“Live hard, not die yet” คือประโยคที่ขอบังอาจแต่งขึ้นใหม่ เพื่อมอบให้ศิลปินป๊อปอาร์ตที่เรารักงานวาดของเขาโดยเฉพาะในยุคหลังๆ มากเหลือเกิน
ชีวิตของ David Hockney นั้นน่าทึ่งและชวนฉงน บุหรี่และกัญชาไม่ได้ทำให้เขาอายุสั้นลง แม้แต่โรคหลอดเลือดในสมองก็ไม่อาจทำให้เขาหยุดทำงานได้ มีเพียงสองสิ่งที่สามารถหยุดเขาจากการวาดภาพ นั่นคือ หนึ่ง การไปศึกษาลงลึกเรื่องเทคนิคของศิลปินยุคเก่า และ สอง ความตายของผู้ช่วยวัยหนุ่มในบ้านของเขาเอง
—นอกจากสองครั้งนั้นแล้ว ฮอกนีย์ยังคงวาดรูปทุกวัน กับทั้งโอบรับเอาเทคนิคใหม่ๆ ของยุคสมัยมาใช้เสมอ ราวกับเด็กรุ่นๆ ที่การตามหาแก่นในการทำงานนั้นคือของหวาน
ณ ปี 2017 นี้ ฮอกนี่ย์มีอายุครบ 80 ปี เขาเลิกปาร์ตี้ไปนานแล้ว (มีใช้กัญชาอยู่บ้าง โดยมีใบอนุญาตจากแพทย์) หูใกล้จะหนวกจนต้องใช้เครื่องช่วยฟัง ไม่ค่อยออกจากบ้าน แต่ไม่เคยเอาชีวิตออกห่างจากศิลปะ ภาพวาดของเขาแม้ในวัยแก่เฒ่าก็ยังคงเต็มไปด้วยสีสันแบบฮอกนี่ย์ สดใสและดูเปี่ยมสุข
ภาพที่ยกมาด้านบนไม่สามารถจำกัดความงานของฮอกนี่ย์ได้ทั้งหมดแน่ๆ เพราะเขาทำงานมาหลากหลายทั้งด้วยเทคนิคและแนวทาง ตั้งแต่ภาพวาดที่ก็มีหน้าตาต่างกันไปในแต่ละช่วงเวลา งานคอลลาจจากภาพถ่ายโพลารอยด์ รวมถึงงานที่เขาวาดโดยใช้ไอโฟน หรือไอแพด ที่สร้างข้อถกเถียงได้ไม่น้อยว่านี่คือศิลปะที่ควรแก่การยกย่องว่าดีหรือไม่ แต่ใครจะแคร์ เขาก็ลองของเขาไปเรื่อยๆ อย่างนี้มาตั้งแต่ต้นอยู่แล้ว
หากย้อนกลับไป งานยุคแรกๆ ของฮอกนี่ย์มีกลิ่นอายแอ็บสแตร็กเอ็กส์เพรสชั่นนิสม์แบบแจ็คสัน พ็อลล็อก และคิวบิสม์แบบปิกัสโซ่ เมื่อเวลาผ่านเขาเริ่มหันเข้าสู่เรียลลิสติก รูปทรงเรขาคณิต ลดมิติลงจนแบน หรือเล่นกับสถาปัตยกรรมแบบโมเดิร์นในยุค mid-century ทุกอย่างถูกทำให้ดูง่าย มินิมัล ในช่วงที่เขาหลงรักแคลิฟอร์เนียหัวปักหัวปำ
แต่ก่อนอื่นเราอยากเล่าเรื่องเขาโดยเริ่มจากลอนดอนเสียก่อน
London
