คิดว่าหลายๆ คนคงจะเคยเจอกันนะครับ กับคอมเมนต์ที่เอาเข้าจริงๆ แล้วก็เห็นด้วยกับเรานี่แหละ และมาคอมเมนต์ หรือแชร์ไปโดยขึ้นแคปชั่นประมาณว่า “เหยยยย มีคนคิดแบบนี้ด้วย! นี่คิดว่าคิดแบบนี้อยู่คนเดียว” หรืออะไรทำนองนี้ อย่างที่บอกว่า ข้อความดังกล่าวเป็นข้อความที่ ‘แสดงความเห็นด้วย’ กับเนื้อหาต้นทางแน่ๆ ล่ะครับ แต่พร้อมๆ กันไป ผมก็แอบรู้สึกสนใจว่า “อะไรที่ทำให้หลงคิดว่าความคิดแบบนี้จะมีตัวเองคิดอยู่คนเดียวได้” น่ะครับ วันนี้เลยอยากลองนำมาพูดคุยกันดู
อย่างที่เคยเขียนและพูดในหลายกรรมหลายวาระแล้ว ว่าโดยส่วนตัวผมไม่ใช่คนดีในวิสัยแบบที่สังคมทั่วไปนิยมชมชอบ ฉะนั้นเวลาที่ผมเห็นคอมเมนต์ในลักษณะดังกล่าว ผมมักจะแอบขำอยู่หลังหน้าจอคอมพิวเตอร์หรือโทรศัพท์ของตัวเองเสมอ ว่า “เอาอะไรมามั่นใจในตัวเองได้ขนาดนี้ ว่านี่คือความคิดของคุณ โดยคุณ และมีเพียงคุณคนเดียวในโลก” และไม่ได้เกิดขึ้นเพียงครั้งสองครั้งด้วยนะครับ เราเห็นคอมเมนต์ในลักษณะนี้เต็มไปหมด ทั้งในพื้นที่โลกออนไลน์ หรือกระทั่งในโลกจริงที่มีการพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน
วิธีคิดที่มองว่าตัวเราเองเป็น ‘หนึ่งเดียวที่แยกขาดจากส่วนอื่นๆ ของสังคม’ หรือไม่ขึ้นต่อใคร ไม่ซ้ำกับใคร ไม่เหมือนใคร เต็มไปด้วยยูนีคเนส (Uniqueness) นั้น คงไม่ผิดครับที่จะบอกว่าเป็นส่วนหนึ่งของผลผลิตจากวิธีคิดแบบ American individualism หรือปัจเจกนิยมแบบอเมริกัน และนี่แหละคือเรื่องที่ผมอยากจะพูดถึงในวันนี้ ‘ปัจเจกนิยม และปัจเจกนิยมแบบอเมริกัน’ ที่ดูจะทำให้มนุษย์สมัยนี้ต่างพากัน ‘หลงตัวเองแบบผิดๆ’ ว่ามีความไม่เหมือนใคร และไม่มีใครเหมือน ไม่อิงกับใครและไม่มีใครมาอิง ฉะนั้นจึงรู้สึกแปลกปะหลาดใจเมื่อมีคนมา ‘คิดเหมือนกับความคิดของตน ที่ตอนแรกเข้าใจว่าคิดอยู่เองแต่เพียงแค่คนเดียวในโลกหล้าได้!’
