พวกเขามาทำอะไรกัน?
นักกีฬา 8 คน จาก 8 ประเทศ จากทั้งหมดมีผู้หญิง 2 คน ผู้ชาย 6 คน มีทั้งคนผิวขาว คนผิวสี และคนเอเชียน บางคนนั่งอยู่บนโซฟานุ่มๆ บางคนอยู่ในห้องเรียบๆ บางคนเหมือนอยู่ในห้องที่มีชั้นหนังสือ มีพัดลมเพดาน บางคนก็ใช้ virtual background ทุกคนล้วนเป็นแชมป์ในรายการย่อยๆ มาก่อนหน้านี้ วันนี้พวกเขาจะแข่งกันในเวิลด์คัพที่ไม่ได้อยู่บนสนามสีเขียว แต่อยู่บนแอพพลิเคชั่นยอดฮิตที่มีไอคอนสีเขียว นั่นคือ Microsoft Excel การแข่งขันนี้เรียกว่า Financial Modeling World Cup (FMWC)
ผู้เข้าแข่งขันทุกคนรับบทบาทเป็นที่ปรึกษาด้านการเงินของเถ้าแก่ร้านขนมชื่อดังในลัตเวีย ร้านนี้ส่งออกสินค้าไปยัง 8 ประเทศ และมีแผนเข้าตลาดหุ้นปลายปี ค.ศ.2021 ดังนั้นพวกเขาจะต้องจัดทำโมเดลการเงินให้เถ้าแก่… โมเดลการเงินคืออะไร? ก็คือตารางหรือระบบอะไรบางอย่างที่ช่วยทำนายว่า แต่ละเดือนใน 5 ปีข้างหน้า บริษัทจะมีต้นทุนการผลิตเท่าไหร่ มียอดขายเท่าไหร่ เวลาเถ้าแก่ไปชวนใครมาลงทุนจะได้ตอบเขาได้
คราวนี้ก็มีรายละเอียดยิบย่อยซ่อนอยู่ในคำว่ายอดขายและต้นทุน เช่น ต้องเตรียมค่าขนส่งไว้เท่าไหร่ ค่าแรงวันธรรมดาและวันหยุดในแต่ละเดือนจะเป็นอย่างไร ในบางเดือนที่ยอดขายสูงแต่วันหยุดเยอะ จะต้องเตรียมจ่ายค่าเข้ากะดึกให้พนักงานและค่าจ้างวันหยุดไว้มากน้อยแค่ไหน ถ้าตัดพนักงานกะดึกออกไปสต็อกสินค้าจะขาดแคลนไปกี่แสนชิ้น? คำถามทั้งหมดมี 21 คำถาม คะแนนรวมกัน 1000 คะแนน บางข้อมีค่าแค่สิบคะแนนเอง แต่ข้อที่คะแนนสูงสุดมีค่าตั้ง 150 คะแนน ถามว่า “ยอดขายรวมทุกประเทศ ตลอด 5 ปีเป็นเท่าไหร่?”
