โดยปกติผมเป็นคนชอบดูหนังไม่ต่างอะไรกับคนอื่นๆ แต่ด้วยความที่มีอาชีพเกี่ยวข้องกับศิลปะ หนังที่ผมชื่นชอบและหลงใหลเป็นพิเศษเลยมักจะเป็นหนังที่มีเรื่องราวเกี่ยวกับศิลปะ ไม่ว่าจะเป็นหนังชีวประวัติศิลปิน หรือสารคดีเกี่ยวกับศิลปะและศิลปินต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หนังตลาดและหนังกระแสหลักธรรมดาๆ ที่หยิบเอางานศิลปะมาเป็นองค์ประกอบในหนัง
ถึงแม้ผมจะชอบดูหนังไทยขนาดไหนก็ตาม แต่น่าเสียดายที่คนทำหนังไทยไม่ค่อยหยิบเอางานศิลปะมาใช้ในหนังกันสักเท่าไหร่ เรียกได้ว่าแทบจะไม่มีเลยดีกว่า! (นอกจากจะเป็นหนังอาร์ตไปเลย) แต่ล่าสุด เมื่อไม่นานมานี้ ผมบังเอิญได้ดูหนังไทยเรื่องหนึ่งที่มีคุณสมบัติดังที่กล่าวมา หนังเรื่องนั้นมีชื่อว่า ‘มา ณ ที่นี้’ หรือในชื่อภาษาอังกฤษว่า Someone from Nowhere (2017)
ผลงานหนังเรื่องยาวลำดับที่ 2 ของ ปราบดา หยุ่น ที่เล่าเรื่องราวของหญิงสาวที่ตื่นเช้ามาทำกิจวัตรประจำวันตามปกติ แต่ก่อนจะออกไปทำงาน เธอก็พบชายหนุ่มที่ได้รับบาดเจ็บนอนสลบอยู่หน้าห้องพักในคอนโดมิเนียมของเธอ หลังจากที่เธอโทรแจ้งขอความช่วยเหลือจากเจ้าหน้าที่คอนโดฯ จู่ๆ ชายหนุ่มคนที่ว่าก็เข้ามานอนในห้องรับแขกของเธอ และเริ่มต้นพูดคุยกับเธอ ก่อนจะค่อยๆ คุกคามเธอด้วยการอ้างสิทธิ์ว่าตนเองคือเจ้าของที่แท้จริงของห้องนี้ และยิ่งหญิงสาวพยายามโต้เถียงและอ้างหลักฐานมายืนยันความเป็นเจ้าของห้องนี้เท่าไหร่ สถานการณ์อันแปลกประหลาดพิลึกพิลั่นก็ยิ่งเกิดขึ้นเท่านั้น และยิ่งนานเข้า ก็ยิ่งดูเหมือนว่า สถานการณ์ของหญิงสาวผู้เป็นเจ้าของห้องนั้นตกเป็นรองชายหนุ่มแปลกหน้าขึ้นทุกทีๆ
Someone from Nowhere ถูกคัดเลือกให้เข้าฉายในสายประกวด (Asian Future) ของเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติโตเกียว ครั้งที่ 30 ในปี 2017 ที่ผ่านมา ถึงแม้หนังจะไม่ได้รางวัลอะไรติดมือมา แต่ก็ได้รับการจับตาและเสียงชื่นชมจากนักวิจารณ์นานาชาติเป็นอย่างดี ด้วยความที่หนังเล่นกับสถานการณ์อันตึงเครียด กดดัน และสร้างความรู้สึกอึดอัด ไม่น่าไว้วางใจ ด้วยบทสนทนาและเรื่องราวที่ดำเนินด้วยตัวละครหลักเพียงสองคน และตั้งคำถามถึงอัตลักษณ์ ความทรงจำ การครอบครองและเป็นเจ้าของพื้นที่ รวมถึงแฝงเร้นความรู้สึกเหนือจริงได้อย่างลุ่มลึกคมคาย ยิ่งไปกว่านั้น มันยังเป็นหนังไทยไม่กี่เรื่องที่ใช้งานศิลปะเป็นองค์ประกอบสำคัญในหนัง โดยนอกจากจะเป็นอุปกรณ์ประดับฉากแล้ว มันยังทำหน้าที่เป็นตัวสร้างบทสนทนาและขับเคลื่อนเรื่องราวได้อย่างมีนัยยะสำคัญ ที่สำคัญ งานศิลปะที่ว่านี้เป็นของศิลปินคนโปรดของผมอีกด้วย ศิลปินผู้นั้นมีชื่อว่า
อ็องรี รูโซ (Henri Rousseau)
หรือในชื่อเต็มว่า อ็องรี ฌูว์เลียง เฟลิกซ์ รูโซ (Henri Julien Félix Rousseau, 1844-1910) จิตรกรชาวฝรั่งเศสผู้ไม่เคยร่ำเรียนศิลปะในสถาบันไหนเลย ในยามมีชีวิต เขาถูกเย้ยหยันจากเหล่าบรรดานักวิจารณ์ตลอดอาชีพการทำงาน แต่ภายหลังเขากลับเป็นที่รู้จักในฐานะศิลปินอัจฉริยะ ผู้ฝึกฝนการวาดภาพด้วยตัวเอง สร้างสรรค์ผลงานชิ้นเยี่ยมที่ส่งอิทธิพลอย่างมากต่อศิลปินหัวก้าวหน้าและศิลปินรุ่นหลังมาหลายยุคสมัย
อ็องรี รูโซเริ่มต้นอาชีพศิลปินเต็มตัวเมื่ออายุได้ 49 ปี หลังเกษียณจากงานที่สำนักงานศุลกากรปารีส ถึงแม้เทคนิคการวาดภาพแบบมือสมัครเล่นและองค์ประกอบอันแปลกประหลาดในภาพวาดของเขาจะเป็นที่เย้ยหยันของเหล่านักวิจารณ์ศิลปะในยุคสมัยของเขา แต่มันก็กลับเป็นที่นิยมและยกย่องจากเหล่าบรรดาศิลปินเอกแห่งยุคโมเดิร์น ในแง่ของการเปิดเผย ‘ความเป็นไปได้ใหม่ๆ ของความเรียบง่าย’
รูโซเป็นที่รู้จักจากผลงานภาพวาดป่าดงดิบอันเขียวชอุ่ม ทั้งๆ ที่ตัวเขาไม่เคยเข้าป่าจริงๆ ที่ไหนเลย (เอาจริงๆ ตลอดชีวิต เขาไม่เคยออกจากประเทศฝรั่งเศสเลยแม้แต่ครั้งเดียวด้วยซ้ำ) แต่เขามักไปเยี่ยมเยือนสวนสาธารณะ อุทยาน และสวนสัตว์ในปารีสอยู่บ่อยๆ
ถึงแม้จะมีความมาดหมายจะเป็นจิตรกรวาดภาพเหมือนจริงตามขนบแบบเดียวกับจิตรกรที่เขาหลงใหลได้ปลื้มอย่าง วิลเลี่ยม-อดอล์ฟ บูเกอโร (William-Adolphe Bouguereau) และ ฌอง-เลอ็อง เจอโรม (Jean-Léon Gérôme) แต่ในทางตรงกันข้าม ศิลปินผู้เป็นแบบอย่างของศิลปะแนว นาอีฟ (Naïve art) หรือ ศิลปะไร้เดียงสา ผู้ฝึกฝนการวาดภาพด้วยตัวเองผู้นี้ ก็พัฒนาสไตล์ที่แสดงออกถึงการขาดไร้การฝึกฝนการวาดภาพตามขนบอย่างชัดแจ้งออกมา ไม่ว่าจะเป็นสัดส่วนที่ผิดเพี้ยน ทัศนียภาพแบบจุดเดียว และการใช้สีสันอันจัดจ้านและไม่เป็นธรรมชาติในการวาดภาพ ซึ่งคุณลักษณะดังกล่าวก็ส่งผลให้งานของเขาเต็มไปด้วยความรู้สึกอันลึกลับและแปลกประหลาดพิสดาร
