โดยปกติ พิพิธภัณฑ์ศิลปะหลายแห่งในโลก มักจะจัดแสดงผลงานในคอลเล็กชั่นของตัวเองได้ไม่ถึง 10 เปอร์เซ็นต์ ของผลงานที่สะสมทั้งหมด ส่วนที่เหลืออีก 90 กว่าเปอร์เซ็นต์นั้น ถูกเก็บอยู่ในคลังเก็บผลงานที่ซ่อนอยู่หลังบ้าน ในมุมมืดของพิพิธภัณฑ์ โดยไม่เปิดโอกาสให้ใครได้เห็น นอกจากทีมงานผู้เกี่ยวข้องที่ทำงานอยู่ในพิพิธภัณฑ์เหล่านั้น
แต่มีพื้นที่แห่งหนึ่ง ที่ทำในสิ่งที่ตรงกันข้ามโดยสิ้นเชิง พื้นที่แห่งนี้มีชื่อว่า Depot Boijmans Van Beuningen หรือที่รู้จักกันในชื่อ ‘Collection Building’ (อาคารเก็บสะสมผลงาน) ส่วนคนทั่วไปมักเรียกกันในชื่อ ‘The Pot’ คลังเก็บผลงานศิลปะของพิพิธภัณฑ์ Boijmans Van Beuningen (บอยมันส์ ฟาน บัวนิงเงิน) (ส่วน Depot นั้นแปลว่า คลังเก็บผลงาน) ในเมืองรอตเตอร์ดัม ประเทศเนเธอร์แลนด์ ที่จะว่าไปก็โดดเด่นกว่าตัวพิพิธภัณฑ์เสียอีก ที่สำคัญ อาคารแห่งนี้เป็นคลังเก็บผลงานศิลปะแห่งแรกในโลกที่เปิดให้สาธารณชนเข้าชม
ไม่ต้องแปลกใจว่าทำไมอาคารคลังเก็บผลงานศิลปะแห่งนี้จึงมีหน้าตาดูเหมือนชามสแตนเลสขนาดยักษ์ เพราะตัวอาคารได้แรงบันดาลใจในการออกแบบมาจากชามสแตนเลส รุ่น Blanda Blank ของแบรนด์ IKEA นั่นเอง โดยทีมสถาปนิกจากสตูดิโอ MVRDV แห่งรอตเตอร์ดัมบังเอิญเห็นชามรุ่นนี้วางอยู่บนโต๊ะตอนกำลังเริ่มถกเถียงเกี่ยวกับการออกแบบอาคารแห่งนี้พอดี
ตัวอาคารรูปทรงฐานแคบ ยอดกว้างคล้ายชาม ความสูง 39.5 เมตร แห่งนี้ ถูกหุ้มด้วยแผ่นกระจกจำนวน 1,664 แผ่น เต็มพื้นผิวของอาคารขนาด 6,609 ตารางเมตร กระจกเหล่านี้ส่วนใหญ่ถูกเคลือบผิวภายในให้มีคุณลักษณะเหมือนกระจกเงา ที่สะท้อนภาพท้องฟ้าและภูมิทัศน์รายรอบอาคารออกมาอย่างงดงามตระการตา ในขณะที่บางส่วนเปิดพื้นผิวเป็นเหมือนกระจกใส ให้ผู้เยี่ยมชมมองเข้าไปเห็นพื้นที่ภายใน หรือผู้ชมที่อยู่ภายในมองออกไปเห็นทิวทัศน์ภายนอกได้ ดีไซน์อันน่าทึ่งอีกประการของอาคารแห่งนี้คือระบบประตูไฟฟ้า ที่เวลาเปิด ประตูจะยกออกและสไลด์ข้างคล้ายกับประตูรถบัส พอเมื่อเวลาประตูปิด ก็จะแนบไปกับตัวอาคารจนดูเนียนสนิทไร้รอยต่อ ราวกับเป็นยานอวกาศอันล้ำสมัยที่กำลังจะบินขึ้นไปสู่จักรวาลอันไกลโพ้นได้ทุกเมื่อยังไงยังงั้น
นอกจากจะมีพื้นที่คลังเก็บผลงานศิลปะและงานออกแบบขนาดมหึมาแล้ว บนดาดฟ้าของอาคารยังมีพื้นที่สีเขียวของสวนหย่อม และร้านอาหารบนชั้นสูงสุดของอาคาร ให้ผู้ไปเยี่ยมชมได้รับประทานอาหาร หรือเดินชมทิวทัศน์มุมสูงเหนือเมืองรอตเตอร์ดัม หรือดื่มด่ำไปกับภูมิทัศน์ของ Museumpark (สวนสาธาณะพิพิธภัณฑ์) ที่ออกแบบโดย อีฟ บรูเนียร์ (Yves Brunier) ภูมิสถาปนิกชาวฝรั่งเศส แห่งสตูดิโอ OMA ทางทิศด้านหน้าของพิพิธภัณฑ์ได้อย่างกระจ่างตา