คำถามพวกนี้ดูเผินๆ เหมือนจะต้องตอบว่า “ใครจะไปรู้!” หรือไม่ก็ “ถามหมอดูสิครับ”
แต่เถ้าแก่บอกว่าเขาต้องการคำตอบทั้งหมดภายใน 40 นาที! เพราะนักลงทุนจะต้องถามเขาแน่ๆ และเขาต้องให้คำตอบโดยไม่ซี้ซั้ว จะต้องเป็นคำตอบที่คำนวณโดยบริสุทธิ์ใจจากข้อมูลจริง และจากสมมติฐานที่สมเหตุสมผล
ซึ่ง ‘สมมติฐาน’ นี้หละครับเป็นสิ่งล้ำค่าและทำให้การแข่งขันครั้งนี้เป็นไปได้ ผู้เข้าแข่งขันจะได้ใบอธิบายสมมติฐานล่วงหน้า เอาไปอ่านให้เข้าใจก่อนได้เลย ใบสมมติฐานนี้จะบอกข้อมูลคร่าวๆ เช่น บริษัทนี้ขายอะไร ขายที่ไหนบ้าง มีพนักงานกี่กะ ค่าจ้างพนักงานแต่ละกะต่างกันอย่างไร นโยบายการจ่ายเงินวันหยุดเป็นอย่างไร ยอดขายจะคำนวณเป็นร้อยละของจำนวนประชากร จำนวนประชากรจะเพิ่มขึ้นด้วยอัตราคงที่หรือเปลี่ยนแปลง
แต่ใบนี้ยังไม่ได้ระบุตัวเลขชัดเจน ดังนั้นจะยังตอบคำถามจริงๆ ไม่ได้
ตัวเลขทั้งหมดจะมาในรูปแบบของแผ่นตารางหรือชีต (sheet) ในไฟล์ Excel ที่เขามอบให้ตอนเริ่มแข่ง เรื่องที่น่าสนุกคือคนดูทางบ้านก็สามารถดาวน์โหลดไฟล์นี้และเล่นไปพร้อมกับนักกีฬาได้เลย ผู้เขียนก็ตื่นเต้นปนกลุ้มใจเหมือนกันว่า นี่ถ้าฉันดาวน์โหลดมาเล่น ฉันจะมีเวลามานั่งดูกีฬาเหรอ? ฉันก็อยากเอาชนะบ้าง! เดชะบุญ ตอนเริ่มแข่งนั้นมีประชาชนเข้าเว็บพร้อมกันจำนวนมากจนเว็บล่ม ผู้เขียนจึงมีเวลาดูการแข่งขันอย่างตั้งใจ ไม่มัวแต่ลุย Excel ที่เครื่องตนเอง
พอจบการแข่งขันแล้วดาวน์โหลดไฟล์ Excel มาดูก็พบว่ามีข้อมูลสมมติฐานโดยละเอียด จัดรูปแบบไว้อย่างเข้าใจง่ายในชีตชื่อ Assumptions ประกอบด้วยข้อมูล เช่น จำนวนที่ผลิตได้ต่อวัน (กะดึกผลิตได้น้อยกว่ากะกลางวัน) ราคาต่อหน่วย ค่าแรง อัตราแลกเปลี่ยนเงินตราที่คาดการณ์ในแต่ละปี (เทียบกับสกุลยูโรเป็นหลัก) อัตราเงินเฟ้อ จำนวนประชากรและอัตราการเติบโตของประชากร ราคาสินค้าในสกุลเงินท้องถิ่น และวันหยุดในแต่ละประเทศซึ่งไม่เหมือนกัน (มีผลต่อค่าแรง)
ข้อมูลเหล่านี้เพียงพอต่อการทำนายค่าต่างๆ ล่วงหน้า 5 ปีได้ตามที่โจทย์ต้องการ คล้ายกับโจทย์เด็กประถมที่บอกว่า ถ้ามีเงินในธนาคาร 100 บาท ได้ดอกเบี้ยทบต้นร้อยละ 5 ต่อปี ผ่านไป 1, 2, 3, 4, 5 ปีจะมีเงินเท่าไรบ้าง? ข้อนี้ตอบได้ไม่ยากถ้าเรามีสมมติฐานง่ายๆ นั่นคือ อัตราดอกเบี้ยไม่เปลี่ยนแปลง ไม่มีการถอนออกกลางทาง ธนาคารไม่เจ๊ง ได้รับการยกเว้นภาษี ไม่มีค่าธรรมเนียม เป็นต้น
