ตลอด 46 ปีที่ผ่านมา ความทรงจำต่อเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ เหมือนผี บางช่วงเวลามันเงียบงัน เฝ้าหลอกหลอนเฉพาะคนที่อยู่ในเหตุการณ์ และบางช่วงเวลา ..เช่นตอนนี้ มันกลับโผล่หลอกหลอนทุกคน เพื่อเตือนให้จดจำถึงความเลวร้ายที่เกิดขึ้น
แต่ 6 ตุลาคม พ.ศ.2519 ยังเต็มไปด้วยคำถาม มีผู้เสียชีวิตกี่คน อะไรที่ผลักดันให้คนกลุ่มหนึ่งใช้เก้าอี้ฟาดร่างไร้ชีวิตที่แขวนอยู่บนต้นไม้ อะไรทำให้คนโหดร้ายต่อกันได้ถึงขนาดนั้น และอะไรที่ทำให้กระบวนการยุติธรรมเงียบงันเหมือนป่าช้า
The MATTER ได้พูดคุยกับ ภัทรภร ภู่ทอง ทีมจัดทำพิพิธภัณฑ์และหนึ่งในทีมทำข้อมูลโครงการบันทึก 6 ตุลาฯ ถึงแนวคิดเบื้องหลังนิทรรศการภาพถ่าย ‘6 ตุลาเผชิญหน้าปีศาจ’ ใครคือปีศาจ ใครต้องเผชิญหน้า และที่สำคัญ เธอมองความทรงจำของสังคมไทยต่อเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ อย่างไร มันเปลี่ยนแปลงไปอย่างไรตลอด 46 ปีที่ผ่านมา
ในปีนี้ ธีมของนิทรรศการเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ คือ ‘เผชิญหน้าปีศาจ’ อะไรคือปีศาจ
เราตอบได้ไหม คนที่หยิบยกคีย์เวิร์ด ‘ปีศาจ’ ขึ้นมาคือ พี่ปุ๊ – ธนพล อิ๋วสกุล (บก.ฟ้าเดียวกัน) กว่าจะได้ชื่อนี้ก็มีหลายชื่อ แต่ทุกอันจะมีคำว่าปีศาจอยู่ในชื่อ และพี่เบน (เบญจมาศ วินิจจะกูล) ซึ่งเป็นผู้ออกแบบนิทรรศการนี้ช่วยทำให้ธีมปิศาจชัดเจนขึ้น พี่เบนตั้งคำถามหลายคำถามให้พวกเราคิดต่อเกี่ยวกับภาพ และประสบการณ์ในการดูภาพ เราตั้งชื่อกลับไปกลับมาทั้งไทยและอังกฤษ จนสุดท้ายมาลงเอยที่คำว่า ‘Facing Demons’ และแปลกลับมาเป็น ‘เผชิญหน้าปิศาจ’
เราตั้งชื่อเผชิญหน้าปีศาจ เพราะอยากให้คนดูมาเผชิญหน้ากับความจริง มาดูว่าที่ผ่านมาสังคมไทยเราเผชิญกับอะไรและกำลังเผชิญกับอะไร หลายคนรู้ว่าเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ เป็นเรื่องของความรุนแรงโดยรัฐและมวลชนฝ่ายขวา
ปีศาจมันมีหลากหลายและปรากฎอยู่ในหลายสิ่งหลายอย่าง อยู่ในตัวบุคคล สีหน้า ท่าทาง ข้าวของเล็กๆ ที่เอามาใช้เป็นเครื่องมือ อยู่ในอาวุธ เครื่องแบบเจ้าหน้าที่รัฐ คนธรรมดาสามัญ คนที่มีอำนาจ คนที่ยืนหัวเราะ อยู่ในสัญลักษณ์ต่างๆ หรืออยู่ในบุคคล… ต้องมาดูนิทรรศการเอง
มันคือความเลวร้าย โหดเหี้ยม รับไม่ได้
มันมีความน่ากลัว น่าเกลียด เราไม่เคยได้ยินว่ามีปีศาจใจดี นอกเหนือจากชื่อ ‘6 ตุลาเผชิญหน้าปีศาจ’ มันยังมีคำต่อท้ายอีก ‘ปีศาจซ่อนอยู่ในรายละเอียด’ หรือภาษาอังกฤษคือ ‘Devil is in the Detail’ ในภาษาอังกฤษ demons กับ devil ความหมายมันต่างกัน devil คือหัวหน้าปีศาจ หัวหน้าของเหล่า demon ในงานนี้เราชวนคนดูให้ค้นหาและเผชิญหน้ากับปิศาจ เผชิญหน้าทั้งกับ demons และ devil หรืออย่างไรก็ต้องมาดูว่าเห็นอะไรในงาน
