ผมเลี้ยงนกพิราบเสมอมา เลี้ยงพวกมันปีละพันๆ ตัว แต่มีเพียงตัวนี้ นกแสนงาม ขาวบริสุทธิ์ และมีปลายปีกสีเทาอ่อน ที่แตกต่างออกไป มันเป็นนกตัวเมีย ผมเพียงนึกถึงและส่งเสียงเรียก เธอก็จะบินมาหาผม ผมรักนกพิราบนี้เฉกเช่นผู้ชายรักผู้หญิง และเธอก็รักผม ตราบเท่าที่ผมมีเธออยู่ด้วย ชีวิตของผมก็มีเป้าหมาย
— นิโคลา เทสลา
1
เรารู้ว่า นิโคลา เทสลา (Nikola Tesla) คือนักวิศวกร นักประดิษฐ์ และนักวิทยาศาสตร์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดคนหนึ่งของโลก
สิ่งประดิษฐ์ที่อาจทำให้เขายิ่งใหญ่ทัดเทียม (หรือในสายตาของบางคนก็ยิ่งใหญ่กว่า) โธมัส อัลวาร์ เอดิสัน (Thomas Alva Edison) ก็คือการคิดค้นกระแสไฟฟ้าแบบสลับ หรือ AC ที่ในปัจจุบันนี้เราทุกคนใช้กันอยู่ทุกบ้าน
เทสลามีเชื้อสายเซอร์เบีย เขาเกิดในวันที่ 10 กรกฎาคม ค.ศ. 1856 (หรือ พ.ศ. 2399 ซึ่งอยู่ในช่วงราวๆ รัชกาลที่ 4 ของไทย) ในยุคที่เขาเกิด ดินแดนที่เขาอยู่ถือว่าเป็นจักรวรรดิออสเตรีย ทว่าในปัจจุบัน กลายเป็นส่วนหนึ่งของประเทศโครเอเชีย
เขาร่ำเรียนในสถาบันโพลีเทคนิคที่เมืองกราซ ออสเตรีย รวมไปถึงมหาวิทยาลัยปราก ก่อนจะย้ายไปทำงานที่บูดาเปสต์ และเมื่ออายุ 28 ปี ก็ได้ออกจากยุโรป มุ่งหน้าไปยังอเมริกา
เป็นที่นี่เอง ที่เขาได้ร่วมงานกับ โธมัส เอดิสัน ซึ่งตอนนั้นถือได้ว่าเป็นเจ้าพ่อธุรกิจพลังงาน เนื่องจากเอดิสันคิดค้นไฟฟ้ากระแสตรง (DC) ขึ้นมา และกำลังพยายามแผ่เครือข่ายไฟฟ้ากระแสตรงให้ทั่ว เพื่อจะเป็นมาตรฐานของประเทศ
เอดิสันจ้างเทสลาเข้ามาทำงานเรื่องนี้โดยตรง เพื่อปรับปรุงการประดิษฐ์ของเอดิสันให้ดีขึ้น แต่แล้วทั้งคู่ก็ไปด้วยกันไม่รอด เทสลาทำงานกับเอดิสันเพียงหกเดือน แล้วเขาก็ลาออก เหตุผลที่เขาไม่อยู่ที่นั่นต่อไม่ได้ชัดเจนนัก บางคนบอกว่า เป็นเพราะเขาไม่ได้รับเงินโบนัสที่เอดิสันสัญญาจะให้ โดยเอดิสันบอกเทสลาว่า เขาแค่พูดเล่นตลก แต่เทสลาไม่เข้าใจ ‘มุกอเมริกัน’
แต่หลายคนก็บอกว่า น่าจะเป็นเพราะบุคลิกของทั้งคู่เป็นคนละแบบ เอดิสันนั้นเป็นนักการตลาด เป็นคนที่มีหัวการค้า แต่เทสลาไม่ประสีประสา และไม่สนใจเรื่องทางการค้าเอาเสียเลย เขาค่อนข้างเปราะบาง เก็บตัว ไม่ยุ่งเกี่ยวสุงสิงกับใคร อันเป็นบุคลิกที่จะติดตัวเขาไปจนถึงวาระสุดท้าย
