เมื่อวันที่ 2 สิงหาคม พ.ศ. 2562 ที่ผ่านมา (หมายเหตุ : บทความชิ้นนี้เขียนขึ้นในวันที่ 3 สิงหาคม พ.ศ. 2562) เกิดเหตุระเบิดหลายจุดในกรุงเทพมหานคร ด้วยความที่ผมศึกษาและสนใจในเรื่องนี้เลยอยากจะเขียนถึงเหตุการณ์นี้โดยละเอียด โดยผมขอยืนยันไว้ก่อนนะครับว่า ในการจัดการกับวิกฤตหรือภัยในลักษณะนี้ การเร่งฟันธงว่าใครเป็นผู้กระทำอย่างแน่นอนเป็นเรื่องที่ ‘ผิดมากๆ’ สิ่งที่สำคัญที่สุดก็คือ พยายามไล่เรียงความเป็นไปได้ว่าใครคือผู้ก่อเหตุออกมาให้ได้มากที่สุด จากนั้นไล่เรียงความเป็นไปได้จากเหตุปัจจัย หรือประโยชน์ที่จะได้จากเหตุการณ์ไปเพื่อดูลำดับความเป็นไปได้มากน้อย โดยไม่ตัดความเป็นไปได้ใดทิ้งจนกว่าจะพบหลักฐานที่ชัดเจน คือสิ่งที่จำเป็นที่สุดในเวลานี้ครับ
เมื่อเหตุเพิ่งเกิดได้เพียงหนึ่งวันกว่าๆ (ในตอนที่ผมเขียนบทความนี้อยู่) ข้อมูลที่มีนั้น ‘ไม่อนุญาต’ ให้เราสามารถสรุปความใดๆ อย่างชัดเจน หรือทำทีฟันธงเหมือนกับรองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคงกับ ผบ.ทบ. ทำได้ ฉะนั้นผมจึงอยากแต่เพียงตั้งข้อสังเกตโดยจะพยายามเสนอความเป็นไปได้เท่าที่นึกออกให้มากที่สุด บนหลักวิชาเท่าที่จะมีหลักฐานปรากฏออกมาต่อสาธารณะครับ
ข้อสังเกตพื้นฐาน
1. พื้นที่ที่เกิดเหตุระเบิดนั้นมีความน่าสนใจในตัวมันเอง ซึ่งการก่อการร้ายหลายๆ ครั้งนั้น จุดที่เลือกในการก่อเหตุนั้นมีความสำคัญในฐานะสัญลักษณ์หรือสารที่ต้องการจะสื่อได้ โดยเฉพาะการก่อการร้ายในแบบช่วง ทศวรรษ 1930s-1990s หรือที่บางครั้งเราจะเรียกกันว่า ‘การก่อการร้ายแบบเก่า’ (old terrorism—เดี๋ยวผมจะอธิบายรายละเอียดจำเพาะต่อไป) ฉะนั้นสถานที่ที่เลือกก่อเหตุในครั้งมีลักษณะชัดเจนพอสมควรว่าเป็น ‘สถานที่ที่เป็นพวกเดียวกันหรือให้การสนับสนุนรัฐบาล คสช. แทบทั้งนั้น’ ไม่ว่าจะเป็นศูนย์ราชการ ที่นอกจากจะเป็นเส้นเลือดสำคัญของการปกครองที่เน้นการรวมศูนย์อำนาจของ คสช. แล้ว ยังมีทั้งศาลรัฐธรรมนูญ รวมไปถึงสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งรวมอยู่ด้วย, ตึกมหานครซึ่งเป็นของบริษัท King Power (ซื้อต่อมาจากบริษัท PACE Development), กองบัญชาการกองทัพไทย, สำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม นอกจากนี้ก็ยังมีซอยพระราม 9 แยก 57/1 และบริเวณสีลม ซอย 2/1 อีกด้วย
2. อย่างไรก็ตาม ภายใต้เงื่อนไขของพื้นที่เหล่านี้ ด้วยชนิดของวัตถุระเบิดที่แม้จะไม่ได้รุนแรงขนาดครั้งระเบิดที่แยกราชประสงค์ แต่ก็ได้รับการตรวจสอบแล้วว่าหากโดนจริงๆ ก็เป็นอันตรายถึงชีวิตได้ และในช่วงเวลาการเกิดเหตุที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะช่วงเวลา 8-9 โมงกว่าๆ ของวันทำงานธรรมดา ที่ช่วงเวลานี้ควรจะมีคนพลุกพล่านมากด้วยความที่เป็นเวลาเข้าทำงาน เป็นช่วง rush hour นั้น บอกได้เลยครับว่า ‘ยอดความเสียหายต่ำมากๆ’ ต่ำในลักษณะที่ราวกับว่า ‘จงใจให้เกิดความเสียหายน้อยที่สุด’ หรือ ‘ไม่ให้มีคนตายหรือบาดเจ็บเลย’ ซึ่งค่อนข้างจะผิดจากลักษณะของการก่อการร้ายโดยทั่วไปมาก จุดนี้เองที่ผมคิดว่าการจงใจสร้างสถานการณ์นั้นเป็นส่วนที่ควรต้องพิจารณามาก เพราะจากโครงสร้างของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นดูจะมุ่งสร้างความรู้สึกตกใจ หวาดกลัว รู้สึกไม่ปลอดภัย มากกว่า ‘สร้างความเสียหายจริงๆ’ มากทีเดียว
3. การรับมือเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนับว่ามีความน่าฉงนใจไม่น้อยทีเดียว จากปากคำของคนในศูนย์ราชการซึ่งพบระเบิดถึง 4 ลูกในนั้น แต่กลับไม่มีการอพยพ ไม่มีการเรียกรวมพล ไม่มีกระทั่งการประกาศแจ้ง (ข้อมูลที่ผมได้รับคือ เวลา 14.00 น. ของวันที่เกิดเหตุ) ซึ่งต่อให้นับว่าเป็นมาตรฐานการรับมือสถานการณ์ฉุกเฉิน ‘แบบไทยๆ’ ก็ตาม ก็ยังนับว่าชวนตั้งคำถามมากอยู่ดีว่าอะไรจะเย็นใจได้ถึงเพียงนั้น? ซึ่งการรับมือในข้อนี้ก็สัมพันธ์กับข้อสังเกตในข้อก่อนหน้านี้ด้วยว่า “ราวกับจงใจให้ไม่มีความรุนแรงขึ้นจริงๆ” และหากมันเป็นการก่อเหตุที่รู้แต่ต้นแล้วว่า ‘ไม่มีอะไรรุนแรง’ การไม่เตรียมการรับมือใดๆ เลย แม้จะมีระเบิดในพื้นที่ขึ้นแล้วก็อาจจะเป็นสิ่งที่เข้าใจได้ครับ แต่หากเป็นแบบนั้นก็จะยิ่งชัดเจนขึ้นว่าน้ำหนักของความน่าสงสัยว่าใครคือผู้ก่อเหตุจะไปตกอยู่ที่ใคร หรือหากไม่ได้เป็นเช่นนั้น ก็คงต้องมาคิดทบทวนถึงมาตรการการรับมือสภาวะวิกฤติของไทยกันอย่างจริงจังมากๆ แล้ว
4. การรับมือในหลายจุดมีลักษณะราวกับเป็น ‘ปฏิบัติการในทางการแสดง’ (performative operation) ไม่น้อยเลยทีเดียวครับ ในจุดนี้หลายท่านอาจจะรู้สึกว่าผมกำลังเขียนด้วยอคติ แต่อยากให้ลองคิดตามง่ายๆ ดูนะครับ อย่างกรณีการกู้ระเบิดที่สีลม ก่อนจะทำการกู้ระเบิด เรายังไม่รู้ว่าเป็นระเบิดจริงหรือไม่ เป็นระเบิดชนิดไหน ความรุนแรงเท่าไหร่ รัศมีการทำลายกว้างมากเพียงใด แต่ด้วยเงื่อนไขนี้ กลับกันพื้นที่ให้สื่อหลายสิบชีวิตเข้าไปถ่ายทำวินาทีการกู้วัตถุต้องสงสัยได้ วิธีการดังกล่าวนี้ขัดกับทุกหลักการว่าด้วยการจัดการกับวิกฤตเลยทีเดียวนะครับ หากจะมีอะไรแบบนี้ก็ต้องให้มีการเซ็นยอมรับความเสี่ยงในการเสียชีวิตแต่ต้นด้วย แบบนักข่าวสงครามในพื้นที่สงคราม ซึ่งผมเข้าใจว่าไม่ได้มีการทำอย่างที่ว่ามาแน่นอน ว่าอีกแบบก็คือ เป็นการกู้ระเบิดที่ยังไร้ซึ่งข้อมูลใดๆ แต่จงใจให้คนหลายสิบคนเข้าไปเสี่ยงเพียงเพื่อจะ ‘ได้ภาพ’ เช่นนั้นหรือ? และหากต้องการแค่ภาพจริงๆ ก็ใช้สื่อเพียงเจ้าเดียว หรือกระทั่งกล้องวีดีโอติดกับตัวหน่วยเก็บกู้ระเบิดถ่ายเป็นภาพฟุตเทจออกมาได้ โดยไม่ต้องให้ใครมาเสี่ยงด้วย เพราะฉะนั้นผมจึงรู้สึกว่าปฏิบัติการที่เกิดขึ้นมีลักษณะของการเป็น ‘การแสดง’ มากจนเกินไป มุ่งให้ ‘ได้ภาพ’ จนเกินไปสักหน่อย เกินกว่าที่หลักการใดๆ จะไปเข้าใจความเป็นไปนี้ได้ เว้นแต่จะรู้อยู่แล้วว่า ‘มันไม่อันตรายใดๆ’ ซึ่งก็ไปในทิศทางเดียวกับข้อสังเกตที่ 2. และ 3. นั่นเอง
5. ตำแหน่งที่พบระเบิดบางจุด (อย่างที่กองบัญชาการกองทัพไทยและสำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม) เป็นตำแหน่งที่เหมือนวางโดยจงใจให้คนหาเจอมากทีเดียว ซึ่งก็ค่อนข้างจะผิดวิสัยการก่อเหตุในลักษณะนี้ไม่น้อย