แล้วใครเป็นผู้ที่ต้องเผชิญหน้ากับปีศาจเหล่านี้
อันนี้คือความเห็นส่วนตัวของเรานะ เราคิดว่าสังคมไทยต้องเผชิญหน้า เราว่าสังคมไทยไม่ค่อยเผชิญหน้ากับความกลัว สังคมไทยไม่ได้ถูกสอนให้เผชิญหน้ากับความจริง ในแง่หนึ่งปีศาจมันคือความจริง ข้อเท็จจริง สถานการณ์จริง เพราะฉะนั้นการจัดนิทรรศการคือการชวนให้คนผชิญหน้ากับความจริง อย่าหลอกกันอีกว่าสังคมไทยเป็นสังคมที่สงบสุข ปรองดอง สมานฉันท์ ในแง่หนึ่งมันอาจจะไม่ใช่
โครงการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์ 6 ตุลาฯ พยายามต่อสู้กับวัฒนธรรมลอยนวลพ้นผิด เหตุการณ์ความรุนแรงตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน หรือแม้แต่เหตการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เราจะเห็นว่าแทบจะไม่มีผู้มีอำนาจสั่งการ หรือเจ้าหน้าที่รัฐระดับสูง ถูกดำเนินคดีหรือถูกสั่งลงโทษเลยแม้แต่คนเดียว แต่คนที่ต้องเข้าไปอยู่ในกระบวนการยุติธรรมกลับเป็นคนตัวเล็กๆ
รูปถ่ายที่เพิ่งได้มา คุณเห็นอะไรเพิ่มเติมไหม ถือเป็นหลักฐานชิ้นสำคัญไหม
ภาพถ่ายที่ได้มาไม่ได้เป็นหลักฐานใหม่ แต่ว่ามันให้ข้อมูลใหม่ เช่น ให้รายละเอียดมากขึ้นว่าตำรวจหน่วยต่างๆ ที่มาปฏิบัติการในวันนั้นมาจากหน่วยไหนบ้าง เห็นชัดเจนมากขึ้นว่าอาวุธที่ใช้เป็นแบบไหน เห็นปฏิบัติการภายในธรรมศาสตร์ ซึ่งบางรูปเห็นแล้วนี่มันปฏิบัติการในสนามรบไม่ใช่ในเมือง เห็นเครื่องแบบพลร่มพร้อมอุปกรณ์และอาวุธครบชุด ซึ่งเราเอาภาพพวกนี้เอาไปให้ผู้เชี่ยวชาญดูว่าเครื่องแบบอย่างนี้คืออะไร ปืนแบบนี้คืออะไร และมันก็ยิ่งยืนยันว่ากลุ่มผู้กระทำกำลังทำอะไร คุณกำลังมาปราบเขา มาฆ่าเขา หรือเข้ามาควบคุมสถานการณ์ มันสะท้อนให้เห็นแบบนี้
และมันสะท้อนให้เห็นใบหน้า ท่าทาง อาวุธ แม้แต่ขวดน้ำ ไม้แหลม รองเท้าที่ปาเข้าไปในกองไฟที่เผาคน สิ่งเหล่านี้มันเห็นว่าอารมณ์ความรู้สึกของคนในวันที่ 6 ตุลาฯ เป็นอย่างไร เห็นใบหน้าหวาดกลัว ความคาดไม่ถึง เห็นว่าคนที่เสียชีวิตอยู่ที่จุดไหนบ้าง มันเป็นการให้รายละเอียดข้อมูลใหม่มากกว่า
รู้สึกว่า เหตุการณ์ 6 ตุลาฯ มันสำคัญและแตกต่างจากเหตุการณ์อื่นอย่างไรบ้าง
เหตุการณ์นี้ความจุก ความอึดอัด อาจจะไม่ได้ต่างจากเหตุการณ์อื่น แต่อาจจะต่างตรงที่ว่ามันมีความทารุณ โหดร้าย มีคนลากศพ ตีศพ ทำอนาจารกับศพ เผาศพ จะพูดว่าศพก็อาจจะไม่ได้เพราะเราไม่รู้ว่าคนที่แขวนคอ คนที่ถูกลาก ถูกเผา ถูกตอกอก คนที่ถูกทำร้ายต่างๆ เขาตายหรือยัง คนที่ทำร้ายอยู่ก็คงไม่ไปตรวจดูว่าตายหรือยัง สิ่งที่มันแตกต่างคือสเกลของการทำร้ายและความอุกอาจเห็นชัดต่อสายตาคนมากมาย หรือเรียกว่าทำกันซึ่งหน้า
