มาเรียมและยามีล ลูกพะยูนน้อยทั้ง 2 ตัว และความตายของพะยูนโตเต็มวัยหลายตัวในช่วงสองเดือนผ่านมา ทำให้สปอตไลท์ความสนใจของชาวเน็ตไทยส่องจับไปที่สัตว์ทะเลหายากชนิดนี้
พะยูน หมูน้ำ หมูดุด ดูหยง หรือดุหยง (Dugong dugon, Müller, 1776) เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมในทะเลขนาดกลางที่ไม่มีครีบหลัง เมื่อโตเต็มวัยจะมีขนาด 2.5-3 เมตร น้ำหนัก 250-420 กิโลกรัม เคยพบว่ามีอายุยืนนานมากที่สุดถึง 73 ปี[1] หลายๆ คนอาจจะยังสับสนระหว่างพะยูนกับมานาตี ซึ่งเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมในอันดับ (order) Sirenia ด้วยกัน แต่สังเกตได้ง่ายๆ ว่าพะยูนมีหางรูปจันทร์เสี้ยว ในขณะที่มานาตีมีหางรูปกลมและมีขนาดตัวที่หนากว่ากันมาก
เห็นหน้าตาตะมุตะมิน่าเอ็นดูอย่างนี้ พะยูนก็อาจเป็นที่มาของความเชื่อเรื่องนางเงือก เพราะชื่อ ‘ดูหยง’ ในภาษายาวียังแปลได้ว่าหญิงสาวแห่งท้องทะเลอีกด้วย
สถานการณ์ของพะยูนในประเทศไทย
‘พะยูน’ อยู่ในลำดับที่ 13 ของ 15 รายชื่อสัตว์ป่าสงวนของไทยตาม พ.ร.บ. สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่าแห่งชาติ พ.ศ. 2535[2] ซึ่งห้ามล่า ห้ามค้า ห้ามครอบครองทั้งที่ยังมีชีวิตหรือซาก และยังอยู่ในประกาศจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เรื่อง กําหนดชนิดสัตว์น้ำที่เลี้ยงลูกด้วยนม สัตว์น้ำที่หายากหรือใกล้สูญพันธุ์ ที่ห้ามจับหรือนําขึ้นเรือประมง พ.ศ. 2559 ที่ประกาศในวันที่ 29 เมษายน พ.ศ. 2559 ซึ่งห้ามมิให้ผู้ใดจับสัตว์นํ้าชนิดที่เลี้ยงลูกด้วยนม สัตว์น้ำที่หายากหรือใกล้สูญพันธุ์ ในบัญชีรายชื่อ หรือนําสัตว์น้ำดังกล่าวขึ้นเรือประมง ยกเว้นแต่ในกรณีจำเป็นเพื่อการช่วยชีวิต[3]
ปัจจุบัน ประชากรพะยูนในไทยมีอยู่ราว 250 ตัว พบได้ในฝั่งทะเลอันดามันมากกว่าอ่าวไทย โดยที่มั่นใหญ่อยู่ในอันดามันตอนล่าง 9 แห่ง, อันดามันตอนบน 3 แห่ง, และในอ่าวไทยแบ่งเป็น 3 กลุ่มใหญ่ คืออ่าวไทยฝั่งตะวันออก อ่าวไทยตอนกลาง และอ่าวไทยตอนล่าง และแม้ว่าจะมีความเป็นไปได้ว่าประชากรพะยูนสองฟากทะเลไทยอาจเป็นคนละชนิดย่อยกัน แต่จากการตรวจดีเอ็นเอยังไม่พบความแตกต่างที่มากพอ[4]
ตั้งแต่ปลายเดือนมิถุนายนจนถึงประมาณกลางเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา เราพบลูกพะยูนและพะยูนโตเต็มวัยตายติดๆ กันถึง 5 ตัวภายในพื้นที่ใกล้เคียงกัน ซึ่งผลชันสูตรระบุว่าตายอย่างเฉียบพลัน[5] และมีการถูกตัดเขี้ยวจากซากไปในตัวโตเต็มวัย (เขี้ยวพะยูนมี 2 คู่ เขี้ยวคู่หลังคงอยู่ตลอดชีวิต ในขณะที่คู่หน้าจะสึกกร่อนหายไป ทั้งนี้ พะยูนเพศผู้มีเขี้ยวงอกพ้นริมฝีปากเมื่ออายุ 13-14 ปี) และถ้าหากเรามาลองศึกษา สถิติและสาเหตุการเกยตื้นของสัตว์ทะเลหายากในประเทศไทย ก็จะพบว่าพะยูนมีอัตราเกยตื้นเฉลี่ยปีละ 12 ตัว โดยสาเหตุ 89% มาจากการติดเครื่องประมงโดยไม่ได้ตั้งใจ (bycatch), ป่วยตายตามธรรมชาติ 10%, และอื่นๆ อีก 1%[6]
