ในตอนที่ผ่านมา เรากล่าวถึงศิลปินที่มีชีวิตส่วนตัว รวมถึงพฤติกรรมเลวร้าย ละเมิดศีลธรรม และฝ่าฝืนกฎหมาย ไม่ว่าจะเป็นการล่วงละเมิดทางเพศ กดขี่ข่มเหง ใช้ความรุนแรงกับเด็กและสตรี ไปจนถึงก่ออาชญากรรมอย่างการทำร้ายร่างกายผู้อื่น และฆ่าคนตาย
ซึ่งศิลปินหลายคนก็ลอยนวลรอดพ้นจากเงื้อมือกฎหมาย อาจจะด้วยเส้นสายหรือผู้มีอำนาจอิทธิพลหนุนหลัง อีกทั้งนักประวัติศาสตร์รุ่นหลังก็บันทึกแต่อัจฉริยภาพและคุณงามความดีโดยหลงลืมหรือจงใจละเว้นเรื่องราวเหล่านี้ไป บ้างก็ว่าพฤติกรรมส่วนตัวนั้นเป็นคนละส่วนกับผลงาน ควรแยกแยะออกจากกัน
แต่ก็อาจแยกได้ยากเสียหน่อย ถ้าศิลปินเหล่านั้นบังเอิญทำงานศิลปะด้วยการก่ออาชญากรรม ทำเรื่องผิดศีลธรรม ละเมิดกฎหมาย หรือไม่ก็เป็นอาชญากรเสียเอง
ดังเช่นในผลงานศิลปะจัดวางของศิลปินอเมริกัน ไมค์ เคลลี (Mike Kelley) ที่มีชื่อว่า Pay for Your Pleasure (1988) ที่ประกอบด้วยภาพวาดใบหน้าของเหล่าศิลปิน, กวี, ปัญญาชนเพศชาย (ผิวขาว) ผู้ล่วงลับ โดยมีคำพูดอ้างอิงของคนเหล่านั้นที่มีประเด็นเกี่ยวข้องกับความรุนแรง การทำลาย และการละเมิดกฎหมาย เขียนอยู่ด้านบนภาพ
นอกจากนั้น นิทรรศการนี้ยังแสดงผลงานของฆาตกรท้องถิ่นที่อยู่ในพื้นที่ที่นิทรรศการไปจัดแสดง อาทิ ภาพวาดของ จอห์น เวย์น เกซี (John Wayne Gacy) ฆาตกรต่อเนื่องผู้ล่วงละเมิดทางเพศ ทรมานและฆ่าเด็กชายและเด็กหนุ่มกว่า 30 คน ผู้ผันตัวมาเป็นจิตรกร และภาพวาดของ วิลเลียม โบนิน (William Bonin) ฆาตกรต่อเนื่องฉายา ‘นักฆ่าฟรีเวย์’ ที่ข่มขืน ทรมาน และฆ่าเด็กหนุ่มกว่า 20 คน
โดย เคลลี กล่าวถึงผลงานชุดนี้ของเขาว่า “ผมสงสัยว่าคนเราจะจัดการกับพลังทำลายล้างของตัวเองได้อย่างไร? การที่สื่อต่างๆ กลั่นกรองและนำเสนอเรื่องราวของอาชญากรเหล่านี้ให้ผู้ชมชมอย่างปลอดภัยไร้กังวล ก็ทำหน้าที่แบบเดียวกับศิลปะนั่นแหละนะ”
ในปี 1930 อองเดร เบรอตง (André Breton) กวี/นักวิจารณ์ศิลปะ และนักประพันธ์ชาวฝรั่งเศส ผู้ก่อตั้งและหัวหน้าลัทธิเซอร์เรียลลิสม์ (Surrealism) เคยกล่าวข้อเสนอแนะเอาไว้ในแถลงการณ์ฉบับที่สองของเซอร์เรียลลิสม์ (Second Manifesto of Surrealism) เอาไว้ว่า “การกระทำแบบเซอร์เรียลลิสม์ที่ง่ายที่สุด ก็คือการวิ่งรี่ไปบนถนนโดยมีปืนพกอยู่ในมือ และสาดกระสุนยิงแบบมั่วๆ อย่างเร็วที่สุดเท่าที่จะเร็วได้ไปยังฝูงชน” (ซึ่งภาพของ เบรอตง และประโยคนี้ของเขาก็ถูกนำไปใส่ในนิทรรศการ Pay for Your Pleasure ของเคลลีด้วย)