เพราะฉะนั้นถ้าพูดถึงความแตกต่างหรือความพิเศษขึ้นอยู่กับว่าเราใช้เลนส์อะไรในการมอง สเกลความรุนแรง วิธีที่รัฐทำต่อประชาชน ประชาชนต่อประชาชน มวลชนจัดตั้งกับประชาชน หรือกระบวนการยุติธรรมที่มันเกิดขึ้น อย่างที่เคยคุยกับนักข่าวที่เคยผ่านสงครามเวียดนาม สงครามในลาว เหตุการณ์เทียนอันเหมิน เขาพูดถึง 6 ตุลาฯ ว่า “มันแค่เหตุการณ์หนึ่ง (It’s just an event)”
แต่ที่เหมือนกันคือ เมื่อขั้วทางการเมืองเปลี่ยน อำนาจเปลี่ยนมือ มันไม่มีการดำเนินคดีในเหตุการณ์เหล่านี้ต่อ มันทำให้ยืนยันได้ว่า สังคมไทยมีวัฒนธรรมของการลอยพ้นผิด
คุณมองว่าเหตุการณ์มันโหดร้าย อุกอาจ และโฉ่งฉ่าง แต่มันมีบางซุ้มเสียงในสังคมที่บอกว่าเหตุการณ์มันผ่านมา 46 ปีแล้ว “ทำไมไม่ลืมๆ มันไปเถอะ”
เราอยากเห็นงานศึกษาความคิดและภูมิหลังของฝ่ายที่เป็นผู้กระทำให้มากขึ้น เพราะก่อนหน้านี้ เราเองก็เคยเห็นในกลุ่มเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ ในเฟซบุ๊ก ซึ่งในช่วงประมาณเดือน ก.ย. – ต.ค. จะมีคนที่พูดว่า “จะไปฟื้นฝอยหาตะเข็บทำไม” ซึ่งอ่านแล้วก็สะเทือนใจเหมือนกัน เพราะคนจำนวนมากยังไม่เห็นความสำคัญของการค้นหาข้อเท็จจริงและเรียกร้องความเป็นธรรม หรือการชำระสะสางบาดแผลของสังคม
แต่นี่คือสิ่งสะท้อนให้เห็นว่าสังคมเราไม่ถูกสอนให้เผชิญหน้ากับความเป็นจริง เรามีถ้อยคำประเภทที่ว่า ‘อย่าฟื้นฝอยหาตะเข็บ’ หรือ ‘พูดไปสองไพเบี้ย นิ่งเสียตำลึงทอง’ มันจะมีสำนวนต่างๆ ที่ปลูกฝังคนให้เงียบ อยู่ไปเรื่อยๆ แต่เราไม่ได้ถูกสอนว่าเรื่องมันจะเกิดขึ้นเรื่อยๆ ถ้าไม่มีการจัดการหรือทำอะไรกับมัน
เราคิดว่าการทำงานเชิงจดหมายเหตุและหาข้อมูลเพื่อต่อสู้กับวาทกรรมพวกนี้ เป็นการชวนให้คนคิดและตั้งคำถามมากขึ้น เพราะเหตุการณ์แบบนี้มันเกิดขึ้นซ้ำๆ เช่น ในนิทรรศการจะมี section ที่เอาภาพสองเหตุการณ์มาเปรียบเทียบกัน เช่น ภาพรถถังในเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ ก็ไม่ต่างจากการถถังในรัฐประหารปี 2557 หรือภาพลูกเสือชาวบ้านและประชาชนไปชุมนุมกันที่หน้าทำเนียบ ก็คล้ายกับช่วงกลุ่มพันธมิตรไปยึดครองธรรมเนียบ มันมุมเดียวกันเลย นี่คือสิ่งที่มันสะท้อนว่ามันเกิดขึ้นซ้ำๆ แล้วในอีก 10 ปีข้างหน้ามันก็จะเกิดขึ้นอีก
คิดว่ามันมีการจัดตั้งมวลชนหรือเปล่า ทุกอย่างถูกวางหมดแล้วให้มันดำเนินไปในทางนี้
