ไม่รู้ว่าคิดไปเองมั้ย ทุกครั้งที่ไปเสาหลักเมือง กทม. ใจมันวาบหวามพิกล
เวลาเผชิญหน้ากับแท่งทองตั้งเด่ 2 อัน ทั้งใหญ่ทั้งยาว ดูแข็งดูหนา ลำตั้งตรง เสาอันแรกขนาดยาวชะลูด ส่วนหัวเหมือนดอกบัวที่ยังไม่เปิดเรียกว่า ‘ทรงบัวตูม” อีกแท่งแม้จะไม่เรียวยาวเท่าอันแรก แต่ลำเขื่องอวบอ้วนกว่า เส้นรอบวงหลายนิ้ว มีหัวใหญ่หยักๆ ที่เรียกว่า ‘เม็ดทรงมัณฑ์’ ตระหง่านเบื้องหน้า
รู้สึกได้ถึงพลังงานบางอย่างเลย…
อันที่จริงวัฒนธรรมการใช้สัญลักษณ์เป็นดุ้นโตๆ ตั้งโด่ในพิธีกรรม เป็นของคู่บ้านคู่เมือง หรืออย่างที่เรียกว่าเป็นเสาหลักเมืองนั้น ก็ไม่ใช่สิ่งแปลกใหม่ ทะลึ่งตึงตัง หรือเฉพาะถิ่น หากแต่มีมายาวนานและแทบทั่วโลก
ไม่เพียงศิวลึงค์ในวัฒนธรรมฮินดู แต่ Herma หรือ Hermae หรือ Hermai และก็หรือ Herm ในวัฒนธรรมกรีกโบราณก็เช่นกัน ที่แกะสลักเป็นเสาเป็นทรงสีเหลี่ยมสูงใหญ่ส่วนหัวเสาสลักเป็นศีรษะมนุษย์เพศชายหรือมีลำตัวมนุษย์ครึ่งตัว ด้านราบของเสาแกะสลักเป็นรูปกระจู๋ชูชันพร้อมกระโปกและขนเพชรอย่างวิจิตรบรรจง
ซึ่งเป็นวัฒนธรรมความเชื่อที่พัฒนามาจากการบูชาเทพเจ้าในยุคแรกๆ ที่เป็นกองหิน เสาหินหรือไม้ที่ไม่มีรูปร่าง ตามข้างถนนหนทางโดยเฉพาะที่ทางแยกและตามรอยต่อของดินแดน ต่อมาเลยเพิ่มส่วนหัวและหัวลึงค์เข้าไปที่เสา และเริ่มกลายเป็นรูปทรงสี่เหลี่ยม เค้าถือว่าเลข 4 เป็นเลขมงคล
ด้วยความเชื่อว่าเสาศิลานี้จะปัดเป่าภยันอันตราย ขับไล่สิ่งชั่วร้าย และอำนวยพรความโชคดี มันจึงมักถูกประดิษฐานตามทางแยก มุมถนน นอกบ้าน หน้าวัดหน้าหมู่บ้าน หน้าสถานที่สาธารณะ ยิมเนเซียม หอสมุด เป็นดั่งศาล หรือใช้กำหนดอาณาเขตคอยอวยพรนักเดินทางเมื่อข้ามพรมแดน
ซึ่ง Herm ส่วนใหญ่ก็ทำเป็นรูป Hermes เทวดาผู้ส่งสารของพระเจ้า
เช่นเดียวกับอนุสาวรีย์หินตั้งขนาดใหญ่ (Megalith) ที่เป็นสัญลักษณ์ของสถานที่ประกอบพิธีกรรม สุสานบุคคลสำคัญในชุมชน กระจัดกระจายตามภูมิภาคในเอธิโอเปีย อนุสาวรีย์หินมีทั้งสลักเลขาคณิต ใบหน้ามนุษย์ และรวมทั้งอวัยวะเพศชาย ที่หินตั้งถูกสลักเป็นทรงกระบอกสูงอยู่ระหว่าง 60 – 180 ซม. ส่วนบนสลักเป็นครึ่งวงกลม คั่นด้วยร่องหรือวงแหวน แต่ศิลาลึงค์นี้พบไม่มากนักเมื่อเทียบกับศิลาสลักรูปอื่น
เนื่องจากการบูชาลึงค์เช่นเดียวกับบูชางู และดวงอาทิตย์ที่เป็นศาสนาดึกดำบรรพ์ ซึ่งลัทธิบูชาลึงค์มีมาตั้งแต่ยุคหินนู่น และก็แพร่หลายโดยเฉพาะในช่วงยุคหินใหม่และยุคสำริด มาถึงอารยธรรมโบราณ บาบิโลน อียิปต์ ในฐานะสัญลักษณ์ความอุดมสมบูรณ์และผู้เชื่อมโยงสวรรค์กับพื้นโลก (ที่มักให้คุณค่าเป็นเพศหญิง) การร่วมเพศกันระหว่างสวรรค์ผู้ชายกับเจ้าแม่โลกนำไปสู่ความอุดมสมบูรณ์[1]
