[คำเตือน: บทความนี้เปิดเผยเนื้อหาสำคัญของซีรีส์ BioShock ถ้าใครไม่เคยเล่นแต่คิดว่าอยากเล่น กรุณาเลิกอ่านโดยพลัน!]
ถ้าคุณเป็นแฟนเกมแนว FPS (First Person Shooter – เกมยิงมุมมองบุคคลที่หนึ่ง ซึ่งก็คือตัวเราหลังลำกล้อง) และไม่ได้เพิ่งจับคอนโทรลเลอร์ครั้งแรกเมื่อวาน การได้เล่นซีรีส์ BioShock (2007-2013) น่าจะติดท๊อปไฟว์หรือไม่ก็ท๊อปเทนเกมยิงในดวงใจ – ใช่ไหม
นอกจากซีรีส์นี้จะ ‘โคตรสนุก’ แล้ว มันยังสะท้อน ยั่วเย้า และตั้งคำถามทางปรัชญาที่ลึกซึ้งมากมายหลายประเด็น โดยที่คนเล่นอาจไม่รู้ตัว!
BioShock ภาคแรกให้เราเล่นเป็น แจ็ค (Jack) ผู้โดยสารที่บังเอิญเครื่องบินตกลงทะเลในปี ค.ศ. 1960 ว่ายน้ำหนีตายไปหาประภาคาร ซึ่งแท้ที่จริงคือสถานีเครื่องดำน้ำทรงกลมหรือ bathysphere พาเขาดำดิ่งลงสู่ซากปรักหักพังหลังเกิดสงครามกลางเมืองของ แรพเจอร์ (Rapture แปลว่า ‘ความปีติ’ มีนัยทางศาสนาคริสต์) เมืองใต้น้ำซึ่งถูกเนรมิตขึ้นมาด้วยอานุภาพเงินและอุดมการณ์อันแรงกล้าของ แอนดรูว์ ไรอัน (Andrew Ryan) มหาเศรษฐีนักอุตสาหกรรม ผู้สร้างและครองเมืองด้วยลัทธิทุนนิยมเสรีสุดขั้ว หรือที่ภาษาปรัชญาเรียกว่า ‘ปรวิสัยนิยม’ (objectivism) สไตล์ ไอย์น แรนด์ (Ayn Rand) เจ้าแม่ผู้ให้กำเนิดลัทธินี้ในโลกจริง ภายใต้สโลแกน “เรื่องของข้า รัฐและศาสนาอย่ามายุ่ง” (No gods or kings. Only man.)
‘โลก’ ของ BioShock เต็มไปด้วยสัญญะและความคิดสร้างสรรค์อันโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ สรรพอาวุธไม่ต่างจากเกมยิงทั่วๆ ไปมากนัก (ปืนสั้น ปืนกล หน้าไม้ ไปจนถึงปืนยิงระเบิด) แต่เราสามารถ ‘ร่ายเวท’ จากพลาสมิด (Plasmid) – เซรุ่มที่สกัดจาก ADAM หรือสารในทากทะเล พลาสมิดแต่ละขวดใส่เสต็มเซลล์เข้าไปในร่างกาย ปรับแปลงพันธุกรรมให้มีพลังเหนือมนุษย์ เช่น ยิงลูกไฟจากปลายนิ้ว เสกกองทัพแมลงให้รุมต่อยตี สร้างกับดักลมบ้าหมู หรือแม้แต่หลอกล่อ ‘บิ๊ก แด๊ดดี้’ (Big Daddy) ให้มาอารักขาเรา นอกจากนี้พลาสมิดที่ใช้เป็นอาวุธแล้วยังมีพลาสมิดเชิงรับ เรียกว่า ‘ยีน โทนิค’ (gene tonic ตั้งชื่อล้อชื่อค็อกเทล gin tonic) ซึ่งช่วยเพิ่มพลังอื่นๆ เช่น ทำให้กล้องวงจรปิดและหุ่นยนต์มองเห็นเราช้าลง เพิ่มพลังชีวิตที่ได้จากการกินอาหาร ทำให้แฮ็คกล้องวงจรปิดหรือหุ่นยนต์ได้ง่ายขึ้น ฯลฯ
