ไม่นานมานี้ การถกเถียงเรื่องโรคซึมเศร้ากลับมาอีกครั้งบนอินเทอร์เนต หลังจากที่ (อย่างที่คุณก็คงรู้นั่นแหละว่า) อดีตแฟนสาวของเจ้าของเพจชื่อดังแห่งหนึ่งไปโพสท์ถึงแฟนเก่าของตนในพันทิป ว่าเนื้อหาการ์ตูนของเพจของเขา – ที่มักจะมีคนเข้าใจว่าเป็นเธอ – มีส่วนทำให้เธอเป็นโรคซึมเศร้า เธอขอให้เขารับผิดชอบ หรืออย่างน้อยก็ปฏิบัติกับเธอดีกว่านี้หน่อย ถึงแม้จะเลิกกันแล้วก็ตาม
กระทู้ของเธอเป็นที่พูดถึงมาก (อย่างน้อยๆ – ก็ในโซเชียลมีเดีย แต่เท่าที่เห็นก็ลามไปถึงวงการสื่ออื่นๆ อย่างเช่นโทรทัศน์ด้วย) และเรื่องโรคซึมเศร้าก็กลับมาเป็นที่ถกเถียงอีกครั้ง มีผู้คนพยายามแสดงความเห็นกับเรื่องนี้อย่างอุ่นหนาฝาคั่ง บางคนก็ให้ความเห็นว่าผู้ที่เป็นโรคซึมเศร้าควรจะรักษาตัวเองด้วยวิธีนั้น วิธีนี้ บางคนรู้จักคนที่เป็นโรคซึมเศร้า หรือเป็นโรคซึมเศร้าเอง ก็พยายามให้้ข้อมูลที่ตัวเองเคยประสบมา คนที่เป็นแพทย์ (ซึ่งรวมไปถึงจิตแพทย์ แต่ไม่จำกัดแค่จิตแพทย์) ก็ให้ข้อมูลเชิงการแพทย์โยนเข้ามาในโซเชียลมีเดีย
“เฟซบุ๊กไทยเป็นศูนย์รวมผู้เชี่ยวชาญเรื่องโรคซึมเศร้ามากที่สุดในโลก”
“ทำไมจู่ๆ ผู้เชี่ยวชาญเรื่องโรคซึมเศร้าก็ผุดขึ้นมาเต็มไปหมด”
ข้อสังเกตถูกตั้งขึ้นมา
แน่นอน – ความเห็นเรื่องโรคซึมเศร้าเหล่านี้บางส่วนก็เปิดพื้นที่และเปิดใจให้วิพากษ์วิจารณ์บ้าง แต่ส่วนที่เหลือก็อาจถือว่าข้อมูลของตนเป็นความจริงสูงสุด หากมีผู้มาเห็นต่างก็จะต้องรบรากันให้ตายไปข้าง และเช่นเดียวกับทุกเรื่อง – เมื่ออยู่บนอินเทอร์เนต คุณจะไม่รู้หรอกว่าความเห็นไหนที่ ‘น่าเชื่อ’ และความเห็นไหนที่ ‘ไม่น่าเชื่อ’ หรือเขียนเอามันส์เฉยๆ
อันที่จริงแล้วความหลากหลายของความเห็นบนอินเทอร์เนตนั้นเป็นเรื่องที่ดี อินเทอร์เนตและโซเชียลมีเดียเป็นแพลตฟอร์มพิเศษที่ทำให้เสียงของทุกคนดัง ‘เกือบจะเท่ากัน’ อยู่แล้ว ถึงแม้จะไม่เท่ากันเสียทีเดียวนัก ขึ้นอยู่กับว่าคุณมีผู้ติดตามมากแค่ไหน แต่อย่างน้อย คุณก็มีโอกาส ‘ถูกรับฟัง’ จากคนวงกว้างมากกว่าเดิม คือโซเชียลมีเดียไม่ได้กำจัดความไม่เท่าเทียมออกไปให้หมดเสียทีเดียว แต่อย่างน้อยมันก็ทำให้สนามมีพื้นที่เท่ากันมากขึ้น เพราะมันกำจัด ‘ตัวกลาง’ อย่างเช่นผู้คัดเลือก หรือบรรณาธิการออก