม ว่าเราจะอยู่ร่วมกันอย่างไรในฐานะเพื่อนมนุษย์ ในเมื่อจะมีคนกลุ่มหนึ่งที่เข้าถึง เป็นเจ้าของ และทำงานร่วมกับสมองกลและเครื่องจักรเหล่านี้ได้ ในขณะที่คนที่เหลือถูกปล่อยให้อยู่ในดินแดนอันแห้งแล้งและขาดแคลนที่คนข้างบนและเครื่องจักรทิ้งไว้ให้
บางทีคำตอบอาจจะซ่อนอยู่ในภาพยนตร์เรื่อง Elysium นั่นแหละ ในโลกอนาคตที่คนจนถูกปล่อยไว้บนโลกที่ผุพัง ส่วนคนรวยก็สร้างดาวดวงใหม่ แล้วขนเทคโนโลยีและทรัพยากรอันมีค่าไปอยู่กันบนฟ้า หนทางเดียวที่จะแก้ไขได้ คงเป็นการไป ‘ยึดดาวอนาคต’ ที่ลอยอยู่บนฟ้าคืนมาตามชื่อหนัง
แต่แทนที่จะรอให้ถึงจุดนั้นและต้องแก้ปัญหากันด้วยความรุนแรง คงจะดีกว่าถ้าเราตกลงกันตั้งแต่ตอนนี้ ตอนที่อิทธิพลของเหล่าเครื่องจักรและสมองกลต่อสังคมของเรายังไม่มาก ว่าเราจะแบ่งปันผลประโยชน์ที่เกิดจากเครื่องจักรสมองกลเหล่านี้อย่างไร ให้ทั่วถึงและเท่าเทียม จนไม่สร้างให้เกิดโลกสองโลกที่แตกต่างกัน literally ราวฟ้ากับเหวแบบในภาพยนตร์ขึ้นมา