เสาหลักเมือง เองก็มีวิวัฒนาการมาจากวัฒนธรรมหินตั้งเสาเมืองในวัฒนธรรมนับถือผีแถนในกลุ่มชาติพันธุ์ตระกูลภาษาไท ก่อนศาสนาพราหมณ์ฮินดูและพุทธจะเข้ามาในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่ปักหินปักไม้เพื่อทำเป็นเครื่องหมายกำหนดอาณาเขต หลักเมือง เขตศักดิ์สิทธิ์ แน่นอนเสาหรือหมุดหมายย่อมแสดงถึงภูมิประเทศ การสร้าง รับและแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมความเชื่อจากวัฒนธรรมต่างถิ่น
เสาจึงกลายเป็นรูปแทนอวัยวะเพศของมนุษย์ชาย เป็นสิ่งปลูกสร้างและสถาปัตยกรรมลึงค์จะโดยรู้ตัวหรือไม่รู้ตัวก็ตาม
และแน่นอน ‘เสา’ เหล่านี้ก็แสดงถึงอำนาจของเจ้าของบริเวณ เจ้าดินแดน หัวหน้าชุมชนอีกด้วย ตามสำนึกที่ว่า ลึงค์เป็นสัญลักษณ์ของความแข็งแกร่งอำนาจการครอบงำของผู้ชาย อำนาจทางการเมือง และ ‘เจ้าโลก’
ด้วยเหตุนี้เมื่อรัชกาลที่ 1 ปราบดาภิเษกและปักหมุดหลักเมืองในวันที่ 21 เมษายน พ.ศ. 2325 หลังจากการนั้นประมาณ 4 เดือนก็ออกกฎหมายประกาศว่า ตนเป็นผู้มีธรรมอันประเสริฐและบารมี ตั้งมั่นในพุทธศาสนา ห้ามไม่ให้ราษฎรนับถือเทวดาอารักษ์ผีสางเหนือกว่าพระรัตนตรัย และห้ามให้มีศาลบูชาลึงค์ รูปเคารพอวัยวะเพศหากมีก็ให้เจ้าหน้าที่นำไปเผาทิ้ง เพราะถือว่าเป็นสิ่งลามกอัปมงคล เป็นผีสางต่ำศักดิ์สามหาวเผ่าพาลหยาบช้า ประเทศไหนใครมาเห็นก็ดูแคลน พาลจะเสื่อมเกียรติกรุงเทพมหานคร แล้วถ้าใครฝ่าฝืนจะต้องได้รับโทษประหารชีวิต[2]
ทั้งนี้ก็เพื่อประกาศแสนยานุภาพว่าลึงค์ กทม. โตกว่า เบิ้มกว่า มีอำนาจเหนือกว่าลึงค์เมืองอื่น ของใครจะมาใหญ่กว่าไม่ได้
เสาหลักเมือง เสาหมุดหมาย กับสัญลักษณ์รูปจู๋จึงมักคู่กันหรือเป็นส่วนหนึ่งส่วนเดียวกัน เหมือนกับเสาหลักเมือง จ.ตราด ที่เมื่อค้นพบโบราณวัตถุ ศิวลึงค์หินทราย เจ้าเมืองตราดในสมัยรัชกาลที่ 5 จึงนำมาตั้งในศาลเจ้าพ่อหลักเมือง คู่กับเสาหลักเมืองเดิมที่เป็นเสาโด่ทรงกระบอกหัวรูปดอกบัวตูม เข้ากันได้ดีไม่ผิดที่ผิดฝาผิดตัว