ปัญหาคือเราไม่มีกระบวนการยุติธรรมที่มีประสิทธิภาพหรือแข็งแกร่งพอ เราไม่มีกระบวนการเอาผิดกับคนเหล่านี้ เราไม่ได้มีกระบวนการสอนเรื่องสิทธิมนุษยชน ประชาธิปไตย ความเท่าเทียม ทำไมเราไม่เคยตั้งคำถามว่ารัฐใช้กำลังเกินกว่าเหตุหรือเปล่า ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาคำถามเหล่านี้มันไปไหน เราไม่ได้ถูกกระตุ้นให้ถาม หรือเราไม่ได้มีกระบวนการที่ทำให้คนถามหรือเปล่า
แล้วอีกอย่างอันนี้เป็นข้อสังเกตส่วนตัว ถึงเราจะเห็นคนออกมาตั้งคำถามบ้าง แต่ถ้าเราดูส่วนใหญ่จะเป็นคนในแวดวงที่เราอยู่ หรือ echo chamber เราไม่รู้เลยว่าคนที่อยู่นอกชุมชนของเราคิดยังไง โตมาแบบไหน รับสื่ออะไร คนเหล่านี้เป็นคนที่เราต้องการสื่อสาร เราอยากที่จะให้งานมันข้ามพรมแดนไปสู่คนที่มีความคิดที่แตกต่างจากเรา เราอยากจะชวนเขามาพื้นที่ตรงนี้ มาทำความรู้จัก มามีไดอะล็อกกัน
ตั้งแต่เริ่มจัดโครงการพิพิธภัณฑ์ 6 ตุลาฯ ทีมงานเจอคนหลากหลายไม่ว่าจะเป็นฝ่ายนักศึกษา หรือฝ่ายผู้กระทำ มีอะไรที่อยากเล่าแต่ยังไม่ได้เล่าไหม
เราพูดในนามส่วนตัวนะ มันมีอะไรที่เราอยากเล่าและยังไม่เล่า เราอยากที่จะเล่านิทรรศการของฝ่ายผู้กระทำในเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ ไม่ได้เป็นการให้ความชอบธรรมกับพวกเขา แต่เราอยากให้คนดูเห็นว่ามันมีเบื้องหลัง มีที่มาที่ไปที่ทำให้คนเลือกทำแบบนี้ และเมื่อเวลาผ่านไป พวกเขาคิดยังไง ความคิด ความเป็นมา และเป็นไปของพวกเขาคือสิ่งที่เราอยากเล่า เพื่อจะทำให้เราเข้าใจความผิดปกติของสังคมที่เราอยู่มากขึ้น
แล้วเท่าที่ได้คุยมา พวกเขามีความคิดกับเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ เปลี่ยนไปยังไงบ้างครับ
ต้องบอกว่าเรายังไม่มีข้อมูลมากพอเกี่ยวกับฝ่ายผู้กระทำที่จะเล่าหรือเขียน แม้ว่าเราจะได้เจอบางคนมาบ้าง แต่มันยังไม่ใช่ข้อมูลที่เอามาใช้ได้ ข้อมูลมันยังต้องตรวจสอบ เช็กความถูกต้อง และเราคิดว่ามันต้องใช้เวลาประมาณนึง มันยากที่จะเจอกัน 1-2 ชั่วโมงแล้วเขาจะเล่าทุกอย่างที่เผชิญให้ฟัง มันมีกระบวนการมากกว่านั้น ซึ่งมันยังไม่ใช่ตอนนี้ เรายังไม่มีข้อมูลมากพอ
สำหรับฝ่ายครอบครัวผู้ถูกกระทำ พวกเขามีอารมณ์ประมาณไหน
แตกต่างกันแล้วแต่ครอบครัว เราคิดว่าประเทศไทยยังไม่ค่อยให้ความสำคัญกับ ‘บาดแผลทางใจ (trauma)’ เราไม่ได้ใส่ใจว่าผู้คนท่ีเผชิญกับความรุนแรงในเหตุการณ์ต่างๆ เขารู้สึกอย่างไร เผชิญกับอะไร บาดแผลที่อยู่ข้างในมันไม่ได้เห็นชัดเท่ากับบาดแผลที่อยู่ตามเนื้อตัว การเยียวยาด้วยเงินสำคัญแต่มันไม่ได้เยียวยาบาดแผลข้างใน แม้แต่สามจังหวัดภาคใต้ เรายังเห็นข้อจำกัดของกระบวนการเยียวยาผู้ที่ได้รับผล กระทบจากเหตุการณ์รุนแรง ทั้งกระบวนการและระยะเวลา ส่วนตัว เราคิดว่าสังคมไทยยังไม่เข้าใจว่า กระบวนการเหล่านี้ ในหลายกรณี เป็นกระบวนการต่อเนื่องชั่วชีวิตคน บาดแผลทางใจไม่ได้หายขาดกันง่าย ๆ