งานศิลปะอันมีลักษณะเฉพาะตัวที่ไม่ได้เกิดจากการเล่าเรียนจากสถาบันศิลปะไหนๆ ของรูโซมักถูกเยาะเย้ยโดยผู้คนที่เห็นงานของในครั้งแรกๆ สื่อมวลชนชาวปารีสบางคนถึงกับเขียนวิจารณ์งานของเขาว่า “เมอซีเยอรูโซน่าจะหลับตาแล้วใช้ตีนของเขาวาดภาพ” แต่ในขณะเดียวกัน ภาพวาดของเขาก็ไปเตะตาศิลปินโมเดิร์นอย่าง ปีกัสโซ ผู้เห็นว่างานของรูโซเป็นตัวอย่างของความจริงและความตรงไปตรงมา ซึ่งพวกเขาปรารถนาจะให้มีในงานของตัวเอง โดยการหยิบฉวยเอาแรงบันดาลใจจากหน้ากากชนเผ่าแอฟริกัน และศิลปะของชนเผ่าพื้นเมืองต่างๆ
ผลงานของรูโซ ได้รับอิทธิพลมาจากส่วนผสมของรสนิยมทั้งชั้นสูงและชั้นต่ำ ไม่ว่าจะเป็นประติมากรรมคลาสสิกตามแบบแผน โปสการ์ด หรือภาพประกอบในหนังสือพิมพ์แทบลอยด์ และจากการไปเที่ยวชมสวนสัตว์ สวนสาธารณะ และอุทยานป่าต่างๆ รูโซสร้างสรรค์ผลงานออกมาเป็นภาพวาดอันล้ำสมัย แปลกแหวกแนว แต่ก็นำเสนอเรื่องราวปกติธรรมดาสามัญตามแบบแผน อย่างภาพทิวทัศน์ ภาพบุคคล และ ภาพวาดเชิงอุปมานิทัศน์ (Allegorical : การเล่าเรื่องโดยใช้สัญลักษณ์เปรียบเทียบแทนการบอกเล่าความหมายโดยตรงหรือการใช้ภาษาเขียนออกมา) ด้วยภาพลักษณ์อันน่าอัศจรรย์บางครั้งดิบเถื่อน อันเป็นผลจากการผสมผสานของแรงบันดาลใจอันหลากหลาย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผลงาน The Dream (1910) ภาพวาดผู้หญิงเปลือยนอนเอนกายบนเก้าอี้ยาวที่ตั้งอยู่อย่างน่าพิศวงในป่าเขตร้อน ภาพนี้ได้รับการยกย่องอย่างมากโดยศิลปินกลุ่มเซอร์เรียลลิสต์ ซึ่งมักจะทำงานศิลปะอันแปลกประหลาดพิลึกพิลั่นและมีอารมณ์คล้ายกับความฝัน อันเป็นลักษณะอันโดดเด่นที่พบในงานของรูโซนั่นเอง
“เมื่อผมก้าวเข้าไปในสวนเขตร้อนในเรือนกระจก และได้เห็นบรรดาพืชพรรณไม้แปลกๆ จากต่างแดน มันทำให้ผมรู้สึกราวกับว่ากำลังอยู่ในความฝัน”
รูโซเกิดในปี 1844 ในเมืองลาวาล ประเทศฝรั่งเศส เขาหลงใหลในการวาดภาพมาตั้งแต่เด็กๆ แต่เขาก็ไม่ได้เข้าเรียนทางด้านศิลปะ หลังจบการศึกษา ครอบครัวเขาย้ายไปอยู่ที่เมืองอ็องเชร์ รูโซได้งานเป็นเสมียนในสำนักงานกฎหมายท้องถิ่น ถึงแม้เขาจะได้รับใช้ชาติในกองทัพฝรั่งเศสเป็นเวลาเจ็ดปี แต่ก็เป็นการประจำการอย่างปกติธรรมดา ไม่ได้ออกไปรบรากับใครที่ไหน