สำหรับเทศกาล Bangkok Art Biennale ครั้งแรกของเมืองไทยในปี 2018 มีประกาศออกมาแล้วว่า คุณหญิงย่าแห่งวงการ performance art จะมาเยือนหมู่เรา—Marina Abramovic ศิลปินหญิงชาวยูโกสลาเวีย (หรือเซอร์เบียในปัจจุบัน) ผู้อยู่กับศิลปะแขนงนี้มาตั้งแต่ยุค 70s
ที่ต้องเรียกว่าคุณหญิงย่าก็เพราะงานเพอร์ฟอร์มของเธอเล่นกับสภาวะของร่างกายและจิตวิญญาณมนุษย์ได้อย่างถึงแก่น โดยมารินาเป็นที่รู้จักในวงกว้างจากงานชุด ‘Rhythm’ หมายเลขต่างๆ (ในช่วงปี 1973-1974) และ ‘Works with Ulay’ (ในช่วงปี 1976-1988) ซึ่งเป็นการร่วมงานกับคนรักในช่วงเวลานั้นของเธอ อย่างอูไล (Ulay หรือชื่อจริง Frank Uwe Laysiepen) ศิลปินชาวเยอรมัน ที่จนถึงปัจจุบันน่าจะมีความสัมพันธ์ hate/love กันอยู่กลายๆ
มารินายังมีผลงานอีกมากที่แสดงเดี่ยวและร่วมกับอูไล อย่างน้อยภาพชาย-หญิงที่ยืนง้างธนูเข้าหากัน คู่รักที่เชื่อมต่อกันด้วยเส้นผมมัดรวมกันแน่น หรือคู่รักที่กลับมาพบกันหลังจากห่างหายไป 30 ปี (งานสร้าง) ก็น่าจะเป็นที่คุ้นตาหลายคน แต่เหล่านี้ ไม่ใช่ทั้งหมดของเธอแน่ๆ
ก่อนจะเป็นคุณหญิงย่า: เด็กหญิงนักวาด ผู้ถูกไอพ่นจากเครื่องบินทหารเปลี่ยนชีวิต
ก่อนจะเป็นคุณหญิงย่า มารินาคือเด็กสาวครอบครัวแหลกสลายผู้หลงรักการวาดเขียน โดยเธอเรียนศิลปะที่สถาบันศิลปะในโครเอเชีย แต่แล้วในวันที่ท้องฟ้าไม่มีเมฆแม้แต่ก้อนเดียว ขณะที่เธอนอนมองฟ้าเล่นๆ อยู่นั้น ก็มีเครื่องบินทหารหลายลำบินผ่าน ไอพ่นของมันวาดภาพบนท้องฟ้าเป็นเส้นสีขาว เครื่องบินจากไปแล้ว แต่ภาพวาดนั้นยังคงอยู่อีกสักพัก ก่อนจะค่ายๆ จางหายไป เหลือแต่ท้องฟ้าสีฟ้าอีกครั้ง
มารินาเล่าเอาไว้ในคลิปวิดิโอ Marina Abramovic on her Early Years ว่าตอนนั้นเธอยืนขึ้น แล้วบอกกับตัวเองว่าจะไม่เข้าสตูดิโอวาดภาพอีก เพราะสิ่งสำคัญที่สุดไม่ใช่พู่กันหรือผ้าใบ แต่คือคอนเซปต์ เสียมากกว่า
หลังจากนั้นมารินาก็ได้เริ่มต้นสร้าง performance art ในแบบของตัวเอง แล้วครั้งแรกที่ออกแสดงต่อหน้าผู้ชมในช่วงปี 1973 ด้วยงาน Rhythm 10 เธอก็รู้ทันทีว่าร่างกายตัวเองนี่แหละที่จะเป็นอุปกรณ์หลักในงานศิลปะของเธอ
และเหล่านี้คืองาน 6 ชิ้นของมารินา ที่น่าจะบอกเล่าพลังแห่งท่าน รวมถึงเรื่องของความรักความสัมพันธ์ระดับจิตวิญญาณ ที่ไม่แน่ว่าได้กลายเป็น hate/love ไปแล้วอย่างที่เกริ่นไปข้างต้น