ผมคิดว่าคำว่า ‘ปัจเจกชนนิยม’ หรือ Individualism นั้นคงคุ้นหูหลายๆ คนไม่น้อยนะครับ เพราะแนวคิดเรื่องปัจเจกชนนิยมนี้นับได้ว่าเป็นหนึ่งในแนวคิดรากฐานของเสรีนิยม โดยเฉพาะในสายเสรีนิยมใหม่ หรือ Neo-Liberalism ที่ให้คุณค่ากับอิสรภาพและอำนาจในการเลือกแก่ตัวปัจเจกเป็นสำคัญเหนือสิ่งอื่นใด
เพราะฉะนั้นผู้ซึ่งสมาทานหรือได้รับอิทธิพลในความคิดลักษณะนี้จึงมักจะคิดว่าตนนั้นสามารถอยู่ในโลกนี้ได้โดยไม่ต้องพึ่งใคร (Independent) และมีระดับของการพึ่งพาตนเองได้หรือเป็นตัวของตัวเองโดยแยกขาดจากส่วนร่วมใหญ่ (Self-reliance) ได้นั่นเอง
อย่างที่บอกไปว่า ปัจเจกชนนิยมมันเป็นรากฐานหนึ่งของเสรีนิยม (นั่นแปลว่ามันมีแนวคิดที่เป็นรากฐานได้อีกหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นความเท่าเทียม ความมั่นคงของมนุษย์ ไปจนถึงอำนาจ) แต่เมื่อปัจเจกชนนิยมในมุมแบบเสรีนิยมใหม่ที่เทความสำคัญให้กับ independence และ self-reliance ที่ว่ามานั้น จึงจำเป็นต้องให้ความสำคัญกับ ‘ปัจจัยซึ่งจะทำให้ independence และ self-reliance เกิดขึ้นจริงด้วยตามมาอีกทอดหนึ่งด้วย’ แล้วอะไรเล่าในโลกร่วมสมัยที่จะทำให้เรามีกำลังความสามารถมากพอที่จะอยู่ได้โดยไม่ต้องพึ่งพาใครอื่น? นั่นก็คือ ทรัพยากรต่างๆ ที่เป็นของปัจเจกบุคคลทั้งที่ติดตัวมาแต่กำเนิดและทั้งที่หามาได้ด้วยตัวปัจเจกเองนั้นย่อมได้รับการคุ้มครอง และมีสถานะแบบเดียวกันกับ ‘ตัวตน’ ของปัจเจกเองน่ะครับ ว่าง่ายๆ ก็คือ สิทธิเหนือทรัพยากรและทรัพย์สินของปัจเจกนั้นมีความ ‘แยกขาดจากส่วนร่วม’ หรือ independence เช่นเดียวกันกับตัวปัจเจกนั่นเอง
จุดเน้นของปัจเจกชนนิยมในลักษณะนี้เองที่เราเรียกกันแบบหลวมๆ ว่าปัจเจกชนนิยมแบบอเมริกัน หรือ American individualism ที่ให้อำนาจกับปัจเจกเหนืออะไรใดๆ ก็ตามที่ตนเองเองมีมาหรือหามาได้อย่างเต็มที่ ‘ส่วนร่วม หรือรัฐ/สังคมไม่มีสิทธิไปเอี่ยว’ โดยแนวคิดนี้จะถือว่าเป็น subset ของฐานคิดสำคัญมากๆ ในเรื่องสิทธิมนุษยชนและเสรีนิยมที่เรียกว่า individual self-ownership หรือการเป็นเจ้าของตนเองของปัจเจกนั่นเองครับ ซึ่งแน่นอนว่ามันรวมถึงทรัพย์สิน ไอเดีย ความคิด รวมไปถึงชีวิตของเรานั่นเอง
