ตั้งแต่กระแสพระเครื่อง มาจนถึงผลไม้ไทย เหล่านี้คือหนึ่งในพลัง soft power ที่ทำให้คนจีนรู้จักประเทศไทยมากขึ้น—และผมมั่นใจเลยว่าประโยคนี้ไม่ได้เป็นเรื่องเกินจริงแต่อย่างใด เพราะจากประสบการณ์ที่อยู่ในจีนมาราวทศวรรษ ได้เห็นเรื่องราววัฏจักรความนิยมใน ‘ไทย’ ของคนจีนอยู่ตลอด จึงขอยกให้ ‘ผลไม้ไทย’ เป็นดั่งตัวแทนคนไทยสานสัมพันธ์ให้คนจีนอยากทำความรู้จักประเทศไทยมากขึ้นและทำเม็ดเงินให้มหาศาล เป็นการส่งไม้ต่อจากยุคเฟื่องฟูพระเครื่องไทย ราว10 ปีที่ผ่านมา
ความจริงแล้วผลไม้ไทยมีชื่อเสียงระดับโลก และเป็นหนึ่งในสินค้าทางการเกษตรที่มีผลต่อเศรษฐกิจบ้านเรามาช้านาน แม้จะมีบางประเทศแถบเพื่อนบ้านเรา เช่น เวียดนาม มาแข่งขันในตลาดโลกบ้าง แต่ผลไม้ไทยจำนวนมากยังคงยืนหยัดอยู่ในใจชาวต่างประเทศ โดยเฉพาะประเทศจีน ซึ่งเหล่าแพลตฟอร์มออนไลน์รายใหญ่ในจีนต่างแย่งชิงดีลกับพ่อค้าแม่ค้าผลไม้ไทยเพื่อนำไปขายบนพื้นที่ของตัวเอง ทั้ง JD Alibaba และล่าสุด Suning.com หนึ่งใน e-commerce แพลตฟอร์มขายปลีกออนไลน์รายใหญ่ของจีน ได้ลงนามความร่วมมือนำเข้า ทุเรียน 20 ล้านลูก, มังคุด 10,000 ตัน และมะพร้าวน้ำหอม 20 ล้านลูก จากพื้นที่ในจังหวัดจันทบุรี ไปขายบนหน้าร้านของตัวเอง
ทำไมผลไม้ไทยจึงเป็นที่นิยมในจีน?
คนจีนส่วนใหญ่มีความเชื่อว่า สินค้าไทยมีคุณภาพ—และด้วยพื้นฐานของความเป็นเมืองพุทธ—คนไทยมีศีลธรรม สินค้าหรือผลิตภัณฑ์ที่มาจากไทยจึงมีคุณค่า น่าซื้อ น่าใช้ ประกอบกับชื่อเสียงของไทยที่เริ่มเป็นที่รู้จักจากประเด็นต่างๆ อาทิ พระเครื่อง ดาราไทย ทีนี้พอมีอะไรมาจากไทย ก็ไม่ใช่เรื่องยากที่เขาจะกล้าลอง
ผลไม้ไทยป๊อปปูลาร์ในจีนขนาดที่มีนักศึกษาจีนจำนวนไม่น้อยมาเรียนในไทย หรือเรียนสาขาภาษาไทย อันเป็นผลมาจากชื่นชอบผลไม้ไทย
ทุเรียน—ผลไม้ไทยที่คนจีนทุกคนล้วนรู้จัก
มะม่วง มะพร้าว ส้มโอ สามผลไม้คำคล้องจองที่มักปรากฏในบทกลอนหรือเพลงเชียร์คือผลไม้ไทยที่ชาวต่างชาติรวมถึงคนจีนรู้จักกันดีในยุคแรก