ตัวอาคารแห่งนี้ยังถูกออกแบบอย่างยั่งยืนและใส่ใจต่อสิ่งแวดล้อม ด้วยคุณสมบัติในการลดการใช้พลังงานและน้ำ ด้วยการใช้พลังงานความร้อนใต้พิภพ (Geothermal Energy) แผงโซลาร์เซลล์ หลอดประหยัดไฟ และฉนวนกันความร้อน อาคารยังใช้น้ำฝนที่ถูกเก็บไว้ในชั้นใต้ดินสำหรับห้องสุขาและระบบสาธารณูปโภคต่างๆ น้ำทิ้งของอาคารจะถูกส่งไปยังระบบบำบัดน้ำเสีย และนำกลับมาใช้ใหม่ในพื้นที่สีเขียวบนดาดฟ้าของอาคารอีกด้วย
ความพิเศษของคลังเก็บผลงานศิลปะแห่งนี้ก็คือ ผู้เยี่ยมชมสามารถเข้าถึงคอลเล็กชั่นของพิพิธภัณฑ์ที่ถูกสะสมมาอย่างยาวนานถึง 174 ปี กับบางส่วนของศิลปวัตถุกว่า 152,000 ชิ้น ที่ถูกเก็บรวบรวมไว้ด้วยกันภายในอาคาร ที่แยกจัดเก็บรักษาในคลังเก็บผลงานจำนวน 14 แห่ง โดยแบ่งออกเป็น 5 โซนภูมิอากาศที่เหมาะสำหรับการเก็บรักษาวัสดุแต่ละชนิด อย่าง โลหะ พลาสติก วัสดุจากสิ่งมีชีวิตและไม่มีชีวิต ภาพถ่ายขาวดำและสี เพื่อให้ศิลปวัตถุเหล่านี้อยู่ภายใต้อุณหภูมิที่เหมาะสมพอดี ไม่เย็น อุ่น ชื้น หรือแห้งเกินไป
ภายในอาคารที่ออกแบบโดยศิลปินและสถาปนิกชาวดัตช์ จอห์น เกอร์เมลลิง (John Körmeling)ประกอบด้วยห้องปฏิบัติการของผู้เชี่ยวชาญการดูแลรักษาและบูรณะซ่อมแซมงานศิลปะหรือแม้แต่งานดีไซน์ที่สะสมโดยพิพิธภัณฑ์ Boijmans Van Beuningen จากหลายยุคสมัย ตั้งแต่ยุคก่อนคริสตกาล ยุคคลาสสิก ยุคกลาง ยุคเรอเนสซอง ยุคทองดัตช์ ยุคโมเดิร์น มาจนถึงยุคร่วมสมัย ที่เปิดให้ผู้เข้าเยี่ยมชมแอบส่องการทำงานของพวกเขาผ่านกระจกหน้าต่างบานใหญ่ได้อีกด้วย
นอกจากผลงานที่ถูกจัดเก็บไว้ในคลังเก็บผลงานแล้ว ภายในคลังเก็บงานศิลปะแห่งนี้ยังจัดแสดงผลงานศิลปะและผลงานดีไซน์บางส่วนในโถงกลางอาคารรูปทรงวงกลม ความสูง 6 ชั้น โดยจัดแสดงอยู่ตามระเบียงทางเดินอันซับซ้อนราวกับเขาวงกตเชื่อมต่อห้องปฏิบัติการและคลังเก็บผลงานแต่ละห้อง ที่ออกแบบโดยศิลปินร่วมสมัยชาวดัตช์ มารีเก ฟอน ดีมาน (Marieke van Diemen) รวมถึงจัดแสดงบนโถงลิฟต์ แขวนโชว์อยู่บนตะแกรงแขวนงานหรือจัดแสดงในตู้กระจกใสจำนวน 13 ตู้ แขวนลอยอยู่ระหว่างแต่ละชั้นให้ดูชมกันอย่างใกล้ชิด โดยผู้เยี่ยมชมสามารถเดินขึ้นบันไดซิกแซกขนาดใหญ่เชื่อมต่อทางเดินแต่ละชั้น ที่ทำให้เราอดนึกไปถึงผลงานภาพพิมพ์โลหะของสถาปนิก/ศิลปินชาวอิตาเลียนอย่าง จิโอวานนิ พิราเนซิ (Giovanni Piranesi) ไม่ได้ หรือไม่ก็โดยสารลิฟต์แก้วขึ้นไปแต่ละชั้น เพื่อชมบรรยากาศในอาคารและผลงานที่จัดแสดงภายในโถงกลางอย่างเพลิดเพลิน