บิ๊ก แด๊ดดี้ คือมิวแทนท์ร่างยักษ์ตายยาก ผู้คอยพิทักษ์ ‘ลิตเติ้ล ซิสเตอร์’ (Little Sister) เด็กสาวตัวจ้อยที่ถูกดัดแปลงตัดแต่งพันธุกรรมและบงการให้ทำหน้าที่เดียวเท่านั้นในชีวิต คือสูบ ADAM คืนมาจากซากศพเกลื่อนเมือง ปกติมิวแทนท์คู่นี้จะไม่สนใจเราเลย แต่ในเมื่อการจับ ลิตเติ้ล ซิสเตอร์ คือวิธีเดียวที่เราจะได้ ADAM มาซื้อพลาสมิดเพิ่ม และเราจะจับเธอได้ก็ต่อเมื่อ บิ๊ก แด๊ดดี้ ตาย นั่นทำให้การหาจังหวะ ‘เผด็จศึก’ บิ๊ก แด๊ดดี้ กลายเป็นประสบการณ์ระทึกขวัญลืมไม่ลง
ภาคต่อคือ BioShock 2 พาเราดำดิ่งเข้าสู่แรพเจอร์อีกครั้ง แปดปีให้หลังเหตุการณ์ในเกมแรก ในฐานะ บิ๊ก แด๊ดดี้ รุ่นใหม่ที่พยายามตามล่า อีเลนอร์ (Eleanor) ลิตเติ้ล ซิสเตอร์ที่เราพิทักษ์ กลับคืนมาจากเงื้อมมือของ โซเฟีย แลมบ์ (Sofia Lamb) จิตแพทย์และอดีตครูสอนศาสนา ผู้นำใหม่หลังการตายของไรอัน เพียงเพื่อจะพบว่าการเมืองสวิงกลับสุดขั้ว จากปัจเจกนิยมสุดขีดในภาคแรก สู่การปกครองแนวซ้ายจัดหรือคอมมูน
ซึ่งผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นก็หายนะพอๆ กัน
ภาคสามในชื่อ BioShock Infinite ย้อนเวลากลับไปปี ค.ศ. 1912 คราวนี้พาเราออกจากท้องทะเลดำมืด เหินเวหาสู่ โคลัมเบีย (Columbia) เมืองคาวบอยลอยฟ้าซึ่งถูกเนรมิตด้วยอำนาจเงินและอุดมการณ์ไม่ต่างจากแรพเจอร์ แต่คราวนี้ไม่ใช่ลัทธิปัจเจกนิยมสุดขั้วแบบไรอันอีกแล้ว หากเป็นลัทธิบิดเบือนศาสนาคริสต์ ผสมชาตินิยมและเหยียดผิว(สีอื่นที่ไม่ใช่ผิวขาว)ชนิดสุดขั้วของ แซคคารี คอมสต็อก (Zachary Comstock) ผู้สถาปนาตัวเองเป็น ‘พ่อ’ และ ‘ศาสดา’ ของโคลอมเบีย เราเล่นเป็น บุ๊คเกอร์ เดอวิท (Booker DeWitt) อดีตทหารผ่านศึก เดินทางไปโคลอมเบียเพื่อลักพาตัว เอลิซาเบ็ธ (Elizabeth) สาวน้อยปริศนา มาแลกกับการปลดหนี้พนันทั้งหมดที่เขามี