ในยุคแรกๆ ที่มะม่วงไทยเริ่มมีชื่อเสียงอย่างมาก ในจีนมีร้านของกินเกี่ยวกับมะม่วงอยู่หลายร้าน อย่างที่ 2-3 ปีก่อน มีร้านน้ำมะม่วงชื่อ “泰芒了 ฉันยุ่งมาก” (ไท่หมางเลอ) ชื่อร้านมาจาก 泰国 (ไท่กั๋ว) ที่แปลว่า ประเทศไทย และ 芒果 (หมางกั่ว) ที่แปลว่า มะม่วง เจ้าของร้านนำสองคำมาเล่นเสียงและเล่นคำเป็น 泰芒了 ที่พ้องเสียงกับ 太忙了 (ไท่หมางเลอ) ที่แปลว่า ยุ่งมากมาก เพื่อทำให้ร้านดูน่าสนใจและมีกิมมิค ซึ่งก็ถือว่าประสบความสำเร็จอย่างงาม เพราะในช่วงรุ่งเรือง ตัวร้านมีสาขามากมายในจีน แถมยังมีหลายร้านเปิดแข่งจนเกิดกระแส ‘น้ำมะม่วงไทยฟีเวอร์’ และ ‘ชื่อร้านภาษาไทยแบบแปลกๆ’ ว่า ร้านน้ำมะม่วง 泰芒了ท้ายเหมือง, เมาอนาถ หรือชื่ออื่นๆ ที่อ่านแล้วงงว่าหมายถึงอะไรอะไร
ทุกวันนี้ร้านน้ำมะม่วงแนวนี้ก็ยังมีอยู่ แต่ความนิยมเริ่มลดลงท่ามกลางเสียงจากคนจีนที่เริ่มดังขึ้นหนาหูว่า ที่เคยเคลมว่าเป็นน้ำมะม่วงไทยนั้น ไม่ใช่ไทยของแท้ แต่เป็นมะม่วงจากไต้หวันหรือเวียดนามที่เอามาทำเลียนแบบว่าเป็นของไทย
ขณะที่มะม่วงไทยดัง ตอนนั้นราชาผลไม้ไทย ‘ทุเรียน’ ก็เริ่มเฉิดฉาย และยิ่งโดดเด่นแบบฉายเดี่ยว
พันธุ์ทุเรียนไทยยอดนิยมอันดับหนึ่งในจีนขณะนี้คงหนีไม่พ้น ‘ทุเรียนพันธุ์หมอนทอง’ 泰国金枕头榴莲 (ไท่กั๋วจินเจิ่นโทว) ความดังของหมอนทองไม่ใช่แค่ดังธรรมดา แต่สามารถเรียกเป็นปรากฏการณ์เลยก็ว่าได้ ย้อนกลับไปช่วง 3 ปีที่ผ่านมา สินค้าอะไรที่มาจากทุเรียนหมอนทองล้วนเป็นกระแสในจีนได้ทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นทุเรียนอบแห้ง (ที่จีนไม่นิยมกินอาหารแบบอบกรอบ ผมเคยคุยกับผู้ที่นำเข้าสินค้าไปขายในจีนได้ความว่าขนส่งเข้าไปลำบาก หากนำเข้าไปมีโอกาสเสียหาย แตก และแหลกได้ หากคนจีนเห็นเช่นนั้นจะรู้สึกว่าคุณภาพไม่ดี) เนื้อทุเรียนแช่แข็ง ไอศกรีมทุเรียน กาแฟทุเรียน ทุเรียนเผา ไปจนถึงสิ่งที่เราไม่คิดว่าจะมีในโลกนี้ ได้แก่ ต้มจืดทุเรียน และน้ำหอมทุเรียน อย่างประเด็นน้ำหอมทุเรียน เป็นที่ฮือฮาในจีนราวปี 2017 เมื่อ Pizza Hut จีน ร่วมมือกับ Scent Library ผู้ผลิตน้ำหอมชื่อดัง ผลิตน้ำหอมกลิ่นทุเรียนขึ้นมา 2,000 ขวด เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของแคมเปญพิซซ่าทุเรียนและเมนูอาหารที่ทำจากทุเรียน โดยเมนูเด่นๆ ก็คือ พิซซ่าทุเรียนหมอนทองที่นำเข้าจากไทย และพิซซ่าทุเรียนมูซังคิงส์ที่นำเข้าจากมาเลเซีย