โชคยังดี ที่ไม่มีศิลปินเซอร์เรียลลิสม์คนไหนบ้าจี้ทำตามข้อเสนอแนะของเบรอตงจริงๆ แต่ถ้อยคำในแถลงการณ์นี้ของเขาก็เป็นการประเดิมและประกาศจุดยืนของการก่ออาชญากรรมในนามของศิลปะเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์
นับแต่นั้น ศิลปินหลายคนในยุคต่อมา ไม่เพียงฝ่าฝืนกฎหมายเพื่อทำงานศิลปะเท่านั้น แต่พวกเขาใช้การฝ่าฝืนกฎหมายเป็นสื่อและประเด็นในการทำงานศิลปะเลยด้วยซ้ำไป ไม่ว่าจะเป็นการขโมยผลงานศิลปะ, ปล้นธนาคาร, เสพ, ซื้อขายและแจกจ่ายยาเสพติดผิดกฎหมาย พวกเขาทดลองกระทำอาชญากรรมราวกับมันเป็นเทคนิคใหม่ๆ ในการสร้างสรรค์งานศิลปะ ไม่ต่างกับเทคนิคภาพพิมพ์ซิลค์สกรีน หรือวิดีโอ พวกเขาสำรวจนิยามและผลกระทบทางจิตวิทยาของอาชญากรรม ทั้งจากแง่มุมของเหยื่อและผู้กระทำ รวมถึงที่ทางของมันในสังคมและวัฒนธรรมด้วย
อาทิเช่น ในปี 1976 ศิลปินชาวสโลวีเนีย อูไลย์ (Ulay) (ผู้เคยเป็นคู่รักกับศิลปินเพอร์ฟอร์มานซ์ตัวแม่อย่าง มารินา อับราโมวิช นั่นแหละ) ที่ขณะนั้นอาศัยอยู่ในกรุงเบอร์ลิน ขับรถไปยังหอศิลป์แห่งชาติใหม่ (Neue Nationalgalerie) และแอบเข้าไปขโมยภาพวาด Der arme Poet (The poor poet) (1839) ของจิตรกรชาวเยอรมัน คาร์ล ชปิตซ์วีกค์ (Carl Spitzweg) ซึ่งเป็นผลงานชิ้นโปรดในดวงใจของ อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ แล้วนำไปแขวนให้ห้องนั่งเล่นของครอบครัวชาวบ้านชาวตุรกี โดยนักถ่ายหนังชาวเยอรมัน ยอร์ก ชมิดด์-ไรต์เวน (Jörg Schmidt-Reitwein) ได้บันทึกภาพเหตุการณ์นี้เอาไว้เป็นภาพยนตร์ ซึ่งผลลัพธ์ที่ออกมาก็คือผลงาน There Is a Criminal Touch to Art (1976) ที่นอกจากจะมีภาพยนตร์แล้ว ยังมีสคริปต์อธิบายวิธีการประกอบอาชญากรรมศิลป์ครั้งนี้ของเขาอีกด้วย
การกระทำครั้งนี้ทำให้เขาจับกุมและเจอข้อหาถูกจำคุกเป็นเวลา 36 วัน หรือถูกปรับเป็นเงิน 3,600 มาร์คเยอรมัน แต่เขาก็บินหนีออกจากประเทศไปเสียก่อน