1. Artist is Present (2010)
เริ่มกันที่งานซึ่งกลายเป็นไวรัลมาถึงบ้านเราอย่าง Artist is Present ที่จัดแสดง ณ แกลเลอรี่ MoMA ในนิวยอร์ก โดยมารินาท่านจะนั่งเฉยๆ เงียบๆ บนเก้าอี้ แล้วเปิดให้คนดูมาต่อคิวเพื่อนั่งจ้องตากับเธอ และอูไลก็เป็นหนึ่งในคนดูเหล่านั้น
exhibition นี้กินเวลาถึงสามเดือน ระหว่างช่วงทำการแสดงในแต่ละวัน เธอจะนั่งอยู่บนเก้าอี้อย่างนั้นไม่ไปไหน โดยใส่ผ้าอ้อมผู้ใหญ่แทนการลุกไปเข้าห้องน้ำ
ผู้ชมหลายคนบอกว่านี่คือประสบการณ์ทางจิตวิญญาณ บางคนร้องไห้ออกมา บางคนยิ้ม เมื่อได้นั่งจ้องตากับเธอ มารินาเองบอกว่าการจ้องมองนี้เป็นการปฏิสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ที่แท้จริง ที่บางครั้งสังคมได้ทำให้เราออกห่างจากความรู้สึกเหล่านี้ไป
นอกจากนั้นการมองตากันยังสะท้อนให้ผู้ชมได้มองกลับเข้าไปในตัวเองด้วย นั่นเป็นสาเหตุที่หลายคนร้องไห้เพราะการจมลงไปสู่อารมณ์ที่ท่วมท้นภายใน หลายครั้งที่เธอร้องไห้ร่วมไปกับผู้ชมในความเงียบ โดยแทบไม่รู้จักกันด้วยซ้ำ
จนกระทั่งการมาถึงของอูไล—อดีตคนรักและเพื่อนร่วมงานคนสำคัญ และเขาเป็นคนเดียวที่มารินาสัมผัสตัว
เธอยื่นมือออกมาราวกับหลุดจากการแสดง ทั้งคู่จับมือกัน เหตุการณ์นี้ถูกถ่ายเป็นวิดีโอคลิป พร้อมเรื่องราวที่กระจายออกไปว่าที่คือการพบกันครั้งแรกในรอบ 30 ปี
ซึ่งก็อย่างที่หลายคนทราบแล้ว มันไม่จริง แต่คือส่วนหนึ่งของการแสดง แม้ว่าจะเลิกกันไปนานก่อนที่ทั้งคู่จะกลับมาคุยกันแต่นี่ไม่ใช่ครั้งแรก ตลอดเวลาที่ผ่านมา พวกเขายังมีการติดต่อกันบ้าง ในสารคดี The Artist Is Present (2012) ที่พูดถึงการเตรียมงานแสดงชิ้นนี้ของมารินาเองก็ปรากฏภาพว่าในช่วงก่อนแสดงงานวันแรก อูไลได้แวะมาทำอาหารกับเธอที่บ้าน
แต่สำหรับความรู้สึกที่ระเบิดขึ้นภายในระหว่างจ้องตาในการแสดงนั้น ใครจะรู้
2. The Lovers (1988)
มารินาและอูไลมีวันเกิดวันเดียวกันคือ 30 พฤศจิกายน ทั้งคู่พบกันครั้งแรกในช่วงปี 1975
ตอนนั้นมารินาไปที่อัมสเตอร์ดัมเพื่อทำการแสดงออกอากาศทางทีวี และอูไลก็ไปรายการเดียวกัน ทั้งคู่ดึงดูดกันตั้งแต่ครั้งแรกที่พบ
ตอนนั้นอูไลแต่งตัวเป็นผู้หญิงครึ่งซีกผู้ชายครึ่งซีก ช่วงนั้นเขาทำงานภาพถ่ายเป็นหลัก โดยความสนใจหลักอยู่ที่เรื่องเพศสภาพและโลกชีวิตกลางคืน ในขณะที่มารินาทำการแสดง Thomas Lips (หรือ Lips of Thomas) เพื่อทดลองขีดจำกัดของร่างกายและจิตใจมนุษย์ ว่าจะทนทานต่อความเจ็บปวดได้แค่ไหน