ชั่วชีวิตของเทสลา เขาค้นพบ ประดิษฐ์ และพัฒนาเรื่องสำคัญๆ หลายอย่าง เขาจดทะเบียนสิทธิบัตรสิ่งประดิษฐ์ราว 300 อย่าง ซึ่งก็มีทั้งไดนาโม มอเตอร์เหนี่ยวนำ เขายังเป็นผู้บุกเบิกเทคโนโลยีเรดาร์ เอ็กซ์เรย์ การควบคุมระยะไกลหรือรีโมทคอนโทรล รวมไปถึงสนามแม่เหล็กหมุนอันเป็นรากฐานของอุปกรณ์ที่ใช้ไฟฟ้ากระแสสลับทั้งหลาย รวมไปถึง ‘เทสลาคอยล์’ (Tesla Coil) ซึ่งสามารถสร้างกระแสไฟฟ้าแรงดันสูงมากๆ ขึ้นมาได้
แต่สิ่งประดิษฐ์ที่ทำเงินให้กับเทสลามากที่สุด
น่าจะเป็นระบบกระแสไฟฟ้าสลับ
นักธุรกิจอย่าง จอร์จ เวสติงเฮาส์ (George Westinghouse) สนใจในเรื่องนี้มาก และควักเงินซื้อสิทธิบัตรของเทสลาไป 60,000 เหรียญ เพื่อพัฒนาระบบกระแสไฟฟ้าสลับนี้ขึ้นมา ซึ่งเท่ากับกลายเป็นคู่แข่งโดยตรงกับโธมัส เอดิสัน ที่พยายามทำให้ไฟฟ้ากระแสตรงกลายเป็นมาตรฐานของประเทศอยู่ แต่เป็นไฟฟ้ากระแสสลับนี่เอง ที่ได้รับเลือกให้เป็นผู้จ่ายกระแสไฟในงาน World’s Columbian Exposition ในปีค.ศ. 1893 ที่ชิคาโก ทำให้เทสลาได้สาธิตระบบไฟฟ้ากระแสสลับในงานนี้ ซึ่งเท่ากับเขาเป็นผู้ชนะในศึกษากระแสไฟฟ้า
เทสลาเป็นคนที่หมกมุ่นอยู่กับการถ่ายทอดพลังงานแบบไร้สายมาก ในราวปีค.ศ. 1900 เขาได้รับทุนจากหลายที่ รวมไปถึงยักษ์ใหญ่อย่าง เจ.พี. มอร์แกน (J.P. Morgan) เพื่อให้สร้างห้องปฏิบัติการขึ้นมาที่ วาร์เดนคลิฟ (Wardenclyffe) แต่ปรากฏว่า มันกลายเป็นความล้มเหลวใหญ่ เขาถูกคู่แข่งเก่า คือ เอดิสัน ที่ร่วมทีมกับ กุเกลียลโม มาร์โคนี (Guglielmo Marconi) และนายทุนอย่าง แอนดรูว์ คาร์เนกี้ (Andrew Carnegie) คิดค้นเทคโนโลยีวิทยุขึ้นมา ซึ่งก้าวหน้าและประสบความสำเร็จกว่า สุดท้าย เทสลาก็ต้องทิ้งโครงการของเขาไป
โครงการนี้กลายเป็นบาดแผลทั้งทางความรู้สึกและทางการเงินด้วย เพราะหลังปิดห้องปฏิบัติการที่วาร์เดนคลิฟลงสองปี เขาก็ล้มละลาย