เรียกว่าเขาประกอบอาชญากรรมในนามศิลปะ เผยแพร่มัน และพอทางการจับได้ ก็หนีไปแบบดื้อๆ (อนึ่ง ในปี 1989 ภาพวาดภาพนี้ยังถูกขโมยไปอีกครั้ง ในขณะที่มันถูกยืมไปแสดงในกรุงโคเปนเฮเกน, เดนมาร์ก ซึ่งคราวนี้ถูกขโมยไปจริงๆ ไม่ใช่การทำงานศิลปะแต่อย่างใด)
หรือในผลงานของศิลปินจอมป่วน เมาริสซิโอ คัตเตลาน อย่าง Another Fucking Readymade (1996) ที่ขโมยเอาผลงานของศิลปินคนอื่นมาแสดงเป็นของตัวเองหน้าตาเฉย โดยแรกเริ่มเดิมที คัตเตลานถูกชักชวนให้ทำผลงานไปแสดงในนิทรรศการกลุ่ม ที่ศูนย์ศิลปะ De Appel ในกรุงอัมสเตอร์ดัม แต่ในคืนก่อนวันเปิดนิทรรศการ คัตเตลานกลับดอดไปขโมยผลงานที่แสดงในหอศิลป์ Galerie Bloom ที่อยู่ในละแวกใกล้เคียงกัน รวมถึงหยิบฉวยเอาอุปกรณ์สำนักงานทั้งหมดของหอศิลป์มาแสดงในนิทรรศการ โดยใส่ชื่อว่าเป็นผลงานของเขาเองซะงั้น
คัตเตลานกล่าวว่า “การขโมยคือกลยุทธ์ในการอยู่รอด มันไม่ต่างกับใครบางคนที่ถูกจับเพราะขโมยอาหารในร้านค้าหรอก” เขาอ้างว่า ศูนย์ศิลปะ De Appel มีเวลาให้เขาทำงานสำหรับแสดงในนิทรรศการแค่เพียงสองอาทิตย์ ทั้งๆ ที่ปกติเขาต้องใช้เวลาหกเดือนในการทำอะไรสักอย่างขึ้นมา “ดังนั้น ผมเลยเลือกทางที่ลำบากน้อยที่สุด และสะดวกและรวดเร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้นั่นแหละ” (อ่านะ!)
อันที่จริงแล้ว ผลงานจารกรรมศิลป์ของคัตเตลานครั้งนี้เป็นการแสดงการเสียดสีความต้องการในการบริโภคงานร่วมสมัยอย่างแดกด่วนล้นเกินนั่นเอง
หลังจากต้องเผชิญกับความโกรธเกรี้ยวอย่างรุนแรงของเจ้าของหอศิลป์ Galerie Bloom ที่แจ้งตำรวจทันทีที่ได้ทราบเรื่อง แต่อย่างไรก็ดี คัตเตลานเองก็มีโอกาสแสดงผลงานที่ขโมยมาได้ในช่วงสองสามวันแรกของนิทรรศการ ก่อนที่จะต้องคืนมันให้กับหอศิลป์ที่เขาขโมยมา ที่น่าสนใจก็คือ การจารกรรมของคัตเตลานในครั้งนี้ ดูเป็นอะไรที่ผ่านการจัดการมาอย่างดี จนเหมือนเป็นการกระทำของคนใน ไม่อย่างนั้นก็ถือได้ว่าเป็นการจารกรรมอันสมบูรณ์แบบ ซึ่งตัวคัตเตลานก็ไม่ปริปากบอกถึงกระบวนการจารกรรมศิลป์ครั้งนี้ของเขา ทั้งๆ ที่ตัวเจ้าของหอศิลป์ Galerie Bloom ก็ออกจะสงสัยว่าเขาเข้าไปขโมยมาได้ยังไง (วะ!)