อย่างไรก็ตาม ดร. ก้องเกียรติ กิตติวัฒนาวงศ์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งทะเลอันดามัน(ภูเก็ต) และคุณภาคภูมิ วิธานติรวัฒน์ ผู้ประสานงานมูลนิธิอันดามัน[7] ล้วนมีความเห็นไปในทางเดียวกันว่า พะยูนที่ตายนั้น ไม่ได้มีสาเหตุมาจากการล่าโดยตรง แต่เป็นการฉวยโอกาสตัดเขี้ยวเอาจากซากเสียมากกว่า (เขี้ยวพะยูนนั้นเชื่อกันว่าคุณสมบัติทางเมตตามหานิยม ใช้ทำเสน่ห์ได้) คุณภาคภูมิยังตั้งข้อสังเกตเพิ่มเติมว่า ความเชื่อในเรื่องเครื่องรางของขลังเช่นนี้น่าจะมาจากนอกพื้นที่ เนื่องจากชุมชนริมทะเลตรังส่วนมากเป็นพี่น้องชาวมุสลิม ซึ่งถือว่าความเชื่อในอิทธิ์ฤทธิ์เช่นนี้เป็นการเชื่อในอำนาจของชัยฎอนที่ผิดต่อข้อห้ามทางศาสนา
จากเจ้าโทนถึงมาเรียมและยามีล
เมื่อปี พ.ศ. 2536 ดร. กาญจนา อดุลยานุโกศล (‘พี่ตึก’ ผู้ล่วงลับ, ดร. กาญจนายังได้สมญานามว่า ‘แม่หมูน้ำ’ จากความเชี่ยวชาญเรื่องพะยูนไทยอีกด้วย) เคยเป็นผู้นำทีมดูแล ‘น้องอาย’ ลูกพะยูนเพศเมียที่ศูนย์ชีววิทยาภูเก็ตจนเมื่อแข็งแรงดีแล้วจึงนำไปปล่อยกลับคืนสู่ธรรมชาติที่บ้านเจ้าไหม และได้ชื่อใหม่ว่า ‘เจ้าโทน’ เจ้าโทนในตอนนั้นเป็นที่รักไม่ต่างจากมาเรียมและยามีลในตอนนี้ แต่เพียงสามเดือนหลังจากเป็นอิสระ เจ้าโทนก็จบชีวิตลงด้วยอุบัติเหตุติดอวนประมง
คำถามที่แท้จริงในตอนนี้ อาจไม่ใช่ว่าเราจะทำอย่างไรกับมาเรียมและยามีลต่อไป แต่เป็น “ทำอย่างไรให้มาเรียมและยามีลมีชีวิตรอดอยู่ได้?” หลังจากพ้นอ้อมอกของมนุษย์ต่างหาก มาเรียมอาจเป็นพะยูนตัวแรกในไทยที่มีการอนุบาลในพื้นที่ธรรมชาติซึ่งเป็นเรื่องยากกว่าการเลี้ยงในพื้นที่ปิดที่ควบคุมได้ง่าย ลูกพะยูนตามธรรมชาติจะอยู่กับแม่ประมาณ 2-3 ปี จนหย่านม
ซึ่งทาง ดร. ก้องเกียรติ ระบุว่า ต้องการให้เป็นการตัดสินใจของมาเรียมและยามีลเองว่า ต้องการจะละจากเพื่อนมนุษย์ท่ีคอยดูแลอยู่ไปเมื่อใด และจากปากคำของอาสาในพื้นที่ มาเรียมก็มีพฤติกรรมใช้เวลาในแหล่งทะเลมากขึ้นเรื่อยๆ ด้วยตัวเอง นอกจากการดูแลด้วยมนุษย์แล้ว ยังมีการติดกล้องวงจรปิดในพื้นที่ของมาเรียมถึง 8 ตัว ซึ่งเป็นการลดจำนวนคนที่ต้องลงพื้นที่และลดความจำเป็นในการมีปฏิสัมพันธ์กับมนุษย์ และยังเป็นการสื่อสารความรู้ในการอนุรักษ์พะยูนสู่โลกภายนอก ทั้งยังช่วยสอดส่องความเสี่ยงจากเรือเร็วและเรือประมงในพื้นที่อีกด้วย