ฮอกนีย์เกิดเมื่อวันที่ 9 กรกฏาคม ปี 1937 ที่เมืองแบรดฟอร์ด ประเทศอังกฤษ เขาเป็นลูกคนที่ 4 จากทั้งหมด 5 คน ครอบครัวของเขาค่อนข้างสงบงาม แต่กระนั้น ดูเหมือนว่าเด็กชายอย่างเขาจะไม่เหมาะกับเมืองห่างไกลอย่างแบรดฟอร์ด ที่นั่นทำให้เขากระอักกระอ่วนกับการเปิดเผยความเป็นเกย์ของตน แถมยังไม่มีอะไรให้ค้นหามากนักสำหรับความรักในศิลปะ จนกระทั่งย้ายเข้าลอนดอนเพื่อเรียนที่โรงเรียนศิลปะ Royal College of Art (RCA) และที่นั่น ฮอกนีย์ได้เติบโตเบ่งบาน
ระหว่างเรียน เขาได้ลงลึกกับศิลปะและพบสังคมเพื่อนเพศเดียวกัน ที่ซึ่งได้เป็นตัวเองอย่างที่สุด ขณะนั้นก็เริ่มทำงานจริงจังชุดแรกๆ ในแนวเอ็กส์เพรสชันนิสม์
ภาพของเขาในช่วงนั้นสะท้อนความขบถของวัยรุ่นได้เป็นอย่างดี ที่โดดเด่นสุดก็เห็นจะเป็น Adhesiveness (1960) ที่เป็นภาพตัวการ์ตูนชายกำลังทำออรัลเซ็กส์ให้อีกฝ่าย และ We Two Boys Together Clinging (1961) ที่เป็นภาพสองหนุ่มกอดรัดฟัดเหวี่ยงสุดหฤหรรษ์ ซึ่งทั้งหมดนี้คือการประกาศจุดยืนอย่างกล้าหาญ เพราะในช่วงเวลานั้น การเสพสมเพศเดียวกันยังเป็นเรื่องผิดกฎหมายในอังกฤษ
ความขบถของฮอกนีย์เมื่อวัยรุ่นยังไม่หมดแค่นั้น เพราะในปี 1962 เขาก็ปฏิเสธที่จะเขียนคำร้องเพื่อยื่นสอบปลายภาค เพราะต้องการให้ทางโรงเรียนประเมินกันที่ตัวผลงานเท่านั้น และเมื่อตอนแรก RCA ไม่ยอมให้เขาจบการศึกษา ฮอกนีย์ก็วาดเล่นบนในประกาศนียบัตร กลายเป็นงานชื่อ The Diploma เพื่อประท้วงมันซะเลย
Los Angeles, California
อย่างไรก็ตาม เขาเรียนจบและย้ายไปอยู่ที่เมืองลอสแองเจลิส รัฐแคลิฟอร์เนียในปี 1963 พร้อมเริ่มอาชีพศิลปินเต็มตัวที่นั่น
สไตล์ภาพของเขาหลังจาก We Two Boys Together Clinging ยังคงมีความเอ็กส์เพรสชันนิสม์หน่อยๆ ระหว่างนั้นยังมีการใส่เอเลเมนท์แบบอียิปต์เข้าไปด้วย จนในที่สุดก็คลี่คลายไปทางที่ดูเรียลมากขึ้น ความเปลี่ยนแปลงแรกที่เห็นได้ชัดคือภาพ Domestic Scene (1963) ที่เขาวาดเป็นชิ้นสุดท้ายก่อนย้ายไปลอสแองเจลิส เป็นภาพชายสองคนอาบน้ำด้วยกัน และในเมสเสจเดิมนั้น วิธีการวาดของเขาเปลี่ยนไปมากทีเดียว
ในเมืองที่สภาพอากาศต่างกับลอนดอนโดยสิ้นเชิง แคลิฟอร์เนียปลุกเร้าจิตวิญญาณของเขา ด้วยบรรยากาศแบบเวสต์โคสต์ ที่เขานิยามว่าเป็น ‘อเมริกาที่ได้กลิ่นอายเมดิเตอเรเนียนเข้าไปด้วย’ และสระว่ายน้ำกับบ้านยุคมิดเซ็นยูรี่ ก็น่าจะเป็นที่ที่ดื่มด่ำกับบรรยากาศเหล่านั้นได้ดีที่สุด งานชุด California Dreaming ของเขาคือเครื่องยืนยัน
ในงานชุดนี้เขาวาดภาพ splash หรือน้ำกระเซ็นซาบซ่านไว้ 3 ภาพด้วยกัน ที่โด่งดังที่สุดและกลายเป็นภาพจำของเขาก็คือ A Bigger Splash (1967) ที่ดูน้อยแต่มาก โดยเขาใช้เวลาวาดภาพตัวน้ำที่สาดกระเซ็นเป็นเส้นสีขาวถึง 2 สัปดาห์ เพื่อบันทึกชั่วขณะที่ใครบางคนกระโจนลงสู่ความสำราญของสายน้ำ ซึ่งสิ่งนั้นเกิดขึ้นเพียงชั่ววินาที แต่เขาอยากวาดมันให้ช้าที่สุดเท่าที่จะทำได้ และแม้เราจะไม่เห็นตัวคนในภาพนั้นแม้แต่เศษเสี้ยวเดียว แต่ splash ที่เขาทิ้งเอาไว้ก็แสดงชีวิตชีวาได้อย่างทรงประสิทธิภาพ
ส่วนอีก 2 ภาพในเซ็ตก็ยังคงความในที่อยู่กับเขาตลอดมา นั่นคือภาพชายเปลือยด้านหลังที่แช่อยู่ในสระน้ำครึ่งตัว กับอีกภาพที่ชายคนหนึ่งจากริมสระ จ้องมองใครอีกคนที่ว่ายน้ำอยู่
นอกจากแลนด์สเคปแบบอเมริกันทำให้เขาทึ่ง ละพยายามค้นหาไม่รู้จักจบสิ้น แลนด์สเคปในที่อื่นๆ ก็ดึงดูดเขาด้วยเหมือนกัน มีช่วงหนึ่งที่ฮอกนี่ย์กลับไปบ้านเกิดเพื่อวาดภาพทัศนียภาพอันงดงามของที่นั่น บางครั้งเขาขับรถตะลุยไปหลายไมล์ เพียงเพื่อจะจดจำหนทางโดยรอบแล้วกลับมาวาดภาพแลนด์สเคปแบบเบิร์ดอายวิว หรือแม้แต่ในวัยชราก็ตาม แลนด์สเคปรอบๆ ตัวก็เป็นสิ่งที่เขาหยิบมาวาดได้ตลอด โดยระเบียงบ้านของเขาเองก็กลายเป็นมาสเตอร์พีซอีกหนึ่งชิ้นที่ตอกย้ำว่าไฟศิลปินไม่เคยเหือดแห้ง
Lost Techniques of the Old Masters
นอกจากทัศนียภาพและบรรยากาศที่จับใจ ฮอกนี่ย์ยังคลั่งไคล้เทคนิคของศิลปินยุคเก่ามากนัก เช่นที่เขาพูดถึงงานแสงในภาพ Judith Beheading (1599) ของคาราวัจโจ (Caravaggio) ว่าเป็นผู้ให้กำเนิดการจัดแสงแบบฮอลลีวูด “แสงในภาพนั้นไม่ใช่แสงธรรมชาติ ไม่มีดวงอาทิตย์ดวงไหนที่จะส่องสว่างบนร่างหญิงสาวแล้วให้เงาที่มืดขนาดนั้นด้านหลัง มีแต่แสงในภาพยนตร์เท่านั้นที่ทำได้”
เขายังเกิดข้อสงสัยอื่นๆ เกี่ยวกับเทคนิคในงานเก่า เช่นว่า “ทำไมภาพเขียนของพวกเขาเหล่านั้นถึงเต็มไปด้วยรายละเอียดที่สมจริงและมีชีวิตชีวาราวกับภาพถ่าย” ในขณะที่ศิลปินยุคนี้รวมทั้งตัวเขาเองยังคงเจอปัญหาในการสร้างรายละเอียดให้ได้ระดับนั้น