หรือผลงานชุด Fragments (2002–7) ของ ไอวาน เมาดอฟ (Ivan Moudov) ที่นำเสนองานศิลปะที่เขาขโมยมาในระหว่างการเดินทาง โดยเขากล่าวว่า ผลงานชุดนี้เป็นปฏิกิริยาต่อการขาดสถาบันศิลปะร่วมสมัยในบัลแกเรีย การขโมยของเขาเป็นการพยายามนำเอาความรู้กลับไปยังประเทศบ้านเกิดของเขา นอกจากนั้นมันยังเป็นหนทางที่จะทำให้เขามีความรู้สึกใกล้ชิดศิลปะยิ่งขึ้นอีกด้วย “ผมหลงใหลในความเชื่อของแอฟริกันที่ว่า เมื่อพวกเขาถลกหนังหัวของศัตรู พวกเขาจะได้พลังของศัตรูมา สำหรับผมมันอาจจะไม่ถึงขนาดนั้น แต่ผมคิดว่าเมื่อผมขโมยงานศิลปะเหล่านั้นมา มันทำให้ผมแข็งแกร่งขึ้น”
เช่นเดียวกับผลงานชุด Stolen Pieces (1995–97) ของศิลปินคู่หูชาวอิตาเลียน เอวา และ ฟรังโก มาเธอร์ (Eva & Franco Mattes) ที่ขโมยชิ้นส่วนเล็กๆ ของงานศิลปะชื่อดังและมีราคาแพงเวลาไปดูงานในพิพิธภัณฑ์ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น ชิ้นส่วนจากภาพวาดของ วาสซิลี คานดินสกี้ (Wassily Kandinsky) , ป้ายชื่อบนฐานประติมากรรมของ เจฟฟ์ คูนส์, ฝาขวดน้ำจากภาพวาดผสมผเสของ เอ็ดเวิร์ด คีนโฮลซ์ (Edward Kienholz) (เป็นของชิ้นแรกที่พวกเขาจิ๊กมา) และเศษกระเบื้องจากโถฉี่ของดูชองป์ เป็นอาทิ
โดยในปี 2010 เมื่อคดีความในการจารกรรมของเขาหมดอายุลง พวกเขาก็จัดแสดงชิ้นส่วนเล็กๆ ที่จิ๊กมาเหล่านี้ กับวิดีโอและภาพถ่ายบันทึกกิจกรรมการจิ๊กงานศิลปะในนามศิลปะ โดยพวกเขากล่าวว่า “การกระทำของพวกเราไม่ใช่การทำลายทรัพย์สินและงานศิลปะอย่างสิ้นเชิง ผมคิดว่ามันเป็นการแสดงการคารวะที่ยิ่งใหญ่ที่สุดเท่าที่ผมจะให้ได้แก่ศิลปินเหล่านั้น” ซึ่งออกจะเป็นข้ออ้างที่ฟังไม่ขึ้นสักเท่าไหร่ แต่มันก็ทำให้เกิดการตั้งคำถามว่า สิ่งที่คู่หูมาเธอร์ทำนั้นมันผิดร้ายแรงขนาดไหน แน่นอนล่ะว่าการขโมยเป็นสิ่งผิดกฎหมาย แต่พวกเขาก็ขโมยสิ่งที่ไร้ค่าไร้ราคา ซึ่งสิ่งที่พวกเขาทำนั้นเป็นการทำลายทรัพย์สินที่เป็นงานศิลปะของคนอื่น แต่ก็เป็นความเสียหายในระดับที่เล็กน้อยจนนักอนุรักษ์งานศิลปะผู้มีสายตาเฉียบคมที่สุดอาจสังเกตไม่ออกก็เป็นได้
ถ้าการขโมยงานศิลปะถือเป็นการกระทำความผิดเล็กน้อยจนแทบไม่เรียกว่าเป็นอาชญากรรม ศิลปินบางคนก็ทำอะไรที่ไปไกลและหนักข้อยิ่งกว่า