“ทุเรียนมูซังคิงส์ของมาเลเซีย ถือเป็นคู่แข่งตัวฉกาจของหมอนทองบ้านเราที่เริ่มมีความนิยมที่สูสีกับหมอนทอง โดยเฉพาะในหมู่คนจีนที่ชอบกลิ่นทุเรียนแบบแรงๆ เนื้อเหลืองสด มูซังคิงส์ค่อนข้างตอบโจทย์กว่าทุเรียนหมอนทอง โดยมูซังคิงส์เข้ามาในตลาดจีน เริ่มจากกลุ่มไฮโซจีนที่มีกำลังซื้อ” เป็นหนึ่งในคำบอกเล่าจากพ่อค้าผลไม้นำเข้าที่ผมสมัยเป็นนักศึกษาไทยในเมืองซีอาน ประเทศจีน ได้ไปพูดคุยด้วยเพราะเกิดความสงสัยในใจ นอกจากนี้ พอหาข้อมูลเพิ่มเติมยังพบว่า “รัฐบาลมาเลเซียยังสนับสนุนการส่งออกทุเรียนมูซังคิงส์ไปขายในจีนให้มีความพรีเมี่ยมเยี่ยง Hermes เลยทีเดียว
กลับมาที่ทุเรียนหมอนทองของไทยกันต่อ ความนิยมของหมอนทองในจีนสร้างโอกาสทางธุรกิจและเม็ดเงินให้กับผู้ประกอบการทั้งไทยและจีน ทำให้มีผู้ประกอบการจีนหัวหมอนำชื่อทุเรียนหมอนทองในภาษาจีนไปจดเทรดมาร์กสินค้าตนเอง หวังว่าชื่อนี้จะดึงดูดให้ผู้บริโภคชาวจีนหันมาสนใจสินค้าของตนเอง รวมถึงกีดกันคู่แข่งทางการค้าซึ่งก็คือคนไทยที่จะส่งผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับทุเรียนหมอนทองเข้าไปในตลาดจีนในอนาคต
เมื่อลองค้นหาข้อมูลจากในเว็บไซต์สำนักงานเทรดมาร์กของทางการจีน ก็ยังเจออีกว่าไม่ได้มีแค่ผู้ประกอบการรายเดียว ‘แต่มีหลายราย’ โดยเลือกจดกันคนละหมวด บางรายจดหมวดเหล้าจีน บางรายจดครอบคลุมหลายหมวดที่เกี่ยวข้องกับอาหารและขนมขบเคี้ยว โดยเฉพาะ ‘ผลไม้อบแห้ง’ บางรายจดในหมวดอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์ ในหมวดที่ไม่น่าจะจดก็เช่น อาหารสัตว์ที่มีจดในชื่อ ‘หมอนทอง 金枕头’ ถ้าใครอ่านถึงตรงนี้แล้วเริ่มปาดเหงื่อ กำมือแน่นด้วยความโมโห ขอให้คลายความกังวลลงครับ เนื่องจากทางการไทยได้รับรู้เรื่องนี้ และไปจัดการถอนชื่อหมอนทองออกจากตราสินค้าในฐานระบบของจีนเป็นที่เรียบร้อยตั้งแต่ปีที่ผ่านมาแล้วครับ พวกเราคนไทยสบายใจได้
นอกจากทุเรียนหมอนทองแล้วที่จีนยังนำเข้าทุเรียนพันธุ์ไหนของไทยไปขายอีกบ้าง?