ทุกครอบครัวที่เจอกับ 6 ตุลาฯ ล้วนต้องช่วยเหลือตัวเอง อย่างในสารคดี ‘ด้วยความนับถือ’ เราก็จะเห็นว่าแต่ละครอบครัวไม่เหมือนกัน ครอบครัวนึงพ่อก็เปลี่ยนเป็นเงียบขรึม แม่พอตักบาตรตอนเช้าให้ลูกเสร็จก็จะนั่งรถเมล์สาย 90 จากบางโพไปสุดสาย
บางครอบครัวพอเราโทรไป เขาบอกโครงการที่คุณทำดีมากนะ แต่ผมไม่มีอะไรจะพูด แต่บางครอบครัวยินดีมากที่จะพูด แต่ละครอบครัวไม่เหมือนกัน แต่เราเชื่อว่าไม่มีใครลืมเพียงแต่มันคือวิธีหาทางออกของแต่ละครอบครัว
เวลาที่ตัวคุณใกล้ชิดกับหลักฐานทางประวัติศาสตร์มากๆ แบบนี้ มันส่งผลยังไงกับตัวคุณไหม แล้วส่งผลยังไงต่อมุมมองของสังคมและผู้มีอำนาจในไทยไหม
เราไม่ได้อยู่ในเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ คนในครอบครัวเองก็ไม่มีใครได้รับผลกระทบ เพราะฉะนั้นเราวางสถานะของเราเป็นคนนอกที่มองเข้าไปในเหตุการณ์ มันทำให้เรารักษาระยะระหว่างเรากับเหตุการณ์ได้ดีขึ้น
แต่แน่นอนว่าเวลาเราเจอภาพถ่ายที่โหดร้าย ที่แสดงออกว่ามนุษย์คนหนึ่งสามารถกลายเป็นปีศาจได้ มันทำให้ใจเราสั่นกลัว รู้สึกว่าสังคมไทยมันโคตรโหดเลย มันทำให้ความไว้วางใจต่อกันลดลง แต่ไม่ได้เป็นลักษณะบาดแผลทางใจหรือโรคพีทีเอสดี (PSTD) แต่มีอยู่หลายครั้งที่เราถามตัวเองเหมือนกันว่ามาถึงตรงนี้ได้อย่างไร เพราะวันนึงเรากับเพื่อนนั่งดูภาพฟุตเทจของ 6 ตุลาฯ แล้วก็กินกาแฟกับขนมไปด้วย ทำไมเราถึงสามารถกินไปด้วยแล้วก็มองสิ่งเหล่านี้ไปด้วยได้ อ่านเอกสารพิสูจน์ศพแล้วยังกินอะไรได้อยู่ เราไม่เคยคิดว่าวันหนึ่งจะสามารถทำอะไรแบบนี้ได้ นี่เป็นสิ่งที่เราจะต้องสำรวจตัวเองบ่อยๆ ว่าเรารู้สึกกับมันยังไง
แล้วความคิดต่อผู้มีอำนาจเปลี่ยนไปบ้างไหม
เหมือนเดิมไม่เปลี่ยนเลย ยิ่งรู้สึกว่าสิ่งหนึ่งที่เพิ่มขึ้นคือความโกรธและความแค้นใจ
ดูเหมือนว่าในมุมของภาครัฐ เหตุการณ์ 6 ตุลาฯ เป็นเหตุการณ์ที่เขาอยากลบมากที่สุด ไม่ว่าการไม่เอาไปใส่ในหนังสือเรียน หรือไม่มีแม้กระทั่งพิพิธภัณฑ์ มองว่าทำไมภาครัฐถึงพยายามลบเหตุการณ์นี้
เราคิดว่ารัฐไทยเหมือนหลายประเทศนะ เราอยู่ภายใต้ระบบทหารมายาวนาน เรามีถ้อยคำมากมายที่ให้ความชอบธรรมกับการไม่เผชิญกับความจริง เราคิดว่าเขาไม่พูดหรอกเพราะมันทำให้ความเชื่อและคุณค่าบางอย่างที่รัฐให้ความสำคัญพังทลายลง แล้วเราต้องดูว่าศูนย์รวมอำนาจของประเทศอยู่ที่ไหน เพราะว่าในหลายๆ เหตุการณ์ยิ่งขุดลึกลงไปก็ยิ่งเจอเงามืดใช่ไหม.. ไม่พูดดีกว่า