ผมคงไม่ต้องไปพูดอะไรถึงพวกทรัพย์สินมากนักนะครับ เพราะมันชัดเจนอยู่แล้ว แต่พวกไอเดีย ความคิด ข้อถกเถียงต่างๆ เองก็อยู่บนฐานวิธีคิดนี้ เพราะฉะนั้นกฎหมายคุ้มครองเรื่องทรัพย์สินทางปัญญา หรือสิทธิบัตรต่างๆ หรือกระทั่งแนวคิดเรื่อง Plagiarism หรือการลอกเลียนความคิดโดยไม่มีการอ้างอิงนั้นจึงเกิดขึ้นด้วย และแน่นอนว่าการให้สิทธิขาดกับปัจเจกในทางความคิด โดยตัดขาดมันจาก ‘ส่วนร่วม’ เลยนั้นก็ยังคงเป็นดีเบตที่หนักมากอยู่ อย่างเช่น ในกรณีสินค้าที่จำเป็น อย่างยารักษาโรค ที่เมื่อสิทธิบัตรยากลายเป็นทรัพย์สินส่วนตัวของปัจเจกผู้คิดค้น โดยตัดขาดสิทธินั้นจาก ‘ส่วนร่วม’ แล้ว และมันทำให้เกิดความตายได้ เราจะจัดการกับจุดนี้อย่างไร? ความมั่นคงของชีวิตต้องอยู่เหนือสิทธิในทรัพย์สินของปัจเจกไหม? เป็นต้น
อย่างไรก็ดี เอาเป็นว่า ‘ความคิด ข้อถกเถียง และไอเดียต่างๆ’ เอง ก็ได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของวิธีคิดที่แยกตัวเองออกมาอย่างโดดเดี่ยว ตัดขาดจาก ‘ส่วนร่วม’ ไปเช่นกันกับทรัพย์สินหรือทรัพยากรส่วนตัวแบบอื่นๆ น่ะนะครับ และไอ้กระแสความคิดแบบนี้ก็กระจายไปทั่วโลกอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคสงครามเย็น และยุคหลังสงครามเย็น ที่สหรัฐอเมริกามีชัยเหนือสหภาพโซเวียต และกลายเป็นตัวแทนของค่ายเสรีไป ปัจเจกนิยมแบบอเมริกันนี้ก็กระจายตัวตามอำนาจของอเมริกาไปด้วย (ผมพยายามเน้นคำว่าปัจเจกนิยมแบบอเมริกันหรือ American individualism เพราะปัจเจกนิยมมีหลายแบบอยู่นะครับ เช่น แบบอนาธิปไตย หรือ Anarchism ซึ่งก็คงพูดไม่ได้ว่าแพร่หลายเหมือนกับแบบที่กำลังพูดถึงอยู่)
และการที่เราอยู่กับวิธีคิดในกระแสแบบนี้เองมากๆ นี่แหละครับที่ทำให้เรามักจะ ‘หลงผิดคิดกันไปเองว่า’ ความคิดอะไรก็ตามที่มันออกมาจากตัวเรานั้น มันคืออะไรที่เป็นสิ่งเฉพาะของเรา มาจากตัวเราอย่างโดดๆ โดยแท้จริง และแลดูจะไม่ยุ่ง ไม่แตะ ไม่เกี่ยว ไม่ข้องกับ ‘ส่วนร่วมอื่นๆ’ เอาเสียเลย เราคือนายและเจ้าของความคิดอันเป็นปัจเจกของเราอย่างสมบูรณ์ และความคิดดังกล่าวนี้ก็จะยิ่งถูกขับเน้นให้หนักขึ้น เมื่อเราคิดอะไรที่ ‘ขัดหรือสวนกระแสกับคนหมู่มากในสังคมบ้าง’ การที่มองว่าตัวเองตัดขาดจาก ‘ส่วนร่วม’ ก็จะยิ่งหนักตามมา ความ Independence ของเราจะยิ่งดูเพิ่มพูน สิ่งที่ฉันคิดนั้นช่างไม่เหมือนใครเหลือเกิน …. แน่ล่ะ จนกระทั่งคุณมาเจอกับความคิดที่เหมือนกับคุณเข้าอย่างจัง แล้วก็ค่อยโพล่งคอมเมนต์ออกมาว่า “อุ๊ยต๊ายยยย มีคนคิดแบบชั้นด้วยหรือนี่?”
