ในตอนที่แล้วเราก็ได้กล่าวถึงการลักไก่ในการวาดภาพของศิลปินชั้นครูในยุคโบราณไปแล้ว ไหนๆ ก็ไหนๆ ตอนนี้ก็ขอเลยเถิดไปไกลกว่านั้นหน่อยก็แล้วกัน
ถ้าพูดถึงคำว่า ‘ศิลปะ’ หลายคนอาจจะนึกไปถึงสิ่งที่มีความสวยความงาม มีคุณค่า สูงส่ง สิ่งที่เต็มเปี่ยมไปด้วยสุนทรียะและรสนิยมอันดี สิ่งที่รังสรรค์ขึ้นด้วยน้ำมือของเหล่าผู้สร้างสรรค์ที่ยิ่งใหญ่อย่างเหล่าศิลปินผู้มีฝีมือเป็นเลิศเท่านั้น
แต่ในปัจจุบัน ศิลปะไม่จำเป็นต้องเกี่ยวกับเรื่องราวเหล่านั้นเสมอไป บางครั้งมันพูดถึงความอัปลักษณ์ ความต่ำต้อย และความไร้รสนิยม และบางทีงานศิลปะเหล่านั้นก็ไม่ได้เป็นผลงานที่สร้างสรรค์ขึ้นด้วยน้ำมือของตัวศิลปินเจ้าของงานเองด้วยซ้ำไป บางคนฟังแล้วอาจจะงง ว่า อ้าว ถ้าศิลปินไม่ได้เป็นคนลงมือทำงานเอง แล้วมันจะเรียกว่าศิลปะไปได้ยังไง (วะ?)
อันที่จริงเรื่องแบบนี้ก็ไม่ใช่เรื่องใหม่อะไร เพราะแม้แต่ศิลปินชั้นครูในยุคโบราณบางคน พอโด่งดังมีชื่อเสียง มีออร์เดอร์ภาพวาดจากชนชั้นนำและเศรษฐีมีทรัพย์เข้ามาจนทำไม่หวาดไม่ไหว มากๆ เข้าก็ต้องใช้ลูกศิษย์ลูกหาทำหรือจ้างวานลูกมือช่วย ศิลปินอย่าง เรมบรันต์ (Rembrandt) เองก็มีสตูดิโอขนาดใหญ่ที่มีลูกศิษย์ลูกหาหลายสิบคน ซึ่งส่วนใหญ่ทำงานให้เรมบรันต์ หรือวาดรูปเลียนแบบสไตล์ของเขา เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้ซื้องานศิลปะที่ต้องการครอบครองภาพวาดของเรมบรันต์ แต่มีเบี้ยน้อยหอยน้อยเกินกว่าจะซื้อผลงานของแท้ได้
และถึงแม้การทำงานศิลปะในลักษณะนี้จะเป็นเรื่องปกติธรรมดาในวงการศิลปะร่วมสมัยในโลกปัจจุบัน แต่อย่างไรก็ตาม มันก็ยังไม่เป็นที่ยอมรับและเข้าใจในหมู่คนทั่วไปอยู่ดี เรามาดูที่มาที่ไปและตัวอย่างของการทำงานศิลปะที่ศิลปินไม่ได้ทำงานศิลปะเหล่านั้นเองกันเถอะ
นับตั้งแต่ครั้งที่ศิลปินชาวฝรั่งเศสอย่าง มาร์แซล ดูชองป์ คิดค้นศิลปะแนวทางใหม่ที่เรียกว่า readymades ซึ่งเป็นการนำเอาวัตถุและข้าวของธรรมดาที่เราพบเห็นในชีวิตประจำวันมาทำให้กลายเป็นศิลปะ ด้วยการหยิบเอาของสำเร็จรูปที่หาซื้อได้ตามร้านค้าทั่วๆ มานำเสนอเป็นผลงานศิลปะโดยแทบจะไม่ได้ปรุงแต่งหรือเปลี่ยนแปลงอะไรเลยแม้แต่น้อย