เราไม่ควรถามแค่ว่ารัฐทำอะไรกับ ‘ความเงียบ’ ของเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ บ้าง แต่ควรย้อนกลับมาถามภาคประชาสังคมหรือสถาบันการศึกษาเองด้วยว่าทำอะไรบ้าง
เราเพิ่งมีโอกาสได้มาทำงานประเด็นนี้ไม่กี่ปี แต่ก่อนหน้านี้หลายๆ ปีเป็นสิ่งที่เราอาจจะต้องทบทวนเรื่องตรงนี้กับภาคประชาสังคม เพราะทุกคนมีส่วนทำให้เกิดความเงียบนี้เช่นกัน
จนมาถึงตอนนี้ พอย้อนดูความทรงจำของ 6 ตุลาฯ ผ่านความจำของคุณเอง มันมีการเปลี่ยนแปลงอย่างไรบ้าง มันเริ่มเสียงดังมากขึ้นไหม หรือช่วงไหนที่มันเงียบที่สุด
ตอนนี้มันเสียงดังขึ้น แต่ถ้าถามว่าช่วงไหนเงียบที่สุด ก็คงจะเป็นตอนเด็ก เราอยู่จังหวัดระนองแล้วเราก็โตมากับข่าวซุบซิบว่า 6 ตุลาฯ มีคนตายเยอะมาก แม่กับพ่อเล่าให้ฟังว่าเขาเอาศพไปให้จระเข้กิน แล้วก็เราโตมาโดยมีคนรอบข้างเราเป็นลูกเสือชาวบ้าน แต่ลูกเสือชาวบ้านที่เรารู้จักคือ ไปร้องเพลง เป็นอาสาสมัครรักชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ เขารู้กันแค่ว่า 6 ตุลาฯ มีความรุนแรง เกิดเหตุทำร้ายนักศึกษา มีญวนในมหาวิทยาลัย มีข่าวว่าใน มธ. มีการขุดอุโมงค์ เราโตมากับข่าวลือเกี่ยวกับ 6 ตุลาฯ
พอเราเข้าปี 1 ที่ธรรมศาสตร์ เราจำได้ว่ามีการนำฟุตเทจของ 6 ตุลาฯ มาเปิดในงานรับเพื่อนใหม่ ตอนนั้นเราก็ไม่ดูเพราะกลัว แล้วก็มีการจัดนิทรรศการครบรอบ 20 ปี (พ.ศ.2539) ตอนนั้นเราก็ไม่ดูเพราะคิดว่ามันน่ากลัวมาก เราเลยไม่ผ่านไปแถวที่จัดงานเลย
ส่วนเรื่องโยนศพให้จระเข้กินมันก็ตลก เราเคยสงสัยว่ามันจริงไหม ก็เลยโทรไปถามฟาร์มจระเข้สมุทรปราการ เราโทรคุยกับคนที่เคยทำงานที่นั่น เขาก็บอกว่าไม่มีเพราะเวลาที่คนจะทำลายศพเขาไม่โยนไปให้จระเข้กินหรอก เพราะเลือดมันจะเยอะ มันจะสกปรกเลอะเทอะบ่อ ถ้าเขาจะทำลายศพ เขาใช้รถแบคโฮขุดแล้วเอาศพใส่ลงไปแล้วเอาดินกลบดีกว่า ก็ได้รู้ว่าข่าวลือนี้ไม่จริง
ตอนเรียนอยู่ มธ. สังคมเป็นไงบ้างครับ ช่วงวันครบรอบมีข่าวลงไหม
เราจำได้ว่างานใหญ่มากคือ 20 ปี 6 ตุลาฯ ตอนนั้น ปุ๊ – ธนาพล อิ๋วสกุล (บก.ฟ้าเดียวกัน) ยังเรียนหนังสืออยู่ที่ธรรมศาตร์ ป.ตรี แล้วพี่ปุ๊งาน 20 ปี 6 ตุลาฯ พี่ปุ๊จะจำเหตุการณ์ บรรยากาศของงาน 6 ตุลาฯ นั้นได้ ถามพี่ว่าตอนช่วงนั้น ระหว่างปี พ.ศ.2538-2541 ในช่วงที่พี่เรียนอยู่เป็นยังไงพี่ก็จะบอกว่า เราไม่ได้สนใจ ตอนนั้นเราเป็นพวกอิกนอแรนซ์
ตอนคุณจบจากมหาวิทยาลัยและเริ่มทำงาน ช่วงนั้นบทสนทนาเกี่ยวกับ 6 ตุลาฯ เป็นอย่างไรบ้าง