แต่ความโหด มัน ฮา ของการแข่ง FMWC นี้ก็คือว่า ‘สมมติฐาน’ ที่เขาให้มา มันมีความ ‘เยอะ’ อยู่หลายแง่มุม ขอยกตัวอย่างดังนี้
1. ราคาสินค้าที่ขายในประเทศต่างๆ มีราคาไม่เท่ากัน แถมยังมีหน่วยเป็นสกุลเงินต่างกัน ทำให้เวลาคำนวณต้องแปลงกลับมาเป็นยูโร และอัตราแลกเปลี่ยนในแต่ละปีก็ไม่เท่ากัน (แต่ก็ยังดีที่เขาระบุมาให้แล้วโดยชัดเจน)
2. ไม่ใช่แค่นั้น จะต้องมีการขึ้นราคาสินค้าในแต่ละปีด้วย โดยขึ้นตามอัตราเงินเฟ้อของแต่ละประเทศ ซึ่งไม่เท่ากัน (แต่ยังดีหน่อยที่เขาใช้อัตราเงินเฟ้อคงที่)
3. ต้นทุนวัตถุดิบก็จะต้องเพิ่มขึ้นตามอัตราเงินเฟ้อของเขตเศรษฐกิจยูโร ต้นทุนค่าขนส่งก็เช่นกัน
4. ค่าขนส่งนี่คือตัวยุ่งเลยครับ มีคนทำโจทย์เกี่ยวกับการขนส่งได้ถูกต้องทั้งสี่ข้อเพียงแค่ 2 คน (และมีอีก 2 คนที่ทำไม่ได้เลยสักข้อ) เพราะก่อนจะคำนวณค่าขนส่งเราต้องคำนวณยอดขายก่อน (อันนี้ก็ไม่ใช่ง่าย ดูรายละเอียดในข้อต่อไป) พอรู้ยอดขายในแต่ละเดือนเราก็จะรู้ว่าจะต้องส่งของไปกี่หน่วย คราวนี้แต่ละประเทศก็มีกำหนดการส่งของไม่เหมือนกัน เช่น ส่งไปออสเตรเลียทุกวันจันทร์แรกของแต่ละเดือน ส่งไปแคนาดาทุกวันอังคารที่สองของแต่ละเดือน ส่วนอินเดียเป็นประเทศใหญ่ต้องส่งทุกวันพุธ ดังนั้นบางเดือนอาจส่ง 4 ครั้ง บางเดือนก็ 5 ครั้ง และถ้าเราส่ง 4 ครั้งเราก็ต้องเอา 4 ไปหารยอดขายของเดือนนั้นจึงจะรู้ว่าการส่งแต่ละครั้งจะต้องส่งของไปกี่ชิ้น โจทย์จะถามละเอียดขนาดที่ว่าในวันที่เท่านั้นเท่านี้ จะมีค่าส่งของของวันนั้นรวมกี่ยูโร รถบรรทุกต้องมีความจุเท่าไหร่
5. การคาดการณ์ยอดขาย อันนี้ดูเผินๆ เหมือนจะแค่เทียบบัญญัติไตรยางศ์เพราะเขาใช้สมมติฐานที่ง่ายมาก เช่น ในทุกเดือนคนโปแลนด์ 1.6% จะซื้อสินค้า 1 ชิ้น (ไม่ขึ้นกับฤดูกาล) และอัตรานี้จะคงที่ตลอด 5 ปี สำหรับประเทศอื่นก็จะมีอัตราที่ต่างกันซึ่งเขาระบุตัวเลขมาให้แล้วในคอลัมน์ Usage Rate เราก็แค่เอาเลขนี้มาคูณกับจำนวนประชากร แต่ช้าก่อน! เราจะต้องคำนวณจำนวนประชากรเอง จากข้อมูลเริ่มต้นปี ค.ศ.2019 และต้องคูณเพิ่มตามอัตราการเติบโตประชากรที่เขาให้มา (ซึ่งบางประเทศมีอัตราติดลบ และทำให้ผู้เข้าแข่งขันจากแอฟริกาใต้ต้องแก้ข้อผิดพลาดอยู่พักใหญ่ จากที่เขาให้สัมภาษณ์เมื่อจบเกม) อัตรานี้เป็นอัตรารายปี แต่เราจะต้องมาซอยย่อยให้ได้จำนวนประชากร ณ วันที่ 1 ของแต่ละเดือน เพื่อจะนำไปคูณกับ Usage Rate จึงจะได้ยอดขายที่ถูกต้องออกมา