หากพูดกันในแง่สิ่งประดิษฐ์คิดค้นอะไรต่างๆ หรือของที่วัดกันในเชิง ‘ความเร็วที่สามารถทำออกมาให้เห็นผลได้ก่อนแล้ว’ การเป็นเจ้าของความคิดใดความคิดหนึ่ง หรือเป็นหนึ่งเดียวในเชิงความคิดหรือไอเดียนั้นก็อาจจะพอพูดได้ แต่เอาจริงๆ ก็ยังไม่ถึงกับเต็มปากด้วยซ้ำ
โดยเฉพาะหากเราแบ่งสิ่งที่เรียกว่า ‘ความคิด’ ออกจาก ‘การลงมือปฏิบัติ’ (Execution) ว่าเป็นคนละอย่างกันแล้ว ความคิดที่อย่างจะสร้างวัตถุที่ให้แสงสว่างยามค่ำคืนได้นั้น ก็คงจะไม่ใช่ความคิดที่ริเริ่มโดยโธมัส อัลวา เอดิสันอีกต่อไป มีคนอีกมากมายที่มีความคิดเรื่องนี้เหมือนกับเขา และคิดมาก่อนเขา แต่เอดิสันเป็นคนแรกที่ execute มันออกมาได้สำเร็จ ฉะนั้นผมถึงบอกว่าแม้แต่ในเคสนี้ก็ยังพูดแบบเต็มปากเต็มคำได้ลำบากเลย
ยิ่งพอเป็นในบริบททั่วๆ ไปของสังคมแล้ว ความคิดโดยเฉพาะในลักษณะของ ‘ข้อคิดเห็นที่มีต่อประเด็นในทางสาธารณะ’ นั้น มันจะเป็นไปได้จริงๆ หรือที่จะเป็นหนึ่งเดียว แยกขาดจาก ‘ส่วนร่วม’ ไปเสีย จนถึงกับเชื่อไปได้ว่า ‘นี่มีชั้นคิดแบบนี้อยู่คนเดียว’ ผมเห็นว่าเป็นไปได้ยากมาก ถึงขั้นจะเป็นไปไม่ได้เลยเอาเสีย เพียงแค่เราถูกทำให้หลงผิดคิดเข้าข้างตัวเองไปในลักษณะนั้น เพราะความเคยชินกับวิถีการวางตนในแบบปัจเจกชนนิยมแบบอเมริกัน ที่มองว่าปัจเจกนั้นจะสามารถวางตนอย่างตัดขาดจากส่วนร่วมได้ ฉะนั้นแล้วสำหรับผมมันจึงยิ่งเป็นเรื่องที่ตลกมากเป็นพิเศษขึ้นไปอีกกับกรณีที่เป็นความคิดเห็นที่มีต่อประเด็นสาธารณะ แต่ดันคิดว่าสิ่งที่ตนคิดออกมานั้นจะเป็นหนึ่งเดียว ไม่เหมือนใคร ตัดขาดจากส่วนร่วมได้เสียหมดจด ทั้งที่จุดตั้งต้นก็บอกอยู่แล้วว่ากำลังให้ความเห็นกับบางอย่างที่ยึดโยงกับสาธารณะอยู่นะ ฉะนั้นในกรณีแบบนี้จึงต้องการความมั่นใจในตัวเองอย่างหนักมากยิ่งขึ้นเป็นพิเศษในการจะพูดออกมาได้ว่า “นึกว่าคิดแบบนี้อยู่คนเดียว”
ยิ่งไปกว่านั้น หากเรามองประเด็นนี้จากสายตาแบบโครงสร้างนิยมหรือหลังโครงสร้างนิยมที่มองเป็นพื้นฐานอยู่แล้วว่าพฤติกรรม การกระทำ และความคิดของมนุษย์นั้น เป็นเพียงแค่ ‘ร่างทรงของโครงสร้าง’ สิ่งที่เราคิดว่าเราคิดขึ้นมาเอง ตัดสินใจทำด้วยความต้องการอันเป็นปัจเจกของเราเอง แท้จริงแล้วมันเป็นเพียงสิ่งที่เราหลงผิด เพราะเราไม่ใช่เจ้าของความคิดความอ่านของตนหรอก เราไม่ได้เป็นนายเหนือความคิดของตัวเอง แต่เป็นระบบโครงสร้างต่างหากที่ชักนำให้เราเป็นไปอย่างที่เราเป็นอยู่
