คำแถลง
บทความนี้ไม่ได้เขียนขึ้นเพื่อเป็นบทความทางวิชาการ และไม่ได้มีคุณค่าใดๆ ในเชิงวิชาการทั้งสิ้น แต่เขียนขึ้นเพื่อความบันเทิงของผู้เขียนและผู้อ่านบางส่วนเท่านั้น ผู้อ่านอาจคิดว่าบทความนี้เป็นการแซะหรือไม่ก็ได้ แต่ผู้เขียนไม่ได้ตั้งใจแซะ (แต่ถึงจะตั้งใจแซะ ก็คงพูดว่าไม่ได้ตั้งใจแซะอยู่ดี)
หลักการและเหตุผล
ปัจจุบัน การแซะนั้นเป็นพฤติกรรมที่ผู้ใช้โซเชียลมีเดียทำกันอย่างกว้างขวาง ด้วยเหตุผลและความจำเป็นต่างๆ ปรากฏการณ์การแซะนี้ ก็ไม่ได้จำกัดอยู่เพียงในประเทศเท่านั้น แต่เป็นปรากฏการณ์ที่ทำกันทั่วโลก การเปลี่ยนแปลงลักษณะการสื่อสาร (หรืออย่างน้อย, การทำให้ลักษณะการสื่อสารเฉพาะแบบหนึ่งได้รับความนิยมขึ้นมา) ด้วยโซเชียลมีเดียนี้ ส่งผลกระทบทั้งในทางตรงและทางอ้อมกับสังคม ผู้ศึกษาจึงเล็งเห็นว่านี่เป็นหัวข้อที่สำคัญ ควรค่าแก่การพิจารณา
ความหมายของการแซะ
ในพจนานุกรมลองดู ให้ความหมายของคำว่า “แซะ” ไว้ว่า
“เอาเครื่องมือแบนๆ เช่นตะหลิวหรือเสียมแทงเบาๆ โดยรอบแล้วช้อนขึ้นไป เช่น แซะขนมเบื้อง โดยปริยายหมายความว่า เร่งรัด เช่น ต้องคอยแซะให้ทำงานอยู่เรื่อย”
“ขยับกระทบเข้าไป เช่นขยับตัวกระแซะเข้าไป พูดเลียบเคียงกระแซะเข้าไป”
ในขณะที่เทียบเคียงคำที่มีความหมายใกล้กันในภาษาอังกฤษ คือคำว่า Subtweet ซึ่งเว็บไซต์ Knowyourmeme ให้ความหมายไว้ว่า “เป็นคำย่อของคำว่า Subliminal Tweet” ซึ่งหมายถึง “การอัพเดทสเตตัสบนทวิตเตอร์ ที่ต้องการพูดถึงอีกฝ่ายหนึ่งโดยจำเพาะเจาะจง แต่ไม่เอ่ยชื่อหรือแอคเคานท์ของอีกฝ่ายออกมาตรงๆ ซึ่ง Subtweet นั้นมีความสัมพันธ์กับแฮชแท็ก #OOMF ซึ่งย่อมาจาก One of my follower ด้วย”
คำว่า Subtweet ถูกใช้กันแพร่หลายเมื่อใด ไม่มีการบันทึกไว้ แต่มีการบันทึกไว้ว่าคำว่า Subtweet ถูกบรรจุลงในเว็บไซต์ Urbandictionary ในวันที่ 9 สิงหาคม 2010
เมื่อพิจารณาความหมายเทียบเคียงกันแล้ว จึงอาจกล่าวได้ว่า คำว่า “แซะ” ในภาษาไทยนั้น เป็นคำย่อของคำว่า “กระแซะ” ในบริบทว่า “พูดเลียบเคียง กระแซะเข้าไป” และไม่ใช่คำที่ถูกประดิษฐ์ขึ้นใหม่ แต่เป็นการหยิบยกคำเดิมขึ้นมาใช้ในบริบทของโซเชียลเนตเวิร์กเท่านั้น