อาทิเช่น ผลงาน TV Hijack (1972) ของ คริส เบอร์เดน (Chris Burden) โดยในขณะที่กำลังให้สัมภาษณ์สดในรายการของสถานีโทรทัศน์แคลิฟอร์เนีย เขาลุกขึ้นมาจับ ฟิลิส ลุดจีนส์ (Phyllis Lutjeans) พิธีกรสาวของรายการเป็นตัวประกัน โดยถือมีดจี้คอและขู่เอาชีวิตเธอ หากรายการหยุดออกอากาศ ซึ่งเบอร์เดนกล่าวในภายหลังว่า เขาขู่เธอว่าจะทำให้เธอแสดงท่าทางลามกอนาจาร แต่ลุดจีนส์ให้สัมภาษณ์ว่า เขาไม่เคยพูดแบบนั้น และยังกล่าวว่า เธอจำได้ว่าเขาแอบกระซิบบอกเธอว่า “ฟิล, ไม่ต้องกังวลนะ” เธอเลยรู้ว่าเขาทำงานศิลปะอยู่
หรือผลงานของศิลปินและคนทำหนังอย่าง โจ กิบบอนส์ (Joe Gibbons) ที่ทำงานศิลปะด้วยการปล้นธนาคารในไชน่าทาวน์ โดยเขายื่นกระดาษโน้ตที่เขียนว่า “นี่คือการปล้น ต้องการแบงค์ใหญ่ ไม่ย้อมสี ไม่มีจีพีเอส” ให้พนักงานธนาคาร ซึ่งเขาได้เงินไปราว 1,000 เหรียญสหรัฐ และถ่ายทำเหตุการณ์ทั้งหมดด้วยกล้องวิดีโอขนาดเล็กที่ซ่อนเอาไว้ โดยเขาอ้างว่ามันเป็นศิลปะการแสดงสดที่วิพากษ์วิจารณ์ความหายนะทางการเงินอันเลวร้ายของสหรัฐอเมริกา แต่แน่นอนว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจไม่เก็ตมุกด้วย เขาถูกจับกุมตัวในข้อหาปล้นธนาคาร และถูกลงโทษจำคุกหนึ่งปีในเรือนจำที่นิวยอร์ก
มีผลงานศิลปะในประวัติศาสตร์หลายชิ้น เกี่ยวพันกับยาเสพติดผิดกฎหมายทั้งทางตรงและทางอ้อม แต่ผลงานอย่าง Cocaine Buffet (1998) ของศิลปินอเมริกัน ร็อบ พรุตต์ น่าจะเป็นอะไรที่ประเจิดประเจ้อและจะแจ้งที่สุด โดยเขาจัดแสดงผลงานศิลปะที่ประกอบด้วยแถบโคเคนบนกระจกเงายาว 16 ฟุต และเชิญแขกให้มาร่วมวงสูดโคเคนกันอย่างเมามัน ซึ่งถ้าดูจากปริมาณโคเคนในห้องก็น่าจะทำให้คนในห้องต้องโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งถึงเก้าปีตามกฎหมายสหรัฐแล้ว ซึ่งการที่พวกเขาไม่ถูกตำรวจบุกเข้ามาจับ ก็ไม่รู้ว่าเป็นเพราะโชคดีหรือเส้นใหญ่กันแน่
เมื่อเทคโนโลยีพัฒนาจนก้าวล้ำนำสมัยขึ้น อาชญากรก็ปรับตัวตามไปด้วย เช่นเดียวกับงานศิลปะหลายชิ้นที่เล่นกับประเด็นของอาชญากรรมทางเทคโนโลยี อาทิ ผลงานของ ดิเร็ค เฟรค (Derek Frech) และ แลรอน ฟลินต์ เจมิสัน (Aaron Flint Jamison) ที่สร้างผลงานศิลปะที่เปิดโอกาสให้ผู้ชมแจมสัญญาณวิทยุ, โทรศัพท์มือถือ และสัญญาณ Wi-Fi ของกันและกันได้ ซึ่งการกระทำแบบนี้เป็นสิ่งที่ผิดกฎหมายในหลายประเทศ รวมถึงในสหรัฐอเมริกาด้วย ผลงานที่หมิ่นเหม่ต่อการละเมิดกฎหมายเช่นนี้ก็ดูจะไม่ต่างอะไรกับการยื่นปืนที่บรรจุกระสุนให้คนแล้วปล่อยให้พวกเขาตัดสินใจกันเองว่าจะใช้มันหรือไม่
