สัปดาห์ที่ผ่านมา ผมได้ไปทำภารกิจกับทีมถ่ายโฆษณาแซลมอนเฮาส์ที่โอซาก้า ด้วยความที่ไม่ได้เช่ารถเดินทาง ทำให้เราต้องไปไหนมาไหนในเมืองด้วยรถไฟเป็นหลัก ซึ่งในโอซาก้าก็มีรถไฟหลายบริษัทเหลือเกิน เล่นเอางงไม่น้อย แต่ถ้าจับทางได้ก็สะดวกดีครับ ระหว่างที่กำลังรอเปลี่ยนรถที่สถานีรถไฟใต้ดินหนึ่ง ผมก็มองเห็นสิ่งที่ทำให้รู้สึกสะดุดตาคือ เก้าอี้ในชานชลาที่วางไว้อย่างแปลกตา แทนที่จะเป็นม้านั่งยาว นี่กลับเป็นเก้าอี้แบบเดี่ยว ดูเหมือนเก้าอี้ห้องเล็กเชอร์ที่ไม่มีโต๊ะ
แต่ที่น่าสนใจสุดคือ เขาเรียงเก้าอี้เดี่ยวเหล่านั้นเป็นแถวยาวแนวตั้งหันไปทางเดียวกัน ยิ่งทำให้ดูเหมือนการจัดโต๊ะเวลาสอบ เล่นเอาสงสัยว่าทำไมวางไว้แบบนั้น
พอเห็นโปสเตอร์ในสถานีในวันถัดมาก็ถึงบางอ้อ เพราะวิธีการเรียงเก้าอี้แบบที่ว่าก็ทำเพื่อเพิ่มความปลอดภัยให้กับผู้โดยสารนั่นเอง ที่ผ่านมาญี่ปุ่นมีปัญหาผู้โดยสารตกจากชานชลาลงไปในรางอยู่บ่อยๆ สาเหตุก็มาจากฉลองกันหนักแล้วมาขึ้นรถไฟกลับบ้านกันนี่ละครับ เมาเละแบบนั้น ทำอะไรก็ไม่รู้ตัว คืนวันศุกร์รอบดึกนี่ผมเคยเจอตั้งแต่อ้วกยันยืนฉี่บนชานชลา ซึ่งพอเมาแล้วส่วนใหญก็จะนั่งรถไฟกลับ พอเห็นแสงรถมาก็สลึมสลือเดินออกมา แต่ด้วยความเมา ลุกขึ้นมาแล้ว ก็เลยเดินตรงออกมาจนโซเซตกลงไปบนราง
พอเปลี่ยนแนววางเก้าอี้แบบนี้ ต่อให้เมามากๆ แล้วลุกขึ้นมา ก็ไม่สามารถเดินตรงไปหารางได้ เพราะต้องมีสติพอที่จะหักเลี้ยวเพื่อหันไปหารถไฟ ไม่ใช่ลุกขึ้นมาแบบกึ่งหลับกึ่งตื่นเดินตรงไปหารางเลย เป็นการช่วยป้องกันไม่ให้คนเมาต้องเสียชีวิตกันได้ด้วยการเปลี่ยนทิศทางวางเก้าอี้เท่านั้นจริงๆ
ว่าแล้วผมก็นึกถึงเรื่องการออกแบบดีไซน์ต่างๆ เพื่อทำให้ชีวิตเราง่ายและปลอดภัยขึ้น ตัวอย่างไม่ไกลก็ป้ายหน้าห้องน้ำของห้างใหญ่เจ้าใหม่ของบ้านเรา ที่ดูแล้วอาจจะไม่ชวนสับสนสำหรับบางคน แต่มันก็ไม่ชัดเจนขนาดที่เข้าถึงทุกคนได้ ทั้งๆ ที่ดีไซน์แบบนี้ควรจะเป็นของที่ไม่ว่าใครก็เข้าใจได้ แม้จะไม่เข้าใจภาษา (ตัวอย่างเช่นการเลือกใช้ pictogram ในเมื่อญี่ปุ่นจัดโอลิมปิกอย่างเป็นทางการครั้งแรกที่โตเกียวในปี 1964 ซึ่งทุกคนก็เข้าใจได้แม้จะไม่เข้าใจภาษาอื่น) และจากการเดินทางและประสบการณ์ที่ผ่านมาในญี่ปุ่นก็ทำให้เข้าใจว่าในพื้นที่สำคัญของเขาอย่าง ‘สถานีรถไฟ’ ก็มีการออกแบบสารพัดอย่างเพื่อให้เราเดินทางได้อย่างสะดวก