ประเด็นปรัชญาใน BioShock ทั้งซีรีส์มีให้ขบคิดมากมายหลายประเด็นและหลายระดับ ในแง่ปรัชญาการเมือง เราอาจครุ่นคิดถึงความบิดเบี้ยวของลัทธิปัจเจกนิยมสุดขั้วในภาคแรก สังคมนิยมสุดขีดในภาคสอง และฟาสซิสต์แบบคริสต์ในภาคสาม ซึ่งลงเอยเป็น ‘ดิสโทเปีย’ ทั้งที่ผู้ก่อตั้งอยากสร้าง ‘ยูโทเปีย’ หรือสังคมในอุดมคติ และตั้งคำถามว่าระบอบการปกครองแบบไหนที่ ‘เหมาะสม’ ที่สุดกับสัตว์ชื่อมนุษย์ หรือเราอาจใช้ทฤษฎีบางส่วนของ คาร์ล ชมิท (Carl Schmitt) นักนิยมนาซี มาอธิบายไรอันกับคอมสต็อกว่าเหมือนกันในแง่ที่พยายามสร้างสังคม ‘ขั้วตรงข้าม’ กับสิ่งที่ผู้ก่อตั้งเกลียดชัง ซึ่งก็คือการไม่ช่วยตัวเองและลัทธิสังคมนิยมในกรณีของไรอัน และการหลงมัวเมากับอบายมุขและความไม่เชื่อมั่นใน ‘ความเหนือกว่า’ ของคนผิวขาวในกรณีของคอมสต็อก
(ถึงแม้ลัทธินาซีซึ่งชมิทสมาทานจะแพ้พ่ายไปแล้ว ความคิดบางเสี้ยวของเขาก็ดูจะยังอธิบายสังคมปัจจุบันบางแห่งได้ ดูจากการพยายาม ‘เป่า’ ภาพศัตรูให้ดู ‘ใหญ่’ กว่าระดับอันตรายที่แท้จริง เพื่อเสริมสร้างความมั่นคงของผู้ครองอำนาจ อาทิ การสร้างภาพอันตรายเกินจริงให้กับลัทธิอิสลามหัวรุนแรงในสหรัฐอเมริกา หรือการสร้างภาพอันตรายเกินจริงให้กับ ‘ระบอบทักษิณ’ ในสังคมไทยใต้เผด็จการทหาร)
นอกจากปรัชญาการเมือง เราอาจครุ่นคิดเกี่ยวกับ ‘ชีวจริยธรรม’ หรือ bioethics ของการสกัดสาร ADAM จากทากทะเล ความหมายของ ‘ความเป็นมนุษย์’ ที่พร่าเลือนลงเรื่อยๆ เมื่อเราฉีดพลาสมิดขวดแล้วขวดเล่าเข้าสู่ร่างกาย หรือแม้แต่ประเด็นการปลดปล่อยสตรี ตามแนวคิดของเฟมินิสต์ยุคบุกเบิก เช่น ซิโมน เดอ โบวัวร์ (Simone de Beauvoir) เมื่อเอลิซาเบ็ธใน BioShock Infinite เติบโตต่อหน้าต่อตาเรา จากการเป็นเพียงสาวน้อยอ่อนต่อโลกที่ช่วยอะไรเราไม่ค่อยได้ กลายเป็นสาวมั่นผู้เปี่ยมความมั่นใจ กลายเป็น ‘ตัวเดินเรื่อง’ และผู้ทรงอิทธิพลในโลกของโคลอมเบีย
แต่ประเด็นเชิงปรัชญาที่ผู้เขียนคิดว่าซีรีส์นี้ยั่วให้คิดอย่างสนุกสนานและลึกซึ้งที่สุด คือประเด็นว่าด้วย ‘เจตจำนงเสรี’ (free will)
เรามีเสรีภาพในการเลือกทางเดินชีวิตจริงหรือไม่ หรือว่าโชคชะตาถูกกำหนดมาแล้วตั้งแต่เกิด ?