แต่ในอีกแง่หนึ่ง การละเมิดกฎหมายเพื่อแสดงการประท้วงหรือต่อต้านสิ่งที่ศิลปินเห็นว่าไม่เป็นธรรม ก็เป็นกิจกรรมที่เรียกว่าเป็น อารยะขัดขืน (civil disobedience) แบบหนึ่งด้วยเหมือนกัน เช่นในผลงานของศิลปินชาวรัสเซีย พีเทอร์ ปาฟเลนสกี้ (Petr Pavlensky) ที่จุดไฟเผาทางเข้าสำนักงานใหญ่ของสำนักงานความมั่นคงกลางของรัสเซีย (FSB) ในกรุงมอสโคว์ เพื่อแสดงการประท้วงระบอบการเมืองของรัสเซีย จนถูกเจ้าหน้าที่รัฐจับกุมคุมขัง
หรือศิลปินชาวเม็กซิกัน เม็กซิโม กามิเนโร (Maximo Caminero) ที่เข้าไปหยิบแจกันโบราณเพนต์สี ซึ่งเป็นผลงานของศิลปินชื่อดังชาวจีน อ้าย เว่ยเว่ย ที่แสดงในพิพิธภัณฑ์ศิลปะเปเรซ อาร์ต ที่ไมอามี มาโยนลงบนพื้นจนแตกละเอียด (เป็นนัยว่าเลียนแบบผลงาน Dropping a Han dynasty urn (1995) ของ อ้าย เว่ยเว่ย ที่ปล่อยแจกันโบราณสมัยราชวงศ์ฮั่นให้ตกแตก) โดยเขากล่าวว่า ที่เขาทำเช่นนี้ก็เพื่อเป็นการประท้วงที่ศิลปินท้องถิ่นในไมอามีไม่เคยมีโอกาสแสดงงานในพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ และทางพิพิธภัณฑ์ก็มัวแต่จ่ายเงินหลายล้านให้กับศิลปะต่างชาติอยู่นั่นแหละ แต่สิ่งที่เขาไม่รู้ก็คือแจกันใบนี้มีมูลค่าถึง 1 ล้านเหรียญสหรัฐ (ตอนนี้ก็คงรู้แล้วล่ะนะ)
หรือกิจกรรมเคลื่อนไหวเชิงสัญลักษณ์ที่เกิดขึ้นท่ามกลางบรรยากาศทางการเมืองอันไร้สิทธิเสรีภาพในการแสดงออกทางความคิดของบ้านเรา อย่างการ ‘อ่านหนังสือนิยาย’ หรือ ‘กินแซนด์วิช’ ในที่สาธารณะ ก็กลายเป็นกิจกรรมที่ละเมิดกฎหมายไปได้อย่างไรก็ไม่รู้เหมือนกัน ซึ่งก็สามารถเรียกว่าเป็นกิจกรรมศิลปะในเชิงอารยะขัดขืนได้เหมือนกัน
การทำงานศิลปะในรูปแบบของอาชญากรรม หรือ การก่ออาชญากรรมในนามของศิลปะทั้งหลายเหล่านี้ ศิลปินต่างสวมบทบาทเป็นวายร้าย ผู้เป็นทั้งศิลปินและอาชญากรพร้อมๆ กัน เพื่อนำเสนอและสื่อสารความคิดบางอย่างของพวกเขาออกมาอย่างจะแจ้ง ชัดเจน รุนแรง และแหลมคม แต่ในทางกลับกัน เมื่อรักจะสวนกระแสสังคม ต่อต้านค่านิยมของคนส่วนใหญ่ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ริจะละเมิดกฎหมายแล้ว ศิลปินเหล่านี้ก็จำต้องยอมรับผลที่จะตามมาด้วยเช่นเดียวกัน
ข้อมูลจาก