การสร้างความยิ่งใหญ่ให้กับลึงค์จึงมีทั้งในเชิงกายภาพ ขนาด วัสดุก่อสร้าง และในเชิงนัยยะความหมายที่สัมพันธ์กับอำนาจทางการเมือง Washington Monument เองก็ถูกตั้งใจให้เป็นสิ่งปลูกสร้างที่สูงที่สุดในวอชิงตัน ดี.ซี. สูงเสียดฟ้าถึง 169 เมตร เพื่อเป็นเกียรติแก่จอร์จ วอชิงตัน ผู้เป็นทั้ง Founding Father และประธานาธิบดีคนแรกของอเมริกา และอนุสาวรีย์ก็มีลักษณะเป็นแท่ง obelisk ทำจากหินอ่อน หินแกรนิต และหินทราย มียอดแหลมทรงปีระมิด ซึ่งเสา obelisk ด้วยตัวของมันก็หมายถึงสัญลักษณ์ลึงค์ ตัวแทนของ ‘ความเป็นพ่อ’ และปิตาธิปไตย
ในยุคสมัยใหม่ บรรดาตึกระฟ้าอาคารแนวตั้งเด่ขนาดใหญ่ที่โดดเด่นตระหง่านครอบงำภูมิประเทศ แสดงถึงอำนาจของเมืองๆ หนึ่งจึงเป็นที่สนใจของบรรดานักวิชาการมานุษยวิทยาสังคมวิทยา สัญศาสตร์ ไปจนถึงเฟมินิสต์ และถูกตีความว่าเป็นสัญลักษณ์อวัยวะเพศชาย (Phallus) หรือมีบางส่วนของสถาปัตยกรรมที่แลดูเหมือนอวัยวะเพศชายขนาดยักษ์ ได้รับมรดกตกทอดจากวัฒนธรรมดั้งเดิมของอนุสรณ์หินตั้งและหลักเมืองทรงอวัยวะเพศแข็งตัว อธิบายว่าเป็นความพยายามแสดงออกเชิงพื้นที่ของพลังเจ้าโลก อำนาจและการครอบงำของเพศชาย เพราะมันแสดงถึงการมีทรัพยากรมหาศาลอำนาจในการจัดการ
เช่น ตึกเอ็มไพร์สเตตที่นิวยอร์ค 30 St Mary Axe ที่ลอนดอนที่ถูกแซวว่าเป็น ‘Crystal Phallus’ หอเอนเมืองปิซา ที่รูปทรงของมันก็ทำให้ชื่อ ‘Leaning Tower of Pisa’ กลายเป็นคำแสลงถึงจู๋แข็งไม่เต็มที่ และหอเอนยังกลายเป็นลายกางเกงของร้านค้าท้องถิ่นขายของที่ระลึก และ Doha Tower ที่กาตาร์ก็ถูกตั้งชื่อเล่นล้อเลียนว่า ‘Condom Tower’
พระปรางค์ที่คนไทยคุ้นตาเองก็เช่นกัน
ไม่ว่าจะด้วยความตั้งใจหรือไม่ก็ตาม แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าสถาปนิกเองก็เป็นผู้ชายส่วนใหญ่ และสถาปัตยกรรมทรงลึงค์เหล่านี้ก็รับใช้เพศชายและผู้มีอำนาจ และก็มีบางแห่งที่สถาปนิกออกมายอมรับเองว่ามีความหมายแบบนั้นจริง ๆ
กลับมาที่เสาหลักเมืองในไทยดีกว่า ที่ด้วยตัวของมันเองก็เป็น phallus เป็นตัวแทนของเพศชาย อำนาจปิตาธิปไตย และการสถาปนาไอ้จ้อนให้เป็น “เจ้าโลก” เหมือนกับที่เสาหลักเมืองถูกเรียกให้เป็นเทวดาเพศชายว่า ‘เจ้าพ่อ’
อ้างอิงข้อมูลจาก
[1]Hodder M. Westropp. and C. Staniland Wake. Phallism in Ancient Worships: Ancient Symbol Worship. Influence of the Phallic Idea in the Religions of Antiquity. Bouton, J.W., New York, 1875; 2ND edition.
[2]ประมวลกฎหมายรัชกาลที่ 1 จุลศักราช 1166 พิมพ์ตามฉะบับหลวง ตรา 3 ดวง เล่ม 3. พระนคร : มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง, 2482, น. 418-421.