6. รัฐบาลและฝ่ายความมั่นคง ‘ฟันธง’ อย่างรวดเร็วอีกแล้ว และเที่ยวนี้จับผู้ต้องสงสัยที่ให้การสารภาพได้ในเวลาไม่ทันข้ามวันอีกด้วย ในแง่นี้หากว่ากันแฟร์แล้ว ก็อาจจะนับว่าเป็นฝีมือที่ฉกาจระดับโลกของฝ่ายความมั่นคงไทยก็อาจจะเป็นไปได้ แต่หากว่ากันตามมาตรฐานปกติแล้ว ก็ต้องนับว่าเร็วมากจนน่าตกใจครับ คือ การก่อเหตุพวกก่อการร้าย การลอบวางระเบิดพวกนี้ หากคนร้ายไม่ได้อยู่ในที่เกิดเหตุขณะที่ก่อเหตุเลยนั้น ว่ากันตรงๆ ว่าจับตัวผู้ก่อเหตุยากมากนะครับ ไม่ใช่แค่เฉพาะกรณีของไทย แต่จะที่ไหนในโลกก็ตามนี่เป็นเรื่องที่ค่อนข้างจะยากมากอยู่ ลองนึกกรณีการระเบิดที่ราชประสงค์ก็ได้ครับ ที่จับผิดจับถูก จนกระทั่งตอนนี้ยังไม่รู้เลยว่าไปถึงไหนแล้ว หรือกรณีการตามจับผู้นำคนสุดท้ายของลัทธิโอมชินริเกียวที่ก่อเหตุปล่อยแก๊สซารินในรถไฟใต้ดินก็ใช้เวลากว่าสิบปีในการตามหาตัว และนี่คือหนึ่งในทีมตำรวจที่ได้ชื่อว่าอยู่ระดับท็อปๆ ของโลกแล้วนะครับ เพราะฉะนั้นการจับผู้ต้องสงสัยที่พร้อมสารภาพภายในไม่ถึงหนึ่งวันได้นับว่าค่อนข้างจะผิดวิสัยปกติอยู่บ้าง (แต่อย่างที่บอกแต่ต้น อาจจะผิดวิสัยเพราะตำรวจบ้านเราฝีไม้ลายมือระดับพระกาฬสุดๆ ก็เป็นได้ ในกรณีนี้ แนะนำให้เชิญ NSA, CIA, FBI, KGB และ Mossad มาดูงานนะครับ)
ความเป็นไปได้ของผู้ก่อเหตุ
ผมคิดว่าความเป็นไปได้ว่าใครบ้างที่จะเป็นผู้ก่อเหตุนั้นมีหลักๆ อยู่ห้าอย่างครับ แต่นี่คือที่ผมนึกออกและคิดว่า ‘สมเหตุสมผล’ (relevant) มากพอนะครับ อาจจะมีความเป็นไปได้อื่นๆ นอกเหนือจากนี้ด้วยก็ได้ อย่างไรก็ดีหากจะมีใครเสนอบอกว่า ‘อิลูมินาติ’ อยู่เบื้องหลังเหตุการณ์ครั้งนี้นั้น แบบนี้ไม่ใช่ความเป็นไปได้ครับ ไม่ใช่กระทั่งว่า ‘ไม่สมเหตุสมผล’ (irrelevant) แต่เข้าขั้น ‘เพ้อเจ้อ’ กันเลยทีเดียว
ความเป็นไปได้ที่หนึ่ง คือ คิดกันแบบตื้นๆ และพาซื่อ (naïve) ที่สุดก็คือ ‘ฝ่ายต่อต้านที่โกรธแค้นรัฐบาล หรือ คสช.’ เป็นผู้ก่อเหตุ อย่างที่รัฐบาลกล่าวอ้างหรือพยายามฟันธงนี่แหละครับ ส่วนนี้ไม่มีอะไรที่จะต้องวิเคราะห์หรืออธิบายให้พันลึกมากมาย เป็นแต่เพียงการนำเอาจุดที่เกิดเหตุที่ชัดเจนว่าเป็น ‘ฝั่งที่สนับสนุน คสช. หรือรัฐบาลปัจจุบัน’ มาเป็นตัวตั้ง ก็จะนึกถึงความเป็นไปได้นี้ขึ้นมาได้ทันทีว่า ‘คนที่ก่อเหตุคงคิดจะแก้แค้นคนกลุ่มนี้ เพราะฉะนั้นก็จะต้องเป็นคนที่ต่อต้านคนกลุ่มนี้แน่นอน’ ซึ่งว่ากันอย่างตรงไปตรงมา มันมีความเป็นไปได้ครับ และเป็นความเป็นไปได้ที่ไม่สามารถตัดทิ้งได้ด้วย เพียงแต่ว่าโดยส่วนตัวแล้วผมไม่คิดว่ามันมีน้ำหนักมากนัก หากเทียบกับความเป็นไปได้อื่นๆ
ที่ผมว่าเช่นนี้ก็เพราะว่า หากเป็นกลุ่มที่ ‘โกรธแค้นรัฐบาลนี้ หรือ คสช.’ จริงๆ แล้ว มันมีจุดที่ควรจะเลือกลงมือก่อเหตุมากกว่าพื้นที่ที่เลือกนี้หลายแห่ง เช่น การเลือกตึกมหานครที่อยู่ในการครอบครองของบริษัท King Power ซึ่งชัดเจนว่าได้รับผลประโยชน์จากสัมประทานของรัฐบาล คสช. แต่หากต้องจัดอันดับในแง่เม็ดเงินส่วนเพิ่มที่บริษัทในไทยได้รับหรือเติบโตขึ้นในยุครัฐบาล คสช. แล้ว ตัวเลือกอย่าง CP, เบียร์ช้าง, กระทิงแดง, ฯลฯ นั้นก็ยังดูจะเป็นตัวเลือกที่ดูจะชัดเจนกว่ามาก หรือที่ชัดเจนยิ่งกว่าก็คือ ภายในพื้นที่ของอาคารศูนย์ราชการเองเลย อันเป็นที่ตั้งของทั้งสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ และสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) อยู่แล้ว หากคนกลุ่มนี้ถ่อสังขารไปก่อเหตุระเบิดถึงอาคารศูนย์ราชการอยู่แล้ว ก็ดูจะไม่เป็นเหตุเป็นผลนักที่จะ ‘ไม่แยแสสองหน่วยงานนี้’ ที่เรียกได้ว่าเป็นศูนย์รวมความแค้นของคนที่มีต่อ คสช. เลยทีเดียว
ท้ายที่สุด ผมเองมองไม่เห็นประโยชน์ชัดๆ จากการก่อเหตุโดยคนกลุ่มนี้เลย นอกเหนือไปจากความสะใจหรืออัดอั้นอย่างสุดกำลัง ซึ่งก็เป็นไปได้ และอย่างที่บอกไปแต่แรกครับว่ามันทำให้ความเป็นไปได้นี้ไม่สามารถถูกตัดทิ้งได้ แต่พร้อมๆ กันไปมันก็มีจุดที่ไม่สมเหตุสมผลมากพอสมควรอยู่ด้วย และไม่เพียงฝั่งต่อต้าน คสช. จะไม่ได้ประโยชน์อะไรจากการก่อเหตุนี้แล้ว โดยโครงสร้างภาพรวมมีแต่เสียประโยชน์มากกว่าทั้งนั้น ผมจึงไม่คิดว่าความเป็นไปได้นี้มีน้ำหนักมากนักโดยเปรียบเทียบ
ความเป็นไปได้ที่สอง คือการก่อเหตุโดยอิงกับการประชุมระดับนานาชาติของไทยที่เกิดขึ้นในวันเดียวกัน ที่มีทั้งผู้นำด้านความมั่นคงของอาเซียน และประเทศมหาอำนาจอย่างสหรัฐอเมริกาและจีนมาด้วย ทำให้มีกระแสที่พูดถึงการก่อเหตุที่พยายามจะส่งสารไปถึงกลุ่มนี้ แต่โดยส่วนตัวผมคิดว่าประเด็นนี้มีน้ำหนักน้อยมากจริงๆ ครับ ทั้งด้วยว่าพื้นที่ที่เลือกทำการก่อเหตุนั้น หาความเชื่อมโยงกับการประชุมดังกล่าวได้น้อยมาก ไม่เพียงเท่านั้นลักษณะของการก่อเหตุเองก็จะผิดวิสัยมากทีเดียวหากมองเทียบกับว่าเป็นการก่อเหตุในตัวเลือกนี้
อย่างที่ผมอธิบายไปแต่ต้นครับว่าการก่อเหตุครั้งนี้หากพูดตามสายการก่อการร้ายศึกษาแล้ว มีความใกล้เคียงกับการก่อการร้ายแบบที่เรียกว่า ‘การก่อการร้ายยุคเก่า’ (old terrorism) แม้จะไม่เหมือนเลยสักทีเดียว คือ ลักษณะของการก่อการร้ายแบบนี้มักจะมีความเชื่อมโยงกับ ‘การต่อสู้เพื่อการปลดปล่อย’ (emancipation war) ว่าอีกแบบก็คือ ใช้การก่อการร้ายในฐานะเครื่องมือเพื่อนำไปสู่ข้อเรียกร้องจากการปลดแอกตัวเองจากการโดนกดขี่ ทำให้การก่อการร้ายในยุค 1930s-1990s หลายๆ ครั้งได้รับการสนับสนุนหรือกระทั่งเห็นอกเห็นใจเสียด้วยซ้ำ อย่างกลุ่มของเนลสัน แมนเดล่า ในการต่อสู้ปลดแอกคนดำจากการปกครองของคนขาว, กลุ่มปาเลสไตน์ที่ต่อสู้กับรัฐบาลอิสราเอล หรือกลุ่ม IRA ที่พยายามปลดแอกตนเองจากการปกครองของสหราชอาณาจักร
จุดเด่นของการก่อเหตุพวกนี้คือ เน้นการก่อความรุนแรงในทางสัญลักษณ์โดยไม่ได้สนใจว่าจะมีเหยื่อหรือไม่ (คือ ถ้ามีขึ้นมาก็ไม่ได้แคร์มากนัก แต่ไม่มีก็ไม่เป็นไร)
ฉะนั้นการก่อเหตุแบบพวกระเบิดอนุสาวรีย์ หรือสถานที่ราชการ อะไรพวกนี้จึงเป็นสิ่งที่พบได้มาก แต่จุดที่ผมคิดว่าเป็นความต่างของเหตุการณ์ระเบิดครั้งนี้ก็ตามที่บอกไปแต่แรกคือ มันไม่ใช่ ‘ไม่แคร์ว่าจะเกิดเหยื่อขึ้นหรือไม่’ ด้วยซ้ำ แต่มันดูราวกับ ‘จงใจให้เกิดเหยื่อน้อยที่สุดหรือไม่เกิดเลย’ ด้วยซ้ำ ว่าอีกแบบก็คือ ‘ดูจะแคร์เรื่องเหยื่อ’ มากเลยทีเดียว แต่แคร์ให้ไม่เกิดหรือจำกัดวงให้มากที่สุด ไม่เช่นนั้น การระเบิดในพื้นที่แบบศูนย์ราชการ, พระราม 9, หรือตึกมหานครในช่วง rush hour ขนาดนั้น คงยากมากที่จะเกิดเหยื่อ ‘น้อยขนาดนี้ได้’ และเหยื่อก็ไม่มีใครอยู่ในระดับบาดเจ็บสาหัสหรือถึงแก่ชีวิตเลย