ไม่ค่อยมี ตอนนั้นเราสนใจการเมืองแต่ว่ายังไม่ได้สนใจ 6 ตุลาฯ เริ่มมาสนใจ 6 ตุลาฯ ตอนไปเรียนต่อแล้วฝึกงานที่ The May 18 Memorial Foundation ซึ่งตั้งอยู่ในเมืองควังจู พื้นที่ที่เคยถูกปิดล้อมและชาวเมืองถูกสังหารในการต่อสู้กับเผด็จการทหาร (ค.ศ.1980) ตอนนั้นเราเขียนเปเปอร์เทียบกระบวนการยุติธรรมระหว่างควังจูกับ 6 ตุลาฯ พอเราทบทวนเอกสารก็เห็นว่า เกาหลีสามารถนำเอาผู้รับผิดชอบมาลงโทษได้ แต่ของไทยกลับไม่ได้ ซึ่งตอนนั้นเราอยู่ในมหาวิทยาลัย เขียนงานเป็นภาษาอังกฤษก็เขียนอะไรก็ได้ ทำให้เรารู้ว่าอุปสรรคสำคัญของกระบวนการยุติธรรมในกรณีของ 6 ตุลาฯ คืออะไร ทำให้เราสนใจหันมาทำเรื่องนี้
แล้วในปัจจุบันคุณมองว่าความทรงจำเกี่ยวกับ 6 ตุลาฯ เปลี่ยนไปบ้างไหม
เปลี่ยน เราเริ่มสังเกตว่าคนรุ่นใหม่พูดถึง 6 ตุลาฯ มากขึ้น คนรุ่นใหม่นี่พูดถึงนักเรียนนักศึกษาเนอะ และอีกเรื่องนึงสิ่งที่เราดีใจมากๆ คือ ในกลุ่มประวัติศาสตร์ ในเฟซบุ๊ก เวลาที่คนที่พูดถึง 6 ตุลาฯ จะมีคนอ้างอิงข้อมูล ‘โครงการบันทึก 6 ตุลาฯ’ แล้วพอเราเข้าไปดูโปรไฟล์ว่าเป็นใคร เรารู้จักไหม มีเพื่อนร่วมกันกับเรากี่คน เราก็ค้นพบว่าเขาไม่ได้เป็นนักเคลื่อนไหว เอ็นจีโอ หรือนักวิชาการ ไม่ได้เป็นเพื่อนหรืออยู่ในแวดวงของเราด้วย ดังนั้น นี่คือสิ่งที่แสดงให้เห็นว่างานที่เราทำมันเวิร์ค เพราะเราสามารถทำให้คนที่อยู่อีกแวดวงนึงได้อ่านจริงๆ และอีกเรื่องนึงที่สังเกตคือ ตอนที่เราจัดนิทรรศการปี พ.ศ.2563 (นิทรรศการ ‘แขวน’ ที่ มธ.) คนมาเยอะมาก โดยพวกเราเองไม่คิดมาก่อนว่าคนจะเยอะขนาดนี้
มันเป็นครั้งแรกเลยไหมที่คนมาเยอะขนาดนี้ เมื่อเทียบกับนิทรรศการที่ผ่านมาเกี่ยวกับงาน 6 ตุลาฯ
คิดว่าน่าจะเป็นหนึ่งในงานที่คนเยอะที่สุดนะ แต่ต้องบอกก่อนว่างาน 20 ปี เหตุการณ์ 6 ตุลาฯ เราไม่ทราบ ถามว่าทำไมคนถึงเยอะ แน่นอนว่านิทรรศการเราตั้งใจทำกันอย่างมาก แต่อีกปัจจจัยคือมันเป็นช่วงเวลาที่มีคนพูดถึงเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ ในการเคลื่อนไหวทางการเมืองด้วย ทำให้คนตั้งคำถามมากขึ้นเกี่ยวกับวัฒนธรรมลอยนวลพ้นผิด เกี่ยวกับความไม่ยุติธรรมในเหตุการณ์ต่างๆ ของสังคมไทย และนิทรรศการมันมีขึ้นในช่วงเวลาที่คนมีคำถามพอดี มันเป็นจังหวะเวลาที่ถูกต้อง ซึ่งถ้าเราจัดนิทรรศการนี้เมื่อ 15 ปีที่แล้ว ก็ไม่แน่ใจว่าคนจะมาแบบนี้หรือเปล่า
คิดว่าเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ มันเป็นเหตุการณ์ที่ป็อป หรือเป็นที่รู้จักแล้วหรือยัง