ตัวอย่างเล็กๆ น้อยๆ ที่ยังคงเกี่ยวกับม้านั่งและผมอยากยกขึ้นมาเสนอต่อก็คือ เอาจริงๆ ผมก็ยังงงว่าทำไมในสถานีรถไฟฟ้าของเราถึงได้มีม้านั่งน้อยขนาดนั้น ไม่เข้าใจว่าคนออกแบบหรือคนตัดสินใจเขาคิดว่ารถจะมาถี่พอที่จะให้คนรอได้โดยไม่ต้องนั่ง? หรือไม่ได้คิดถึงเลยหรือว่า ไม่ใช่ทุกคนที่จะสามารถยืนรอได้นานเหมือนๆ กัน ในขณะที่รถไฟใต้ดินในเมืองที่วุ่นวายอย่างโตเกียว ตรงกลางระหว่างชานชลาสองฝั่งก็มีที่ให้นั่งพักได้ ที่สำคัญ ม้านั่งรุ่นใหม่ออกแบบให้มีช่องเล็กๆ ที่เอาไว้สำหรับให้เอาไม้เท้าไปเสียบไว้ สำหรับผู้สูงอายุที่ใช้ไม้เท้า จะได้ไม่ต้องเอาพาดไว้กับม้านั่ง ซึ่งก็มีโอกาสที่จะไหลไปขัดขาคนที่เดินได้ ถึงจะแค่เล็กๆ น้อยๆ แต่ก็ช่วยให้ชีวิตคนดีขึ้นได้
ยิ่งปัจจุบันสังคมญี่ปุ่นยิ่งสู้สภาพสังคมสูงอายุหนักขึ้นเรื่อยๆ การออกแบบพื้นที่สาธารณะที่ทุกคนใช้ร่วมกันก็ยิ่งต้องคิดถึงผู้ใช้ทุกคนในสังคม ดังนั้น หนึ่งในหัวใจสำคัญของการออกแบบพื้นที่ของญี่ปุ่นก็คือเรื่อง universal design ที่ไม่ว่าใครก็สามารถใช้บริการการขนส่งเหล่านี้ได้ และพึ่งพานายสถานีให้น้อยที่สุดเท่าที่จะทำได้ ในขณะเดียวกัน กับ BTS บ้านเราเรื่องการใช้ลิฟต์ของคนพิการก็ยังเป็นปัญหาคาราคาซังมาโดยตลอด ส่วนของญี่ปุ่นนั้นการเห็นคนใช้วีลแชร์ขึ้นรถไฟนับเป็นเรื่องปกติ และส่วนเกตเข้าสถานีก็มีช่องที่กว้างพอสำหรับคนที่ลากกระเป๋าขนาดใหญ่ (รวมถึงคนที่เดินทางพร้อมจักรยานแบบผม) หรือครอบครัวที่มาพร้อมรถเข็นเด็ก
เรื่องเกตนี่ก็เป็นเรื่องสำคัญอีกเรื่องหนึ่ง เพราะของบ้านเรากับของญี่ปุ่นนี่หลักการแตกต่างกันมากจนน่าจะมีผลไม่น้อย จะสังเกตได้ว่า ของไทยเรา เกตจะปิดอยู่ตลอดเวลา โดยระบบการปิดก็ใช้เป็นบานประตูยื่นออกมาจากตัวเกททั้งสองด้าน ลักษณะคล้ายการสับลงมาตรงกลาง เวลาเราแตะบัตรที่กั้นก็เปิดขึ้น แล้วก็สับลงมาปิด ส่วนของทางญี่ปุ่น ผมขอยกทางโตเกียวเป็นหลักเพราะชินมากกว่า จะสังเกตได้ว่า ประตูทางเข้าออกเกตของเขาเปิดอยู่ตลอดเวลา คนก็แตะบัตรเดินต่อไหลเข้าไปกันได้เรื่อยๆ ถ้าแตะแล้วไม่ผ่าน ก็ค่อยมีตัวกั้นสองด้านของเกตพับเข้ามากันไว้ ไม่ให้เข้าไปได้ (อันนี้ถ้าตบผิดที่ก็อาจจะหน้าเขียวได้) แต่เมื่อดูความแตกต่างสองจุดนี้แล้ว จะเห็นได้ว่าของไทยทำให้คนติดนิสัยต้องรอให้สับลงมาก่อน ค่อยแตะบัตรให้ตัวกั้นเปิดขึ้นไปอีกที ทำให้การไหลของคนที่จะเข้าออกสถานีช้า จริงๆ แล้วไม่ต้องรอให้สับลงมาก็แตะบัตรต่อไปได้เลย