อย่างไรก็ดี นับตั้งแต่สิ้นสุดสงครามเย็นในช่วงต้นของทศวรรษ 1990s นั้น วิถีการก่อเหตุกับประเทศมหาอำนาจในโลกไม่ค่อยจะใช้วิธีแบบ old terrorism อีกแล้ว แต่จะเน้นไปที่การก่อการร้ายแบบใหม่ หรือ new terrorism เป็นหลักเลย โดยเฉพาะตั้งแต่เหตุการณ์ 9/11 เป็นต้นมา จุดต่างสำคัญของการก่อเหตุแบบเก่ากับแบบใหม่นั้นคือเรื่อง ‘เหยื่อ’ ครับ ในขณะที่การก่อการร้ายแบบเก่าจะไม่ได้แคร์ว่าจะมีเหยื่อหรือไม่ การก่อการร้ายแบบใหม่นั้น ‘มุ่งให้มีเหยื่อ’ และเน้นให้มีเหยื่อจำนวนมากด้วย และรูปแบบนี้ได้กลายมาเป็นรูปแบบหลักของการก่อการร้ายสากลตั้งแต่เหตุการณ์ 9/11 และสงครามต่อต้านการก่อการร้ายได้เริ่มต้นขึ้น เรียกได้ว่าแทบจะไม่เห็นการก่อการร้ายแบบที่มีนัยสำคัญจริงๆ กับประเทศมหาอำนาจหรือการประชุมระดับนานาชาติอีกเลย
ไม่ใช่เพียงสหรัฐอเมริกาหรือจีน หรือไปถึงประเทศตะวันออกกลางที่โดนกันหนักสุดเลยนะครับ แม้แต่กับประเทศเพื่อนบ้านเราในอาเซียน อย่างฟิลิปินส์หรือมาเลเซียเองก็ตาม ก็ดูจะเข้าสู่รูปแบบใหม่นี้แล้วเหมือนกัน เพราะฉะนั้นหากจะบอกว่าการก่อเหตุระดับที่เกิดขึ้น เป็นไปเพื่อเรียกร้องต่อชาติมหาอำนาจหรือการประชุมนานาชาติ จริงๆ ผมว่าจะค่อนข้างแปลกประหลาดมากทีเดียว เพราะไปเรียกร้องด้วยวิธีการเรียกร้องที่ ‘รู้อยู่แต่แรกแล้วว่าทำกับประเทศเหล่านี้ไม่ได้ผล’ สหรัฐอเมริกานี่โดนเครื่องบินโหม่งใส่ตึกแฝดกลางแมนฮัตตันกับเพนตากอนมาแล้วนะครับ แล้วจะมาบอกว่าจะขู่ด้วย ‘ระเบิดปิงปอง’ ในประเทศไทยเนี่ยนะ? ผมว่าค่อนข้างตลกเลยทีเดียว ระเบิดปิงปองนี่อย่าว่าแต่ขู่รัฐบาลสหรัฐอเมริกาเลยครับ ไปเดินขู่แถวเท็กซัสนี่ก็อาจจะกลายเป็นรูพรุนไม่ทันรู้ตัวแล้วก็ได้ ฉะนั้นโดยส่วนตัวผมเลยให้น้ำหนักความเป็นไปได้กับกรณีนี้ต่ำมากๆ ต่ำที่สุดเลยครับ
ความเป็นไปได้ที่สาม คือ กรณีที่รัฐบาลสร้างสถานการณ์เอง ความเป็นไปได้นี้มองบนฐานว่า ‘ใครดูจะได้ประโยชน์มากที่สุดจากการก่อเหตุลักษณะนี้’ ผมคิดว่าหลายๆ ท่านก็พอจะนึกภาพออกอยู่แล้วว่า โดยโครงสร้างภาพรวมรัฐบาลดูจะได้ประโยชน์มากที่สุด ทำให้กระแสในสังคมและโซเชียลที่อภิปรายกันไปทั่วว่า ‘รัฐบาลสร้างสถานการณ์เอง’ แพร่กระจายทั่วไปหมด หากว่ากันตามตรรกะแล้วผมก็คิดว่ากรณีนี้มีความเป็นไปได้ทีเดียวครับ และอาจจะมีน้ำหนักมากที่สุดด้วยหากกลับไปอิงกับข้อสังเกตที่พูดถึงแต่ตอนแรก
หลายท่านที่มองถึงความเป็นไปได้นี้ โดยมากก็จะมองบนฐานว่าการทำแบบนี้จะเอื้อให้รัฐบาลสามารถ ‘รวมอำนาจ’ โดยเฉพาะอำนาจทางการเมืองการปกครองได้อย่างเหนียวแน่นมากยิ่งขึ้น และทำให้สามารถสร้างเงื่อนไขหรือกลไกพิเศษผ่านข้ออ้างทางความมั่นคงขึ้นมาได้นั่นเองครับ
ซึ่งวิธีการที่ว่านี้ไม่ใช่เรื่องแปลกประหลาดทางการทหารนะครับ