ในระยะหลัง แนวคิดของเทสลาเริ่มหลุดโลกและปฏิบัติจริงไม่ได้มากขึ้นเรื่อยๆ เขาแปลกประหลาดขึ้น เก็บตัวมากขึ้น เขาถึงกับถูกเอฟบีไอคอยสะกดรอยตาม เนื่องจากเขาประกาศจะสร้าง ‘รังสีมรณะ’ (Death Ray) อันเป็นอาวุธร้ายกาจ และอเมริกากลัวว่าเขาจะแอบส่งไอเดียนี้ให้กับรัสเซียในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง
2
นิโคลา เทสลา ไม่มีบ้าน
เขาอาศัยอยู่ในโรงแรมเป็นหลัก เขาพักที่โรงแรมวัลดอร์ฟ แอสโทเรีย ในนิวยอร์ก ราว 22 ปี จากปีค.ศ. 1900-1922 แต่การอยู่ในโรงแรมไม่ใช่เรื่องประหยัดเลย ดังนั้น เมื่อฐานะทางการเงินย่ำแย่ลง เขาจึงต้องย้ายโรงแรมหนี เนื่องจากไม่ได้จ่ายค่าเช่าห้อง เขาไปพักอยู่ในโรงแรมอย่างเซนต์รีจิส โรงแรมเพนซิลวาเนีย โรงแรม Governer Clinton หรือโรงแรม Marquery แต่โรงแรมที่กลายเป็นที่พำนักสุดท้ายในชีวิตของเขา ก็คือโรงแรม New Yorker
ที่จริงแล้ว เทสลาเป็นคนรังเกียจความสกปรกอย่างยิ่ง เขาไม่ชอบเชื้อโรค เขากลัวว่าเชื้อโรคต่างๆ จะทำให้เขาป่วย
แต่เรื่องประหลาดก็คือ เขากลับเป็นมิตรกับนกพิราบอย่างยิ่ง
ไม่ใช่นกพิราบตัวใดตัวหนึ่ง แต่คือนกพิราบทั้งหลายแหล่ที่บินว่อนอยู่ตามที่สาธารณะ ทั้งในเซ็นทรัลปาร์ค และไบรอันท์ปาร์ค หน้าห้องสมุดกลางของนิวยอร์ก
เทสลาเอาอาหารไปเลี้ยงนกพิราบที่เฮรัลด์สแควร์ ในไบรอันท์ปาร์ค อันเป็นลานกว้างหน้าห้องสมุดกลางของนิวยอร์คติดต่อกันเป็นเวลานานเกือบสามสิบปี
ไม่—เขาไม่ได้ไปในเวลากลางวัน เทสลามักไปที่นั่นหลังเที่ยงคืน คล้ายว่ายามนั้นมีมนตราบางอย่างสำหรับเขา เขาจะส่งเสียงผิวปากเบาๆ แล้วนกพิราบก็จะมารายล้อม บางตัวมาเกาะที่บ่าและบนศีรษะ บางตัวก็เกาะแขนเขา เพื่อจิกกินเมล็ดพืชที่เขานำมาเลี้ยง
แน่นอน นกพิราบเหล่านี้ไม่สะอาดเลย มันมีทั้งไร และเป็นพาหะนำเชื้อโรคต่างๆ ดังนั้น เทสลาผู้เกลียดความสกปรกจึงน่าจะไม่ชอบพวกมัน
เขาไม่ชอบจับมือกับคน เขาล้างมือบ่อยครั้งมาก เขาไม่อนุญาตให้ใครเข้ามาในห้องพักของเขา แต่ถ้าจำเป็น คนที่เข้ามาจะต้องอยู่ห่างเขาอย่างน้อยสามฟุต เขาไม่เคยแต่งงาน ว่ากันว่า เขาไม่เคยมีเพศสัมพันธ์กับใครเสียด้วยซ้ำ เวลาที่มีพนักงานส่งของนำของมาให้ เขาจะต้องฉีดสเปรย์ฆ่าเชื้อโรคเสียก่อนที่จะรับของเหล่านั้น เวลากินอาหาร เขาก็ไม่ยอมให้ใครมายืนใกล้ๆ