เราทราบกันดีว่าทุเรียนหมอนทองดังในจีนมาก ขายดีเป็นเทน้ำเทท่า แต่นอกจากหมอนทองแล้ว ทุเรียนพันธ์อื่นๆ ของไทยก็มีขายและเป็นที่นิยมในจีน อาทิ
- ทุเรียนหลงลับแล泰国玲珑榴莲 (ไท่กั๋วหลิงหลงหลิวเหลียน) ทุเรียนพันธุ์นี้เริ่มมีขายที่ห้างสรรพสินค้าในจีน ซึ่งตัวผมเองเคยไปเจอที่ห้างในเซี่ยงไฮ้
- ทุเรียนพวงมณี托曼尼 (ทัวม่านหนี)
- ทุเรียนชะนี 泰国青尼 (ไท่กั๋วชิงหนี)
- ทุเรียนก้านยาว泰国长柄 (ไท่กั๋วฉางปิ่ง)
- ทุเรียนกระดุมทอง 泰国甲仑 (ไท่กั๋วเจี่ยหลุน)
สรุปแล้วคนจีนนี่นิยมทุเรียนไทยจริงๆ ไม่ว่าคนจีนนำเข้าพันธุ์อะไรไปขาย ยังไงก็มีคนซื้อ แต่ที่นิยมมากสุดคือหมอนทอง โดยมีคู่แข่งสำคัญคือทุเรียนมูซันคิงส์ 猫山王 (เมาซานหวัง) พันธุ์ทุเรียนของมาเลเซีย ซึ่งทางใต้ของไทยก็เริ่มมีปลูกบ้าง และในจีนก็เห็นมีบางเจ้าระบุแล้วว่าเป็นมูซันคิงส์จากไทย
แต่ไม่ใช่แค่ทุเรียนไทยที่เข้าไปอยู่ในในคนจีน ‘มังคุด’ เป็นราชินีผลไม้ของไทยที่คนจีนเริ่มนิยมในวงกว้าง
มังคุดของไทยเป็นผลไม้ที่ตอนนี้คนจีนเริ่มมีการพูดถึง ตีตื้นขึ้นมาเป็นผลไม้ยอดฮิตของคนจีน แต่กว่าที่มังคุดจะมาอยู่ในใจคนจีน มีคนจีนจำนวนไม่น้อยที่สงสัยว่ามังคุดคือผลไม้อะไรกันแน่? ด้วยความที่คนจีนหลายคนไม่รู้ว่าจะกินมังคุดยังไง เพราะสมัยก่อนมังคุดหายากมากในจีน นำเข้ามาก็แพงมาก มีบ้างเป็นบางพื้นที่เท่านั้น เช่น ปลูกที่เกาะไห่หนาน (ไหหลำ) คนที่ไม่เคยกินก็ไม่รู้ว่ากินยังไง เลยกัดทั้งเปลือกแข็งๆ เลยอย่างที่เคยมีคลิปไวรัลไปช่วงหนึ่ง
หรือถ้าเป็นประสบการณ์ตรงที่ผมเคยเจอสมัยอยู่ที่จีนเลยก็คือ มีเพื่อนคนจีนชาวมณฑลส่านซี เดินเข้ามาถามว่า อันนี้คือผลไม้จากไทยใช่ไหม พร้อมชูมังคุดที่ถูกเขากัดทั้งเปลือกไปครึ่งลูก โดยเขาบอกว่า ทำไมมันไม่อร่อยเลย รสชาติฝาดมากๆ แพงด้วยนะ ไม่น่าซื้อมาเลย
ณ ตอนนั้น ไม่รู้ว่าจะหัวเราะหรือสงสารเพื่อนดี เลยอธิบายและเปิดโลกแห่งการกินมังคุดไทยแสนอร่อยให้เขาว่า มันต้องแกะเปลือกก่อนกินนะ หลังจากที่เขากินเป็นแล้ว รู้ไหมครับว่ามังคุดแทบจะเป็นผลไม้หลักของเขาเลย ถ้าไม่ติดในเรื่องราคาที่ค่อนข้างแพง เมื่อเทียบกับผลไม้ชนิดอื่นๆ ของจีน