แต่เขาก็มักจะใส่สีตีไข่เรื่องราวในกองทัพของเขาอย่างบรรเจิด หนึ่งในเรื่องผจญภัยที่เขาปั้นแต่งขึ้นมาก็คือ การเข้าไปมีส่วนร่วมในการปลุกระดมการปฏิวัติต่อต้านจักรพรรดิแมกซิมิเลียนแห่งเม็กซิโก ซึ่งเขาอวดอ้างว่าเขาต้องออกไปบุกป่าฝ่าดงพงไพร ซึ่งนั่นเป็นที่มาของแรงบันดาลใจ (หลอกๆ) ในการวาดภาพของเขาในภายหลังนั่นเอง
หลังออกจากกองทัพ เขาทำงานเป็นพนักงานตรวจสอบสินค้าในสำนักงานศุลกากร จนทำให้เขาได้ชื่อเล่นว่า ‘Le Douanier’ หรือ ‘ศุลการักษ์’ (ก็เจ้าหน้าที่ศุลกากรนั่นแหละ) ในช่วงนี้เองที่เขาวาดภาพขึ้นมาเป็นครั้งแรก ไม่มีการบันทึกช่วงเวลาเริ่มต้นในการทำงานศิลปะของเขาอย่างแน่ชัด แต่เขาอ้างว่าเขาเริ่มต้นวาดภาพเมื่ออายุสี่สิบปี (หรือในช่วงปี 1884) ซึ่งตรงกับช่วงเวลาที่เขาได้รับใบอนุญาตให้คัดลอกภาพวาดในพิพิธภัณฑ์ลูฟวร์ได้ โดยเขาค่อยๆ ฝึกฝนวาดรูปในช่วงเวลาที่ว่างจากการทำงาน
ถึงแม้ผลงานในช่วงแรกๆ ของเขาจะถูกปฏิเสธจากซาลง หรือนิทรรศการแสดงศิลปะแห่งชาติ แต่ท้ายที่สุด เขาก็ได้แสดงงานเป็นครั้งแรกกับกลุ่ม Société des Artistes Indépendants (ชุมนุมศิลปินอิสระ) ในปี 1885 โดยภาพวาดสองชิ้นที่ถูกคัดเลือกไปแสดงในนิทรรศการในครั้งนั้นยังแสดงออกถึงความก้ำกึ่งลังเลระหว่างการทำงานศิลปะตามแบบแผนและงานศิลปะสมัยใหม่ ในปีถัดมา กลุ่ม Société des Artistes Indépendants ก่อตั้งซาลงของตัวเองขึ้นมา (รูโซเข้าร่วมแสดงงานอย่างสม่ำเสมอแทบทุกปี จวบจนวาระสุดท้ายของชีวิต) ซึ่งนิทรรศการแรกในซาลงของศิลปินอิสระ ก็นำเสนอผลงาน A Carnival Evening (1886) ภาพวาดชิ้นแรกของรูโซที่แสดงออกถึงความแปลกประหลาด อันมีลักษณะและการจัดองค์ประกอบเหนือจริงราวกับอยู่ในความฝัน ซึ่งเป็นวิวัฒนาการของเอกลักษณ์เฉพาะตัวในงานศิลปะของเขาอย่างเต็มที่
ในปี 1889 รูโซเดินทางไปยังปารีสเพื่อเที่ยวชมงานเวิลด์แฟร์ การท่องเที่ยวครั้งนี้ส่งแรงบันดาลใจให้กับงานของเขาอย่างมาก และตัวงานเวิลด์แฟร์เองก็กลายเป็นฉากหลังในภาพวาด Myself: Portrait-Landscape (1890) ของเขา
ภาพวาด Myself: Portrait-Landscape (1890) และผลงาน Tiger in a Tropical Storm (Surprised!) (1891) ภาพวาดป่าดงดิบที่เป็นที่รู้จักมากที่สุดภาพหนึ่งของเขาถูกแสดงในซาลงของศิลปินอิสระในปี 1891 ด้วยความซื่อใสไร้เดียงสา ตรงไปตรงมาไร้จริตมารยาของพวกมัน ทำให้นักวิจารณ์ศิลปะที่ได้เห็นในเวลานั้นต่างก็เย้ยหยันและถากถางผลงานของเขาเสียไม่มีชิ้นดี