ผลงานที่โด่งดังที่สุดของเขาในแนวทางนี้คือ Fountain (1917) โถฉี่กระเบื้องเคลือบสีขาวหน้าตาธรรมด๊าธรรมดาที่เขาซื้อมาจากร้านขายสุขภัณฑ์ เอามาวางนอนหงายอยู่บนแท่นโชว์ ซึ่งเป็นผลงานที่ดูชองป์ส่งเข้าไปร่วมแสดงในนิทรรศการศิลปะของสมาคมศิลปินอิสระในนิวยอร์ก (Society of Independent Artists) โดยใช้นามแฝงและเซ็นชื่อบนโถฉี่ใบดังกล่าวด้วยชื่อปลอมว่า R. Mutt ซึ่งนับเป็นการท้าทายค่านิยมเดิมๆ ของวงการศิลปะ รวมถึงท้าทายสถาบันศิลปะอันทรงเกียรติในสมัยนั้นเป็นอย่างมาก (แม้ผลงานชิ้นนี้จะถูกคัดทิ้งในทันที) มันแสดงให้เห็นว่า สิ่งใดก็ตามที่ศิลปินเห็นว่ามันมีคุณค่าพอที่จะเป็นศิลปะ สิ่งนั้นก็สามารถเป็นศิลปะได้ ไม่ว่ามันจะเป็นสิ่งของต่ำต้อยด้อยค่าแค่ไหนก็ตาม ซึ่งนั่นหมายความว่า สิ่งที่สำคัญสำหรับการเป็นศิลปะไม่ใช่ตัวศิลปะวัตถุ หากแต่เป็นความคิดของศิลปินมากกว่า
ด้วยผลงานชิ้นนี้ ดูชองป์ตอกหน้าวงการศิลปะอย่างแรงด้วยการบอกว่า ศิลปินไม่ใช่ผู้สร้างสรรค์ที่ยิ่งใหญ่ และศิลปะไม่ใช่ของวิเศษล้ำค่าอะไร ก็แค่ของโหลๆ ที่ใครก็ซื้อหาได้จากร้านขายสุขภัณฑ์ และการเลือกโถฉี่ มันก็เหมือนบอกเป็นนัยว่า ศิลปะก็เป็นแค่อะไรที่คุณจะเยี่ยวรดมันเท่านั้นแหละ! อันที่จริงแล้วดูชองป์เพียงแค่ต้องการปฏิเสธความงามทางสายตา ทำลายคุณค่าและลดทอนความศักดิ์สิทธิ์สูงส่งของงานศิลปะให้มันกลายเป็นของธรรมดาสามัญ และกระตุ้นเร้าให้คนเลิกเทิดทูนบูชาศิลปะ แต่หันมาครุ่นคิดหาความหมายของมันแทน
ดูชองป์ตั้งคำถามถึงคนทำงานศิลปะในศตวรรษข้างหน้าและอาจจะในศตวรรษต่อๆ ไปว่า ศิลปะคืออะไร? มันควรจะสวยงามและมีความหมายไหม? มันควรจะเป็นสิ่งที่ศิลปินทำได้แต่เพียงผู้เดียวหรือไม่?
หลังจากนั้นในช่วงทศวรรษที่ 60 ที่เกิดการเฟื่องฟูของศิลปะแบบ ‘คอนเซ็ปชวลอาร์ต’ (Conceptual art) ซึ่งเป็นแนวทางศิลปะที่มุ่งนำเสนอกรอบความคิดของศิลปินมากกว่าสุนทรียะหรือความงาม โดยเฉพาะในอเมริกา ยุโรป และกระจายมาถึงเอเชีย ศิลปินประเภทนี้มักทำงานในสื่อหลากหลายประเภท ไม่ว่าจะเป็นการเอาเทคนิคการทำงานศิลปะตามปกติมานำเสนอในรูปแบบที่แตกต่าง หรือแม้แต่การนำเอาเทคโนโลยีสมัยใหม่ เช่น ภาพยนตร์ วิดีโอ คอมพิวเตอร์ มาใช้ทำงาน หรือบางครั้งก็ใช้สิ่งที่ไม่มีความเกี่ยวข้องกับงานศิลปะและไม่น่าจะนำมาใช้ในงานศิลปะได้เลย อย่างของใช้ในชีวิตประจำวันทั่วๆ ไป หรือเหตุการณ์ที่พบเห็นได้ทั่วๆ ไป มานำเสนอในรูปแบบที่แปลกและแตกต่างไปจากธรรมดา และที่สำคัญศิลปินไม่จำเป็นต้องเป็นผู้สร้างสรรค์ผลงานด้วยน้ำมือตัวเองอีกต่อไป