ความสนใจนี้ทำให้เขาเริ่มศึกษาอย่างจริงจัง ร่วมกับชาร์ลส์ เอ็ม. ฟัลโก ผู้เชี่ยวชาญด้านแสงและการมองเห็น ก่อนจะตีพิมพ์ออกมาเป็นหนังสือ Secret Knowledge: Rediscivering the Lost Techniques of the Old Masters และในช่วงปี 2000s ตอนที่เขาไปทำการค้นคว้าเพื่อเขียนหนังสือเล่มนี้เอง ฮอกนีย์ถึงกับประกาศวางพู่กัน หยุดเขียนภาพในเทคนิคของตัวเอง เพื่อทุ่มเวลาในการค้นคว้าของตน
จากการเพียรแกะรอยวิธีเขียนภาพจากทีละชั้นสี บวกกับสายตาและความเข้าใจในการวาดภาพที่มาจากการฝึกปรือชั่วชีวิต เขาก็พบว่าศิลปินยุคเก่าน่าจะใช้กล้องอ็อบสคูร่าและเลนส์ขนาดใหญ่เข้ามาช่วยในการส่องดูภาพจริงแล้วสเกลมันอยู่ในกรอบใกล้ๆ ดวงตาเพื่อให้ง่ายต่อการจำลองภาพนั้นมาอยู่บนเฟรมผ้าใบมากขึ้น
ข้อมูลใหม่ที่เขาค้นพบ แม้จะทำให้คนมีมุมมองศิลปินต่อยุคเก่าที่เปลี่ยนไปว่าแอบใช้วิธีลักไก่สร้างงานมาสเตอร์พีซหรือเปล่า แต่สำหรับฮอกนีย์ผู้หลงใหลการใช้เทคนิคและแทคติกของแต่ละยุคสมัย เขาน่าจะมองว่านี่คือความลับไปสู่การสร้างสรรค์งานศิลป์ที่ยอดเยี่ยมเสียมากกว่า
ที่ผ่านมาจนถึงตอนนี้เขาเองพยายามใช้เทคนิคต่างๆ และสิ่งที่เรียนรู้จากประวัติศาสตร์ศิลปะมาใช้ในงานตัวเองเสมอ อย่างในภาพ Large Interiors, Los Angeles (1988) เขาก็หยิบเอามุมมองแบบคิวบิสม์ที่วาดภาพแต่ละชิ้นส่วนแยกจากกัน เพื่อถ่ายทอดหลากมุมมองให้อยู่ในเฟรมเดียว ทั้งยังลองสนุกไปกับเทคนิคแนวๆ เดียวกับที่ศิลปินรุ่นเก่าใช้กล้องอ็อบสคูร่า
นั่นคือการฉายภาพถ่ายแบบแยกส่วนเป็นตารางลงบนหน้าจอหลายๆ จอ (เหมือนที่เราเห็นในหนังไซไฟทั้งหลาย) แล้ววาดภาพตามหน้าจอทีละส่วน ก่อนจะค่อยนำมาประกอบกันเป็นเฟรมใหญ่ยักษ์ รวมถึงใช้ภาพถ่ายมาคอลลาจเป็นงานศิลป์ที่ดูแปลกตา หรือจะวาดทับลงบนภาพถ่ายไปเลยก็มี
ไม่กี่ปีก่อนฮอกนีย์ก็ตอกย้ำความสนุกกับศิลปะยุคดิจิตัล ด้วยการไปเยือนอุทยานแห่งชาติโยเซมิเต้ (Yosemite) พร้อมกับไอแพดหนึ่งเครื่อง แล้วกลับออกมาพร้อมวาดภาพป่าไม้และขุนเขาที่นั่น หรือในการวาดภาพพอร์ทเทรทผู้คนหลายสิบชีวิต เขาก็ใช้เมาส์ปากกาในการร่างภาพก่อนจะเพนท์สีจนออกมาเป็นภาพสไตล์ฮอกนี่ย์ที่แสนจะท้าทายกาลเวลา