คุณไม่จำเป็นต้องได้รับการคัดเลือกจากบรรณาธิการเพื่อให้จดหมายแสดงความเห็นของคุณในนิตยสารเหมือนในอดีต, ปัจจุบันคุณสามารถพิมพ์ความเห็นนั้นๆ ในช่องคอมเมนต์ของเพจหรือเว็บไซต์ของนิตยสารนั้นได้เลย หรือหากไม่พอใจ และกลัวว่าจะถูกลบ คุณก็สามารถแสดงความเห็นได้ในโปรไฟล์ ทวิตเตอร์ หรือบล็อกส่วนตัวของคุณเองได้
แต่ก็นั่นแหละครับ, คำถามก็คือ เมื่อเสียงทุกคนดัง (เกือบจะ) เท่ากัน เราจะเลือกเชื่อเสียงไหนดี
ผมครุ่นคิดเรื่องนี้มานานก็คิดไม่ตก เพราะก็ติดที่คำถามว่าถ้าเราไปเลือกเชื่อเสียงที่ ‘เป็นผู้เชี่ยวชาญ’ (เช่น ในเรื่องการเมือง ก็ต้องไปเชื่อคนที่เป็นนักวิชาการทางด้านรัฐศาสตร์ ฯลฯ เท่านั้น) ก็อาจเท่ากับว่า เราไปให้ความสำคัญกับความเป็น ‘นักวิชาการ’ มากเกินไป จนเราไม่ฟังเสียงอื่นๆ ที่อาจมีความสำคัญเท่าเทียมกันหรือเปล่า
นั่นคือ การฟังเฉพาะผู้เชี่ยวชาญ (ที่เป็นผู้เชี่ยวชาญในเชิงที่ว่า เป็นนัก…ต่างๆ ที่ศึกษาเรื่องนี้มา) มันมีความ ‘ไม่เป็นประชาธิปไตย’ อยู่ไหม เพราะเราไม่ได้ให้น้ำหนักของหนึ่งเสียงเท่าๆ กัน?
ในหนังสือ The Death of Expertise (จุดสิ้นสุดของความเชี่ยวชาญ) Tom Nichols ผู้เขียน คิดว่าตนเป็น ‘ผู้เชี่ยวชาญ’ ในบางสาขา คือสาขาสังคมศาสตร์และนโยบายสาธารณะ และเขาก็รู้สึกว่าความคิดเห็นของเขา ‘ควรจะได้รับน้ำหนัก’ มากกว่าความเห็นของคนทั่วไป (layman) ในเรื่องเหล่านี้ เขายอมรับว่า แน่นอนแหละ – เขาไม่ได้เป็นผู้เชี่ยวชาญในทุกเรื่อง (ใครจะเป็นผู้เชี่ยวชาญในทุกเรื่องกันล่ะ!) แต่อย่างน้อย กับสองเรื่องนี้ ผู้คนควรจะฟังเขามากกว่าปกติสิ
Tom Nichols ให้ความเห็นว่า ในระบอบประชาธิปไตย เราควรมี ‘สิทธิที่เท่าเทียมกัน’ (equal rights) แต่สิทธิที่เท่าเทียมกันนั้นไม่ได้หมายถึงว่าจะต้องมีความสามารถเท่าเทียมกัน หรือความรู้เท่าเทียมกัน และเขายืนยันว่า มันไม่ได้หมายความว่า “ความเห็นของทุกคนจะต้องมีน้ำหนักเท่าๆ กันไปหมด”
บนโลกอินเทอร์เนตที่ใครๆ ก็สามารถหาข้อมูลชุดต่างๆ มาเพื่อยืนยันความเชื่อของตนเองได้เสมอ Nichols คิดว่าในตอนนี้เส้นแบ่งระหว่าง ‘คนทั่วไป’ กับ ‘ผู้เชี่ยวชาญ’ นั้นเลือนลางเหลือเกิน เพราะก็อย่างที่บอกนั่นแหละครับ – เราไม่สามารถรู้ได้ว่าความเห็นไหนน่าเชื่อกว่าความเห็นอื่น ทุกความเห็นก็ต่างดูมี ‘เหตุผลเป็นของตนเอง’
Nichols คิดว่าสถานการณ์แบบนี้น่ะอันตราย เขายอมรับว่านักวิชาการหรือผู้เชี่ยวชาญก็ต่างผิดได้ทั้งนั้น แต่เขาก็คิดว่า แต่อย่างน้อยโดยเฉลี่ยแล้วผู้เชี่ยวชาญก็ผิดน้อยกว่าคนทั่วไป (ที่ไม่ได้ศึกษาเรื่องนั้นอย่างจริงจัง)
ความอันตรายของเรื่องนี้ก็คือ ‘การที่ใครๆ ก็คิดว่าตนเองเป็นผู้เชี่ยวชาญ’ มันไม่ได้ถูกจำกัดอยู่แค่กับแวดวงการเมือง แต่ก็แพร่ขยายไปสู่เรื่องอื่นๆ อย่างเช่นเรื่องโรคภัยไข้เจ็บด้วยเช่นมีคนที่ต่อต้านการฉีดวัคซีนหลังจากที่อ่านบทความเรื่องนี้ในอินเทอร์เนตที่คิดว่าถูกเขียนโดยผู้เชี่ยวชาญ (ทั้งที่จริงๆ แล้วไม่ใช่ และมีหลักฐานพิสูจน์เป็นอย่างอื่น) พากันไม่ฉีดวัคซีนให้ลูกๆ ของตน ทำให้โรคภัยบางอย่างกลับมาระบาดอีกครั้ง
ปัญหาคือ ไม่ว่าคุณจะแย้งด้วยข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ หรือมีสถิติมายืนยันเท่าไร ก็ดูเหมือนว่าอีกฝ่ายก็จะไม่มีทางยอมรับ และพยายามหาสถิติอีกชุดมาแย้งอยู่ดี และถึงแม้, หากเขาไม่มีเหตุผลที่ดีพอที่จะโต้แย้งกลับ พวกเขาก็มักจะจบด้วยคำสวยๆ ว่า “ความเห็นทุกคนมีค่าเท่ากัน” หรือ “let’s agree to disagree” – พอเป็นแบบนี้แล้ว เมื่อทุกคนแสดงความเห็นแต่ไม่ได้ยอมรับความเห็นอื่นๆ (ที่มีหลักฐาน, ที่ศึกษามามากกว่า) สุดท้าย ผู้เชี่ยวชาญทั้งหลายก็จะเลิกแสดงความเห็นต่อวงกว้างบนโซเชียลมีเดีย และกลับไปพูดคุยกันเอง เพราะคิดว่าแสดงความเห็นไปก็ไร้ประโยชน์ (เพราะคนก็ไม่เชื่ออยู่ดี)
นอกจากพื้นที่ที่ ‘เปิด’ มากขึ้นแล้ว Nichols ยังอ้างถึง Dunning Kruger Effect ว่าเป็นสาเหตุของ ‘จุดจบของความเชี่ยวชาญ’ ด้วย นั่นคือ คนยิ่งโง่ยิ่งมั่นใจว่าตัวเองไม่โง่ และยิ่งเมื่อเขามั่นใจ เขาก็ยิ่งแสดงความเห็นของตนออกมาและไม่ยอมรับความเห็นของผู้อื่น
สุดท้ายก็คือ เมื่อมันมีปัญหาแบบนี้ (หากคุณยอมรับว่านี่เป็นปัญหา) แล้วเราจะทำยังไงกันดี สมมติว่าครั้งต่อไปคุณไปเจอคนกำลังเถียงเรื่องอะไรบางอย่างเข้า บนโซเชียลมีเดีย คุณควรจะ ‘คิด’ อย่างไรกันล่ะ
Nichols เสนอว่าคุณควรจะคิดเช่นนี้
- คุณควรยอมรับว่า ผู้เชี่ยวชาญไม่ได้ถูกตลอด พวกเขาไม่ได้ถูกต้องเสมอไป