สุดท้าย ทุกคำถามเกี่ยวกับความรับผิดชอบทางศีลธรรม (พูดง่ายๆ คือ เราควรได้รับดอกไม้หรือก้อนอิฐในกรณีใดบ้าง) ผูกพันอย่างแยกไม่ออกจากปมปัญหาเรื่องเจตจำนงเสรี ถ้ามองผ่านแว่นของปรัชญา ประเด็นนี้มีสองมิติหลักๆ ด้วยกัน
มิติแรกว่าด้วยความหมายของ ‘เสรีภาพ’ – เราอาจนิยาม ‘เจตจำนงเสรี’ ว่า หมายถึงความสามารถในการลงมือทำอะไรก็ตามโดยปราศจากข้อจำกัดทั้งภายในหรือภายนอก เสรีภาพชนิดนี้ลึกซึ้งกว่า ‘เสรีภาพพื้นผิว’ (surface freedom) อย่างเช่นความสามารถในการเดินทางไปไหนก็ได้ หรือซื้ออะไรก็ได้ที่เราพอใจ ใน BioShock เราในฐานะคนเล่นเกมนี้มี ‘เสรีภาพพื้นผิว’ ในแง่ของการเลือกเองได้ว่าจะอัพเกรดพันธุกรรมด้วยพลาสมิดอะไรบ้าง ใช้อาวุธอะไรในการปลิดชีพ บิ๊ก แด๊ดดี้ ฯลฯ แต่ทั้งหมดนี้ไม่ได้หมายความว่าเรามี ‘เจตจำนงเสรี’ ด้วย (เราเลือกที่จะไม่ฆ่าศัตรูเหล่านี้เลยได้หรือไม่?)
มิติที่สองเป็นเรื่องของความรับผิดชอบทางศีลธรรมและทางกฎหมาย แนวคิดเรื่องเจตจำนงเสรีแยกไม่ออกจากแนวคิดเรื่องความรับผิดและความคู่ควร(กับคำด่าหรือคำชม) ใน BioShock ภาคแรก เราเลือกได้ทุกครั้งที่ล้ม บิ๊ก แดดดี้ ว่า จะ ‘ดูด’ (harvest) สารเหนือมนุษย์หรือ ADAM จาก ลิตเติ้ล ซิสเตอร์ วิธีนี้ทำให้ได้ ADAM มากที่สุด แต่ทำให้ ลิตเติ้ล ซิสเตอร์ ตาย หรือจะเลือก ‘ปล่อย’ (rescue) เธอให้เป็นอิสระ กรณีหลังนี้เราจะได้ ADAM น้อยกว่า แต่จะช่วยชีวิตเด็กน้อยคนนั้นไว้ได้และปลดปล่อยเธอออกจากการครอบงำ
สมมติว่าเราเลือก ‘ดูด’ ปล่อยให้เด็กน้อยตาย กรณีนี้เราสมควรโดนด่าเพราะสามารถ ‘เลือก’ ที่จะ ‘ปล่อย’ เธอไปได้ แต่ถ้าสมมุติว่ามีคนเอาปืนมาจ่อหัวแจ็คในเกม สั่งให้ปล่อยเด็กไปถ้าไม่อยากตาย กรณีนี้เราย่อมอยากปล่อยเด็กเพื่อรักษาชีวิตตัวเอง ถึงแม้แจ็คจะ ‘ทำดี’ เราก็จะไม่ชมเขาว่าเป็นคนดี เพราะเขาไม่อาจตัดสินใจแบบอื่นอย่างมีเหตุมีผล (ตัวเองไม่ตาย) ได้
ตัวอย่างข้างต้นตั้งอยู่บนแนวคิดสองเรื่องซึ่งเป็น ‘สามัญสำนึก’ พอสมควร แนวคิดแรกบอกว่า “คนเราควรรับผิดชอบต่อการกระทำของตัวเอง ยกเว้นว่ามีเหตุที่ไม่ต้องรับผิด” (เช่น เอามีดไปแทงคนอื่นเพราะเป็นโรคจิต ไม่ใช่เพราะมีเจตนาฆ่า) แนวคิดที่สองบอกว่า “เหตุการณ์อะไรก็ตามที่คนไม่สามารถลงมือทำอย่างเป็นอิสระ นับเป็นเหตุที่เขาหรือเธอไม่ต้องรับผิด” แนวคิดหลังนี้เรียกอีกชื่อว่า “หลักความเป็นไปได้ทางเลือก” – Principle of Alternate Possibilities ย่อว่า PAP