ถ้าเราคุยกับคนที่เขาไปม็อบ เด็ก ม.ปลาย จนถึงมหาวิทยาลัย เราว่าคนส่วนใหญ่ก็รู้จัก อย่างเมื่อ 2 ปีที่แล้ว เราเตือนน้องที่มาบางคนว่าภาพมันจะค่อนข้างน่ากลัว อยากให้พี่พาชมไหม น้องบอกว่าไม่เป็นไรเขาดูทางอินเทอร์เนตมาเรียบร้อยแล้ว แล้วก็ได้รู้ว่าหลายคนอ่านเกี่ยวกับ 6 ตุลาฯ ผ่านวิกิพีเดีย เราเลยสังเกตว่าคนที่มานิทรรศการหลายคนมีความรู้เกี่ยวกับ 6 ตุลาฯ อยู่แล้ว เพียงแต่อยากมาดูข้อมูลใหม่ๆ
และพอมาแล้วยังได้เจอเพื่อน เจอรุ่นพี่ รุ่นน้องใหม่ๆ ที่คิดเหมือนกัน เราคิดว่านิทรรศการหรือพิพิธภัณฑ์ มันไม่ใช่แค่พื้นที่จัดแสดงงาน เราอยากสร้างให้เป็นพื้นที่ที่ต่างคนต่างมาสามารถมีบทสนทนากันได้ ได้มาพูดคุย มาแชร์กัน
อันนี้ก็เป็นฝั่งของของกระแสสังคม เสียงเกี่ยวกับความทรงจำเริ่มดังขึ้นแล้ว แล้วภาครัฐและผู้มีอำนาจไทย มองเห็นความเปลี่ยนแปลงเกี่ยวกับเหตุการณ์นี้บ้างไหม
แน่นอนว่าผู้มีอำนาจก็กลุ่มเดิม แม้บางคนอาจจะตายไปแล้วแต่ว่าลูกหลานหรือแวดวงของเขาก็ยังคงกลับเข้ามา ถามว่าเปลี่ยนแปลงอะไรไหม ความเห็นส่วนตัวนะคิดว่ายังไม่เปลี่ยนแปลงอะไร แล้วคิดว่าการขอทุนทำเรื่อง 6 ตุลาจากภาครัฐ ก็ยังไม่มีใครให้ทุนเรา
คล้ายเป็นเรื่องที่ถูกติดแบล็กลิสต์ไว้
ไม่แน่ใจ แต่ว่าภาครัฐไทยไม่ได้มีกิจกรรมที่ส่งเสริมงานด้านนี้มากเท่าไหร่อยู่แล้ว
คุณอยากจะส่งต่อความทรงจำ 6 ตุลาฯ แบบไหนให้กับคนรุ่นต่อไป
สิ่งที่เราพูดถึงมากๆ คือวัฒนธรรมการลอยนวลพ้นผิด คิดว่าอยากชวนคนคิดเรื่องนี้ให้มากๆ นอกจากนั้นเราก็คาดหวังและอยากชวนคนรุ่นใหม่เข้ามาทำงานเชิงพิพิธภัณฑ์ เข้ามามีส่วนร่วมกับงานทางความทรงจำมากขึ้น นอกเหนือจาก 6 ตุลาฯ มันก็ยังมีเหตุการณ์อื่นๆ อีกใช่ไหม เพราะเราคิดว่าอีก 10 กว่าปีข้างหน้า เราก็เกษียณอายุแล้ว บทบาทของเราก็อยากอยู่ข้างหลังมากขึ้น
เราไม่อยากจะใช้คำว่าส่งต่อเพราะเราเองไม่ได้เป็นคนสำคัญถึงขนาดจะส่งต่ออะไร เราแค่คิดว่าอยากชวนหน้าใหม่ๆ เข้ามาร่วมทำอะไรลักษณะนี้มากขึ้น คือตราบใดที่ประเทศยังเป็นอย่างนี้ ไม่ได้มีกระบวนการกฎหมาย ไม่ได้มีอนุสัญญาระหว่างประเทศรับรอง มันจะยังเกิดขึ้นอีก แล้วเราจะป้องกันไม่ให้มันเกิดขึ้นยังไง เราจะยุติมันได้ยังไง
ในปีนี้ โครงการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์ 6 ตุลามีการจัดนิทรรศการภาพถ่ายภายใต้คอนเซ็ปท์ ‘6 ตุลาเผชิญหน้าปีศาจ: ปีศาจอยู่ในรายละเอียด Facing Demons : Devil is in the Detail’’ โดยนิทรรศการจะจัดอยู่ใน Kinjai Contemporary ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. – 13 พ.ย.
ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่: https://www.facebook.com/October6MuseumProject