เมื่อเอ่ยชื่อ อ้าย เว่ยเว่ย (Ai Weiwei) นอกจากมิตรรักแฟนศิลปะหลายคนจะรู้จักเขาในฐานะศิลปินร่วมสมัยชาวจีนผู้ทรงอิทธิพลที่สุดในยุคปัจจุบันแล้ว เขายังเป็นที่รู้จักในฐานะนักวิจารณ์และนักเคลื่อนไหวทางการเมือง ผู้มีบทบาทโดดเด่นในการวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของรัฐบาลจีนอย่างเผ็ดร้อน ตรงไปตรงมา ไม่เกรงหน้าอินทร์หน้าพรหม และยังเรียกร้องสิทธิเสรีภาพและความเป็นประชาธิปไตย
เขามักให้สัมภาษณ์โจมตีการกระทำของรัฐบาลจีนอย่างรุนแรงในสื่อต่างๆ ทั่วโลก เปิดโปงการทุจริตคอร์รัปชั่นของรัฐบาลจีนจนถูกหมายหัว และในที่สุดเขาก็ถูกจับตัวในสนามบินขณะกำลังจะเดินทางไปฮ่องกง เขาถูกกักขังเป็นเวลานานถึง 81 วัน ในระหว่างนั้นเขาถูกสอบสวนหลายครั้ง เขาถูกปล่อยตัวออกมาท่ามกลางเสียงเรียกร้องของคนหลากหลายวงการทั่วโลก และถูกทัณฑ์บนในข้อหาหลบเลี่ยงภาษี โดยถูกกักบริเวณในบ้าน ห้ามออกนอกประเทศ และห้ามใช้การสื่อสารออนไลน์ทุกชนิด
แต่ถึงแม้จะออกนอกประเทศไม่ได้ ศิลปินหัวขบถอย่างอ้าย เว่ยเว่ย ก็หาทางแสดงงานในต่างประเทศจนได้ ด้วยความร่วมมือจากมูลนิธิ FOR-SITE ของสหรัฐอเมริกา และภัณฑารักษ์ เชอรีล เฮย์นส์ (Cheryl Haines) โดยจัดแสดงนิทรรศการที่ว่าด้วยเรื่องราวของการถูกคุมขังและสูญเสียเสรีภาพ และเมื่อพูดถึงประเด็นนี้ เขาก็ไม่ได้ไปจัดแสดงงานที่พิพิธภัณฑ์หรือหอศิลป์ที่ไหน หากแต่จัดแสดงในอดีตเรือนจำที่ได้ชื่อว่าโหดร้ายที่สุดในประวัติศาสตร์ของสหรัฐอเมริกาอย่าง คุกอัลคาทราซ นั่นเอง นิทรรศการนั้นมีชื่อว่า @Large: Ai Weiwei on Alcatraz (2014)
และผลงานที่สะท้อนถึงประสบการณ์ที่เขาได้รับอย่างชัดเจนที่สุดก็คือ Trace (2014) ผลงานศิลปะจัดวางที่แสดงภาพใบหน้าคนจำนวนมาก หากใบหน้าที่ว่านี้ไม่ได้ถูกทำขึ้นในรูปแบบของภาพวาดตามปกติธรรมดา แต่ใช้ตัวต่อเลโก้สร้างเป็นภาพของผู้ต้องหาทางการเมืองจำนวน 176 คน จากทั่วโลก ผู้ถูกคุมขังหรือต้องพลัดถิ่นฐานจากการแสดงออกทางความคิดและการต่อสู้เคลื่อนไหวทางการเมือง อ้าย เว่ยเว่ย เรียกขานพวกเขาเหล่านี้ว่าเป็น ‘วีรบุรุษแห่งยุคสมัยของเรา’
“ในปี 2011 ผมถูกรัฐบาลจีนกักตัวในแบบที่แทบจะเหมือนการลักพาตัว และถึงแม้จะถูกปล่อยตัวออกมา ผมก็ถูกกักบริเวณที่บ้าน ในแบบที่บางคนอาจจะเรียกว่า การคุมขังแบบเบาะๆ ถึงแม้รัฐบาลจะไม่เคยตั้งข้อหาผมอย่างเป็นทางการ แต่ชื่อของผมก็ถูกเซ็นเซอร์บนอินเทอร์เน็ตในประเทศจีน ผมไม่มีแม้แต่นิทรรศการของตัวเอง หลังจากการครองอำนาจมา 65 ปี รัฐบาลจีนก็ยังไม่เคยรับรองสิทธิของประชาชน เราไม่สามารถเลือกตั้ง ไม่มีกระบวนการยุติธรรมหรือแม้แต่องค์กรสื่อสารมวลชนที่เป็นอิสระจากการควบคุมของรัฐ สิ่งนี้แสดงให้เห็นว่าคำว่า ‘เสรีภาพ’ นั้น เป็นสิ่งที่มีความหมายต่อประชาชนชาวจีนอย่างมาก”