หนึ่งในขั้นตอนการทดสอบก็อย่างเช่น เอามีดโกนเฉือนหน้าท้องตัวเองเป็นรูปดาวห้าแฉกและเฆี่ยนตัวเองด้วยแส้ หลังจากการแสดงจบลงอูไลช่วยมารินาทำแผล จากนั้นทั้งคู่สัญญาว่าจะพบกันอีกครั้งที่เมืองปรากซึ่งเป็นกึ่งกลางระหว่างอัมสเตอร์ดัมที่อูไลอยู่และเบลเกรด เมืองบ้านเกิดของมารินา
แน่นอนว่าหลังจากนั้นทั้งคู่ตกหลุมรักกันอย่างถลำลึกและตัดสินใจใช้ชีวิตร่วมกัน งานของพวกเขามักเกี่ยวเนื่องกับความสัมพันธ์และแสดงออกมาอย่างสุดขั้ว ช่วงแรกที่อยู่ด้วยกัน พวกเขาพเนจรบนรถตู้ เดินทางออกแสดงไปเรื่อยๆ ทั่วยุโรป สร้างงานชิ้นสำคัญมากมาย จนถึงช่วงต้นปี 1980 พวกเขาก็กลายเป็นหนึ่งในคู่รักที่ทรงอิทธิพลที่สุดในโลกศิลปะ
แต่ขณะที่ชื่อเสียงพุ่งขึ้นถึงขีดสุด มารินาและอูไลกลับเริ่มมีปัญหา ความคิดหลายอย่างเดินไปคนละทิศละทาง ด้วยความที่เรื่องส่วนตัว, ชีวิตและการทำงานต่างไหลรวมกันไปหมด มันถูกทรีตอย่างศิลปะและการเพอร์ฟอร์มไปเสียหมด กระทั่งการเลิกกันของพวกเขาก็กลายเป็นงานเพอร์ฟอร์ม
The Lovers คืองานที่ทั้งคู่ทำร่วมกันเป็นชิ้นสุดท้าย ทั้งสองคนเดินเท้าตามแนวกำแพงเมืองจีน เริ่มจากปลายคนละฝั่ง โดยอูไลออกสตาร์ทจากทะเลทรายโกบี ส่วนมารินาเริ่มที่ทะเลเหลือง
ต่างฝ่ายต่างเดินคนละ 2500 กิโลเมตร ใช้เวลาทั้งหมดสามเดือน เพื่อมาเจอกันตรงกลางและบอกลากันเป็นครั้งสุดท้าย
คงไม่ต้องอธิบายว่าความรู้สึกที่มีต่อกันนั้นมากมายขนาดไหน ทั้งคู่เลิกติดต่อกันเป็นเวลานานหลายปี แต่ในที่สุดก็กลับมาเป็นเพื่อนกัน และคงปฏิเสธไม่ได้เลย ว่าช่วงเวลาที่อยู่ด้วยกันนั้นเป็นช่วงเวลาสำคัญที่สร้างตัวตนของทั้งคู่ได้มากมายทีเดียว
3. Rest Energy (1980)
อีกหนึ่งในงานชิ้นโด่งดังของมารินา/อูไล ซึ่งในตอนนี้มันกลายเป็นทั้งงาน ilustration และรอยสักบนแขนของใครหลายคนในพินเทอเรส
ตัวงานคือมารินายืนถือคันธนูส่วนอูไลถือลูกศร แล้วทั้งคู่ก็ค่อยๆ ง้างธนู โดยทิ้งน้ำหนักตัวไปทางข้างหลังของตัวเอง ลูกศรถูกเล็งไปที่หัวใจของมารินา ดังนั้น ถ้าเกิดผิดพลาดเพียงนิดเดียวธนูจะพุ่งแทงทะลุอกเธอทันที