ส่วนอำเภอท่าแซะ จังหวัดชุมพร นั้นไม่ได้มีความเกี่ยวโยงโดยตรงกับคำว่าแซะ เช่นเดียวกับต้นแซะ ซึ่งมีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Callerya atropurpurea Benth ก็ไม่เกี่ยวข้องเช่นกัน แม้จะมีการนำคำว่า “ชาวท่าแซะ” มาเพื่ออธิบายกลุ่มคนที่มักจะมีพฤติกรรมการแซะก็ตาม
อนึ่ง น่าตั้งคำถามว่าการพูดถึงชาวท่าแซะ เป็นการแซะหรือไม่ เช่น หากมีผู้โพสท์สเตตัสว่า “ชาวท่าแซะนี่ขี้แซะจริงๆ” สเตตัสนี้ก็น่าจะเป็นส่วนหนึ่งของการแซะเช่นกัน เพราะเป็นการพูดถึงกลุ่มคน (ที่น่าจะเฉพาะเจาะจง) ผ่านทางการไม่พูดชื่อตรงๆ
โซเชียลมีเดียกับการแซะ
ผู้ศึกษาเห็นว่า โซเชียลมีเดียนั้นมีธรรมชาติที่เหมาะกับการสื่อสารแบบแซะ เพราะโซเชียลมีเดียมีลักษณะทับซ้อนระหว่างพื้นที่ส่วนตัว กับพื้นที่สาธารณะ ทำให้ผู้สื่อสารต้องจำกัดวงของผู้ที่จะเข้าใจในสาร เป็นความรู้สึกแบบ “อยากบอกแต่ก็ไม่อยากบอก” “อยากให้รู้แต่ก็ไม่อยากให้รู้”
นอกจากนั้น โซเชียลมีเดียนั้นมีลักษณะการสื่อสารแบบ ‘ไม่มีปี่มีขลุ่ย’ ด้วย จึงทำให้ผู้พูดสามารถยกอะไรขึ้นมาพูดก็ได้ โดยไม่ต้องมีการเกริ่นนำก่อน ทำให้ผู้รับสารจะต้องสืบสาวราวเรื่องเอง (ด้วยการสอบถาม หรือการเดา) ว่าเหตุการณ์ก่อนที่จะมาเป็นสเตตัสนั้นๆ ให้ได้อ่าน ได้เห็น เป็นอย่างไร
ส่วนประกอบของการแซะ
การแซะประกอบไปด้วย
- ผู้แซะ เป็นผู้ที่ต้องการสื่อสารข้อความบางอย่าง แต่ก็มีเหตุผลบางประการ [ดู เหตุผลของการแซะ ประกอบ] ที่ทำให้ไม่อาจพูดตรงๆ ได้ จึงต้องเลือกใช้วิธีแซะ
- ผู้ถูกแซะ อาจเป็นบุคคลหรือกลุ่มบุคคลที่ผู้แซะคิดจะเจาะจงถึง ซึ่งผู้แซะ อาจต้องการให้ผู้ถูกแซะรู้ตัวหรือไม่ก็ได้
- สเตตัสแซะ เป็นข้อความที่เข้ารหัสโดยผู้แซะ โดยอาจมุ่งหวังให้สาธารณชน (ผู้มุง) เป็นผู้ถอดรหัส กลุ่มบุคคลหนึ่งบุคคลใด เป็นผู้ถอดรหัส หรือผู้ถูกแซะ เป็นผู้ถอดรหัส ก็ได้
- สาธารณชน คือประชาชนที่แวดล้อมที่อยู่รอบๆ การแซะนั้น โดยอาจแซะผู้แซะ หรือผู้ถูกแซะเพิ่มเติม หรืออาจแซะการแซะเอง ก็ยังได้ ซึ่งอาจเรียกว่า “แซะซ้อน” เป็นการเล่นคำระหว่าง “ซับซ้อน” กับ “แซะ” (บอกทำไม)