หลังเกษียณอายุจากการทำงานที่สำนักงานศุลกากรในปี 1893 รูโซในวัย 49 ปี ก็กลายมาเป็นศิลปินอาชีพเต็มเวลา เขาวาดภาพ War (1894) และแสดงในซาลงของศิลปินอิสระ ซึ่งกลายเป็นจุดเปลี่ยนในอาชีพศิลปินของเขา ภาพวาดเชิงอุปมานิทัศน์เกี่ยวกับสงครามขนาดใหญ่ภาพนี้ทำให้เขาได้รับคำวิพากษ์วิจารณ์ในแง่บวกจากสื่อมวลชนเป็นครั้งแรก (และครั้งเดียว) ในหนังสือพิมพ์ Mercure de France มันยังดึงดูดความสนใจของกวีและนักเขียน อัลเฟรด แจร์รี (Alfred Jarry) ที่ตีพิมพ์ภาพวาดภาพนี้ลงในนิตยสารของเขา (รูโซเคยวาดภาพเหมือนของแจร์รีเอาไว้ในปี 1895 แต่แจร์รีกลับทำลายมันทิ้ง อันเป็นพฤติกรรมส่วนตัวของเขาที่ชอบทำลายภาพถ่ายและภาพวาดของตัวเอง นัยว่าเพื่อความแปลกใหม่อะไรทำนองนั้น)
ในช่วงปี 1898 และ 1900 รูโซเข้าร่วมการแข่งขันวาดภาพอาคารสำนักงานเทศบาลของเมืองแวงแซนน์ และเมืองอัสนิแยร์ ซูร์ แซน แต่ก็คว้าน้ำเหลว หลังจากนั้น รูโซผู้เพียรเสาะแสวงหาชื่อเสียงและการยอมรับตลอดมาก็เริ่มตระหนักได้ว่า ถึงแม้ผลงานภาพวาดป่าดงดิบของเขาจะถูกวิจารณ์อย่างอื้อฉาว แต่มันก็ทำให้เขาได้รับความสนใจจากสาธารณชนอย่างมาก เขาจึงหันกลับมาวาดภาพในแนวนี้ จนออกมาเป็นผลงาน Scouts Attacked by a Tiger (1904) ซึ่งได้รับเสียงวิจารณ์อย่างอื้อฉาว แม้จะในแง่ลบ แต่ก็ทำให้ชื่อของเขากลับมาสู่สายตาของสาธารณชนอีกครั้ง
ในช่วงนั้นเองที่ศิลปินรุ่นใหม่ๆ เริ่มหันมาสนใจผลงานของรูโซ ซึ่งดูเหมือนจะมีความเชื่อมโยงใกล้ชิดกับงานศิลปะดึกดำบรรพ์ของชนเผ่าต่างๆ จนกลายเป็นที่นิยมในหมู่สมาชิกของศิลปินอาว็อง-การ์ด (Avant-garde) หรือศิลปินหัวก้าวหน้า เขาเริ่มซี้กับศิลปินรุ่นเยาว์ผู้มีชื่อเสียงโด่งดังในยุคนั้นอย่าง ฌอร์ฌ บรัก (Georges Braque), ปาโบล ปีกัสโซ, กีโยม อาปอลีแนร์ (Guillaume Apollinaire) และ โรแบรต์ เดอโลเน (Robert Delaunay) เป็นอาทิ