- แต่คุณก็ควรยอมรับเช่นกันว่า ผู้เชี่ยวชาญนั้นมีโอกาสถูกมากกว่าคุณ (ในเรื่องที่เขาเชี่ยวชาญ) และพวกเขาก็มักจะมีชุดข้อมูลที่น่าจะดีกว่าคุณ
- คำว่า ‘ผู้เชี่ยวชาญ’ ในที่นี้ ไม่ได้หมายถึงผู้เชี่ยวชาญผ่านการศึกษาในระบบเพียงอย่างเดียว แต่อาจหมายถึงผู้เชี่ยวชาญเพราะมีประสบการณ์ในเรื่องนั้นๆ โดยตรงด้วย ซึ่งโดยทั่วไปแล้ว การเป็น ‘ผู้เชี่ยวชาญ’ ที่แท้จริง จะเป็นส่วนผสมของทั้งการศึกษาและประสบการณ์ และถ้าคุณไม่มีทั้งประสบการณ์ และไม่มีทั้งการศึกษาในเรื่องนั้นๆ คุณก็อาจต้องพิจารณาว่าสิ่งที่คุณกำลังจะแสดงความเห็นนั้น สำคัญ หรือจำเป็นจริงไหม
- ไม่ว่าจะเป็นการถกเถียงเรื่องอะไรก็ตาม อย่างน้อยคุณควรจะเรียนรู้เกี่ยวกับเรื่องนั้นๆ ให้มากพอที่จะทำให้เรามีบทสนทนากันได้เสียก่อน อย่าลืมว่าการมี ‘ความคิดเห็น’ ต่อเรื่องใดเรื่องหนึ่ง ไม่เท่ากับ ‘ความรู้’ ต่อเรื่องนั้นๆ (Nichols เสนอว่า การแค่เซิร์ช Google ไม่นับนะ – แต่ส่วนตัวแล้วผมคิดว่าถ้าค้นเก่งๆ และหาข้อมูลจากแหล่งที่เชื่อถือได้ก็ควรจะนับ)
- สุดท้าย Nichols สรุปว่าความเห็นทางการเมืองของใครก็ตามนั้นมีคุณค่าเสมอ เพราะอย่างน้อยคุณก็เป็นสมาชิกของระบอบประชาธิปไตย แต่สิ่งที่ต้องทำให้แตกต่างเด่นชัดก็คือ ความเห็นทางการเมือง กับ ‘การวิเคราะห์การเมือง’ (political analysis) นั้นไม่เหมือนกัน และ ‘การวิเคราะห์การเมือง’ ของคุณนั้น อาจจะไม่ดีเท่าของผู้เชี่ยวชาญ
ถ้าคุณเชื่อตามนี้ ปัญหา (อย่างน้อยที่ผมพบ) ในเมืองไทยก็คือ – คุณจะแยก ‘ผู้เชี่ยวชาญจริงๆ’ จาก ‘ผู้เชี่ยวชาญปลอมๆ’ ไม่ค่อยออก! แต่ก็นั่นแหละครับ สุดท้ายการที่เราพึงประเมินตัวเองไว้เรื่อยๆ ว่า ‘เราอาจจะไม่ได้มีความรู้พอที่จะให้ความคิดเห็นในเรื่องนี้’ และการสืบเสาะหาว่าผู้เชี่ยวชาญ (ที่เราเลือกที่จะเชื่อ) นั้น จริงๆ แล้ว เชื่อถือได้จริงไหม ก็น่าจะเป็นเรื่องที่ดีและเป็นเรื่องที่เราควรตระหนักเสมอ
ก่อนที่เราจะกดเอนเทอร์ด้วยความเกรี้ยวกราด
อ้างอิง
https://en.wikipedia.org/wiki/Dunning–Kruger_effect
หนังสือ The Death of Expertise
https://www.amazon.com/Death-Expertise-Campaign-Established-Knowledge/dp/0190469412 ซึ่งเป็นการขยายความจากบทความของเขา http://thefederalist.com/2014/01/17/the-death-of-expertise/