6. สิ่งที่น่าจะหินที่สุด คือพนักงานกะกลางคืน (third shift) ซึ่งมีค่าแรงแพงกว่ากะกลางวัน ดังนั้นทางบริษัทจะไม่เรียกคนมาทำงานกลางคืนโดยไม่จำเป็น แต่มีเงื่อนไขที่สำคัญว่าของต้องพอส่งให้ลูกค้า จะปล่อยให้สินค้าคงคลังติดลบไม่ได้ ดังนั้นดูเหมือนเราจะต้องทำนายให้ได้อย่างละเอียดรายวันเลยว่า วันนี้จะมีสินค้าเหลือเท่าไหร่ ถ้าเหลือไม่พอก็จะต้องเปิดกะกลางคืนและจ่ายค่าแรงเพิ่ม มิหนำซ้ำถ้าวันนี้กะกลางคืนผลิตได้ไม่พอ ก็จะต้องย้อนไปเปิดกะกลางคืนของวันก่อนหน้าด้วยจนกว่าจะพอ ผู้เขียนฟังเงื่อนไขนี้แล้วคิดเลยว่า ถ้าพี่จะละเอียดขนาดนี้ก็ให้ผมเขียนโปรแกรมเลยดีกว่า แต่เว็บไซต์ของผู้จัดเขียนไว้ชัดเจนว่าไม่จำเป็นต้องใช้ภาษา Visual Basic ในการแก้โจทย์ใดๆ
โดยรวม ลักษณะของคำถาม 21 ข้อแบ่งกลุ่มเป็น 5 ส่วน โดยถ้าตอบบางข้อผิดในส่วนแรก อาจส่งผลพวงอีรุงตุงนังทำให้ส่วนท้ายๆ ผิดไปด้วยหมดเลย เช่น เรื่องของประชากร ถ้าทำนายผิดปุ๊บ จะทำให้คำนวณยอดขายผิด เมื่อยอดขายผิดก็ทำให้ค่าแรงการผลิตผิด และค่าขนส่งก็จะผิดไปด้วย กลุ่มคำถาม 5 ส่วนได้แก่ ยอดขาย (7 ข้อ คนทำได้เกือบหมด), ค่าส่งของ (4 ข้อ มีคนทำถูกหมดเพียง 2 คน), การผลิต (4 ข้อ มีคนทำแค่ 3 คน), ค่าแรง (2 ข้อ มีสหราชอาณาจักรทำคนเดียว), และภาพรวม (4 ข้อ ไม่มีใครได้คะแนน)
ที่มาที่ไปของการแข่งขันครั้งนี้
หลายคนได้ยินข่าวนี้ตามสื่อสังคมออนไลน์ว่าเป็นการแข่ง Microsoft Excel eSports ทำให้เกิดความฮือฮากันมาก ว่า เอ๊ะ โปรแกรมตารางสี่เหลี่ยมที่เราใช้ทำงาน ตัดเกรด จดค่าไฟ จดหนี้เพื่อน หรือทำการบ้านส่งครู มันกลายมาเป็น eSports ได้อย่างไร? ซึ่งแท้จริงแล้ว ถ้าจะพูดให้เป็นทางการ ต้องเรียกการแข่งขันครั้งนี้ว่า FMWC Multiplayer Battle โดย FMWC ย่อมาจาก Financial Modeling World Cup จัดเป็นครั้งแรกในโลก ในวันที่ 8 มิถุนายน พ.ศ.2564 (ผู้จัดงานเขาชอบเล่นคำว่า 8 เทพ – 8 ประเทศ – 8 มิถุนายน. ซึ่งแม้จะฟังดูคุ้นๆ คล้ายเบอร์โทรคอลเซนเตอร์ของธนาคารสีเขียวแห่งหนึ่ง แต่ไม่เกี่ยวกับเขาแต่อย่างใด)
การเรียกชื่อเล่นว่า Excel eSports นั้นก็ไม่ใช่เรื่องที่ผิดนัก เพราะทวีตแรกที่ทำให้เป็นข่าวไวรัลก็มาจากบัญชีอย่างเป็นทางการของ Microsoft Excel เอง ก็คงทำให้คนสับสนกันบ้าง นึกว่า Microsoft เป็นผู้จัดงานนี้เพื่อโปรโมตซอฟท์แวร์ แท้จริงแล้วเขาเป็นเพียงผู้สนับสนุนรายใหญ่ร่วมกับอีกบริษัทหนึ่งนั่นคือ AG Capital ซึ่งเป็นเจ้าภาพผู้จัดงานครั้งนี้