ยุทธวิธีทางการทหารแบบหนึ่งที่เรียกว่า false flag (operation) หรือปฏิบัติการธงปลอม เป็นที่รู้จักโดยทั่วไปในหมู่นักความมั่นคงศึกษาและนักการทหาร ทั้งยังถูกใช้หลายครั้งในประวัติศาสตร์ด้วย ไอ้ false flag นี้ว่ากันแบบง่ายๆ เลยมันก็คือ ปฏิบัติการแบบซ่อนเร้น (covert operation) แบบหนึ่งที่จงใจออกแบบให้ผู้สังเกตุการณ์เหตุการณ์นั้น ‘เข้าใจตัวผู้ก่อเหตุผิดไป’ โดยมักจะมาจากการปลอมแปลง หรือว่าจ้างตัวผู้ก่อเหตุให้มีลักษณะร่วมหรือเหมือนกับ ‘คนหรือกลุ่มคน’ ที่เราจงใจสร้างสถานการณ์ว่าเป็นผู้ก่อเหตุ หรือพูดแบบบ้านๆ ก็คือ ‘แอบใส่ร้ายป้ายสี’ นั่นแหละครับ (เน้นว่า ‘แอบๆ ทำ’ นะครับ)
ปฏิบัติการ false flag นี้ จริงๆ แล้วใช้กันโดยตัวรัฐบาลเองหลายครั้งในหลายประเทศด้วยนะครับ โดยเฉพาะในยุคสงคราม ทั้งสงครามรัสเซีย-สวีเดน, สงครามจีน-ญี่ปุ่นครั้งที่สอง, การปฏิวัติคิวบา, ฯลฯ (ผมคงจะสาธยายได้ไม่หมด) ทั้งนี้งานของ Agner Fog (2017) ที่ชื่อ Warlike and Peaceful Societies ได้ให้คำอธิบายถึงผลลัพธ์ในทางจิตวิทยาของปฏิบัติการ false flag อย่างน่าสนใจครับว่า มันทำให้เกิดปฏิกิริยาตอบสนองในทางจิตวิทยาที่เรียกว่า regal psychological reaction หรือก็คือ เมื่อเราหลงคิดไปว่าคนนั้นคนนี้เป็นศัตรูเพราะก่อเหตุรุนแรงขึ้น (ทั้งที่จริงๆ เค้าไม่ได้ทำ แต่โดน false flag) เรามีแนวโน้มที่จะเทใจให้กับวิธีคิดแบบอำนาจนิยม ไร้ความอดทนอดกลั้นต่อความแตกต่างขึ้นมา โดย Agner Fog ได้สรุปว่าปฎิบัติการ false flag นั้นมักถูกใช้งานเพื่อสิ่งเหล่านี้
- เพื่อสร้างแนวร่วมทางจิตวิทยาสำหรับสงครามตามแผนที่วางไว้
- เพื่อแผ้วทางสำหรับการเปลี่ยนถ่าย (transition) ไปสู่ความเป็นประชาธิปไตยที่ลดน้อยลง
- เพื่อรวมอำนาจรัฐบาลในเวลาที่อำนาจดูจะลดน้อยถอยลง
- เพื่อทำลายชื่อเสียงให้กับศัตรูโดยการโบ้ยความผิดไปให้มัน
อย่างไรก็ดี Agner Fog ได้บอกไว้ด้วยนะครับว่า ผลลัพธ์นี้จะกลับเป็นตรงกันข้ามไปเลยหากปฏิบัติการที่ว่ามัน ‘โป๊ะแตก’ หรือถูกคนจับได้ และคนที่จะถูกประณามก็จะกลายเป็นกลุ่มชนชั้นนำภายใน (internal elite) ไปเสียเอง
ที่ผมอธิบายเรื่อง flase flag มานั้นเพื่อจะบอกว่า ไม่ใช่เรื่องแปลกอะไรเลยครับ หากรัฐบาลจะทำอะไรแบบนี้ และต้องนับเป็นหนึ่งในความเป็นไปได้เสมอ อย่างไรก็ดี ความน่ากลัวของความเป็นไปได้นี้ก็คือ ‘อำนาจการตรวจสอบ ดำเนินคดี และค้นหาความจริงของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นล้วนอยู่ในมือของรัฐบาลเอง’ ฉะนั้นความเป็นไปได้นี้แม้จะไม่สามารถตัดทิ้งได้เลยในทางหลักการ แต่มันจะถูกตัดทิ้งหรือปฏิเสธทันทีโดยตัวรัฐบาลเอง เพราะฉะนั้นสิ่งเดียวที่ประชาชนในสังคมอย่างเราจะตรวจสอบได้จึงอยู่ที่การดูท่าทีของรัฐบาล รวมไปถึงผลพวงของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนี้ว่านำไปสู่การนำไปใช้ทำอะไรเพื่อเป็นประโยชน์กับตัวรัฐบาลเองหรือไม่นั่นเองครับ