ทุกครั้งที่ไปกินอาหาร พนักงานจะต้องปูผ้าปูโต๊ะผืนใหม่เสมอ รวมทั้งต้องใช้ผ้าผืนพิเศษมาเช็ดจาน ช้อน ส้อม และมีด และเมื่อเช็ดแล้ว ก็ต้องทิ้งผ้าผืนนั้นไปเลย ในครัวต้องสเตอริไลซ์เครื่องใช้บนโต๊ะอาหารให้เขาเสมอ หากมีแมลงวันบินมาใกล้ ทั้งมื้อนั้นต้องทำใหม่หมดทันที เขาใช้กางเกงในสีขาวเท่านั้น และเมื่อใช้เสร็จแล้วในหนึ่งวัน ก็จะทิ้งกางเกงในนั้นไปเลย ผ้าเช็ดหน้าก็เช่นกัน ไม่เคยมีใครต้องซักผ้าเช็ดหน้าให้เขา เพราะเขาจะทิ้งไปทันทีหลังใช้เสร็จในวันนั้น
ดังนั้น เขาจึงไม่น่าจะชอบนกพิราบ—นกอันเป็นพาหะ
แต่ไม่เลย เทสลาไม่สนใจไรนก ไม่สนใจโรคต่างๆ ที่อาจติดมากับนก
เขารักพวกมัน โดยเฉพาะกับนกพิราบขาวตัวหนึ่ง เขาพบว่ามันบาดเจ็บ ปีกและขาหัก มันบินไม่ได้ เทสลาพามันไปรักษาอาการบาดเจ็บ โดยจ่ายเงินรวมแล้วมากกว่า 2,000 เหรียญ ทั้งยังคิดค้นเครื่องมือช่วยพยุงกระดูกของนกพิราบตัวนั้น เพื่อที่มันจะได้หายดีจากอาการปีกและขาหักด้วย
เมื่อนกตัวนั้นสบายดีแล้ว มันติดตามเขาไปทุกหนแห่ง เขาบอกว่า เพียงนึกถึง นกตัวนั้นก็จะมาหาเขา เขาเห็นว่า นกพิราบตัวนั้นคือนกนำโชค คือกำลังใจ คือความรัก ไม่ว่าเขาจะทำอะไร ไม่ว่าสิ่งนั้นจะทะเยอทะยานหรือยากเย็นเพียงใด ถ้าหากนกพิราบตัวนั้นอยู่ด้วย เขาจะทำสำเร็จเสมอ
เทสลาถึงกับเชื่อว่า หากนกพิราบตัวนั้นตายไป—ชีวิตของเขาก็จะสูญสิ้นไปด้วย เว้นเสียแต่ว่า นกพิราบตัวนั้นจะกลับมาเกิดใหม่
แต่ปัญหาก็คือ เทสลาเชื่อว่า วิญญาณจะสูญสิ้นไปพร้อมกับร่างกาย หลังความตายไม่มีอะไร ดังนั้น การกลับมาเกิดใหม่จึงเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้
ไม่ว่าเขาจะพักอยู่ที่โรงแรมไหนในนิวยอร์ก เขาจะเปิดหน้าต่างห้องเอาไว้เสมอ เพื่อให้นกพิราบสามารถบินเข้าออกได้ทุกเมื่อที่พวกมันต้องการ เขาจัดที่ทำรังไว้ให้ วางเมล็ดพืชที่เป็นอาหารไว้ให้ ซึ่งก็แน่นอน—นี่เป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เขาต้องย้ายโรงแรมบ่อยครั้ง เพราะทางโรงแรมย่อมไม่พึงพอใจกับความสกปรกเลอะเทอะที่ได้พบจากนกพิราบ
แล้ววันหนึ่ง นกพิราบขาวตัวนั้นก็บินมา