เหตุผลของการแซะ
การแซะ ซึ่งหมายถึง “การกล่าวถึงบุคคลใด หรือบุคคลกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งโดยจำเพาะเจาะจง แต่ไม่ได้เอ่ยชื่อบุคคลหรือกลุ่มบุคคลนั้นออกมา” อาจเกิดขึ้นได้จากหลายเหตุผลที่อาจเกี่ยวเนื่องกัน เช่น
- ถึงแม้อยากวิพากษ์วิจารณ์ก็ต้องการความปลอดภัย การแซะสามารถให้ความปลอดภัยกับผู้แซะได้ เพราะไม่ได้เป็นการพูดถึงเรื่องนั้นอย่างตรงๆ ไม่ได้พูดถึงบุคคลใดบุคคลหนึ่งเป็นการจำเพาะ (แม้จะเจาะจงอยู่ในใจก็ตาม) ทำให้ผู้แซะสามารถปฏิเสธการแซะนั้นได้ หากมีการ ‘เข้ารหัส’ ที่แน่นหนาพอ [ดูประกอบ การแซะในฐานะการเข้ารหัส]
- รักษาความสัมพันธ์ เป็นเหตุผลที่เกี่ยวเนื่องกับข้อแรก คือถึงแม้ผู้แซะจะมีความเห็นในเรื่องใดเรื่องหนึ่งต่อผู้ถูกแซะ แต่ก็เห็นว่าความสัมพันธ์ระหว่างตนกับผู้ถูกแซะนั้นควรค่าแก่การรักษาไว้ และไม่ควรได้รับผลกระทบนักจากความคิดเห็นนี้ ผู้แซะก็อาจเลือกวิธีแซะ แทนที่จะพูดตรงๆ กับผู้ถูกแซะ อย่างไรก็ตาม หากผู้ถูกแซะอ่านแล้วทราบว่าเป็นตนเองที่ตกเป็นเป้าหมายของการแซะ การแซะนั้นก็จะล้มเหลว
- ต้องการส่งสารถึงคนรอบๆ แต่ไม่ใช่กับผู้ถูกแซะ ผู้แซะอาจต้องการพูดในเรื่องใดเรื่องหนึ่งกับสาธารณชนโดยไม่ต้องการให้ผู้ถูกแซะเข้าใจ ว่าตนกำลังพูดถึงอะไรอยู่
การแซะในฐานะการเข้ารหัส
เราสามารถพิจารณาการแซะ ในฐานะการเข้ารหัสได้ โดยเราต้องพิจารณาว่าผู้แซะ นั้นมีข้อความที่ต้องการสื่อ (แต่ไม่ใช่กับคนทั้งหมด) จึงต้องเข้ารหัสเสียก่อน เพื่อให้ข้อความนั้นถูกเปิดอ่านได้โดยผู้ที่ีมี ‘กุญแจ’ เท่านั้น โดยผู้ที่มีกุญแจในที่นี้ อาจเป็นผู้ถูกแซะ หรือสาธารณชน อาจพิจารณาจากสมการนี้
ข้อความที่แซะแล้ว = ข้อความที่ต้องการสื่อสาร – ความจำเพาะเจาะจง
สิ่งที่น่าสังเกตคือ หากผู้แซะนำความจำเพาะเจาะจงออก “มากเกินไป” ก็อาจไม่ได้เป็นการสื่อสารไปถึงใครเลย เพราะทุกคนจะไม่เข้าใจข้อความที่ซ่อนไว้ แต่หากนำความจำเพาะเจาะจงออก “น้อยเกินไป” ก็อาจทำให้การแซะไม่ประสบผลสำเร็จ นั่นคือ ทุกคนรู้ว่าผู้แซะพูดถึงอะไร