ระหว่างการแสดง มีไมโครโฟนเล็กๆ ติดอยู่ที่ตัวของทั้งคู่ทำให้เราได้ยินเสียงหัวใจที่เต้นถี่ขึ้นเรื่อยๆ หลังจากเวลาผ่านไป ซึ่งมารินาเคยให้สัมภาษณ์ว่า เวลาในการแสดงเพียงแค่สี่นาทีกว่าๆ นั้น ยาวนานมากสำหรับเธอ เพราะไม่มีทางรู้ได้เลยว่าลูกศรจะพุ่งทะลุหัวใจเธอขึ้นมาจริงๆ หรือไม่ หากร่างกายหรือจิตใจของใครสักคนถึงขีดจำกัดขึ้นมา
4. Rhythm 10 (1973)
กลับมาดูที่งานเดี่ยวของมารินากันบ้าง โดย Rythm 10 คืองานแสดงชิ้นแรกของเธอ เริ่มต้นด้วยการเล่น Knife game นั่นคือการกางมือออกแล้วเอามีดแทงอย่างรวดเร็วตามช่องว่างระหว่างนิ้ว ขณะที่เล่นก็อัดเสียงจังหวะการปักมีดไปด้วย
เธอเตรียมมีดไว้ 20 เล่ม ทุกครั้งที่พลาดแทงโดนมือตัวเองมีดจะถูกเปลี่ยน พอครบ 20 เล่ม เธอก็เปิดเสียงที่อัดไว้และพยายามเล่นเกมส์นี้อีกครั้งให้ตรงตามจังหวะของเสียงเดิม
งานชิ้นนี้ประกาศลายเซ็นอันชัดเจนมาตั้งแต่ต้นของเธอ มารินาบอกว่าเธอไม่ได้อยากตาย ถึงแม้ว่างานเธอจะดูเสี่ยงชีวิตในหลายชิ้นก็ตาม แต่สิ่งที่เธอต้องการจริงๆ คือการดูว่าพลังของร่างกายจะไปไกลได้แค่ไหนกัน ซึ่งที่สุดแล้ว เธอค้นพบว่ามันไม่ได้เกี่ยวกับร่างกาย แต่คือเรื่องของจิตใจ ที่จะทำให้เราพ้นขีดจำกัดต่างๆ ไปได้ และสำหรับเธอการขึ้นแสดงต่อหน้าผู้ชมคือการผลักขอบเขตของตัวเองให้สามารถทำในสิ่งที่ปกติทำไม่ได้นั่นเอง
5. Rhythm 0 (1974)
มารินาเคยบอกว่า นี่เป็นหนึ่งในชิ้นงานสุดขั้วที่สุดของเธอ ที่ตลกคือใน Rythm 0 เธอไม่ทำอะไรเลยนอกจากอยู่เฉยๆ เนื่องจากช่วงนั้นงานของเธอถูกสังคมวิพากย์วิจารณ์อย่างหนักหน่วง
เธอเลยลองตั้งคำถามว่าผู้ชมจะไปได้ไกลแค่ไหนถ้าตัวศิลปินเองไม่ทำอะไรเลย ชิ้นงานคือมารินาจะยืนอยู่เฉยๆ มีของ 72 ชิ้นวางบนโต๊ะพร้อมคำแนะนำว่าเธอคือวัตถุ ผู้ชมจะทำอะไรกับเธอก็ได้ในเวลา 6 ชั่วโมง
ของที่เตรียมไว้มีตั้งแต่น้ำหอม ขนมปัง ไปจนถึงปืนที่มีกระสุนหนึ่งนัด (ในทางปฏิบัติผู้ชมสามารถฆ่าเธอได้จริงๆ) ในช่วงแรก คนดูเล่นกับเธอแค่เบาๆ จ้องมอง หอมแก้ม ให้เธอถือของต่างๆ แต่เมื่อเวลาผ่านไปทุกอย่างก็เริ่มรุนแรงขึ้น ถึงกับมีคนหยิบกรรไกรมาตัดเสื้อผ้าเธอออก อีาคนเอามีดเฉือนคอเธอบางๆ แล้วดื่มเลือด จนกระทั่งผู้ชมคนหนึ่งใส่กระสุนลงในปืนแล้วยัดปืนไว้ในมือ พร้อมจัดท่าเธอให้จ่อปืนเข้าที่คอตัวเอง
โชคดีที่คนดูแลแกลเลอรี่เข้ามาเอาปืนออกและโยนไปนอกหน้าต่าง สถานการณ์ตึงเครียดดำเนินต่อไปเรื่อยๆ จนครบ 6 ชั่วโมง ก็มีประกาศว่าการแสดงจบแล้ว พอเธอเริ่มขยับผู้ชมทุกคนก็แตกฮือหนีกันไปคนละทาง—ภายหลังเธอบอกว่าพวกเขาคงรับไม่ได้เมื่อเห็นเธอกลับมามีชีวิต