สิ่งที่ผู้เขียนเพิ่งทราบคือ FMWC เคยมีการแข่งขันรายการย่อยมานานแล้ว โดยแข่งกันเดือนละครั้ง และแน่นอนว่าการแข่งสร้างโมเดลทางการเงินคงจะหนีเครื่องมือที่สำคัญที่สุดไม่ได้นั่นคือตารางทำงาน (spreadsheet) เมื่อเป็นเช่นนี้กระมัง Microsoft จึงมองเห็นโอกาสที่จะเข้ามาแจมและจัดเป็นอีเวนต์ใหญ่ไฟกะพริบไปเลย มีเงินรางวัลให้ผู้ชนะตั้ง $20,000 (ราวๆ หกแสนกว่าบาท)
นักกีฬา
นักกีฬาแต่ละคน ล้วนเป็นนักวิเคราะห์ด้านการเงินมืออาชีพ ทำงานอยู่ในบริษัทให้คำปรึกษาต่างๆ เช่น Operis, Willis Towers Watson, KPMG, และ PwC (อ้างอิงจากที่ทำงานของนักกีฬา 4 อันดับแรก)
ก่อนเริ่มรายการ มีการแสดงประวัติของแต่ละคน คล้ายกับสถิตินักมวย แต่แทนที่จะแสดงน้ำหนัก ส่วนสูง อัตราการชกแพ้-ชนะ หรือแต้มต่อ ก็เป็นการแสดง fun fact เช่น
– ประสบการณ์การทำโมเดลการเงิน (กี่ปี)
– เรื่องน่าสนใจ เช่นคุณ Michael แชมป์ของเรา เคยดื่มเบียร์มาแล้ว 3,500 ชนิด
– ความสำเร็จสูงสุด
– และที่ฮาที่สุดคือ… สูตร Excel ที่ฉันชื่นชอบ (favorite formula)
ผู้เขียนแอบน้อยใจนิดนึงที่ favorite formula ของผู้เขียน นั่นคือ VLOOKUP ไม่ได้เป็นที่ชื่นชอบของนักกีฬาระดับโลกเหล่านี้เลย แต่ก็รู้สึกว่าได้เปิดโลกทัศน์ที่ได้พบสูตรน่ารักหลายๆ สูตรที่พวกเขายกมา เช่น
INDIRECT ใช้แปลงข้อความเป็นสูตรอ้างอิง (ของคุณ Michael ชาวแคนาดาที่ได้ที่ 1) ซึ่งอันนี้เขาบอกว่าพูดเล่น เพราะในวงการ Excel มีหลายคนเกลียดฟังก์ชันนี้มาก
UNIQUE ใช้กำจัดข้อมูลซ้ำซ้อน (ของคุณ Andrew ชาวสหราชอาณาจักรที่ได้ที่ 2)
N ใช้เปลี่ยนข้อมูลชนิดต่างๆ ให้เป็นตัวเลข (ของคุณ John ชาวออสเตรดลียที่ได้ที่ 3)
ในช่วงท้ายรายการก็มีการสัมภาษณ์หลังการแข่งขัน นักกีฬาทุกคนแม้จะดูเหนื่อย แต่ก็ยังดูมีมาดนักวิชาการ และแสดงน้ำใจนักกีฬา ไม่ได้แสดงท่าทีดุดันหรือพูดทับถมกันแต่อย่างใด คุณ Andrew ชาวสหราชอาณาจักรบอกว่าการทำงานทุกอย่างต้องทำเร็วมาก ทำให้เกิดข้อผิดพลาดขึ้นในบางข้อ แม้ว่าเขาจะทำโจทย์หลายข้อมากที่สุด แต่การผิดข้อที่คะแนนสูงนั้นทำให้เขาต้องเสียตำแหน่งแชมป์ให้คุณ Michael ชาวแคนาดา ส่วนตัวเขาเองได้อันดับ 2 และเขาก็บอกว่าชอบโจทย์ครั้งนี้มาก มีความท้าทายสูงมาก
คุณ Michael ชาวแคนาดา แชมป์โลก ซึ่งได้คะแนน 700 บอกว่างานนี้ยากกว่าที่คิด เขาพยายามหลีกเลี่ยงที่จะไม่คำนวณยอดขาย/สินค้าคงคลัง/ค่าต่างๆ เป็นรายวัน เพราะจะทำให้โปรแกรมหน่วงมาก แต่ในที่สุดก็หลีกเลี่ยงไม่ได้จึงปรับกลยุทธ์ในช่วงท้ายของเกม