มันบินเข้ามาทางหน้าต่างที่เปิดกว้าง และร่อนถลาลงบนโต๊ะทำงานของเขา เทสลาลุกข้ึนและเดินไปหานกพิราบตัวนั้น เขารู้สึกว่ามีบางสิ่งสำคัญที่นกต้องการจะสื่อสาร ต้องการจะบอกเล่าให้เขาฟัง
ใช่—นกตัวนั้นกำลังจะตาย
เทสลาเล่าให้ฟังภายหลังว่า เขาเห็นแสงเจิดจ้าทรงพลัง สาดส่องออกมาจากดวงตาของนกในขณะที่มันสิ้นใจ เขาบอกว่า แสงนั้นเป็นจริงและเข้มข้นอย่างยิ่ง เข้มข้นยิ่งกว่าทุกสิ่ง ยิ่งกว่ากระแสไฟฟ้าที่เขาสามารถผลิตขึ้นได้จากเทสลาคอยล์ ยิ่งกว่าทุกอย่างที่เขาเคยสร้างขึ้นในห้องปฏิบัติการ
แล้วแสงนั้นก็ลับหายไปพร้อมกับชีวิตของนกน้อย
มันเอาพาชีวิตของเทสลาไปด้วย—เพียงแต่เขายังไม่ได้ตายจากไปก็เท่านั้น
3
เทสลายังคงนำอาหารไปเลี้ยงนกพิราบในสวนอยู่เสมอ เขาไร้ชีวิตจิตใจมากขึ้นเรื่อยๆ และบอกกับเพื่อนว่า—ใครจะไปรู้…
เขาอาจหมายความว่า—ใครจะไปรู้เล่า ว่านกพิราบตัวที่เขารักที่สุดนั้น จะกลับมาเกิดใหม่อีกครั้งเป็นนกพิราบตัวอื่นหรือเปล่า แต่เราก็ไม่รู้แน่ ไม่มีวันรู้แน่ เช่นเดียวกับที่เขาก็ไม่มีวันรู้แน่ ว่าการเกิดใหม่คืออะไร
ในฤดูใบไม้ร่วงของปีค.ศ. 1937 เทสลาเดินออกจากโรงแรมนิวยอร์กเกอร์ตามปกติ เขาเดินข้ามถนน เขาอาจกำลังมุ่งหน้าไปยังสถานที่เลี้ยงนกพิราบดังที่ทำเสมอมาก็ได้ แต่คราวนี้เกิดสิ่งไม่ธรรมดาขึ้น
รถแท็กซี่คันหนึ่งพุ่งเข้าชนเขาจนล้มลงไปกับพื้น ว่ากันว่า เขาได้รับบาดเจ็บหนักที่หลัง และซี่โครงหักสามซี่ แต่ก็ไม่มีใครรู้แน่—ว่าเขาเจ็บมากเพียงใด เพราะเทสลาไม่ยอมไปหาหมอ
ตอนนั้น เขาอายุ 81 ปีแล้ว และไม่เคยฟื้นตัวจากอาการบาดเจ็บนั้นจริงๆ เลย จนกระทั่งถึงวันที่เขาเสียชีวิตในวันที่ 7 มกราคม ค.ศ. 1943 คืออีกหกปีถัดมาหลังอุบัติเหตุ
เทสลาคือชายผู้โดดเดี่ยว
เขาอาจรักความโดดเดี่ยวมากพอๆ กับนกพิราบก็ได้
เขาใช้เวลาส่วนใหญ่เป็นคนนอกของสังคม ไม่พบปะใคร เขามีความสุขมากกว่าที่ได้อยู่กับตัวเอง เฝ้าฝันกับสิ่งประดิษฐ์ต่างๆ อยู่ในเวิร์กช็อปและโต๊ะทำงาน
ฝันถึงโลกที่ดีกว่า โลกที่สื่อสาร ส่องแสง และส่งต่อพลังงานได้โดยไร้สาย
หลังอุบัติเหตุ เทสลายิ่งใช้เวลาอยู่แต่ในห้องนานขึ้นเรื่อยๆ ห้องสุดท้ายที่เขาพำนักอยู่ คือห้องหมายเลข 3327 บนชั้นที่ 33 ของโรงแรมนิวยอร์กเกอร์ เขาแทบไม่รับแขก และกินแต่อาหารมังสวิรัติ