Life—Laugh
แค่งานของเขาก็เล่าไม่หมดแล้ว แต่หากจะไม่พูดถึงแง่มุมในการใช้ชีวิตของฮอกนี่ย์ด้วยเสียหน่อยก็คงจะนับว่าพลาด แน่นอนว่าคนป๊อปๆ อย่างเขาใช้ชีวิตได้คุ้มมากทีเดียว เขาให้ความสำคัญกับเสียงหัวเราะและอารมณ์ขัน แถมมุมมองที่เขามีต่อสิ่งต่างๆ ก็แซ่บชนิดยากจะหาใครเทียบ อย่างเช่นว่า “เกย์สมัยนี้มัวแต่แคร์เรื่องจะ fit-in กับสังคม แต่ผมไม่สน” หรือ “โลกเสรีไม่มีคำว่าปราศจากบุหรี่ โลกเสรีไม่มีคำว่าปราศจากยาเสพติด” เป็นต้น
ในยุค 60s เขาคือแกงค์เดียวกับแอนดี้ วอร์ฮอลและศิลปินชื่อดังแห่งยุคนั้น ฮอกนี่ย์แต่งตัวเก๋ สูบบุหรี่จัดมาตลอด 60 ปี (เขาทำหน้าเหยเกเมื่อนักข่าวจาก The Guardian ผู้ไปสัมภาษณ์ถึงบ้านบอกเขาว่าเลิกบุหรี่แล้ว) เขาบอกเสมอว่าบุหรี่ไม่เคยฆ่าใคร เขาเองมีอายุยืนกว่าพ่อของเขาที่เป็นนักต้านบุหรี่เสียอีก และเขายังมีความสัมพันธ์อันดีกับกัญชา โดยมีใบอนุญาตจากแพทย์เรียบร้อย
ยิ่งกว่านั้นฮอกนี่ย์รักษาความสัมพันธ์กับผู้คนได้อย่างน่าอิจฉา เขาทำงานกับคนรักเก่าที่คบกันกว่า 10 ปี แล้วยังเป็นพาร์ทเนอร์ทำงานอาร์ตด้วยกันต่ออีก 40 ปี โดยที่ต่างฝ่ายก็ไปมีความสัมพันธ์ครั้งใหม่เรียบร้อยแล้ว
และภายใต้ความเปรี้ยวและอารมณ์ทะเล้น เราเชื่อว่าฮอกนี่ย์ออกจะอ่อนไหวในเรื่องความสัมพันธ์ เมื่อความตายของอีเลียต ผู้ช่วยวัย 23 ส่งผลกระทบจนทำให้เขาหยุดวาดรูปไปได้ถึง 4 เดือน ซึ่งถือว่านานที่สุดที่เคยหยุดตั้งแต่วาดรูปมา (ไม่นับครั้งที่วางแผนเอาไว้แล้วอย่างตอนที่ไปทำการศึกษาเรื่องเทคนิคของศิลปินยุคเก่า)
สิ่งที่พาเขากลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้งก็คือการวาดรูป โดยฮอกนี่ย์เริ่มวาดภาพพอร์เทรทผู้คน และคนแรกที่วาดก็คือ Jean-Pierre Gonçalves de Lima ผู้ช่วยอีกคนหนึ่งของเขา ที่ก็ได้รับผลกระทบทางจิตใจพอๆ กัน จากการตายของอีเลียต—เราจึงไม่อาจแน่ใจได้เลยว่าชีวิตอันยืนยาวของเดวิด ฮอกนีย์ มาจากการอยู่เพื่อทำงาน หรือเขาทำงานเพื่ออยู่กันแน่ แต่ที่รู้แน่ก็คือชีวิตของฮอกนีย์ถูกใช้อย่างคุ้มค่าทุกหยดทีเดียว
อ้างอิง