อย่างไรก็ดี ความเป็นไปได้นี้ก็ไม่ใช่ว่าจะมีแต่จุดที่ดู ‘เข้าเค้า’ เสียทั้งหมด มีอยู่สองจุดที่ทำให้ผมเองมองว่าไม่เป็นเหตุเป็นผลนัก นั่นคือ ในกรณีที่จะบอกว่ารัฐบาลเป็นคนก่อเหตุนี้ขึ้นเอง นั่นย่อมแปลว่าเจ้าสัวใหญ่อย่าง King Power ต้องยอมให้เกิดเหตุในพื้นที่ของตัวเองด้วย แถมพื้นที่ที่เกิดเหตุยังเป็นตึกมหานครที่เพิ่งลงทุนซื้อมาด้วยเงิน 14,000 ล้านบาท ทั้งยังเป็นตึกที่ออกแบบไว้สำหรับให้ร้านค้ามาเช่า ออฟฟิศมาตั้ง เป็นทั้งโรงแรมไฮเอนด์ และคอนโดสุดหรู การยอมให้มีการเกิดเหตุวางระเบิดขึ้นได้ในพื้นที่แบบนี้ ย่อมทำให้เสียความเชื่อมั่นโดยเฉพาะด้านความปลอดภัยไปเป็นอย่างมากแน่นอน ซึ่งผมไม่แน่ใจว่าจะมีเจ้าสัวคนไหนที่เน้นการทำมาค้าขาย และแลกเปลี่ยนผลประโยชน์ผ่านตรรกะแบบทุนนิยมจะยินยอมกับเรื่องนี้ได้โดยง่าย (เว้นเสียแต่จะด้วยเงื่อนไขที่พิสดารมากๆ) อีกอย่างก็คือ รัฐบาลนี้เป็นรัฐบาล ‘ทหารนำ’ และข้ออ้างเดียวที่ยังพอทำให้อยู่รอดได้ในสภาก็คือข้ออ้างเรื่องความมั่นคงสังคมสงบ (ซึ่งควรต้องถกเถียงเรื่องนี้มากๆ) แต่การก่อเหตุในลักษณะนี้ดูจะเป็นการทำลายฐานที่ยืนตรงนี้อยู่บ้าง สองจุดนี้จึงเป็นความขัดกันที่ผมคิดว่าควรนำมาประกอบการพิจารณาด้วย
กระนั้นหากต้องชั่งน้ำหนักแล้ว ด้วยผลประโยชน์ภาพรวมทั้งหมด ผมก็คิดว่าความเป็นไปได้นี้มีน้ำหนักมากที่สุดอยู่ดี ผลประโยชน์ที่พึงได้นั้น Agner Fog ก็ได้กล่าวไปจนสิ้นแล้ว แต่หากผมจะเพิ่มเติมข้อสังเกตได้อีกสักเล็กน้อยก็คือ ช่วงหลังจากเหตุระเบิดที่ราชประสงค์นั้น ได้มีเหตุการณ์สร้างสถานการณ์ในลักษณะคล้ายคลึงกันนี้อยู่ แค่เป็นสเกลที่เล็กกว่าน่ะครับ หากใครยังจำเหตุการณ์ “ชายใส่เสื้อแดง” ใช้ระเบิดปิงปองก่อเหตุบริเวณท่าน้ำหลังเหตุการณ์ที่ราชประสงค์ได้ ผมคิดว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนี้ มีลักษณะร่วมกับครั้งนั้นไม่น้อยทีเดียว โดยเฉพาะเรื่องการพยายาม ‘จำกัดความรุนแรงและเหยื่อ’
ความเป็นไปได้ที่สี่ คือ การก่อเหตุโดยกลุ่ม BRN หรือกลุ่มผู้ก่อเหตุจากสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ในกรณีนี้แม้ความเป็นไปได้จะไม่ถึงกับมากนัก แต่จะบอกว่าน้อยก็ไม่ได้ด้วย ผมพูดบนฐานของข้อมูล 2 ชุดหลักๆ ครับ คือ (1) ลักษณะการก่อเหตุ และ (2) ประมวลจากเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในระยะที่ผ่านมาแล้วว่ามีเหตุปัจจัยที่จะก่อเหตุได้
ในแง่ของลักษณะการก่อเหตุนั้น ผมคิดว่าเหตุการณ์ระเบิดหลายจุดในกรุงเทพฯ ครั้งนี้นั้น มีความคล้ายกับการก่อเหตุระเบิดหลายจุดในพื้นที่เจ็ดจังหวัดภาคใต้ตอนกลางและตอนบนไม่น้อยทีเดียว แต่ก็ไม่ได้เหมือนกันเลยนะครับ คือ ครั้งนี้จงใจระวังไม่ให้มีคนบาดเจ็บมากเสียยิ่งกว่าซะอีก และในครั้งก่อนนู้นตำแหน่งในการวางระเบิดต่างๆ ดูจะมีความ ‘ตั้งใจที่จะซ่อน ไม่ให้คนพบเห็นได้โดยง่าย’ กว่าครั้งนี้มาก ที่หลายจุดดูจะวางเพื่อให้เห็นเสียอย่างงั้น นอกจากในแง่ของลักษณะการก่อเหตุที่คล้ายกันแล้ว วันที่เลือกก่อเหตุยังมีความใกล้เคียงกันด้วย คือช่วงใกล้วันแม่เหมือนกัน แม้ว่าอาจจะเป็นความบังเอิญ เพราะส่วนหนึ่งที่เหตุการณ์เมื่อปี พ.ศ. 2559 ใกล้ช่วงวันแม่นั้น มาจากว่า เป็นการก่อเหตุหลังการลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 ด้วย