ตัวอย่างหนึ่งที่อาจจะพอทำให้นึกภาพออกนะครับ ก็อย่างเช่นการแสดงออกทางความรัก หากเราชอบพอใครสักคนหนึ่ง อยากจะจีบเค้า ก็คงจะหาทางติดต่อพูดคุยด้วยทางใดทางหนึ่ง เฟซบุ๊ก ไลน์ โทรศัพท์อะไรก็ว่าไป สร้างความคุ้นเคย ชักชวนกันไปเดต ดูหนัง ฟังเพลง กินข้าว เที่ยวนั่นนี่ และก็อาจจะจูงมือกันขึ้นเตียงในที่สุด (อันนี้ในกรณีอยากจะมีความสัมพันธ์โดยทั่วๆ ไป) แต่ในกรณีที่อยากจะดับกระหายอารมณ์ทางเพศเฉยๆ ก็อาจจะพึ่งแอพพลิเคชั่นหาคู่ โดยไว้เนื้อเชื่อใจในอัลกอริธึมของมัน ความสามารถในการปัดของเราเอง พร้อมกับความเข้าใจ ‘ร่วม’ ที่ตรงกันว่า คนที่อยู่บนแพลตฟอร์มเดียวกันนี้ก็คง ‘กำลังต้องการในสิ่งเดียวกันนี่แหละ’
เราทำสิ่งเหล่านี้ออกไปอย่างเป็นธรรมชาติ ทำออกไปด้วยสำนึกคิดส่วนตัวของเรา ทำไปด้วยความอยากทำในฐานะปัจเจกของเราเลย นี่คือการกระทำของเรา นี่คือความคิดของเรา! แต่ 5 พันล้านคนทั่วโลก แม่งทำเหมือนกันหมดเลยครับ! ช่างเป็นปัจเจกกันมากเหลือเกิน ช่างเป็นนายเหนือความคิดของตนเองเหลือเกิน การกระทำของเราช่างมาจากก้นบึ้งของอารมณ์ความรู้สึกในฐานะปัจเจกที่ตัดขาดจากส่วนร่วมเสียจริง … เปล่าเลย เรา ‘เชื่อมโยง’ กับส่วนรวมตลอดเวลานั่นแหละครับในฐานะ ‘ร่างทรงของมัน’ หากมองผ่านสายตาแบบกลุ่มโครงสร้างนิยมและหลังโครงสร้างนิยม ผมอยากให้ลองดูภาพภาพหนึ่งที่ผมคิดว่าสะท้อนแนวคิดของสำนักคิดนี้ได้ชัดเจนดีครับ
บางทีก็อาจถึงเวลาที่จะต้องบอกลาการเข้าข้างตัวเองว่า “นี่ฉันคิดอย่างนี้ของฉันอยู่คนเดียว” ได้แล้ว และมองทั้งโลกและตัวเองให้ชัดยิ่งขึ้นนะครับ เพราะสุดท้ายแล้วเราก็เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมตัวเล็กๆ ตัวหนึ่งในโลกใบนี้ ที่กลไกทางความคิดในวินาทีหนึ่งๆ นั้นถูกประกอบสร้างด้วยสารพัดสารพันสิ่งซ้อนทับอยู่มากมายที่เหนือกว่า ‘ความเป็นตัวของเราเอง’ น่ะครับ
ก็ขอจบบทความที่คิดว่าก็คงมีหลายคนคิดอยู่เหมือนๆ กันลงเท่านี้