ในท้ายที่สุดแล้ว มาเรียมอาจจะไม่ได้มีความเป็นสัตว์ป่าเต็มร้อย แต่เมื่อเปรียบเทียบลูกพะยูนที่เกยตื้นแบบมีชีวิตที่ราชาอัมพัตเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมาและถูกปล่อยกลับคืนสู่ธรรมชาติในเวลาไม่กี่วัน[8] อัตราการรอดชีวิตน่าจะสูงกว่ากันพอสมควร
หาดเจ้าไหม-ลิบง
หน้าตาที่น่าเอ็นดูของมาเรียมและยามีลอาจเป็นจุดเริ่มต้นความสนใจในสัตว์ทะเลของหลายๆ คน เช่นเดียวกันกับ ‘charismatic megafauna’ ทั่วไป (คำว่า charismatic megafauna เป็นศัพท์ที่แวดวงชีววิทยาใช้เพื่อสื่อถึงสัตว์ใหญ่สวยงามมีเสน่ห์ที่เป็นที่ถูกใจของคนส่วนมาก อย่าง ช้าง เสือโคร่ง ฉลามวาฬ วาฬบรูด้า ฯลฯ) แต่การอนุรักษ์ธรรมชาติที่ได้ผลจริงอย่างยั่งยืนนั้น ขึ้นอยู่กับข้อมูลและข้อเท็จจริงทางวิทยาศาสตร์ ไม่ใช่แค่เพียงความรู้สึก
ในเมื่อภัยคุกคามพะยูนที่แท้จริงไม่ได้มาจากการล่า ความพยายามที่จะผลักดันแผนแม่บทการอนุรักษ์พะยูนแห่งชาติที่รวมยุทธศาสตร์หลายด้านเข้าไว้ด้วยกันจึงสำคัญยิ่ง เพื่อลดความเสี่ยงต่อตัวพะยูนเอง รวมถึงดูแลแหล่งที่อยู่อาศัยและแหล่งหญ้าทะเล โดยข้อมูลจากการบินสำรวจพบว่า พะยูนมักหากินอยู่ในรัศมี 6 กิโลเมตรจากแนวหญ้าทะเล[9] การจัดโซนนิ่งที่เหมาะสม การสอดส่องดูแลและความร่วมมือจากชุมชน จึงเป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งเป็นที่น่ายินดีว่า เรื่องของ ‘บังเดียร์’ ผู้นำบุกเบิกโครงการธนาคารปูม้าเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมาในข้อหาบุกรุกเขตอนุรักษ์ป่าชายเลน[10] กำลังคลี่คลายไปในทางที่ดีขึ้น
เมืองหลวงของพะยูนในไทยอย่างลิบง ที่มีประชากรพะยูนอยู่ถึง 70% ของประเทศไทย[11] ยังมีความสำคัญในแง่ของสิ่งแวดล้อมเนื่องจากป่าหญ้าทะเลที่ขึ้นอยู่อย่างอุดมสมบูรณ์ สามารถดูดซับและกักเก็บคาร์บอนได้มากกว่าป่าบนบกถึง 2 เท่า[12] แต่ทั้งนี้ มิใช่สาเหตุที่เราควรจะออกไปจัดอีเวนต์ปลูกป่าชายเลนหรือปลูกหญ้าทะเลกันในวันนี้พรุ่งนี้แต่อย่างใด เนื่องจากพืชชายฝั่งนั้นมีปัจจัยการเติบโตต่างๆ ที่ยากจะคาดการณ์
และในกรณีของหญ้าทะเลนั้น แต่ละชนิดก็สามารถส่งผลต่อกระแสน้ำและวัฏจักรของตะกอนในพื้นที่แตกต่างกัน การกระทำของเราจึงสามารถเปลี่ยนแปลงระบบนิเวศชายฝั่ง และอาจทำลายสิ่งมีชีวิตในระบบหนึ่งโดยที่เราไม่ได้ตั้งใจ งานฟื้นฟูทรัพยากรชายฝั่งจึงเป็นเรื่องละเอียดอ่อนที่ต้องทำอย่างต่อเนื่องในระยะยาวและมีการติดตามผลเป็นเวลาหลายปีว่ามีประสิทธิภาพเพียงไร ไม่ใช่เพียงแค่วัดผลจากอีเวนต์ตรงหน้าในวันเดียวเท่านั้น สายสัมพันธ์ของธรรมชาติในบางครั้งอาจซับซ้อนจนคาดไม่ถึง