พูดง่ายๆ คือ คนเราควรต้องรับผิดชอบต่อการกระทำของตนเองก็ต่อเมื่อสามารถที่จะเลือกทำอย่างอื่นได้ หลักการ PAP เป็นที่ยอมรับและใช้จริงในแวดวงปรัชญา นิติศาสตร์ และการถกเถียงในชีวิตประจำวัน
ใน BioShock มายาคติที่ว่าแจ็ค (หรือเรา) มี ‘เสรีภาพ’ แตกออกเป็นเสี่ยงๆ ทันทีที่เราเดินเข้ามาในห้องทำงานของไรอัน จุดนี้เกมดึงอำนาจการควบคุมแจ็คออกจากมือเรา ส่งผลให้ความสัมพันธ์ระหว่าง ‘แจ็ค’ ตัวละคร กับ ‘เรา’ ในฐานะคนเล่นเกมขาดสะบั้นลง
แอนดรูว์ ไรอัน ผู้ก่อตั้งเมืองใต้น้ำ ทำลายความเชื่อที่ว่าแจ็คเป็นเพียงผู้ไม่รู้อิโหน่อิเหน่ที่หลงเข้ามาในแรพเจอร์โดยบังเอิญและอยากหาทางออก ด้วยการเฉลยว่าแจ็คเป็นเพียง ‘ทาส’ ที่ถูกปรับแต่งพันธุกรรมตั้งแต่เกิดให้ทำตามคำสั่งของแอตลัส (Atlas) คนที่แจ็คติดต่อทางวิทยุเป็นคนแรกและหลอกให้หลงเชื่อว่าจะช่วย กลับกลายเป็นว่าแอตลัสเป็นเพียงนามแฝงของ แฟรงค์ ฟอนเทน (Frank Fontaine) หัวหน้ามาเฟียและคู่ปรับตัวเอ้ของไรอัน การกระทำทุกอย่างของเรา (ในฐานะแจ็ค) ซึ่งเราเข้าใจผิดว่าเกิดจากเจตจำนงเสรีของตัวเองนั้น แท้ที่จริงเป็นเพียงคำสั่งที่เราควบคุมไม่ได้ วลีสั้นๆ “ช่วย…. หน่อยนะ” (would you kindly…) ที่แอตลัสชอบใช้ มิใช่การแสดงความสุภาพใดๆ หากเป็นโค้ดคำสั่งที่กดปุ่มบังคับให้แจ็คทำตามแอตลัสอย่างไม่ผิดเพี้ยน
ทรนงจวบจนวาระสุดท้าย ไรอันใช้วลีนี้สั่งให้แจ็คฆ่าเขา เพื่อพิสูจน์ว่ามีแต่เขาเท่านั้นที่มีเจตจำนงเสรี แจ็คนั่นเองที่เป็นทาส ณ จุดนี้ เรา (คนเล่นเกม) จะไม่อยากฆ่าไรอันอีกแล้ว ไม่ใช่เพราะว่าเขาหรือเราเป็นคนดี แต่ไม่อยากเพราะเรารู้แล้วว่าเราเป็นเพียง ‘เครื่องมือ’ ของแอตลัสเท่านั้นเอง หรือเราอาจจะอยากฆ่าไรอัน แต่ไม่ใช่แบบนี้ แบบที่เราบังคับแจ็คไม่ได้ ต้องทนดูร่างของไรอันร่วงผล็อยลงต่อหน้าต่อตา หลังจากที่แจ็คกระหน่ำตีด้วยไม้กอล์ฟอย่างเหี้ยมโหด
คำเฉลยที่ส่งผลสะเทือนราวสายฟ้าฟาดของไรอันทำให้เราเข้าใจความหมายที่แท้จริงของการเล่นเกมนี้ทั้งหมดที่ผ่านมาว่า ทุกสิ่งที่เราทำล้วนแต่เป็นไปตามความปรารถนาของแอตลัส/ฟอนเทน เราทำตามวลี “ช่วย…. หน่อยนะ” ที่ผ่านๆ มาอย่างว่าง่าย (“ถ้าคุณพร้อมแล้ว ช่วยเดินไปทางบริษัทฟอนเทนการประมงหน่อยนะ” “ช่วยขึ้นเครื่องดำน้ำไปเฮเฟสตัสหน่อยนะ” “เอาละทีนี้ ช่วยไปฆ่าไรอันในออฟฟิสเขาหน่อยนะ”) โดยไม่ตระหนักเลยว่าเป็นทาส!