งานศิลปะที่เป็นตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุดของศิลปะแนวทางนี้คือ One and Three Chairs (1965) ของศิลปินชาวอเมริกัน โจเซฟ โคซุธ (Joseph Kosuth) ซึ่งเจ้าเก้าอี้ที่ว่านี้ ตัวศิลปินเองก็ไม่ได้เป็นคนทำขึ้นมา หรือแม้แต่เป็นคนเลือกมาจัดแสดงด้วยตัวเองด้วยซ้ำไป หากแต่ยกหน้าที่ให้กับภัณฑารักษ์ เจ้าหน้าที่ของหอศิลป์ หรือทีมงานของพิพิธภัณฑ์เป็นคนเลือกเก้าอี้แทน
ด้วยเหตุนี้เอง สิ่งที่ถูกส่งต่อเพื่อนำไปจัดแสดงในที่สถานที่ต่างๆ จึงไม่ใช่ตัววัตถุอย่าง ผลงานศิลปะ (หรือ ‘เก้าอี้’) หากแต่เป็น ‘ความคิด’ ของศิลปินต่างหาก ที่เจ๋งไปกว่านั้นคือศิลปินไม่จำเป็นต้องขนส่งผลงานศิลปะของเขาไปแสดงที่ไหนต่อไหนให้เมื่อยตุ้ม หากแต่เพียงส่ง ‘ความคิด’ ของเขาไปแสดงมากกว่า นับเป็นความสะดวกและประหยัดในการทำงานศิลปะเป็นอย่างมาก เพราะความคิดย่อมมีน้ำหนักเบาและส่งไปที่ต่างๆ ได้ง่ายกว่าศิลปะวัตถุชิ้นใหญ่ๆ เป็นไหนๆ จริงไหม?
หรือแนวทางศิลปะในช่วงยุค 1960 และต้น 1970 อย่าง มินิมอลลิสม์ (Minimalism) คืองานที่ใช้เทคนิคการผลิตหรือเครื่องไม้เครื่องมือจากโรงงาน ไม่ว่าจะเป็นกล่องสี่เหลี่ยมที่เนี้ยบกริบ ไฟนีออน ฯลฯ ช่วง 1960 ศิลปินอเมริกันหลายคนอย่าง โทนี สมิธ (Tony Smith), โซล เลวิตต์ (Sol LeWitt), คาร์ล อังเดร (Carl Andre), แดน ฟลาวิน (Dan Flavin) และ โดนัลด์ จัดด์ (Donald Judd) ที่ทำงานในแนวทางนี้ พวกเขาไม่จำเป็นต้องลงมือทำงานด้วยตัวเองด้วยซ้ำ แต่ทำงานด้วยการโทรไปสั่งโรงงาน หรือส่งแบบสเก็ตซ์ให้ช่างผลิตขึ้นมาให้
ที่พวกเขาทำงานแบบนี้ก็เพราะต้องการละทิ้งอารมณ์ความรู้สึกในการทำงานศิลปะ ซึ่งเป็นปฏิกิริยาต่อต้านงานศิลปะแบบ แอ็บสแตร็กเอ็กซ์เพรสชั่นนิสม์ (Abstract expressionism) ที่เฟื่องฟูในอเมริกาในยุคก่อนหน้านั้น ซึ่งทำงานศิลปะด้วยการแสดงออกทางอารมณ์ความรู้สึกเป็นหลัก (ด้วยการ สาดสี เทสี สลัด สะบัดสีลงบนผืนผ้าใบ) จนทำให้ศิลปินรุ่นต่อมาเกิดความเบื่อหน่าย และรู้สึกว่าอารมณ์ความรู้สึกไม่ใช่ทางออกและไม่สามารถสื่อสารความคิดได้ และผลลัพธ์ของมันเป็นแค่ความงามที่เกิดจากความชำนาญเชิงเทคนิค พวกเขาจึงคิดค้นแนวทางการทำงานศิลปะแบบใหม่ที่รับเอาสุนทรียะของผลิตผลในระบบอุตสาหกรรมมาใช้
น่าตลกดี ที่การผลิตซ้ำในระบบอุตสาหกรรมซึ่งเคยเป็นศัตรูกับงานศิลปะในยุคหนึ่ง กลับกลายเป็นกระบวนการที่ใช้ในการหาทางออกใหม่ๆ ให้กับศิลปะในอีกยุคหนึ่งแทน