“สิ่งนี้ทำให้คำแรกที่ผมนึกขึ้นมาในใจในตอนที่คิดจะทำนิทรรศการศิลปะครั้งนี้คือ ‘เสรีภาพ’ ในฐานะศิลปิน ผมอยู่ในสังคมที่เสรีภาพเป็นสมบัติล้ำค่า เราดิ้นรนและใช้ความพยายามอย่างยิ่งยวดในการไขว่คว้ามันทุกวี่วัน บางครั้งเราเสียสละทุกสิ่งทุกอย่างเพื่อปกป้อง และเพื่อยืนหยัดเสรีภาพ สำหรับผม เสรีภาพไม่ใช่สิ่งที่ตายตัว หากแต่เป็นสิ่งที่ต้องใช้เวลายาวนานต่อสู้ให้ได้มา ผมคิดว่าการให้ความสำคัญต่อเสรีภาพในการแสดงออกสำหรับศิลปิน และเป็นคุณค่าอันขาดไม่ได้สำหรับการทำงานสร้างสรรค์”
“นักเขียน กวี และศิลปินในยุคสมัยของพ่อผม ไม่อาจแสดงออกทางความคิดของพวกเขาได้โดยปราศจากเสรีภาพ พวกเขาถูกลงทัณฑ์จากการมีความคิด ทัศนคติและบุคลิกภาพที่แตกต่าง และโทษก็อาจหนักหนาจนถึงแก่ชีวิต พ่อของผมถูกจับกุม คุมขัง และเนรเทศไปยังสถานที่ห่างไกล ยากไร้กันดาร และผมก็ใช้ชีวิตเติบโตที่นั่นกับครอบครัว”
“ในนิทรรศการ @Large เรานำเสนอภาพ หรืออันที่จริง สุ้มเสียงของนักโทษการเมือง และนักโทษทางความคิดร้อยกว่าคน ที่มีเรื่องราวและพื้นเพที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง หากแต่คนเหล่านี้ล้วนแล้วแต่เป็นนักต่อสู้ด้วยสันติวิธี ผู้สูญเสียอิสรภาพเพียงเพราะการแสดงออกทางความคิด หรือถูกคุมขังเพียงเพราะพวกเขาพยายามเปลี่ยนแปลงสังคมด้วยการเขียนหรือประท้วงอย่างสงบ พวกเขาหลายคนอาจจะติดคุกไปตลอดชีวิต หรือถูกสาธารณชนลืมเลือนไป แต่ในความเป็นจริง พวกเขาคือวีรบุรุษแห่งยุคสมัยของเรา พวกเขาอาจซ่อนตัวอยู่ในมุมมืด ในที่ที่ไม่มีใครรู้จัก ชื่อของพวกเขาไม่เคยถูกขานออกมาอย่างยกย่องและให้เกียรติเหมือนปูชนียบุคคลของชาติคนอื่นๆ แต่ถึงแม้งานของพวกเขาจะไม่เป็นที่โดดเด่นสะดุดตา หากแต่ความสําคัญของพวกเขาก็ไม่เคยลดน้อยถอยลง และด้วยความพยายามของพวกเขานี่เอง ที่ทำให้เราอยู่ในสังคมอันศิวิไลซ์ได้อย่างสงบสุข นิทรรศการนี้จัดขึ้นเพื่อรำลึกถึงชื่อของพวกเขาและการต่อสู้ของพวกเขากับผู้กดขี่ให้ชัดเจนยิ่งขึ้น”
และที่สำคัญ หนึ่งในภาพบรรดาผู้ต้องหาทางการเมืองเหล่านั้นคือภาพใบหน้าของ สมยศ พฤกษาเกษมสุข อดีตนักโทษการเมืองชาวไทยผู้ถูกคุมขังเป็นเวลา 7 ปีเต็ม จากข้อหาตามกฎหมายอาญามาตรา 112 นั่นเอง
อ้าย เว่ยเว่ยยังใช้ตัวต่อเลโก้ทำงานศิลปะในประเด็นทางการเมืองอีกหลายต่อหลายครั้ง ทั้งต่อเป็นภาพของนักรณรงค์เพื่อสิทธิมนุษยชนของออสเตรเลียในผลงาน Letgo Room (2015) และภาพของนักเรียนชาวเม็กซิโกจำนวน 43 คนที่ถูกลักพาตัวและ (คาดว่า) ถูกสังหารหมู่ในปี 2014 ในผลงาน Reestablishing Memories (2019) อีกด้วย