คุณ Anup ชาวอินเดียที่ในช่วงครึ่งแรกทำคะแนนได้ดีมาก เกาะอันดับ 1 ใน 3 อยู่นาน แต่พอครึ่งหลังคะแนนกลับนิ่ง ให้สัมภาษณ์ว่า เขาใช้กลยุทธ์บางอย่างที่ทำให้ได้คำตอบเร็วในช่วงต้น แต่มีความจำเป็นต้องเปลี่ยนกลยุทธ์กลางทาง ทำให้เสียกระบวนท่าไปพอสมควร
คุณ Jeff ชาวมาเลย์เซียบอกว่าโจทย์เหล่านี้สนุกมาก และยังคงข้องใจว่าวิธีการหาคำตอบเป็นอย่างไร จบเกมนี้แล้วก็จะยังลุยต่อให้ได้คำตอบทุกข้อให้ได้ เรียกได้ว่าสปิริตนักสู้ไม่มีที่สิ้นสุดเลยจริงๆ
คุณ Andrew Grigolunovich จาก AG Capital ซึ่งเป็นผู้จัดงานนี้ เผยว่า งานนี้เราออกแบบให้คำตอบของแต่ละส่วนต่อเนื่องกัน ต้องใช้คำตอบจากส่วนแรกๆ ไปหาคำตอบของส่วนหลังๆ ยกเว้นส่วนเดียวที่ไม่ผูกกับส่วนอื่นมากนักนั่นคือประเด็นของพนักงานกะกลางคืน (third shift) เพราะส่วนนี้คือส่วนที่ยากที่สุด ถ้าใครไม่ไหวก็ข้ามไปทำส่วนอื่นได้ แต่โดยรวมเขาก็ยอมรับว่าโจทย์ครั้งนี้น่าจะยากเกินไปสำหรับ 40 นาที (ไม่มีใครได้เต็ม 1000 คะแนน) นั่นเพราะในการแข่งขันครั้งก่อนหน้าที่เขาออกแบบโจทย์มา นึกว่าจะยากแล้ว แต่กลับมีคนทำเสร็จภายใน 13 นาที ครั้งนี้เขาจึงมือหนักไปนิดหน่อย
เทคนิคที่น่าเรียนรู้
ในการแข่งขันครั้งนี้ ผู้ชมได้รับความรู้เรื่อง Excel ไปโดยไม่รู้ตัวไปหลายประการจากการไล่วิเคราะห์วิธีการแก้โจทย์ของนักกีฬาระหว่างการแข่งขัน ซึ่งผู้จัดสามารถเปิดไฟล์ของทุกคนขึ้นมาบนจอ Live ได้แบบทันทีทันใดผ่านระบบของ Excel Online และตรวจคำตอบ แสดงตารางคะแนนพร้อมจัดลำดับ แจกแจงคำตอบถูก-ผิดในข้อต่างๆ ได้อย่างชัดเจนราวกับนั่งดูคะแนนโบว์ลิ่ง
แม้ว่าการวิเคราะห์เชิงลึกจริงๆ คงจะต้องดูให้ละเอียดหลายรอบ และดูไฟล์ .xlsx ของนักกีฬาแต่ละคน เพื่อให้เห็นเทคนิคการใช้สูตร และข้อผิดพลาด (bug) ที่เกิดขึ้น แต่จะว่าไป เพียงแค่ดูรายการสดแบบผิวเผินก็ทำให้ได้สังเกตกลเม็ดเคล็ดลับที่มีประโยชน์หลายประการ เช่น
– นักกีฬาส่วนใหญ่จะจัดระเบียบหน้าจอได้ดีมาก วางตารางให้เป็นระเบียบ เขียนหัวตารางให้ชัดเจนเพื่อให้ตัวเองไม่งงเสียเอง ตัวอย่างคุณ Gabriela ชาวโปแลนด์ที่จัดรูปแบบตารางได้เรียบร้อย สวยงาม มีสีสัน คุมโทนม่วง ดูสบายตามาก การลงทุนเวลาไปกับการจัดพื้นที่ให้สะอาดตาเช่นนี้ทำให้เขาได้ 0 คะแนนเป็นที่โหล่อยู่ตั้งนานในช่วง 12 นาทีแรก แต่กลับพลิกเกมแซงทางโค้งขึ้นมาอยู่อันดับ 4 ได้ในชั่วพริบตา อาจเพราะความซับซ้อนของปัญหาในช่วงท้ายทำให้คนที่วางหน้าจอไว้อย่างเป็นระเบียบมีความได้เปรียบขึ้นมา