เกาะลิบงยังเป็นจุดพักในการอพยพขาขึ้นเหนือเพื่อกลับบ้านในตอนเหนือของทวีปเอเชียและรัสเซียตะวันออกไกลในเส้นทางอพยพที่เรียกว่า ‘Eastern Asia-Australasian flyway’ ของนกชายเลนที่จะผ่านมาในทุกๆ ปี และจากการศึกษาวิจัยพบว่า นกเหล่านี้มีส่วนช่วยในการกระจายพันธุ์ของเมล็ดหญ้าทะเลคล้ายกับนกเงือกในป่าสูง ทั้งจากการกินปะปนเข้าไปกับอาหารตามธรรมชาติ หรือว่าติดขนตามตัวมา (external transport) [13] การมีอยู่ของนกชายเลนจึงสัมพันธุ์กับความอุดมสมบูรณ์ของระบบนิเวศของหญ้าทะเล
บริเวณอ่าวปากเมงที่อยู่ในความดูแลของอุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหมยังจัดว่าเป็นพื้นที่ใต้อนุสัญญาแรมซาร์ (Ramsar Site) เพื่อการอนุรักษ์และใช้ประโยชน์จากพื้นที่ชุ่มน้ำอย่างยั่งยืน และจัดว่าเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระหว่างประเทศ (Wetland of International Importance) แต่กลับถูกละเลยจากการก่อสร้างท่าเทียบเรือโดยไม่ปรากฏผู้รับผิดชอบและการตรวจสอบติดตาม[14] ซึ่งน่าสงสัยว่า มลภาวะและตะกอนจากการก่อสร้าง การขนส่งและของเสียจะส่งผลต่อหญ้าทะเลและพะยูนอย่างไรและมากแค่ไหนบ้าง นอกจากนี้ การขุดลอกร่องน้ำและการปล่อยน้ำเสียของโรงงานมากับแหล่งน้ำก็ยังเป็นต้นเหตุของความเสื่อมโทรมของหญ้าทะเลที่มักถูกมองข้าม
เมื่อถามว่า ในทุกๆ วัน เราจะมีส่วนช่วยพะยูนได้อย่างไร ดร. ก้องเกียรติ ก็ได้ให้ความเห็นไว้ว่า เพียงเราใช้ชีวิตประจำวันให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม รู้กินรู้ใช้ และรู้ผลกระทบที่เกิดการกินและใช้ของเราได้ก็เพียงพอแล้ว และถ้าหากเราช่วยกันรักษาเมืองหลวงของพะยูนเอาไว้ได้ ลดอัตราการตายที่ไม่เป็นไปตามธรรมชาติลงให้น้อยที่สุด และดูแลระบบนิเวศชายฝั่งให้ดี โครงการที่จะเพิ่มประชากรพะยูนสองเท่าเป็น 400 ตัวนั้น อาจไม่ใช่เพียงแค่วาดวิมานในอากาศอีกต่อไป
ขอขอบคุณ
ดร. ก้องเกียรติ กิตติวัฒนาวงศ์, ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งทะเลอันดามัน(ภูเก็ต)
คุณศิรชัย อรุณรักษ์ติชัย, ช่างภาพสารคดีเชิงอนุรักษ์
คุณภาคภูมิ วิธานติรวัฒน์, ผู้ประสานงานมูลนิธิอันดามัน
อ้างอิงข้อมูลจาก
[1]คู่มือการจำแนกชนิดสัตว์ทะเล เลี้ยงลูกด้วยนมและเต่าทะเลในประเทศไทย, กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง
[4]ข้อมูลจากการสัมภาษณ์ ดร. ก้องเกียรติ กิตติวัฒนาวงศ์, ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งทะเลอันดามัน(ภูเก็ต) เมื่อวันที่ 6 สิงหาคม 2562
[7]ข้อมูลจากการสัมภาษณ์ คุณภาคภูมิ วิธานติรวัฒน์, ผู้ประสานงานมูลนิธิอันดามัน เมื่อวันที่ 3 สิงหาคม พ.ศ. 2562