และงานศิลปะในช่วงยุคใกล้เคียงกันก็ได้รับอิทธิพลจากความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีในโลกสมัยใหม่ที่ทำให้เกิดการพัฒนาของสื่อสารมวลชน และวัฒนธรรมสมัยนิยมและบริโภคนิยมอย่าง ป๊อปอาร์ต (Pop art) ที่ถือกำเนิดในยุค 1950 เองก็ใช้กระบวนการทำงานแบบเดียวกับระบบอุตสาหกรรม งานพาณิชย์ศิลป์และงานโฆษณา เช่น การสร้างงานด้วยเทคนิคภาพพิมพ์ซิลค์สกรีน ที่ทำให้สามารถผลิตผลงานได้คราวละมากๆ ซึ่งศิลปินก็ไม่จำเป็นต้องลงมือทำงานด้วยตัวเองอีกเหมือนกัน
ศิลปินป๊อปอาร์ตชื่อดังชาวอเมริกันอย่าง แอนดี วอร์ฮอล (Andy Warhol) ก็เป็นอีกคนที่ใช้เทคนิคนี้ในการทำงานอย่างเป็นล่ำเป็นสัน เขาเปิดสตูดิโอขึ้นที่โรงงานเก่าแห่งหนึ่งในนิวยอร์ก และเรียกมันว่า The Factory ซึ่งทีมงานของวอร์ฮอลร่วมกันผลิตผลงานมากมาย ไม่ว่าจะเป็นภาพวาด ภาพพิมพ์ซิลค์สกรีน ประติมากรรม ฯลฯ มีครั้งหนึ่งนักข่าวไปสัมภาษณ์วอร์ฮอลที่ The Factory ออกโทรทัศน์ และถามเขาเกี่ยวกับวิธีการทำงาน เขาตอบว่า “ไม่รู้ ผมไม่ได้ทำเองหรอก ผู้ช่วยผมเป็นคนทำทั้งนั้น” แล้วก็หันไปถามผู้ช่วยที่นั่งอยู่ข้างๆ เขาว่า “เธอทำยังไงเหรอ?” (ซึ่งอันที่จริงเขาก็ทำเป็นแหละ แต่แค่เล่นมุกไปอย่างงั้นเอง)
หรือศิลปินป๊อปอาร์ตชาวอเมริกันชื่อดังในยุคถัดมาอย่าง เจฟฟ์ คูนส์ (Jeff Koons) ผู้ทำงานศิลปะโดยนำเอาวัตถุและข้าวของที่พบเห็นเกลื่อนกลาดดาษดื่นในวัฒนธรรมป๊อปปูลาร์มาผลิตซ้ำด้วยรูปแบบและวัสดุที่แตกต่างไปจากเดิม เช่น ลูกโป่งที่บิดเป็นรูปสัตว์ต่างๆ ที่เรามักเห็นตัวตลกทำแจกเด็กๆ ตามงานเทศกาล หรือตุ๊กตาเป่าลม ได้ถูกนำมาทำด้วยวัสดุใหม่อย่างสแตนเลสขัดเงาผิวมันวับ ในขนาดใหญ่มหึมา หรือของชำร่วยโหลๆ อย่างตุ๊กตากระเบื้องเคลือบที่ขายถูกๆ ตามสถานที่ท่องเที่ยว ก็ถูกเอามาทำเป็นประติมากรรมขนาดใหญ่กว่าเดิมหลายเท่า แถมยังมีสตูดิโอผลิตภาพวาดและงานประติมากรรมในเมืองเชลซีอีก
ที่ใช้คำว่า ‘ผลิต’ ก็เพราะ ในสตูดิโอแห่งนี้เต็มไปด้วยผู้ช่วยทำงานศิลปะที่เชี่ยวชาญในการวาดภาพ ทำงานประติมากรรม ช่างอุตสาหกรรม และคนทำงานสร้างสรรค์ในแขนงต่างๆ กว่า 140 คน ที่ง่วนผลิตงานศิลปะจำนวนนับร้อยชิ้นให้เขาในคราวเดียว โดยที่คูนส์ไม่จำเป็นต้องลงมือทำงานด้วยตัวเองเลยแม้แต่ปลายนิ้วก้อย เขาแค่ทำหน้าที่เป็นมันสมองคอยสั่งการ และสายตาที่คอยดูแลตรวจสอบภาพรวมของการผลิตทั้งหมด แบบนี้ถ้าไม่เรียกว่า โรงงานผลิตศิลปะ ก็ไม่รู้ว่าจะเรียกว่าอะไรแล้วละนะ!