ซึ่งจะพบได้ในบางสถานีที่มีคนขึ้นลงขาประจำเยอะๆ แต่สำหรับคนไม่ชินก็ติดนิสัยรอก่อนนั่นละครับ เพราะว่าตัวเกตมันเริ่มต้นจากการ ‘ปิดกั้น’ ไว้ก่อนแล้ว เมื่อเทียบกับของทางญี่ปุ่นที่เปิดโล่ง ปิดเฉพาะเวลามีปัญหาแล้ว ความเร็วในการไหลออกก็ต่างกันแบบสังเกตได้ครับ (ก็ไม่แน่ว่าของเรามีการมานั่งนับความเร็วในการไหลของผู้โดยสารหรือไม่)
พอไปหาข้อมูลเรื่อง universal design ในสถานีรถไฟ ก็ทำให้เห็นได้ว่ามีหลายเรื่องที่บางครั้งเราก็ใช้บริการแบบไม่ได้คิด แต่จริงๆ แล้วเขาวางแผนไว้อย่างดีจนทำให้เราใช้บริการมันได้แบบไม่รู้สึกอะไร ดูตัวอย่างไม่ไกลก็เจ้าเกตทางเข้าที่ใช้กับบัตรอิเล็กโทรนิกส์นั่นละครับ ตอนเริ่มใช้บัตร Suica มาแทนบัตรรายรอบแบบเดิมนี่เขาก็ทดลองกันหลายต่อหลายรอบจนพบว่าที่แตะบัตรทำงานผิดพลาดน้อยสุดเมื่อเอียง 13 องศา คิดกันละเอียดกว่าจะเอามาใช้จริง (และจริงๆ แล้วหนึ่งในเป้าหมายของการใช้บัตรอิเล็กโทรนิกส์ก็เพื่อความสะดวกของผู้ใช้บริการ เพราะว่าการแตะบัตรมันง่ายกว่าการสอดบัตรโดยสารเล็กๆ แบบเดิมครับ)
ยิ่งไปดูรายละเอียดการออกแบบสถานีรถไฟสายใหม่ๆ จะยิ่งเห็นรายละเอียดของ universal design ได้ชัดขึ้น ตัวอย่างหนึ่งก็คือสาย Tsukuba Express ที่ออกแบบมาเพื่อให้ไม่ว่าใครก็ใช้ได้อย่างสะดวก ตั้งแต่เครื่องซื้อบัตรที่ออกแบบมาเผื่อคนนั่งรถวีลแชร์ ลิฟต์ขนาดใหญ่พอ ทางเข้าออกสถานีที่ไม่มีพื้นยกระดับ แน่นอนว่าส่วนของห้องน้ำก็ต้องมีอุปกรณ์เพื่อคนใช้วีลแชร์อย่างครบครัน (อันนี้เสริมหน่อยว่าบางสถานีเขาก็วางโทรศัพท์สาธารณะไว้สองเครื่องสองระดับเผื่อคนใช้วีลแชร์ด้วย แต่ยุคนี้คงจำเป็นน้อยลง) ที่สำคัญคือ เวลารถจอดรับผู้โดยสาร นอกจากตัวรถจะชิดกับชานชลามากจนแทบไม่มีช่องว่างแล้ว ตัวขอบล่างของประตูรถยังทำเป็นทางลาดเอียงเล็กๆ เพื่อให้เข็นรถวีลแชร์ขึ้นได้ง่าย
นอกจากผู้ใช้วีลแชร์แล้ว ที่สำคัญไม่แพ้กันคือเด็กเล็กๆ เขาก็จัดม้านั่งสองระดับเพื่อให้เด็กนั่งได้ง่าย แถมราวจับเวลาเดินลงบันไดก็มีสองระดับ ให้เด็กได้จับลงบันไดได้ง่ายเพื่อความปลอดภัย (ที่ญี่ปุ่นเด็กประถมขึ้นรถไฟคนเดียวกันไม่น้อยครับ) พอออกแบบมาแบบนี้ก็ทำให้ปลอดภัยต่อผู้โดยสารได้เกือบทุกคน