ตัวอย่างเช่น สมร ผู้แซะ ต้องการต่อว่า สมชาย ผู้ถูกแซะ ที่เป็นหัวหน้าของเธอ ว่าตำหนิในความผิดที่เธอไม่ได้ก่อ ทำให้ผู้คนมองเธอเสียหาย หากสมร แซะว่า
“หัวหน้าดีเป็นศรีแก่ตัว หัวหน้าชั่ว… อิอิอิ”
ในกรณีนี้อาจพิจารณาได้ว่า สมรนำความจำเพาะเจาะจงออก “น้อยเกินไป” เพราะคำว่า “หัวหน้า” นั้นจำกัดกลุ่มบุคคลลงมาให้แคบ ทำให้เธอไม่อาจปฏิเสธความรับผิดชอบได้ ในทางกลับกัน หากสมร แซะว่า
“อยากอ่านคำพิพากษาอีกหลายๆ รอบ”
ในกรณีนี้ หากสมร เชื่อมั่นว่าผู้รับสารที่เธอต้องการให้ไปถึง เข้าใจว่าคำพิพากษา (นิยายของชาติ กอบจิตติ) คืออะไร สื่อสารถึงอะไร การแซะนี้ก็อาจประสบความสำเร็จ แต่ในขณะเดียวกัน สมรก็อาจต้องมั่นใจด้วยว่าหัวหน้าของเธอจะไม่รู้ถึงความหมายที่ซ่อนอยู่นี้ (หากสมรไม่ได้ต้องการสื่อสารกับหัวหน้า) และในตัวอย่างสุดท้าย หากสมร แซะว่า
“พี่ชาติช่วยด้วย”
ในกรณีนี้อาจพิจารณาได้ว่า จะไม่มีใครเข้าใจสมรเลย นอกเสียจากว่าสมรจะทิ้ง ‘ต้นทุนทางความเข้าใจ’ ไว้ให้กับผู้ที่เธอต้องการสื่อสารไปถึงแล้วจริงๆ เช่น อาจบอกกับ สมศรี เพื่อนสนิท ไว้ว่านิยายโปรดของพี่ชาติ ที่เธอชื่นชอบ คือคำพิพากษา หากทิ้งต้นทุนไว้เช่นนี้ หากสมศรีไม่ลืม ก็จะนึกขึ้นได้ว่า อ๋อ ยัยสมรพูดถึงหัวหน้านี่เอง เพราะคำพิพากษามันงี้ๆๆ
อนึ่ง การแซะที่สำเร็จลุล่วงยังมีปัจจัยอีกหลายประการซึ่งคงต้องมาต่อกันตอนหน้า (ถ้ายังอยากเขียนอยู่) และหากมีโอกาส ผู้ศึกษาจะนำผลการวิจัยเรื่องผู้แซะและผู้ถูกแซะจากต่างประเทศ ระดับของการแซะเช่น แซะระดับพื้นฐาน แซะระดับแอดวานซ์ แซะจนคนถูกแซะคิดว่าคนแซะแซะคนอื่น รวมไปถึงผลกระทบและผลข้างเคียงของการแซะ มาพิจารณาต่อไป มีผลการวิจัยด้วยว่า “คนที่ชอบแซะคนอื่น มักจะนิสัยไม่ดี” อู๊ย! (ต้องวิจัยเหรอ อย่างผู้ศึกษาเองก็รู้อยู่แล้วว่าตัวเองนิสัยไม่ดี) เป็นอย่างไร มาติดตามกันตอนหน้าครับ
อ้างอิง
https://dict.longdo.com/search/*แซะ*
http://knowyourmeme.com/memes/subtweet
http://thesocialchic.com/2012/10/14/the-art-of-subtweeting/
https://th.wikipedia.org/wiki/อำเภอท่าแซะ
https://th.wikipedia.org/wiki/คำพิพากษา_(นวนิยาย)