ในปี 1906 รูโซพบกับวิลเฮล์ม อูห์เดอ (Wilhelm Uhde) นักสะสมงานศิลปะและนักวิจารณ์ชาวเยอรมัน ซึ่งเป็นผู้สนับสนุนผลงานในช่วงบั้นปลายชีวิตของรูโซ และช่วยจัดแสดงนิทรรศการเดี่ยวครั้งแรกในชีวิตของเขาในปี 1908 ถึงแม้นิทรรศการที่ว่าจะประสบความล้มเหลวอย่างสิ้นเชิง แต่ในปีเดียวกัน ปีกัสโซก็บังเอิญซื้อภาพวาด Portrait of a Woman (1895) ของเขาได้จากร้านค้ามือสอง และเฉลิมฉลองการได้มาซึ่งภาพวาดนี้ ด้วยการจัดปาร์ตี้ (อันกลายเป็นตำนานในเวลาต่อมา) ที่เชื้อเชิญแขกผู้มีชื่อเสียงมากหน้าหลายตา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เกอร์ทรูด สเตน (Gertrude Stein) กวี, นักเขียน และนักสะสมงานศิลปะชาวอเมริกันผู้ทรงอิทธิพลเหลือล้นในยุคนั้น และเชิญรูโซมาเป็นแขกผู้มีเกียรติคนสำคัญ โดยให้เขานั่งบนบัลลังก์ที่ทำขึ้นจากเก้าอี้ตั้งอยู่บนลังบรรทุกสินค้า แถมขับกล่อมด้วยเพลงวอลซ์อย่างครื้นเครง
ถึงแม้จะได้รับความนิยมชมชอบในหมู่มิตรสหายศิลปิน แต่มันก็ไม่ได้ทำให้รูโซหลุดพ้นจากการถูกคนส่วนใหญ่มองว่าเป็นตัวตลกในโลกศิลปะอยู่ดี และเขาเองก็ยังคงมีชีวิตอย่างยากไร้ขัดสนจวบจนวันสุดท้ายของชีวิต อ็องรี รูโซ เสียชีวิตในปี 1910 จากอาการฝีอักเสบที่ขา
หลังจากที่รูโซเสียชีวิตลง เหล่าบรรดาเพื่อนศิลปินร่วมรุ่นของเขาก็มีบทบาทอย่างสูงในการเผยแผ่ชื่อเสียงของเขาให้ขจรขจายไปอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็น มักซ์ เวเบอร์ (Max Weber) ศิลปินคิวบิสม์ชาวอเมริกัน-ยิว ที่เป็นผู้แนะนำผลงานของรูโซสู่สายตาของผู้ชมชาวอเมริกัน ในนิทรรศการศิลปะที่นิวยอร์กในปี 1910 ตามมาด้วยนิทรรศการรำลึกถึงรูโซที่จัดขึ้นโดยโรแบรต์ เดอโลเน ที่ซาลงของศิลปินอิสระในปีถัดมา ในปีเดียวกัน วิลเฮล์ม อูห์เดอก็ยังตีพิมพ์หนังสือชีวประวัติของรูโซขึ้นมาเป็นครั้งแรก สร้างความประทับใจให้กับศิลปินนามธรรมชื่อดังอย่าง วาสซิลี คันดินสกี ผู้ต่อมาได้ซื้อภาพวาดของรูโซมาสองภาพ รวมถึงจำลองภาพวาดของเขาลงตีพิมพ์ในวารสาร The Blaue Reiter (Blue Rider) Almanac ของเขาในปี 1912 อีกด้วย
ด้วยการดึงดูดความสนใจอันแปลกพิสดารที่นำมาซึ่งความลึกลับสู่พื้นที่ธรรมดาสามัญหรือพื้นที่อันประหลาดล้ำ ผลงานของรูโซทิ้งรอยประทับแห่งแรงบันดาลใจอันไม่อาจลบเลือนให้กับศิลปินรุ่นหลังและรุ่นต่อๆ ไปในอนาคต ด้วยผลงานศิลปะที่ทำจากเทคนิคที่ไม่ผ่านการเรียนในสถาบันที่ไหนเลย ซึ่งเต็มไปด้วยความรู้สึกอันเรียบง่าย จริงใจ ไร้เดียงสา เหมือนเด็กๆ ที่โดนใจเหล่าศิลปินโมเดิร์นแห่งศตวรรษที่ 20 ผู้โอบรับศิลปะดึกดำบรรพ์ของชนเผ่าแอฟริกันและศิลปะพื้นเมืองของรัสเซียอย่างปีกัสโซและคันดินสกีอย่างแรง ยิ่งไปกว่านั้น รูโซยังถูกยกย่องว่าเป็น ‘เซอร์เรียสลิสต์ผู้มาก่อนกาล’ โดยเจ้าลัทธิเซอร์เรียสลิสม์อย่างอ็องเดร เบรอตงด้วยงานศิลปะที่ดูคล้ายกับความฝัน ไร้เหตุผล มีคุณลักษณะทางอภิปรัชญา และใช้สีสันสดใส เส้นสายคมกริบชัดเจนอันเป็นต้นธารของงานศิลปะของศิลปินกลุ่มเซอร์เรียลลิสม์อย่าง เรอเน มากริต (René Magritte) และ จอร์จิโจ เดอ คิริโก (Giorgio de Chirico)
และผลงานของรูโซก็น่าจะสร้างความประทับใจอะไรบางอย่างให้กับคนทำหนังอย่าง ปราบดา หยุ่น จนหยิบมันมาใช้เป็นองค์ประกอบสำคัญในหนังเรื่องล่าสุดของเขาอย่าง Someone from Nowhere ซึ่งภาพวาดของรูโซที่ปราบดาเลือกมาใส่ในหนังของเขานั้นมีชื่อว่า
The Snake Charmer (1907)
The Snake Charmer (1907) เป็นภาพวาดที่ เคานท์เต แบรกธ์ ฟิลิซี เดอ โรส (Countess Berthe Félicie de Rose) แม่ของ โรแบรต์ เดอโลเน ศิลปินผู้เป็นเพื่อนสนิทของรูโซเป็นผู้จ้างวานให้เขาวาดขึ้นมา รูโซน่าจะตัดสินใจวาดภาพนี้หลังจากได้ยินเรื่องราวเกี่ยวกับประสบการณ์ของเธอในประเทศอินเดีย ในภาพแสดงให้เห็นร่างอันลี้ลับของหมองูสาวที่ห้อมล้อมด้วยเหล่าบรรดาอสรพิษ เธอพรางกายอยู่ในเงามืดของแมกไม้ ยกเว้นดวงตาที่ส่องแสงเรืองรองจนดูราวกับเป็นสัตว์ป่าตัวหนึ่ง ความนิ่งงันอันแปลกประหลาดในภาพที่เป็นอารมณ์อันเป็นบุคลิกเฉพาะตัวในภาพวาดของรูโซตลอดมา ส่งให้ภาพวาดนี้ดูคล้ายกับต้องมนต์ขลัง ราวกับเสียงขลุ่ยในมือของเธอกำลังสะกดโลกนี้ให้ตกอยู่ในภวังค์ก็ปาน รายละเอียดต่างๆ ในภาพวาดอย่างองค์ประกอบที่ไม่สมมาตร การใช้ลักษณะย้อนแสง และการใช้สีสันสดใสนั้นส่งอิทธิพลต่อการทำงานศิลปินเซอร์เรียลริสต์ชื่อก้องอย่างเรอเน มากริตอย่างชัดเจน
โดยปราบดากล่าวถึงเหตุผลที่เขานำภาพวาดของรูโซภาพนี้มาใช้ในหนังว่า