ศิลปินร่วมสมัยชาวจีนผู้ทรงอิทธิพลที่สุดในยุคนี้อย่าง อ้าย เว่ยเว่ย (Ai Weiwei) เอง ก็ไม่ใช่ศิลปินเดี่ยวหรือจิตรกรที่สร้างสรรค์ผลงานขึ้นมาจากอัจฉริยภาพของศิลปินเพียงคนเดียว งานศิลปะของเขาไม่สามารถทำได้โดยปราศจากการสนับสนุนจากคนรอบข้าง ยกตัวอย่างเช่น ผลงาน Sunflower Seeds (2010) ที่ประกอบด้วยเมล็ดทานตะวันทำจากกระเบื้องเคลือบเขียนลายด้วยมือทีละเมล็ดๆ จำนวน 8 ล้านเมล็ด จัดแสดงใน Turbine Hall พิพิธภัณฑ์ Tate Modern ลองคิดดูว่าถ้าพี่อ้ายเขาต้องลงมือทำงานชุดนี้ด้วยตัวเองคนเดียว ชาตินี้เขาจะทำเสร็จไหม?
หรือแม้แต่ศิลปินของไทยอย่าง นาวิน ลาวัลย์ชัยกุล ก็เช่นกัน ด้วยความที่ผลงานของเขามีขอบเขตในการนำเสนอที่กว้างขวางและหลากหลาย ต้องผลิตซ้ำผลงานศิลปะในจำนวนมาก (Multiple art) มันจึงไม่ใช่การทำงานแบบศิลปินเดี่ยวที่ต้องพึ่งพาความสามารถหรืออัจฉริยภาพของศิลปินในการสร้างสรรค์ผลงานแต่เพียงผู้เดียว ซึ่งแน่นอนว่านาวินไม่ได้เป็นคนลงมือวาดภาพหรือทำงานศิลปะของเขาด้วยตัวเอง แต่เป็นการร่วมมือร่วมใจของทีมงานหลายฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นจิตรกร ประติมากร นักวาดการ์ตูน นักออกแบบกราฟิก นักออกแบบผลิตภัณฑ์ ช่างภาพ ไปจนถึงสถาปนิก นักแต่งเพลง นักดนตรี ผู้กำกับหนังและมิวสิกวิดีโอ ฯลฯ
ยิ่งไปกว่านั้นทีมงานผลิตศิลปะของนาวินยังเป็นองค์กรที่ถูกตั้งขึ้นในรูปแบบบริษัทจดทะเบียนอย่างถูกต้องตามกฎหมายในชื่อ บริษัท นาวิน โปรดักชั่น จำกัด อีกด้วย ซึ่งน่าจะเป็นบริษัทศิลปะจำกัดบริษัทแรกและบริษัทเดียวในประเทศไทยเลยก็ว่าได้ แรกเริ่มเดิมทีนาวินเพียงแค่อุปโลกน์ชื่อบริษัทสมมตินี้ขึ้นเพื่อทำโครงการศิลปะเป็นการชั่วคราว ในเวลาต่อมาเมื่อสเกลงานของเขาใหญ่และหลากหลายขึ้น ต้องพึ่งพาผู้เชี่ยวชาญในแต่ละสาขามากขึ้น จึงเริ่มรับทีมงานเข้ามาทำงานประจำเพื่อรองรับโครงการศิลปะอันหลากหลาย
จนในปี 2008 เขาจึงตัดสินใจจดทะเบียนบริษัท เพราะนอกจากจะมีฝ่ายผลิต จัดเก็บดูแลรักษาผลงานศิลปะที่เปี่ยมประสิทธิภาพแล้ว ทีมงานของเขาก็เริ่มมีฝ่ายประชาสัมพันธ์ ฝ่ายบัญชี ธุรการ มีการจ่ายภาษี มีระบบประกันสังคมให้กับทีมงาน วิธีการบริหารองค์กรของเขาก็มีความเป็นระบบไม่ต่างอะไรกับบริษัทจริงๆ ไม่ว่าจะเป็นการบริหารจัดการองค์กร ไปจนถึงการบรรจุหีบห่อ การขนส่ง การชิปปิ้งงานศิลปะออกนอกประเทศ ซึ่งเปี่ยมประสิทธิภาพไม่แพ้บริษัทหรือองค์กรพาณิชย์ทั่วไปเลยด้วยซ้ำ จะต่างกันก็ตรงที่ นาวิน โปรดักชั่น เป็นองค์กรที่ผลิตงานศิลปะร่วมสมัยที่มีนาวินเป็นผู้กำหนดทิศทางขององค์กรเหมือนกับซีอีโอ เปรียบเทียบง่ายๆ ว่าถ้า นาวิน โปรดักชั่น เป็น Apple นาวิน ลาวัลย์ชัยกุล ก็ไม่ต่างอะไรกับ สตีฟ จ็อบส์ นั่นแหละนะ