อ้าย เว่ยเว่ยเผยถึงเหตุผลที่เขาหยิบเอาเลโก้มาทำงานศิลปะให้เราฟังว่า “สำหรับผม เลโก้เป็นสื่อชนิดหนึ่ง ผมมักจะใช้สื่อใหม่ๆ เพื่อแสดงออกถึงรูปแบบหรือภาษาใหม่ๆ เลโก้มีความสวยงาม สีสันสดใสชัดเจน หลังจากคุณต่อเลโก้เป็นสิ่งต่างๆ แล้ว คนอื่นก็สามารถทำตามออกมาได้เหมือนกันเป๊ะๆ ซึ่งเป็นคุณสมบัติที่น่าสนใจมาก”
ก่อนหน้านี้ในปี 2015 เคยมีเหตุการณ์ดราม่าเกี่ยวกับเลโก้จากการที่อ้าย เว่ยเว่ยติดต่อซื้อตัวต่อเลโก้จากบริษัทแม่ของเลโก้ที่เดนมาร์ก แต่กลับถูกปฏิเสธโดยให้เหตุผลว่าผลงานของเขาเกี่ยวข้องกับประเด็นทางการเมือง หลังจากข่าวนี้กระจายในโซเชียลมีเดีย (ด้วยฝีมือของพี่อ้ายเองนั่นแหละ) ทำให้เกิดกระแส #legosforweiwei ขึ้น จนมีผู้คนจากทั่วโลกบริจาคตัวต่อเลโก้ให้เขาเป็นจำนวนมาก ในภายหลังผู้บริหารเลโก้จึงต้องออกมาขออภัยในเหตุการณ์นี้ และเปลี่ยนนโยบายบริษัทว่าจะไม่มีการสอบถามเหตุผลในการสั่งซื้อเลโก้ในจำนวนมากอีกต่อไป
อ้าย เว่ยเว่ยยังเป็นหนึ่งในศิลปินผู้ร่วมงานเทศกาลศิลปะร่วมสมัยนานาชาติ บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ ในปี 2020 ที่ร่วมลงชื่อในแถลงการณ์ประณามและเรียกร้องให้ยุติความรุนแรงทุกรูปแบบต่อผู้ชุมนุมเรียกร้องประชาธิปไตยในประเทศไทย รวมถึงเรียกร้องให้ทางเทศกาลและหอศิลปวัฒนธรรมกรุงเทพมหานคร ร่วมมือและแสดงจุดยืนเพื่อยืนหยัดต่อต้านความรุนแรงและยืนยันสิทธิของการชุมชุมอย่างสันติ แถมในการสัมภาษณ์ออนไลน์กับสื่อมวลชนชาวไทย เขายังชูสามนิ้วมาให้กำลังใจประชาชนชาวไทยทางหน้าจอเว็บแคมอีกด้วย
“ผมคิดว่าประเทศไทยมีประวัติศาสตร์และโครงสร้างของตัวเอง ผมนับถือเยาวชนและคนรุ่นใหม่ยืนหยัดต่อสู้ในช่วงเวลาที่ยากลำบากครั้งนี้จากใจจริง ในขณะเดียวกัน ช่วงเวลาอันยากลำบากเช่นนี้ก็เป็นพลังที่ผลักดันให้โลกเราก้าวไปสู่สภาวะที่ดีกว่า ผู้ประท้วงเหล่านี้ไม่ได้ประท้วงเพียงเพราะแค่อยากประท้วง แต่พวกเขากำลังสร้างสิ่งที่เป็นประโยชน์ให้ประเทศของเขา”
“เราทุกคนกำลังอยู่บนเรือลำเดียวกัน ไม่ว่าเราจะอยู่ที่ไหนก็ตาม โลกกำลังเล็กลงเรื่อยๆ เราต้องเผชิญหน้าสายลมและพายุฝนร่วมกันอย่างไม่อาจหลีกหนีได้ สิ่งที่เกิดขึ้นในฮ่องกง ในประเทศไทย หรือที่ไหนๆ ในโลกตอนนี้ เราทุกคนต่างรับรู้ร่วมกันผ่านสื่ออินเทอร์เน็ตและความเป็นไปได้ใหม่ๆ ของการสื่อสาร สิ่งเหล่านี้ส่งผลกระทบต่อผลงานของผมโดยตรง และผมก็ทำการค้นคว้าศึกษาเกี่ยวกับประเด็นเหล่านี้ไม่มากก็น้อย”
อ้างอิงจาก
หนังสือ Ai Weiwei: So Sorry เขียนโดย Ai Weiwei และ Mark Siemons
At Large: Ai Weiwei on Alcatraz เรียบเรียงโดย David Spalding