“เนื้อหาในหนังเรื่องนี้เกี่ยวกับการครอบครองอะไรบางอย่าง ถึงแม้จะไม่มีใครเป็นเจ้าของอะไรจริงๆ ก็ตาม แต่ ณ ชั่วขณะนึง ก็มีคนเป็นเจ้าของอะไรบางอย่างอยู่ดี ยกตัวอย่างเช่น การที่เราบอกว่า พื้นที่นี้เป็นพื้นที่สมมติที่เรียกว่า ประเทศไทย ซึ่งไม่ได้เป็นของใครจริงๆ แต่ ณ ขณะที่มีคนที่มีอำนาจยึดใช้พื้นที่นี้อยู่ มันก็มีสถานะเป็นของของคนที่มีอำนาจที่ยึดใช้อยู่นั่นเอง หนังเรื่องนี้เหมือนจะพูดถึงพื้นที่ที่ถูกแย่งชิง และมีเจ้าของจริงๆ มาทวงคืน แต่สุดท้ายมันก็เป็นวงจรกลับไปกลับมา ขึ้นอยู่กับว่าใครใช้มันอยู่ ณ ตอนนั้น
“เหตุผลที่ผมเลือกภาพวาดของอ็องรี รูโซมาใช้ในหนังนั้นมีที่มาจากความทรงจำในวัยเด็ก ในบ้านที่ผมโตมาตั้งแต่สมัยเด็กๆ มันมีภาพวาดเลียนแบบภาพของอ็องรี รูโซ อยู่ ซึ่งภาพนี้ก็ติดอยู่ในความทรงจำของเรามาตลอด สมัยเรียนศิลปะเราก็ไม่ได้ชอบเขาเท่าไหร่ รู้แต่ว่ามีอิทธิพลกับพวกดาดา (Dada) เซอร์เรียลลิสม์ สมัยนั้นเราคิดว่าเขาเป็นคนวาดรูปไม่สวยด้วยซ้ำไป พูดง่ายๆ ว่าวาดเหมือนเด็กน่ะ แต่พอโตขึ้น เราสนใจอะไรมากขึ้น แล้วพอได้เรียนรู้ชีวิตเขาจริงๆ เราก็สนใจเขาขึ้นมา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ความที่เขาไม่ใช่ศิลปินตามขนบแบบปกติ และการที่เขาใช้จินตนาการสร้างภูมิทัศน์หรือสัตว์ต่างๆ ที่เขาไม่เคยเห็นมาก่อนขึ้นมา ผมว่ามันมีความน่าสนใจ แล้วมันประจวบเหมาะกับช่วงที่เรากำลังจะทำหนังเรื่องนี้พอดี
“ด้วยความที่ในบทหนังมีภาพวาดเป็นตัวดำเนินเรื่องอยู่ในห้อง เราก็คิดว่าจะเอาภาพอะไรมาใช้ดี สุดท้ายก็มาจบที่ภาพของรูโซ เพราะมันมีประเด็นเรื่องที่เขาใช้จินตนาการสร้างพื้นที่ขึ้นมาโดยที่เขาไม่เคยไป แต่สิ่งที่เขาสร้าง เขาคิดว่ามันมีอยู่จริง เขาไม่ได้คิดว่าเขาสร้างพื้นที่แฟนตาซีขึ้นมา เขาคิดว่าเขาวาดภาพแอฟริกา หรือป่าแอมะซอนในความคิดเขาจริง ทั้งๆ ที่เขาไม่เคยไปต่างประเทศ หรือที่ที่เขาวาดภาพเลยด้วยซ้ำไป และภาพภาพนี้ก็มีองค์ประกอบหลายอย่างที่สอดคล้องกับเรื่องราวในหนัง”
(ซึ่งเรื่องราวที่ว่านี้จะเป็นอย่างไรก็คงต้องให้ไปดูกันเอาเองก็แล้วกัน)
มา ณ ที่นี้ : Someone from Nowhere (2017) กำลังจะเข้าฉายในโรงภาพยนตร์บ้านเรา ในวันที่ 23 สิงหาคม 2018 นี้ สามารถเช็กรอบและโรงฉายได้ที่เพจเฟซบุ๊ก Motel Mist + Someone From Nowhere
อ้างอิงข้อมูลจาก
https://www.theartstory.org/artist-rousseau-henri-artworks.htm#pnt_5
https://en.wikipedia.org/wiki/Henri_Rousseau
ขอบคุณภาพและข้อมูลจากคุณปราบดา หยุ่น, True visions / 185 Films