ล่าสุด ในปี 2015 นาวินเปิด StudiOK ขึ้นในจังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งนอกจากจะเป็นสตูดิโอผลิตผลงานศิลปะแห่งใหญ่แห่งใหม่ของเขาแล้ว มันยังเป็นที่พักอาศัยของเขาและทีมงาน เป็นสถานที่จัดเก็บผลงาน และเป็นพื้นที่แสดงงานศิลปะของเขาอีกด้วย
เมื่อพูดถึงการผลิตงานศิลปะ ในอีกแง่หนึ่ง ประเทศไทยเราก็เป็นแหล่งผลิตงานศิลปะชั้นดีในตลาดสากลด้วยเหมือนกัน ซึ่งศิลปินผู้มีชื่อเสียงระดับโลกหลายต่อหลายคนต่างก็ว่าจ้างผู้ผลิตและช่างฝีมือผู้เชี่ยวชาญชาวไทยผลิตผลงานศิลปะไปแสดงในนิทรรศการระดับโลกมาแล้วทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็นศิลปินอย่าง โอลาฟัว เอลีย์เอสซัน (Olafur Eliasson) หรือ โทเบียส เรห์แบร์เกอร์ (Tobias Rehberger) เป็นอาทิ
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผลงานในชุด art-car series ของ โทเบียส เรห์แบร์เกอร์ ที่ทำการจำลองรถซูเปอร์คาร์สุดหรูอย่าง McLaren F1, Porsche 911, Mercedes-Benz และ Renault Alpine ขึ้นมาใหม่ด้วยฝีมือของช่างผลิตรถยนต์ชาวไทย ด้วยการสั่งงานทางโทรศัพท์ และส่งแบบสเก็ตซ์คร่าวๆ จากความทรงจำเท่านั้น ที่เขาทำเช่นนี้เพราะเขาต้องการสร้างรถยนต์ที่มีความเป็นประติมากรรมในตัวของมันเอง และต้องการตั้งคำถามถึงแนวคิดเกี่ยวกับของแท้และของลอกเลียนแบบ รวมถึงเป็นการตีความรถซูเปอร์คาร์ยอดนิยมเหล่านี้ขึ้นมาใหม่จากจินตนาการของตัวศิลปินและความเข้าใจของช่างชาวไทยผู้สร้างรถยนต์เลียนแบบเหล่านี้ขึ้นมา
หนำซ้ำเขายังตั้งชื่อรถตามชื่ออาหารไทยที่เขาโปรดปรานอย่าง ยำกุนเชียง (Yam Koon Chien) และ ทอดมันปลา (Tod Man Plaa) อีกด้วย อะไรมันจะขนาดนั้น!
อ้างอิงข้อมูลจาก
- Elizabeth Lunday. 2008. Screat Lives of Great Artists: What Your Teachers Never Told You About Master.
- ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์. ART IS ART, ART IS NOT ART อะไร (แม่ง) ก็เป็นศิลปะ. สำนักพิมพ์แซลมอน
- ปราบดา หยุ่น. กระทบไหล่เขา. สำนักพิมพ์ระหว่างบรรทัด