มารินาเล่าว่าพอกลับมาถึงโรงแรมก็พบว่าเกิดผมหงอกกลุ่มใหญ่ขึ้นบนหัวของเธอ นอกจากการสำรวจขีดจำกัดของร่างกายและจิตใจตัวเองแล้ว Rythm 0 ยังตั้งคำถามรวมถึงทดสอบขอบเขตของผู้ชมกับศิลปินไปจนถึงความเป็นมนุษย์ และคำตอบที่ได้นั้นก็ค่อนข้างจะน่ากลัวทีเดียว
6. Balkan Baroque (1997)
บ้านเกิดของมารินาคือเมืองเบลเกรดของอดีตประเทศยูโกสลาเวีย ซึ่งในปัจจุบันอยู่ในประเทศเซอร์เบีย เธอเคยให้สัมภาษณ์ว่าเวลาคนถามว่ามาจากไหน เธอจะไม่ตอบว่าเซอร์เบียแต่จะตอบว่ามาจากประเทศที่ไม่มีอยู่อีกแล้ว
เรื่องคือประเทศยูโกสเวียเกิดสงครามกลางเมืองในช่วงปี 1991 เหตุการณ์นี้ถูกบันทึกว่าเป็นหนึ่งในการฆ่าล้างเผ่าพันธ์ที่โหดร้ายที่สุดในยุโรปนับตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่สอง หลังจากนั้นไม่นานประเทศยูโกสเวียก็ล่มสลายและกลายเป็นส่วนหนึ่งของเซอร์เบีย
Balkan Baroque เป็นงาน performance art ผสมสื่อ video installation ที่จัดแสดงในเทศกาล Venice Biennale ปี 1997 ตัวชิ้นงานคือมารินาจะนั่งขัดกองกระดูกวัวจำนวนมหาศาลที่มีเศษเนื้อและคราบเลือดติดอยู่ให้สะอาดเอี่ยม วันละหกชั่วโมงเป็นเวลาสี่วัน พร้อมร้องเพลงพื้นเมืองจากประเทศของเธอไปด้วย
เหนือกองกระดูกจะมีวิดีโอสามจอถูกฉาย จอตรงกลางเป็นตัวเธอเองในชุดนักวิทยาศาสตร์บรรยายถึงวิธีการฆ่าหนูในบอลข่าน วิธีการคือขังและบีบให้พวกมันอยู่ในสถานการณ์ที่ฆ่ากันเอง เธอเล่าถึงหนูพวกนี้ให้ดูไม่ต่างจากมนุษย์ในยามสงคราม จอด้านซ้ายขวาคือวิดีโอหน้าพ่อแม่ของเธอ
น่าสนใจที่งานนี้เป็นหนึ่งในงานเพียงน้อยชิ้น ที่มารินาพูดถึงเรื่องของประเทศและชาติพันธุ์ ซึ่งที่สุดแล้วมันก็คงอัดแน่นและสั่งสมกันจนกลายเป็นตัวตนปัจเจกของแต่ละคน
ราวกับว่าเธอพยายามชะล้างอะไรบางอย่างให้บริสุทธิ์จากรากเหง้าของตัวเอง แต่ขณะเดียวกัน มันก็กลายเป็นหนึ่งสิ่งที่จะฝังลึกอยู่ในร่างและจิตวิญญาณของเธอไปอีกแสนนาน ว่าแล้วก็มารอดูกันเถอะ ว่าใน Bangkok Art Biennale เธอจะแสดงอะไรให้พวกเราในบ้านเมืองแบบนี้ได้เห็นกันบ้าง
Text by Theerapat Wongpaisarnkit
อ้างอิง
หนังสือ วิดีโออาร์ต เขียนโดย Sylvia Martin สำนักพิมพ์ Taschen แปลโดย สมพร วาร์นาโด