– การใช้สีตัวอักษรเพื่อระบุว่าข้อมูลช่องไหนเป็นข้อมูลดิบจากสมมติฐาน และช่องไหนเป็นข้อมูลจากการคำนวณขึ้นภายหลัง จะทำให้ลดข้อผิดพลาดและวางแผนได้ง่ายขึ้น
– การ debug หรือตรวจสอบข้อผิดพลาดของสูตร ซึ่งแม้ว่าบางช่วงจะเห็นได้ถึงความลุกลี้ลุกลนของผู้เข้าแข่งขันบางท่าน แต่ก็เห็นกลยุทธ์ที่ผู้จัดบอกว่าเป็นท่ามาตรฐานที่ใช้ได้ดีมากนั่นคือการใช้ค่า 0 และ 1 แทนสถานะว่าเกิดข้อผิดพลาดขึ้นหรือไม่ และใช้ฟังก์ชัน IF ร่วมกับ ISERROR ในการตรวจหาข้อผิดพลาดจากการคำนวณสูตรอื่น เช่นสูตร MATCH ซึ่งใช้สำหรับค้นหาข้อมูล และคาดว่าผู้เข้าแข่งขันคงใช้ในการตรวจสอบว่าวันแต่ละวันเป็นวันหยุดในรายการที่ให้ไว้หรือไม่ ถ้าหาไม่พบ จะเกิด error
– ผู้จัดคอยเชียร์ให้นักกีฬาใช้ลูกเล่นใหม่ล่าสุดของ Excel นั่นคือ Linked Data Types ซึ่งเป็นการเพิ่มข้อมูลเชิงลึกให้กับข้อมูลที่อยู่ในเซลเดี่ยวๆ เช่น ชื่อประเทศ ในเวอร์ชันล่าสุดเราสามารถใช้สูตรอ้างอิงถึงข้อมูลพื้นฐานของแต่ละประเทศได้เลย เช่น จำนวนประชากร และอัตราเงินเฟ้อ
ทั้งนี้ เทคนิคที่ผู้เขียนมองว่าน่าเรียนรู้ยิ่งกว่าสูตรต่างๆ ของ Excel น่าจะอยู่ที่เทคนิคการจัดงานนี้ ซึ่งเป็นตัวอย่างที่ดีอย่างยิ่งของการนำเทคโนโลยีมาส่งเสริมการเรียนรู้ไปควบคู่กับความบันเทิง
สถาบันการศึกษาหลายแห่งในต่างประเทศ นำ eSports มาใช้เสริมการเรียนการสอนบ้างแล้ว เช่น ฝึกทักษะการจัดอีเวนต์ออนไลน์ให้นักศึกษา ฝึกน้ำใจนักกีฬา ฝึกนักศึกษาวารสารศาสตร์ให้เขียนข่าวกีฬา หรือแม้แต่การจัด eSports เพื่อเรียกแขกในงานนิทรรศการทางวิชาการ คงต้องคอยลุ้นกันว่าในประเทศไทยจะมีสถาบันใดบ้างที่เปิดรับเทคโนโลยีนี้ นำมาใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อการเรียนรู้ ไม่ใช่มองมุมแคบว่าเป็นการชักชวนให้เด็กติดเกมเพียงอย่างเดียว
นอกจากนี้ งาน FMWC ยังแสดงให้เห็นว่า รูปแบบอีเวนต์ของ eSports นั้น สามารถนำมาใช้กับซอฟต์แวร์มาตรฐานได้เช่นกัน