หนึ่งในงานศิลปะที่เราชอบที่สุดในคลังเก็บผลงานแห่งนี้ คือผลงาน L’Ange du foyer (The Fireside Angel) (2019) โดยศิลปินฝรั่งเศส ซีเพรียน เกลยาร์ (Cyprien Gaillard) ที่ตีความภาพวาด Fireside Angel (1937) อันลือเลื่องของ มักซ์ แอรนสต์ (Max Ernst) ศิลปินเซอร์เรียลลิสต์ระดับตำนาน ออกมาเป็นงานศิลปะร่วมสมัย ในรูปของภาพเคลื่อนไหว 3 มิติ ที่ใช้เทคโนโลยีฮอโลแกรม (Hologram) ฉายภาพเจ้าตัวละครสัตว์ประหลาดในภาพของแอรนสต์ให้ออกมาเต้นระบำพลิ้วไหวอยู่กลางอากาศได้อย่างน่าตื่นตาตื่นใจ ผลงานชิ้นนี้เคยถูกจัดแสดงในมหกรรมศิลปะ Venice Biennale ครั้งที่ 58 ปี 2019 ก่อนที่จะถูกพิพิธภัณฑ์ Boijmans สะสมเอาไว้ และนำมาจัดเก็บไว้ในคลังเก็บผลงานแห่งนี้ให้เราได้ชมกัน
หรือผลงานของศิลปินอิตาเลียน เจ้าของฉายา จอมป่วนแห่งโลกศิลปะ เมาริซิโอ คัตเตลาน (Maurizio Cattelan) อย่าง Untitled (2002) ประติมากรรมจัดวางหุ่นไฟเบอร์กลาสรูปเหมือนของตัวศิลปิน โผล่หัวทะลุคอนกรีตขึ้นไปทำหน้าทะเล้นอยู่บนพื้นด้านบน เดิมทีผลงานชิ้นนี้เคยถูกจัดแสดงอยู่ในพิพิธภัณฑ์ Boijmans Van Beuningen โดยประติมากรรมตัวนี้โผล่หัวทะลุพื้นขึ้นไปโผล่บนห้องแสดงงานของพิพิธภัณฑ์จริงๆ เลย
อีกอย่างที่เราประทับใจมากๆ คือห้องจัดแสดงผลงานชิ้นไฮไลต์ของคลังเก็บผลงานศิลปะแห่งนี้ ที่เปิดให้เราได้ชมเบื้องลึกเบื้องหลังของงานจิตรกรรมของศิลปินระดับตำนานของโลก อย่างที่ไม่เคยมีใครได้เห็นมาก่อน (นอกจากคุณจะเป็นคนทำงานเบื้องหลังพิพิธภัณฑ์ที่จัดแสดงผลงานเหล่านี้น่ะนะ) ด้วยการแขวนผลงานเหล่านี้บนแท่นแสดงงานกระจกใส ผลงานการออกแบบของสถาปนิกหญิงชาวบราซิล-อิตาเลียน ลีนา โบ บาร์ดี (Lina Bo Bardi) ที่ทำให้เราสามารถอ้อมไปพินิจพิจารณา ‘ข้างหลังภาพวาด’ เหล่านี้ ทั้งผลงานของจิตรกรชั้นครูในยุคโบราณอย่าง ทิเชียน (Titian), ยัน ฟันไอก์ (Jan van Eyck), ดีร์ก เบาตส์ (Dirk Bouts), เฮียโรนิมัส บอช (Hieronymus Bosch) หรือศิลปินระดับตำนานแห่งยุคโมเดิร์นอย่าง โคลด โมเนต์ (Claude Monet), วาสซิลี คันดินสกี (Wassily Kandinsky), พีท มองเดรียน (Piet Mondrian) และศิลปินเลื่องชื่อแห่งยุคโพสต์โมเดิร์นอย่าง ฌอง-มิเชล บาสเกีย (Jean-Michel Basquiat)ทำให้เราได้มีโอกาสเห็นสิ่งที่ซ่อนอยู่ข้างหลังภาพวาดอย่าง โครงสร้างเบื้องหลังของภาพ วัสดุที่ใช้ และวิธีการเข้ากรอบภาพ หรือข้อมูลต่างๆ เกี่ยวกับภาพวาดอย่าง เทคนิคการวาดภาพ ความเป็นมาเป็นไปของผลงาน ประวัติการจัดแสดงผลงานในพิพิธภัณฑ์ต่างๆ นับแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน หรือแม้แต่ภาพวาดอีกภาพที่ซ่อนอยู่ข้างหลัง! นิทรรศการนี้ทำให้เราตระหนักว่า ภาพวาดนั้นไม่ได้สำคัญแค่ข้างหน้าเพียงอย่างเดียว หากแต่ข้างหลังภาพก็มีคุณค่าให้ค้นหาและน่าสนใจไม่น้อยไปกว่ากัน
ที่สำคัญ คลังเก็บผลงานศิลปะแห่งนี้ ยังเปิดให้ผู้เข้าชมลงทะเบียนเป็นกลุ่มทัวร์เพื่อเข้าเยี่ยมชมในส่วนหลังบ้าน อย่างห้องเก็บผลงาน ห้องปฏิบัติการดูแลรักษาและซ่อมแซมงานศิลปะและงานดีไซน์ ที่คนทั่วไปไม่มีโอกาสได้ดูชมกันง่ายๆ โดยมีไกด์เป็นผู้นำพาเข้าไปชม แต่ผู้เข้าชมต้องสวมเสื้อคลุมกันฝุ่นและไฟฟ้าสถิตย์สีขาวเหมือนชุดของนักวิจัยก่อนเข้าไปชม ทำให้เรารู้สึกตื่นเต้นยังกับอยู่ในหนังไซไฟยังไงยังงั้น พอถึงเวลาเข้าชม ไกด์สาวหน้าตาน่ารักสดใสก็เดินเข้ามาแนะนำตัว และเล่าถึงประวัติความเป็นมาของพื้นที่ และกฎข้อบังคับเบื้องต้นในการเข้าชมหลังบ้าน เสร็จแล้วก็พาเราเข้าไปชมในห้องเก็บผลงานห้องแรก ซึ่งเก็บผลงานประเภทภาชนะถ้วยชาม ที่มีไฮไลต์อยู่ที่เครื่องเคลือบดินเผายุคก่อนคริสต์กาล และกระปุกหมูออมสินเซรามิกจากยุคกลาง หลังจากฟังจบ เราต่างก็รอคอยกันอย่างใจจดจ่อว่าไกด์สาวจะพาเราไปห้องไหนต่อ ห้องงานจิตรกรรม ประติมากรรม หรืองานศิลปะร่วมสมัย ปรากฏว่าเธอดันประกาศว่า จบการทัวร์แล้วค่า! ทำเอาพวกเราต่างหน้าจ๋อยด้วยความเสียดายไปตามๆ กัน เรื่องนี้สอนให้รู้ว่า ถ้าอยากชมงานประเภทไหน ตอนลงทะเบียนจองต้องแจ้งเจ้าหน้าที่ไปให้ชัดเจนนะครับ ท่านผู้อ่าน!
หลายคนอาจคิดว่าคลังเก็บผลงานขนาดใหญ่มหึมา ทันสมัยไฉไลขนาดนี้ น่าจะก่อตั้งโดยเอกชนเป็นแน่แท้ แต่เปล่าเลย ที่นี่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลเมืองร็อตเตอร์ดัม และเป็นพื้นที่ที่เปิดขึ้นเพื่อเก็บรักษาคอลเล็กชั่นผลงานทั้งหมดให้ประชาชนรุ่นหลังได้เข้าถึงและชมผลงานเหล่านี้ในอนาคตนั่นเอง ฟังแล้วอดอิจฉาประชาชนในประเทศที่เจริญแล้วขึ้นมาตะหงิดๆ จริงๆ อะไรจริง!
ขอบคุณกองทุนศิลปะชวลิต เสริมปรุงสุข สนับสนุนการเดินทาง #84chavalitfestival
อ้างอิงจาก
หนังสือ Collection Book Museum Boijmans Van Beuningen
https://www.mvrdv.com/projects/10/depot-boijmans-van-beuningen
https://en.wikipedia.org/wiki/Depot_Museum_Boijmans_Van_Beuningen