นิโคลา เทสลา ชายผู้ยิ่งใหญ่—เลือกแล้วที่จะตายดังที่เขาปรารถนา นั่นคือการตายไปลำพัง โดดเดี่ยว และเงียบงัน
แม่บ้านของโรงแรม คือ อลิซ โมนากาน (Alice Monaghan) โทรเรียกตำรวจทันทีเมื่อพบว่าเขาไม่หายใจในเช้าวันนั้น เมื่อตำรวจมาถึง มีการชันสูตร แพทย์ประกาศการตายว่าเขาน่าจะเสียชีวิตมาต้ังแต่คืนวานแล้ว ด้วยอาการลิ่มเลือดอุดตันเส้นเลือดหัวใจ หรือ coronary thrombosis
ลิ่มเลือดเช่นนี้จะเกิดขึ้นได้ มักเป็นเพราะเจ้าตัวมีไขมันในเลือดสูง โดยเฉพาะไขมันเลวอย่าง LDL แต่เทสลาไม่ดื่มชาหรือกาแฟ ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เพียงเล็กน้อยเบาบาง เขาไม่สูบบุหรี่ กินอาหารที่มีไขมันต่ำ และออกกำลังกายสม่ำเสมอ อย่างน้อยก็ด้วยการเดิน ที่จริงแล้ว เขาเคยให้สัมภาษณ์ด้วยซ้ำไปว่าเป็นคนรักการออกกำลังกาย ดังนั้น อาการนี้จึงไม่น่าจะเกิดขึ้นได้
แต่มันก็เกิดขึ้นแล้ว—กับหัวใจ
เป็นไปได้ ที่การถูกรถชนครั้งนั้น จะส่งผลต่อสุขภาพของชายชรานามว่าเทสลา จนเขาต้องทุกข์ทรมานอยู่นานหลายปี แต่เนื่องจากเทสลาไม่ไปพบแพทย์ จึงไม่มีใครรู้แน่ว่าอาการของเขาหนักหนาเพียงใด หรือมีอาการเตือนล่วงหน้ามากน้อยแค่ไหน
4
เทสลาประดิษฐ์คิดค้นอะไรมากมาย เขาอาจไม่ได้ประดิษฐ์หลอดไฟ แต่ก็คิดค้นไฟฟ้าแบบฟลูออเรสเซนต์และนีออน รวมทั้งเป็นผู้อยู่เบื้องหลังกระแสไฟที่ใช้ในโลกปัจจุบันทั้งใบ
กระแสไฟที่ทำให้โลกสว่างไสว บางทีอาจสว่างไสวยิ่งกว่าแสงที่พวยพุ่งออกมาจากดวงตาของนกพิราบตัวนั้น
เขาเป็นนักนึกภาพ ก่อนประดิษฐ์อะไรบางอย่าง เขาจะใช้วิถีหยั่งรู้บางอย่างภายใน นึกภาพว่าสิ่งประดิษฐ์นั้นๆ จะเป็นอย่างไร จะทำอะไรได้ และจะยิ่งใหญ่มากเพียงใด
นั่นคือวิธีที่เขาสร้างเครื่องจักรและสิ่งประดิษฐ์ต่างๆ ไม่ใช่บนกระดาษ แต่อยู่ในหัวของเขา
เราไม่อาจรู้แน่ว่า เขาได้นึกภาพการตายของเขาเอาไว้ล่วงหน้าหรือเปล่า เรารู้แต่เพียงว่า—ชายผู้หลงรักนกพิราบคนนี้ได้เดินทางไปอยู่กับนกพิราบของเขา ในที่แห่งใดแห่งหนึ่ง ซึ่งอาจไม่มีทั้งการตายและการเกิดใหม่อีกต่อไป