ผู้เขียนมั่นใจว่าถ้า Excel eSports (ชื่อเล่น) ครั้งนี้ประสบความสำเร็จในแง่ยอดผู้ชม (ก็น่าจะสำเร็จนะเพราะคนเข้าเยอะจนเว็บล่มเลยทีเดียว) อีกไม่นานจะต้องมี eSports บนซอฟต์แวร์ตัวอื่นที่เราคุ้นเคยอย่างแน่นอน ไม่ว่าจะเป็น Microsoft Word, PowerPoint, Adobe Premiere Pro, Illustrator, และ Photoshop โดยข้อสังเกตที่สำคัญเกี่ยวกับการแข่งขันครั้งนี้ก็คือ เขาไม่ได้โฟกัสที่ตัวซอฟต์แวร์โดยตรง แต่เน้นการแก้โจทย์ที่อาจพบได้ในชีวิตการทำงานจริงๆ แล้วใช้ซอฟต์แวร์เป็นเครื่องมือนำไปสู่คำตอบ ดังนั้นเราจะไม่เห็นการแข่งกันจำคีย์ลัด การแข่งกดปุ่มรัวๆ การแข่ง speed run ว่าใครจะเลื่อนจอลงไปถึงเซลล์แถวสุดท้ายได้ก่อนกัน (อ้าว! อันสุดท้ายนี้มีบน YouTube ครับ)
ผลพวงจากการแข่งขัน ไม่ว่าจะเป็นซอฟต์แวร์ตัวไหน ก็มีประโยชน์ต่อการเรียนรู้ด้วย เช่น โรงเรียนอาจจัดงานวิเคราะห์ post-game analysis ไล่ดูสูตรทีละข้อของแต่ละคน หรืออาจทำ walk-through session เฉลยทีละข้อแบบช่วยกันคิด สำหรับโรงเรียนระดับมัธยมต้นหรือประถมศึกษา อาจเลือกบางส่วนของโจทย์และปรับให้ง่ายลง เพื่อให้นักเรียนมีความสนุกที่ได้รู้สึกว่า “เราก็สู้ได้!”
แท้จริงความฝันที่จะให้คนไทยอยู่บนเวทีโลกเช่นนี้ก็ไม่ได้ไกลเกินไปนัก เราส่งเด็กไทยไปแข่งขันคอมพิวเตอร์โอลิมปิกทุกปี และได้เหรียญสวยๆ กลับมาทุกปี ทางฝั่งเด็กประถมศึกษา เขาก็จะได้สัมผัส Excel ครั้งแรกตั้งแต่ ป.4 ในหลักสูตรใหม่ที่ชื่อว่า ‘วิทยาการคำนวณ’ (computing science) แต่ในหลักสูตรจะไม่ใช้คำว่า Excel เพื่อให้มีความเป็นกลาง จึงใช้คำว่า ‘โปรแกรมตารางทำงาน’ (spreadsheet) แทน และได้ยกตัวอย่างที่หลากหลายทั้ง Microsoft Excel, Google Sheets, และ OpenOffice Calc เด็กๆ จะได้เรียนการคำนวณบวกลบคูณหารเบื้องต้น การเติมสูตร การล็อกสูตร และใน ป.5 ก็จะได้เรียนสูตรที่มีเงื่อนไข เช่น COUNTIF พอถึง ป.6 ก็จะได้หัดทำงานที่ซับซ้อนขึ้น เช่น การใช้ตัวกรอง (filter) การเรียงข้อมูล (sort) โดยโฟกัสไม่ได้อยู่ที่ซอฟต์แวร์เช่นกัน แต่อยู่ที่กระบวนการคิดและโจทย์ที่ใช้งานได้จริง เช่น การทำหนังสือรุ่นที่ต้องประกอบด้วยการติดตามข้อมูล การบันทึกออเดอร์ และการติดตามหนี้
การดูเวิลด์คัพครั้งนี้ช่างเปิดโลกทัศน์ของผู้เขียนเป็นอย่างมาก ขอฝากลิงก์ ต่างๆ และข้อมูลเพิ่มเติมไว้ให้ผู้อ่านได้ไปสนุกด้วยกันครับ
ลิงก์และข้อมูลเพิ่มเติม
รับชมย้อนหลังได้ฟรีบน YouTube : youtu.be
ข้อมูลทางการของการแข่งขัน (smash.gg) : smash.gg
ไฟล์โจทย์ ที่ท่านสามารถดาวน์โหลดมานั่งทำเองได้ : drive.google.com
สำหรับคนที่เป็น FC ของ Excel ท่านทราบไหมว่ามีคนจัด stand-up comedy (เดี่ยวไมโครโฟน) เกี่ยวกับ Excel ด้วย คือคุณ Matt Parker เช่นในวิดีโอนี้ : youtu.be