ในแง่ของเหตุปัจจัยนั้น ผมคิดว่านอกจากท่าทีของรัฐบาลทหารในช่วงที่ผ่านมาจะแย่มากๆ แล้วในการจัดการปัญหาชายแดนภาคใต้ ข้อเสนอของทาง BRN ทั้งห้าข้อเองก็ถูกละเลย (ทั้งที่ข้อเสนอทั้งห้าข้อนั้น หากว่ากันจากมุมของคนศึกษาด้านก่อการร้ายแล้ว ต้องนับว่า ‘เบามาก และทำได้ทุกข้อ’ จริงๆ นะครับ) ไม่เพียงเท่านั้นผู้ต้องสงสัยว่าเกี่ยวข้องกับการก่อเหตุในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ยังเพิ่งจะมีข่าวว่าถูกทำร้ายในค่ายทหารจนโคม่ากันไปถึงสองราย ช่วงเวลาของเหตุการณ์ต่างๆ ที่ว่านี้เองทำให้ความเป็นไปได้ในเรื่องนี้มันมีน้ำหนักไม่น้อยที่จะต้องนำมาพิจารณาด้วย
ความเป็นไปได้ที่ห้า คือ การเตือนกันเองของอีลีตไทย ที่ผมเสนอแบบนี้มาจากการดูในเชิงสัญญะของสถานที่ที่เลือกก่อเหตุล้วนๆ เลย โดยไม่ได้สนใจความเกี่ยวข้องทางการเมืองอื่นๆ คือ สัญญะที่สถานที่ก่อเหตุแทบทั้งหมดนั้นบ่งชี้ไปก็คือ การท้าทายกับ network monarchy รุ่นก่อน ไม่ว่าจะเป็น ‘ข้าราชการ’ ในฐานะ ‘ข้าราชบริพาร’ (ศูนย์ราชการฯ), King Power, ถนนพระราม 9, และทหารเอง ไม่เพียงเท่านั้นการเมืองไทยในช่วงเวลาก่อนเกิดเหตุยังแสดงให้เห็นถึงความไม่เป็นเนื้อเดียวกันในหมู่ชนชั้นนำไทยได้บ้าง อย่างการไม่กล่าวคำปฏิญาณตนให้ครบถ้วน (และท่าทีกลืนไม่เข้าคายไม่ออกของวิษณุ เครืองาม ในเรื่องนี้), ท่าทีของฝั่งตำรวจเองกับการเปลี่ยนสายบังคับบัญชา และอื่นๆ
แม้สิ่งเหล่านี้จะไม่มีอะไรที่แน่นอน และเป็นเพียงแค่การโยงกึ่งการประเมินแบบลอยๆ (speculation) โดยอิงกับสัญญะของพื้นที่ที่เลือกก่อเหตุเท่านั้น แต่ผมก็คิดว่าควรจะนับ ‘การเตือนกันเองของอีลีต’ นี้ในฐานะความเป็นไปได้หนึ่งด้วย แม้มันจะต่ำมากก็ตาม
โดยสรุปแล้ว โดยส่วนตัวผมมองน้ำหนักของความเป็นไปได้ตามนี้ 3 > 4 > 1 > 5 > 2 ครับ ซึ่งน้ำหนักที่ผมให้อาจจะไม่ตรงกับหลายๆ ท่านก็ได้ แต่สิ่งหนึ่งที่ผมอยากจะย้ำก็คือ ‘ไม่มีความเป็นไปได้แบบใดที่ควรจะถูกตัดทิ้งไป จนกว่าจะมีหลักฐานที่ชัดเจนมาลบล้างความเป็นไปได้’ กระนั้น ความเป็นไปได้ที่น่ากลัวที่สุดก็คือ ความเป็นไปได้ที่ผู้ซึ่งมีอำนาจในการตรวจสอบความเป็นจริงของเหตุการณ์เป็นผู้ก่อเหตุเอง เมื่อนั้นความจริงที่ได้ตามมาก็หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะเป็นเพียง ‘ความจริงสมมติ’ หรือ ‘ความจริงที่ถูกอุปโลกน์ขึ้น’ เท่านั้น ซึ่งน่ากลัวมาก เพราะมันตรวจสอบ เอาผิด หรือทำให้ผู้ก่อเหตุที่แท้จริงรับผิดชอบไม่ได้ สิ่งเดียวที่เราพอจะทำได้ก็คือ การช่วยกันจับตาดู ท่าทีการจัดการกับเรื่องนี้ รวมไปถึงผลพวงของเรื่องนี้ว่าจะถูกนำไปใช้ต่อหรือไม่ และใช้อย่างไรด้วย
ผมทราบดีครับว่าผมเขียนแต่ต้นว่าพยายามจะเขียนโดยไม่ใช้อคติ แต่หลายท่านที่อ่านก็คงจะรู้สึกว่าผมอคติต่อรัฐบาล แต่หากท่านคิดเช่นนั้น ผมก็อยากให้กลับไปทวนดูในส่วน ‘ข้อสังเกตทั่วไป’ อีกครั้งนะครับ เพราะผมคิดว่ามันมีแนวโน้มที่บ่งชี้ถึง ‘ความผิดปกติหลายประการจริงๆ’ ฉะนั้นการให้น้ำหนักมาที่ตัวรัฐบาลมากที่สุดของผมนั้น ผมเชื่อว่าวางอยู่บนข้อมูลแวดล้อมที่บ่งชี้ไปสู่ข้อสรุปนี้อย่างมากเพียงพอ