แม้แต่ตัวละครในโลกคู่ขนานหลายมิติของ BioShock Infinite ก็ไร้ซึ่งเจตจำนงเสรีในแง่นี้เช่นกัน การกระทำต่างๆ ของบุ๊คเกอร์ในเกมนั้น เช่น การเลือกสีสร้อยคอให้กับเอลิซาเบ็ธ ล้วนแต่ไร้ความหมายเพราะไม่ส่งผลใดๆ ต่อผลลัพธ์สุดท้าย ใกล้ฉากจบเราจะถึงบางอ้อว่า คอมสต็อกคือคนคนเดียวกันกับบุ๊คเกอร์ แต่เป็นบุ๊คเกอร์ในโลกคู่ขนานที่ยอมเข้าพิธีศีลจุ่ม (baptism) ปวารณาตนเป็นคริสต์ เปลี่ยนชื่อเป็นคอมสต็อก ขณะที่บุ๊คเกอร์คนที่เราเล่นคือเวอร์ชั่นที่ปฏิเสธพิธีนี้ วิธีเดียวที่จะกำจัดคอมสต็อกได้คือต้องให้เอลิซาเบ็ธ (คนเดียวในเกมที่เปิดประตู่สู่โลกคู่ขนานและย้อนเวลาได้) และบุ๊คเกอร์ทุกร่างในโลกคู่ขนานทุกใบพร้อมใจกันเดินทางย้อนเวลาไปยังพิธีศีลจุ่ม ให้เอลิซาเบ็ธทุกร่างกดหัวบุ๊คเกอร์ทุกร่างให้จมน้ำตาย
เกมไม่นำเสนอทางเลือกที่ว่า บุ๊คเกอร์บางร่างอาจเข้าพิธีศีลจุ่มเป็นคริสต์ แต่ไม่กลายเป็นคริสต์หัวรุนแรงแบบค็อมสต็อก ซึ่งก็แปลว่าทางเลือกนั้นเป็นไปไม่ได้ เท่ากับเกมกำลังบอกเราว่าเจตจำนงเสรีไม่มีจริง แม้ในโลกคู่ขนานหลายมิติก็ตาม
‘เสรีภาพ’ ที่แท้เป็นเพียงมายาคติเท่านั้นในโลกของ BioShock แต่ถ้าเราไม่ทำตามบท เกมก็ไม่เดินหน้า เราก็เล่นเกมจนถึงฉากจบไม่ได้ (ก่อให้เกิดคำถามว่า เป็นไปได้หรือไม่ที่ ‘เกม’ จะให้เรามี ‘เสรีภาพ’ อย่างแท้จริง?)
ทางเลือกเดียวที่มีคือปิดเกม กลับสู่โลกจริงของเรา
กระนั้น BioShock ก็จะยังตามมาหลอกหลอนอยู่ดีว่า – แน่ใจหรือว่าเธอมีอิสระเสรีที่แท้จริง ?
Illustration by Namsai Supavong
หมายเหตุ : ในเดือนกันยายน 2016 เกม BioShock ทั้งสามภาคและภาคเสริมทุกภาค ถูกรีมาสเตอร์และอัพเกรดกราฟฟิกเป็น 1080p วางจำหน่ายในชื่อ ‘Bioshock The Collection’