จริงๆ แล้วการออกแบบสถานีรถไฟและตัวรถไฟของเส้นอื่นๆ ก็น่าสนใจไม่แพ้กัน และญี่ปุ่นคงค่อยๆ ปรับปรุงกันไปเรื่อยๆ เพื่อผู้ใช้บริการ เพราะก็มีไกด์ไลน์แนะนำการออกแบบใหม่ๆ เพิ่มขึ้นมาตลอด ตั้งแต่การพยายามใช้สีของพื้น ผนัง และเพดานส่วนที่เป็นบันไดเลื่อนให้ต่างกัน เพื่อที่คนมองปราดเดียวเข้าใจได้เลย และแน่นอนว่าในปัจจุบันที่คนต่างชาติไปเที่ยวญี่ปุ่นกันมากขึ้นเรื่อยๆ ทำให้หลายสายเริ่มใช้ป้ายบอกรายละเอียดแบบสี่ภาษา คือ ญี่ปุ่น อังกฤษ จีน เกาหลี ถ้าเทียบกับเมื่อสิบกว่าปีก่อนตอนผมเรียนอยู่ที่นั่นแล้วถือว่าดีขึ้นมากๆ และยังมีการกำหนดตัวย่อของสถานีว่าอยู่สายไหน สถานีที่เท่าไหร่ ทำให้ต่อให้ไม่ถนัดชื่อภาษาญี่ปุ่นก็จำเอาเบอร์สถานีเอาได้ครับ ตัวอย่างเช่น ในใต้ดินโตเกียว เห็นสถานี C05 ก็รู้เลยว่า สถานี Nogizaka นั่นเอง อันนี้ไทยก็ทำอยู่เหมือนกัน แต่พอระบบขยายไปเรื่อยๆ ก็คงต้องมาจัดการให้ละเอียดอีกทีครับ
ผมพูดเรื่องผู้ใช้วีลแชร์ไปเยอะ แต่จริงๆ แล้ว สำหรับผู้พิการทางสายตา เขาก็เตรียมไว้พร้อมไม่น้อยเช่นกัน นอกจากบล็อคพื้นขรุขระแบบที่เราเอามาใช้ เขาก็ยังพร้อมยิ่งกว่านั้น หลายสถานีมีแผนผังสถานีเป็นแผ่นนูนสูงพร้อมอักษรเบรลล์ให้ผู้พิการทางสายตาไว้อ่านด้วยตัวเอง และบางสถานีก็พร้อมขนาดมีแผนผังแบบเดียวกันที่หน้าห้องน้ำเพื่อบอกตำแหน่งของแต่ละจุดในห้องน้ำ ที่เจ๋งสุดที่เคยเจอคือมีเสียงค่อยประกาศอธิบายตำแหน่งในห้องน้ำอีกด้วยครับ ต่อให้มาคนเดียวก็สามารถใช้บริการได้แบบไม่ต้องห่วงใคร
ส่วนในตัวรถไฟก็มีการเปลี่ยนแปลงตลอด ทุกวันนี้จะเห็นรถไฟที่มีพื้นที่สำหรับผู้ใช้วีลแชร์มากขึ้น และจะสังเกตได้ว่า บางสายก็กำหนดตำแหน่งของที่จับในรถไว้สูงต่ำไม่เท่ากัน ส่วนที่ใกล้กับที่นั่งสำหรับเด็ก ผู้สูงอายุ และสตรีมีครรภ์ ก็จะห้อยไว้ต่ำกว่าปกติเพื่อให้เอื้อมถึงได้ง่าย แต่ในจุดอื่นก็ห้อยไว้สูงหน่อยเพื่อไม่ให้เกะกะ และบางสายตรงที่นั่งจะมีเสาโค้งแบ่งเบาะนั่งยาวๆ ไว้ด้วย ที่มีตรงนี้ไว้ไม่ใช่แค่กำหนดพื้นที่ให้คนนั่ง แต่ว่าเอาไว้ให้คนที่ยืนแล้วเอื้อมไปไม่ถึงมือจับด้านบนมายืนจับตรงนี้แทนได้
ดูเหมือนญี่ปุ่นเขาจะเตรียมพร้อมเพื่อให้บริการกับทุกๆ คนได้โดยรบกวนพนักงานน้อยมาก จริงๆ แล้วมันก็ไม่ใช่แค่เรื่องของการทำให้ชีวิตใครสักคนสะดวกสบายอย่างเดียวหรอกครับ แต่ว่ามันเกี่ยวพันไปถึงเรื่องของความปลอดภัยอีกด้วย และที่สำคัญ มันเป็นการทวงศักดิ์ศรีให้กับหลายต่อหลายคน ว่าเขาเองก็สามารถใช้ชีวิตได้เองโดยไม่ต้องรอพึ่งพาความช่วยเหลือจากใคร
อ้างอิงข้อมูลจาก